ธปท.คาด NPL ปี 64 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่อยู่ในวิสัยที่ ‘แบงก์พาณิชย์’ จัดการได้ กำชับปรับโครงสร้างเชิงรุกกับลูกหนี้ ขณะที่ปี 63 ระบบธนาคารพาณิชย์กำไรลด 46% หนี้เสียทั้งระบบอยู่ที่ 3.12% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย พร้อมเผยอยู่ระหว่างหารือ ‘คลัง’ แก้เกณฑ์ปล่อยกู้พ.ร.ก.soft loan-มาตรการ ‘โกดังเก็บหนี้’
..................
เมื่อวันที่ 22 ก.พ. น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2564 โดยระบุว่า แม้ว่าตามปกติแล้ว ธปท.จะไม่มีการทำนายตัวเลข NPL ดังกล่าว แต่จากการติดตามอย่างใกล้ชิด คาดว่า NPL อาจมีการทยอยเพิ่มขึ้นจากกลุ่มลูกหนี้ที่ช่วยเหลือไม่ได้ เพราะปัญหาหนี้มีหลากหลายประเภท บางรายอาจเป็น NPL
“สิ่งที่เราพบ คือ ธนาคารพาณิชย์ ยังคงช่วยเหลือลูกหนี้ เราจึงไม่คิดว่าจะเห็นตัวเลข NPL อย่างที่เราพูดกันว่า NPL จะเป็น cliff (ตกหน้าผา) ซึ่งก็ไม่คิดว่าจะเป็นแบบนั้น โดย NPL จะค่อยๆทยอยออกมา และอยู่ในวิสัยที่ธนาคารพาณิชย์ยังสามารถบริหารจัดการได้” น.ส.สุวรรณีกล่าว และว่า กลุ่มธุรกิจที่มีความน่าเป็นห่วงอยู่ คือ กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 100%
น.ส.สุวรรณี กล่าวด้วยว่า ธปท.ได้เข้าหารือกับธนาพาณิชย์พบว่า พอร์ตลูกหนี้ในธุรกิจโรงแรมมีอยู่ประมาณ 4 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงได้รับการช่วยเหลืออยู่ แต่กลุ่มโรงแรมที่รับนักท่องเที่ยวคนไทยเริ่มกลับมาจ่ายหนี้ได้บ้างแล้ว
สำหรับความคืบหน้าในการช่วยเหลือลูกหนี้ตามมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ณ วันที่ 8 ก.พ.2564 มีการอนุมัติสินเชื่อแล้ว 125,777 ล้านบาท จำนวนลูกหนี้ที่ได้รับสินเชื่อ 74,702 ราย ในจำนวนนี้สินเชื่อส่วนใหญ่ หรือ 66% คิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 83,410 ล้านบาท ลูกหนี้ 49,922 ราย เป็นการช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เช่น คอนโด ที่พักโรงแรม ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับท่องเที่ยว สายการบิน พื้นที่ค้าปลีก ภัตตาคาร อาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น
ขณะที่ลูกหนี้ที่เข้ารับความช่วยเหลือในเดือนธ.ค.2563 ลดลงมาอยู่ที่ 8.37 ล้านบัญชี ภาระหนี้รวม 4.8 ล้านล้านบาท จากเดือนก.ค.2563 ที่มีลูกหนี้ที่ได้เข้ารับความช่วยเหลือ 12.52 ล้านบัญชี ภาระหนี้รวม 7.19 ล้านล้านบาท เนื่องจากลูกหนี้รายย่อยกลับมาชำระหนี้ได้แล้ว โดยเฉพาะลูกหนี้สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อเช่าซื้อ
น.ส.สุวรรณี กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขพ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก. soft loan) ว่า ธปท.และกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาในรายละเอียด โดยจะเร่งปรับปรุงให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ส่วนกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (กองทุน BSF) ยังไม่มีการขอวงเงินเข้ามา ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ทั้งนี้ เพราะกองทุน BSF เป็นกลไกความช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุขึ้น แต่หากตลาดตราสารหนี้ยังคงทำงาน ไม่ได้เกิดเหตุที่ทำให้ต้องใช้เงินกองทุน BSF และสะท้อนว่าปัญหาไม่ได้มากมายและไม่ลุกลาม
ส่วนกรณีการจัดทำกลไกช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม โดยการจัดตั้งกลไกรับซื้อสินทรัพย์ของลูกหนี้จากสถาบันการเงิน โดยที่ลูกหนี้ยังเป็นผู้บริหารกิจการอยู่ และเมื่อฐานะการเงินพร้อมลูกหนี้สามารถซื้อสินทรัพย์คืนได้ หรือ Warehousing หรือโกดังเก็บหนี้ นั้น น.ส.สุวรรณี กล่าว ธปท.และกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการหารือ หากมีความชัดเจนจะมีการแถลงต่อไป
น.ส.สุวรรณี กล่าวถึงผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ปี 2563 ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง โดยมีเงินกองทุน เงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 ได้ สินเชื่อมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้สินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อธุรกิจ SME แม้ว่ายังหดตัว แต่หดตัวในอัตราลดลง
ขณะที่มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนการจัดชั้นลูกหนี้ช่วยสนับสนุนการเติบโตของสินเชื่อและชะลอการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ และผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ปรับลดลง ซึ่งเป็นผลจากการกันสำรองในระดับสูงอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมรองรับผลกระทบของโควิด-19 ต่อคุณภาพสินเชื่อ
“ธนาคารพาณิชย์ยังคงให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง และการช่วยเหลือดังกล่าวเป็นตัวที่ชะลอการเพิ่มขึ้นของหนี้เสีย โดยจะเห็นได้ว่า NPL เพิ่มขึ้นน้อยมาก อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของธปท. เราอยากให้ธนาคารพาณิชย์ยังคงต้องเร่งปรับโครงสร้างเชิงรุกกับลูกหนี้ต่อไป” น.ส.สุวรรณีกล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ปี 2563 มีรายละเอียดดังนี้
ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,994.3 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ 20.1% โดยเงินกองทุนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นเพราะธนาคารพาณิชย์จัดสรรกำไรเข้าเป็นเงินกองทุน และมีธนาคารพาณิชย์บางแห่งออกตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนชั้น 1 เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 799.1 พันล้านบาท โดยอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio) อยู่ที่ 149.2%
อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) อยู่ที่ 179.6% และอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินรับฝาก (L/D ratio) อยู่ที่ 92.3% โดยปริมาณเงินฝากที่เพิ่มขึ้นมาจากเงินฝากทั้งประเภทออมทรัพย์ทั้งในบุคคลธรรมดาและธุรกิจ
สำหรับภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2563 ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.1% เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน จาก 2.0% ในปี 2562 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
สินเชื่อธุรกิจ (ร้อยละ 64.2 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวที่ 5.4% เทียบกับปีก่อนที่หดตัว 0.8% ปัจจัยหลักจากการเติบโตของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่ส่วนหนึ่งกลับมาใช้สินเชื่อ แทนการออกตราสารหนี้ในช่วงไตรมาสที่ 2/2563 โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่หรือที่มีวงเงินมากกว่า 500 ล้านบาทขึ้นไปขยายตัว 13.1% ขณะที่สินเชื่อ SMEs หรือน้อยกว่า 500 ล้านบาทหดตัว -2.8% แต่หากไม่รวม soft loan จะหดตัว -5.9%
สินเชื่ออุปโภคบริโภค (ร้อยละ 35.8 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวที่ 4.6% ลดลงจากปีก่อนที่ขยายตัว 7.5% สอดคล้องกับกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยทยอยปรับดีขึ้นในทุกพอร์ตสินเชื่อในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นภายหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทั้งนี้ สินเชื่อที่อยู่อาศัยยังขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยขยายตัว 5.9% ตามอุปสงค์ในตลาดที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะแนวราบที่ปรับดีขึ้นและแคมเปญการตลาดของผู้ประกอบการ
ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตหดตัว -2.1% สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อรถยนต์ยังคงขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ที่หดตัว และกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่ลดลง
ด้านคุณภาพสินเชื่อ ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์ ทำให้ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non-Performing Loan: NPL หรือ stage 3) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 523.3 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 3.12% จากปีก่อนที่อยู่ที่ 2.98% เนื่องจากลูกหนี้ยังได้รับการช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์
ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (Significant Increase in Credit Risk: SICR หรือ stage 2) อยู่ที่ 6.62% จากปีก่อนที่อยู่ที่ 2.79% หากธนาคารฯให้ความช่วยเหลือต่อไป ลูกหนี้กลุ่มนี้จะไม่เป็น NPL จึงต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ธนาคารฯดูแลลูกหนี้ต่อไป
อย่างไรก็ตาม หากแยกพอร์ต NPL ตามประเภทสินเชื่อ พบว่า NPL สินเชื่อธุรกิจอยู่ที่ 3.23% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนที่อยู่ที่ 3.01% ส่วน NPL สินเชื่ออุปโภคบริโภคอยู่ที่ 2.84% จากปีก่อนที่อยู่ที่ 2.90% และเมื่อแยกเป็น NPL ตามขนาดธุรกิจ พบว่าธุรกิจที่มีวงเงินมากกว่า 500 ล้านบาทขึ้นไป NPL อยู่ที่ 2.58% จากปีก่อนที่อยู่ที่ 2.08% ส่วนธุรกิจที่มีวงเงินน้อยกว่า 500 ล้านบาท NPL อยู่ที่ 6.84% จากปีก่อนที่อยู่ที่ 6.22%
ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิในปี 2563 จำนวน 146.2 พันล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ที่ 271 พันล้านบาท หรือลดลง 46% ซึ่งเป็นผลจากการกันสำรองในระดับสูงอย่างต่อเนื่องที่ระดับ 231 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 163 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 41.8% เพื่อเตรียมรองรับผลกระทบจากโควิด-19 ต่อคุณภาพหนี้ในระยะต่อไป ประกอบกับผลของฐานสูงจากรายได้จากเงินลงทุนซึ่งเป็นปัจจัยพิเศษในปีก่อน
สำหรับอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Assets: ROA) ลดลงมาอยู่ที่ 0.65% จากปีก่อนที่ 1.39% และอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) ลดลงมาอยู่ที่ 2.51% จากปีก่อนที่ 2.73%
“ในส่วนของการเงินปันผลของธนาคารพาณิชย์นั้น ธปท.มีการกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินผลของธนาคารพาณิชย์ในปี 2563 เอาไว้ คือ จ่ายปันผลไม่เกินปี 2562 และไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิ ซึ่งแบงก์ที่เคยจ่ายเกิน 50% ของกำไรสุทธิก็ต้องจ่ายน้อยลง แต่แบงก์ไหนที่จ่ายต่ำกว่า 50% เขาสามารถจ่ายในอัตราเดิมได้ ดังนั้น เงินที่จำกัดการจ่ายจะถูกนำกลับเข้ามาที่กองทุน ซึ่งส่งผลให้เงินกองทุนดีขึ้น” น.ส.สุวรรณีกล่าว
อ่านประกอบ :
เปิดรายงาน กนง. : แนะรัฐบาล 'ออกแรง' กระตุ้นทางการคลังเพิ่ม
หั่นจีดีพีปี 64! กนง.คาดโตต่ำกว่า 3.2%-มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5%
พร้อมใช้ในจังหวะ ‘เหมาะสม’! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5%-หั่นเป้าจีดีพีปี 64 เหลือโต 3.2%
บาทแข็งเร็วกระทบศก.ฟื้นตัว! กนง.กำชับ 'ธปท.' ทบทวนมาตรการ-มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.5%
จีดีพีไตรมาส 3 ลบ 6.4%! สภาพัฒน์ฯคาดทั้งปีหดตัวร้อยละ 6 จับตา 'โควิดรอบ 2-การเมือง'
ไฟเขียวแบงก์ปันผล! ‘ธปท.’ ให้จ่ายได้ไม่เกิน 50% ของกำไร-ต้องไม่มากกว่าปี 62
สร้างกันชน-รักษาภูมิคุ้มกันศก.! 'วิรไท' แจงเหตุขอแบงก์ 'งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล-ซื้อหุ้นคืน'
ช่วยลูกหนี้ระยะสอง! ธปท.ประกาศลดดบ. ‘บัตรเครดิต-พีโลน’ 2-4% พ่วงขยายวงเงินเป็น 2 เท่า
งดจ่ายปันผลระหว่างกาล-ซื้อหุ้นคืน! ธปท.ให้แบงก์ รักษา 'เงินกองทุน' รองรับความเสี่ยง 1-3 ปี
ห่วงธุรกิจไปไม่รอด-เมินปล่อยกู้! 2 สมาคมฯท้วงธปท.ลดเพดานดบ. ‘พีโลน-จำนำทะเบียนรถ’
รับรู้รายได้ ดบ.ปกติ! เผยวิธีบันทึกงบฯ‘สถาบันการเงิน’ช่วงพักชำระหนี้-ทำให้ฐานะอ่อนแอ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/