ธปท.เตรียมออกมาตรการจูงใจ ‘สถาบันการเงิน’ ปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวให้ลูกหนี้ ‘รายย่อย-เอสเอ็มอี’ ทั้งการ ‘แฮร์คัตหนี้-ลดดอกเบี้ย-ขยายเวลาชำระหนี้-ปรับลดเงินค่างวด’ ช่วยเหลือลูกหนี้ในระยะยาวแทนการพักชำระหนี้
......................
เมื่อวันที่ 11 ส.ค. นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธปท.อยู่ระหว่างหารือกับสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อพิจารณากำหนดมาตรการจูงใจให้สถาบันการเงินเร่งรัดปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยและลูกหนี้ SMEs ในระยะยาว หลังจากสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 2 เดือน ในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ โดยคาดว่าจะประกาศมาตรการจูงใจได้ในเร็วๆนี้
สำหรับแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวให้กับลูกหนี้ดังกล่าว จะมีตั้งแต่การลดหนี้ (แฮร์คัตหนี้) การลดอัตราดอกเบี้ย การขยายเวลาการชำระหนี้ออกไปให้ยาวขึ้น และการปรับปรุงการจ่ายเงินค่างวด เช่น ในงวดแรกๆให้จ่ายค่างวดน้อยลง และทยอยจ่ายเพิ่มขึ้นเมื่อธุรกิจเริ่มดีขึ้น เป็นต้น ขณะที่การปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวให้ลูกหนี้แต่ละรายจะไม่เหมือนกัน โดยขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกิจ อาชีพ และผลกระทบที่แต่ละรายได้รับ
“เราให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างหนี้ เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยลูกหนี้ในระยะยาวได้ดีกว่าการพักหนี้ เพราะการพักหนี้นั้น เมื่อครบกำหนดการพักหนี้ ลูกหนี้ต้องจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย แต่เราพบว่าการปรับโครงสร้างหนี้ในช่วงที่ผ่านมา เป็นเพียงการยืดเวลาของสินเชื่อ หรือพักทรัพย์พักหนี้ในระยะสั้นๆ โดยสิ่งที่เราอยากจะเห็นและอยากช่วยลูกหนี้ในสถานการณ์เช่นนี้ คือ การปรับโครงสร้างหนี้อย่างมีคุณภาพ
ซึ่งคงต้องมีการแฮร์คัตหนี้ให้ลูกหนี้บ้าง มีการลดดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้บ้าง และทำให้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นลักษณะระยะยาวแทนการพักหนี้ระยะสั้นๆ เพราะเราคิดว่าโควิดจะอยู่กับเราอีกระยะหนึ่งกว่าลูกหนี้จะฟื้นฟูหรือเปิดกิจการได้ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง...
และที่เราพูดถึงเรื่องระยะยาวนั้น ไม่ใช่แค่มิติเรื่องเวลาอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการผ่อนชำระในแต่ละเดือนด้วย เพราะในช่วงแรกๆ เราคิดว่าลูกหนี้คงไปไม่ไหว ถ้าต้องจ่ายชำระในจำนวนเท่าเดิมหรือน้อยกว่าเดิมนิดหน่อย ซึ่งเราอยากจะเห็นว่า ในช่วงระยะสั้นๆเขาต้องในลักษณะที่พอไปไหว ให้สอดคล้องกับสิ่งที่เขาพอมีกำลัง โดยแต่ละธุรกิจคงจะจ่ายบางๆก่อนในช่วงแรกๆ แต่หลังจากธุรกิจเริ่มดีขึ้น เศรษฐกิจเริ่มเปิดได้ จึงค่อยสเต็ปอัพ เพิ่มจำนวนผ่อนชำระให้สูงขึ้นตามลักษณะธุรกิจในแต่ละกิจการ แต่ละอาชีพ และความสามารถของเขา” นายรณดล กล่าว
ส่วนมาตรการจูงใจให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวให้ลูกหนี้จะเป็นอย่างไรนั้น นายรณดล กล่าวว่า คงต้องมีมาตรการเรื่องการจัดชั้นการกันสำรอง ส่วนมาตรการจูงใจอื่นๆ ยังอยู่ระหว่างหารือกับสถาบันการเงิน
นายรณดล กล่าวถึงความคืบหน้าการอนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูว่า ล่าสุด (9 ส.ค.) ธปท.อนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูแล้ว 89,444 ล้านบาท จำนวนลูกหนี้ 2.9 หมื่นราย โดยสินเชื่อกว่า 40% ไปสู่ลูกหนี้รายเล็ก ส่วนโครงการพักทรัพย์พักหนี้ มีผู้เข้าร่วมโครงการมากขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยล่าสุดยอดอนุมัติสินเชื่อในโครงการฯอยู่ที่ 8,991 ล้านบาท และมีจำนวนลูกหนี้ที่เข้ารับการช่วยเหลือ 50 ราย
ด้าน น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวว่า สิ่งที่ ธปท.กำลังผลักดันให้เกิดขึ้นในระยะต่อไป แทนการพักชำระหนี้ระยะสั้น 3-6 เดือน คือ การให้ลูกหนี้และสถาบันการเงินได้มาเจรจาตกลงปรับโครงสร้างหนี้ให้มีลักษณะเป็นระยะยาวมากขึ้น ซึ่งจะเน้นไปที่ลูกหนี้รายย่อยและ SMEs โดยเฉพาะ SMEs ขนาดเล็ก โดยจะมองไปในอนาคตว่าแต่ละธุรกิจจะมีรายได้กลับมาเมื่อไหร่ และวงจรหนี้เป็นอย่างไร
“การปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะไปถึง 10 ปี 5 ปี แต่จะขึ้นอยู่กับวงจรหนี้ของแต่ละคน เช่น รายย่อยอาจจะสั้นหน่อย โดยมองไปข้างหน้า 2 ปี ส่วนโรงแรมไซส์ใหญ่ๆอาจมองไปข้างหน้ายาวเป็น 10 ปีได้ แต่เนื่องจากมีความไม่แน่นอนที่มีสูง หากระหว่างทางมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าเราจะควบคุมสถานการณ์ได้ดีขึ้น หรือสถานการณ์แย่ลงกว่านั้น เราจำเป็นต้องมีการปรับ (โครงสร้างหนี้) อีก เป็นการปรับระยะหว่างทาง เป็นการปรับระยะสั้น เพื่อให้ทั้งแบงก์และลูกหนี้มองเห็นอนาคตได้ไกลขึ้น” น.ส.สุวรรณี กล่าว
น.ส.สุวรรณี ระบุว่า ในส่วนลูกหนี้กลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวนั้น คือ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ซึ่งสถาบันการเงินมีฐานข้อมูลลูกหนี้กลุ่มนี้อยู่แล้ว ส่วนลูกหนี้เองก็รู้ว่าจะติดต่อกับสถาบันการเงินได้ในช่องทางไหนบ้าง
อย่างไรก็ตาม หากสถาบันการเงินจะเดินหน้าปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ตั้งแต่วันนี้เลย ก็สามารถทำได้ โดยจะได้สิทธิ์ตามหลักเกณฑ์การผ่อนปรนการตั้งสำรองฯที่จะสิ้นสุดในสิ้นปีนี้ ส่วนในอนาคตจะเป็นอย่างไร ธปท.อยู่ระหว่างหารือกับสถาบันการเงินว่าจะมีมาตรการจูงใจเพิ่มเติมได้บ้าง รวมทั้งอยู่ระหว่างประเมินว่าผลกระทบของสถานการณ์โควิดจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของประชาชนรายย่อย และ SME นั้น จะยาวนานไปถึงเมื่อไหร่ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาได้เมื่อใด
ขณะที่ นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธปท.ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 ลง โดยตัวล่าสุดคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 0.7% ในปีนี้ และคาดว่าจะขยายตัว 3.7% ในปี 2565 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงในด้านต่ำค่อนข้างมาก แต่ก็ยังมีปัจจัยบวก ได้แก่ การส่งออกที่ขยายตัวได้ดี การจ่ายเงินเยียวยาและการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมถึงการลดทอนผลกระทบของการแพร่ระบาด
“ปีนี้ ถ้าเรามองในกรณีฐาน เศรษฐกิจจะยังโตเป็นบวกได้ ภายใต้สมมติฐานว่า ควบคุมการระบาดได้ในช่วงไตรมาส 3 และ 4 และผ่อนคลายมาตรการต่างๆได้ แต่ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวที่ช้าลงจากโควิดระลอกใหม่ ซึ่งแบงก์ชาติเองห่วงใยภาคที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะภาคบริการและท่องเที่ยว ที่มีการจ้างงานค่อนข้างมาก ซึ่งรายได้ต่างๆลดลงเยอะจากการระบาดระลอกแล้วระลอกเล่า ขณะที่จำนวนผู้เสมือนว่างงานที่ระดับ 3 ล้านคน น่าจะอยู่กับเราอีกระยะหนึ่ง” นายสักกะภพ กล่าว
นายสักกะภพ ยังระบุว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนยังคงน่าเป็นห่วง แม้ว่าปีนี้จำนวนหนี้สินครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่เนื่องจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวไม่มาก ตรงนี้จะทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็น 90% ของจีดีพี ดังนั้น การเพิ่มรายได้ และการปรับโครงสร้างหนี้ในระยะยาวให้กับลูกหนี้ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
อ่านประกอบ :
มติ 4 ต่อ 2! ‘กนง.’ เสียงแตกคงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5%-หั่นจีดีพีปีนี้โตแค่ 0.7%
กำลังซื้ออ่อนแอ-ครัวเรือนไม่เชื่อมั่น! ธปท.เผยบริโภคเดือน มิ.ย.หด-เกาะติด'ล็อกดาวน์'
ฉุดจีดีพีร่วง 0.8-2%! ธปท.ประเมินผลกระทบ ‘ล็อกดาวน์’-เศรษฐกิจปีหน้าฟื้นช้ากว่าคาด
ธปท.เล็งหั่นจีดีพีปี 64 เซ่นล็อกดาวน์-เดลต้าระบาดหนัก ห่วง ‘ว่างงาน-หนี้ครัวเรือนสูง’
ธปท.ชี้โควิดกระทบศก.ชัดเจนขึ้น ‘บริโภค-ลงทุนเอกชน’ เดือนพ.ค.หดตัวเป็นเดือนที่ 2
มติเอกฉันท์คงดบ.0.5%! กนง.หั่นเป้าจีดีพีปี 64 เหลือ 1.8%-ปีหน้าโต 3.9%
คาดจีดีพีปีนี้ดีสุดโต 2%! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5%-วัคซีนพระเอกฟื้นเศรษฐกิจ
เซ่นโควิดระลอก 3! ‘ธปท.’ เล็งหั่นจีดีพีโตต่ำ 3%-เผยตัวเลขส่งออกมี.ค.พุ่ง 15.8%
โควิดระลอก 3 เขย่าเศรษฐกิจไทย-กระทบเปิดประเทศ ‘วัคซีนทั่วหน้า’ คือ ทางออก
เปิดรายงานกนง. : เศรษฐกิจไทยเสี่ยงโตต่ำคาด-โควิดซ้ำเติมเหลื่อมล้ำรายได้เลวร้ายลง
กนง.หั่นจีดีพีโตแค่ 3%! เซ่นโควิดรอบสอง-นทท.เหลือ 3 ล้าน คงดบ.นโยบาย 0.5%
ให้กู้ยาว 5 ปี! ครม.ปลดล็อก ‘ซอฟต์โลน’ อุ้มเอสเอ็มอี-เทแสนล.หนุน ‘พักทรัพย์ พักหนี้’
แบงก์ทุนแกร่ง-สภาพคล่องล้น! ธปท.มอง NPL ปี 64 ขยับอีก-ถก'คลัง'ผุด'โกดังเก็บหนี้'
เปิดรายงาน กนง. : แนะรัฐบาล 'ออกแรง' กระตุ้นทางการคลังเพิ่ม
หั่นจีดีพีปี 64! กนง.คาดโตต่ำกว่า 3.2%-มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5%
พร้อมใช้ในจังหวะ ‘เหมาะสม’! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5%-หั่นเป้าจีดีพีปี 64 เหลือโต 3.2%
บาทแข็งเร็วกระทบศก.ฟื้นตัว! กนง.กำชับ 'ธปท.' ทบทวนมาตรการ-มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.5%
จีดีพีไตรมาส 3 ลบ 6.4%! สภาพัฒน์ฯคาดทั้งปีหดตัวร้อยละ 6 จับตา 'โควิดรอบ 2-การเมือง'
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/