ที่ประชุม กนง.มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อปี พร้อมปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 64 เหลือเติบโต 0.7% จากเดิม 1.8% ส่วนปีหน้าคาดขยายตัว 3.7% หลังการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกสาม รุนแรงกว่าที่คาด
.........................
เมื่อวันที่ 4 ส.ค. นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ว่า คณะกรรมการฯ มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี ขณะที่ 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้ กรรมการ 1 ท่านลาประชุม
คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 มากกว่าที่ประเมินไว้ และยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งโจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบัน คือ การเร่งควบคุมการระบาดและกระจายวัคซีน เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของประชาชนและเอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้กลับมาขยายตัว ขณะที่มาตรการทางการคลังและการเงินจะต้องเร่งช่วยผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและทันการณ์ยิ่งขึ้นสอดคล้องกับสถานการณ์
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่า ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ายังอยู่ในระดับสูง การช่วยเหลือต้องเร่งผลักดันผ่านการกระจายสภาพคล่องและลดภาระหนี้ของกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่ามาตรการการเงินจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ขณะที่กรรมการ 2 ท่าน เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อเป็นมาตรการเสริมในการช่วยพยุงเศรษฐกิจและรองรับแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูงในระยะข้างหน้า
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 0.7 และ 3.7 ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ โดยปรับลดลงตามการบริโภคภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบมากในปีนี้และแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับลดลงมากในปีหน้า ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากแนวโน้มการใช้จ่ายภาครัฐที่สูงขึ้นจาก พ.ร.ก. กู้เงินล่าสุดและการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดี แม้ภาคการผลิตบางส่วนได้รับผลกระทบจากการระบาดในโรงงานและการขาดแคลนวัตถุดิบชั่วคราว
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มใกล้เคียงเดิม การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญจากการระบาดทั้งในและต่างประเทศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน รายได้และการจ้างงาน เพิ่มเติมจากผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งคณะกรรมการฯ จะติดตามปัจจัยดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
สภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง แต่การกระจายตัวยังไม่ทั่วถึงจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และภาคครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาด ทั้งนี้ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูที่ออกมาช่วยให้ธุรกิจ SMEs เข้าถึงสินเชื่อเพิ่มขึ้น ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวอ่อนค่ากว่าเงินสกุลภูมิภาคตามปัจจัยในประเทศ คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด รวมถึงผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง
คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมาตรการสาธารณสุขควรเร่งจัดหาและกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเพื่อควบคุมไม่ให้การระบาดยืดเยื้อ มาตรการการคลังควรเร่งเยียวยาและพยุงเศรษฐกิจ โดยดูแลตลาดแรงงานและภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นในจุดที่เปราะบางอย่างเพียงพอและทันการณ์ นโยบายการเงินต้องสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายต่อเนื่อง
สำหรับมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อควรเร่งปรับปรุงให้มีประสิทธิผลมากขึ้น โดยเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและลดภาระหนี้ อาทิ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการอื่น ๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ การกระจายและประสิทธิภาพของวัคซีน สถานการณ์การระบาดทั้งในและต่างประเทศ ความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น
@โควิดกระทบบริโภคเอกชน-ฉุดจีดีพีปีนี้โตแค่ 0.7%
นายทิตนันทิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประชุมครั้งนี้ กนง. และ ธปท.ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2564 เป็นขยายตัวที่ระดับ 0.7% ลดลงจากประมาณการในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 1.8% ส่วนปีหน้าคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 3.7% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.9% เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ แม้ว่าจะมีปัจจัยสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมของภาครัฐ และการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นบ้าง
“จากเดิมที่เราประมาณการไว้ในเดือน มิ.ย.ว่า เศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัว 1.8% แต่ตอนนี้เหลือ 0.7% ส่วนในปีนี้หน้าเราได้ปรับประมาณการลดลงเช่นกัน เนื่องจากเราเปิดประเทศช้าลง นักท่องเที่ยวมาช้าลง…และในกรณีที่การควบคุมโรคระบาดทำได้ช้า มีการระบาดในต่างประเทศมากขึ้น (กรณี Minus) จะเกิดเป็นกรณีเส้นสีส้ม ซึ่งการฟื้นตัวก็จะยิ่งช้าลงไปอีก จึงสรุปว่าผลกระทบของการระบาดระลอกนี้ กระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งปีนี้ และต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ที่สำคัญยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งต้องมีการเตรียมนโยบายสาธารณะหรือเตรียมความพร้อมเรื่องต่างๆให้รองรับกับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น” นายทิตนันทิ์กล่าว
นายทิตนันทิ์ ระบุว่า คณะกรรมการ กนง. ได้เน้นย้ำถึงโจทย์ที่สำคัญในช่วงนี้ ซึ่งก็คือการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้ได้ ขณะที่มาตรการการเงินและมาตรการการคลังที่มีอยู่ จะเป็นตัวที่ช่วยประคองเศรษฐกิจไม่ให้ทรุด และผ่านพ้นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ยากลำบากนี้ไปได้
นายทิตนันทิ์ กล่าวด้วยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในขณะนี้ มีความรุนแรงมากขึ้น โดยจำนวนผู้ติดเชื้อเร่งตัวขึ้นในทุกภูมิภาค และมีจำนวนสูงกว่าที่เคยประมาณการไว้ ส่วนมาตรการของภาครัฐที่เข้มข้นขึ้นนั้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับลดลงในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดงเข้ม 29 ซึ่งมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วน 78% ของจีดีพี และมีจำนวนประชากรคิดเป็นสัดส่วน 43% ของประเทศ
สำหรับสถานการณ์ด้านแรงงานนั้น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ทำให้ตลาดแรงงานไตรมาส 2/2564 ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และเมื่อมองไปข้างหน้าคาดว่าแนวโน้มจะแย่ลงไปอีก จากการระบาดที่รุนแรงและยืดเยื้อ อีกทั้งเมื่อเทียบกับวิกฤติต่างๆในอดีต เช่น วิกฤตการเงินโลกปี 2551 มหาอุทกภัยปี 2554 และเหตุการณ์ทางการเมืองในปี 2557 จะเห็นได้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกนี้ ส่งผลกระทบต่ออัตราว่างงานรุนแรงที่สุด
“จากแนวโน้มของการระบาด จะทำให้อัตราการว่างงานมีลักษณะคล้ายตัว W (W-shaped) คือ จะแย่ลงไปอีก” นายทิตนันทิ์ กล่าว
นอกจากนี้ ธปท. ประเมินผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่จะส่งผลกระทบต่อการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เป็น 2 กรณี ได้แก่
1.กรณีฐาน (base line) ควบคุมการระบาดได้และทยอยผ่อนคลายมาตรการในช่วงต้นไตรมาส 4/2564 ลดวันกักตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็น 0 วัน ในช่วงไตรมาส 2/2565 ซึ่งจะทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.5 แสนคน ในปี 2564 และ 6 ล้านคนในปี 2565
2.กรณี Minus ควบคุมการระบาดได้และทยอยผ่อนคลายมาตรการในช่วงปลายไตรมาส 4/2564 และลดวันกักตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็น 0 วัน ในช่วงไตรมาส 3/2565 ซึ่งจะทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1 แสนคน ในปี 2564 และ 2ล้านคนในปี 2565
อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่ ธปท. ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศ , พัฒนาการด้านวัคซีน ทั้งประสิทธิภาพและการกระจายวัคซีน และนโยบายการควบคุมโรคและนโยบายการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เป็นต้น
@เชื่อเศรษฐกิจไทยปี 64 ไม่ติดลบ
เมื่อถามว่า กนง. และธปท. มีการประเมินหรือคาดการณ์หรือยังว่ามาตรการเยียวยาผลกระทบจากมาตรการล็อคดาวน์ล่าสุดของรัฐ เมื่อผนวกกับพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการส่งออกและอื่นๆ แล้ว มีปัจจัยอื่นใดบ้างที่จะประคับประคองให้เศรษฐกิจไทยพ้นจากแนวโน้มที่มุ่งสู่สถานะติดลบในปีนี้
ธปท.ตอบว่า ประมาณการเศรษฐกิจที่เผยแพร่หลังการประชุม กนง วันที่ 4 ส.ค. ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 0.7 ในปีนี้และ 3.7 ในปีหน้านั้น ได้รวมเอาพัฒนาการล่าสุดจนถึงวันที่ 3 ส.ค. แล้ว ทั้งมาตรการควบคุมการระบาดล่าสุดที่ยกระดับสีแดงเข้มเป็น 29 จังหวัด รวมถึงความคืบหน้าของมาตรการเยียวยาต่างๆ
"แม้จะมีปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทยอยู่ค่อนข้างมาก แต่ระยะข้างหน้ายังมีเครื่องยนต์อื่นๆ ที่ยังพอพยุงเศรษฐกิจไว้ได้บ้าง อาทิ การส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีตามอุปสงค์จากต่างประเทศที่สถานการณ์เบากว่าไทย ภาคการคลังที่ออกเม็ดเงินเยียวยาต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและลดทอนผลกระทบจากการคุมระบาด ซึ่งก็มีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ รวมถึงการคุมการระบาดและเร่งผ่อนคลายมาตรการลดการเคลื่อนที่ ซึ่งถ้าหากสามารถผ่อนคลายได้ไม่ช้าไปกว่าต้นไตรมาส 4 ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยไม่หดตัวในปีนี้" ธปท.ระบุ
เมื่อถามว่า หากเกิดกรณี minus case ธปท. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสถดถอยเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันหรือไม่ และธปท.ประเมินอย่างไร นั้น ธปท. ตอบว่า กรณี minus case ที่ประเมินไว้เป็นเพียงหนึ่งในฉากทัศน์ที่มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยจะชะลอลงมากกว่ากรณีฐานมาก แต่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มากว่าจะพัฒนาไปในฉากทัศน์ใด
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวที่ 0.7 ก็ถือว่าค่อนข้างต่ำมากแล้วจากที่ปีก่อนหดตัวไปถึง -6.1 และเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่ยังขยายตัวได้ค่อนข้างดี ก็คงต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วนในการช่วยกันขับเคลื่อนและประคับประคองเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ และคงต้องทำอย่างเต็มที่ตั้งแต่วันนี้ โดยยังไม่ต้องรอให้เศรษฐกิจไทยแย่ลงไปถึงขนาดติดลบในปีนี้
เมื่อถามว่า การอ่อนค่าของค่าเงินบาทครั้งนี้เกิดจากอะไร และโควิด 19 มีผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทหรือไม่ รวมถึงแนวทางดูแลของ ธปท. ว่าเป็นอย่างไร นั้น ธปท. ตอบว่า เงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าในทิศทางเดียวกับเงินสกุลภูมิภาคจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้าที่รุนแรงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยเฉพาะกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่หลายประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนอยู่ในระดับต่ำ
"โดยเงินบาทอ่อนค่ามากกว่าเงินสกุลภูมิภาคจากสถานการณ์ COVID-19 ที่รุนแรงและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ล่าช้า ทั้งนี้ ธปท. ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด โดยดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจ" ธปท.ระบุ
@ธปท.ปัดทำคิวอี-ชี้ไม่ตอบโจทย์ของไทย
เมื่อถามว่า กรณีที่วงการนักเศรษฐศาสตร์ไทย มีข้อเสนอเรื่องให้ ธปท. พิจารณาการใช้เครื่องมืออัดฉีดสภาพคล่องหรือ QE ซึ่งมีผลในการพยุงเศรษฐกิจระยะสั้น ท่ามกลางข้อจำกัดเรื่องการปล่อยทางสินเชื่อซอฟท์โลน และต้องการเก็บกระสุนเรื่องดอกเบี้ย นั้น ธปท. ตอบว่า ภายใต้สถานการณ์ที่การระบาดรุนแรงขึ้นและอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีกระสุนเหลือน้อย ธปท. จึงได้ศึกษาเครื่องมือการเงินอื่นๆ ไว้ โดยการทำ QE อาจไม่ตอบโจทย์ของไทย
เพราะ (1) โจทย์ปัจจุบันไม่ใช่สภาพคล่องโดยรวมไม่เพียงพอ (2) ไทยเป็น bank-based economy ภาคเอกชนระดมทุนผ่านตลาดสารหนี้เพียง 10% การทำ QE จะได้ประโยชน์ในวงจำกัด (3) ต้นทุนการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ขณะนี้อยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว
"มาตรการที่ตอบโจทย์ตอนนี้ คือ มาตรการการเงินและสินเชื่อ ซึ่งต้องเร่งปรับปรุงมาตรการให้มีประสิทธิผลขึ้น โดยเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและลดภาระหนี้ อาทิ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการอื่น ๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว ทั้งนี้ กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่ามาตรการด้านการเงินจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ" ธปท.ระบุ
อ่านประกอบ :
กำลังซื้ออ่อนแอ-ครัวเรือนไม่เชื่อมั่น! ธปท.เผยบริโภคเดือน มิ.ย.หด-เกาะติด'ล็อกดาวน์'
ฉุดจีดีพีร่วง 0.8-2%! ธปท.ประเมินผลกระทบ ‘ล็อกดาวน์’-เศรษฐกิจปีหน้าฟื้นช้ากว่าคาด
ธปท.เล็งหั่นจีดีพีปี 64 เซ่นล็อกดาวน์-เดลต้าระบาดหนัก ห่วง ‘ว่างงาน-หนี้ครัวเรือนสูง’
ธปท.ชี้โควิดกระทบศก.ชัดเจนขึ้น ‘บริโภค-ลงทุนเอกชน’ เดือนพ.ค.หดตัวเป็นเดือนที่ 2
มติเอกฉันท์คงดบ.0.5%! กนง.หั่นเป้าจีดีพีปี 64 เหลือ 1.8%-ปีหน้าโต 3.9%
คาดจีดีพีปีนี้ดีสุดโต 2%! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5%-วัคซีนพระเอกฟื้นเศรษฐกิจ
เซ่นโควิดระลอก 3! ‘ธปท.’ เล็งหั่นจีดีพีโตต่ำ 3%-เผยตัวเลขส่งออกมี.ค.พุ่ง 15.8%
โควิดระลอก 3 เขย่าเศรษฐกิจไทย-กระทบเปิดประเทศ ‘วัคซีนทั่วหน้า’ คือ ทางออก
เปิดรายงานกนง. : เศรษฐกิจไทยเสี่ยงโตต่ำคาด-โควิดซ้ำเติมเหลื่อมล้ำรายได้เลวร้ายลง
กนง.หั่นจีดีพีโตแค่ 3%! เซ่นโควิดรอบสอง-นทท.เหลือ 3 ล้าน คงดบ.นโยบาย 0.5%
ให้กู้ยาว 5 ปี! ครม.ปลดล็อก ‘ซอฟต์โลน’ อุ้มเอสเอ็มอี-เทแสนล.หนุน ‘พักทรัพย์ พักหนี้’
แบงก์ทุนแกร่ง-สภาพคล่องล้น! ธปท.มอง NPL ปี 64 ขยับอีก-ถก'คลัง'ผุด'โกดังเก็บหนี้'
เปิดรายงาน กนง. : แนะรัฐบาล 'ออกแรง' กระตุ้นทางการคลังเพิ่ม
หั่นจีดีพีปี 64! กนง.คาดโตต่ำกว่า 3.2%-มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5%
พร้อมใช้ในจังหวะ ‘เหมาะสม’! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5%-หั่นเป้าจีดีพีปี 64 เหลือโต 3.2%
บาทแข็งเร็วกระทบศก.ฟื้นตัว! กนง.กำชับ 'ธปท.' ทบทวนมาตรการ-มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.5%
จีดีพีไตรมาส 3 ลบ 6.4%! สภาพัฒน์ฯคาดทั้งปีหดตัวร้อยละ 6 จับตา 'โควิดรอบ 2-การเมือง'
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/