กนง.มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% มอบ ‘ธปท.’ เพิ่มมาตรการดูแล ‘บาท’ หลังพบค่าเงินของไทยแข็งค่าเร็ว จากเงินทุนเคลื่อนย้ายของนักลงทุนต่างประเทศ หวั่นกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ ‘ตลาดแรงงาน’ ปรับตัวดีขึ้น แต่ยังเปราะบาง พร้อมกำชับดูแล ‘เอสเอ็มอี’ ที่ยังไม่เข้าถึงสภาพคล่องในระบบ
..................
เมื่อวันที่ 18 พ.ย. นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและให้เน้นมาตรการช่วยเหลือที่ตรงจุดมากขึ้น
คณะกรรมการฯ ประเมินว่าแม้เศรษฐกิจไทยปรับดีขึ้นกว่าคาดแต่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าและยังต้องการแรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเปราะบางและมีความไม่แน่นอนสูง คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ และรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดเพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาด อย่างไรก็ดี ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าและแตกต่างกันมากระหว่างภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณสองปีก่อนที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับสู่ระดับก่อนการระบาด ส่งผลให้ตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง โดยเฉพาะรายได้ของแรงงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะกดดันการบริโภคภาคเอกชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเมื่อปัจจัยสนับสนุนชั่วคราวเริ่มหมดลง
ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ด้านระบบการเงินมีเสถียรภาพ แม้ว่าจะมีความเปราะบางขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจและความเสี่ยงต่อฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจและครัวเรือน สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบน้อยลงจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น และจะอยู่ใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายในปี 2564 ด้านการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย
สภาพคล่องในระบบอยู่ในระดับสูงและต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจและครัวเรือนบางส่วนที่ต้องการสภาพคล่องยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. ปรับแข็งค่าขึ้นเร็วจากนักลงทุนต่างชาติที่กลับมาลงทุนในสินทรัพย์ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้น ภายหลังผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนป้องกัน COVID-19
“คณะกรรมการฯ กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเร็ว ซึ่งกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง จึงเห็นควรให้ติดตามตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมทั้งพิจารณาความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม”
คณะกรรมการฯ เห็นว่าการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานภาครัฐมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป โดยนโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการทางการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ที่ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและทันการณ์ รวมทั้งผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เกิดผลในวงกว้าง
สำหรับมาตรการการคลังมีบทบาทสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จึงควรเร่งเบิกจ่ายและให้ความช่วยเหลือกลุ่มที่เปราะบางอย่างตรงจุด ควบคู่กับการเร่งดำเนินนโยบายด้านอุปทานเพื่อปรับรูปแบบธุรกิจและยกระดับทักษะแรงงาน ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างยั่งยืนในระยะยาว
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ รวมถึงติดตามความเพียงพอของมาตรการภาครัฐและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ความคืบหน้าของการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจและครัวเรือน ในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น
นายทิตนันทิ์ กล่าวต่อว่า โดยภาพรวมแล้ว อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินถือว่าอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ โดยอัตราดอกเบี้ยทุกประเภท ทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราดอกเบี้ยประเภทอื่นๆอยู่ในระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ในขณะที่สินเชื่อธุรกิจขยายตัวที่นระดับ 4.5% ในช่วงไตรมาส 3/2563 แต่จะพบว่าสินเชื่อธุรกิจ SME หรือธุรกิจที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท มีการหดตัวที่ระดับ 3.1% แม้จะมีมาตรการซอฟท์โลนก็ตาม
“ถึงแม้สภาพคล่องในระบบการเงินจะอยู่ในระดับสูง แต่การกระจายตัวของสินเชื่อไปยังธุรกิจ SME บางจุดยังไปไม่ถึง คณะกรรมการฯ จึงอยากให้โฟกัสว่า ทำอย่างไรจึงจะทำให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างตรงจุด” นายทิตนันทิ์กล่าว
นายทิตนันทิ์ กล่าวว่า คณะกรรมการฯได้หารือเกี่ยวกับสถานการณ์ค่าเงินบาท และมีความกังวลว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเร็วจะมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ขณะนี้มีความเปราะบาง โดยขอให้ธปท.พิจารณาถึงความจำเป็นในการดำเนินมาตรการเพิ่มเติม นอกจากเหนือจากมาตรการที่ได้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ หากไปดูเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเครื่องชี้หนึ่งในการที่ธปท.เข้าไปดูแลค่าเงิน จะพบว่าทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
“หลังจากมีผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ และมีข่าวเกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีน ตลาดการเงินโลกได้เปลี่ยนเป็น Risk on มากขึ้น เพราะความมั่นใจของนักลงทุนเปลี่ยนไป โดยนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศเกิดใหม่ และประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น ซึ่งรวมถึงไทยด้วย ทำให้ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนทั้งในหุ้นและตลาดตราสารหนี้มากขึ้น…จึงต้องมีการทบทวนความจำเป็นในการดำเนินมาตรการเพิ่มขึ้น” นายทิตนันทิ์กล่าว
นายทิตนันทิ์ ระบุว่า คณะกรรมการฯมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการไปศึกษาและประเมินความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจ หลังจากสามารถแก้ปัญหาสาธารณสุขที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้แล้วว่า จะมีผลกระทบภาคเศรษฐกิจจริง ภาคการเงิน และความเพียงพอของนโยบายภาครัฐที่จะเข้าไปดูแลอย่างไรบ้าง
เพราะแม้ว่าปัจจุบันจะมีข่าวเกี่ยวกับความสำเร็จของการพัฒนาวัคซีน ซึ่งมีผลกระทบต่อตลาดการเงินนั้น แต่ผลดีของวัคซีนที่จะเกิดกับภาคเศรษฐกิจจริงยังคงต้องใช้เวลา เนื่องจากการพัฒนาวัคซีนยังมีอีกหลายขั้นตอน ทั้งการรับรองของทางการว่าใช้ได้ การกระจายวัคซีนเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติชัดเจน ดังนั้น กว่าที่วัคซีนจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจริง คือ ทำให้คนเดินทางได้ และท่องเที่ยวได้ยังต้องใช้เวลา
นายทิตนันทิ์ กล่าวว่า ในวันศุกร์ที่ 20 พ.ย. ธปท.จะมีการอธิบายเกี่ยวกับสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนอีกครั้ง รวมถึงจะมีการชี้แจงถึงการดำเนินมาตรการในระยะต่อไป ซึ่งจะให้ความสำคัญในการดูแลเรื่องระยะสั้น และระยะยาว อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเล็กน้อย และแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค โดยไทยอยู่ในกลุ่มล่างๆ
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯยังให้ความสำคัญและติดตามสถานการณ์ตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่อง เพราะแม้ว่าอัตราว่างงานจะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีความเปราะบาง โดยข้อมูลล่าสุดในเดือนต.ค.2563 พบว่ามีผู้เสมือนว่างงานสูงถึง 2.5 ล้านคน ขณะที่อัตราว่างงานในเดือนต.ค.2563 อยู่ที่ระดับ 2.1% หรือมีผู้ว่างงาน 8 แสนคน และยังพบว่าผู้ที่ออกจากระบบแรงงานไปแล้วหรืออยู่นอกกำลังแรงงานกลับเข้ามาทำงานเพิ่มขึ้น ทำให้อัตราว่างงานในช่วงที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น
“แม้ว่าตลาดแรงงานมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีความเปราะบางที่ต้องติดตามในช่วงต่อไป เพราะอาจมีสถานการณ์ภัยแล้งในช่วงปีหน้า และมีสถานการณ์ทางภาคธุรกิจที่ยังต้องติดตามใกล้ชิด ขณะเดียวกัน จะเห็นว่ารายได้ของครัวเรือนที่เป็นลูกจ้างลดลง โดยลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่จะเป็นลูกจ้างอิสระในภาคบริการ ซึ่งรายได้ของลูกจ้างกลุ่มนี้ลดลงเยอะ” นายทิตนันทิ์กล่าว
อ่านประกอบ :
จีดีพีไตรมาส 3 ลบ 6.4%! สภาพัฒน์ฯคาดทั้งปีหดตัวร้อยละ 6 จับตา 'โควิดรอบ 2-การเมือง'
ไฟเขียวแบงก์ปันผล! ‘ธปท.’ ให้จ่ายได้ไม่เกิน 50% ของกำไร-ต้องไม่มากกว่าปี 62
สร้างกันชน-รักษาภูมิคุ้มกันศก.! 'วิรไท' แจงเหตุขอแบงก์ 'งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล-ซื้อหุ้นคืน'
ช่วยลูกหนี้ระยะสอง! ธปท.ประกาศลดดบ. ‘บัตรเครดิต-พีโลน’ 2-4% พ่วงขยายวงเงินเป็น 2 เท่า
งดจ่ายปันผลระหว่างกาล-ซื้อหุ้นคืน! ธปท.ให้แบงก์ รักษา 'เงินกองทุน' รองรับความเสี่ยง 1-3 ปี
ห่วงธุรกิจไปไม่รอด-เมินปล่อยกู้! 2 สมาคมฯท้วงธปท.ลดเพดานดบ. ‘พีโลน-จำนำทะเบียนรถ’
รับรู้รายได้ ดบ.ปกติ! เผยวิธีบันทึกงบฯ‘สถาบันการเงิน’ช่วงพักชำระหนี้-ทำให้ฐานะอ่อนแอ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/