‘เศรษฐพุฒิ’ ยันการขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่ได้ 'ช้าไป' ระบุแต่ละประเทศมีวัฏจักรเศรษฐกิจแตกต่างกัน เชื่อโอกาสเกิด Stagflation เป็นไปได้น้อย
................................
เมื่อวันที่ 24 ส.ค. นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ ‘Normalizing Policy to Ensure a Smooth Take-off’ ในงาน Thailand Focus 2022: The New Hope ว่า แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงต่อไปจะทยอยปรับกลับเข้าสู่ภาวะปกติ (Policy normalization) เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจการเงินและสมดุลความเสี่ยงใหม่ที่ให้น้ำหนักกับเงินเฟ้อมากขึ้น
โดยเน้นให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ไม่สะดุด (Smooth takeoff) ซึ่งการดำเนินนโยบายการเงินของแต่ละประเทศขึ้นกับวัฏจักรเศรษฐกิจ ซึ่งมีความแตกต่างกัน กุญแจสำคัญของการดำเนินนโยบายของไทย คือ การควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ และไม่ผันผวน (เสถียรภาพด้านราคา) และระบบการเงินทำหน้าที่ได้อย่างปกติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างราบรื่น
“การดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่ผ่อนปรนมากในช่วงสถานการณ์โควิด 19 มีความจำเป็นลดลง แต่มาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางอย่างธุรกิจ SMEs หรือกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ ยังมีความจำเป็น เพราะการฟื้นตัวแต่ละกลุ่มยังไม่เท่าเทียมกัน เช่น มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ยังดำเนินต่อจนถึงสิ้นปี 2566 เป็นอย่างน้อย โดย ธปท. พร้อมปรับเปลี่ยนมาตรการให้ยืดหยุ่น ตามสถานการณ์และบริบทของลูกหนี้” นายเศรษฐพุฒิ ระบุ
นายเศรษฐพุฒิ ย้ำว่า การปรับทิศทางนโยบายการเงินจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจไทย (gradual and measured) โดยล่าสุดการประชุมวันที่ 10 ส.ค.2565 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% จาก 0.50% เป็น 0.75% ต่อปี โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น และคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ประมาณ 3% และปีหน้าประมาณ 4% จากอุปสงค์ในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้นชัดเจน
“โดยในไตรมาสที่ 1 และ 2 ปี 2565 ขยายตัว 3.5% และ 7% ตามลำดับ ซึ่งมาจากรายได้ของแรงงานทั้งในและนอกภาคเกษตรที่ดีขึ้น รวมทั้งจากภาคท่องเที่ยวที่มีสัดส่วน 12% ของจีดีพี และ 20% ของการจ้างงานรวม โดยเบื้องต้นคาดว่า ปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย 8 ล้านคน เพิ่มจาก 400,000 คนในช่วงที่โควิด 19 แพร่ระบาด แต่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด 19 ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 40 ล้านคนต่อปี” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
สำหรับสถานการณ์เงินเฟ้อ แม้จะมีแรงกดดันสูงขึ้นแต่ยังมาจากปัจจัยด้านอุปทาน (supply side) เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจับตา คือ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นติดต่อกันหลายเดือน ขณะที่ระบบการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพ เงินกองทุนและสภาพคล่องยังสูง
ส่วนปัจจัยความเสี่ยง นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า การขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่ได้ช้าไป โดยแต่ละประเทศจะมีวัฏจักรเศรษฐกิจแตกต่างกัน ซึ่งเห็นว่าหลายประเทศได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกหลังจากที่เศรษฐกิจฟื้นกลับสู่ระดับก่อนโควิด 19 แล้ว ขณะที่ประเทศไทยได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้ฟื้นตัวกลับไปเท่ากับระดับก่อนโควิด 19 ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิดภายในสิ้นปีนี้
นอกจากนี้ ภาวะเงินเฟ้อมาจากปัจจัยอุปทาน (supply side) เป็นหลัก และความเสี่ยงของการปรับขึ้นค่าจ้างต่อเงินเฟ้อเป็นวัฏจักรต่อเนื่อง (Wage-price spiral) ในไทยค่อนข้างต่ำ ซึ่งต่างจากหลายประเทศที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง
สำหรับข้อกังวลความเสี่ยงเรื่องส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยกับต่างประเทศ จะส่งผลต่อเงินทุนไหลออกและเงินบาทอ่อนค่า นั้น ธปท.ไม่ได้ให้น้ำหนักเป็นความเสี่ยงมากที่สุด เนื่องจากเงินบาทอ่อนค่าเพราะเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเป็นหลัก และสอดคล้องกับเงินสกุลอื่นในภูมิภาค โดยตั้งแต่ต้นปีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า 13% ส่วนเงินบาทอ่อนค่า 8% อ่อนค่ากว่าค่าเงินริงกิตมาเลเซีย แต่ดีกว่าค่าเงินเปโซฟิลิปปินส์ และตั้งแต่ต้นปีมีเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าไทยสุทธิ 4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนความเสี่ยงบอนด์ยีลด์พุ่งสูงไม่น่ากังวล เพราะระบบเศรษฐกิจไทยทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือนพึ่งพาเงินทุนจากระบบธนาคารเป็นหลัก
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ในส่วนที่มีความกังวลว่าเศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในขณะที่เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น (Stagflation) นั้น มีความเป็นไปได้น้อย แม้สถานการณ์เงินเฟ้อไทยยังสูง แต่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องจากภาคท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยอาจได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกบ้าง แต่ไม่ถึงกับจะทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัว
“ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยยังให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวมากที่สุด และความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์โลก เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับภาคการท่องเที่ยว” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
อ่านประกอบ :
ผู้ว่าฯธปท. : ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ‘ส่วนต่างดอกเบี้ย-ค่าเงิน-ทุนเคลื่อนย้าย-ทุนสำรอง’
กลับสู่ภาวะปกติ!‘ผู้ว่าฯธปท.’ชี้ไม่ได้ขึ้น‘ดอกเบี้ย’ทีเดียวแล้วจบ-คาดGDPไตรมาส 2 โต 3%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ชี้บาทอ่อนสุดในรอบ 7 ปี เหตุดอลลาร์ฯแข็ง-ย้ำไม่จำเป็นต้องขึ้น‘ดบ.’ตามเฟด
เปิดรายงาน กนง. : ขึ้น'ดอกเบี้ย'ในช่วงเวลาเหมาะสม-'บาท'อ่อนสอดคล้องค่าเงินในภูมิภาค
ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ : ‘ความเสี่ยงไปอยู่ที่การดูแลเงินเฟ้อ-ขึ้นดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่จำเป็น’
น้ำมัน-อาหารแพง! 'กนง.'ปรับเป้าเงินเฟ้อฯคาดพุ่งแตะ 4.9%-หั่นจีดีพีปีนี้เหลือโต 3.2%
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ.นโยบาย 0.5% ต่อปี-มองแรงกดดัน'เงินเฟ้อด้านอุปสงค์'อยู่ในระดับต่ำ