‘สศช.’ เผยเศรษฐกิจไทยปี 3/2563 ติดลบ 6.4% คาดทั้งปีลบ 6% ดีขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อน ประเมินเศรษฐกิจปีหน้าโต 3.5-4.5% ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง จับตา ‘เบิกจ่ายภาครัฐ-การเมือง-โควิดระลอกสอง’ ขณะที่อัตราว่างงานยังน่าห่วง ล่าสุดมีผู้ว่างงาน 7.4 แสนคน เศรษฐกิจทรุดกดดันหนี้สินครัวเรือนพุ่ง
..............
เมื่อวันที่ 16 พ.ย. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/2563 ปรับตัวลดลง -6.4% โดยเป็นการปรับตัวลดลงน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.2563) เศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลง -6.7% และคาดว่าทั้งปี 2563 เศรษฐกิจไทยจะปรับตัวลดลง -6% จากเดิมที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะลดลง -7.5%
“แม้ว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/2563 จะยังติดลบอยู่ แต่ปรับตัวดีขึ้นกว่าไตรมาส 2/2563 ค่อนข้างมาก หลังจากมีการคลายล็อกดาวน์ โดยขณะนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจแทบจะเปิด 100% แล้ว ยกเว้นการนำนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามา ขณะที่เศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐ ยูโรโซน และสหราชอาณาจักร ในช่วงไตรมาส 3/2563 ปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก ส่วนประเทศในแถบอาเซียน แม้จะยังติดลบอยู่ แต่ปรับตัวดีขึ้น” นายดนุชากล่าว
ทั้งนี้ สศช.คาดการณ์ว่าการส่งออกทั้งปี 2563 จะลดลง -8.2% ขณะที่การลงทุนรวม -2.4% โดยการลงทุนภาครัฐขยายตัว 13.7% แต่การลงทุนภาคเอกชน -8.9% ส่วนการบริโภคภาคเอกชน -0.9% การบริโภคภาครัฐขยายตัว 3.6% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ -0.9 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.8% ของจีดีพี
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดว่าจะขยายตัว 3.5-4.5% โดยมีแรงสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก แรงขับเคลื่อนจากภาครัฐจากการเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีและมาตรการทางเศรษฐกิจ และฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 2563 ส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวในปีหน้าจะอยู่ที่ระดับ 4.9 แสนล้านบาท เนื่องจากคาดว่าวัคซีนจะมาในช่วงไตรมาส 3 ปี 2564
“การประมาณการเศรษฐกิจในระยะถัดไปและในปี 2564 ยังอยู่บนความไม่แน่นอน โดยการเบิกจ่ายภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทย และยังต้องพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก” นายดนุชากล่าว
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามองใกล้ชิด คือ อัตราว่างงาน ซึ่งต้องมีมาตรการรองรับ หนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพี ไตรมาส 2/2563 ที่อยู่ในระกับ 83.8% ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ต้องจัดการ ภัยแล้งที่มีความไม่แน่นอน สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในต่างประเทศ ซึ่งหากมีการล็อกดาวน์อีกจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในระยะต่อไป ส่วนวัคซีนมีความเสี่ยงเรื่องประสิทธิภาพและการขนส่ง รวมทั้งต้องติดตามทิศทางนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่
นายดนุชา ระบุว่า ส่วนประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2563 และปี 2564 นั้น สศช. เสนอว่า รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับ 8 ประเด็น ได้แก่
1.การป้องกันการกลับมาระบาดระลอกที่สองในประเทศ
2.การดูแลภาคเศรษฐกิจที่มีข้อจำกัดในการฟื้นตัว ได้แก่ การเร่งรัดติดตามมาตรการที่ได้ดำเนินการไปแล้วให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการพิจารณามาตรการเพิ่มเติมหรือปรับเปลี่ยนให้ตอบสนองสาขาและพื้นที่เศรษฐกิจที่มีข้อจำกัดในการฟื้นตัว การช่วยเหลือและดูแลแรงงาน การรณรงค์ให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคอย่างรัดกุม และการดำเนินการด้านวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19
3.การขับเคลื่อนการใช้จ่ายภาครัฐ ได้แก่ การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ให้ได้ไม่น้อยกว่า 94.4% เร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจให้ได้ไม่น้อยกว่า 70% เร่งรัดเบิกจ่ายงบเหลื่อมปีให้ได้ไม่น้อยกว่า 85% และเร่งรัดการเบิกจ่ายโครงการตามพ.ร.ก.เงินกู้ฯ 1 ล้านล้านบาท ให้ได้ไม่น้อยกว่า 70%
4.การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการลงทุนภาคเอกชน ได้แก่ การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากการระบาดของโรคโควิด-19 การขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า การให้ความสำคัญกับข้อตกลงระหว่างประเทศที่อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า การลดต้นทุนการผลิตสินค้าที่สำคัญๆ การป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนและการแข็งค่าของเงินบาท และ การส่งเสริมการตลาดเชิงรุกผ่านช่องทางออนไลน์
5.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2561-2563 ให้เกิดการลงทุนจริง การขับเคลื่อนการส่งออกเพื่อเพิ่มการใช้กำลังการผลิต การแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ การประชาสัมพันธ์จุดแข็งของประเทศไทย และการขับเคลื่อนมาตรการสร้างศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง
6.การดูแลราคาสินค้าเกษตรในบางพื้นที่ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด และการเตรียมการรองรับปัญหาภัยแล้ง
7.การรักษาบรรยากาศทางการเมือง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจและเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
8.การเตรียมการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนทางเศรษฐกิจโลกและการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
นายดนุชา แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/2563 พบว่า อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูง โดยมีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 7.4 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.9% ใกล้เคียงกับ 1.95% จากไตรมาสที่แล้วซึ่งเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรง และชั่วโมงการทำงานของแรงงานยังลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะกระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของครัวเรือนในด้านต่างๆ อีกทั้งแรงงานจบใหม่ แรงงานอายุน้อย และมีการศึกษาสูงยังมีปัญหาการว่างงานเป็นจำนวนมาก
ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม พบว่า ผู้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีจำนวน 4.88 แสนคน คิดเป็นอัตราผู้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานต่อผู้ประกันตนภาคบังคับที่ 4.4% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ 3.5%
ส่วนหนี้ครัวเรือนไตรมาส 2/2563 มีมูลค่า 13.59 ล้านล้านบาท คิดเป็น 83.8% ของจีดีพี เพิ่มขึ้น 3.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอตัวลง 4.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ทั้งนี้ หนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว มีสาเหตุหลักมาจากการหดตัวทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และสะท้อนถึงความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงทางรายได้และการมีงานทำ จากวิกฤตทางเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ ภาพรวมคุณภาพสินเชื่อยังมีความเสี่ยงและต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยจากข้อมูลยอดคงค้างหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ของธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้น ไตรมาส 2/2563 มีมูลค่า 152,501 ล้านบาท ขยายตัว 19.7% และมีสัดส่วน 3.12% ต่อสินเชื่อรวม ลดลงจากสัดส่วน 3.23% ในไตรมาสก่อน โดยเป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ ที่ทำให้ภาพรวมคุณภาพหนี้มีสถานการณ์ดีขึ้น
สศช.ยังประเมินแนวโน้มหนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 3/2563 โดยคาดว่า ความต้องการสินเชื่อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการระบาดและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้น เช่นเดียวกับสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพี รวมถึงยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) ที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นได้ตามภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว และสัญญาณการฟื้นตัวที่ยังไม่ชัดเจน
อ่านประกอบ :
ไฟเขียวแบงก์ปันผล! ‘ธปท.’ ให้จ่ายได้ไม่เกิน 50% ของกำไร-ต้องไม่มากกว่าปี 62
สร้างกันชน-รักษาภูมิคุ้มกันศก.! 'วิรไท' แจงเหตุขอแบงก์ 'งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล-ซื้อหุ้นคืน'
ช่วยลูกหนี้ระยะสอง! ธปท.ประกาศลดดบ. ‘บัตรเครดิต-พีโลน’ 2-4% พ่วงขยายวงเงินเป็น 2 เท่า
งดจ่ายปันผลระหว่างกาล-ซื้อหุ้นคืน! ธปท.ให้แบงก์ รักษา 'เงินกองทุน' รองรับความเสี่ยง 1-3 ปี
ห่วงธุรกิจไปไม่รอด-เมินปล่อยกู้! 2 สมาคมฯท้วงธปท.ลดเพดานดบ. ‘พีโลน-จำนำทะเบียนรถ’
รับรู้รายได้ ดบ.ปกติ! เผยวิธีบันทึกงบฯ‘สถาบันการเงิน’ช่วงพักชำระหนี้-ทำให้ฐานะอ่อนแอ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/