กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% หนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง ชี้แม้การดำเนินนโยบายจะมี ‘ข้อจำกัด’ แต่พร้อมในช่วงเวลาที่เหมาะสม-เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมหั่นคาดการณ์จีดีพีปี 64 เป็นขยายตัว 3.2% จากเดิม 3.6% เหตุนักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด
.....................
เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ในการประชุมครั้งนี้ กรรมการ 1 ท่าน ลาประชุม
คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำและความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า จึงยังต้องการแรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ และรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดเพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด
@คาดเศรษฐกิจปีนี้หดตัว 6.6%-จับตาโควิดรอบใหม่
คณะกรรมการฯ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวร้อยละ 6.6 ในปี 2563 ดีกว่าที่ประเมินไว้เดิมจากการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวดีขึ้น และกลับมาขยายตัวร้อยละ 3.2 และ 4.8 ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยในระยะสั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่
ขณะที่ในระยะถัดไปขึ้นอยู่กับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประสิทธิผลและการกระจายวัคซีนป้องกัน COVID-19 และพัฒนาการของตลาดแรงงานซึ่งยังมีจำนวนผู้ว่างงานและเสมือนว่างงานอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ การฟื้นตัวที่แตกต่างกันของแต่ละภาคเศรษฐกิจจะส่งผลต่อความยั่งยืนของการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป
ด้านระบบการเงินมีเสถียรภาพ แต่ยังคงมีความเปราะบางในภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปี 2564 และจะอยู่ใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายตลอดช่วงประมาณการ โดยการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย
สภาพคล่องในระบบอยู่ในระดับสูงและต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจและครัวเรือนบางส่วนที่ต้องการสภาพคล่องยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวผันผวนสอดคล้องกับเงินสกุลภูมิภาค ทั้งนี้
@กังวลเงินบาทแข็งค่าเร็ว-สั่งเพิ่มมาตรการดูแลหากจำเป็น
คณะกรรมการฯ กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเร็วจากสภาวะเปิดรับความเสี่ยงของนักลงทุน (risk-on sentiment) และแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. จึงเห็นควรให้ติดตามอย่างใกล้ชิดและพิจารณาความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม รวมถึงผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง
@กำชับธปท.ผลักดันสถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้
คณะกรรมการฯ เห็นว่าความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป โดยนโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการทางการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ที่ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและทันการณ์ อาทิ มาตรการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิต รวมทั้งผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เกิดผลในวงกว้าง ขณะที่มาตรการทางการคลังต้องพยุงเศรษฐกิจโดยไม่ขาดช่วง โดยเฉพาะการเร่งเบิกจ่ายภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ควบคู่กับดำเนินการนโยบายด้านอุปทานเพื่อปรับรูปแบบธุรกิจและยกระดับทักษะแรงงาน ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างยั่งยืน
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ รวมถึงติดตามความเพียงพอของมาตรการภาครัฐและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ในประเทศ ในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น
@หั่นจีดีพีปี 64 โต 3.2%-ลดเป้านักท่องเที่ยวเหลือ 5.5 ล้านคน
นายทิตนันทิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ธปท.ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยใหม่ โดยคาดว่าเศรษฐกิจปี 2563 จะหดตัว -6.6% ดีขึ้นกว่าเดิมที่คาดว่าจะหดตัว -7.8% จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 3/2563 และไตรมาส 4/2563 โดยเฉพาะการฟื้นตัวของการบริโภคและการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาดไว้ ส่วนปี 2564 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.2% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.6% โดยมีสาเหตุจากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวที่ช้ากว่าที่คาดไว้เดิม
ขณะที่ปี 2565 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 4.8% จากการส่งออกจะคาดว่าขยายตัว 5% การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 3% การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 5% การอุปโภคภาครัฐขยายตัว 1% การลงทุนภาครัฐขยายตัว 0.2% นักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 23 ล้านคน และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัว 1%
“ประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 แบงก์ชาติปรับตัวเลขลงจากประมาณการครั้งก่อนพอสมควร ส่วนหนึ่งมาจากการที่เราปรับสมมุตฐานจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงเหลือ 5.5 ล้านคน จากประมาณการครั้งที่แล้วที่คาดว่าจะอยู่ที่ 9 ล้านคน ส่วนปี 2565 คาดว่าการท่องเที่ยวและภาวะเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ธปท.คาดว่าขนาดจีดีพีของไทยจะกลับมาเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิดในช่วงครึ่งหลังของปี 2565” นายทิตนันทิ์กล่าว
@คาดโควิดรอบใหม่ระบาดไม่เกิน 2 เดือน-กระทบเศรษฐกิจไม่มาก
นายทิตนันทิ์ กล่าวว่า ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในไทยที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอยู่บ้าง แต่ภายใต้สมมติฐานว่าวบคุมการระบาดได้ การแพร่ระบาดอยู่ช่วง 1 เดือนแต่ไม่เกิน 2 เดือน และการระบาดกระจายอยู่ในวงจำกัด คาดว่าเศรษฐกิจปี 2564 จะยังขยายตัว 3.2% แต่มีความเสี่ยงที่จะขยายตัวในด้านต่ำสูงมากในระยะสั้น ดังนั้น ช่วงนี้เป็นหัวเลี้ยงหัวตัว จึงต้องติดตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของภาครัฐว่าจะเข้มข้นเพียงใด
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมกนง.มอบหมายให้ทีมงานของธปท.พิจารณามาตรการที่จะนำมาใช้เพิ่มเติม หากการแพร่ระบาดของโควิดแย่กว่าสมมติฐานที่ตั้งไว้ หรือยืดเยื้อมากกว่าที่คาดไว้ ส่วนโอกาสในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น แม้ว่า กนง. จะมีข้อจำกัด แต่พร้อมใช้ในจังหวะที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
“เนื่องจากมีจำกัด จะใช้ในจังหวะที่เหมาะสม และได้ประสิทธิภาพสูงสุด แปลว่า ตรงนี้ก็ยังพอมีเหลืออยู่บ้าง ครั้งนี้ไม่ลด แล้วรอดูสถานการณ์ และประเมินกันใหม่ในครั้งต่อไป” นายทิตนันทิ์ระบุ
ส่วนความไม่แน่นอนในระยะถัดไปที่ต้องติดตาม คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทยที่อาจรุนแรงขึ้นและลุกลามกว่าที่คาด ประสิทธิผลและการเข้าถึงวัคซีนที่ยังมีความไม่แน่นอน แนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องมีมาตรการออกมาความต่อเนื่อง และต้องมีการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงาน เพื่อประคับประคองให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน
@ท่องเที่ยวไทยเริ่มฟื้นตัวครึ่งหลังปี 2564
นายทิตนันทิ์ กล่าวถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยว่า ธปท.คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังปี 2564 หลังมีการฉีดวัคซีนให้ประชากรในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วไม่น้อยกว่า 30% ในช่วงไตรมาส 2/2564 และฉีดวัคซีนให้ประชากรให้ประเทศที่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของไทยไม่น้อยกว่า 30% ในช่วงไตรมาส 3/2564 รวมทั้งไทยมีการฉีดวัคซีนให้ประชากรได้ประมาณ 20% ในช่วงไตรมาส 4/2564
จากนั้นปี 2565 ภาคการท่องเที่ยวของไทยจะฟื้นตัวต่อเนื่อง เนื่องจากประชากรทั่วโลกส่วนใหญ่หรือ 60-70% ได้รับวัคซีนจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่
“ในปีหน้าสมมุติฐานหลักของเรา คือ ใครก็ตามที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว เมื่อเข้ามาในประเทศไทยอาจไม่ต้องมีการกักตัว 14 วัน แต่ต้องมีใบรับรอง หรือมีการตรวจเชื้อต่างๆ ซึ่งจะทำให้การเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยสะดวกขึ้น และเมื่อถึงปี 2565 เมื่อประเทศต่างๆ รวมถึงไทยเข้าถึงวัคซีนในสัดส่วนประชากรที่สูงขึ้น ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามาประเทศไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว 14 วัน” นายทิตนันทิ์กล่าว
อ่านประกอบ :
บาทแข็งเร็วกระทบศก.ฟื้นตัว! กนง.กำชับ 'ธปท.' ทบทวนมาตรการ-มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.5%
จีดีพีไตรมาส 3 ลบ 6.4%! สภาพัฒน์ฯคาดทั้งปีหดตัวร้อยละ 6 จับตา 'โควิดรอบ 2-การเมือง'
ไฟเขียวแบงก์ปันผล! ‘ธปท.’ ให้จ่ายได้ไม่เกิน 50% ของกำไร-ต้องไม่มากกว่าปี 62
สร้างกันชน-รักษาภูมิคุ้มกันศก.! 'วิรไท' แจงเหตุขอแบงก์ 'งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล-ซื้อหุ้นคืน'
ช่วยลูกหนี้ระยะสอง! ธปท.ประกาศลดดบ. ‘บัตรเครดิต-พีโลน’ 2-4% พ่วงขยายวงเงินเป็น 2 เท่า
งดจ่ายปันผลระหว่างกาล-ซื้อหุ้นคืน! ธปท.ให้แบงก์ รักษา 'เงินกองทุน' รองรับความเสี่ยง 1-3 ปี
ห่วงธุรกิจไปไม่รอด-เมินปล่อยกู้! 2 สมาคมฯท้วงธปท.ลดเพดานดบ. ‘พีโลน-จำนำทะเบียนรถ’
รับรู้รายได้ ดบ.ปกติ! เผยวิธีบันทึกงบฯ‘สถาบันการเงิน’ช่วงพักชำระหนี้-ทำให้ฐานะอ่อนแอ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/