ที่ประชุม กนง. มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 2.5% หลังประเมินเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น-มีแรงกดดันด้านอุปทานจาก ‘เอลนีโญ’ มองจีดีพีปีนี้โค 2.8% ส่วนปีหน้าโต 4.4%
...................................
เมื่อวันที่ 27 ก.ย. นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 2.25 เป็นร้อยละ 2.50 ต่อปี โดยให้มีผลทันที
เศรษฐกิจไทยในภาพรวมอยู่ในทิศทางฟื้นตัว แม้จะขยายตัวชะลอลงในปีนี้จากอุปสงค์ต่างประเทศ โดยอัตราการขยายตัวในปี 2567 จะเพิ่มสูงขึ้นจากทั้งอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ ด้านอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2567 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกอปรกับแรงกดดันด้านอุปทานจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทั้งนี้ ต้องติดตามแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายภาครัฐต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ
คณะกรรมการฯ ประเมินว่า ในบริบทที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ นโยบายการเงินควรดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน และช่วยเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว รวมทั้งรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 2.8 และ 4.4 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ โดยมีแรงส่งสำคัญจากการบริโภคภาคเอกชน สำหรับปีนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจชะลอลงจากภาคการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ส่วนหนึ่งจากเศรษฐกิจจีนและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ฟื้นตัวช้า
อย่างไรก็ดี อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะเร่งสูงขึ้นในปี 2567 จากอุปสงค์ในประเทศ ภายใต้บริบทที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่องและภาคการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัว อีกทั้งจะได้รับแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายภาครัฐ
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ในกรอบเป้าหมาย และคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.6 และ 2.6 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ โดยมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำในปี 2566 จากผลของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐและผลของฐานที่สูงในปีก่อนหน้า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในปี 2567 โดยคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.4 และ 2.0 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ
ทั้งนี้ ยังต้องติดตามความเสี่ยงด้านสูง โดยเฉพาะในปี 2567 จากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้นจากนโยบายภาครัฐ และต้นทุนราคาอาหารที่อาจปรับสูงขึ้นหากปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรงกว่าคาด
ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่ต้องติดตามพัฒนาการของคุณภาพสินเชื่อที่อาจได้รับแรงกดดันจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนที่ยังเปราะบางจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นและรายได้ที่ฟื้นตัวช้า คณะกรรมการฯ สนับสนุนการดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending)
ภาวะการเงินโดยรวมตึงตัวขึ้นบ้าง แต่ยังเอื้อต่อการระดมทุนของภาคเอกชนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนโน้มสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่สินเชื่อภาคเอกชนชะลอลงหลังจากที่เร่งไปมากในช่วงวิกฤต แต่ประเมินว่าจะฟื้นตัวสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ด้านตลาดการเงินมีความผันผวนสูงขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับเพิ่มขึ้น และอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่า ส่วนหนึ่งตามทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกอบกับนักลงทุนรอความชัดเจนของนโยบายภาครัฐที่อาจมีนัยต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพด้านการคลังในอนาคต
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ประเมินว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมาจนถึงการประชุมครั้งนี้ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว
ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าจะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่อาจได้รับแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายภาครัฐ
@หั่นจีดีพีปีนี้เหลือ 2.8%-คาดเศรษฐกิจปีหน้าโต 4.4%
นายปิติ กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการฯ ได้ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจ โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะ ชะลอตัวลงจากประมาณการเดิมเมื่อเดือน พ.ค.2566 เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจจริงที่ออกมาในช่วงไตรมาส 2/2566 ต่ำกว่าคาดไว้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากในด้านต่างประเทศ ทั้งการส่งออกสินค้าและรายจ่ายนักท่องเที่ยวที่ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ขณะที่อุปสงค์ในประเทศออกมาค่อนข้างดี และดีกว่าที่คาดไว้ด้วยซ้ำ
“ปลายปีที่แล้ว เราประมาณการว่าอุปสงค์ภายในประเทศจะฟื้นตัว และสิ่งที่เกิดขึ้น คือ อุปสงค์ในประเทศฟื้นตัวดีตามที่คาดไว้ บางช่วงดีกว่าที่คาดด้วยซ้ำ แต่เซกเตอร์ที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ ท่องเที่ยวนั้น ตัวเลขไตรมาส 2 ที่ออกมา ถือว่าต่ำกว่าที่เราคาด และจะเห็นได้ว่าในช่วงนี้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในภาคท่องเที่ยวพอสมควร ทั้งรูปแบบการเดินทาง และการซื้อบริการ อย่างไรก็ดี เครื่องชี้ภาคบริการยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว” นายปิติ กล่าว
นายปิติ กล่าวต่อว่า คณะกรรมการฯ ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจในปี 2566 และปี 2567 ใหม่ โดยคำนึงถึงมาตรการภาครัฐที่คาดว่าจะเริ่มนำมาใช้ในปีหน้าแล้ว เช่น การแจกเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเลต การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และมาตรการลดราคาพลังงานให้กับผู้บริโภค เป็นต้น โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะขยายตัว 2.8% ลดลงจากประมาณการเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.6% ส่วนปี 2567 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 4.4% จากเดิม 3.8%
“มองไปข้างหน้า ถ้าควบรวมการฟื้นตัวในภาคการส่งออกสินค้าที่มาจากเศรษฐกิจโลก การฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศที่มีอยู่แล้วและมีต่อเนื่อง และเมื่อควบรวมมาตรการกระตุ้นเพิ่มจากภาครัฐเข้ามา ก็คาดว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะเติบโต 4.4% สูงกว่าที่เราเคยประเมินไว้ในรอบก่อนหน้านี้” นายปิติ กล่าวและว่า “ในปีหน้า ภาคส่งออกจะกลับมาขยายตัวและเป็นปัจจัยบวกให้เศรษฐกิจ และถ้ามอง ‘เครื่องยนต์’ ทางเศรษฐกิจในปีหน้า ก็จะ ‘ครบครัน’ มากกว่าปีนี้”
@เงินเฟ้อมีความเสี่ยงด้านสูง-มองปี 67 ‘เงินเฟ้อทั่วไป’ 2.6%
นายปิติ ระบุว่า ในด้านอัตราเงินเฟ้อนั้น จากแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และแรงกระแทกจากด้านอุปทาน โดยเฉพาะเอลนีโญที่จะทำให้เกิดภัยแล้งหนักหน่วงกว่าในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นนั้น จะทำให้เงินเฟ้อในอนาคตเพิ่มขึ้น โดย กนง.ได้ประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 ไว้ที่ 1.6% จากเดิม 2.5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะอยู่ที่ 1.4% จากเดิม 2% ซึ่งเป็นผลจากมาตรการลดค่าไฟฟ้าและราคาพลังงานโดยรวมของภาครัฐ
ขณะที่ในปี 2567 คาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 2.6% จากประมาณการเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 2.4% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะอยู่ที่ 2% เท่ากับประมาณการครั้งก่อน แต่เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่คาดว่าเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ 1.4%
นายปิติ กล่าวต่อว่า ในด้านภาวะการเงินนั้น ภาวะการเงินโดยรวมตึงตัวขึ้นบ้าง ตามกระบวนการ normalization ที่ได้ดำเนินมา ขณะที่การส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามปรับนโยบายการเงินที่เป็นแบบ ‘ค่อยเป็นค่อยไป’ และแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาการขยายตัวของสินเชื่อจะลดลงและติดลบบ้าง แต่หากดูในระยะยาวแล้ว จะเห็นว่าการชะลอตัวของสินเชื่อในช่วงที่ผ่านมานั้น เป็นเพราะการปล่อยสินเชื่อเร่งตัวไปมากในช่วงโควิด
“คณะกรรมการฯมองว่าในระยะข้างหน้า ถ้าเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง สินเชื่อก็จะกลับมาขยายตัวต่อไป” นายปิติ กล่าว
ส่วนในด้านตลาดการเงินนั้น ในช่วงที่ผ่านมาตลาดการเงินมีความผันผวนมากขึ้น โดยค่าเงินบาทอ่อนค่าลงพอสมควร เมื่อเทียบกับในช่วงการประชุม กนง. เมื่อต้นเดือน ส.ค.2566 และอ่อนค่ามากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยก็อ่อนตัวลง ซึ่งเป็นไปตามวัฏจักรโลกที่พันธบัตรสหรัฐมีผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ตามที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ย และยังมีการสื่อสารว่าดอกเบี้ยจะขึ้นต่อได้ในระยะต่อไป
“ในช่วงท้ายๆที่ผ่านมา ความอ่อนไหวของอัตราการปรับขึ้นของพันธบัตรไทย อาจจะเยอะเป็นพิเศษกว่าในช่วงก่อนหน้านี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตลาดการเงินมีความไม่ชัดเจน มีความกังวลเกี่ยวกับมาตรการภาครัฐ และการกระตุ้นเศรษฐกิจว่า แหล่งที่มาของแหล่งเงินจะไฟแนนซ์กันอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่คณะกรรมการฯให้ความสำคัญและติดตามอย่างต่อเนื่อง” นายปิติ กล่าว
นายปิติ สรุปว่า “ถ้าดูแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าแล้ว ในปีนี้เศรษฐกิจก็ยังฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ถ้ามองในปีหน้าคิดว่าจะเพิ่มขึ้น และมีความเสี่ยงด้านสูงจากแรงส่งของภาครัฐที่มีความไม่ชัดเจนอยู่บ้างเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ เช่น จะมีรูปแบบแบบไหน ทำเมื่อไหร่ และอาจจะทำให้มีแรงส่งมากกว่าที่เราได้คาดไว้ได้ ด้านเงินเฟ้อ นอกเหนือจากแรงส่งด้านอุปสงค์ที่จะขึ้นแล้ว จะมีเรื่องซัพพลายช็อคที่ทำให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น
ส่วนตัวที่จะเป็นความเสี่ยงด้านต่ำ คือ เศรษฐกิจโลก และการฟื้นตัวของภาคการส่งออกสินค้าที่คาดว่าจะมีในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะล่าช้าไป ดังนั้น ภายใต้ภาพดังกล่าว คณะกรรมการฯ จึงมีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้ไปที่ 2.5% ทั้งนี้ หากแนวโน้มเศรษฐกิจเป็นไปตามที่คณะกรรมการฯคาด อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับปัจจุบันถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสมไปอีกระยะหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ก็ยังใช้แนวทาง outlook dependent คือ มองแนวโน้มในระยะข้างหน้า ในบริบทที่ยังมีความเสี่ยงด้านสูงอยู่ทั้งในด้านเงินเฟ้อและเศรษฐกิจ”
@ส่งสัญญาณ‘ดอกเบี้ยนโยบาย’เหมาะสมแล้ว
เมื่อถามว่า ตอนนี้ถึงจุดจบของวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้แล้วหรือไม่ และเมื่อดอกเบี้นนโยบายเป็นระดับ neutral rate แล้ว หากจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยจะเกิดจากอะไรได้บ้าง หากปี 2567 เศรษฐกิจไม่โตที่ 4.4% ตามที่คาดไว้จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ นายปิติ กล่าวว่า ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 4.4% ได้คำนึงถึงมาตรการกระตุ้นภาคการคลังเอาไว้แล้ว โดยเฉพาะการแจกเงินผ่านดิจิทัลวอลเลต
อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะไม่มีมาตรการเหล่านี้เศรษฐกิจไทยก็มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อไป ดังนั้น หากภาพเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยยะ อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันก็ถือว่าเหมาะสมอยู่
“เราเริ่มกระบวนการ normalization ตั้งแต่กลางปีที่แล้วจนถึงบัดนี้ คณะกรรมการฯก็เห็นอัตราดอกเบี้ย ณ ปัจจุบันก็สอดคล้องกับระดับที่ประเมินว่าเหมาะสมกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และมีเสถียรภาพในระยะยาว หรือ neutral rate เหมือนที่เราคุยกันมา ณ ตอนนี้ ภายใต้แนวโน้มเศรษฐกิจที่ประเมิน ณ ตอนนี้ ดังนั้น ถ้าในระยะสั้นๆต่อไปนี้ ภาพเศรษฐกิจไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะ ก็คาดว่าดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันน่าจะเหมาะสมอยู่
แต่แน่นอนว่า ความไม่แน่นอนก็มีค่อนข้างเยอะ เช่น เรื่องนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่จะเข้ามามากน้อยขนาดไหน มาตรการของภาครัฐที่ยังมีความไม่ชัดเจนว่าจะเริ่มเมื่อไหร่ ขนาดเท่าไหร่ และรูปแบบเป็นอย่างไร ดังนั้น คณะกรรมการฯ จะต้องนำข้อมูลที่ชัดเจนขึ้นในระยะข้างหน้ามาประเมินในการตัดสินต่อไป ซึ่งปัจจัยหลักที่ดูจะมี 3 ปัจจัย คือ เศรษฐกิจโตในระดับศักยภาพ เงินเฟ้อโน้มเข้าสู่กรอบเป้าหมายและประสิทธิภาพระบบการเงินโดยรวม” นายปิติกล่าว
@ขึ้นดอกเบี้ยมีผลต่อ‘ค่าเงินบาท-เงินทุนไหลออก’
เมื่อถามว่า การที่ กนง.ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 เหลือ 2.8% แต่ยังขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อ เป็นการย้อนแย้งหรือไม่ ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังมีความอ่อนแอ และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยรอบนี้ ตลาดมองว่าเป็นการขึ้นดอกเบี้ย เพราะสกัดเงินทุนไหลออกหรือไม่ นายปิติ กล่าวว่า ในการกำหนดนโยบายการเงินนั้น สิ่งที่สำคัญ คือ การมองภาพไปข้างหน้า โดยเฉพาะการส่งผ่านนโยบายการเงินที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4 ไตรมาสขึ้นไป
โดยสิ่งที่คณะกรรมการฯมอง คือ ในปีหน้าเป็นต้นไปนั้น เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจะทำให้เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้น การ normalization โดยการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีก 0.25% จึงเป็นสิ่งที่เหมาะสม และเศรษฐกิจรองรับได้ ซึ่งในการหารือของคณะกรรมการฯเอง ก็ได้มีหารือถึงในเรื่องหนี้ครัวเรือน และภาระที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทเอกชน อีกทั้งหากดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ก็จะช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาว
“หากดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง จะช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาว เพราะดอกเบี้ยที่ไม่ต่ำเกินไป จะช่วยทำให้พฤติกรรม search for yield ลดทอนความเสี่ยงตรงนั้น ขณะเดียวกัน คณะกรรมการฯเองก็ดูหลายเรื่องมาก ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องผลของค่าเงิน เรื่องของเงินทุนที่ไหลออกเยอะหน่อยในช่วงที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่คณะกรรมการฯคำนึงถึงอยู่แล้ว การขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจนมาถึงจุด neutral จะช่วยด้านต่างประเทศในระดับหนึ่ง
โดยเฉพาะในเรื่องการยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าอย่างน้อยเงินเฟ้อของประเทศไทยจะอยู่ในกรอบที่ควรจะเป็น เมื่อวางใจตรงนี้ และมีความชัดเจนว่านโยบายการเงินในระยะข้างหน้าจะดำเนินการอย่างไร จะดูอะไร ก็จะช่วยลดความไม่แน่นอนในตลาดได้ระดับหนึ่ง และคิดว่านี่คือสิ่งที่ดีที่สุดที่คณะกรรมการฯ ชั่งน้ำหนักแล้วว่านโยบายการเงินควรทำในตอนนี้” นายปิติกล่าว
นายปิติ กล่าวย้ำว่า “อัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือที่หยาบมาก แต่เป็นตัวแปรที่สำคัญมาก เพราะเวลาที่มีการปรับเปลี่ยนระดับดอกเบี้ยนโยบาย ภาวะโดยรวมของตลาดการเงิน ซึ่งนอกเหนือจากตลาดพันธบัตร ตลาดหุ้น อัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์แล้ว อัตราแลกเปลี่ยนซึ่งอยู่ในตลาดการเงิน ก็ต้องมีการปรับตัวตามอัตราดอกเบี้ย และแน่นอนว่าสิ่งที่นโยบายการเงินทำ มีผลกระทบต่อค่าเงินอยู่แล้ว แต่นั่นไม่ใช่ปัจจัยหลักที่คณะกรรมการฯพิจารณาในรอบนี้”
@กนง.จับตานโยบาย‘แจกเงินดิจิทัล’อย่างใกล้ชิด
นายปิติ กล่าวถึงนโยบายภาครัฐที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจปี 2567 ว่า มาตรการหลักๆที่จะมีผลกระทบสูงมาก คือ การแจกเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเลต แต่เรื่องดังกล่าวยังมีไม่ครบถ้วน ทั้งช่วงเวลาที่จะดำเนินการจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ขนาดของการดำเนินการจะเป็นอย่างไร แหล่งเงินที่จะนำมาใช้จะมาจากแหล่งไหน และรูปแบบที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นอย่างไร รวมทั้งยังไม่มีความชัดเจนว่าผลของมาตรการที่กระจายไปยังเศรษฐกิจจะเป็นเท่าไหร่
“ขอบเขตที่น่าจะเป็นไปได้ของมาตรการคลังในลักษณะนี้ คือ การโอนเงิน ที่เป็น transfer ไม่ใช่การบริโภคภาครัฐในการโอนเงินให้กับประชาชน ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ (Multiplier Effect) จะอยู่ที่ 0.3-0.6% ตรงนี้เป็นหนึ่งในข้อมูลที่คณะกรรมการฯได้ลองนำมาใช้ดู ซึ่งในภาพรวมก็มีนัยยะพอสมควร แต่ก็มีอัพไซส์ที่ดูสั้นเหมือนกัน และไม่ว่ามาตรการนี้จะมารูปแบบไหนก็ตาม จะทำให้จีดีพีโตอย่างน้อย 4% ส่วนจะเป็น 4.4% หรือ 4.6% ต้องดูรูปแบบไปอีกระยะ” นายปิติ กล่าว
ส่วนกรณีที่กังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ นั้น นายปิติ กล่าวว่า ภาคการคลังของไทยมีเสถียรภาพค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศตลาดเกิดใหม่ และหนี้สาธารณะของประเทศไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงมากขนาดนั้น เมื่อมองไปข้างหน้า หากเศรษฐกิจเติบโตตามแนวโน้มศักยภาพ รัฐบาลก่อหนี้เพิ่มในระดับหนึ่งและมีความสามารถในการใช้หนี้ได้ ก็ไม่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพในระยะยาว ซึ่งคณะกรรมการฯจะติดตามใกล้ชิดต่อไป
อ่านประกอบ :
สู่ระดับ 2.25%! 'กนง.'มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%-มอง'เงินเฟ้อ'มีความเสี่ยงด้านสูง
มติเอกฉันท์! ‘กนง.’เคาะขึ้นดบ. 0.25% สู่ระดับ 2% มองเศรษฐกิจอาจโตเกินคาด-จับตาเงินเฟ้อ
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%สู่ระดับ 1.75% สกัดเงินเฟ้อ-จับตาตลาดการเงินโลกผันผวน
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สกัดเงินเฟ้อ-มองศก.ไทยฟื้นต่อเนื่อง แม้ส่งออกแผ่ว
กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดบ.นโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25%-จับตาเศรษฐกิจโลกเสี่ยงชะลอกว่าคาด
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จับตา‘เงินบาท’ใกล้ชิด-มองจีดีพีปีนี้โต 3.3%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำไม่จำเป็นต้อง‘รีบเร่ง’ขึ้นดอกเบี้ย-คาด‘เงินเฟ้อ’กลับสู่กรอบกลางปี 66
‘ผู้ว่าฯธปท.’ยันการขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่ได้ช้าไป-ชี้โอกาสเกิด Stagflation เป็นไปได้น้อย
ผู้ว่าฯธปท. : ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ‘ส่วนต่างดอกเบี้ย-ค่าเงิน-ทุนเคลื่อนย้าย-ทุนสำรอง’
กลับสู่ภาวะปกติ!‘ผู้ว่าฯธปท.’ชี้ไม่ได้ขึ้น‘ดอกเบี้ย’ทีเดียวแล้วจบ-คาดGDPไตรมาส 2 โต 3%