ธปท.เผยเศรษฐกิจ พ.ค. ได้รับผลกระทบโควิด-19 ชัดเจนขึ้น ส่งผลให้ ‘การบริโภค-ลงทุนเอกชน’ หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ขณะที่ตลาดแรงงานเปราะบางขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจในภาคบริการลดวันทำงานเหลือไม่ถึงครึ่งของวันทำงานปกติ ชี้หากโควิดยังยืดเยื้อ ต้องทบทวนจีดีพีให้เหมาะสม
.........................
เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือน พ.ค.2564 ว่า เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบชัดเจนมากขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 โดยเครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ขณะที่การส่งออกยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวได้ดี
“การส่งออกที่ยังเติบโตได้ ช่วยพยุงการผลิตภาคอุตสาหกรรมให้ทรงตัวอยู่ได้ ผลผลิตสินค้าเกษตรยังทรงๆเมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่จะพบว่าภาคบริการได้รับผลกระทบและลดลงตามที่คาดไว้ ซึ่งสอดคล้องกับการบริโภคที่ลดลง”น.ส.ชญาวดีกล่าว
น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า ในเดือน มิ.ย. กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ค่อนข้างมาก จากในช่วงปลายเดือน พ.ค.ที่ปรับตัวดีขึ้นจากการที่รัฐบาลลดความเข้มงวดลง ทั้งนี้ ความยืดเยื้อในการระบาดของโควิด-19 จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป และด้วยสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง ธปท.จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
ส่วนมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ในพื้นที่สีแดงเป็นเวลา 30 วัน จะส่งผลกระทบต่อประมาณการการขยายตัวเศรษฐกิจทั้งปี 2564 ของ ธปท. หรือไม่นั้น น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า มาตรการเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งในการแถลงประมาณการเศรษฐกิจไทยของ ธปท. รอบล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ธปท.ยังเห็นถึงความไม่แน่นอนและความเสี่ยงที่มีอยู่ค่อนข้างมาก ดังนั้น คงต้องติดตามว่ามาตรการที่ออกมานั้น ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด
“จริงๆแล้ว เรามองเผื่อไว้บางส่วน ถ้ามันมากขึ้น ยืดเยื้อขึ้น คงต้องมีการดูแลให้ตัวเลขประมาณการเหมาะสมต่อไป” น.ส.ชญาวดีกล่าว
เมื่อถามถึงความกังวลต่อสถานการณ์การว่างงาน น.ส.ชญาวดี ระบุว่า ที่ผ่านมา ธปท.ติดตามสถานการณ์การว่างงานมาโดยตลอด ซึ่งความกังวลมีอยู่แล้ว แต่หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังยืดเยื้อ ก็จะทำให้การว่างงานคาดว่าจะเป็นการว่างงานระยะสั้น ย้ายไปเป็นการว่างงานระยะยาว ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้และกำลังซื้อของแรงงาน และเศรษฐกิจ รวมทั้งจะสร้างแผลเป็นที่แก้ได้ยากขึ้น เพราะแรงงานที่ไม่ได้ทำงานจะสูญเสียทักษะไป
สำหรับรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ค.2564 มีดังนี้
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงต่อเนื่อง โดยเครื่องชี้การบริโภคในเดือน พ.ค.2564 หดตัว -3.1% จากเดือนก่อน และเป็นการหดตัวในทุกหมวดการใช้จ่าย โดยเป็นผลจากการแพร่ระบาดระลอกสามของ COVID-19 ที่ต่อเนื่อง และมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ รายได้ของภาคครัวเรือน และความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลง แม้มาตรการภาครัฐจะช่วยพยุงกำลังซื้อภาคครัวเรือนได้บางส่วน
“เมื่อพิจารณาการใช้จ่ายที่หดตัวลงทุกหมวดนั้น หมวดที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด คือ สินค้าคงทน โดยเฉพาะยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถกระบะ และรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นผลจากรายได้และความเชื่อมั่นที่ลดลง ส่วนสินค้าไม่คงทนลดลงทุกหมวดเช่นกัน แต่การใช้ไฟฟ้ายังไปได้ เพราะคนยังทำงานอยู่ที่บ้าน ขณะที่การบริโภคในหมวดสินค้าบริการทั้งภัตตาคาร โรงแรม และการขนส่งคน ต่างก็ลดลง จากการเดินทางที่ลดลงอย่างมาก” น.ส.ชญาวดีกล่าว
ด้านตลาดแรงงานยังคงเปราะบางอย่างต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดระลอกสาม โดยผู้ประกอบอาชีพอิสระกังวลต่อสถานการณ์รายได้ และจากการสอบถามผู้ประกอบการพบว่า แม้แรงงานในภาคผลิตจะมีรายได้ทรงตัว แต่มีโรงงานในบางพื้นที่ที่พบคนงานติดโควิด-19 ต้องย้ายการผลิตไปยังโรงงานแห่งอื่น ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์นั้น หลายพื้นที่ยังมีปัญหาขาดแคลนแรงานต่างด้าว และเมื่อรัฐบาลมีมาตรการเข้มงวด โดยปิดแคมป์แรงงานขนาดใหญ่ ซึ่งต้องติดตามผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาคการค้าพบว่ารายได้ลดลง มีการสลับทำงานมากขึ้น และเริ่มเห็นการปลดพนักงาน ส่วนภาคบริการนั้น รายได้ลดลงชัดเจน เนื่องจากการลดวันทำงานเหลือไม่ถึงครึ่งของวันทำงานปกติ และรูปแบบการจ้างงานเปลี่ยนไปเป็นแบบพาร์ทไทม์ค่อนข้างมาก ซึ่งสะท้อนตลาดแรงงานที่เปราะบาง และจะส่งกระทบต่อการบริโภคในอนาคต
ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงต่อเนื่องทั้งในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และหมวดก่อสร้าง โดยในเดือนพ.ค.2564 ลดลง -2.3% จากเดือนก่อน ตามอุปสงค์ในประเทศและความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ลดลงจากการแพร่ระบาดระลอกสาม ขณะที่ความเชื่อมั่นธุรกิจ (BSI) ในช่วง 3 เดือนข้างหน้าลดลงต่ำกว่า 50
มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในเดือนพ.ค.2564 การส่งออกขยายตัว 0.4จากเดือนก่อน โดยเฉพาะ 1.หมวดสินค้าเกษตรที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามอุปสงค์จากต่างประเทศ 2.หมวดสินค้าที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และ3.หมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังคงได้รับผลดีจากวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่อยู่ในช่วงขาขึ้น
ทั้งนี้ การส่งออกที่ฟื้นตัวช่วยพยุงให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัวจากเดือนก่อนในช่วงที่อุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ อย่างไรก็ดี เริ่มเห็นผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์ต่อการผลิตและการส่งออกในบางสินค้า โดยเฉพาะอาหารแปรรูป และเครื่องใช้ไฟฟ้า
มูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง สอดคล้องกับการฟื้นตัวของการส่งออก
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนสะท้อนถึงบทบาทในการพยุงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และการเบิกจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรเป็นสำคัญ สำหรับรายจ่ายลงทุนขยายตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านคมนาคมและชลประทาน
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังมีอยู่
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเป็นสำคัญ จากผลของมาตรการลดค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาค่าครองชีพให้กับประชาชน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำในระยะเดียวปีก่อนที่มีมาตรการลดค่าน้ำประปาของภาครัฐ
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากกว่าเดือนก่อนตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอน แม้ดุลการค้าจะเกินดุลเพิ่มขึ้นตามมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ปรับดีขึ้น
ด้านอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ตามเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง อย่างไรก็ดี ในเดือน มิ.ย. เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) มีท่าทีที่ตอบสนองต่ออัตราเงินเฟ้อในสหรัฐมากขึ้น และเงินบาทที่อ่อนค่าเร็วมาจากสถานการณ์ในประเทศไทยเป็นหลัก โดยเฉพาะจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้น และการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่
อ่านประกอบ :
มติเอกฉันท์คงดบ.0.5%! กนง.หั่นเป้าจีดีพีปี 64 เหลือ 1.8%-ปีหน้าโต 3.9%
คาดจีดีพีปีนี้ดีสุดโต 2%! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5%-วัคซีนพระเอกฟื้นเศรษฐกิจ
เซ่นโควิดระลอก 3! ‘ธปท.’ เล็งหั่นจีดีพีโตต่ำ 3%-เผยตัวเลขส่งออกมี.ค.พุ่ง 15.8%
โควิดระลอก 3 เขย่าเศรษฐกิจไทย-กระทบเปิดประเทศ ‘วัคซีนทั่วหน้า’ คือ ทางออก
เปิดรายงานกนง. : เศรษฐกิจไทยเสี่ยงโตต่ำคาด-โควิดซ้ำเติมเหลื่อมล้ำรายได้เลวร้ายลง
กนง.หั่นจีดีพีโตแค่ 3%! เซ่นโควิดรอบสอง-นทท.เหลือ 3 ล้าน คงดบ.นโยบาย 0.5%
ให้กู้ยาว 5 ปี! ครม.ปลดล็อก ‘ซอฟต์โลน’ อุ้มเอสเอ็มอี-เทแสนล.หนุน ‘พักทรัพย์ พักหนี้’
แบงก์ทุนแกร่ง-สภาพคล่องล้น! ธปท.มอง NPL ปี 64 ขยับอีก-ถก'คลัง'ผุด'โกดังเก็บหนี้'
เปิดรายงาน กนง. : แนะรัฐบาล 'ออกแรง' กระตุ้นทางการคลังเพิ่ม
หั่นจีดีพีปี 64! กนง.คาดโตต่ำกว่า 3.2%-มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5%
พร้อมใช้ในจังหวะ ‘เหมาะสม’! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5%-หั่นเป้าจีดีพีปี 64 เหลือโต 3.2%
บาทแข็งเร็วกระทบศก.ฟื้นตัว! กนง.กำชับ 'ธปท.' ทบทวนมาตรการ-มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.5%
จีดีพีไตรมาส 3 ลบ 6.4%! สภาพัฒน์ฯคาดทั้งปีหดตัวร้อยละ 6 จับตา 'โควิดรอบ 2-การเมือง'
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/