กนง.มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อปี พร้อมหั่นคาดจีดีพีปี 64 เป็นเติบโตน้อยกว่า 3.2% เหตุมาตรการคุมโควิดเข้มงวด-นักท่องเที่ยวต่างชาติน้อยกว่าคาด-รายจ่ายงบปี 65 น้อยกว่าที่ประเมิน
..................
เมื่อวันที่ 3 ก.พ. นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
คณะกรรมการฯ ประเมินว่า แม้ว่าในระยะสั้นเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ แต่แรงกระตุ้นจากมาตรการของภาครัฐและการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้นส่งผลให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงด้านต่ำและความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นในระยะข้างหน้า จึงยังต้องการแรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ และรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดเพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด
คณะกรรมการฯ ประเมินว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ไม่รุนแรงเท่ากับการระบาดระลอกแรกจากมาตรการควบคุมการระบาดที่ไม่เข้มงวดเท่าครั้งก่อน นอกจากนี้ เศรษฐกิจยังได้รับแรงกระตุ้นจากมาตรการของภาครัฐที่ออกมาได้เร็วและตรงจุด และการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้แต่ต่ำกว่าประมาณการเดิมบ้าง อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยในระยะสั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่
ขณะที่ในระยะถัดไปขึ้นอยู่กับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประสิทธิผลและการกระจายวัคซีนป้องกัน COVID-19 แรงสนับสนุนจากภาครัฐที่เพียงพอและต่อเนื่อง และตลาดแรงงานที่เปราะบางขึ้นจากการระบาดระลอกใหม่ ทำให้จำนวนผู้ว่างงานและเสมือนว่างงานมีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะสั้น นอกจากนี้ การฟื้นตัวของแต่ละภาคเศรษฐกิจที่แตกต่างกันมากขึ้นจะส่งผลต่อความยั่งยืนของการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป
ด้านระบบการเงิน มีเสถียรภาพ แต่มีความเปราะบางมากขึ้นในบางจุดจากผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและธุรกิจ SMEs สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปี 2564 และจะอยู่ใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายตลอดช่วงประมาณการ โดยการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมายสภาพคล่องโดยรวมอยู่ในระดับสูงและต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ แต่การกระจายตัวของสภาพคล่องยังไม่ทั่วถึงจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้นตามฐานะการเงินที่เปราะบาง
โดยเฉพาะธุรกิจที่ฟื้นตัวช้าและครัวเรือนที่ถูกกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่ ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินสกุลภูมิภาค คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดและพิจารณาความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม รวมถึงผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง
คณะกรรมการฯ เห็นว่าความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป โดยนโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการทางการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและทันการณ์ อาทิ มาตรการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิต การผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เกิดผลในวงกว้าง รวมทั้งพิจารณามาตรการอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อเสริมประสิทธิภาพการกระจายสภาพคล่องและเพื่อรองรับเศรษฐกิจช่วงฟื้นฟูในอนาคต
ขณะที่มาตรการทางการคลังต้องพยุงเศรษฐกิจโดยไม่ขาดช่วง โดยเฉพาะการเร่งเบิกจ่ายภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสามารถควบคุมการระบาดระลอกใหม่ได้ ควบคู่กับดำเนินการนโยบายด้านอุปทานเพื่อปรับรูปแบบธุรกิจและยกระดับทักษะแรงงาน ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างยั่งยืน
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ รวมถึงจะติดตามความเพียงพอของมาตรการภาครัฐและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะสถานการณ์การระบาดทั้งในและต่างประเทศ ในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น
นายทิตนันทิ์ กล่าวว่า กนง.ยังประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยล่าสุด จากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยคาดว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดี แม้ว่าจะขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมบ้าง เนื่องจากผลจากมาตรการควบคุมโควิด-19 เข้มงวดและกว้างขวางกว่าที่ประเมินไว้ จำนวนนักท่องเที่ยวน้อยกว่าคาด และรายจ่ายภาครัฐในปีงบ 2565 มีแนวโน้มน้อยกว่าที่คาดไว้เดิม
อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยบวกที่ช่วยชดเชยผลกระทบได้บางส่วน ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ประกาศเพิ่มเติมในช่วงไตรมาสที่ 1-2 ของปี 2564 แนวโน้มการส่งออกที่ดีกว่าคาดในทุกหมวดสินค้า และการเลื่อนการเบิกจ่ายงบจากเดิมไตรมาส 4/2563 มาเป็นในช่วงปี 2564
“เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดี แม้ว่าจะขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมบ้าง และมีทั้งปัจจัยลบและปัจจัยบวก โดยปัจจัยลบที่สำคัญที่สุดจะเป็นเรื่องการระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง และมีการหารือกันว่านักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มน้อยกว่าที่คาดไว้ ส่วนปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่มีการประกาศเพิ่มเติม และการส่งออกฟื้นตัวดีขึ้นทุกหมวดสินค้าในช่วงปลายปีที่แล้ว” นายทิตนันทิ์กล่าว
ก่อนหน้านี้ กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะเติบโตที่ 3.2% และปี 2565 เติบโตที่ 4.8%
นายทิตนันทิ์ กล่าวว่า กนง.ยังหารือถึงการฟื้นตัวในแต่ละภาคเศรษฐกิจที่มีการฟื้นตัวแตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องมีมาตรการช่วยเหลือที่เหมาะสม ตรงจุด และเพียงพอ โดยฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดและเดิมก็แย่อยู่แล้ว คือ กลุ่มที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ได้แก่ โรงแรมในจังหวัดที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ คอนโคที่ Oversupply หรือมีลูกค้าต่างชาติ ธุรกิจสายการบินและรถทัวร์ท่องเที่ยว
อ่านประกอบ :
พร้อมใช้ในจังหวะ ‘เหมาะสม’! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5%-หั่นเป้าจีดีพีปี 64 เหลือโต 3.2%
บาทแข็งเร็วกระทบศก.ฟื้นตัว! กนง.กำชับ 'ธปท.' ทบทวนมาตรการ-มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.5%
จีดีพีไตรมาส 3 ลบ 6.4%! สภาพัฒน์ฯคาดทั้งปีหดตัวร้อยละ 6 จับตา 'โควิดรอบ 2-การเมือง'
ไฟเขียวแบงก์ปันผล! ‘ธปท.’ ให้จ่ายได้ไม่เกิน 50% ของกำไร-ต้องไม่มากกว่าปี 62
สร้างกันชน-รักษาภูมิคุ้มกันศก.! 'วิรไท' แจงเหตุขอแบงก์ 'งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล-ซื้อหุ้นคืน'
ช่วยลูกหนี้ระยะสอง! ธปท.ประกาศลดดบ. ‘บัตรเครดิต-พีโลน’ 2-4% พ่วงขยายวงเงินเป็น 2 เท่า
งดจ่ายปันผลระหว่างกาล-ซื้อหุ้นคืน! ธปท.ให้แบงก์ รักษา 'เงินกองทุน' รองรับความเสี่ยง 1-3 ปี
ห่วงธุรกิจไปไม่รอด-เมินปล่อยกู้! 2 สมาคมฯท้วงธปท.ลดเพดานดบ. ‘พีโลน-จำนำทะเบียนรถ’
รับรู้รายได้ ดบ.ปกติ! เผยวิธีบันทึกงบฯ‘สถาบันการเงิน’ช่วงพักชำระหนี้-ทำให้ฐานะอ่อนแอ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/