“…ทุกคนบอกว่าทางออกที่ดีที่สุด คือ การฉีดวัคซีนทั่วหน้า ฉะนั้น อยากเรียกร้องรัฐบาลให้เร่งนำเข้าวัคซีนให้มากที่สุด ซึ่งเราเองอยากให้กำลังใจรัฐบาลให้รีบนำวัคซีนเข้ามา เพราะถ้ามีวัคซีนมีทั่วหน้าในประเทศนี้ ทุกอย่างก็จบ วัคซีนเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ และหวังว่าการระบาดรอบ 3 รัฐบาลน่าจะทำได้ดีเช่นเดียวกับรอบที่ 1 และ 2…”
.....................
ทำสถิติสูงสุดใหม่เป็นรายวัน !
เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกที่ 3 ยังเพิ่มขึ้นไม่หยุด โดยเมื่อวันที่ 18 เม.ย. มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,767 ราย และเป็นวันที่ 4 แล้ว ที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เกิน 1,500 ราย/วัน ขณะที่ผู้ที่ได้รับวัคซีนสะสมมีเพียง 6.08 แสนคน หรือไม่ถึง 1% ของประชากร (อ่านประกอบ : ป่วยใหม่ 1,767 รวมสะสม 42,352 เสียชีวิตเพิ่ม 2 เป็นผู้สูงอายุ-มีโรคประจำตัว)
แม้ว่าการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 รัฐบาลไม่ได้ประกาศมาตรการปิดเมือง (ล็อกดาวน์) และควบคุมเวลาออกนอกเคหะสถาน (เคอร์ฟิว) แต่ด้วยมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่ ‘เข้มข้น’ ขึ้น เมื่อเทียบกับการระบาดโควิดระลอก 2 ในช่วงครึ่งหลังของเดือนธ.ค.2563 ประกอบกับตัวเลขผู้ติดเชื้อระลอกที่ 3 ที่ยังทะยานขึ้นต่อเนื่อง
@ คาดครึ่งปีแรกรายได้ท่องเที่ยวในปท.หาย 1.3 แสนล.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การกลับมาระบาดของโควิด-19 ในประเทศเป็นระลอกที่ 3 และพบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนมากกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯและอีกหลายจังหวัด อีกทั้งการควบคุมการระบาดรอบนี้น่าจะใช้เวลานานกว่ารอบก่อนหน้า จึงคาดว่ารายได้ของภาคท่องเที่ยวจะหายไป 1.3 แสนล้านบาท ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564
“การควบคุมการระบาดระลอก 3 ที่น่าจะใช้เวลานานกว่ารอบก่อน เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อสูงและการแพร่เชื้อที่เร็ว ซึ่งกระทบต่อแผนการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยในช่วงไตรมาส 2 ทำให้ ศูนย์ฯมองว่า การระบาดของโควิดทั้ง 2 ครั้ง จะส่งผลให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 รายได้ของภาคท่องเที่ยวหายไป 1.3 แสนล้านบาท” ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า “สิ่งสำคัญในช่วงเวลานี้ คือ การสร้างความเชื่อมั่นของภาครัฐ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องวัคซีน และทุกภาคส่วนคงจะต้องกลับมาร่วมมือกันในการควบคุมการระบาดของโรคให้จบในเร็ววัน”
@‘ธปท.’ เกาะติดผลกระทบการระบาดโควิดระลอกที่ 3
ขณะที่เมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2564 จาก 3.2% เหลือ 3% เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของโควิดระลอกที่ 2 และนโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวของไทยและประเทศต้นทางที่ล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ จึงต้องปรับลดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลงเหลือ 3 ล้านคน จากเดิม 5 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม ธปท.ยังไม่ได้ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการะบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อที่มากกว่าระลอกที่ 2 โดยขอติดตามพัฒนาการของการระบาดระลอกที่ 3 ก่อน
“การระบาดระลอกนี้ (ระลอกที่ 3) ยังไม่ได้ถูกนำไปรวมกับประมาณการเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา” ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวในการประชุมนักวิเคราะห์เมื่อวันที่ 9 เม.ย. พร้อมระบุว่า “คงต้องรอดูพัฒนาการของการระบาดครั้งนี้ โดยเราต้องดูมาตรการและการปรับตัวของประชาชน ซึ่งเราจะติดตามอย่างใกล้ชิด”
@ประเมินโควิดฉุดจีดีพีไตรมาส 1/64 ติดลบ
ชญาวดี ยังกล่าวว่า “จริงๆแล้วไตรมาสที่ 1 ปีที่แล้ว เรายังไม่ได้รับผลกระทบจากโควิดเลย ดังนั้น ไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ เราจะได้รับผลกระทบจากโควิดระลอกใหม่ ซึ่งในแง่การเติบโตปีต่อปี (YoY) น่าจะติดลบ รวมทั้งไตรมาสต่อไตรมาส (QoQ) เราก็โดนผลกระทบจากการระบาดของโควิดระลอกใหม่เช่นกัน ทั้ง YoY และ QoQ เราน่าจะติดลบทั้งคู่”
ชญาวดี ย้ำว่า เศรษฐกิจไทยปี 64 ยังมีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง เพราะแม้ว่าการส่งออกไทยจะได้รับผลดีจากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ขยายตัวดีกว่าที่คาด และเศรษฐกิจโลกปีนี้น่าจะขยายตัวได้ 5.5% จากเดิมที่คาดจะขยายตัว 4.8% แต่การระบาดของโควิด-19 ที่สามารถกลับมาเมื่อไหร่ก็ได้ ยังคงเป็นความเสี่ยงที่สำคัญ
“มองไปข้างหน้าความไม่แน่นอนมีอยู่ค่อนข้างมาก และความเสี่ยงสำคัญจะเป็นเรื่องการระบาดของโควิดที่จะกลับมาเมื่อไหร่ก็ได้” ชญาวดีกล่าว และว่า “มาตรการภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมทั้งต้องการประสานมาตรการคลัง มาตรการเงิน และนโยบายการเงินเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจไทย”
@ เลวร้ายสุด ‘โควิดกลายพันธุ์-วัคซีนไม่ได้ผล’
นอกจากนี้ ธปท.ได้จำลองสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และผลกระทบต่อการเปิดประเทศใน 2 กรณี ได้แก่ ‘กรณีเลวร้าย’ และ ‘กรณีเลวร้ายที่สุด’
โดยกรณีเลวร้าย (สถานการณ์สีส้ม) เป็นไปได้ว่าในระยะครึ่งหลังของปี 2564 โควิดอาจกลับมาระบาดอีกครั้ง และทำให้การเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต้องเลื่อนออกไปเป็นปี 2565 ซึ่งส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ
ส่วนกรณีเลวร้ายที่สุด (สถานการณ์สีแดง) สมมุติว่าไวรัสมีการกลายพันธุ์ จนทำให้วัคซีนที่มีอยู่ไม่สามารถดูแลได้ ต้องไปคิดค้นวัคซีนกันใหม่ และการเปิดประเทศต้องเลื่อนไปเป็นปี 2566 จะทำให้เศรษฐกิจปรับลดลงค่อนข้างรุนแรง และผลกระทบจะใกล้เคียงกับการระบาดระลอกแรก
(ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. ประเมินภาพเศรษฐกิจจากความไม่แน่นอนของโควิด ในการประชุมนักวิเคราะห์เมื่อวันที่ 9 เม.ย.2564)
@ภัทรฯเล็งหั่นเป้าจีดีพีปีนี้โตต่ำกว่า 2.7%
ด้าน พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า การระบาดของโควิดรอบนี้ค่อนข้างน่ากังวล เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเร็ว เพียง 2 สัปดาห์ผู้ติดเชื้อกระจายไปทุกจังหวัด และมีคลัสเตอร์ใหม่ๆเต็มไปหมด
“เราไม่เคยเจอปัญหาขนาดใหญ่อย่างนี้ เราเจอ Wave ใหญ่ๆมา 2 เวฟ แต่ครั้งนี้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันและผู้ป่วยสะสมที่กำลังรักษาตัวอยู่สูงกว่า 2 รอบที่แล้วค่อนข้างเยอะ…และน่าจะใช้เวลานานในการควบคุม แต่ทั้งนี้ เราคงต้องดูว่าจำนวนผู้ติดเชื้อหลังสงกรานต์จะเร่งขึ้นแค่ไหน จากตอนนี้ที่นิ่งๆ 1,500 คนต่อวัน” พิพัฒน์กล่าว
พิพัฒน์ ระบุว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดระลอกที่ 3 ทำให้ ภัทรฯ จะต้องปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของจีดีพีในปีนี้เป็นต่ำกว่า 2.7% เพราะคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะไม่ถึง 1 ล้านคน ขณะที่การบริโภคในประเทศจะได้รับผลกระทบจากโควิดรอบใหม่เช่นกัน เนื่องจากคนหลีกเลี่ยงการเดินทาง
“ถ้ายังมีการระบาดในประเทศไปเรื่อยๆ เราไม่รู้ว่าครึ่งปีหลัง เราจะเปิดประเทศกันอย่างไร และเรื่องวัคซีนเองก็ล่าช้าค่อนข้างมาก” พิพัฒน์ ย้ำ
อย่างไรก็ตาม การส่งออกจะเป็นพระเอกที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในปีนี้ เพราะตัวเลขเศรษฐกิจของต่างประเทศดีมาก โดยเฉพาะสหรัฐและจีน จึงอยู่ที่ว่าการส่งออกของเราจะขยายตัวไปพร้อมกับเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้หรือไม่ และต้องควบคุมการระบาดของโควิด ไม่ให้แพร่กระจายไปจนกระทบภาคการผลิตหรือถึงขั้นต้องปิดโรงงาน
(พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย)
@ต้นทุนวัคซีนน้อยกว่าต้นทุนเศรษฐกิจที่เสียหาย
พิพัฒน์ เสนอว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญมี 4 ประเด็น ได้แก่ 1.จัดสรรทรัพยากรไปในทางการแพทย์ให้ได้มากที่สุด ทั้งการตรวจหาเชื้อ การรักษาผู้ป่วย และการตั้งโรงพยาบาลสนาม ซึ่งรัฐบาลต้องจัดหาอุปกรณ์และบุคลากรทางการแพทย์ให้เพียงพอ เพราะขณะนี้ต้องถือว่าระบบสาธารณสุขของไทยกำลังถูกทดสอบครั้งสำคัญ
2.การระบาดระลอกที่ 3 ทำให้มีผู้ได้ความเดือดร้อนและจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ ดังนั้น เงินกู้จากพ.ร.ก.กู้เงินฯที่ยังเหลืออยู่จำเป็นต้องนำไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ 3. การกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลแทบไม่ได้ทำเลย และจะเห็นได้ว่าเงินกู้จากพ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการแจกเงิน
“รัฐบาลกังวล ไม่กล้ากู้เยอะ กลัวหนี้จะระเบิด แต่จะพบว่าเงินเกือบ 1 ล้านล้านบาท สุดท้ายเป็นการแจกเงินทั้งหมด เลยไม่มีการลงทุน ไปสร้างงาน เรานั่งรอวิกฤติ แต่ไม่มีอะไรเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเลย และถ้ามีความเป็นรัฐบาลอาจกู้เพิ่มได้ แต่สิ่งที่จะเอาไปใช้นั้น จะจัดลำดับความสำคัญว่าจะเอาเงินไปใช้อย่างไร” พิพัฒน์ย้ำ
4.เมื่อธุรกิจหยุดชะงัก กระแสเงินสดหยุดชะงัก ความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ของภาครัวเรือนและเอสเอ็มอีจะกลับมามีประเด็นอีก ซึ่งที่ผ่านมาเราให้แบงก์เข้ามาช่วยปรับโครงสร้างหนี้ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วก็จะถึงจุดจำกัดที่แบงก์จะรับได้ รัฐบาลจึงต้องเข้ามาช่วยคิดว่า หากปัญหายาวนานขึ้น ใครจะมารับภาระตรงนี้
ส่วนประเด็นเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องเร่งทำนั้น พิพัฒน์ เห็นว่า มี 2 ประเด็น คือ 1.การสื่อสารและสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณะในการควบคุมการระบาดระลอกนี้ให้ได้
2.การเร่งรัดจัดหาวัคซีนให้ได้โดยเร็ว เพราะแม้ว่ารัฐบาลจะควบคุมการระบาดรอบนี้ได้ แต่ก็จะมีการระบอกระลอก 4 และ 5 ตามมาอีก ยิ่งได้วัคซีนมาล่าช้าความเสียหายก็จะมากขึ้นตาม
“ทางออกทางเดียว คือ ต้องไปหาวัคซีนมาให้ได้ เพราะต้นทุนของวัคซีนน้อยกว่าต้นทุนเศรษฐกิจที่จะเสียหายไป” พิพัฒน์กล่าว
@ภาคท่องเที่ยวหวังรัฐบาลคุมโควิดได้
ส่วน ชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า การระบาดโควิด-19 ระลอกที่ 3 อาจทำให้ต้องกลับประเมินใหม่ว่า ไทยจะเปิดประเทศได้เมื่อไหร่ เพราะหากจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศยังอยู่ที่หลักพันคนอย่างนี้ จะเป็นอุปสรรคในการทำตลาด เพราะนักท่องเที่ยวต่างประเทศเขาก็เช็กข้อมูลของเราเหมือนกัน
“รัฐบาลต้องเอาระลอก 3 ใหม่อยู่ก่อน เมื่อทิศทางลดลงจนกระทั่งเกิดความเชื่อมั่น นักท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมา แต่ก็ไม่ใช่ว่าอยู่ๆจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเลยเหมือนกับเปิดสวิสซ์ไฟฟ้า เพราะจะต้องมีบริษัทนำเที่ยวและโรงแรมเข้าไปช่วยกันทำตลาด เครื่องบินต้องมา รวมทั้งหน่วยงานรัฐต้องสนับสนุนด้วย” ชำนาญกล่าว
ชำนาญ กล่าวด้วยว่า การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในพื้นที่นำร่องที่ภูเก็ต แต่นักท่องเที่ยวยังต้องกักตัว 7 วันนั้น ไม่ได้สร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวภูเก็ตเลย ยกเว้นนักธุรกิจ เพราะนักท่องเที่ยวที่มาไทยส่วนใหญ่จะอยู่ไม่เกิน 1 สัปดาห์ แต่หากเป็นประเทศในอาเซียนจะมาเที่ยวกัน 2-3 วันเท่านั้น
“เราพยายามคุยกับรัฐบาลว่า นักท่องเที่ยวที่เข้ามาไม่กักตัวได้หรือไม่ โดยขอเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.เลย จากเดิม 1 ต.ค.นี้ แต่ทั้งนี้ เราต้องเตรียมความพร้อม เช่น การฉีดวัคซีนจะทำอย่างไร และฉีดได้ภายในกี่วัน จึงทำครอบคลุมชาวภูเก็ต 50-70% และถ้าจะให้ชาวภูเก็ตได้วัคซีนทั่วหน้าก็จะใช้จัดหาวัคซีนมาที่นี่ 1 ล้านโดส” ” ชำนาญระบุ
(ชำนาญ ศรีสวัสดิ์)
@ซอฟต์โลนยังไม่ทั่วถึง-ร้องพักหนี้พักดอกถึงปี 65
ชำนาญ ยังกล่าวว่า นับจากวันที่เชื้อโควิดระบาดเข้ามาในไทยมาจนถึงการระบาดระลอก 3 เป็นเวลากว่า 1 ปีเศษแล้ว ที่ผู้ประกอบการในภาคท่องเที่ยวต่างได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทุนรอนที่เคยมีลดน้อยลงไปมา หลายคนสู้ไม่ต่อไหว ต้องปิดกิจการไป แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการยังคงเรียกร้อง คือ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือ ซอฟต์โลน ยังคงกระจายไม่ทั่วถึง
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการฯได้เรียกร้องให้มีการขยายเวลาพักหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยไปจนถึงปี 2565 พร้อมทั้งช่วยเหลือแรงงานที่ตกงาน โดยทำการอัพสกิลและรีสกิลให้กับแรงงาน โดยที่ภาครัฐสนับสนุนค่าอบรมวันละ 300 บาท ส่วนโครงการ ‘พักทรัพย์ พักหนี้’ ของธปท.นั้น มองว่า ผู้ที่ได้ประโยชน์เป็นธุรกิจรายใหญ่ที่ทีสินทรัพย์มาก ไม่ใช่คนตัวเล็ก
“การที่หลายคนเรียกร้องเรื่องซอฟต์โลนอยู่ แสดงว่ายังไม่ได้ทั่วถึง และแม้ว่ารัฐบาลจะให้เงินมา แต่คนปล่อยกู้ คือ แบงก์พาณิชย์ทั่วไป เมื่อแบงก์จะปล่อย ก็ทำตามกติกาแบงก์ เขาดูที่ความสามารถในการผ่อนหนี้ ทำให้หลายคนไม่ได้ หรือได้น้อยมาก จึงอยากให้มีการตั้งเป็นกองทุนเพื่อฟื้นฟูผู้ประกอบการท่องเที่ยวฯที่คล่องตัวกว่า” ชำนาญกล่าว
@วัคซีนทั่วหน้าทางออกที่ดีที่สุดในการคุมโควิด
ชำนาญ ระบุด้วยว่า “ทุกคนบอกว่าทางออกที่ดีที่สุด คือ การฉีดวัคซีนทั่วหน้า ฉะนั้น อยากเรียกร้องรัฐบาลให้เร่งนำเข้าวัคซีนให้มากที่สุด ซึ่งเราเองอยากให้กำลังใจรัฐบาลให้รีบนำวัคซีนเข้ามา เพราะถ้ามีวัคซีนมีทั่วหน้าในประเทศนี้ ทุกอย่างก็จบ วัคซีนเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ และหวังว่าการระบาดรอบ 3 รัฐบาลน่าจะทำได้ดีเช่นเดียวกับรอบที่ 1 และ 2”
ชำนาญ ทิ้งท้ายว่า หากเป็นไปได้ก็ไม่อยากให้นักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ต่ำกว่า 3 ล้านคน และเชื่อว่าทันทีที่โควิดระลอก 3 เบาบางลง จะทำให้เอกชนที่อยู่ในการท่องเที่ยวมีกำลังใจ เพราะโครงการทัวร์เที่ยวไทย และเราเที่ยวด้วยกัน มีเม็ดเงินเป็นหมื่นล้าน ที่พอจะทำให้ผู้ประกอบการหายใจได้
เหล่านี้เป็นการประเมินภาพเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ท่ามกลางการระบาดของโควิดระลอกที่ 3 และเสียงร้องขอความช่วยเหลือของผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวต่อรัฐบาล หลังต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์โควิดมาแล้วกว่า 1 ปีเศษ
ที่สำคัญทุกคนหวังว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐบาล จะสามารถควบคุมการระบาดของโควิดระลอก 3 ได้โดยเร็ว และเร่งรัดฉีดวัคซีนโควิดให้คนไทยอย่างทั่วหน้า
อ่านประกอบ :
เปิดรายงานกนง. : เศรษฐกิจไทยเสี่ยงโตต่ำคาด-โควิดซ้ำเติมเหลื่อมล้ำรายได้เลวร้ายลง
กนง.หั่นจีดีพีโตแค่ 3%! เซ่นโควิดรอบสอง-นทท.เหลือ 3 ล้าน คงดบ.นโยบาย 0.5%
ให้กู้ยาว 5 ปี! ครม.ปลดล็อก ‘ซอฟต์โลน’ อุ้มเอสเอ็มอี-เทแสนล.หนุน ‘พักทรัพย์ พักหนี้’
แบงก์ทุนแกร่ง-สภาพคล่องล้น! ธปท.มอง NPL ปี 64 ขยับอีก-ถก'คลัง'ผุด'โกดังเก็บหนี้'
เปิดรายงาน กนง. : แนะรัฐบาล 'ออกแรง' กระตุ้นทางการคลังเพิ่ม
หั่นจีดีพีปี 64! กนง.คาดโตต่ำกว่า 3.2%-มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5%
พร้อมใช้ในจังหวะ ‘เหมาะสม’! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5%-หั่นเป้าจีดีพีปี 64 เหลือโต 3.2%
บาทแข็งเร็วกระทบศก.ฟื้นตัว! กนง.กำชับ 'ธปท.' ทบทวนมาตรการ-มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.5%
จีดีพีไตรมาส 3 ลบ 6.4%! สภาพัฒน์ฯคาดทั้งปีหดตัวร้อยละ 6 จับตา 'โควิดรอบ 2-การเมือง'
ไฟเขียวแบงก์ปันผล! ‘ธปท.’ ให้จ่ายได้ไม่เกิน 50% ของกำไร-ต้องไม่มากกว่าปี 62
สร้างกันชน-รักษาภูมิคุ้มกันศก.! 'วิรไท' แจงเหตุขอแบงก์ 'งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล-ซื้อหุ้นคืน'
ช่วยลูกหนี้ระยะสอง! ธปท.ประกาศลดดบ. ‘บัตรเครดิต-พีโลน’ 2-4% พ่วงขยายวงเงินเป็น 2 เท่า
งดจ่ายปันผลระหว่างกาล-ซื้อหุ้นคืน! ธปท.ให้แบงก์ รักษา 'เงินกองทุน' รองรับความเสี่ยง 1-3 ปี
ห่วงธุรกิจไปไม่รอด-เมินปล่อยกู้! 2 สมาคมฯท้วงธปท.ลดเพดานดบ. ‘พีโลน-จำนำทะเบียนรถ’
รับรู้รายได้ ดบ.ปกติ! เผยวิธีบันทึกงบฯ‘สถาบันการเงิน’ช่วงพักชำระหนี้-ทำให้ฐานะอ่อนแอ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/