ที่ประชุม กนง. มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 2.25% มองเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงด้านสูง พร้อมระบุ 'นโยบายการเงิน' ต้องช่วยเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจระยะยาว
........................................
เมื่อวันที่ 2 ส.ค. นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 2.00 เป็นร้อยละ 2.25 ต่อปี โดยให้มีผลทันที
เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยอุปสงค์จากต่างประเทศล่าสุดชะลอลงบ้างแต่คาดว่าจะทยอยปรับดีขึ้นในระยะต่อไป ด้านอัตราเงินเฟ้อปรับลดลงและมีแนวโน้มทรงตัวในกรอบเป้าหมายโดยยังมีความเสี่ยงด้านสูง คณะกรรมการฯ ประเมินว่าในบริบทเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ นโยบายการเงินควรดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน
และช่วยเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว โดยการป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางการเงินที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน รวมทั้งรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่อยู่ในระดับสูง จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกสินค้าหดตัวในระยะสั้น ส่วนหนึ่งตามเศรษฐกิจจีนและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ฟื้นตัวได้ช้า แต่คาดว่าจะปรับดีขึ้นในระยะข้างหน้าสอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น ทั้งจากภาคการส่งออกสินค้าที่อาจฟื้นตัวช้ากว่าคาด รวมถึงสถานการณ์การเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงจากราคาในหมวดพลังงาน มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ และผลของฐานที่สูงในปีก่อนหน้า แต่ประเมินว่าจะปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีหลังปัจจัยชั่วคราวทยอยหมดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงแต่มีแนวโน้มทรงตัวในระดับที่สูงกว่าในอดีต โดยมีความเสี่ยงด้านสูงจากต้นทุนราคาอาหารที่อาจปรับเพิ่มขึ้นหากปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรงกว่าคาด ซึ่งอาจเร่งการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการในบริบทที่เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง
ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ โดยธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่คุณภาพสินเชื่ออาจด้อยลงจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนที่ยังเปราะบางจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นและรายได้ที่ฟื้นตัวช้า คณะกรรมการฯ สนับสนุนการดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending)
ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายลดลงแต่ยังเอื้อต่อการระดมทุนของภาคเอกชนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนโน้มสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่สินเชื่อภาคเอกชนที่ชะลอลงส่วนหนึ่งเป็นการปรับตัวเข้าสู่ระดับปกติหลังจากที่ได้ขยายตัวต่อเนื่องในช่วงวิกฤต COVID-19 ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวผันผวน ตามทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ แนวโน้มเศรษฐกิจจีน และความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทย
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องเข้าสู่ระดับศักยภาพ
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อโน้มเข้าสู่กรอบเป้าหมาย แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงด้านสูง นโยบายการเงินยังควรดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืนควบคู่กับให้ความสำคัญกับเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมจะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มและความเสี่ยงของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ
@เศรษฐกิจไทยฟื้นต่อเนื่อง แม้ส่งออกจะชะลอตัว
นายปิติ กล่าวเพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจไทยยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ว่าตัวเลขการส่งออกล่าสุดจะชะลอตัวลงบ้างก็ตาม แต่คาดว่าจะเป็นไปในระยะสั้นเท่านั้น ขณะที่ปัจจัยที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในขณะนี้และในระยะข้างหน้า มาจากภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปีหน้า ซึ่งนำไปสู่การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนเช่นกัน ส่วนการส่งออกสินค้าในปีนี้คาดว่าจะเป็นลบ แต่จะกลับมาเป็นบวกในปีหน้า
“ปัจจัยขับเคลื่อนหลัก จะมาจากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างเยอะในปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และในปีหน้าก็ยังจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน นักท่องเที่ยวโดยรวมเพิ่มขึ้นใกล้เคียง หรืออาจจะมากกว่าที่เราประเมินไว้ในระดับหนึ่ง และคิดว่ายังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อไป
ส่วนนักท่องเที่ยวจากจีน แม้ว่าที่ผ่านมาอาจมีตัวเลขน้อยกว่าที่เราคาดไว้บ้าง แต่ก็ชดเชยด้วยนักท่องเที่ยวประเทศอื่นๆ ทั้งนี้ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวได้ส่งทอดไปถึงภาคบริการ โดยจะเห็นว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคบริการค่อนข้างจะฟื้นตัวต่อเนื่อง และนำไปสู่การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้เช่นกัน” นายปิติ กล่าว
นายปิติ ระบุว่า ด้านอัตราเงินเฟ้อ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุดในเดือน มิ.ย.2566 ปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นไปตามที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ โดยส่วนหนึ่งมาจากฐานที่สูงในปีที่แล้ว ประกอบกับมีมาตรการของภาครัฐในการสนับสนุนด้านพลังงาน โดยเฉพาะเรื่องค่าไฟฟ้าที่เป็นปัจจัยชั่วคราว ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่มีการปรับตัวลดลงเช่นกันนั้น ยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูงกว่าในอดีต และเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามต่อไป
“เงินเฟ้ออาหารในโลก ซึ่งชัดเจนว่าอยู่ในระดับที่สูง ในขณะที่ราคาพลังงานปรับลดลงมาแล้ว อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่าเงินเฟ้อโลกที่อยู่ในระดับสูงและค้างอยู่ในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมาจากราคาอาหาร และในแง่ของประเทศไทยเอง ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัจจัยภายนอกจากต่างประเทศมีผลค่อนข้างเยอะต่อเงินเฟ้อในประเทศไทย โดย 48% ของการเคลื่อนไหวของเงินเฟ้อไทยมาจากปัจจัยภายนอกประเทศ
ซึ่งที่ผ่านมาเราจะเน้นดูเรื่องพลังงานมากเป็นพิเศษ เพราะราคาพลังงานได้รับแรงขับเคลื่อนจากปัจจัยตลาดโลกค่อนข้างเยอะหรือประมาณ 61% แต่ในขณะเดียวกัน ราคาอาหารในประเทศเราเอง ก็มีส่วนที่ถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัยราคาอาหารโลกไม่น้อยเช่นกัน จึงเป็นประเด็นที่ต้องจับตา ดังนั้น เมื่อราคาอาหารโลกยังอยู่ในระดับที่สูง ก็ควรต้องดูว่าจะส่งทอดมาสู่เงินเฟ้อในประเทศได้มากน้อยขนาดไหน” นายปิติ กล่าว
นายปิติ กล่าวต่อว่า ในแง่ภาวะการเงินโดยรวมมีการผ่อนคลายลดลง สอดคล้องกับการที่คณะกรรมการฯได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของภาคเอกชนโดยรวม เพราะแม้ว่าสินเชื่อธุรกิจรวมจะปรับลดลง แต่ภาคเอกชนได้มีการออกหุ้นกู้มาชดเชย ส่งผลให้การระดมทุนของธุรกิจผ่านสินเชื่อและตราสารหนี้ในภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้
นายปิติ ระบุด้วยว่า การที่สินเชื่อภาคเอกชนชะลอตัวลงในช่วงนี้นั้น เป็นเพราะในช่วงโควิด ธนาคารพาณิชย์ได้มีการให้สินเชื่อมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อสถานการณ์ปรับเข้าสู่ระดับปกติ สินเชื่อจึงชะลอตัวลง ซึ่งก็ถือว่าเป็นธรรมชาติในระดับหนึ่ง และหากมองว่าไปข้างหน้า คิดว่าสินเชื่อน่าจะมีความสามารถในการขยายตัวต่อไปได้
“ในภาพรวม ถ้าดูแนวโน้มเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเรื่องภาวะการเงิน คิดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้เหมาะสม เพื่อดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในปีหน้าขึ้นไป อีกทั้งยังช่วยเสริมเสถียรภาพการเงินในระยะยาว โดยป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางการเงินที่อาจจะเกิดขึ้นจากดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเกินไป และเป็นการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะถัดไป” นายปิติ กล่าว
นายปิติ กล่าวต่อว่า ในส่วนการปรับนโยบายการเงินในอนาคตนั้น คงจะขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้นในระยะต่อไป ซึ่งความไม่แน่นอนที่ คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาถึงหลักๆ มาจาก 3 ปัจจัย คือ 1.เศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง 2.ความไม่แน่นอนทางการเมืองและแนวนโยบายภาครัฐในอนาคตว่า จะมาในรูปแบบไหน มีขนาดเท่าใด และมาเร็วหรือช้าเพียงใด
และ 3.ภัยแล้งที่มาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ โดยภัยแล้งดังกล่าวอาจทอดยาวและรุนแรงมากกว่าที่คาดไว้ก็ได้ ซึ่งจะกระทบต่อเงินเฟ้อ โดยเฉพาะราคาอาหาร
@คณะกรรมการฯมอง ดอกเบี้ยใกล้จุด ‘neutral’ แล้ว
เมื่อถามว่า หลังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้แล้ว อัตราดอกเบี้ยนโยบายใกล้ระดับปกติแล้วหรือไม่ และมีความจำเป็นต้องสร้าง policy space หรือไม่ นายปิติ ตอบว่า ตั้งแต่เดือน ส.ค.ปีที่แล้ว คณะกรรมการฯได้ดำเนินการ ‘ถอนคันเร่ง’ หรือการดำเนินนโยบาย normalize โดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป และ ณ จุดนี้ คณะกรรมการฯประเมินว่า เข้าใกล้จุดที่เป็น neutral rate (ดอกเบี้ยนโยบายที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจในระยะยาว) แล้ว
“ณ จุดนี้ คณะกรรมการฯประเมินว่า เข้าใกล้จุดที่เป็น neutral มากขึ้นแล้ว อย่างที่เราเคยคุยกันว่า อย่างน้อยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงควรจะไม่เป็นลบ ควรจะเป็นบวก และมองในแง่ Outlook แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ คณะกรรมการฯมองว่า เราได้เข้าใกล้จุดที่ถือว่า ‘ถอนคันเร่ง’ จนเกือบหมด มากขึ้น และเมื่อถึงจุดที่ถือว่าใกล้ neutral มากขึ้น ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ต้องมองต่อไปว่า แล้วเราจะหยุดอยู่ที่ไหน และถ้าหยุดอยู่ที่ไหน ก็จะเป็นภาวะการเงินที่อยู่ไปซักพักหนึ่ง
เพราะภาพรวมเศรษฐกิจเรากำลังฟื้นเข้าสู่ศักยภาพ ไม่ได้ฟื้นเกินศักยภาพ อย่างเช่นที่เป็นในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐที่เศรษฐกิจร้อนแรง ส่วนเงินเฟ้อเรา ก็กำลังโน้มเข้าสู่กรอบ และในแง่ Macro มันกำลังเข้าไปในจุดที่ควรจะเป็น คณะกรรมการฯจึงมองว่า ดอกเบี้ยควรจะขึ้นไปสู่ระดับที่ควรจะเป็น neutral ซึ่งตอนนี้เข้าใกล้แล้ว
และในบริบทดังกล่าว การจะดูว่าผลกระทบในระยะยาว และระยะปานกลางของภาวะการเงิน ที่กำหนดด้วยนโยบายการเงินว่าจะเป็นอย่างไร จะมีบทบาทมากขึ้น ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้คณะกรรมการฯมองถึงเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ซึ่งก็มองมาโดยตลอด แต่การตัดสินใจจากปัจจัยดังกล่าว จะต้องคำนึงถึงให้มากขึ้นว่า ภาวะการเงินที่เราจะดำรงไว้อาจจะเป็นซักพักหนึ่งนั้น จะมีผลต่อการก่อหนี้อะไรมากน้อยขนาดไหน
แต่เมื่อมองไปข้างหน้า มีความไม่แน่นอนค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะในระยะสั้น ทั้งเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน ในแง่ภายในประเทศก็มีความไม่แน่นอนในระยะสั้น ดังนั้น การประชุมครั้งต่อไป ถามว่าคณะกรรมการฯจะตัดสินอย่างไร ผมคิดว่าเป็นรอบที่จะต้องดูความชัดเจนของแนวโน้มเศรษฐกิจ” นายปิติ กล่าวและย้ำว่า “ในรอบหน้า จะต้องอาศัยข้อมูลในระหว่างนี้จนถึงรอบหน้า เพื่อดูว่าข้อมูลดังกล่าวจะช่วยเสริม Outlook และแนวโน้มอย่างไร”
นายปิติ ระบุด้วยว่า “การที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเริ่มเข้ามาอยู่ในโซนที่บวก เป็นแค่หนึ่งในปัจจัยที่เริ่มใกล้ neutral zone แต่ไม่ได้หมายว่า แค่นั้นจบแล้ว เพราะมันเป็นเรื่องว่าอย่างน้อย เราแน่ใจว่าภาวะการเงินเริ่มสอดคล้องกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาวมากขึ้นแล้ว จึงต้องดูข้อมูลเพิ่มเติมต่อไปว่า จะต้องปรับอะไรเพิ่มเติมหรือเปล่า”
เมื่อถามว่า ตลาดคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.25% น่าจะเป็นระดับที่สูงสุดแล้ว และจะหยุดอยู่เท่านี้ เพราะความเสี่ยงมีมากขึ้น ธปท.มองประเด็นนี้อย่างไร นั้น นายปิติ กล่าวว่า เราทราบดีว่าตลาดคาดการณ์ว่ารอบนี้ ขึ้นดอกเบี้ย แล้วจะอยู่ระดับต่อ แต่เท่าที่สำรวจ ก็พบว่ามีคนที่บอกว่าดอกเบี้ยจะขึ้นต่อไปอีก ซึ่งตลาดเองก็มีข้อมูลเท่ากับที่ ธปท.มีอยู่ ส่วนการประชุม กนง.รอบต่อไป จะขึ้นหรือจะคงดอกเบี้ย ก็เป็นได้ทั้งคู่
“รอบต่อไป จะขึ้นหรือจะคง ก็เป็นไปได้ทั้งคู่ ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่จะเข้ามาระหว่างนี้ และข้อมูลเหล่านั้น กระทบต่อข้อมูลเศรษฐกิจที่เราดูอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้าใกล้จุด inspection point หรือจุดเปลี่ยนที่คำนึงถึงข้อมูลมากขึ้น ต้องใช้วิจารณญาณมากขึ้นในการประเมินว่า ภาวะการเงินแบบไหนจึงเหมาะสม ตอนนี้จึงไม่ได้มีการปักหมุดอะไรที่ชัดเจนว่าต้องทำอะไรต่อในรอบหน้า แต่หลายๆอย่างเริ่มเข้ามาในจุดที่ลงตัวแล้ว” นายปิติ ย้ำ
เมื่อถามว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ กนง.ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อปัญหาหนี้ครัวเรือนหรือไม่ นายปิติ กล่าวว่า คณะกรรมการฯดูเรื่องนี้มาโดยตลอดว่า ภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นดอกเบี้ย จะส่งผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือนและธุรกิจอย่างไร ดังนั้น ทำให้คณะกรรมการฯดำเนินนโยบายการเงินแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง นั้น ธปท.ได้ออกเครื่องมือที่จะมาช่วยดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างเฉพาะจุดมากขึ้น
“มันไม่ได้เป็นปัญหา ที่จะแก้ได้ด้วยการชะลอขึ้นอัตราดอกเบี้ยตรงๆอย่างนั้น แต่ในแง่ผลกระทบต่อผู้ที่มีหนี้เยอะ และผลกระทบที่ทอดไปสู่การบริโภค การลงทุน อันนั้นเป็นสิ่งที่เราคำนึงถึงอยู่แล้ว ซึ่งแน่นอนว่าเราดูอย่างละเอียด และเรามองว่านโยบายการเงินก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือ ที่จะมาเสริมเครื่องมือเฉพาะจุดที่จะดูในเรื่องนี้ (หนี้ครัวเรือน) โดยเฉพาะ” นายปิติ กล่าว
@จัดตั้งรัฐบาลช้า กระทบลงทุน'บริษัทไทย-FDI'
เมื่อถามว่า กรณีที่พรรคเพื่อไทยถอนตัวจากพรรคร่วม 8 พรรค ว่าจะส่งผลกระทบต่อความไม่แน่นอนทางการเมืองเพิ่มขึ้นหรือไม่ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร นายปิติ กล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาลเป็นข้อต่อแรกของแนวนโยบายภาครัฐที่จะตามมา และยิ่งเมื่อความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลทอดยาวออกไปไกลเท่าไหร่ ย่อมไม่ดีต่อการลงทุนและกิจกรรมเศรษฐกิจ ซึ่งทุกภาคส่วนก็หวังว่า กระบวนการตรงนี้จะดำเนินการไปได้อย่างรวดเร็ว
“ส่วนแรกที่จะกระทบตรงๆเลย คือ การเบิกจ่ายงบประมาณ ยิ่งถ้ารัฐบาลมาช้าเท่าไหร่ กระบวนการก็ทอดออกไป ซึ่งตอนนี้เราคาดว่าจะล่าช้าไป 2 ไตรมาสแล้ว และแม้ว่าด้วยกระบวนการงบประมาณจะไม่กระทบต่อรายจ่ายประจำมากนัก แต่ตัวที่จะกระทบ คือ การลงทุนภาครัฐที่อาจจะต้องชะลอโครงการใหม่ๆออกไป
อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับสัดส่วนจีดีพีเม็ดเงินไม่ได้เยอะมาก แต่ที่จะมีน้ำหนักเยอะกว่า คือ กิจกรรมเศรษฐกิจของเอกชน คือ การลงทุน ทั้งการลงทุนของบริษัทในประเทศ และ FDI (การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ) ที่มาจากต่างประเทศด้วย ซึ่งตรงนี้แหละ จะเป็นตัวแปรที่จะอาจกระทบเศรษฐกิจมากกว่า จึงต้องรอดูความชัดเจนต่อไป” นายปิติ ระบุ
อ่านประกอบ :
มติเอกฉันท์! ‘กนง.’เคาะขึ้นดบ. 0.25% สู่ระดับ 2% มองเศรษฐกิจอาจโตเกินคาด-จับตาเงินเฟ้อ
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%สู่ระดับ 1.75% สกัดเงินเฟ้อ-จับตาตลาดการเงินโลกผันผวน
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สกัดเงินเฟ้อ-มองศก.ไทยฟื้นต่อเนื่อง แม้ส่งออกแผ่ว
กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดบ.นโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25%-จับตาเศรษฐกิจโลกเสี่ยงชะลอกว่าคาด
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จับตา‘เงินบาท’ใกล้ชิด-มองจีดีพีปีนี้โต 3.3%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำไม่จำเป็นต้อง‘รีบเร่ง’ขึ้นดอกเบี้ย-คาด‘เงินเฟ้อ’กลับสู่กรอบกลางปี 66
‘ผู้ว่าฯธปท.’ยันการขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่ได้ช้าไป-ชี้โอกาสเกิด Stagflation เป็นไปได้น้อย
ผู้ว่าฯธปท. : ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ‘ส่วนต่างดอกเบี้ย-ค่าเงิน-ทุนเคลื่อนย้าย-ทุนสำรอง’
กลับสู่ภาวะปกติ!‘ผู้ว่าฯธปท.’ชี้ไม่ได้ขึ้น‘ดอกเบี้ย’ทีเดียวแล้วจบ-คาดGDPไตรมาส 2 โต 3%