‘แบงก์ชาติ’ ประเมินมาตรการ ‘ล็อกดาวน์’ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงทั้งประเทศใกล้เคียงปีก่อน กระทบจีดีพี 0.8-2% ‘กนง.’ จ่อทบทวนจีดีพีทั้งปี 64 ต่ำกว่า 1.8%
.......................
เมื่อวันที่ 22 ก.ค. น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค มีกำหนด Media Briefing เรื่อง ‘ส่องเศรษฐกิจไทยในวิกฤตโควิด’ โดยระบุว่า มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ทั้งการล็อกดาวน์และจำกัดการเดินทางที่ออกมาในเดือน ก.ค. ส่งผลให้ในขณะนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัวใกล้เคียงกับระดับที่มีการ Full Lockdown ทั้งประเทศ เมื่อปีแล้ว และกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มปักหัวลง
“ปีที่แล้วที่มีการกำหนดพื้นที่ควบคุมทั่วประเทศ พบว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในเดือน เม.ย.2563 ลดลงทั้งหมด แต่การระบาดระลอกที่ 3 ซึ่งมีการควบคุมบางพื้นที่หรือในพื้นที่ 13 จังหวัดนั้น กลับพบข้อมูลว่าตั้งแต่วันที่ 1-18 ก.ค.2564 กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงและกระจายเป็นวงกว้าง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประชาชนไม่เชื่อมั่นในการเดินทางออกไปข้างนอก ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงไปด้วย” น.ส.ชญาวดี กล่าว
น.ส.ชญาวดี กล่าวต่อว่า แม้รัฐบาลจะมีมาตรการควบคุมการระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในบางจังหวัดที่มีการออกมาตรการควบคุมที่เข้มงวดสูงสุดที่เข้มกว่าระลอกก่อนๆ แต่การควบคุมการแพร่ระบาดยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่ง ธปท.ประเมินฉากทัศน์ของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดเป็น 2 กรณี คือ 1.กรณีที่ดี (upper case) มาตรการได้ผล จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะลดลง 40% และควบคุมการระบาดได้ในช่วงเดียว ส.ค.นี้
และ2.กรณีที่แย่ (lower case) แม้ว่าจะมีมาตรการควบคุมที่เข้มงวด แต่ประสิทธิภาพของมาตรการสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้เพียง 20% จะทำให้การล็อกดาวน์ยาวนานไปจนถึงไตรมาส 4/2564 ซึ่งการล็อกดาวน์ดังกล่าวอาจจะมาจากการประกาศของรัฐบาลหรือการที่ประชาชนล็อกดาวน์ตัวเอง
น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า ผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยคิดเป็น 0.8-2% โดยหากเป็นกรณีที่การล็อกดาวน์ลดการจำนวนผู้ติดเชื้อลงอย่างรวดเร็ว และสามารถผ่อนคลายมาตรการได้ตั้งแต่กลางเดือน ส.ค.2564 จะทำให้เศรษฐกิจปีนี้หดตัว -0.8% ของจีดีพี แต่หากเป็นกรณีที่การล็อกดาวน์ ลดการระบาดได้ไม่มากนัก และสถานการณ์การระบาดยืดเยื้อถึงปลายปี 2564 จะทำให้เศรษฐกิจปีนี้หดตัว -2.0% ของจีดีพี
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเศรษฐกิจที่คาดว่าจะหดตัว 0.8-2% ดังกล่าว อย่าเพิ่งนำไปลบกับตัวเลขคาดการณ์จีดีพีปี 2564 ที่ก่อนหน้านี้ ธปท. ได้คาดการณ์ว่าทั้งปีจะขยายตัวที่ 1.8% เพราะตัวเลข 0.8-2% นั้น เป็นผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หายไป แต่หากมีมาตรการการเงินการคลังออกมาดูแล และตัวแปรอื่นๆ เช่น การส่งออก และการลงทุน เข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจไว้ จะทำให้ผลกระทบทางเศรษฐกิจลดลงกว่าคาดเอาไว้ได้
“กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หายไปจากมาตรการควบคุมที่ยืดเยื้อ อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้ 2% แต่ยังไม่ได้รวมมาตรการอื่นๆ ที่ออกมาช่วยไม่ให้มันลดลงเยอะขนาดนั้นได้” น.ส.ชญาวดี กล่าว
เมื่อถามว่าเศรษฐกิจปี 2564 มีแนวโน้มจะติดลบหรือไม่ น.ส.ชญาวดี ระบุว่า “ถามว่ามีโอกาสไหม มันต้องขึ้นอยู่กับว่าเครื่องยนต์อื่นๆว่าจะเข้ามาทันท่วงทีหรือไม่ โดยมาตรการภาครัฐก็ยังสามารถเร่งเข้ามาได้เช่นเดียวกัน ซึ่งในกรณีที่เป็น lower case นั้น ถ้าเอาไปลบจากจีดีพีที่เราให้ไว้ตั้งแต่เดือน มิ.ย. ตัวเลขคงติดลบไปแล้ว แต่มันยังมีเครื่องยนต์อื่นๆอีก จึงไม่อยากให้นำไปลบตรงๆอย่างนั้น มีความเป็นไปได้ทั้งเส้นสีส้ม สีเขียว และทุกเส้นระหว่างนั้น”
น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า จากเศรษฐกิจไทยที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นและผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีแนวโน้มจะยืดเยื้อออกไป ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งหน้า ธปท.จะทบทวนประมาณการเศรษฐกิจทั้งปี 2564 ใหม่
น.ส.ชญาวดี ระบุว่า ธปท.ประเมินว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปีหน้าอาจช้ากว่าที่คาดมาก และขึ้นอยู่กับการกระจายวัคซีนเป็นสำคัญ ขณะที่การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ในประเทศไทย จะล่าช้าจากคาดการณ์เดิม หรือเลื่อนออกไปจากเดิมที่คาดว่าภูมิคุ้มกันหมู่จะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 1/2565 ออกไป 1-2 ไตรมาส คือ กรณี upper case ภูมิคุ้มกันหมู่จะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 2/2565 และกรณี lower case ภูมิคุ้มกันหมู่จะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 3/2565
นอกจากนี้ ธปท.ยังสำรวจผลกระทบของมาตรการควบคุมที่เข้มงวดต่อภาคธุรกิจต่างๆระหว่างวันที่ 18 มิ.ย.-19 ก.ค.2564 พบว่า ธุรกิจร้านอาหารยอดขายลดลงจากการห้ามรับประทานอาหารในร้าน และห้ามเปิดในห้างสรรพสินค้า ธุรกิจโรงแรม อัตราการเข้าพักเฉลี่ยต่ำกว่า 10% ธุรกิจขนส่งผู้โดยสารต้องปรับลดทั้งเที่ยวรถและเที่ยวบิน ธุรกิจก่อสร้าง มีค่าใช้จ่ายด้านสาธารณะสุขเพิ่มขึ้น และการสั่งปิดแคมป์คนงานทำให้การส่งมอบงานและเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐลดลง
อ่านประกอบ :
ธปท.เล็งหั่นจีดีพีปี 64 เซ่นล็อกดาวน์-เดลต้าระบาดหนัก ห่วง ‘ว่างงาน-หนี้ครัวเรือนสูง’
ธปท.ชี้โควิดกระทบศก.ชัดเจนขึ้น ‘บริโภค-ลงทุนเอกชน’ เดือนพ.ค.หดตัวเป็นเดือนที่ 2
มติเอกฉันท์คงดบ.0.5%! กนง.หั่นเป้าจีดีพีปี 64 เหลือ 1.8%-ปีหน้าโต 3.9%
คาดจีดีพีปีนี้ดีสุดโต 2%! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5%-วัคซีนพระเอกฟื้นเศรษฐกิจ
เซ่นโควิดระลอก 3! ‘ธปท.’ เล็งหั่นจีดีพีโตต่ำ 3%-เผยตัวเลขส่งออกมี.ค.พุ่ง 15.8%
โควิดระลอก 3 เขย่าเศรษฐกิจไทย-กระทบเปิดประเทศ ‘วัคซีนทั่วหน้า’ คือ ทางออก
เปิดรายงานกนง. : เศรษฐกิจไทยเสี่ยงโตต่ำคาด-โควิดซ้ำเติมเหลื่อมล้ำรายได้เลวร้ายลง
กนง.หั่นจีดีพีโตแค่ 3%! เซ่นโควิดรอบสอง-นทท.เหลือ 3 ล้าน คงดบ.นโยบาย 0.5%
ให้กู้ยาว 5 ปี! ครม.ปลดล็อก ‘ซอฟต์โลน’ อุ้มเอสเอ็มอี-เทแสนล.หนุน ‘พักทรัพย์ พักหนี้’
แบงก์ทุนแกร่ง-สภาพคล่องล้น! ธปท.มอง NPL ปี 64 ขยับอีก-ถก'คลัง'ผุด'โกดังเก็บหนี้'
เปิดรายงาน กนง. : แนะรัฐบาล 'ออกแรง' กระตุ้นทางการคลังเพิ่ม
หั่นจีดีพีปี 64! กนง.คาดโตต่ำกว่า 3.2%-มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5%
พร้อมใช้ในจังหวะ ‘เหมาะสม’! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5%-หั่นเป้าจีดีพีปี 64 เหลือโต 3.2%
บาทแข็งเร็วกระทบศก.ฟื้นตัว! กนง.กำชับ 'ธปท.' ทบทวนมาตรการ-มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.5%
จีดีพีไตรมาส 3 ลบ 6.4%! สภาพัฒน์ฯคาดทั้งปีหดตัวร้อยละ 6 จับตา 'โควิดรอบ 2-การเมือง'
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/