ยังไม่นัดประชุม 3 ฝ่าย 'กทม.-เคที-BTS' หลังสภากทม.ไฟเขียวจ่าย E&M 2.3 หมื่นล้าน ชี้จะทำหนังสือแจ้ง 'มหาดไทย' ก่อน 12 ก.พ.นี้ ว่าจะมีท่าทีอย่างไร เพราะกระทบสาระสำคัญในผลการเจรจาตามคำสั่งหัวหน้าคสช. จึงจะนัดประชุมภายหลัง ‘ชัชชาติ’ เตรียมตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ยึดแนวตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 คาดตั้งได้เมื่อไหร่ ใช้เวลา 5 เดือน ศึกษาเสร็จ ไม่ห่วงผลการเจรจาตามคำสั่ง ม.44 ยังคา ครม. ชี้ปลายทางรัฐบาลต้องตัดสินจะเอาแนวไหน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 จากกรณีที่สภากรุงเทพมหานคร (สภากทม.) มีมติเห็นชอบข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. ... เพื่อชำระค่างานระบบการเดินรถไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต วงเงิน 23,488,692,200 บาท
โดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผุ้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ระบุว่า จะมีการประชุมร่วมกันของทั้ง 3 หน่วยงานได้แก่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งจะมีนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่ากทม.เป็นตัวแทน, บจ.กรุงเทพธนาคม (KT) และ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ในวันที่ 8 ก.พ. 2567 นั้น
ล่าสุด แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศราว่า การประชุม 3 ฝ่ายที่ผู้ว่ากทม.กล่าวนั้น ยังไม่ได้มีการประชุมแต่อย่างใด โดยทราบมาว่า ทางฝ่ายนโยบายจะทำหนังสือรายงานนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยถึงกรณีที่สภากทม.เห็นชอบให้จ่ายค่างาน E&M วงเงิน 23,488,692,200 บาทก่อน โดยคาดว่าจะทำหนังสือภายในวันนี้ (9 ก.พ. 2567) และคาดว่าจะทำหนังสือออกไปถึงกระทรวงมหาดไทยในวันจันทร์ (12 ก.พ. 67)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายชัชชาติให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2567 ว่า หลังจากที่สภากทม.และผู้บริหาร กทม.เห็นชอบให้มีการจ่ายค่างานระบบเดินรถไฟฟ้าและเครื่องกล โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต วงเงิน 23,488,692,200 บาท อาจจะต้องมีการรายงานไปยังกระทรวงมหาดไทย แจ้งว่า กทม.และสภากทม.ได้ดำเนินการตามข้างต้นไปแล้ว อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบในผลการเจรจาของคณะกรรมการตามคำสั่งหัวหน้า คสช.
เนื่องจากผลการเจรจาของคณะกรรมการตามคำสั่งหัวหน้าคสช.เมื่อวันที่ 2 และ 16 ส.ค. 2562 ระบุว่า บริษัทผู้รับสัมปทานจะเป็นผู้รับภาระค่าติดตั้งงานระบบส่วนต่อขยายที่ 2 ทั้งหมด ทำให้ กทม.ยุติการชำระหนี้ส่วนนี้ลง ดังนั้น เมื่อมีการจ่ายค่างานตรงนี้ไป ก็จะต้องรายงานกระทรวงมหาดไทยให้ทราบ ส่วนกระทรวงมหาดไทยจะดำเนินการอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ส่วนการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงบางหว้า - ตลิ่งชัน ระยะทาง 7.5 กม. มูลค่าโครงการประมาณ 7,000 ล้านบาท นายชัชชาติระบุว่า อยู่ระหว่างการศึกษาโครงการ โดยรูปแบบการลงทุน น่าจะศึกษาในลักษณะเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่เป็นตัวเลขอาจจะต้องรอการศึกษาที่เป็นทางการก่อน
@เตรียมศึกษาแนวทางต่อสัมปทานสายสีเขียว/สัมปทานสายสีเขียว มูลค่าพุ่ง 2 แสนล้านบาท
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ปัจจุบันเข้าสู่ปี 2567 แล้ว เท่ากับว่าสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ทำไว้ตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งจะสิ้นสุดระยะเวลาสัมปทานในปี 2572 นี้ จะเหลือระยะเวลาอีกแค่ 5 ปีเท่านั้น
ดังนั้น แม้ว่าหลังสิ้นสุดสัมปทาน ตัวโครงการทั้งหมดจะกลับมาเป็นของ กทม. ซึ่งตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ ก็คงจะนำทั้งโครงการไปเข้าสู่กระบวนการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 (พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562) โดยจะตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในแต่ละแนวทางหลังหมดสัญญาสัมปทาน ซึ่งจะต้องรวบเอาส่วนต่อขยายสายสีเขียวทั้งหมดมารวมกันเป็นสัมปทานเดียว แม้ว่าหลังหมดสัมปทานในปี 2572 จะยังมีสัญญาจ้างเดินรถที่จะหมดอายุตามมาในปี 2585 ก็ตาม จึงคาดหมายว่า คณะกรรมการชุดดังกล่าวจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 5 เดือน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทาง จะซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2562 ที่ระบุเรื่องการต่อสัญญาสัมปทานหรือไม่ นายชัชชาติตอบว่า ไม่ใช่ คณะกรรมการชุดนี้คือการศึกษาของ กทม.เองก่อน เพราะสุดท้ายปลายทางของการเห็นชอบเรื่องสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวคือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่วนคณะกรรมการตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ดังกล่าว ปัจจุบัน ผลการเจรจาต่างๆยังค้างอยู่ใน ครม. ซึ่ง ครม.ยังไม่มีท่าทีว่าจะเห็นชอบตามนั้นหรือไม่ คณะกรรมการชุดนี้จึงเป็นการศึกษาแนวทางก่อน เพราะหากเลือกต่อสัญญาสัมปทานนอกแนวทางคำสั่งหัวหน้า คสช. ก็จะต้องดำเนินกระบวนการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 อยู่ดี
“จริงๆรูปแบบเหมือนเป็นคณะที่ปรึกษาที่จะศึกษาแนวทางในการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวก่อนว่าจะวิเคราะห์ในแนวทางไหนดี ได้สั่งการรองฯวิศณุ (วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่ากทม.) ไปแล้ว โดยปลายทางหลังได้ผลการศึกษาแล้ว มีการตั้งคณะกรรมการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน สุดท้ายก็ต้องให้ ครม.ตัดสินใจว่าจะเอาแนวทางใหม่หรือเอาแนวทางตามคำสั่งหัวหน้าคสช.” นายชัชชาติกล่าวตอนหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า หากในระหว่างที่กำลังศึกษาแนวทางการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว หากที่ประชุม ครม. พิจารณาผลการเจรจาของคณะกรรมการตามคำสั่งหัวหน้าคสช. จะกระทบกับแนวทางที่วางไว้หรือไม่ ผู้ว่ากทม.ตอบว่า หาก ครม.พิจารณาตามผลการเจรจาจริง ก็ต้องรอดูก่อนว่า ที่ประชุมครม.มีความเห็นและคำสั่งการอย่างไรออกมา
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)
ด้านแหล่งข่าวกทม.กล่าวว่า การศึกษารูปแบบการต่อสัญญาสัมปทานตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 คาดว่าจะเสนอผู้ว่ากทม.เร็วๆนี้ โดยจะใช้งบประมาณในการศึกษาที่ 20 ล้านบาท ส่วนจะที่มาของงบอยู่ระหว่างการพิจาณราว่าจะของบประมาณกลางปี 2567 หรือจะเสนอในร่างงบประมาณปี 2568 ซึ่งระยะเวลาการศึกษา 5 เดือน น่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2567 นี้ โดยการศึกษาส่วนใหญ่จะเป็นการเปรียบเทียบว่าระหว่างรูปแบบ PPP Net Cost (เอกชนได้รับสิทธิ์ในการจัดเก็บรายได้ และจัดสรรผลตอบแทนบางส่วนให้แก่ภาครัฐตามข้อตกลง ซึ่งเอกชนจะต้องรับความเสี่ยงจากผลดำเนินงานทั้งหมด) หรือรูปแบบ PPP Gross Cost (ภาครัฐจัดเก็บรายได้ทั้งหมด และชดเชยค่าตอบแทนให้บริษัทเอกชนตามค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินงาน) โดยปัจจุบันมูลค่าสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวรวมทุกส่วนต่อขยายเข้าด้วยกันจะอยู่ที่ประมาณ 200,000 ล้านบาท
@ภูมิใจไทยชงเลิกคำสั่ง ม.44 สายสีเขียว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดกระบี่ พรรคภูมิใจไทย พร้อมคณะเพิ่งยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกเลิกประกาศ และคำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. ... ต่อ นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร และ เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร (อ่านประกอบ: ‘ภูมิใจไทย’ เสนอร่างพ.ร.บ.เลิกคำสั่ง คสช. 71 ฉบับ)
โดยคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่จะยกเลิกมีทั้งสิ้น 71 ฉบับ ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2562 ลงวันที่ 11 เม.ย. 2562 เรื่อง การดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวด้วย โดยปรากฎอยู่ในลำดับที่ 68 ตามบัญชีแนบท้าย
อ่านประกอบ
- สภากทม.ผ่านข้อบัญญัติ งบเพิ่มปี 67 จ่ายงานระบบสายสีเขียว 2.3 หมื่นล้าน
- สภากทม.เห็นชอบ ข้อบัญญัติควักงบ 2.3 หมื่นล้านจ่าย BTS ‘ชัชชาติ’ จ่อรายงาน ‘มหาดไทย’
- กทม.เตรียมดันข้อบัญญัติควักเงินเก็บ 2.34 หมื่นล้าน จ่ายหนี้ BTS ก.พ.67 นี้
- สภากทม.เคาะจ่ายหนี้ค่าติดตั้งระบบสายสีเขียว 2.3 หมื่นล้านบาท
- สายสีเขียวเหนือ-ใต้ ผู้โดยสารขยับลงไม่มาก มั่นใจ ‘BTS’ ไม่ฟ้องทวงหนี้เพิ่ม
- 'ชัชชาติ' ลงนามประกาศเก็บค่าโดยสารสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 15 บาท มีผล 2 ม.ค. 67
- ลุ้น ไม่เกิน15 ธ.ค.66 ‘คมนาคม’ ส่งความเห็นกลับ กทม.เก็บ 15 บ.สายสีเขียว
- ค่าโดยสาร‘สายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2’ รอ ‘คมนาคม’ ส่งความเห็น คาดม.ค. 67 มีผล
- สรุปผลศึกษาสายสีเขียว หนี้บาน 9.8 หมื่นล้าน แนะทำสัญญาแยก ‘ระบบ-เดินรถ’
- สภากทม.ชี้ ‘ชัชชาติ’ ต้องจัดการหนี้-เก็บค่าโดยสารต่อขยาย ‘สายสีเขียว’ เอง
- ‘รถไฟฟ้าสายสีเขียว’ ต้องเป็นธรรมทุกฝ่าย ‘ชัชชาติ’ ไม่ตอบขอรัฐบาลยกเลิกคำสั่ง คสช.หรือไม่
- ป.ป.ช.ให้ BTS ทำหนังสือชี้แจงปมจ้างเดินรถสายสีเขียว ก่อนส่งสำนวนให้อัยการฯ
- กทม.เล็งถาม ป.ป.ช.ชี้มูลสายสีเขียว ‘ธงทอง’ มองยังไม่กระทบการเดินรถ
- เลขาฯป.ป.ช.คอนเฟิร์ม! ชี้มูลคดีรถไฟฟ้า'สายสีเขียว' ยังไม่รู้ผู้ถูกกล่าวหา 12 ราย ใครบ้าง
- 'สุขุมพันธ์-คีรี-พวก 10 ราย'โดนยกก๊วน! 'ป.ป.ช.'ชี้มูลฯคดีรถไฟฟ้า'สายสีเขียว'แล้ว
- ‘บีทีเอส’แจงคดีสายสีเขียว! อ้างขอนัดหมายชี้แจงข้อกล่าวหา แต่กลับถูก'ป.ป.ช.'ชี้มูลฯ
- ‘องค์คณะไต่สวน’ชง‘ป.ป.ช.’ชี้มูล‘สุขุมพันธ์-คีรี-BTSC’ คดีรถไฟฟ้า‘สายสีเขียว’
- กรุงเทพธนาคม’ ขอ ป.ป.ช. กันเป็นพยาน คดีฮั้วจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว
- ‘คีรี’ เปิดใจ ป.ป.ช.แจ้งข้อหา BTS เหมือนถูกแกล้ง
- 'วัชรพล' สั่งสอบเอกสารแจ้งข้อกล่าวหาคดีรถไฟฟ้าสีเขียวหลุด-พนง.BTSC ยกพลจี้ถาม
- ป.ป.ช.ตั้ง 7 ประเด็น สอบเพิ่ม คดี ‘สุขุมพันธุ์' จ้าง BTS เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ปี 55