เปิดกรุผลสอบสตง.(22) ตรวจการกำจัดขยะ อปท. นครสวรรค์/พิจิตร ไม่ได้มาตรฐาน-ไม่ตามโรดแม็พ
“...จากการตรวจสอบสังเกตการณ์สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่า สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยมีคุณสมบัติไม่เป็นตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด คือ ตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำสาธารณประโยชน์ น้อยกว่า 300 เมตร จำนวน 7 แห่ง ประกอบด้วย เทศบาลตำบลท่าตะโก เทศบาลเมืองตาคลี เทศบาลเมืองลาดยาว เทศบาลตำบลพยุหะ เทศบาลเมืองบางมูลนาก เทศบาลเมืองพิจิตร และ องค์การบริหารส่วนตำบลคลองคะเชนทร์ สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่น้ำสามารถท่วมถึง จำนวน 1 แห่ง คือ เทศบาลนครนครสวรรค์ และสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำและน้ำสามารถท่วมถึง จำนวน 1 แห่ง คือ เทศบาลตำบลสากเหล็ก ...”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานตรวจสอบสำคัญของไทย มีหน้าที่ในการป้องกันดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ที่ถูกใช้จ่ายไปอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ที่ผ่านมา สตง.ได้มีการเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบเรื่องการใช้จ่ายเงินที่สำคัญไว้หลายเรื่อง สำนักข่าวอิศรา จึงขอเปิดพื้นที่ตรงนี้ ทุกวันเสาร์ รวบรวมข้อมูลผลการตรวจสอบที่สำคัญมานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบ
ในสัปดาห์ที่ 22 จะเป็นการนำเสนอรายงานการตรวจสอบการดำเนินงาน การบริหารจัดการขยะมูลฝอยของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดพิจิตร ปีงบประมาณ 2559-2560
@ การบริหารจัดการขยะมูลฝอยของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดพิจิตร ปีงบประมาณ 2559-2560
การจัดการขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติใน การประชุมเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 การดำเนินงานตาม Roadmap มีหลักสำคัญ คือ การลดและคัดแยก ขยะมูลฝอยที่ต้นทาง การจัดการขยะมูลฝอยแบบศูนย์รวมและกำจัดโดยเทคโนโลยีที่เหมาะสมแบบผสมผสาน เพื่อนำมาจัดทำเป็นแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตระหนักถึงความสำคัญ จึงได้ตรวจสอบการดำเนินงานการบริหารจัดการกำจัดขยะมูลฝอยของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในเขตจังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดพิจิตร โดยสุ่มตรวจสอบ จำนวน 13 แห่ง ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559-2560 เพื่อให้ทราบถึงผลการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรค รวมถึงข้อจำกัดในการบริหารจัดการ และเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหา ผลการตรวจสอบปรากฏประเด็นข้อตรวจพบสำคัญ คือ
ข้อตรวจพบที่ 1 การกำจัดขยะมูลฝอยไม่เป็นไปตามมาตรฐานการจัดการขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล ผลการตรวจสอบสรุปได้ ดังนี้
1.1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำจัดขยะมูลฝอยแบบไม่ถูกต้อง
1) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการกำจัดขยะมูลฝอยแบบไม่ถูกต้องตามมาตรฐานการจัดการขยะ มูลฝอยและสิ่งปฏิกูลรวม จำนวน 6 แห่ง โดยใช้วิธีการกำจัดแบบไม่ถูกหลักวิชาการด้วยการกำจัดแบบเทกอง จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย เทศบาลตำบลลาดยาว เทศบาลตำบลพยุหะ องค์การบริหารส่วนตำบลนิคมเขาบ่อแก้ว และองค์การบริหารส่วนตำบลคลองคะเชนทร์ และการกำจัดแบบเผากลางแจ้ง จำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนตำบลตะคร้อ และเทศบาลตำบลสากเหล็ก
ทั้งนี้ยังพบว่าการใช้พื้นที่ใน สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลตำบลลาดยาวและเทศบาลตำบลพยุหะ มีการใช้พื้นที่สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยจนเต็มและเกือบเต็มพื้นที่
2) สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งมีปริมาณขยะจำนวนมาก จนไม่สามารถฝังกลบขยะมูลฝอยได้ เนื่องจากสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยได้ฝังกลบขยะมูลฝอยจนเกือบเต็มพื้นที่
1.2 การคัดเลือกพื้นที่สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
1) สถานที่ตั้งของสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยอยู่ใกล้แหล่งน้ำและน้ำสามารถท่วมถึง
จากการตรวจสอบสังเกตการณ์สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่า สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยมีคุณสมบัติไม่เป็นตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด คือ ตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำสาธารณประโยชน์ น้อยกว่า 300 เมตร จำนวน 7 แห่ง ประกอบด้วย เทศบาลตำบลท่าตะโก เทศบาลเมืองตาคลี เทศบาลเมืองลาดยาว เทศบาลตำบลพยุหะ เทศบาลเมืองบางมูลนาก เทศบาลเมืองพิจิตร และ องค์การบริหารส่วนตำบลคลองคะเชนทร์ สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่น้ำสามารถท่วมถึง จำนวน 1 แห่ง คือ เทศบาลนครนครสวรรค์ และสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำและน้ำสามารถท่วมถึง จำนวน 1 แห่ง คือ เทศบาลตำบลสากเหล็ก
2) สถานที่ตั้งของสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยตั้งอยู่ใต้สายไฟฟ้าแรงสูงและในเขตป่าตาม พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และป่าสงวนแห่งชาติ
จากการตรวจสอบสังเกตการณ์สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่าสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยตั้งอยู่ใต้สายไฟฟ้าแรงสูง จำนวน 1 แห่ง คือ เทศบาลตำบลท่าตะโก และตั้งอยู่ในเขตป่า จำนวน 2 แห่ง คือ องค์การบริหารส่วนตำบลตะคร้อ และองค์การบริหารส่วนตำบลนิคมเขาบ่อแก้ว
ทั้งนี้จากสภาพความไม่เหมาะสมของสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยดังกล่าว สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โดยสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 11 (จังหวัดนครสวรรค์) ได้มีหนังสือแจ้งผู้บริหารท้องถิ่นให้ดำเนินการปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว
1.3 โครงสร้างพื้นฐานบางรายการในสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ได้ใช้ประโยชน์และมีสภาพชำรุดเสียหาย
สิ่งก่อสร้างและอุปกรณ์ของระบบจัดการมูลฝอยควรมีการสามารถใช้งานได้อย่างสะดวก ปลอดภัย มีมาตรฐานและป้องกันปัญหาการชำรุดจากสภาพแวดล้อมในการใช้งาน จากการตรวจสอบสังเกตการณ์สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการกำจัดขยะมูลฝอยแบบถูกต้องตามมาตรฐานการจัดการขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล จำนวน 6 แห่ง พบว่า สิ่งก่อสร้างและอุปกรณ์มีความชำรุดเสียหายเกิดขึ้นหรือไม่ได้ใช้ประโยชน์รวม 6 รายการ
ข้อตรวจพบที่ 2 การบริหารจัดการขยะมูลฝอยไม่สามารถดำเนินการตาม Roadmap การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ฉบับผ่านความเห็นชอบจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 ได้เท่าที่ควร
2.1 กำจัดขยะมูลฝอยตกค้างสะสมในสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยในพื้นที่วิกฤติยังไม่สามารถดำเนินการได้ครบถ้วน
จากการตรวจสอบสังเกตการณ์สถานที่กำจัดขยะมูลฝอย จำนวน 12 แห่ง พบว่า มีสถานที่กำจัดขยะ มูลฝอยที่มีขยะมูลฝอยตกค้างสะสมและยังไม่สามารถดำเนินการกำจัดได้ จำนวน 3 แห่ง และมีสถานที่กำจัด ขยะมูลฝอย อีกจำนวน 4 แห่ง ที่เป็นการกำจัดขยะมูลฝอยแบบไม่ถูกต้อง
2.2 สร้างรูปแบบการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายที่เหมาะสม (ขยะมูลฝอยใหม่
จากการตรวจสอบบันทึกการลงนามความร่วมมือกำจัดขยะมูลฝอยแบบรวมกลุ่มพื้นที่ของ อปท. ซึ่งเป็นเจ้าภาพคลัสเตอร์ทั้ง 7แห่ง มีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยของตนเองและดำเนินการได้ จำนวน 6แห่ง มีองค์การบริหารส่วนตำบลท่าหลวง เพียงแห่งเดียวที่ลงนามเป็นเจ้าภาพคลัสเตอร์ แต่ยังไม่มีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยของตนเอง และนำขยะมูลฝอยไปทิ้งร่วมกับเทศบาลเมืองพิจิตร อย่างไรก็ตาม คลัสเตอร์อีก 6แห่ง ซึ่งมีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยในพื้นที่มี อปท.ที่ร่วมลงนามนำขยะมูลฝอยมาทิ้งร่วมไม่ครบตามจำนวน อปท. ที่ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมมือ/บันทึกข้อตกลง (MOU) เมื่อพิจารณาความเหมาะสมและความพร้อมของ สถานที่กำจัดขยะมูลฝอย พบว่า
(1) สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลนครนครสวรรค์มีปริมาณขยะมูลฝอยเป็นจำนวนมากจนไม่สามารถทำการฝังกลบได้ พื้นที่ในบริเวณบ่อขยะมีน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะบริเวณบ่อบำบัดน้ำเสียและบ่อติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำใต้ดิน อย่างไรก็ตามเทศบาลนครนครสวรรค์ได้รับอนุมัติให้ดำเนินโครงการก่อสร้างโรงผลิตเชื้อเพลิงขยะ RDF แล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนเตรียมพื้นที่สำหรับการก่อสร้างต่อไป
(2) สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลตำบลลาดยาวเป็นรูปแบบการกำจัดขยะมูลฝอย แบบเทกอง (Open dump) ซึ่งเป็นการกำจัดแบบไม่ถูกต้อง ประกอบกับสภาพพื้นที่เป็นเนินเขาไม่สามารถขุดบ่อเพื่อทำการฝังกลบขยะมูลฝอยได้ จึงทำให้มีปริมาณขยะมูลฝอยกองเต็มพื้นที่ ไม่เหมาะสมต่อการดำเนินการตามแนวทางการจัดการขยะมูลฝอยแบบรวมกลุ่มพื้นที่
(3) องค์การบริหารส่วนตำบลท่าหลวง เป็น อปท. ที่ไม่มีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย แต่ได้เสนอตนเองเป็นเจ้าภาพในการกำจัดขยะมูลฝอยแบบรวมกลุ่ม เนื่องจากสามารถหาพื้นที่ที่จะดำเนินการก่อสร้างเพื่อเป็นสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยได้ อย่างไรก็ตาม ขณะเข้าตรวจสอบ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าหลวงอยู่ระหว่างดำเนินการเสนอแผนงาน/โครงการการ กำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนและดำเนินการ ทั้งนี้ ได้ผ่านขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนในเบื้องต้นแล้ว
2.3 วางระเบียบมาตรการการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายตาม Roadmap และจัดตั้ง “จุดรวมขยะอันตราย” ร้อยละ 100 ของหมู่บ้าน/ชุมชน เป็นไปตามเป้าหมายเพียงบางส่วน
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีการตราเทศบัญญัติ/ข้อบัญญัติตามพระราชบัญญัติการ สาธารณสุข พ.ศ. 2535 หากพิจารณาในขั้นตอนการวางระเบียบมาตรการการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย พบว่า ยังไม่มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดออกข้อบัญญัติท้องถิ่นให้มีการคัดแยกขยะมูลฝอย (ขยะทั่วไป ขยะอินทรีย์ ขยะรีไซเคิล ของเสียอันตราย) และห้ามทิ้งของเสียอันตรายปนกับขยะมูลฝอยทั่วไป ตามกฎกระทรวงที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด แต่ได้ดำเนินการวางภาชนะบรรจุมูลฝอยอันตราย/ถังขยะ อันตรายในหมู่บ้าน/ชุมชนแล้ว จากการตรวจสอบการจัดตั้งจุดรวบรวมขยะอันตรายชุมชน โดยมีเป้าหมาย อย่างน้อยหมู่บ้าน/ชุมชนละ 1 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 100 ของหมู่บ้าน/ชุมชน พบว่า จาก 13 แห่ง มี อปท. 10 แห่ง ที่สามารถจัดตั้งจุดรวมขยะอันตรายได้ครบทุกหมู่บ้านและชุมชน และจากการตรวจสังเกตการณ์ขยะที่นำมาทิ้ง ณ จุดรวบรวมขยะอันตรายจากภาชนะบรรจุขยะอันตรายชุมชน จำนวน 141 จุด พบว่า มีขยะอันตรายเพียงอย่างเดียว จำนวน 15 จุด หรือคิดเป็นร้อยละ 10.64 และมีขยะประเภทอื่นมาทิ้ง ในภาชนะดังกล่าว จำนวน 92 จุด หรือคิดเป็นร้อยละ 65.25
2.4 การดำเนินกิจกรรมภายใต้แผนปฏิบัติการ “ประเทศไทยไร้ขยะ” สามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายเพียงบางส่วน
2.4.1 ปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนที่เข้าสู่ระบบการกำจัดที่ปลายทางลดลง ร้อยละ 5 เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณขยะมูลฝอยในปี พ.ศ. 2559 สามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายเพียงบางส่วน จากการตรวจสอบพบว่า
(1) อปท.ที่มีปริมาณขยะมูลฝอยเข้าสู่ระบบการกำจัดปลายทางสามารถบรรลุเป้าหมาย ปริมาณขยะลดลงได้ร้อยละ 5 มีจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ เทศบาลนครนครสวรรค์ เทศบาลตำบลพยุหะ องค์การบริหารส่วนตำบลนิคมเขาบ่อแก้ว และเทศบาลเมืองพิจิตร ไม่บรรลุเป้าหมาย จำนวน 9 แห่ง
(2) การบันทึกตามแบบ มฝ. 1คือการจัดทำฐานข้อมูลด้านการบริหารจัดการขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในปีงบประมาณ 2559 และตามแบบ มฝ.2 คือแบบรายงานผลการบริหารจัดการ ขยะมูลฝอยประจำเดือน ปีงบประมาณ 2560 ตรวจสอบพบว่า ข้อมูลตามแบบ มฝ. 1 และ มฝ.2 ไม่สอดคล้องกัน
นอกจากนี้ การชั่งน้ำหนักขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งก็ใช้วิธีการที่ต่างกัน เช่น เทศบาลเมืองพิจิตร ในปีงบประมาณ 2559 มีปริมาณขยะ 9,800 ตัน โดยใช้การคำนวณปริมาณขยะจากอัตราการเกิดขยะมูลฝอย (จากรายงานสถานการณ์ขยะมูลฝอยของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2559 ของกรมควบคุมมลพิษ) และในปีงบประมาณ 2560 มีปริมาณขยะมูลฝอย 8,721 ตัน โดยใช้ เครื่องชั่งน้ำหนักเพื่อชั่งน้ำหนักขยะมูลฝอย และยังมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มิได้มีเครื่องชั่งน้ำหนักจะ ใช้การประมาณการปริมาณขยะแทนการชั่งน้ำหนัก จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ 1) เทศบาลตำบลลาดยาว 2) เทศบาลตำบลพยุหะ 3) องค์การบริหารส่วนตำบลตะคร้อ 4) องค์การบริหารส่วนตำบลนิคมเขาบ่อแก้ว และ 5) เทศบาลตำบลสากเหล็ก
2.4.2 ร้อยละ 40 ของหมู่บ้าน/ชุมชนสามารถเป็นต้นแบบการบริหารจัดการขยะมูลฝอย สามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายเพียงบางส่วน
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผ่านการประเมินมีจำนวน 8 แห่ง จาก 13 แห่ง โดย แบ่งเป็น อปท.ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์จำนวน 4 แห่ง จาก 8 แห่ง และ อปท.ในพื้นที่จังหวัดพิจิตรจ านวน 4 แห่ง จาก 5 แห่ง ซึ่งจากการตรวจสอบสังเกตการณ์และสัมภาษณ์ผู้นำชุมชน พบว่า ชุมชนวิลาวัลย์ เทศบาลเมืองตาคลี เป็นชุมชนต้นแบบที่ได้รับรางวัลชุมชน Zero waste จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ปี 2556-2557 และเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานด้านการจัดการขยะมูลฝอย โดยมี อปท.ในพื้นที่ใกล้เคียงมาศึกษาดูงานด้วย เช่น องค์การบริหารส่วนตำบลวังน้ำลัด จังหวัดนครสวรรค์ แต่การสัมภาษณ์ผู้นำชุมชนที่ผ่านการประเมิน เป็นชุมชนต้นแบบเพื่อทราบขั้นตอนการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน จากผู้นำชุมชน 16 หมู่บ้าน/ชุมชน จาก 11 อปท. พบว่า มี 8 หมู่บ้าน/ชุมชนที่มีการให้ข้อมูลในแบบประเมินไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นใน หมู่บ้าน/ชุมชน นอกจากนี้แบบที่ใช้ในการประเมินบางข้อมีรายการไม่สอดคล้องกับเกณฑ์การให้คะแนนใน แบบประเมิน
ผลกระทบ
1. ปริมาณขยะตกค้างในสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการทำให้เกิดปัญหาการปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อมและส่งกลิ่นเหม็นรบกวน สร้างความเดือดร้อนรำคาญและเกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจากข้อมูลตามแบบสำรวจที่ 2 ข้อมูลสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย จังหวัดนครสวรรค์/สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 4 ของสำนักงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครสวรรค์ และแบบสำรวจที่ 2 ข้อมูลสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย จังหวัดพิจิตร/สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 3 ของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพิจิตร ปี 2559 พบว่า สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยในจังหวัดนครสวรรค์มีการกำจัดขยะมูลฝอยแบบไม่ถูกต้อง จำนวน 20 แห่ง และในจังหวัดพิจิตร จำนวน 18 แห่ง
2. ระบบบำบัดน้ำเสียในสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยชำรุด หากเกิดการรั่วซึมออกไปภายนอก อาจทำให้ เกิดมลพิษทางน้ำในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงได้
3. การไม่จัดระบบคัดแยกขยะมูลฝอยทั่วไปที่ต้นทาง ทำให้มีปริมาณขยะมูลฝอยที่ต้องกำจัดปริมาณ มากมีผลให้บ่อฝังกลบขยะมูลฝอยมีอายุการใช้งานสั้นลง เนื่องจากไม่ได้มีการคัดแยกขยะมูลฝอยที่สามารถนำ กลับมาใช้ใหม่ได้ (Recycle) และไม่คัดแยกขยะมูลฝอยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในทางอื่นๆ
4. ข้อมูลปริมาณขยะมูลฝอยที่ไม่ได้มาจากฐานข้อมูลที่ถูกต้องตรงตามข้อเท็จจริง เช่น ข้อมูลปริมาณ ขยะแต่ละประเภทที่บันทึกลงในแบบ มฝ.2 ส่งผลต่อการวิเคราะห์ข้อมูลและประมวลผล เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาผลการดำเนินการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามเป้าหมายและตัวชี้วัดปริมาณขยะมูลฝอยที่เข้าสู่ระบบกำจัดที่ปลายทางลดลง
5. การไม่ได้วิเคราะห์องค์ประกอบของขยะมูลฝอย ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีข้อมูล ประกอบการพิจารณาดำเนินกิจกรรม 3 Rs ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และพฤติกรรมการสร้างขยะมูลฝอย ของประชาชน
6. แม้จะมีจุดรวบรวมขยะอันตรายชุมชน/ภาชนะบรรจุขยะอันตรายชุมชนให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน/ ชุมชน แต่การทิ้งขยะมูลฝอยประเภทอื่นลงในภาชนะบรรจุขยะอันตรายชุนชน ทำให้สามารถแยกขยะ อันตรายเพื่อนำไปกำจัดหรือบำบัดด้วยวิธีเฉพาะเพื่อป้องกันความเป็นพิษปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมได้เพียง บางส่วนเท่านั้น
7. การประเมินชุมชนต้นแบบ กรณีที่ไม่มีข้อมูลสนับสนุนหรือเอกสารอ้างอิงประกอบแบบการ ประเมิน อาจทำให้ผลการประเมินคลาดเคลื่อน ข้อมูลไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และไม่สะท้อนความเป็นจริง ของการดำเนินการได้
8. การจัดกิจกรรมการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยหรือการนำขยะมูลฝอยไปใช้ประโยชน์ หากดำเนินการไม่ต่อเนื่องและไม่มีการติดตามประเมินผล ประชาชนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญในการคัดแยกขยะ ในช่วงสั้นๆ หลังการเข้าร่วมกิจกรรม มีผลให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณในการจัดกิจกรรมเป็นไปโดยไม่คุ้มค่า ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถลดปริมาณขยะได้
สาเหตุ
1. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขาดงบประมาณในการก่อสร้างสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ถูกต้องตามหลักวิชาการรวมทั้งการหาพื้นที่เพื่อก่อสร้างสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่เหมาะสม
2. เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานด้านบริหารจัดการขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีไม่เพียงพอ เช่น องค์การบริหารส่วนตำบลท่าหลวง ซึ่งรับเป็นเจ้าภาพสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยแบบศูนย์รวม ยังไม่มีกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งเจ้าหน้าที่ขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดการขยะมูลฝอย รวมถึงการดำเนินกิจกรรมการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยหรือการนำขยะมูลฝอยไปใช้ประโยชน์ จากการตรวจสอบพบว่ามี อปท. 5 แห่งที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านการ สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม และมี 2 แห่งที่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานด้านการจัดการขยะมูลฝอยต้อง รับผิดชอบงานอื่นๆ หลายด้าน จึงทำให้ในปี 2560 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหล่านี้ไม่ได้ดำเนินกิจกรรมการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยหรือการนำขยะมูลฝอยไปใช้ประโยชน์
3. ผู้นำชุมชนหรือคณะกรรมการหมู่บ้าน/ชุมชนไม่เข้มแข็ง ไม่ตระหนักถึงปัญหาขยะมูลฝอยชุมชน จึงขาดบทบาทในการจัดการปัญหาขยะมูลฝอย และไม่นำกลไกชุมชนมาใช้ในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนในเขตเทศบาลที่มีความเป็นชุมชนเมือง หรือสังคมกึ่งเมืองกึ่งชนบท
4. ประชาชนยังไม่ให้ความร่วมมือหรือเห็นความสำคัญในการทิ้งขยะมูลฝอยตามประเภทขยะมูลฝอย เท่าที่ควร ส่วนใหญ่จะคัดแยกขยะมูลฝอยออกเป็น 2 ประเภท คือ ขยะประเภทที่ขายได้ และขยะที่ขายไม่ได้ ซึ่งจะมีประชาชนเพียงบางส่วนเท่านั้นที่เห็นความสำคัญและให้ความร่วมมือในการคัดแยกขยะแต่ละประเภท
5. ปริมาณขยะมูลฝอยที่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานด้านขยะมูลฝอยนำมาบันทึกในระบบสารสนเทศ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งใช้การประมาณการ เช่น ข้อมูลปริมาณหรือน้ำหนักขยะมูลฝอย เนื่องจากไม่มีเครื่องชั่งน้ำหนักและไม่มีการวิเคราะห์องค์ประกอบขยะมูลฝอย ฉะนั้นข้อมูลในการ ประมวลผลอาจมีความคลาดเคลื่อนกับข้อมูลที่แท้จริง
6. ประชาชนยังขาดความเข้าใจในเรื่องขยะอันตราย และยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญในการกำจัด ขยะอันตรายหรือบำบัดด้วยวิธีเฉพาะเท่าที่ควร
7. การให้ข้อมูลตามแบบการประเมิน ข้อมูลบางส่วนไม่มีข้อมูลเอกสารหลักฐานสนับสนุนข้อมูล
ข้อเสนอแนะ
นายกเทศมนตรีนคร/นายกเทศมนตรีเมือง/นายกเทศมนตรีตำบล/นายกองค์การบริหารส่วนตำบล
1. กรณีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ควรหารือไปยังสำนักงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเพื่อหาแนวทางกำจัดขยะมูลฝอยที่ถูกต้องตามหลักวิชาการหรือ ตามหลักเกณฑ์ที่ยอมรับได้ เช่น การเทกองแบบควบคุม (control dump) หรือนำขยะมูลฝอยไปทิ้งยัง สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ดำเนินการถูกต้องตามหลักวิชาการต่อไป
2. หากจะดำเนินการจัดจ้างเอกชนเพื่อกำจัดขยะมูลฝอย ต้องเป็นผู้ประกอบกิจการรับจ้างกำจัดขยะมูลฝอยที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย และงบประมาณที่จะใช้ในการจัดจ้างต้องมีการคำนวณต้นทุนการลงทุนและผลกระทบสิ่งแวดล้อมทุกด้านรวมกันมาประกอบการพิจารณา
3. ให้ดำเนินการซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างและอุปกรณ์ของระบบจัดการมูลฝอยให้พร้อมใช้งาน
4. ให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจคัดเลือกวิธีการในการจัดการขยะมูลฝอย รวมไปถึงเปิดช่องทางให้ประชาชนสามารถเสนอแนะ ร่วมตัดสินใจและร่วมมือในการดำเนินโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอย ซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างแรงจูงใจในการท ากิจกรรมจัดการขยะมูลฝอย
5. อบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบให้มีความรู้ความเข้าใจงานด้านการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชน ตั้งแต่การคัดแยกขยะมูลฝอยชุมชน การจัดเก็บและขนถ่ายขยะมูลฝอย การกำจัดขยะมูลฝอย รวมไปถึงการจัดการของเสียอันตรายชุมชน
6. แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการขยะมูลฝอยในหมู่บ้าน/ชุมชน ที่ยังไม่มีคณะกรรมการฯ พร้อม ให้การสนับสนุนคณะกรรมการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและผู้นำชุมชนในการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย
7. อปท. ควรมีการจัดโครงการ/กิจกรรมให้ประชาชนได้ทดลองปฏิบัติการคัดแยกของเสียอันตราย จากชุมชนมีกำหนดเวลาที่ชัดเจนและมีแรงจูงใจสามารถเข้าถึงกลุ่มเด็กและเยาวชนเพื่อช่วยดึงดูดความสนใจจากผู้ปกครองและประชาชนทั่วไปให้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม
8. การจัดกิจกรรมการรณรงค์ การฝึกอบรม ดูงานนอกสถานที่ ควรให้มีการประเมินผลเชิงประจักษ์ เป็นไปตามหลักวิชาการ กำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จที่มาสามารถใช้วัดผลการดำเนินการได้จริง
9. ให้ความสำคัญกับเอกสารหลักฐานอ้างอิงที่มาของข้อมูล เพื่อนำไปสู่การประมวลผล บนฐานข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ
10. ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจสอบข้อมูลที่บันทึกในระบบสารสนเทศอย่างต่อเนื่อง หาก พบข้อผิดพลาดให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องตรงตามข้อเท็จจริง
ผู้ว่าราชการจังหวัด
1. ควรผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ใช้วิธีการกำจัดขยะมูลฝอยไม่ถูกต้อง ดำเนินการกำจัดขยะมูลฝอยและปรับปรุงสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยให้ถูกต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์การประเมินสมรรถนะการดำเนินงานฝังกลบมูลฝอยของกรมควบคุมมลพิษ
2. กรณี อปท. ที่มีการจัดทำบันทึกความร่วมมือการรวมกลุ่มในการจัดการขยะมูลฝอยแบบรวมกลุ่มพื้นที่ (Clusters) ให้นำขยะมูลฝอยไปกำจัดยังสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นแกนนำกลุ่มหรือเจ้าภาพคลัสเตอร์
----
ในสัปดาห์หน้า สำนักข่าวอิศราจะนำเสนอผลการตรวจสอบที่สำคัญของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเรื่องใด โปรดติดตาม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
เปิดกรุผลสอบสตง.(1) ชำแหละงบพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกาญฯ ไม่คุ้มค่า ห้องอาบน้ำแร่ถูกทิ้งร้าง
เปิดกรุผลสอบสตง.(2) ตรวจงบยกระดับหมู่บ้านโคราช ใช้ภาพเดียวเบิกเงิน 6 โครงการรวด
เปิดกรุผลสอบสตง.(3) ตรวจการผลิต-ใช้พลังงานทดแทน ‘กรมการพลังงานทหาร’ ล้มเหลวไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(4) ตรวจนโยบายร.ร.ดีใกล้บ้าน ยกระดับการศึกษาล้ม-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(5) ตรวจโครงการพัฒนาลำเชียงไกรโคราช ไม่เสร็จตามแผน-ซื้อของเกินจำเป็น
เปิดกรุผลสอบสตง.(6) ตรวจโครงการพัฒนาพืช-พลังงาน จ.ขอนแก่น 113ล. ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(7) ตรวจโครงการพลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้า-ประปาจ.กาญจนฯ ล้มเหลว-เบิกจ่ายเท็จ
เปิดกรุผลสอบสตง.(8) ตรวจโครงการควมคุมอาคารเขตเทศบาลนคร/เมือง ไม่ปลอดภัย-ผิดกม.อื้อ
เปิดกรุผลสอบสตง.(9) ตรวจการควบคุมเคมีทางเกษตร พบสารต้องห้าม-ร้านขายไม่ปลอดภัย-ผิดกม.
เปิดกรุผลสอบสตง.(10) ตรวจโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติด อปท.ลำปาง ไม่คุ้มงบ-ผิดวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(11) ตรวจโครงการสินค้าเกษตร 4.0 สุพรรณฯ ไม่พร้อมดำเนินการ-ไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(12) ตรวจโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว ขาดความต่อเนื่อง-ไม่ยั่งยืน
เปิดกรุผลสอบสตง.(13) ตรวจศูนย์อาชีพผู้สูงอายุ ไม่เป็นตามวัตถุประสงค์-จัดซื้อไม่คุ้มค่า
เปิดกรุผลสอบสตง.(14) ตรวจโครงการแพทย์ฉุกเฉิน อบจ.มหาสารคาม มอบรถพยาบาลช้า-ใช้ผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(15) ตรวจสหกรณ์จ.สุราษฎร์ฯ-ชุมพร ตั้งโรงงานยางพารา แต่ไม่เดินสายพานผลิต
เปิดกรุผลสอบสตง.(16) ตรวจการเก็บค่าภาคหลวงแร่ กรมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ฯ ไม่เป็นตามกฎหมาย
เปิดกรุผลสอบสตง.(17) ตรวจโครงการนาขั้นบันไดจ.น่าน ไม่ตรงเป้าหมาย-เบิกจ่ายเท็จ/ผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(18) ตรวจศูนย์เด็กเล็ก อปท.นครศรีธรรมราช ไร้ประสิทธิภาพ-ไม่ปลอดภัย
เปิดกรุผลสอบสตง.(19) ตรวจสำนักงาน กศน. อุดรธานี ไร้ประสิทธิภาพ-จบช้า/น้อย-พบนศ.ผี
เปิดกรุผลสอบสตง.(20) ตรวจโครงการเกษตรอินทรีย์กาญจนฯ ไม่บรรลุประสงค์-จัดซื้อผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(21) ตรวจโครงการความปลอดภัยทางทะเลพัทยา ระบบ/อุปกรณ์ไม่ตรงตาม TOR