สส.ภูมิใจไทย เสนอร่างพ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่ง คสช. ต่อสภาฯ ชี้มี 71 ฉบับที่มีปัญหา พร้อมยกเหตุผลประเทศเป็นประชาธิปไตยแล้ว แต่คำสั่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคขัดขวางและแทรกแซงสิทธิเสรีภาพประชาชน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดกระบี่ พรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วยนายวัชรพงษ์ คูวิจิตรสุวรรณ สส.สระบุรี และนายเรืองวิทย์ คูณวัฒนาพงษ์ สส.สุรินทร์ พรรคภูมิใจไทย ยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกเลิกประกาศ และคำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. ... ต่อ นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร และ เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร
นายสฤษฏ์พงษ์ กล่าวว่า เรื่องนี้พรรค ได้ยื่นเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ระบบไปเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 สืบเนื่องจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ได้มอบหมายให้ นายศุภชัย ใจสมุทร และทีมฝ่ายกฎหมายของพรรคภูมิใจไทยไปศึกษาในเรื่องของประกาศ และคำสั่งของ คสช. ที่มีปัญหาเป็นอุปสรรคในเรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตยและได้รับร้องเรียนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งจากการศึกษาประกาศ และคำสั่ง คสช. มีทั้งหมด 240 ฉบับ การยกเลิกต้องออกเป็นกฎหมาย ซึ่งจะมีทั้งสิ้น 71 ฉบับ โดยศักดิ์ของกฎหมาย คำสั่ง และ ประกาศของ คสช. เทียบเท่ากับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ดังนั้น ถ้าจะยกเลิกจะต้องทำเป็น พ.ร.บ. โดยจากการศึกษา พบว่า คำสั่งของ คสช. ที่จะบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไปนั้นมีทั้งหมด 37 ฉบับ ที่ต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกาและกฎกระทรวงอย่างละ 2 ฉบับ เป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 55 เรื่อง
โดย ร่างพ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่งคสช. ฉบับที่ได้ยื่นนี้ ยกร่างเอาไว้ 7 มาตรา เป็นกฎหมายพ่วง หลาย ๆ ฉบับแนบท้ายร่างที่นำเสนอ โดยเห็นว่า ขณะนี้ประเทศของเรา เข้าสู่ระบบประชาธิปไตย แต่ยังมีเรื่องเป็นอุปสรรคในการไปแทรกแซง สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพี่น้องประชาชน และในเรื่องของสื่อมวลชน ไม่ได้ รวมถึงสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุม จึงอยากให้เพื่อนสมาชิก สส. ให้ความเห็นชอบ และผ่านร่างกฎหมายนี้โดยเร็ว
“ประเทศไทยในวันนี้มีประกาศคณะปฏิวัติที่บังคับใช้อยู่รวมกว่าพันฉบับ ซึ่งก่อนครบวาระสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 มีการพยายามทำกฎหมายโดยการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการจัดทำประมวลกฎหมาย และกฎเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงโดยสะดวก แต่กมธ. ชุดนี้ดำเนินการไปเพียง 12 ครั้ง ก็ไม่สำเร็จ ผมไม่ได้ตําหนิในเรื่องของประกาศคณะปฏิวัติ แต่เมื่อมีความจําเป็น บางฉบับใช้เป็นเครื่องมือในการปกครองประเทศได้ดี แต่ในปัจจุบันการทําจากคําว่าประกาศคณะปฏิวัติ มาให้เป็นกฎหมายจากฝ่ายบัญญัติ มันจะดูดี ในสายตาต่างชาติจะมาลงทุนในประเทศไทย เรามีรัฐสภาที่เป็นสภานิติบัญญัติ ที่นี่เป็นที่ผลิตกฎหมาย ที่นี่เป็นที่ผลิตเครื่องมือในการปกครอง เรามีพื้นที่ 424,000 ตารางเมตร ลงทุนเป็นหมื่นล้าน เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ไม่จําเป็นจะต้องให้อํานาจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในเรื่องของการที่มายึดอํานาจ และออกกฎหมายแทนสภานิติบัญญัติ” นายสฤษฏ์พงษ์ กล่าว