"...คนนอกที่มาก็มีความเป็นอิสระ มันจึงสะท้อนความเป็นอิสระระดับหนึ่ง และความเป็นอิสระตรงนี้ ไม่ใช่อิสระจากการเมือง แต่ยังอิสระจากชี้นำและการครอบงำกันเองด้วย อย่างกรรมการ กนง. ที่มาจาก ธปท. เอง ซึ่งเป็นคนแบงก์ชาตินั้น ตอนโหวต บางทีโหวตไม่เหมือนกัน..."
.............................................
ในงาน 'ธปท. พบสื่อมวลชน' Press Trip 2023 เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2566 ที่ผ่านมา กรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มาจากฝั่ง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 3 ราย ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับ 'ทิศทาง' อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย หลังจากก่อนหน้านี้ ที่ประชุม กนง. มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 2.5% ต่อปี (อ่านประกอบ : เงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น! กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดบ. 0.25% สู่ระดับ2.5%-มองGDPปีนี้โต 2.8%)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงข้อนำเสนอ แนวคิด-มุมมอง' ของ กรรมการ กนง. ทั้ง 3 รายดังกล่าว โดยมีรายละเอียด ดังนี้
@ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับเหมาะสมแล้ว
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะประธานกรรมการ กนง. กล่าวถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ว่า อันนี้จริงๆก็คล้ายกับที่เคยตอบมาแล้ว คือ ถ้าดูจากคำแถลง (statement) สุดท้ายที่ออกไป เราบอกว่า เราคิดว่าที่ผ่านมาได้ขึ้นดอกเบี้ย (นโยบาย) อย่างค่อยเป็นค่อยไป และมาถึงจุดที่ตอนนี้เราคิดว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว
แต่หากสถานการณ์ที่มองไปข้างหน้าต่างจากที่เราพยากรณ์ไว้อย่างมีนัยยะ จนกระทั่งทำให้หลุดจากกรอบต่างๆที่เราตั้งไว้ ก็จะมีการปรับตัว และตอนนี้ชัดเจนว่า มันสอดคล้องกับที่เราพูดไว้ว่าเรา outlook dependent ไม่ใช่แค่ว่าข้อมูลเดือนนี้หรือไตรมาสนี้เป็นอย่างไร และถ้าภาพใหญ่ยังเป็นอย่างที่เรามองไว้ ก็คิดว่าดอกเบี้ยที่ตัดสินใจไป ก็คือเหมาะกับช่วงนี้
"เราพยายามหลีกเลี่ยงในสื่อสารที่จะสร้างความสับสน ซึ่งภาพใหญ่ตอนนี้ ปีนี้ ปีหน้า ก็ต้องเรียนว่า ปีนี้ตัวเลขเศรษฐกิจที่เราวางไว้ที่ 2.7-2.8% บวกลบแล้วน่าจะยังใกล้เคียงอยู่ ตัวเลขไตรมาสที่ 3/66 ที่ดูอยู่ การฟื้นตัวยังเป็นอย่างที่มองไว้และฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่อาจมีตัวเลขบางตัวที่ออกมาอ่อนกว่ามองไว้หน่อย
ตัวเลขที่ทำให้เราสบายใจระดับหนึ่ง คือ การฟื้นตัวของการบริโภค ซึ่งไตรมาส 1 โอเค ไตรมาส 2 โอเค และไตรมาส 3 ก็ยังดูค่อนข้างแข็งแรงอยู่ ส่วนการส่งออกก็เป็นคล้ายๆอย่างที่เรามอง ไม่ค่อยแตกต่างอะไร
แต่ตัวที่อาจจะต่างไปหน่อย คือ MPI หรือดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ซึ่งดูเหมือนว่าตัวเลขจะออกมาอ่อนกว่าที่มองไว้ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องส่วนต่างระหว่างฝั่งอุปสงค์กับฝั่งอุปทาน โดย MPI ที่อ่อนตัวนั้น สะท้อนว่าอุปทานอ่อนลง แต่ตัวเลขในฝั่งอุปสงค์ยังดูโอเคอยู่" เศรษฐพุฒิ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ถามว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในขณะนี้อยู่ในระดับที่ neutral (เป็นกลาง) แล้วหรือไม่
(เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ)
@กนง.ไม่อยากสร้างความไม่แน่นอนให้ตลาด
เศรษฐพุฒิ ยังเปรียบเทียบว่า การตัดสินใจว่าดอกเบี้ยนโยบายควรอยู่ระดับใดจึงจะเหมาะสมนั้น เหมือนกับการจอดรถ เมื่อจอดรถแล้วก็ไม่ควรเลื่อนรถบ่อย เพราะ กนง. ไม่อยากสร้างเสียงรบกวน (noise) และความไม่แน่นอน (uncertainty) ให้กับตลาด
"เหมือนเราจอดรถ ถ้าจอดรถซื้อของจะจอดตรงไหนก็ได้ แต่นี่เราคิดว่า ถ้าอยากจะจอดแบบนานหน่อย เราจะจอดตรงไหนที่เหมาะสม การที่ไปจอดผิดที่ ต้องเลื่อนบ่อยต่างๆ อันนี้เป็นอันที่เราไม่ต้องการ เราไม่ต้องการสร้างความไม่แน่นอนให้ตลาดเพิ่ม เราคิดว่าตอนนี้ noise และ uncertainty (ความไม่แน่นอน) ในตลาดมันเยอะอยู่แล้ว
เราไม่ต้องการนโยบายการเงินเป็นอีกตัวที่ไปซ้ำเติมเรื่อง uncertainty ซึ่งเราเห็นตัวอย่างจากต่างประเทศที่แบบ เดี๋ยว pause (หยุด) ไม่ pause คนโน้นคนนี้ออกมาพูด ซึ่งไปสร้าง noise ให้ตลาด ซึ่งไม่ดี ก็เลยเป็นที่มาว่า อยากจะหาจุดที่จอดที่อยู่ได้ และไม่ไปเพิ่มความไม่แน่นอน หรือ noise เข้าไปในระบบมากไปกว่านี้" เศรษฐพุฒิ กล่าว
เศรษฐพุฒิ ย้ำว่า เรื่องนโยบายดอกเบี้ยโดยรวมถือว่าเดินมาโอเคแล้ว ส่วนคนที่ได้รับผลกระทบนั้น ก็ต้องมีฝั่งที่เข้ามาดูแลคนกลุ่มนี้
"การกำหนดดอกเบี้ย (นโยบาย) ก็เหมือนเป็นการ set อุณหภูมิของห้อง แต่ว่าแต่ละคนจะรู้สึกไม่เหมือนกัน อย่างตอนนี้ผมเชื่อว่าบางคนบอกว่าร้อนไป บางคนบอกว่าหนาวไป แต่เรา set ไว้สำหรับภาพรวม เราดูดอกเบี้ยและภาระหนี้ แต่อันที่เราชั่งตอนที่ดูด้วย คือ ผลต่อประชาชนที่สำคัญ คือ เรื่องเงินเฟ้อ
ยอมรับว่าผมเป็นคนที่ค่อนข้าง paranoid (หวาดระแวง) เรื่องเงินเฟ้อ กลัวมันกลับมาแล้วแก้ปัญหายาก และจะถูกกระทบเยอะ คือ ถ้าเจอเรื่องเงินเฟ้อ แล้วเราปล่อยเงินเฟ้อไป ผลกระทบต่อคนในแง่ภาระของเขา มันจะมากกว่าภาระจากดอกเบี้ยเยอะ นั่นเป็นเหตุผลที่ต้องดูแลเรื่องเงินเฟ้อ ทำให้ตรงนี้สมดุล แต่เรารู้ว่ามีผลข้างเคียงต่อกลุ่มต่างๆ ก็มีฝั่งที่เข้ามาดูแลด้วย"
@กรรมการฯเป็นอิสระ-ไม่ถูกครอบงำจากการเมือง
เศรษฐพุฒิ ระบุว่า ในการตัดสินใจในเรื่องดอกเบี้ยนโยบายนั้น ถ้าถามว่าเป็นอุปทานหรือเปล่า ก็ต้องบอกว่า ถ้าไปดูกรรมการ (กนง.) แต่ละคน ก็ไม่ธรรมดา กรรมการอิสระก็ไม่ใช่จะหัวอ่อนอะไร ถ้าไปฟังดู แต่ละคนค่อนข้างกระตือรือล้น ขณะเดียวกัน กรรมการ กนง. และ ธปท. เอง มีความอิสระจากฝ่ายการเมือง
"โดยโครงสร้างแล้ว จะเห็นว่า ธปท. ถูกออกแบบมาให้มีบอร์ดใหญ่ของเรา (คณะกรรมการ ธปท.) แต่บอร์ดนโยบายอื่นๆ คือ กนง. (คณะกรรมการนโยบายการเงิน) , กนส. (คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน) และ กรช. (คณะกรรมการระบบการชำระเงิน) จะแยกจากบอร์ดใหญ่
ผมเองมาเป็นกรรมการที่แบงก์ชาติ ผมประทับใจและแปลกใจ เพราะ (กรรมการ กนง.) 7 คน เป็นกรรมการนอก 4 คน กรรมการใน 3 คน ไปเล่าให้ต่างประเทศฟัง เขาอึ้งว่า เรากล้าไปหรือเปล่า เพราะที่อื่นส่วนมากคนในจะมากกว่าคนนอก และของเรา คนนอกที่มาก็มีความเป็นอิสระ
มันจึงสะท้อนความเป็นอิสระระดับหนึ่ง และความเป็นอิสระตรงนี้ ไม่ใช่อิสระจากการเมือง แต่ยังอิสระจากชี้นำและการครอบงำกันเองด้วย อย่างกรรมการ กนง. ที่มาจาก ธปท. เอง ซึ่งเป็นคนแบงก์ชาตินั้น ตอนโหวต บางทีโหวตไม่เหมือนกัน
ก่อนผมมา ผมคิดว่าเขาคุยแล้วเตี๊ยมกันก่อน แต่ไม่ใช่ เขาคุยเรื่องภาพรวมเศรษฐกิจ แต่ว่าตอนโหวต ประธาน (กนง.) ที่เป็นผู้ว่าฯ (ธปท.) และรองประธานฯ (รองผู้ว่าฯธปท.) โหวตอีกแบบก็ได้ จึงไม่ใช่อิสระจากแค่การเมือง แต่เป็นความอิสระของความคิดของแต่ละคนจริงๆ
อีกอันหนึ่งที่ดีใจ ในฐานะที่นั่งใน กนง. มาหลายชุด ในช่วงหลังมีการถกกันมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะ ระหว่างกรรมการ (กนง.) กันเอง เป็นอะไรที่ค่อนข้างดี" เศรษฐพุฒิ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ถามว่า กนง. และ ธปท. มีความทนทานต่อแรงกดดันทางด้านการเมืองได้มากน้อยแค่ไหน
@กรรมการฯให้น้ำหนักแต่ละเรื่องแตกต่างกัน
รุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร ธปท. ในฐานะกรรมการ กนง. กล่าวว่า ที่ถามว่าดอกเบี้ยนโยบายตอนนีั neutral แล้วหรือยัง ตรงนี้น่าจะเป็นเรื่องของมุมมองว่า เศรษฐกิจเป็นอย่างไร และอีกส่วนหนึ่ง ถ้าถามจากคนที่นั่งอยู่ในการประชุมฯ ก็จะเป็นเรื่องมุมมองของกรรมการแต่ละคน ซึ่งกรรมการแต่ละคนจะให้น้ำหนักแต่ละเรื่องไม่เหมือนกัน
"กรรมการ (กนง.) เรามี 7 คน แต่บางทีพูดออกไปเหมือนเป็นแบบ 1 เสียง แต่ในความเป็นจริง ต้องดูด้วยว่าแต่ละคนรู้สึกอย่างไร ถ้าส่วนใหญ่รู้สึกแบบเดียวกัน ในลักษณะไม่มีความกังวลด้านใดด้านหนึ่งมาก แม้ว่าบางคนจะให้น้ำหนักไม่เหมือนกัน แต่ถ้าทุกคนรู้สึกว่าระดับนี้ ค่อนข้าง compatible (ไปกันได้) คือ พร้อมจะปรับไปได้แต่ละทาง ก็จะรู้สึกว่า neutral จริงๆ
แต่ถ้ามีใครกังวลเรื่อง growth มาก เงินเฟ้อมาก หรือดอกเบี้ยต่ำมาก จะมีเรื่อง financial stability มาก ถ้าเป็นอย่างนั้น เราจะรู้สึกว่าอาจจะไม่ได้ neutral (เป็นกลาง) ก็ได้ แต่ถ้าทุกคนรู้สึกว่าค่อนข้างสมดุล ก็จะรู้สึกว่าเป็นอันนั้น เพียงแต่ว่าตรงนี้ไม่ได้ออกมาในเสียง 7 ต่อ 0 บางทีเราเห็นตัวเลข 7 ต่อ 0 , 2 ต่อ 5 หรือ 3 ต่อ 4 แต่คนที่อยู่ข้างนอกจะอ่านไม่ออกว่ามันแปลว่าอะไร หรือ 7 ต่อ 0 แปลว่า ยังมีความกังวลด้านหนึ่งมากหรือเปล่า" รุ่ง กล่าว
(รุ่ง มัลลิกะมาส)
รุ่ง ระบุว่า แม้ว่าการตัดสินใจของ กรรมการฯ ส่วนหนึ่งจะเป็นเรื่องมุมมองหรือความรู้สึก คือ ทุกคนมีความสบายใจ แต่ไม่ใช่อุปทานหมู่แน่นอน เพราะทุกคนไม่ได้คิดเหมือนกัน
"ที่ผ่านมาเราอาจค่อนไปทางที่บอกว่า เราพยายามจะเป็น one voice เพื่อไม่ให้เกิดเสียง noise คือ เสียงรบกวน แต่ในสภาพความเป็นจริง ก็อยากบอกว่ากรรมการ ก็คุยเยอะ และในการคุยก็ออกมาว่า กรรมการไม่ได้คิดเหมือนกันเด๊ะ และไม่ใช่อุปทานหมู่
ส่วนความกังวลของกรรมการฯนั้น คงพูดแทนกรรมการทั้งหมดไม่ได้ แต่โดยส่วนตัว ก่อนหน้านีั จะกังวลเรื่องของ financial stability ในลักษณะดอกเบี้ยที่ต่ำนาน เพราะมีความเชื่อเป็นการส่วนตัวว่า ถ้า (ดอกเบี้ย) ต่ำนานมันไปมีผลต่อพฤติกรรมของคน เช่น หนี้บางส่วนอาจจะมองว่าภาระหนี้น้อย แต่ลืมนึกไปว่าในวันหนึ่งดอกเบี้ยจะไม่ได้อยู่ที่ระดับเตี้ยเป็นเวลานาน
เราอยู่กับ (ดอกเบี้ย) ระดับที่เตี้ยมากมานานมาก จนคนที่เพิ่งเข้ามาในตลาดแรงงาน ซึ่งเขาไม่เคยเจอดอกเบี้ยสูง เขาก็จะมีพฤติกรรมบางแบบ ถามว่าส่วนตัวกังวลไหม ส่วนตัวมีความรู้สึกว่าเราต่ำนานเกินไป
แน่นอนก่อนหน้านี้ มีโควิด มีโน่นมีนี่ มันก็มีเหตุผลที่ทำให้เราเข้าใจได้ว่า ทำไมเราถึงต้องอยู่ต่ำ แต่เราต้องไม่ลืมว่าวันหนึ่ง เราต้องกลับ โดยเราจ้องมองดูว่า วันไหนที่เราต้องกลับ แล้วจริงๆคงต้องบอกว่า เราคุยเรื่องการกลับ และกลับไปอยู่จุดไหน ไม่ใช่เพิ่งมาคุยในการประชุมครั้งล่าสุดหรือ 2 ครั้ง เราคุยมาหลายเดือน แล้วเราคุยอะไรกันเยอะ
และโดยส่วนตัวกังวลกับเรื่องนั้น (ดอกเบี้ยต่ำนาน) มากกว่า ในขณะที่ท่านผู้ว่าฯ อาจกังวลเรื่องเกี่ยวกับเงินเฟ้อ เพราะคนเราประสบการณ์ไม่เหมือนกัน แม้ว่าอาจจะมีความกังวลเหมือนกัน แต่ระดับความกังวลไม่เท่ากัน" รุ่ง กล่าว
รุ่ง กล่าวว่า ต้องเข้าใจก่อนว่านโยบายการเงินเป็นเครื่องมือที่ใช้ทั้งระบบเศรษฐกิจ แต่เรายังมีจุดที่เรากังวลว่า กลุ่มบางกลุ่มอาจได้รับผลกระทบ อันนั้นเราก็ต้องดูว่า เครื่องมือของเรา มีเครื่องมืออื่นที่จะเข้าไปช่วยได้ไหน
"นั่นเป็นจุดเปลี่ยนของ ธปท. ว่า เราบอกว่าการดำเนินนโยบายด้านที่โดน ด้านสถาบันการเงิน ที่มีผลในเชิงเฉพาะจุด ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ขณะที่ด้านนโยบายมหภาค ต้องคุมบรรยากาศโดยรวม ถ้าเรารู้ว่าจุดนี้มีจุดที่เรากังวล เราใช้นโยบายอื่นเข้าไป เพื่อได้ประสิทธิผล ตรงจุด" รุ่ง กล่าว
@หาก outlook เปลี่ยน พร้อมปรับนโยบายดอกเบี้ย
อลิศรา มหาสันทนะ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. ในฐานะรองประธาน กนง. กล่าวว่า แม้ว่าจะเพิ่งเข้ามาเป็นกรรมการ กนง. และจะตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในเดือนหน้า ซึ่งในการตัดสินใจเกี่ยวกับดำเนินนโยบายนั้น หากประเมินแล้วว่า Outlook เปลี่ยน ทั้งทางด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และในแง่เงินเฟ้อ ก็สามารถปรับเปลี่ยนนโยบายได้
"ในแง่ กนง.เรามองไปข้างหน้า เพราะฉะนั้น จึงไม่ได้หมายความว่า neutral อยู่ตรงนี้ แล้วจะเป็นอย่างนี้ตลอดไป ถ้า outlook หรือภาพในอนาคตเปลี่ยนไปด้วยปัจจัยต่างๆ ซึ่งในระยะเวลาที่ผ่านมา ก็มีปัจจัยอะไรใหม่ๆ เข้ามาซึ่งอาจมีผลกระทบต่อ outlook ทั้งทางด้านการเจริญเติบโตเศรษฐกิจ แล้วก็เงินเฟ้อเข้ามา เราก็สามารถที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายได้" อลิศรากล่าว
(อลิศรา มหาสันทนะ)
อลิศรา ยังกล่าวว่า ในการประชุม กนง.ครั้งหน้านั้น จะมีการนำปัจจัยในเรื่องของสงครามมาพิจารณา เพื่อประเมินภาพในระยะข้างหน้าว่าเปลี่ยนแปลงไปจาก outlook ที่เคยมองไว้หรือไม่
"ขณะนี้มีปัจจัยอื่นๆ เช่น สงคราม เข้ามา ถามว่านโยบายการเงินต้องปรับเปลี่ยนหรือไม่ ต้องเครื่องมือมีเพิ่มเติมหรือไม่นั้น ถ้าเทียบการประชุม กนง. ครั้งที่แล้ว เหตุการณ์ที่แตกต่างจากไป กนง.ครั้งที่แล้ว ก็เป็นเรื่องสงคราม ซึ่งอาจมีผลต่อราคาน้ำมัน และราคาน้ำมัน ก็จะไปมีผลต่อเรื่องเงินเฟ้อในอนาคต หรือผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดกับเศรษฐกิจโลกจากผลของสงคราม จะไปมีผลต่อประเทศคู่ค้า แล้วมีผลต่อการส่งออกในอนาคต
เราก็ต้องประเมินผลกระทบตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยในการประชุมครั้งหน้า เรื่องเหล่านี้จะถูกนำเข้าไป แต่จะตอบไหมว่า จะเปลี่ยนไปในทิศทางไหนนั้น คงต้องรอดูสถานการณ์ เพราะมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นในสถานการณ์โลกพอสมควร เราจึงต้องติดตามและประเมินสถานการณ์ให้ทันต่อเหตุการณ์ ต้องมองไปข้างหน้า ประเมินภาพในระยะข้างหน้า แล้วปรับเปลี่ยนนโยบายให้สอดคล้องกับ outlook ในอนาคต" อลิศรา กล่าว
เหล่านี้เป็นมุมมองของ 3 กรรมการ กนง. จากฝั่ง 'แบงก์ชาติ' เกี่ยวกับการตัดสินใจในการกำหนด 'อัตราดอกเบี้ยนโยบาย' ในระยะข้างหน้า ท่ามกลางแรงกดกันจาก 'ฝ่ายการเมือง' รวมถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด และสงครามฮามาส-อิสราเอล ที่อาจลุกลามบานปลาย!
อ่านประกอบ :
‘ธปท.’เล็งหั่นGDPปี 67 หากแจก‘เงินดิจิทัล’ไม่ถึง 5.6 แสนล.-เก็บ'ลูกกระสุน'รับความเสี่ยง
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ : เรื่องเสถียรภาพ เราจะชะล่าใจไม่ได้
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำเหยียบคันเร่งกระตุ้นศก.‘อาจไม่จำเป็น’-ชี้เป้าแก้‘จุดอ่อน’เชิงโครงสร้าง
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ : เงินเฟ้อที่สูงมาก-หนี้สินที่คุมไม่ได้ ย่อมเสี่ยงเกิดวิกฤติ ศก.
‘ผู้ว่าฯธปท.’แนะรัฐบาล‘พักหนี้ฯ-แจกเงินดิจิทัล’เฉพาะกลุ่ม-ย้ำไม่เปลี่ยน‘นโยบายการเงิน’
ปีนี้โต3%กลางๆ! ‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำศก.ฟื้นต่อเนื่อง-เปลี่ยนโจทย์นโยบายการเงินเป็น‘landing’
เงินเฟ้อลงชั่วคราว! ‘ผู้ว่าฯธปท.’ส่งสัญญาณยังไม่หยุดขึ้นดบ.-ห่วงตั้งรบ.ช้ากระทบเชื่อมั่น
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำระบบการเงินไทย‘มีเสถียรภาพ-ทำงานได้ดี’-ขอ‘นายแบงก์’ร่วมแก้หนี้ครัวเรือน
ต้องเน้นเสถียรภาพ! ‘ผู้ว่าฯธปท.’ห่วงนโยบาย‘พรรคการเมือง’มุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำปี 66 ศก.ไทยโตเกิน 3% แม้โลกเสี่ยง-ดูแลปล่อยสินเชื่อใหม่ลด‘หนี้ครัวเรือน’
กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดบ.นโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25%-จับตาเศรษฐกิจโลกเสี่ยงชะลอกว่าคาด
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จับตา‘เงินบาท’ใกล้ชิด-มองจีดีพีปีนี้โต 3.3%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำไม่จำเป็นต้อง‘รีบเร่ง’ขึ้นดอกเบี้ย-คาด‘เงินเฟ้อ’กลับสู่กรอบกลางปี 66
‘ผู้ว่าฯธปท.’ยันการขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่ได้ช้าไป-ชี้โอกาสเกิด Stagflation เป็นไปได้น้อย
ผู้ว่าฯธปท. : ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ‘ส่วนต่างดอกเบี้ย-ค่าเงิน-ทุนเคลื่อนย้าย-ทุนสำรอง’