"...คณะกรรมการฯ เห็นว่าภาครัฐควรเตรียมชุดมาตรการการเงินและการคลัง (policy package) ที่สอดคล้องกับแนวโน้มและความเสี่ยงของเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา เพื่อให้พร้อมออกใช้ได้ทันทีหากจำเป็น เช่น ความเสี่ยงที่ไทยไม่สามารถเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ในช่วงปลายปี 2564 ถึงต้นปี 2565 ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว..."
..................
หมายเหตุ : เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 1/2564 วันที่ 3 ก.พ.2564
@กรรมการที่เข้าร่วมประชุม
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ (ประธาน) ,นายเมธี สุภาพงษ์ (รองประธาน) ,นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ,นายคณิศ แสงสุพรรณ ,นายรพี สุจริตกุล ,นายสมชัย จิตสุชน และนายสุภัค ศิวะรักษ์
@ภาวะเศรษฐกิจโลกและภาวะตลาดการเงิน
เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่กดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกไม่มากนัก เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ใช้มาตรการควบคุมที่เข้มงวดน้อยลง ประกอบกับมีแรงสนับสนุนจากมาตรการการเงินและการคลังอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตมีแนวโน้มฟื้นตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่กิจกรรมในภาคบริการอ่อนแอลงหลังเกิดการระบาดระลอกใหม่
สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ได้เริ่มขึ้นแล้วในหลายประเทศ และคาดว่ากลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักจะมีภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในช่วงกลางปี 2564 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ตลาดการเงินโลกอยู่ในภาวะยอมรับความเสี่ยงได้มากขึ้น (risk-on sentiment) แต่เงินลงทุนในหลักทรัพย์ที่ไหลเข้ากลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging markets: EMs) รวมถึงไทยยังไม่มากนัก เนื่องจากนักลงทุนมีมุมมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวดีขึ้น ภายหลังการเมืองของสหรัฐฯ ที่มีความชัดเจนมากขึ้นส่งผลดีต่อการออกมาตรการกระตุ้นทางการคลังเพิ่มเติม
ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ดี อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของไทยไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นตามมากนัก
สำหรับค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ.เคลื่อนไหวในกรอบแคบสอดคล้องกับเงินสกุลภูมิภาค โดยดัชนีค่าเงินบาท (nominal effective exchange rate: NEER) ทรงตัวใกล้เคียงการประชุมครั้งก่อน
ในระยะข้างหน้า หากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในภาพรวมของโลกสามารถควบคุมได้ เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวต่อเนื่อง และธนาคารกลางส่วนใหญ่ยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย จะส่งผลให้ risk-on sentiment จะมากขึ้นต่อเนื่อง อัตราผลตอบพันธบัตรและราคาตราสารทุนจะมีแนวโน้มสูงขึ้น เงินดอลลาร์ สรอ. มี แนวโน้มอ่อนค่าลง และเงินสกุลภูมิภาคมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ.
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งอาจนำไปสู่ความผันผวนในตลาดการเงินโลกได้ จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดภาวะเศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบการเงินไทย
เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ แต่ไม่รุนแรงเท่าเดิม เนื่องจากมาตรการควบคุมการระบาดเข้มงวดน้อยลง รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือได้เร็วและตรงจุด ประกอบกับการส่งออกฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ยังขยายตัวได้แม้อาจต่ำกว่าประมาณการ ณ เดือนธันวาคม 2563 บ้าง โดยเศรษฐกิจไทยได้รับปัจจัยลบเพิ่มขึ้นจาก
(1) การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ที่รุนแรงกว่าที่ประเมินไว้เดิม การบริโภคภาคเอกชนจะลดลงอย่างมีนัยส าคัญจากรายได้แรงงานที่ลดลงและการว่างงานที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ แรงงานที่มีความเสี่ยงว่ารายได้จะลดลงมากจากการระบาดระลอกใหม่คาดว่ามีประมาณ 4.7 ล้านคน ทั้งที่เป็นลูกจ้างรายวันนอกภาคเกษตร ผู้ประกอบอาชีพอิสระนอกภาคเกษตร และลูกจ้างในสาขาโรงแรม โดยในกลุ่มนี้มีราว 1.2 ล้านคน อาจกลายเป็นผู้ว่างงานหรือผู้เสมือนว่างงานได้
(2) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 ที่ปรับลดลง ตามนโยบายการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบค่อยเป็นค่อยไป
และ (3) รายจ่ายภาครัฐในปีงบประมาณ2565 ที่มีแนวโน้มน้อยลง
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยได้รับปัจจัยบวกที่ช่วยชดเชยผลลบได้บางส่วน จาก
(1) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ประกาศเพิ่มเติมในช่วงครึ่งแรกของปี2564
(2) การส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวดีกว่าคาดในเกือบทุกหมวดสินค้าตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะเติบโตสูงกว่าคาดจากมาตรการกระตุ้นทางการคลัง
และ (3) การเลื่อนการเบิกจ่ายงบประมาณบางส่วนจากเดิมในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 มาเป็นในช่วงปี 2564 สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปี 2564 และอยู่ใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายตลอดช่วงประมาณการ โดยการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย
มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยเผชิญกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น โดยในระยะสั้นขึ้นอยู่กับการควบคุมการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ และมาตรการการคลังในการพยุงเศรษฐกิจในช่วงที่เกิดการระบาดระลอกใหม่
ขณะที่ในระยะปานกลางขึ้นอยู่กับ (1) การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น แนวทางการเปิดประเทศของไทยและประเทศต้นทาง สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 รวมถึงประสิทธิภาพของวัคซีน (2) การจัดหาและกระจายวัคซีนป้องกัน COVID-19 ในไทย ซึ่งจะส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและแนวทางการเปิดประเทศ
(3) ความเพียงพอและต่อเนื่องของแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ และ(4) ภาวะตลาดแรงงานที่เปราะบางมากขึ้นหลังการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน
เสถียรภาพระบบการเงินที่เปราะบางอยู่ก่อนแล้วได้รับผลกระทบเพิ่มเติม ภาคครัวเรือนมีความเปราะบางมากขึ้นจากรายได้ครัวเรือนที่ปรับลดลง โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยที่ยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดรอบก่อนและได้รับผลกระทบเพิ่มเติม
จึงต้องติดตามคุณภาพหนี้ในภาคครัวเรือนที่อาจด้อยลงในระยะต่อไป ภาคธุรกิจมีรายได้ลดลงและมีฐานะการเงินเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและบริการที่ยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดรอบก่อน ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ประสบปัญหาในการเข้าถึงสินเชื่อเนื่องจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่ปรับสูงขึ้น ส่งผลให้บางธุรกิจมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี การประเมินพบว่าผลกระทบต่อระบบสถาบันการเงินและตลาดตราสารหนี้โดยรวมยังมีจำกัด ธนาคารพาณิชย์มีฐานะการเงินที่มั่นคงสามารถรองรับคุณภาพสินเชื่อที่อาจด้อยลงได้ในอนาคต
อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้นของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs อาจส่งผลให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มธุรกิจดังกล่าวน้อยลง และอาจทำให้ธุรกิจมีปัญหาขาดสภาพคล่องมากขึ้น จนส่งผลกระทบกลับมายังระบบเศรษฐกิจ (negative feedback loop)
@ประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการฯ อภิปราย
คณะกรรมการฯ อภิปรายเกี่ยวกับผลกระทบของการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ โดยในระยะสั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะช้าลงและแตกต่างกันมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อความเปราะบางในตลาดแรงงาน ขณะที่ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งจะมีนัยต่อมาตรการการเงินการคลังที่เหมาะสมในระยะต่อไป มีรายละเอียดดังนี้
-ในระยะสั้น การระบาดระลอกใหม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าระลอกแรก แต่ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจช้าลงและแตกต่างกันมากขึ้นระหว่างภาคเศรษฐกิจและขนาดธุรกิจต่าง ๆ (uneven recovery) โดยหลายกลุ่มธุรกิจยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดระลอกแรกและถูกกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่
นอกจากนี้ ธุรกิจ SMEs ได้รับผลกระทบมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ คณะกรรมการฯ กังวลว่าตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานที่ประกอบอาชีพอิสระนอกภาคเกษตร ลูกจ้างรายวันนอกภาคเกษตร และลูกจ้างในสาขาโรงแรม ซึ่งจำนวนผู้ว่างงานหรือผู้เสมือนว่างงานมีแนวโน้มสูงขึ้นมากในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ แต่จะทยอยลดลงสอดคล้องกับการลดลงของจำนวนผู้ติดเชื้อและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดรวมถึงการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในระยะต่อไป
-คณะกรรมการฯ เห็นว่าภาครัฐควรออกแบบมาตรการให้ตรงจุดและเพียงพอ รวมทั้งเร่งดำเนินมาตรการในช่วงแรกที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบ (front-loaded) เพื่อป้องกันผลกระทบเชิงลบที่จะสะท้อนกลับมายังระบบเศรษฐกิจและช่วยลดต้นทุนต่อเศรษฐกิจในระยะยาว (scarring effects) ซึ่งจะมีมากขึ้นและแก้ไขได้ยาก
หากไม่ดูแลอย่างทันท่วงทีอาทิ แรงงานที่ถูกเลิกจ้างอาจจะใช้เวลานานในการกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานอีกครั้ง
ด้านมาตรการการคลัง ควรเร่งเบิกจ่ายมาตรการเยียวยาและมาตรการพยุงเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะการอนุมัติโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจฯ ที่จะสิ้นสุดระยะเวลากู้เงินในเดือนกันยายน 2564
ด้านมาตรการทางการเงินและสินเชื่อ ควรเร่งลดภาระหนี้ให้กับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ และให้สภาพคล่องทางการเงินผ่านโครงการค้ าประกันสินเชื่อที่มีอยู่ในปัจจุบัน (PGS 9)
สำหรับในระยะต่อไป ภาครัฐควรให้น้ำหนักกับมาตรการฟื้นฟูโดยเร่งเบิกจ่ายเพื่อรักษาความต่อเนื่องของแรงกระตุ้นภาครัฐ และอาจให้ความช่วยเหลือโดยกำหนดวัตถุประสงค์และเงื่อนไขที่ชัดเจน อาทิเพื่อรักษาการจ้างงาน หรือเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับบริบทใหม่หลัง COVID-19 ซึ่งจะ
ช่วยลดความเปราะบางในตลาดแรงงาน และช่วยยกระดับศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจได้
-คณะกรรมการฯ เห็นว่าความเสี่ยงสำคัญในระยะต่อไป คือ การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยปัจจัยภายนอกประเทศที่อาจทำให้การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติล่าช้า ได้แก่ นโยบายจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของจีน และการกลายพันธุ์ของ COVID-19 ที่อาจทำให้วัคซีนด้อยประสิทธิภาพลง
สำหรับปัจจัยภายในประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ประสิทธิผลและการกระจายวัคซีนป้องกัน COVID-19 ความสมัครใจในการฉีดวัคซีนของประชาชน และความสามารถในการควบคุมและคัดกรองผู้เดินทางเข้าออกตามแนวชายแดน
-คณะกรรมการฯ เห็นว่าภาครัฐควรเตรียมชุดมาตรการการเงินและการคลัง (policy package) ที่สอดคล้องกับแนวโน้มและความเสี่ยงของเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา เพื่อให้พร้อมออกใช้ได้ทันทีหากจำเป็น เช่น ความเสี่ยงที่ไทยไม่สามารถเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ในช่วงปลายปี 2564 ถึงต้นปี 2565 ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว ภาครัฐควรเตรียมความพร้อมสำหรับมาตรการการคลังเพื่อออกแรงกระตุ้นทางการคลังเพิ่มเติมเพื่อรองรับความไม่แน่นอนนี้ที่อาจเกิดขึ้น
และเห็นว่าระดับหนี้สาธารณะที่ปรับสูงขึ้นในระยะปานกลางไม่ได้กระทบต่อความยั่งยืนทางการคลังอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับด้านมาตรการการเงิน คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมดำเนินมาตรการการเงินเพิ่มเติม รวมถึงพิจารณาต่ออายุมาตรการที่จะทยอยครบกำหนดในปี 2564 หากจำเป็น
@การดำเนินนโยบายการเงิน
คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมบ้างจากผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่ แต่การฟื้นตัวจะแตกต่างกันมากขึ้นระหว่างภาคเศรษฐกิจ จึงควรเน้นมาตรการช่วยเหลือที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย สอดคล้องกับปัญหาและศักยภาพของธุรกิจ ทั้งนี้โจทย์สำคัญของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องของระดับอัตราดอกเบี้ยเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์แล้ว
อีกทั้งสภาพคล่องในระบบธนาคารยังอยู่ในระดับสูง แต่โจทย์สำคัญคือการกระจายสภาพคล่องในระบบธนาคารไปสู่ธุรกิจและครัวเรือนให้ทั่วถึง จึงควรใช้มาตรการทางการเงินและสินเชื่อซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด อาทิ มาตรการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิต
นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้และรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดเพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด
คณะกรรมการฯ เห็นว่าหากเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางจึงเห็นควรให้ติดตามตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมทั้งพิจารณาความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทและแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างให้กับตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไทย ผ่านการผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการส่งเสริมให้กลุ่มนักลงทุนสถาบันของไทยออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มขึ้น จะช่วยสนับสนุนเงินทุนเคลื่อนย้ายขาออกและทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายของไทยไหลเข้าออกอย่างสมดุลมากขึ้น
คณะกรรมการฯ เห็นว่าการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานภาครัฐมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป และเห็นควรให้เร่งดำเนินมาตรการการเงินการคลังที่ตรงจุดสอดคล้องกับปัญหาและศักยภาพของธุรกิจ โดยนโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการทางการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ธุรกิจที่มีศักยภาพและขาดสภาพคล่อง ผ่านมาตรการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิต
และอาจพิจารณาเพิ่มเงื่อนไขเพื่อจูงใจให้ธุรกิจรักษาการจ้างงาน สถาบันการเงินควรเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เกิดผลในวงกว้าง มาตรการการคลังควรเร่งออกเพิ่มขึ้นและตรงจุดเพื่อเยียวยาและพยุงเศรษฐกิจ ในระยะต่อไปควรเตรียมชุดมาตรการการเงินและการคลังเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา
นอกจากนี้ ภาครัฐควรร่วมกันผลักดันนโยบายปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับบริบทใหม่หลัง COVID-19 โดยเฉพาะการยกระดับทักษะแรงงานและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวที่ยั่งยืนและยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน
คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยจะติดตามสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ความเปราะบางในตลาดแรงงาน การจัดหาและการกระจายวัคซีน การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และความเพียงพอของมาตรการภาครัฐในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น
อ่านประกอบ :
หั่นจีดีพีปี 64! กนง.คาดโตต่ำกว่า 3.2%-มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5%
พร้อมใช้ในจังหวะ ‘เหมาะสม’! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5%-หั่นเป้าจีดีพีปี 64 เหลือโต 3.2%
บาทแข็งเร็วกระทบศก.ฟื้นตัว! กนง.กำชับ 'ธปท.' ทบทวนมาตรการ-มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.5%
จีดีพีไตรมาส 3 ลบ 6.4%! สภาพัฒน์ฯคาดทั้งปีหดตัวร้อยละ 6 จับตา 'โควิดรอบ 2-การเมือง'
ไฟเขียวแบงก์ปันผล! ‘ธปท.’ ให้จ่ายได้ไม่เกิน 50% ของกำไร-ต้องไม่มากกว่าปี 62
สร้างกันชน-รักษาภูมิคุ้มกันศก.! 'วิรไท' แจงเหตุขอแบงก์ 'งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล-ซื้อหุ้นคืน'
ช่วยลูกหนี้ระยะสอง! ธปท.ประกาศลดดบ. ‘บัตรเครดิต-พีโลน’ 2-4% พ่วงขยายวงเงินเป็น 2 เท่า
งดจ่ายปันผลระหว่างกาล-ซื้อหุ้นคืน! ธปท.ให้แบงก์ รักษา 'เงินกองทุน' รองรับความเสี่ยง 1-3 ปี
ห่วงธุรกิจไปไม่รอด-เมินปล่อยกู้! 2 สมาคมฯท้วงธปท.ลดเพดานดบ. ‘พีโลน-จำนำทะเบียนรถ’
รับรู้รายได้ ดบ.ปกติ! เผยวิธีบันทึกงบฯ‘สถาบันการเงิน’ช่วงพักชำระหนี้-ทำให้ฐานะอ่อนแอ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/