กนง.มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% หลังโควิดระลอกที่ 3 ทำเศรษฐกิจชะลอตัว ประเมินการฟื้นตัวเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการความเร็วในการฉีดวัคซีน พร้อมตั้งสมมุติฐานจีดีพีปีนี้โตดีสุดที่ 2% แย่สุดอาจเติบโตแค่ 1%
.......................
เมื่อวันที่ 5 พ.ค. นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี
โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงมากจากการระบาดของ COVID-19 ระลอกที่ 3 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายในประเทศและแนวโน้มการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยว
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าโจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบันคือการจัดหาและการกระจายวัคซีนให้เพียงพอและทันการณ์ ในส่วนของด้านการเงิน มาตรการที่สำคัญคือการกระจายสภาพคล่องไปยังธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่ โดยเฉพาะมาตรการสินเชื่อและการเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะช่วยลดภาระทางการเงินได้อย่างตรงจุดมากกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำและยังสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ และรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดเพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงมากจากการระบาดระลอกที่ 3 ซึ่งกระทบการใช้จ่ายในประเทศและแนวโน้มการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จากการเปิดประเทศที่ช้ากว่าคาดและนโยบายจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน สำหรับแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยมาจากการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า แต่ผลดีต่อการจ้างงานในตลาดแรงงานโดยรวมยังมีจำกัด
ขณะที่มาตรการเยียวยาและมาตรการการเงินเพิ่มเติมของภาครัฐจะมีส่วนสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่แรงกระตุ้นภาครัฐในปีงบประมาณ 2565 อาจลดลงบ้างจากการเร่งเบิกจ่าย พ.ร.ก. กู้เงินในปีงบประมาณปัจจุบัน สำหรับความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ได้แก่
(1) การกระจายและประสิทธิผลของวัคซีนป้องกัน COVID-19 (2) การฟื้นตัวที่แตกต่างกันและไม่ทั่วถึง ทำให้ตลาดแรงงานมีความเปราะบางมากขึ้น และส่งผลต่อรายได้ครัวเรือนและการบริโภคภาคเอกชน และ (3) ฐานะการเงินที่เปราะบางเพิ่มเติม โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งมีความสามารถในการชำระหนี้ลดลงตามรายได้ที่ลดลง ขณะที่ภาคครัวเรือนมีสัดส่วนเงินออมต่อรายได้ลดลงทำให้ความสามารถในการรองรับค่าใช้จ่ายได้ลดลง
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเร่งขึ้นชั่วคราวในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 จากฐานราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ด้านการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมายสภาพคล่องโดยรวมอยู่ในระดับสูงและต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ แต่การกระจายตัวยังไม่ทั่วถึงจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น จึงต้องติดตามให้การขยายตัวของสินเชื่อทั่วถึงมากขึ้นหลังมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูมีผลบังคับใช้
ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของไทยทยอยปรับลดลงจากช่วงก่อนหน้า สำหรับอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวอ่อนค่ากว่าเงินสกุลภูมิภาค คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด และผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง
คณะกรรมการฯ เห็นว่า ความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการระบาดระลอกใหม่ โดยควรเร่งมาตรการจัดหาและกระจายวัคซีนเพื่อควบคุมไม่ให้การระบาดยืดเยื้อ มาตรการการคลังควรรักษาความต่อเนื่องของแรงกระตุ้นทางการคลังและลดผลกระทบของการระบาด รวมทั้งสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะต่อไป
นโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการให้ความช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ที่ออกมาเพิ่มเติมควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุด ลดภาระหนี้ และสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ โดย ธปท. จะติดตามความคืบหน้าและประเมินประสิทธิผลของมาตรการด้านการเงินและสินเชื่ออย่างใกล้ชิด
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ สถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ การกระจายและประสิทธิผลของวัคซีน ความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ออกมาแล้ว โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น
นายทิตนันทิ์ กล่าวว่า แม้ว่าการระบาดโควิด-19 ระลอกที่ 3 จะมีผลกระทบในแง่จีดีพีมากกว่าการระบาดระลอกที่ 2 แต่น้อยกว่าระลอกแรก แต่จะพบว่าขณะนี้สายป่านของครัวเรือนและธุรกิจเอสเอ็มอี ทั้งสภาพคล่องและเงินเก็บมีจำกัดแล้ว เพราะถูกกระทบมานาน ขณะที่ตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น สะท้อนจากผู้ว่างงานระยะยาวที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ดี เช่นเดียวกับผู้ที่ไม่เคยทำงานที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และในระยะต่อไปจะมีนักศึกษาจบใหม่เข้ามาเพิ่มอีก
ขณะที่ในการประชุม กนง. ครั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับเรื่องวัคซีนกันมาก เพราะวัคซีนถือเป็นพระเอกและเป็นหัวใจการฟื้นเศรษฐกิจ ซึ่งหากมีการจัดหา กระจาย และฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้เร็วจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ 3-5.7% ในช่วงปี 2564-65 แต่หากการจัดหา การกระจาย และการฉีดวัคซีนทำได้ล่าช้าไปจากปี 2564 และไม่เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ภายในไตรมาส 1/65 จะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจ 4.6-8.9 แสนล้านบาทในช่วงปี 2564-65
“ถ้าเราสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นมาได้เร็ว การจัดการเศรษฐกิจจะเปลี่ยนจากวุ่นวายในระยะสั้น มาเป็นการดูแลเรื่องการฟื้นฟูได้ โดยเฉพาะถ้าเราจัดหาและฉีดวัคซีนได้เร็ว จะสามารถช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ถึง 3-5.7% ในช่วงปี 2564-65” นายทิตนันทิ์กล่าว
ทั้งนี้ ธปท.จัดทำสมมติฐานเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและการฉีดวัคซีนเป็น 3 กรณี ได้แก่ กรณีที่ 1 ฉีดวัคซีนเร็ว โดยฉีดวัคซีน 100 ล้านโดสในปี 2564 และเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ไตรมาส 1/2565 จะทำให้เศรษฐกิจปี 2564 ขยายตัว 2% และปี 2565 ขยายตัว 4.7% ,กรณีที่ 2 ฉีดวัคซีนได้ 64.6 ล้านโดสในปี 2564 และเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ไตรมาส 3/65 เศรษฐกิจปี 2564 จะขยายตัว 1.5% และปี 2565 ขยายตัว 2.8%
และกรณีที่ 3 ฉีดวัคซีนน้อยกว่า 64.5 ล้านโดสและเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ไตรมาส 4/65 เศรษฐกิจปี 2564 จะขยายตัว 1% และปี 2565 ขยายตัว 1.1%
อย่างไรก็ตาม ธปท.ยังไม่ได้ทบทวนประมาณการจีดีพีในการประชุม กนง.ครั้งนี้ เพราะมีการทบทวนตัวเลขไปแล้วเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากโควิด-19 ระลอกนี้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ จึงจะมีการให้ข้อมูลแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะต่อไป และขณะนี้ธปท.อยู่ระหว่างประเมินว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐล่าสุดจะมีผลต่อเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง แต่ทั้งนี้จะต้องติดตามการฟื้นตัวของตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นสำคัญ
นายทิตนันทิ์ ปฏิเสธให้ความเห็นกรณีที่เจเน็ต เยลเลน รมว.คลังสหรัฐ ส่งสัญญาณว่าสหรัฐอาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม นายทิตนันทิ์ ระบุว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีการสื่อสารเรื่องอัตราดอกเบี้ยอย่างระมัดระวัง เพราะเคยมีบทเรียนมาแล้ว และเชื่อว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป
อ่านประกอบ :
เซ่นโควิดระลอก 3! ‘ธปท.’ เล็งหั่นจีดีพีโตต่ำ 3%-เผยตัวเลขส่งออกมี.ค.พุ่ง 15.8%
โควิดระลอก 3 เขย่าเศรษฐกิจไทย-กระทบเปิดประเทศ ‘วัคซีนทั่วหน้า’ คือ ทางออก
เปิดรายงานกนง. : เศรษฐกิจไทยเสี่ยงโตต่ำคาด-โควิดซ้ำเติมเหลื่อมล้ำรายได้เลวร้ายลง
กนง.หั่นจีดีพีโตแค่ 3%! เซ่นโควิดรอบสอง-นทท.เหลือ 3 ล้าน คงดบ.นโยบาย 0.5%
ให้กู้ยาว 5 ปี! ครม.ปลดล็อก ‘ซอฟต์โลน’ อุ้มเอสเอ็มอี-เทแสนล.หนุน ‘พักทรัพย์ พักหนี้’
แบงก์ทุนแกร่ง-สภาพคล่องล้น! ธปท.มอง NPL ปี 64 ขยับอีก-ถก'คลัง'ผุด'โกดังเก็บหนี้'
เปิดรายงาน กนง. : แนะรัฐบาล 'ออกแรง' กระตุ้นทางการคลังเพิ่ม
หั่นจีดีพีปี 64! กนง.คาดโตต่ำกว่า 3.2%-มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5%
พร้อมใช้ในจังหวะ ‘เหมาะสม’! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5%-หั่นเป้าจีดีพีปี 64 เหลือโต 3.2%
บาทแข็งเร็วกระทบศก.ฟื้นตัว! กนง.กำชับ 'ธปท.' ทบทวนมาตรการ-มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.5%
จีดีพีไตรมาส 3 ลบ 6.4%! สภาพัฒน์ฯคาดทั้งปีหดตัวร้อยละ 6 จับตา 'โควิดรอบ 2-การเมือง'
ไฟเขียวแบงก์ปันผล! ‘ธปท.’ ให้จ่ายได้ไม่เกิน 50% ของกำไร-ต้องไม่มากกว่าปี 62
สร้างกันชน-รักษาภูมิคุ้มกันศก.! 'วิรไท' แจงเหตุขอแบงก์ 'งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล-ซื้อหุ้นคืน'
ช่วยลูกหนี้ระยะสอง! ธปท.ประกาศลดดบ. ‘บัตรเครดิต-พีโลน’ 2-4% พ่วงขยายวงเงินเป็น 2 เท่า
งดจ่ายปันผลระหว่างกาล-ซื้อหุ้นคืน! ธปท.ให้แบงก์ รักษา 'เงินกองทุน' รองรับความเสี่ยง 1-3 ปี
ห่วงธุรกิจไปไม่รอด-เมินปล่อยกู้! 2 สมาคมฯท้วงธปท.ลดเพดานดบ. ‘พีโลน-จำนำทะเบียนรถ’
รับรู้รายได้ ดบ.ปกติ! เผยวิธีบันทึกงบฯ‘สถาบันการเงิน’ช่วงพักชำระหนี้-ทำให้ฐานะอ่อนแอ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/