ครม.ไฟเขียวมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม 2 มาตรการ ปลดล็อก ‘เอสเอ็มอี’ เข้าถึงสินเชื่อใหม่ 2.5 แสนล้านบาท ขยายระยะเวลาสินเชื่อเป็น 5 ปี พร้อมอนุมัติ ‘พักทรัพย์ พักหนี้’ 1 แสนล้านบาท เปิดทางลูกหนี้นำทรัพย์หรือกิจการไปวางที่ ‘แบงก์’ แล้วให้ลูกหนี้เช่าบริหารได้ หลังประเมินภาคบริการต้องใช้เวลา 4-5 ปี กว่าจะฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติ
.........................
เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประกอบไปด้วย 2 มาตรการ ได้แก่
1.มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท
2.มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิซื้อทรัพย์สินนั้นคืนในภายหลัง หรือมาตรการ ‘พักทรัพย์ พักหนี้’ วงเงิน 1 แสนล้านบาท
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม แถลงหลังการประชุมครม.ว่า มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูฯ วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท เป็นมาตรการที่ภาครัฐจะเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่มีพื้นฐานดี แต่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม โดยในช่วง 6 เดือนแรก จะไม่คิดอัตราดอกเบี้ย ส่วนเดือนที่ 7 ถึง 2 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปี และเฉลี่ย 5 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 5% ต่อปี
ทั้งนี้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จะเข้าไปค้ำประกันสินเชื่อเพื่อลดความเสี่ยงให้กับสถาบันการเงิน ซึ่งจะครอบคลุมถึงธุรกิจขนาดใหญ่ที่ไม่ใช่เอสเอ็มอีได้เป็นการชั่วคราว โดยมีระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี และบสย.จะรับภาระชดเชยสูงสุดอยู่ที่ 40% ของวงเงินสินเชื่อภายใต้โครงการ ขณะที่ในช่วง 5 ปีแรก สถาบันการเงินจะได้รับแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในอัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี
สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มีสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท สามารถขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 30% ของวงเงินสินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562 หรือ ณ วันที่ 28 ก.พ.2564 แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า แต่ต้องไม่เกิน 150 ล้านบาท ส่วนผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแห่งหนึ่งแห่งใด ณ วันที่ 28 ก.พ.2564 สามารถขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท
@ชี้ ‘พักทรัพย์ พักหนี้’ ลดปัญหาลูกหนี้ถูกบังคับขายสินทรัพย์
ส่วนมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 1 แสนล้านบาท จะกลไกช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพ แต่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และต้องใช้ระยะเวลายาวนานในการฟื้นตัว โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่ต้องรับภาระต้นทุนทางการเงินเป็นการชั่วคราวและไม่ถูกบังคับให้ขายทรัพย์สินหลักประกันในราคาต่ำกว่าสภาพความเป็นจริง (Fire Sale) ให้แก่กลุ่มทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
รวมทั้งมีโอกาสกลับมาดำเนินธุรกิจโดยใช้ทรัพย์สินหลักประกันเดิมได้หลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง โดยให้สถาบันการเงินรับโอนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันของผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกันที่โอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจที่มีเงินกู้ที่มีอยู่กับสถาบันการเงิน และมีข้อตกลงให้สิทธิซื้อทรัพย์สินหลักประกันนั้นกลับคืนในภายหลังตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ธปท. กำหนด
“มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ หรือ Asset Warehousing มีหลัก คือ ธุรกิจที่ยังไม่สามารถประกอบธุรกิจได้ตามปกติ และเป็นหนี้กับสถาบันการเงิน สามารถเอาทรัพย์สินหรือกิจการตรงนั้น มาวางไว้ที่สถาบันการเงินเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่เดิม หากผู้ประกอบธุรกิจยังอยากทำธุรกิจ ก็สามารถเช่าทรัพย์สินนั้นได้ดำเนินธุรกิจได้ และขอสินเชื่อเพิ่มเติมได้ โดยเงื่อนไขที่สำคัญ คือ เมื่อเอาทรัพย์มาวางแล้ว และเศรษฐกิจฟื้น ผู้ประกอบธุรกิจสามารถซื้อคืนทรัพย์สินตรงนี้ได้ในราคาที่ตกลงกัน โดยไม่มีการเอากำไรจากสถาบันการเงิน” นายอาคมกล่าว
นายอาคม กล่าวว่า ธปท.จะสนับสนุนแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำให้สถาบันการเงิน เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถขายทรัพย์สินคืนให้ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินรายเดิมในราคาที่ไม่สูงจนเกินไป โดยสถาบันการเงินสามารถให้ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินเช่าทรัพย์สินนั้นเพื่อดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในช่วงระยะเวลามาตรการได้
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังจะยกเว้นภาษีที่เกิดขึ้นจากการตีโอนทรัพย์ตามมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ สำหรับสถาบันการเงินผู้ให้กู้ และผู้ประกอบธุรกิจผู้กู้หรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกัน ขณะที่กระทรวงมหาดไทยจะลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนจากผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกันให้สถาบันการเงิน และจะลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนองให้ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกันในกรณีที่ซื้อทรัพย์สินนั้นคืน
นายอาคม ระบุว่า ทั้ง 2 มาตรการมีระยะเวลาการดำเนินการ 2 ปี โดยครม.สามารถขยายระยะเวลามาตรการออกไปได้อีก 1 ปี ในกรณีที่มีความจำเป็นและมีวงเงินเหลืออยู่ และครม.สามารถอนุมัติให้เกลี่ยวงเงินระหว่างมาตรการได้
@ธปท.คาดภาคบริการใช้เวลาฟื้นตัว 4-5 ปีจึงต้องปิดช่องว่าง
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แม้ว่าขณะนี้เศรษฐกิจโลกจะมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน แต่สำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังต้องใช้เวลา โดยธปท.คาดว่าจีดีพีจะกลับมาเท่ากับก่อนโควิด-19 จะอยู่ในช่วงไตรมาส 3/2565 และเป็นการฟื้นตัวจะไม่เทียมกัน คือ ภาคอุตสาหกรรมจะฟื้นตัวค่อนข้างดี แต่ภาคบริการ ซึ่งต้องพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก จะต้องใช้เวลาในฟื้นตัว 4-5 ปี
ดังนั้น มาตรการที่มีอยู่เดิมจึงไม่เพียงพอกับสถานการณ์ข้างหน้า และจำเป็นต้องออกมาตรการใหม่เพิ่มเติมใน 2 มาตรการ ได้แก่ 1.มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูผู้ประกอบการ 2.5 แสนล้านบาท เพื่อให้ลูกหนี้เข้าถึงสินเชื่อเพิ่มขึ้น เช่น ขยายขอบเขตลูกหนี้ที่เข้าถึงสินเชื่อได้ การขยายระยะเวลาสินเชื่อให้ยาวขึ้น ขยายวงเงิน กำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสม และขยายการชดเชยเพื่อรองรับความเสี่ยงที่สูงขึ้น
2.มาตรการ ‘พักทรัพย์ พักหนี้’ วงเงิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งให้ลูกหนี้ตีโอนทรัพย์ และมีสิทธิซื้อทรัพย์นั้นคืนกลับในราคาตีโอนบวกค่าบำรุงรักษา เพื่อลดภาระให้ลูกหนี้ ให้โอกาสลูกหนี้สามารถซื้อทรัพย์กลับมาได้ ลดความเสี่ยงจะเกิดการบังคับขายสินทรัพย์ในราคาถูกเกินไป หรือ Fire Sale และลูกหนี้มีโอกาสสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ ซึ่งจะช่วยในเรื่องการจ้างงานได้
“เราเน้นการออกมาตรการที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น รองรับความไม่แน่นอนที่ยังไม่อยู่ และออกแบบให้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ที่เหมาะสม รวมทั้งครอบคลุมปัญหาที่มีความหลากหลายมากขึ้น และแก้ปัญหาให้ตรงจุดมากขึ้น เช่น โครงการพักทรัพย์ฯ ที่สำคัญมาตรการให้ความช่วยเหลือจะยาวขึ้น เช่น เดิมสินเชื่อมีอายุ 2 ปี ค้ำประกัน 2 ปี รอบนี้สินเชื่อ 5 ปี ค้ำยาวถึง 10 ปี เพื่อให้ธุรกิจมีเวลาปรับตัวและรองรับสถานการณ์หลังโควิดได้” นายเศรษฐพุฒิกล่าว
(เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ)
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า มาตรการใหม่ดังกล่าวยังเป็นการปิดช่องว่างที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น แม้ว่าการปล่อยสินเชื่อในภาพรวมยังเติบโต โดยสินเชื่อรายย่อยเติบโต 4% ต่อปี สินเชื่อบริษัทขนาดใหญ่เติบโต 10% ต่อปี แต่สินเชื่อเอสเอ็มอีกลับหดตัว จึงเป็นที่มาของมาตรการที่จะสนับสนุนและปลดล็อกให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น
เช่นเดียวกับมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ที่จะเข้ามาช่วยเหลือลูกหนี้ เพราะแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีมาตรการพักชำระหนี้ และการปรับโครงสร้างให้ลูกหนี้ที่ประสบปัญหา แต่มาตรการดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการในบางเซ็กเตอร์ หรือบางกลุ่มที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว และในช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีรายได้เข้ามาเลย แต่ดอกเบี้ยยังวิ่งอยู่ จึงไม่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ดังนั้น มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ จึงตอบโจทย์ได้ตรงกว่า
นายเศรษฐพุฒิ ย้ำว่า หลายครั้งที่มีมาตรการออกมา แต่เมื่อนำไปปฏิบัติแล้วไม่ประสบความสำเร็จนั้น จะพบว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่การออกแบบหรือรูปแบบมาตรการ แต่มาจากการจัดการ ดังนั้น การที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องใช้เวลาพอสมควรในการหารือ รับฟังความคิดเห็นว่าปัญหาอยู่ตรงไหน มีวิธีที่จะประสานประโยชน์ร่วม และใช้กลไกตลาดให้มีประสิทธิภาพที่สุด ทำให้ตนมั่นใจว่าการบริหารจัดการจะประสบความสำเร็จได้ดี และทำได้จริงในเดือนพ.ค.2564
@แจงรายละเอียดมาตรการ 'สนับสนุนสินเชื่อ-พักทรัพย์ พักหนี้'
น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวถึงรายละเอียดมาตรการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการ หรือสินเชื่อฟื้นฟู ว่า ลูกหนี้เดิมที่จะได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการ ต้องมีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยจะได้รับวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 30% ของวงเงินสินเชื่อเดิม ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562 หรือ 28 ก.พ.2564 แล้วแต่ว่าจำนวนใดจะสูงกว่า ส่วนลูกหนี้ใหม่จะได้รับวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 20 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน จะมีการขยายระยะเวลาสินเชื่อออกไปเป็น 5 ปี จากเดิม 2 ปี ส่วนอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ไม่เกิน 2% ในช่วง 2 ปีแรก แต่ 6 เดือนแรก ภาครัฐจะรับภาระดอกเบี้ยให้ 6 เดือน และเฉลี่ย 5 ปี อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 5% ต่อปี และให้ บสย. ค้ำประกันสินเชื่อเป็นเวลา 10 ปี วงเงินชดเชย 40% ของพอร์ตสินเชื่อ เป็นต้น
ส่วนมาตรการ ‘พักทรัพย์ พักหนี้’ จะเป็นมาตรการที่ลูกหนี้และสถาบันการเงินสมัครใจทั้ง 2 ฝ่าย โดยลูกหนี้และสถาบันการเงินจะต้องเจรจาตกลงตีราคาทรัพย์กัน แล้วนำทรัพย์ของลูกหนี้มาไว้ที่สถาบันการเงิน และหนี้สินของลูกหนี้จะหายไป หรือเท่ากับเป็นการแลกทรัพย์สินและหนี้สิน ส่วนการซื้อทรัพย์คืนจะกำหนดไว้ 3 ปี และต่ออายุได้ 2 ครั้งๆละ 1 ปี หรือสูงสุด 5 ปี โดยให้สิทธิ์ผู้ประกอบการคนเดิมมีสิทธิซื้อทรัพย์นั้นก่อน
“จะมีการกำหนดตัวราคาทรัพย์ที่ลูกหนี้จะซื้อคืน เช่น วันนี้ตีโอน (ทรัพย์) ที่ 10 ล้านบาท ต้นทุนที่สถาบันการเงินจะขายคืนให้ลูกหนี้จะอยู่ที่ 10 ล้านบาทเหมือนเดิม และถ้าลูกหนี้ประสงค์จะเช่าทรัพย์หรือกิจการนั้นไปประกอบธุรกิจต่อ ต้องให้ลูกหนี้คนเดิมมีสิทธิก่อน และสถาบันการเงินจะนำค่าเช่าทรัพย์นั้นมาหักคืนตอนท้ายด้วย เช่น ทรัพย์ที่ตีโอน 10 ล้านบาท ถ้า 3-5 ปี มีค่าเช่า 1 ล้านบาท ถ้าลูกค้าจ่ายค่าเช่าตรงนั้นแล้ว ตอนซื้อคืนราคาทรัพย์จะเหลือ 9 ล้านบาท”น.ส.สุวรรณี กล่าว
ทั้งนี้ สถาบันการเงินที่เข้าร่วมมาตรการฯจะได้รับวงเงินสินเชื่อจาก ธปท. สำหรับตีโอนทรัพย์ โดย ธปท.จะคิดอัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี อายุเงินสินเชื่อ 5 ปี ขณะที่ลูกหนี้จะมีค่าใช้จ่ายในการดูแลทรัพย์ตามที่จ่ายจริงเท่านั้น
น.ส.สุวรรณี กล่าวว่า วงเงินที่เตรียมไว้สำหรับมาตรการ ‘พักทรัพย์ พักหนี้’ 1 แสนล้านบาท น่าจะเพียงพอกับความต้องการ ขณะที่ปัจจุบันสินเชื่อของธุรกิจโรงแรมทั้งระบบจะอยู่ที่ 4 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวจะเริ่มต้นหลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ซึ่งกฎหมายอยู่ระหว่างพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
@สมาคมธนาคารไทยพร้อมหนุน 2 มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก พร้อมสนับสนุนมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ และมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถทำธุรกิจต่อไปได้ ในช่วงที่เศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงจากผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งคาดว่าต้องใช้ระยะเวลาอีกนานในการฟื้นตัว
“การจัดทำมาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูฯ ในครั้งนี้ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้หารือและรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการ ภาครัฐในการดูแลการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ความกังวลของสถาบันการเงิน และสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการได้อย่างตรงจุด นำมาสู่การจัดทำมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจเพิ่มเติม 2 มาตรการ” นายผยงกล่าว
นายผยง ระบุว่า สมาคมฯ และธนาคารสมาชิก มีความตั้งใจและความพร้อมในการดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อช่วยประคับประคองภาคธุรกิจไทยให้สามารถอยู่รอดในช่วงที่เศรษฐกิจรอการฟื้นตัว และกลับมาดำเนินธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไปในอนาคต
@ครม.อนุมัติ ‘ทัวร์เที่ยวไทย’ 1 ล้านสิทธิ์
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบโครงการ ‘ทัวร์เที่ยวไทย’ 1 ล้านสิทธิ์ กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลสนับสนุนค่าเดินทางของประชาชนในลักษณะร่วมจ่าย (Co-pay) ในอัตรา 40% ของค่าใช้จ่ายแพ็กเกจนำเที่ยว แต่ไม่เกิน 5,000 บาท โดยต้องเป็นการเดินทางท่องเที่ยวข้ามจังหวัดในวันธรรมดา (วันอาทิตย์-วันพฤหัสบดี) อย่างน้อย 3 วัน 2 คืน
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะเริ่มในเดือนพ.ค.-ส.ค.2564 โดยคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการ เช่น อายุ 18 ปีขึ้นไป ณ วันลงทะเบียน นักท่องเที่ยว 1 คนสามารถใช้สิทธิ์ตามโครงการฯ ได้ 1 สิทธิ์ และได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้ประกอบการต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายกับกรมการท่องเที่ยวก่อนวันที่ 1 ม.ค.2563 ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติโดยกรมการท่องเที่ยว สามารถรับนักท่องเที่ยวได้บริษัทละไม่เกิน 1,000 ราย
“การชำระเงินต้องชำระผ่านแอปฯเป๋าตังเท่านั้น ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องมีแอปฯถุงเงินด้วย ขณะที่ผู้ใช้บริการต้องมีการสแกนใบหน้า และในระหว่างเดินทางในโปรแกรมทัวร์ เช่น ไปโรงแรม ไปร้านอาหารต่างๆ บริษัททัวร์จะต้องสแกนสถานที่ด้วย เพื่อให้มีความชัดเจนว่ามีการเดินทางไปจริงๆ” นายดนุชากล่าว
นอกจากนี้ ครม.มีมติเห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์โครงการ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ ซึ่งมีกรอบวงเงินเหลืออยู่ 5,700 ล้านบาท โดยจะมีการขยายสิทธิ์เพิ่มอีก 2 ล้านสิทธิ์ จากเดิม 6 ล้านสิทธิ์ที่หมดไปลแล้ว โดยจะเปิดให้ประชาชนเริ่มใช้สิทธิ์ได้ตั้งแต่เดือนพ.ค.-ส.ค.2564 แต่จะมีขั้นตอนเพิ่มเติมจากโครงการเดิม คือ ผู้ประกอบการจะให้ความยินยอมอีกครั้ง เพื่อให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เข้าไปตรวจสอบว่า แต่ละโรงแรมมีห้องพักเท่าไหร่และตรงกับข้อมูลที่แจ้งกับกระทรวงมหาดไทยหรือไม่ รวมทั้งต้องแจ้งราคาห้องพักว่ามีช่วงราคาของห้องเท่าไหร่ให้ ททท.ด้วย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/