เปิดกรุผลสอบสตง.(49) อปท. กาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด สร้างลานกีฬา ไร้มาตรฐาน-ไม่คุ้มค่า
“...ด้านสถานที่ออกกำลังกาย สนามกีฬา และสวนสุขภาพ ลานกีฬาอเนกประสงค์ จำนวน 30 สนาม และสนามฟุตซอล จำนวน 18 สนาม มีความไม่พร้อมในการใช้เล่นกีฬา คือ สภาพสนามชำรุด จำนวน 31 สนาม อุปกรณ์กีฬาชำรุด จำนวน 43 สนาม ห้องเก็บอุปกรณ์ชำรุด จำนวน 10 สนาม ชุดเครื่องเสียงชำรุด จำนวน 5 สนาม ไฟส่องสว่างชำรุด 16 สนาม อุปกรณ์ออกกำลังกายชำรุด ติดตั้งไม่เหมาะสม จำนวน 22 สนาม อุปกรณ์สนามเด็กเล่นชำรุด ติดตั้งไม่เหมาะสม จำนวน 17 สนาม สนามบางแห่งไม่ติดตั้งอุปกรณ์การเล่นกีฬาไว้ในสนามบางแห่งติดตั้งไม่ครบถ้วน ไม่มั่นคง มีการปลูกสร้างอาคารทับพื้นที่ลานกีฬา...”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานตรวจสอบสำคัญของไทย มีหน้าที่ในการป้องกันดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ที่ถูกใช้จ่ายไปอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ที่ผ่านมา สตง.ได้มีการเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบเรื่องการใช้จ่ายเงินที่สำคัญไว้หลายเรื่อง สำนักข่าวอิศรา จึงขอเปิดพื้นที่ตรงนี้ ทุกวันเสาร์ รวบรวมข้อมูลผลการตรวจสอบที่สำคัญมานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบ
ในสัปดาห์ที่ 49 จะเป็นการนำเสนอผลการตรวจสอบดำเนินงานโครงการก่อสร้างลานกีฬา/สนามกีฬา ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดร้อยเอ็ด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2555–2556
@ โครงการก่อสร้างลานกีฬา/สนามกีฬา ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดร้อยเอ็ด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2555–2556
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2555–2556 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 39 แห่ง ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด การก่อสร้างลานกีฬา/สนามกีฬา ภายใต้ยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดกิจกรรมการป้องกันและเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง การรณรงค์ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยการติดตั้งกล้อง CCTV และก่อสร้างลานกีฬา/สนามกีฬา และได้รับจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ กรณีเร่งด่วนกรณีพิเศษ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 ก่อสร้างลานกีฬา/สนามกีฬา รวมจำนวนลานกีฬา/สนามกีฬา 51 สนาม วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 120,921,000.00 บาท
วัตถุประสงค์โครงการ สรุปโดยรวมได้ดังนี้
1. เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด
2. เพื่อส่งเสริมสุขภาพพลานามัยและเสริมสร้างความสามัคคีแก่ประชาชนในชุมชน
3. เพื่อให้มีสถานที่ออกกำลังกายที่ได้มาตรฐานเพียงพอและเหมาะสมแก่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป
4. เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะด้านกีฬาแก่เยาวชน
5. อื่น ๆ เช่น เป็นศูนย์กลางให้ความรู้และพัฒนากีฬาของชุมชน สร้างเยาวชนให้มีความสามารถด้านกีฬาเพื่อการแข่งขันสู่ระดับที่สูงขึ้นและพัฒนาบุคลากรด้านกีฬาแก่ชุมชน เป็นต้น
เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้กำหนดแนวทางการส่งเสริมกีฬาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ มท 0892.2 /ว 803 ลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2550 เรื่อง มาตรฐานการ บริหาร/การบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกำหนดแนวทางการส่งเสริมกีฬาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแบ่งเป็น 5 ด้าน ดังนี้
1. ด้านสถานที่ออกกำลังกาย สนามกีฬา และสวนสุขภาพ
2. ด้านอุปกรณ์กีฬา อาคาร และสถานที่
3. ด้านบุคลากร
4. ด้านการบริหารจัดการ
5. ด้านการจัดกิจกรรม
จากการตรวจสอบเอกสารและสังเกตการณ์ลานกีฬา/สนามกีฬา ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 39 แห่ง จำนวน 51 สนาม ระหว่างวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 ถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2558 พบว่า การดำเนินโครงการไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ลานกีฬา/สนามกีฬาได้รับการส่งเสริมด้านกีฬาไม่ได้ตามมาตรฐานการส่งเสริมกีฬาของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น การใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 ลานกีฬา/สนามกีฬาได้รับการส่งเสริมด้านกีฬาไม่ได้ตามมาตรฐานการส่งเสริมกีฬา
1.1 ด้านสถานที่ออกกำลังกาย สนามกีฬา และสวนสุขภาพ ลานกีฬาอเนกประสงค์ จำนวน 30 สนาม และสนามฟุตซอล จำนวน 18 สนาม มีความไม่พร้อมในการใช้เล่นกีฬา คือ สภาพสนามชำรุด จำนวน 31 สนาม อุปกรณ์กีฬาชำรุด จำนวน 43 สนาม ห้องเก็บอุปกรณ์ชำรุด จำนวน 10 สนาม ชุดเครื่องเสียงชำรุด จำนวน 5 สนาม ไฟส่องสว่างชำรุด 16 สนาม อุปกรณ์ออกกำลังกายชำรุด ติดตั้งไม่เหมาะสม จำนวน 22 สนาม อุปกรณ์สนามเด็กเล่นชำรุด ติดตั้งไม่เหมาะสม จำนวน 17 สนาม สนามบางแห่งไม่ติดตั้งอุปกรณ์การเล่นกีฬาไว้ในสนามบางแห่งติดตั้งไม่ครบถ้วน ไม่มั่นคง มีการปลูกสร้างอาคารทับพื้นที่ลานกีฬา
1.2 ด้านอุปกรณ์กีฬา อาคาร และสถานที่ อุปกรณ์กีฬาชำรุด/ไม่พร้อมใช้ จำนวน 43 สนาม อุปกรณ์ออกกำลังกายชำรุด/ไม่พร้อมใช้ จำนวน 22 สนาม อุปกรณ์เด็กเล่นชำรุด/ไม่พร้อมใช้ จำนวน 17 สนาม ลานกีฬา/สนามกีฬารูปแบบไม่กำหนดชนิดกีฬา จำนวน 3 สนาม ไม่มีอุปกรณ์กีฬา (อุปกรณ์การเล่นกีฬาไม่มีให้ตรวจสอบ จำนวน 6 สนาม อุปกรณ์ออกกำลังกายไม่มีให้ตรวจสอบ จำนวน 1 สนาม อุปกรณ์เด็กเล่นไม่มีให้ตรวจสอบ จำนวน 2 สนาม) การจัดซื้อดำเนินการสำรวจความต้องการของประชาชน จำนวน 20 แห่ง ไม่สำรวจความต้องการ จำนวน 19 แห่ง มีการติดตามผลการใช้ประโยชน์อุปกรณ์กีฬา จำนวน 1 แห่ง ไม่ดำเนินการ ติดตามการใช้ประโยชน์อุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์ออกกำลังกายและอุปกรณ์เด็กเล่น จำนวน 35 แห่ง และไม่มีข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาจัดซื้ออุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์ออกกำลังกายและอุปกรณ์เด็กเล่น ไม่มีการจัดซื้ออุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์ออกกำลังกายและอุปกรณ์เด็กเล่นมาทดแทนอุปกรณ์ที่ชำรุด
1.3 ด้านบุคลากร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 39 แห่ง มีเจ้าหน้าที่ที่มี ความรู้ด้านการส่งเสริมกีฬา จำนวน 9 ราย คิดเป็นร้อยละ 23.08 ไม่มีความรู้ด้านการส่งเสริมกีฬา จำนวน 30 ราย คิดเป็นร้อยละ 76.92
1.4 ด้านการบริหารจัดการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 39 แห่ง จัดทำแผนพัฒนา 3 ปี (พ.ศ. 2555–2558) กำหนดโครงการ/กิจกรรม ด้านการส่งเสริมกีฬา จำนวน 1,090 โครงการ/กิจกรรม วงเงินงบประมาณ 322,500,950.00 บาท โดยมีสัดส่วนการดำเนินการ ด้านการส่งเสริมกีฬาที่ไม่สมดุลหรือไม่ครอบคลุมงานด้านการส่งเสริมกีฬาทั้ง 5 ด้าน กล่าวคือ โครงการการส่งเสริมกีฬาด้านการจัดกิจกรรมได้รับการส่งเสริมมากที่สุด จำนวน 493 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 84.71 ลำดับรองลงมาคือด้านอุปกรณ์กีฬา อาคารและสถานที่ จำนวน 81 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 13.92 ลำดับที่ 3 ด้านสถานที่ออกกำลังกาย สนามกีฬา และสวนสาธารณะ จำนวน 8 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 1.37 ส่วนด้านการบริหารจัดการและด้านบุคลากร ไม่มีการส่งเสริมแต่อย่างใด
1.5 ด้านการจัดกิจกรรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 39 แห่ง จัดโครงการ/กิจกรรมแข่งขันกีฬา จำนวน 493 โครงการ/กิจกรรม งบประมาณดำเนินการเป็นเงิน จำนวน 33,343,308.00 บาท สำหรับกิจกรรมการเล่นหรือออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน ๆ ละ 30 นาที องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 12 แห่ง จัดกิจกรรมประเภทแอโรบิก รำไม้พลอง ฟุตซอล ฟุตบอล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 27 แห่ง ไม่มีการจัดกิจกรรม ประชาชนจัดกลุ่มดำเนินกิจกรรมออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาตามความสมัครใจ บางกลุ่มสม่ำเสมอ บางกลุ่มไม่สม่ำเสมอ
การที่ลานกีฬา/สนามกีฬาไม่มีความพร้อมในการใช้งานเส้นสนามลบเลือน พื้นผิว สนามแตกร้าว อุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์ออกกำลังกาย อุปกรณ์เด็กเล่นชำรุด เป็นจำนวนมาก ไม่ได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่ดี พร้อมใช้ในการเล่นกีฬา ออกกำลังกาย แผนพัฒนาสามปี กำหนดโครงการ/กิจกรรมด้านการส่งเสริมไว้เป็นจำนวนมาก เทศบัญญัติหรือข้อบัญญัติกำหนด โครงการ/กิจกรรมโดยให้ความสำคัญด้านการจัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬา ส่วนการส่งเสริมกีฬาด้าน อุปกรณ์กีฬา ด้านการบริหารจัดการ เพื่อให้การอุดหนุนกิจกรรมกีฬาและการออกกำลังกาย รวมทั้งการบำรุงรักษาลานกีฬา อาคาร สนามกีฬา ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และด้านบุคลากร เพื่อทำหน้าที่ให้คำแนะนำหรือจัดกิจกรรมการเล่นกีฬาและออกกำลังกายเป็นประจำและต่อเนื่อง รวมทั้งติดต่อประสานงานกับองค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อขอรับการสนับสนุนหรือการให้คำแนะนำในการดำเนินงานด้านการเล่นกีฬาและการออกกำลังกาย องค์ปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ให้ความสำคัญ ลานกีฬา/สนามกีฬาจึงไม่ได้รับการปรับปรุงซ่อมแซม ไม่มีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ ความเข้าใจในกิจกรรมการเล่นกีฬาและการออกกำลังกาย เพื่อจัดกิจกรรมให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้เล่นหรือออกกำลังกาย อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ๆ ละ 30 นาที จัดทำตารางกำหนดเวลาการให้บริการและการใช้สนามให้คำแนะนำแก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายในการเล่นกีฬาและการออกกำลังกาย การดำเนินโครงการโดยประชาชนกลุ่มเป้าหมายมีส่วนร่วมจำนวนน้อย ลานกีฬา/สนามกีฬาบางแห่งไม่ตรงตามความต้องการ ขาดการดูแลรักษา การส่งเสริมกีฬาเพื่อให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้ใช้ ประโยชน์เพื่อการเล่นกีฬา การออกกำลังกาย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการตามมาตรฐานการส่งเสริมกีฬาของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นไม่ครอบคลุมทุกลักษณะของการดำเนินงานตาม มาตรฐานฯ (มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพียง 1 แห่ง ที่ดำเนินการตามตัวชี้วัดขั้นพื้นฐานครบ 9 ลักษณะของการดำเนินงาน) ไม่สามารถส่งเสริมสุขภาพพลานามัย เสริมสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชน ทำให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายหันมาเล่นกีฬาออกกำลังกายไม่ยุ่งเกี่ยวยาเสพติด อันเป็นแนวทางหลักในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดตามวัตถุประสงค์โครงการ
ข้อตรวจพบที่ 2 การใช้ประโยชน์ลานกีฬา/สนามกีฬาไม่คุ้มค่า
2.1 ลานกีฬาอเนกประสงค์ จำนวน 30 สนาม ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ มีลานกีฬาอเนกประสงค์รูปแบบกีฬา 3 ชนิด ในสนามเดียวกัน และรูปแบบกีฬา 2 ชนิดในสนามเดียวกัน ผู้เล่นกีฬาต่างชนิดกันไม่สามารถใช้สนามเพื่อเล่นกีฬาได้พร้อมกัน แต่ละกลุ่มต้องผลัดเปลี่ยนกันเล่น ลานกีฬาอเนกประสงค์รูปแบบแยกชนิดกีฬา มีผู้ใช้เพื่อเล่นอย่างสม่ำเสมอ คือ สนามฟุตบอล สนามตะกร้อ ส่วนสนามบาสเกตบอล สนามวอลเลย์บอลชายหาด บางสนามจะใช้เฉพาะช่วงเวลาที่มีการแข่งขัน และมีการใช้ลานกีฬาอเนกประสงค์เพื่อเล่นกีฬาชนิดอื่น คือใช้สนามบาสเกตบอล เล่นกีฬาฟุตบอล ลานกีฬาอเนกประสงค์รูปแบบไม่กำหนดชนิดกีฬา เป็นลานกีฬาไม่มีเส้นสนามแสดงชนิดกีฬา ไม่มีอุปกรณ์กีฬา ประชาชนกำหนดชนิดกีฬาและตีเส้นสนามเล่นเอง
2.2 สนามฟุตซอล จำนวน 18 สนาม ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ มีหลังคา จำนวน 1 สนาม มีไฟส่องสว่าง จำนวน 3 สนาม ไม่มีไฟส่องสว่าง จำนวน 15 สนาม มีรั้ว จำนวน 4 สนาม ไม่มีรั้ว จำนวน 14 สนาม สนามฟุตซอลทั้ง 18 สนาม ไม่มีป้ายแสดงระเบียบข้อบังคับในการใช้สนาม
2.3 ลานกีฬา/สนามกีฬา ดำเนินการล่าช้ากว่าแผน จำนวน 3 สนาม (ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ)
การที่ลานกีฬา/สนามกีฬาไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน ส่งผลให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ทำให้เด็กและเยาวชนรวมถึงประชาชนทั่วไปบางกลุ่มไม่ได้รับประโยชน์
ลานกีฬา/สนามกีฬา 3 แห่ง ก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ ล่าช้ากว่าแผนทำให้เด็กและเยาวชน รวมทั้งประชาชนทั่วไปในพื้นที่ขาดโอกาสได้ใช้ประโยชน์ การดำเนินโครงการไม่มีประสิทธิภาพและทำให้โครงการดังกล่าวไม่บรรลุวัตถุประสงค์
ข้อเสนอแนะ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 39 แห่ง ดำเนินการดังนี้
1. ตรวจสอบความพร้อมของลานกีฬา/สนามกีฬาและอุปกรณ์ประกอบ ซ่อมแซม ปรับปรุง ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน รวมทั้งกำหนดแนวทางต่อเติมส่วนประกอบที่สำคัญอื่น ๆ เช่น ไฟส่องสว่าง รั้วหรือตาข่ายกั้นลูกฟุตซอลและหลังคา เพื่อให้การใช้ประโยชน์เป็นไปอย่างคุ้มค่า โดยพิจารณาจากความพร้อมด้านงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
2. แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการลานกีฬา/สนามกีฬา โดยประกอบด้วย ตัวแทนเด็กและเยาวชนรวมทั้งประชาชนทั่วไปผู้ใช้ประโยชน์ ผู้นำชุมชน หรือตัวแทนจากสถานศึกษาในพื้นที่ที่มีการก่อสร้าง ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ด้านการส่งเสริมกีฬาขององค์ปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ การส่งเสริมประชาสัมพันธ์และงานด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมกีฬาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไป
3. กำหนดนโยบายและแนวทางการดำเนินงานด้านการส่งเสริมกีฬาให้ครอบคลุมทุกด้านตามมาตรฐานการส่งเสริมกีฬา โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการและด้านบุคลากรที่ยังไม่ได้รับการดำเนินการ
4. มอบหมายหน้าที่ให้มีเจ้าหน้าที่ดูแลรับผิดชอบงานด้านการส่งเสริมกีฬาให้ชัดเจน กำชับให้เจ้าหน้าที่ศึกษาทำความเข้าใจและนำมาตรฐานการส่งเสริมกีฬาของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจัง และสนับสนุนส่งเสริมการฝึกอบรมเพิ่มพูนความรู้ด้านการส่งเสริมกีฬาแก่เจ้าหน้าที่อย่างเพียงพอ
5. ประเมินผลการดำเนินงานด้านการส่งเสริมกีฬาอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อทราบผลการดำเนินงานว่าอยู่ในระดับใด และกิจกรรมใดควรเร่งดำเนินการเพื่อยกระดับมาตรฐานงานด้านการส่งเสริมกีฬาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สูงขึ้น
6. หากมีการเสนอของบประมาณหรือมีการดำเนินการก่อสร้างลานกีฬา/สนามกีฬา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องชี้แจงรายละเอียดโครงการและสำรวจความต้องการของประชาชน กลุ่มเป้าหมายทราบและร่วมกำหนดประเภทและชนิดกีฬาที่ต้องการ อีกทั้งการเลือกรูปแบบลานกีฬา/สนามกีฬาที่จะใช้ในการก่อสร้างหรือต่อเติม ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าในการใช้ประโยชน์และความต้องการของประชาชนกลุ่มเป้าหมายเป็นสำคัญ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมตรงกับความต้องการ และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง
----
ในสัปดาห์หน้า สำนักข่าวอิศราจะนำเสนอผลการตรวจสอบที่สำคัญของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเรื่องใด โปรดติดตาม
อ่านประกอบ :
เปิดกรุผลสอบสตง.(1) ชำแหละงบพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกาญฯ ไม่คุ้มค่า ห้องอาบน้ำแร่ถูกทิ้งร้าง
เปิดกรุผลสอบสตง.(2) ตรวจงบยกระดับหมู่บ้านโคราช ใช้ภาพเดียวเบิกเงิน 6 โครงการรวด
เปิดกรุผลสอบสตง.(3) ตรวจการผลิต-ใช้พลังงานทดแทน ‘กรมการพลังงานทหาร’ ล้มเหลวไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(4) ตรวจนโยบายร.ร.ดีใกล้บ้าน ยกระดับการศึกษาล้ม-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(5) ตรวจโครงการพัฒนาลำเชียงไกรโคราช ไม่เสร็จตามแผน-ซื้อของเกินจำเป็น
เปิดกรุผลสอบสตง.(6) ตรวจโครงการพัฒนาพืช-พลังงาน จ.ขอนแก่น 113ล. ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(7) ตรวจโครงการพลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้า-ประปาจ.กาญจนฯ ล้มเหลว-เบิกจ่ายเท็จ
เปิดกรุผลสอบสตง.(8) ตรวจโครงการควมคุมอาคารเขตเทศบาลนคร/เมือง ไม่ปลอดภัย-ผิดกม.อื้อ
เปิดกรุผลสอบสตง.(9) ตรวจการควบคุมเคมีทางเกษตร พบสารต้องห้าม-ร้านขายไม่ปลอดภัย-ผิดกม.
เปิดกรุผลสอบสตง.(10) ตรวจโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติด อปท.ลำปาง ไม่คุ้มงบ-ผิดวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(11) ตรวจโครงการสินค้าเกษตร 4.0 สุพรรณฯ ไม่พร้อมดำเนินการ-ไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(12) ตรวจโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว ขาดความต่อเนื่อง-ไม่ยั่งยืน
เปิดกรุผลสอบสตง.(13) ตรวจศูนย์อาชีพผู้สูงอายุ ไม่เป็นตามวัตถุประสงค์-จัดซื้อไม่คุ้มค่า
เปิดกรุผลสอบสตง.(14) ตรวจโครงการแพทย์ฉุกเฉิน อบจ.มหาสารคาม มอบรถพยาบาลช้า-ใช้ผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(15) ตรวจสหกรณ์จ.สุราษฎร์ฯ-ชุมพร ตั้งโรงงานยางพารา แต่ไม่เดินสายพานผลิต
เปิดกรุผลสอบสตง.(16) ตรวจการเก็บค่าภาคหลวงแร่ กรมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ฯ ไม่เป็นตามกฎหาย
เปิดกรุผลสอบสตง.(17) ตรวจโครงการนาขั้นบันไดจ.น่าน ไม่ตรงเป้าหมาย-เบิกจ่ายเท็จ/ผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(18) ตรวจศูนย์เด็กเล็ก อปท.นครศรีธรรมราช ไร้ประสิทธิภาพ-ไม่ปลอดภัย
เปิดกรุผลสอบสตง.(19) ตรวจสำนักงาน กศน. อุดรธานี ไร้ประสิทธิภาพ-จบช้า/น้อย-พบนศ.ผี
เปิดกรุผลสอบสตง.(20) ตรวจโครงการเกษตรอินทรีย์กาญจนฯ ไม่บรรลุประสงค์-จัดซื้อผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(21) ตรวจโครงการความปลอดภัยทางทะเลพัทยา ระบบ/อุปกรณ์ไม่ตรงตาม TOR
เปิดกรุผลสอบสตง.(22) ตรวจการกำจัดขยะ อปท. นครสวรรค์/พิจิตร ไม่ได้มาตรฐาน-ไม่ตามโรดแม็พ
เปิดกรุผลสอบสตง.(23) ตรวจการพัฒนาชลประทานฉะเชิงเทรา ผิดระเบียบ-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(24) ตรวจโครงการช่วยเกษตรกร/คนจน กำแพงเพชร ผิดระเบียบ-ไม่บรรลุเป้าหมาย
เปิดกรุผลสอบสตง.(25) ตรวจโครงการควมคุมอาคารเขตเทศบาลตำบล/อบต. ไม่ปลอดภัย-ผิดกม.อื้อ
เปิดกรุผลสอบสตง.(26) ตรวจโครงการเกษตรผสมผสานอีสานล่าง 2 ผิดวัตถุประสงค์-ไม่มีประสิทธิภาพ
เปิดกรุผลสอบสตง.(27) ตรวจสอบการประปาเทศบาลนครศรีธรรมราช ขาดประสิทธิภาพ-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(28) ตรวจสอบกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สทบ. เสี่ยงล้มเหลว-ขาดศักยภาพ
เปิดกรุผลสอบสตง.(29) ตรวจสอบระบบจัดการขยะ จ.เชียงราย ไม่เป็นระบบ-ขาดประสิทธิภาพ
เปิดกรุผลสอบสตง.(30) โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ จ.แพร่ แจกปัจจัยเกินจำเป็น-ไม่สอดคล้องหลักการ
เปิดกรุผลสอบสตง.(31) ปศุสัตว์ปลอดภัย จ.พะเยา ผิดระเบียบ-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(32) การแพทย์ฉุกเฉิน อบจ.ร้อยเอ็ด ขาดประสิทธิภาพ-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(33) แผนพัฒนาเกษตรบรรเทาแล้งศรีสะเกษ เสียหาย-บริหารต่อไม่ได้
เปิดกรุผลสอบสตง.(34) อบจ.อุดรฯ ซื้อผ้าห่มแจกต้านภัยหนาวปี57 แพงกว่าราคาตลาด
เปิดกรุผลสอบสตง.(35) อบจ.ชลบุรี ติดกล้องวงจรปิดปี52-59 ใช้งานไม่ได้ตามวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(36) การเช่าที่ราชพัสดุ สนง.ธนารักษ์ขอนแก่น ผิดกม.-ไม่เป็นไปตามระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(37) การคุ้มครองผู้บริโภค สคบ. ล่าช้า-ไม่มีประสิทธิภาพ
เปิดกรุผลสอบสตง.(38) พัฒนาท่องเที่ยวสู่อาเซียนพัทลุง เบิกจ่ายผิดระเบียบ-ไม่คุ้มค่า
เปิดกรุผลสอบสตง.(39) สนง.พัฒนาที่ดินโคราช ขุดแหล่งน้ำผิดระเบียบ-ใช้ประโยชน์ไม่ได้
เปิดกรุผลสอบสตง.(40) เครื่องมือตรวจอากาศกรมอุตุฯ ชำรุด - ใช้งานไม่ตรงตามวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(41) กองทุนพัฒนาสตรีมุกดาหาร ถูกสวมสิทธิไม่จ่ายหนี้ตามสัญญา
เปิดกรุผลสอบสตง.(42) สวนปาล์มนาร้างชุมพร นายทุน/ขรก.ร่วมเพียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(43) แขวงการทางสุราษฎร์ฯ แก้น้ำท่วมขังถนนรอบสมุย รำรางเล็ก-บางจุดไม่สำเร็จ
เปิดกรุผลสอบสตง.(44) ชลประทานพังงา ก่อสร้างแหล่งน้ำชนบท ล่าช้า-ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
เปิดกรุผลสอบสตง.(45) พัฒนาสาขาท่องเที่ยวหนองคาย ไม่มีประสิทธิภาพ ราคากลางแพง-ผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(46) โรงงานปุ๋ย/ธ.เมล็ดพันธุ์ประจวบฯ/ตึกสนง./เครื่องจักร ไม่เปิดใช้งาน
เปิดกรุผลสอบสตง.(47) ซ่อมอู่เรือสัตหีบ ช้ากว่าเป้าหมาย-อุปกรณ์บางอย่างใช้ไม่ได้
เปิดกรุผลสอบสตง.(48) ปรับภูมิทัศน์อบต.หาดทรายรีชุมพร ก่อสร้างอาคาร-อุปกรณ์ ไม่คุ้มค่า
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/