‘สภาพัฒน์’ เผยเศรษฐกิจปี 64 ขยายตัว 1.6% หลัง ‘ส่งออก-การใช้จ่ายภาครัฐ’ เร่งตัว ประเมินจีดีพีปี 65 เติบโต 3.5-4.5% จากอุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น-ภาคท่องเที่ยวฟื้นตัว คาดทั้งปี 65 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 ล้านคน
...........................
เมื่อวันที่ 21 ก.พ. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 4 ทั้งปี 2564 และแนวโน้มปี 2565 ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/2564 ขยายตัว 1.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้เศรษฐกิจทั้งปี 2564 ขยายตัว 1.6% สูงกว่าตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจทั้งปี 2564 ที่ สศช.เคยคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 1.2%
“เศรษฐกิจไตรมาส 4/2564 ที่ขยายตัว 1.9% มีปัจจัยจากการส่งออกสินค้าและการใช้จ่ายภาครัฐที่เร่งตัวขึ้น ขณะที่ภาคการผลิตยังขยายตัวได้ดี ทำให้เศรษฐกิจทั้งปี 2564 ขยายตัว 1.6% ปรับตัวดีขึ้นจากปี 2563 ที่หดตัว -6.2% และเศรษฐกิจปี 64 ที่ขยายตัว 1.6% ยังสูงกว่าที่เราเคยคาดการณ์ในช่วงการประกาศตัวเลขในเดือน พ.ย.2564 ซึ่งตอนนั้นเราคาดว่าน่าจะอยู่ที่ 1.2% ส่วนหนึ่งมาจากการผ่อนคลายมาตรการต่างๆในช่วงไตรมาส 4 ทำให้เศรษฐกิจเริ่มขยับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการเปิดรับนักท่องเที่ยว ทำให้หลายเซ็กเตอร์มีการปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างดี” นายดนุชา ระบุ
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.5-4.5% มีค่ากลาง 4% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและการกระจายวัคซีนอย่างต่อเนื่อง รายได้นอกภาคเกษตรขยายตัวได้ดี และการปรับตัวดีขึ้นของตลาดแรงงาน ,การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ,การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า และแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐ
ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ๆในระยะต่อไป ไม่ทำให้ประเทศต่างๆเพิ่มมาตรการจำกัดการเดินทาง และประเทศไทยมีการผ่อนคลายมาตรการฯเพิ่มขึ้นตามลำดับ
ทั้งนี้ สศช.คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในรูปดอลลาร์สหรัฐขยายตัว 4.9% การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 4.5% ,การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 3.8% ,การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัว 4.6% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 1.5-2.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 1.5% ของ GDP อย่างไรก็ดี ในส่วนการบริโภคภาครัฐคาดว่าจะหดตัว -0.2% ตามการลดลงของกรอบวงเงินรายจ่ายประจำปีงบ 2566 เมื่อเทียบกับกรอบในปีงบ 2565
ส่วนสมมติฐานอื่นๆในปี 2565 เช่น เศรษฐกิจโลกขยายตัว 4.5% ,ปริมาณการค้าโลกขยายตัว 6% ,อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 32.2-33.2 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 72-82 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ,นักท่องเที่ยวต่างชาติมีจำนวน 5 ล้านคน ซึ่งสร้างรายได้เข้าประเทศ 4.7 แสนล้านบาท และอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐอยู่ที่ 93.5% ของงบรายจ่าบประจำปี
“แม้เศรษฐกิจโลกในปี 2565 จะยังฟื้นตัวได้ ยังคงมีแรงส่งอยู่ แต่มีแรงส่งไม่เหมือนกับในปี 2564 และมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆเข้ามา เช่น เรื่องอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศเศรษฐกิจสำคัญ ซึ่งส่งผลต่อการฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกในปีนี้ เราจึงประมาณการว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2565 จะขยายตัวที่ 4.5% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.8% โดยเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐจะขยายตัว 4% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 5%” นายดนุชา กล่าว
นายดนุชา ระบุว่า ด้านข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ได้แก่ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ท่ามกลางการกลายพันธุ์ของไวรัส ,การเพิ่มขึ้นของแรงกดดันด้านเงินเฟ้อตามการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ซึ่งจะเป็นแรงกดดันให้ธนาคารกลางของประเทศสำคัญๆต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และจะมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ
ฐานะการเงินของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่ยังคงมีความเปราะบางอยู่ ภายใต้สภานการณ์ที่ตลาดแรงงานยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น จะส่งผลให้ภาคธุรกิจมีต้นทุนเพิ่มขึ้นและส่งผลกระทบต่อครัวเรือนที่มีหนี้สิน ,แรงขับเคลื่อนจากการขยายตัวของภาคการส่งออกและภาคอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงจากปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่การผลิตที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ และความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก
นายดนุชา กล่าวว่า ในส่วนประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในปี 2565 สศช. เห็นว่ารัฐบาลความสำคัญกับ 9 ประเด็น ได้แก่
1.การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดภายในประเทศให้อยู่ในวงจำกัด
2.การสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ ควบคู่ไปกับการดูแลภาคเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว โดยการเร่งรัดติดตามมาตรการต่างๆ ให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และมาตรการเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มที่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงและในสาขาเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว, การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานควบคู่ไปกับการพิจารณามาตรการเพื่อช่วยเหลือแรงงานเพิ่มเติม และการเร่งรัดมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ภาคธุรกิจ
3.การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยการติดตามและประเมินผลมาตรการต่างๆ ที่ดำเนินการไปแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการ เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย, การดูแลกลไกตลาดเพื่อแก้ไขและบรรเทาผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า รวมทั้งผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และการพิจารณาการใช้จ่ายภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 และ 2566 โดยให้ความสำคัญมากขึ้นกับโครงการลงทุนที่มีวัตถุประสงค์ในการสร้างงานสร้างอาชีพในระดับชุมชน เพื่อรองรับแรงงานย้ายกลับภูมิลำเนา
4.การดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือน โดยให้ความสำคัญกับมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ ควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการจูงใจในการชำระหนี้และบรรเทาภาระหนี้สินที่สำคัญ
5.การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า โดยการขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าสำคัญไปยังตลาดหลัก ควบคู่กับการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพและการสนับสนุนการค้าชายแดน, การพัฒนาสินค้าส่งออกให้มีคุณภาพและมาตรฐาน, การแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อระบบการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์, การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา และการปกป้องความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต
6.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนให้เกิดการลงทุนจริง ,การแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างชาติเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ ,การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุก ,การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ รวมถึงขับเคลื่อนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษในแต่ละภูมิภาค ,การลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญ และการพัฒนากำลังแรงงานทักษะสูงเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย
7.การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ
8.การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของภาคเศรษฐกิจต่างประเทศ
9.การขับเคลื่อนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สนับสนุนการกระจายรายได้ และปรับตัวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
อ่านประกอบ :
สูงสุดนับตั้งแต่เกิดโควิด!‘สศช.’เผยไตรมาส 3 ตกงานพุ่ง 2.25%-ว่างงานชั่วคราวอีก 9 แสน
‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 3 หด 0.3% คาดทั้งปี 64 เติบโต 1.2%-มองปีหน้าขยายตัว 3.5-4.5%
‘สศช.’เผยจีดีพีสังคมไตรมาส 2 พบ‘ว่างงานสูง-หนี้เพิ่ม-รายได้หด-เงินออมลด-เครียดโควิด’
'สศช.’ หั่นเป้าเศรษฐกิจปี 64 เหลือ 0.7-1.2%-จีดีพีไตรมาส 2 โต 7.5% ส่งออกดี-ฐานต่ำ
จีดีพีไตรมาส 1 ลบ 2.6%! สศช.หั่นเป้าปี 64 โต 1.5-2.5%-คาดคุมโควิดระลอก 3 ได้มิ.ย.นี้
รายได้ลด-หนี้เพิ่ม! สศช.ห่วง 3 ปัจจัยกระทบแรงงาน-เกษียณ 60 ปีต้องมีเงินออม 2.8-4 ล.
เซ่นโควิดรอบใหม่! สศช.หั่นจีดีพีปีนี้เหลือ 2.5-3.5%-ศก.ปี 63 หดหนักสุดรอบ 22 ปี
จีดีพีไตรมาส 3 ลบ 6.4%! สภาพัฒน์ฯคาดทั้งปีหดตัวร้อยละ 6 จับตา 'โควิดรอบ 2-การเมือง'