ธปท.เตรียมทบทวนจีดีพีปี 64 หลัง ‘ล็อกดาวน์’ พื้นที่สีแดงเข้ม-ไวรัสสายพันธุ์เดลต้าระบาดหนัก เผยมีความเสี่ยงจีดีพีขยายตัวต่ำกว่า 1.8% เหตุมาตรการรุนแรงกว่าที่คาด-ผู้ติดเชื้อสูงกว่าที่ประเมิน ห่วงตลาดแรงงานยังเปราะบาง-หนี้สินครัวเรือนสูง
........................
เมื่อวันที่ 12 ก.ค. นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวระหว่างการประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ครั้งที่ 2/2564 ถึงผลกระทบของมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่ควบคุม (พื้นที่สีแดงเข้ม) 10 จังหวัด ที่มีต่อเศรษฐกิจไทย ว่า ธปท.อยู่ระหว่างติดตามว่ามาตรการล็อกดาวน์ที่เพิ่งเริ่มในวันนี้ (12 ก.ค.) ไปจนถึงอีก 14 วัน ว่า จะมีส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างไร
“เราจะดูว่าหลังจากล็อกดาวน์แล้ว จะมีมาตรการเพิ่มเติมอะไรอีกหรือเปล่า ซึ่งก็หวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้นและผ่อนคลายได้ ส่วนการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้านั้น ถือเป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงมากขึ้น และจริงๆแล้ว เราได้มีการพูดคุยกันในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เกี่ยวกับการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าว่า จะทำให้เราควบคุมการระบาดได้ช้าลง และเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ช้าลง นี่เป็นความเสี่ยงที่ได้มีการพูดกัน” นายเมธีกล่าว
ด้าน น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า ในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุม กนง. ประเมินภาพเศรษฐกิจ โดยเพิ่มความเสี่ยงของการระบาดไวรัสสายพันธ์เดลต้าไว้ในประมาณการระดับหนึ่งแล้ว แต่หากการระบาดยังยืดเยื้อ รุนแรง และแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง จะทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงในด้านต่ำเพิ่มขึ้น ขณะที่มาตรการล็อกดาวน์ที่รุนแรงกว่าที่ ธปท.เคยคาดไว้นั้น จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากกว่าที่คาดไว้
“เราคงจะประเมินผลกระทบของมาตรการล็อกดาวน์อย่างใกล้ชิด แต่ตอนนี้ขอดูผลกระทบจริงๆ และมาตรการที่ออกมาด้วย จึงจะประเมินทีเดียว” น.ส.ชญาวดี กล่าว
พร้อมทั้งระบุว่า “เมื่อถามว่าจะมีการ revised up (ปรับเพิ่ม) จีดีพีปี 2564 หรือไม่นั้น ในระยะสั้นที่เรามอง ความเสี่ยงส่วนใหญ่จะเป็นความเสี่ยงที่เบ้ไปทางด้านต่ำทั้งสิ้น จากจีดีพีที่คาดว่าจะอยู่ที่ 1.8% แต่ทั้งนี้ เราคงต้องดู 2 ส่วน คือ ปัจจัยลบ เช่น ความยืดเยื้อของการระบาด และปัจจัยบวก เช่น มาตรการเพิ่มเติมมากกว่าที่คาด แต่ ณ วันนี้ ความเสี่ยงของจีดีพียังเป็นในด้านต่ำ ดังนั้น ในแง่ของการ revised up จะมีไม่เยอะเท่าไหร่”
เมื่อถามว่า ธปท.ประเมินจีดีพีปีนี้ว่าจะเลวร้ายที่สุดเท่าไหร่ และจีดีพีปี 2564 จะติดลบหรือไม่ น.ส.ชญาวดี ย้ำว่า กนง. และ ธปท. ได้ประมาณการจีดีพีปี 2564 ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่ประมาณการดังกล่าว ไม่ได้ประเมินว่าไวรัสสายพันธุ์เดลต้าจะรุนแรงเท่าวันนี้ รวมทั้งสถานการณ์และจำนวนผู้ติดเชื้อที่ประมาณการไว้ก็ไม่ได้สูงเท่าวันนี้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นไปได้ที่จีดีพีปี 2564 อาจไม่ขยายตัวตามกรณีฐาน หรือขยายตัวที่ 1.8% นั้น เป็นไปได้ค่อนข้างสูง
น.ส.ชญาวดี ยังกล่าวว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงหลายเรื่อง เช่น สถานะการเงินของครัวเรือน ซึ่งพบว่าหนี้สินครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะสั้นและมีอัตราดอกเบี้ยสูง ขณะที่รายได้ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพอิสระ และตลาดแรงงานที่เปราะบาง โดยการฟื้นตัวของตลาดแรงงานมีแนวโน้มช้ากว่าในอดีตและคาดว่าการฟื้นตัวจะมีลักษณะเป็น W-shaped รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจาก supply disruption ที่อาจยืดเยื้อกว่าที่คาดไว้
นอกจากนี้ ธปท.จะติดตามเม็ดเงินของรัฐจากการดำเนินมาตรการทางการคลัง และแผนการเปิดประเทศเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติว่าจะเป็นไปตามแผนหรือไม่ ซึ่งที่ประชุม กนง. มอบหมายให้ ธปท.ติดตามประเด็นต่างๆและรายงานผลอย่างใกล้ชิด
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า ณ วันที่ 5 ก.ค.2564 ธปท.อนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูไปแล้ว 66,898 ล้านบาท จำนวนผู้ได้รับอนุมัติ 21,929 ราย วงเงินอนุมัติเฉลี่ย 3.1 ล้านบาท/ราย ซึ่งถือว่ายอดอนุมัติเป็นไปค่อนข้างดี และจะอนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูได้ตามเป้า 1 แสนล้านบาท ภายใน 6 เดือนหรือภายในเดือน ต.ค.2564 ขณะที่ยอดยื่นขอสินเชื่อฟื้นฟูยังทยอยเข้ามาต่อเนื่อง
ส่วนโครงการพักทรัพย์พักหนี้นั้น เนื่องจากเป็นกลไกใหม่และต้องใช้เวลาในการเจรจาระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ ทำให้ยอดอนุมัติวงเงินในโครงการฯอยู่ที่ประมาณ 900 ล้านบาท และมีผู้ได้รับอนุมัติ 12 ราย อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินส่งรายชื่อลูกค้าที่แสดงความจำนงขอเข้าร่วมโครงการพักทรัพย์ฯเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากกฎหมายยกเว้นค่าโอนและค่าจดจำนองมีผลบังคับใช้ คาดว่าจะมีการอนุมัติวงเงินในโครงการพักทรัพย์ฯกว่า 1 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ได้สอบถาม ธปท. กรณีที่รัฐบาลขอให้ ธปท. พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล รวมถึงสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันอื่นๆ โดยนายสักกะภพ ตอบว่า ยังไม่ขอตอบในเวทีนี้ เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการหารือ
วันเดียวกัน ธปท. เผยแพร่ผลการประชุมร่วมกันระหว่าง กนง. และ กนส. วันที่ 7 ก.ค.2564 เพื่อติดตามและประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทย โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
ที่ประชุมเห็นว่าระบบการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจประกันภัยมีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง ขณะที่ตลาดการเงินมีเสถียรภาพและสามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ โดยการทดสอบภาวะวิกฤตระดับมหภาค (macro stress test) ที่หน่วยงานกำกับดูแลจัดทำ พบว่า ธพ. บริษัทหลักทรัพย์ กองทุนรวม และบริษัทประกันภัย มีสภาพคล่องเพียงพอและมีฐานะทางการเงินที่สามารถรองรับภาวะวิกฤตได้
อย่างไรก็ดี สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากการกลายพันธุ์ของไวรัส อีกทั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ช้าลงและไม่ทั่วถึงส่งผลให้ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีความเปราะบางเพิ่มขึ้นมาก ประกอบกับภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงอยู่เดิมทำให้ครัวเรือนกลุ่มที่มีรายได้น้อยยิ่งมีความเปราะบาง
"แม้ที่ผ่านมาทางการได้มีมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาภาระทางการเงินแก่ภาคครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง (เช่น มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 1-3) แต่ยังไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องเตรียมมาตรการเพื่อดูแลความเสี่ยงดังกล่าวเพิ่มเติมอย่างตรงจุดและทันการณ์ ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและไม่ให้เกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (economic scar) ที่รุนแรงจนเป็นข้อจำกัดต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาวและส่งผ่านความเสี่ยงไปยังระบบการเงินได้" ธปท.ระบุ
ประชุมยังได้ประเมินสถานการณ์อย่างรอบด้านและให้น้ำหนักกับการดูแลความเสี่ยงใน 2 ประเด็นหลัก ดังนี้
1.ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 90.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ(GDP) และวิกฤตโควิด-19 ได้ทำให้ครัวเรือนจำนวนมากมีปัญหาในการชำระหนี้ ซึ่งจะเป็นปัญหามากยิ่งขึ้น ในช่วงวัฏจักรขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยหรือเศรษฐกิจเผชิญความผันผวนสูง แม้ที่ผ่านมา ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีมาตรการช่วยเหลือและเข้าไปดูแลปัญหาดังกล่าวอย่างใกล้ชิด แต่การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น
ดังนั้น มาตรการเร่งด่วน คือ การเร่งผลักดันและกำหนดกลไกเพื่อจูงใจให้สถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้รายย่อยที่มีภาระหนี้สูงอย่างจริงจัง โดยมีการติดตามความคืบหน้าและประสิทธิผลของการช่วยเหลือลูกหนี้อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ดี จากการประเมินเบื้องต้น ขนาดของความช่วยเหลือที่ภาคครัวเรือนต้องการอาจสูงเกินกว่าที่จะให้เป็นภาระของสถาบันการเงินเพียงฝ่ายเดียว จึงจำเป็นต้องพิจารณาบทบาทของภาครัฐและตลาดทุนประกอบไปด้วย
นอกจากนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือนมีความซับซ้อนในการแก้ไข เนื่องจากต้องคำนึงถึงความเสี่ยงต่อการเกิด moral hazard และเกือบ 1 ใน 4 ของตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่ ธปท. เผยแพร่เป็นหนี้ของสถาบันการเงินที่อยู่นอกการกำกับดูแลของ ธปท. และตัวเลขนี้ยังไม่ได้นับรวมหนี้บางชนิด เช่น หนี้นอกระบบ การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนจึงจำเป็นต้องทำแบบองค์รวม อีกทั้งควรเร่งฟื้นฟูรายได้ของครัวเรือนอย่างยั่งยืนควบคู่ไป เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างครบวงจร
สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนในระยะยาวนั้น ต้องมีการเตรียมการทั้งในเรื่อง (1) โครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลเครดิตที่ครอบคลุมภาระหนี้ทั้งหมดของครัวเรือน (2) การผลักดันให้เจ้าหนี้ให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible lending) (3) การส่งเสริมให้ลูกหนี้มีความเข้าใจและมีวินัยทางการเงิน และ (4) การส่งเสริมให้มีผู้ให้บริการทางการเงินทางเลือกเพื่อช่วยลดหนี้นอกระบบ
2.การสะสมความเสี่ยงในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยทรงตัวอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน ซึ่งอาจส่งผลต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยในระยะข้างหน้า เช่น พฤติกรรมของนักลงทุนบางกลุ่มที่แสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นโดยประเมินความเสี่ยงของการลงทุนต่ำกว่าที่ควร (search for yield behavior) ซึ่งอาจได้รับผลกระทบเมื่อมีการปรับขึ้นของวัฏจักรอัตราดอกเบี้ย
จึงจำเป็นต้องพิจารณากรอบและแนวทางในการดำเนินมาตรการดูแลเสถียรภาพระดับมหภาค (Macro-prudential) ให้พร้อมใช้ในกรณีที่จำเป็นหลังเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง โดยบูรณาการร่วมกันระหว่าง ธปท. และหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เพื่อช่วยลดการสะสมความเสี่ยงและป้องกันการส่งผ่านความเสี่ยงจากภาคส่วนหนึ่งไปยังภาคส่วนอื่น ๆ ในระบบเศรษฐกิจการเงิน
ทั้งนี้ ในภาวะที่สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจการเงินยังมีความไม่แน่นอน หน่วยงานกำกับดูแลทั้ง ธปท. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยจะร่วมกันประเมินความเสี่ยงต่าง ๆ ติดตามความเพียงพอและประสิทธิผลของมาตรการที่ดำเนินการไปแล้วอย่างใกล้ชิด และผลักดันให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
รวมทั้งเตรียมพร้อมออกมาตรการอื่น ๆ เพิ่มเติมหากจำเป็น เพื่อจำกัดผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยและสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยจะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและปรับแนวทางการกำกับดูแลร่วมกันให้สอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป
อ่านประกอบ :
ธปท.ชี้โควิดกระทบศก.ชัดเจนขึ้น ‘บริโภค-ลงทุนเอกชน’ เดือนพ.ค.หดตัวเป็นเดือนที่ 2
มติเอกฉันท์คงดบ.0.5%! กนง.หั่นเป้าจีดีพีปี 64 เหลือ 1.8%-ปีหน้าโต 3.9%
คาดจีดีพีปีนี้ดีสุดโต 2%! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5%-วัคซีนพระเอกฟื้นเศรษฐกิจ
เซ่นโควิดระลอก 3! ‘ธปท.’ เล็งหั่นจีดีพีโตต่ำ 3%-เผยตัวเลขส่งออกมี.ค.พุ่ง 15.8%
โควิดระลอก 3 เขย่าเศรษฐกิจไทย-กระทบเปิดประเทศ ‘วัคซีนทั่วหน้า’ คือ ทางออก
เปิดรายงานกนง. : เศรษฐกิจไทยเสี่ยงโตต่ำคาด-โควิดซ้ำเติมเหลื่อมล้ำรายได้เลวร้ายลง
กนง.หั่นจีดีพีโตแค่ 3%! เซ่นโควิดรอบสอง-นทท.เหลือ 3 ล้าน คงดบ.นโยบาย 0.5%
ให้กู้ยาว 5 ปี! ครม.ปลดล็อก ‘ซอฟต์โลน’ อุ้มเอสเอ็มอี-เทแสนล.หนุน ‘พักทรัพย์ พักหนี้’
แบงก์ทุนแกร่ง-สภาพคล่องล้น! ธปท.มอง NPL ปี 64 ขยับอีก-ถก'คลัง'ผุด'โกดังเก็บหนี้'
เปิดรายงาน กนง. : แนะรัฐบาล 'ออกแรง' กระตุ้นทางการคลังเพิ่ม
หั่นจีดีพีปี 64! กนง.คาดโตต่ำกว่า 3.2%-มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5%
พร้อมใช้ในจังหวะ ‘เหมาะสม’! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5%-หั่นเป้าจีดีพีปี 64 เหลือโต 3.2%
บาทแข็งเร็วกระทบศก.ฟื้นตัว! กนง.กำชับ 'ธปท.' ทบทวนมาตรการ-มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.5%
จีดีพีไตรมาส 3 ลบ 6.4%! สภาพัฒน์ฯคาดทั้งปีหดตัวร้อยละ 6 จับตา 'โควิดรอบ 2-การเมือง'
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/