‘ธปท.’ เผยเศรษฐกิจไทยเดือน มิ.ย. ยังคงได้รับผลกระทบจาก ‘โควิด’ ที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้ ‘การบริโภคเอกชน’ หดตัว ขณะที่สถานการณ์ในหลายธุรกิจ 'แย่ลง' หลังรัฐออกมาตรการ ‘ล็อกดาวน์’ จับตาการแพร่ระบาดในโรงงาน
.......................
เมื่อวันที่ 30 ก.ค. น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือน มิ.ย.2564 และไตรมาสที่ 2 ปี 2564 ว่า เศรษฐกิจไทยยังคงได้รับผลกระทบจากแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ที่ยังยืดเยื้อ ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนปรับลดลงค่อนข้างมาก ในขณะที่การส่งออกและการใช้จ่ายภาครัฐเป็นปัจจัยที่พยุงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะพยุงการผลิตในภาคอุตสาหกรรมได้บางส่วน
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ค.นั้น จากข้อมูลเร็ว (ข้อมูล Google Mobility Data และ facebook Movement range) จะเห็นได้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบทุกหมวดปรับลดลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับเดือนก่อน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับลดลงทุกพื้นที่ ทั้งพื้นที่สีแดงเข้ม (ควบคุมสูงสุด) และพื้นที่อื่นๆ ซึ่งเป็นผลจากมาตรการควบคุมการระบาดเชื้อโควิด-19 ที่กลับมาเข้มงวดขึ้น
ขณะเดียวกัน จากการสำรวจภาคสนามล่าสุด (1-20 ก.ค.2564) สถานการณ์แย่ลงในหลายธุรกิจ โดยในภาคการผลิตนั้น พบว่าตลาดในประเทศได้รับผลกระทบมากขึ้น ส่วนตลาดส่งออกยังขยายตัวได้ แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องการแพร่ระบาดในโรงงานที่มากขึ้น การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และตู้คอนเทนเนอร์
ส่วนภาคการค้า ยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคในห้างสรรพสินค้าลดลง แต่ยอดร้านค้าของขนาดเล็กยังทรงตัวได้จากมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ ขณะที่ยอดขายสินค้าคงทนลดลง ตามกำลังซื้อในประเทศที่อ่อนแอ สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้างได้รับผลกระทบมากขึ้นจากมาตรการปิดแคมป์ก่อสร้างในพื้นที่สีแดงเข้ม และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง จากกำลังซื้อที่อ่อนแอและความระมัดระวังในการให้สินเชื่อ
ขณะที่ภาคบริการนั้น ธุรกิจโรงแรม มีอัตราเข้าพักโดยรวมต่ำมาก ซึ่งเป็นผลจากการขาดความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวและมาตรการควบคุมการเดินทางของแต่ละจังหวัด ธุรกิจร้านอาหาร ยอดขายลดลงต่อเนื่อง จากผลของมาตรการห้ามรับประทานอาหารในร้าน และธุรกิจขนส่งสินค้า พบว่ารายได้ลดลงบ้าง
“ถ้ามองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ค.นั้น จะเห็นค่อนข้างชัดเจนว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะปรับลดลงจากเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้น และมาตรการควบคุมที่เข้มงวดขึ้น ทั้งนี้ นอกจากการติดตามพัฒนาการของการแพร่ระบาดแล้ว ธปท.จะต้องติดตามความเสี่ยงเรื่อง supply disruption ทั้งการแพร่ระบาดในโรงงาน การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ และตู้คอนเทนเนอร์” น.ส.ชญาวดี กล่าว
ส่วนกรณีที่พบการระบาดของโควิด-19 ในโรงงานบางแห่งนั้น น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า แน่นอนว่าจะมีผลกระทบในระยะสั้น แต่ผู้ประกอบการเองมีมาตรการดูแล โดยใช้มาตรการ Bubble and Seal และหากผู้ผลิตที่มีโรงงานที่อื่นๆอยู่ก็เปลี่ยนไปผลิตที่โรงงานนั้น ส่วนการประเมินผลกระทบต่อภาคส่งออกนั้น จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 4 ก.ค.นี้ ซึ่งหลังการประชุมน่าจะมีการแถลงในเรื่องนี้
“เราเห็นว่าผู้ผลิตได้รับผลกระทบ และมีการปรับตัวค่อนข้างเยอะในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเราก็ take เข้ามาแล้ว ส่วนจะมากน้อยแค่ไหน ขอให้รอการประชุม กนง.” น.ส.ชญาวดี กล่าว
น.ส.ชญาวดี ยังกล่าวถึงการบริโภคเอกชนที่แนวโน้มหดตัวลง ว่า การหดตัวของการบริโภค มาจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งทำให้การจับจ่ายใช้สอยทำได้ยากขึ้น แต่ปัจจัยที่สำคัญกว่า คือ รายได้ของคนที่หายไป ซึ่งแม้ว่าภาครัฐจะพยายามชดเชยรายได้ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่ในแง่ปัจจัยอื่นๆที่จะทำให้รายได้ประชาชนกลับมา คงเป็นเรื่องวัคซีน ดังนั้น จึงอยู่ที่ว่าทำอย่างไรให้กลับมาเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้การบริโภคไหลลงลึกไปมากกว่านี้
“ถ้าดูจากแผนการฉีดวัคซีน มันจะค่อยๆมาอยู่แล้ว ซึ่งต้องใช้เวลา แต่ก็ต้องอยู่ที่ภาครัฐว่า จะดูแลให้การกระจายวัคซีนเป็นไปได้รวดเร็ว ทันใจที่สุด ตรงนี้น่าจะมีผลต่อรายได้มากที่สุด ผู้ประกอบการจะได้กลับมา แรงงานที่ถูกเลิกจ้างจะได้กลับมามีงานทำ อันนี้จะยั่งยืนที่สุด ส่วนเรื่องหนี้ครัวเรือนที่กดดันการบริโภคอยู่ อันนี้ต้องพยายามแก้ไขตามมาตรการต่างๆ” น.ส.ชญาวดี ย้ำ
น.ส.ชญาวดี กล่าวถึงค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ว่า ธปท.มีหน้าที่ดูแลความผันผวนของค่าเงินบาท ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และธปท.ติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด และดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ
สำหรับรายละเอียดภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือน มิ.ย.2564 และไตรมาสที่ 2 ปี 2564 มีดังนี้
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับดีขึ้นบ้างจากเดือนก่อน หลังจากภาครัฐทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม อย่างไรก็ดี เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ สอดคล้องกับรายได้และความเชื่อมั่นของครัวเรือนที่อ่อนแอจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19
มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยการฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้าและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่อยู่ในช่วงขาขึ้นส่งผลให้การส่งออกยังเพิ่มขึ้นในหลายหมวด โดยเฉพาะสินค้าเกษตรแปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ การส่งออกเหล็กเร่งขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเปลี่ยนไปเน้นตลาดส่งออกมากขึ้นในช่วงที่ความต้องการในประเทศลดลง
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับดีขึ้นเล็กน้อยตามการส่งออก ขณะที่การลงทุนหมวดก่อสร้างปรับลดลงต่อเนื่องตามอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ รวมทั้งการได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้าง
การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามการผลิตหมวดยานยนต์ ปิโตรเลียม และวัสดุก่อสร้าง สอดคล้องกับอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ โดยปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์ยังคงส่งผลกระทบต่อการผลิตหมวดอาหารแปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์
มูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดเชื้อเพลิงและสินค้าอุปโภคบริโภคสอดคล้องกับอุปสงค์ในประเทศที่ยังอ่อนแอ อย่างไรก็ดี การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางปรับดีขึ้นต่อเนื่องสอดคล้องกับการฟื้นตัวของภาคการส่งออก
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน สะท้อนบทบาทในการพยุงเศรษฐกิจของภาครัฐที่มีต่อเนื่อง โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางขยายตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านคมนาคมเป็นสำคัญ
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังมีอยู่
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลง เนื่องจากผลของฐานต่ำในหมวดราคาพลังงานทยอยหมดไป ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานยังเปราะบาง
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยกว่าเดือนก่อน จากดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลลดลง ประกอบกับดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้นตามทิศทางการส่งออก ด้านอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์ สรอ.อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินคู่ค้าคู่แข่งส่วนใหญ่ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ภายในประเทศที่ยังยืดเยื้อ
ส่วนในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกสามของ COVID-19 ส่งผลให้เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับลดลงจากไตรมาสก่อน แม้มาตรการภาครัฐจะช่วยพยุงกำลังซื้อได้บางส่วน ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังอ่อนแอ เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศยังมีอยู่
อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งช่วยพยุงการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชน สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน สะท้อนถึงบทบาทในการพยุงเศรษฐกิจของภาครัฐ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาเป็นบวกตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเป็นสำคัญ เนื่องจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมทั้งฐานราคาพลังงานที่ต่ำในปีก่อน ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากกว่าไตรมาสก่อน ตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลเพิ่มขึ้น
อ่านประกอบ :
ฉุดจีดีพีร่วง 0.8-2%! ธปท.ประเมินผลกระทบ ‘ล็อกดาวน์’-เศรษฐกิจปีหน้าฟื้นช้ากว่าคาด
ธปท.เล็งหั่นจีดีพีปี 64 เซ่นล็อกดาวน์-เดลต้าระบาดหนัก ห่วง ‘ว่างงาน-หนี้ครัวเรือนสูง’
ธปท.ชี้โควิดกระทบศก.ชัดเจนขึ้น ‘บริโภค-ลงทุนเอกชน’ เดือนพ.ค.หดตัวเป็นเดือนที่ 2
มติเอกฉันท์คงดบ.0.5%! กนง.หั่นเป้าจีดีพีปี 64 เหลือ 1.8%-ปีหน้าโต 3.9%
คาดจีดีพีปีนี้ดีสุดโต 2%! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5%-วัคซีนพระเอกฟื้นเศรษฐกิจ
เซ่นโควิดระลอก 3! ‘ธปท.’ เล็งหั่นจีดีพีโตต่ำ 3%-เผยตัวเลขส่งออกมี.ค.พุ่ง 15.8%
โควิดระลอก 3 เขย่าเศรษฐกิจไทย-กระทบเปิดประเทศ ‘วัคซีนทั่วหน้า’ คือ ทางออก
เปิดรายงานกนง. : เศรษฐกิจไทยเสี่ยงโตต่ำคาด-โควิดซ้ำเติมเหลื่อมล้ำรายได้เลวร้ายลง
กนง.หั่นจีดีพีโตแค่ 3%! เซ่นโควิดรอบสอง-นทท.เหลือ 3 ล้าน คงดบ.นโยบาย 0.5%
ให้กู้ยาว 5 ปี! ครม.ปลดล็อก ‘ซอฟต์โลน’ อุ้มเอสเอ็มอี-เทแสนล.หนุน ‘พักทรัพย์ พักหนี้’
แบงก์ทุนแกร่ง-สภาพคล่องล้น! ธปท.มอง NPL ปี 64 ขยับอีก-ถก'คลัง'ผุด'โกดังเก็บหนี้'
เปิดรายงาน กนง. : แนะรัฐบาล 'ออกแรง' กระตุ้นทางการคลังเพิ่ม
หั่นจีดีพีปี 64! กนง.คาดโตต่ำกว่า 3.2%-มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5%
พร้อมใช้ในจังหวะ ‘เหมาะสม’! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5%-หั่นเป้าจีดีพีปี 64 เหลือโต 3.2%
บาทแข็งเร็วกระทบศก.ฟื้นตัว! กนง.กำชับ 'ธปท.' ทบทวนมาตรการ-มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.5%
จีดีพีไตรมาส 3 ลบ 6.4%! สภาพัฒน์ฯคาดทั้งปีหดตัวร้อยละ 6 จับตา 'โควิดรอบ 2-การเมือง'
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/