กนง.มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ต่อปี พร้อมหั่นประมาณการณ์จีดีพีปี 64 เหลือโต 1.8% จากเดิม 3% เหตุโควิดระลอก 3 ยืดเยื้อ-รุนแรง ย้ำการจัดหาและกระจายวัคซีน คือ ‘พระเอก’
......................
เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงหลังการประชุมคณะกรรมการ กนง. ว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าการระบาดระลอกที่สาม ของ COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าลงและไม่ทั่วถึงมากขึ้นเทียบกับประมาณการเดิม อีกทั้งในระยะข้างหน้ายังมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญจากสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ คณะกรรมการฯ เห็นว่า การเร่งดำเนินมาตรการทางการเงิน โดยเฉพาะสินเชื่อฟื้นฟู รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะช่วยภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบได้ตรงจุดมากกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ
คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ และพร้อมดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดในจังหวะที่เกิดประสิทธิผลสูงสุด
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 1.8 และ 3.9 ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ โดยปรับลดลงจากประมาณการเดิมตามแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับลดลง และอุปสงค์ในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกที่สาม ด้านตลาดแรงงาน โดยเฉพาะภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระมีความเปราะบางมากขึ้นและอาจฟื้นตัวได้ช้า
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากแนวโน้มการใช้จ่ายภาครัฐที่สูงขึ้นจาก พ.ร.ก. กู้เงินล่าสุดและการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งขึ้นชั่วคราวในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 จากฐานราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักและข้อจำกัดด้านอุปทานมีผลจำกัดต่ออัตราเงินเฟ้อไทย ด้านการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังมีความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญ จากสถานการณ์การระบาดทั้งในและต่างประเทศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากการกลายพันธุ์ของไวรัส และจะส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งคณะกรรมการจะติดตามประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
สภาพคล่องโดยรวมอยู่ในระดับสูง แต่การกระจายตัวยังไม่ทั่วถึงจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และภาคครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกที่สาม ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของไทยเคลื่อนไหวทรงตัว สำหรับอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวอ่อนค่ากว่าเงินสกุลภูมิภาค คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด รวมถึงผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง
คณะกรรมการฯ เห็นว่า ความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการระบาดระลอกใหม่ โดยควรเร่งจัดหาและกระจายวัคซีนเพื่อควบคุมไม่ให้การระบาดยืดเยื้อ มาตรการการคลังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ภาครัฐจึงควรเร่งเบิกจ่ายมาตรการเยียวยาและมาตรการพยุงเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อให้เกิดแรงกระตุ้นต่อเศรษฐกิจและดูแลตลาดแรงงานในจุดที่มีความเปราะบางอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง
ขณะที่นโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการให้ความช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 และมาตรการอื่นๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุด ลดภาระหนี้ และสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดย ธปท. จะติดตามความคืบหน้าและประเมินประสิทธิผลของมาตรการด้านการเงินและสินเชื่ออย่างใกล้ชิด
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ การกระจายและประสิทธิภาพของวัคซีน สถานการณ์การระบาดทั้งในและต่างประเทศที่อาจรุนแรงขึ้นจากการกลายพันธุ์ของไวรัส ความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ออกมาแล้ว โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น
นายทิตนันทิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากเศรษฐกิจไทยโดยรวมที่ขยายตัวชะลอลง เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่มีความยืดเยื้อและรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งมีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญจากการกลายพันธุ์ของไวรัส ในการประชุม กนง.ครั้งนี้ ที่ประชุมจึงปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2564 เป็นขยายตัว 1.8% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3% และปี 2565 คาดว่าจะขยายตัว 3.9% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.7%
“โจทย์สำคัญของเศรษฐกิจไทย พระเอก คือ เรื่องการจัดหาและการกระจายวัคซีนที่เหมาะสม เพียงพอ และทันการณ์ ตอนนี้เป็นการแข่งกันระหว่างวัคซีนกับไวรัส และในการประมาณการเศรษฐกิจครั้งนี้ เราปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ลงเมื่อเทียบกับครั้งที่แล้ว จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3% ปรับลงมาเหลือ 1.8% ส่วนปีหน้าปรับลดลงเหลือ 3.9% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.7% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในกรอบเป้าหมาย” นายทิตนันทิ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากการระบาดของโควิด-19 ยืดเยื้อกว่าที่คาดการณ์ไว้ เศรษฐกิจปีนี้และปีหน้ามีโอกาสอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ในครั้งนี้ ดังนั้น เมื่อมองไปข้างในระยะสั้น หรือในอีก 4-5 เดือนข้างหน้า จึงเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของเศรษฐกิจไทย ขณะที่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจมีความเปราะบาง และมีสายป่านสั้นลงตามลำดับ จึงต้องมีการผลักดันมาตรการของภาครัฐ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีอยู่แล้ว ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ
“ถ้าเราสามารถควบคุมการระบาดได้ ก้าวข้ามช่วงนี้ไปได้ จะเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น เช่น การบริโภคที่จะปรับตัวดีขึ้นบ้างหลังจากอั้นมาในอดีต คนไทยจะเที่ยวในประเทศมากขึ้น ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศจะมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจค่อยๆฟื้นตัว ที่สำคัญหากดราคุมไวรัสได้ ภาคเศรษฐกิจที่เปราะบางจะได้รับแรงกระตุ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น และลดความเปราะบางลง โดยเฉพาะในภาคบริการและภาคครัวเรือน” นายทิตนันทิ์ย้ำ
สำหรับการประมาณการณ์เศรษฐกิจในครั้งนี้ กนง. และธปท. ปรับประมาณการตัวเลขการส่งออกในปี 2564 เป็นขยายตัว 17.1% จากเดิม 10% ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ,การนำเข้าคาดว่าจะขยายตัว 22.7% จากเดิม 15.2% เนื่องจากการเร่งนำเข้าสินค้าทุนเพื่อผลิตส่งออกมากขึ้น ,ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมที่คาดว่าจะเกินดุล 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 คาดว่าจะมีจำนวน 7 แสนคน จากเดิมที่คาดว่าจะมีจำนวน 3 ล้านคน และปี 2565 คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะมีจำนวน 10 ล้านคน จากเดิมที่คาดว่าจะมีจำนวน 21.5 ล้านคน
ส่วนความเสี่ยงสำคัญต่อประมาณการเศรษฐกิจข้างหน้า ได้แก่ การระบาดของไวรัสทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศจากการกลายพันธุ์ของไวรัส ซึ่งกนง.จะจับตามมองอย่างใกล้ชิด ,ประสิทธิภาพของวัคซีนที่อาจน้อยลง และความต่อเนื่องของแรงกระตุ้นทางการคลัง
นายทิตนันทิ์ ระบุว่า ประชุม กนง.ยังหารือถึงผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ว่า มีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน โดยทำให้ตลาดแรงงานฟื้นตัวช้ากว่าในอดีต และคาดว่าการฟื้นตัวจะมีลักษณะเป็น W-shaped โดยเฉพาะแรงงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนหรือเด็กจบใหม่มีแนวโน้มหางานได้ยากขึ้น และจำนวนผู้ว่างงานที่ว่างงานเกิน 1 ปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งตรงนี้ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดแผลเป็น (Scarring effects)
สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในต่างประเทศที่จะมีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยนั้น แม้ว่าขณะนี้เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะในสหรัฐ จีน และประเทศที่มีการควบคุมไวรัสได้ จะทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น และอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐเพิ่มขึ้น แต่จะมีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อของไทยไม่มากนัก เพราะตะกร้าเงินเฟ้อของไทย (CPI) มีการนำเข้าเพียง 16% ซึ่งมีน้ำมันเป็นหลัก ดังนั้น รายการอื่นๆจึงมีผลกระทบไม่มาก ส่วนสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆที่มีราคาเพิ่มขึ้น เช่น เหล็ก และโลหะต่างๆ จะไปกระทบต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ
“เงินเฟ้อทั่วไปที่ปรับตัวขึ้นบ้าง เราคิดว่าเป็นปัจจัยชั่วคราว เนื่องจากฐานที่ต่ำและราคาน้ำมันที่สูงขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในช่วงต่อไป ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับต่ำ” นายทิตนันทิ์กล่าว
อ่านประกอบ :
คาดจีดีพีปีนี้ดีสุดโต 2%! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5%-วัคซีนพระเอกฟื้นเศรษฐกิจ
เซ่นโควิดระลอก 3! ‘ธปท.’ เล็งหั่นจีดีพีโตต่ำ 3%-เผยตัวเลขส่งออกมี.ค.พุ่ง 15.8%
โควิดระลอก 3 เขย่าเศรษฐกิจไทย-กระทบเปิดประเทศ ‘วัคซีนทั่วหน้า’ คือ ทางออก
เปิดรายงานกนง. : เศรษฐกิจไทยเสี่ยงโตต่ำคาด-โควิดซ้ำเติมเหลื่อมล้ำรายได้เลวร้ายลง
กนง.หั่นจีดีพีโตแค่ 3%! เซ่นโควิดรอบสอง-นทท.เหลือ 3 ล้าน คงดบ.นโยบาย 0.5%
ให้กู้ยาว 5 ปี! ครม.ปลดล็อก ‘ซอฟต์โลน’ อุ้มเอสเอ็มอี-เทแสนล.หนุน ‘พักทรัพย์ พักหนี้’
แบงก์ทุนแกร่ง-สภาพคล่องล้น! ธปท.มอง NPL ปี 64 ขยับอีก-ถก'คลัง'ผุด'โกดังเก็บหนี้'
เปิดรายงาน กนง. : แนะรัฐบาล 'ออกแรง' กระตุ้นทางการคลังเพิ่ม
หั่นจีดีพีปี 64! กนง.คาดโตต่ำกว่า 3.2%-มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5%
พร้อมใช้ในจังหวะ ‘เหมาะสม’! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5%-หั่นเป้าจีดีพีปี 64 เหลือโต 3.2%
บาทแข็งเร็วกระทบศก.ฟื้นตัว! กนง.กำชับ 'ธปท.' ทบทวนมาตรการ-มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.5%
จีดีพีไตรมาส 3 ลบ 6.4%! สภาพัฒน์ฯคาดทั้งปีหดตัวร้อยละ 6 จับตา 'โควิดรอบ 2-การเมือง'
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/