เปิดกรุผลสอบสตง.(3) ตรวจการผลิต-ใช้พลังงานทดแทน ‘กรมการพลังงานทหาร’ ล้มเหลวไม่คุ้มงบ
“...กรมการพลังงานทหารประสบความล้มเหลวในการดําเนินการส่งเสริมสนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์พลังงานทดแทน หน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนไม่มีการดําเนินการด้านพลังงานทดแทน และเครื่องมืออุปกรณ์ชํารุดเสียหาย ด์านการปลูกต้นพืชพลังงานทดแทน ถูกปล่อยปละละเลยไม่มีการดูแลบํารุงรักษาต้นพืช ขาดการประเมินผลถึงสภาพปัญหาอุปสรรคและกําหนดแนวทางการแก้ไขอย่างเป็นระบบ ทําให้การส่งเสริมสนับสนุนขาดประสิทธิภาพ และไม่เกิดความคุ้มค่าของการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ตลอดจนกระทบต่อการบรรลุเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์พลังงานทดแทนของกระทรวงกลาโหม…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานตรวจสอบสำคัญของไทย มีหน้าที่ในการป้องกันดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ที่ถูกใช้จ่ายไปอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ที่ผ่านมา สตง.ได้มีการเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบเรื่องการใช้จ่ายเงินที่สำคัญไว้หลายเรื่อง สำนักข่าวอิศรา จึงขอเปิดพื้นที่ตรงนี้ ทุกวันเสาร์ รวบรวมข้อมูลผลการตรวจสอบที่สำคัญมานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบ
ในสัปดาห์ที่ 3 จะเป็นการนำเสนอผลการตรวจสอบเกี่ยวกับการส่งเสริมสนับสนุนการผลิต และการใช้พลังงานทดแทน กรมการพลังงานทหาร กระทรวงกลาโหม
@ การส่งเสริมสนับสนุนการผลิต และการใช้พลังงานทดแทน กรมการพลังงานทหาร กระทรวงกลาโหม
กระทรวงกลาโหม ได้กําหนดนโยบายด้านพลังงานทดแทนเพื่อให้กองทัพมีความมั่นคงทางพลังงานโดยจัดทําความร่วมมือด้านพลังงานกับกระทรวงพลังงาน เพื่อสนับสนุนกิจกรรมด้านพลังงานทดแทน รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาพลังงานทดแทนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา และจัดทําแผนยุทธศาสตร์พลังงานทดแทน พ.ศ. 2554-2568 เพื่อให้หน่วยงานทหารมีการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน โดยมีความพร้อมในการผลิต การใช้ และการพัฒนาพลังงานทดแทนให้เกิดความยั่งยืน และให้มีการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ของพลังงานขั้นสุดท้ายที่ใช้ในกระทรวงกลาโหม ภายปี พ.ศ. 2568
กรมการพลังงานทหาร ดําเนินการส่งเสริมและสนับสนุนพลังงานทดแทน ภายใต้เงินงบประมาณรายจ่ายประจําปีเงินทุนหมุนเวียนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร และเงินอุดหนุนที่ได้รับสนับสนุนจากหน่วยงานอื่น ในระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2551–2558 วงเงินรวม 459.11 ล้านบาท เกี่ยวกับการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนในระบบผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ระบบถังหมักก๊าซชีวภาพจากของเสียหรือขยะอินทรีย์ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์และการปลูกพืชพลังงานทดแทน (ปาล์มน้ำมัน/สบู่ดํา)
สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ตรวจสอบโครงการส่งเสริมสนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนของกรมการพลังงานทหาร เพื่อทราบผลการดําเนินงานด้านพลังงานทดแทนที่มีการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาพลังงานทางเลือกให้กับหน่วยงานที่ขึ้นตรงของกระทรวงกลาโหมและหน่วยงานภายนอก ตลอดจนทราบถึงปัญหา อุปสรรค หรือข้อจํากัดในการดําเนินงาน ที่ให้การสนับสนุนเครื่องมือ อุปกรณ์ และการใช้พลังงานทดแทน ใน 4 ชนิดพลังงานทดแทน ได้แก่ การผลิตน้ำมันไบโอดีเซล การผลิตก๊าซชีวภาพจากของเสีย/ขยะอินทรีย์การผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ และการปลูกพืชพลังงานทดแทนปาล์มน้ำมันและสบู่ดําเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล
โดยสัมภาษณ์ผู้บริหารของกรมการพลังงานทหาร ตรวจสอบเอกสารการดําเนินงานสุ่มตรวจสอบสังเกตการณ์การผลิตและการใช้ประโยชน์พลังงานทดแทนร่วมกับเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานจากกรมการพลังงานทหาร และสอบถามเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบการดําเนินการในพื้นที่ รวมจํานวน 113 ระบบ
ในภาพรวมพบว่า กรมการพลังงานทหารประสบความล้มเหลวในการดําเนินการส่งเสริมสนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์พลังงานทดแทน หน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนไม่มีการดําเนินการด้านพลังงานทดแทน และเครื่องมืออุปกรณ์ชํารุดเสียหาย ด้านการปลูกพืชพลังงานทดแทน ถูกปล่อยปละละเลยไม่มีการดูแลบํารุงรักษาต้นพืช ขาดการประเมินผลถึงสภาพปัญหาอุปสรรคและกําหนดแนวทางการแก้ไขอย่างเป็นระบบ ทําให้การส่งเสริมสนับสนุนขาดประสิทธิภาพ และไม่เกิดความคุ้มค่าของการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ตลอดจนกระทบต่อการบรรลุเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์พลังงานทดแทนของกระทรวงกลาโหม
โดยผลการตรวจสอบมีประเด็นข้อตรวจพบ 2 ประเด็น ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 เครื่องมืออุปกรณ์ระบบการผลิตและผลผลิตไม่มีการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์และขาดการดูแลบํารุงรักษา
จากการสุ่มตรวจสอบการดําเนินการสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ระบบการผลิตพลังงานทดแทนของกรมการพลังงานทหาร จํานวน 4 ชนิดพลังงานทดแทน ให้กับหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหม ได้แก่ สํานักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบกกองทัพเรือ และกองทัพอากาศ รวมจํานวน 113 ระบบ ในพื้นที่ 10 จังหวัด โดยสังเกตการณ์สภาพเครื่องมือและอุปกรณ์ของระบบการผลิต รวมทั้งสังเกตการณ์สภาพพื้นที่เพาะปลูก และตรวจสอบเอกสารหลักฐานการบันทึกข้อมูลการผลิต และการใช้งานในแต่ละระบบ พบว่า
ไม่มีการใช้ประโยชน์จากเครื่องมืออุปกรณ์และผลผลิตจากพืชพลังงานทดแทนตามวัตถุประสงค์จํานวน 95 ระบบ คิดเป็นร้อยละ 84.07 และมีการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือและอุปกรณ์จํานวน 18 ระบบ หรือคิดเป็นร้อยละ 15.93 จําแนกเป็นการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล จํานวน 21 ระบบ ไม่มีการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ จํานวน 18 ระบบ การผลิตก๊าซชีวภาพจากของเสีย/ขยะอินทรีย์ จํานวน 61 ระบบ ไม่มีการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ จํานวน 56 ระบบการผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ จํานวน 27 ระบบ ไม่มีการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์จํานวน 17 ระบบ และการปลูกพืชพลังงานทดแทน จํานวน 4 แห่ง ไม่มีการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ทุกแห่ง รวมทั้งไม่มีการดูแลรักษาซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน โดยเครื่องมืออุปกรณ์ระบบการผลิตพลังงานทดแทนในพื้นที่ดําเนินโครงการใน 43 หน่วยงาน พบว่า มีสภาพชํารุดเสียหายใช้งานไม่ได้ จํานวน 82 ระบบ คิดเป็นร้อยละ 75.23 และมีสภาพปกติพร้อมใช้งานจํานวน 27 ระบบ คิดเป็นร้อยละ 24.77 จําแนกเป็นการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลมีสภาพชํารุดไม่พร้อมใช้งาน จํานวน 13 ระบบ การผลิตก๊าซชีวภาพจากของเสีย/ขยะอินทรีย์ มีสภาพชํารุดไม่พร้อมใช้งานจํานวน 48 ระบบ การผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ มีสภาพชํารุดไม่พร้อมใช้งาน จํานวน 21 ระบบ และต้นพืชพลังงานทดแทนขาดการดูแลบํารุงรักษาให้มีสภาพสมบูรณ์เพื่อการให้ผลผลิตในทุกพื้นที่ดําเนินการ จํานวน 4 พื้นที่ โดยต้นพืชมีสภาพล้มตายจํานวนมาก พื้นที่เพาะปลูกพืชพลังงานทดแทนมีสภาพรกร้าง วัชพืชและพืชชนิดอื่นขึ้นปกคลุมรกทึบ บางพื้นที่เพาะปลูกมีน้ำท่วมขัง และในบางพื้นที่ขาดแหล่งน้ำปล่อยให้ต้นพืชแห้งตาย
ข้อเสนอแนะ ให้เจ้ากรมการพลังงานทหารพิจารณาดําเนินการ ดังนี้
1. สั่งการให้มีการทบทวนและปรับปรุงกระบวนการสนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนของกรมการพลังงานทหารให้เป็นไปในเชิงวิชาการ โดยคํานึงถึงการมีข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน มีการสอบทานข้อมูลให้สอดคล้องตรงตามข้อเท็จจริง และมีการวิเคราะห์ถึงศักยภาพในการดําเนินการของหน่วยงาน ดังต่อไปนี้
1.1 กระบวนการรวบรวมความต้องการด้านพลังงานทดแทนของหน่วยงาน ต้องสํารวจให้ได้รับข้อมูลที่มีความสอดคล้องกับข้อเท็จจริงและมีวิธีการสอบทานข้อมูลให้เกิดความถูกต้องเพื่อทราบถึงความต้องการที่แท้จริง
1.2 กระบวนการวิเคราะห์ความต้องการและการพิจารณาแนวทางดําเนินการ ให้กําหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกหน่วยงานที่สนับสนุนจากศักยภาพ ความพร้อม ความจําเป็น และความต้องการใช้ประโยชน์ด้านพลังงานทดแทน รวมทั้งมีแผนบริหารจัดการและการใช้ประโยชน์ที่เหมาะสมชัดเจน ตลอดจนการพิจารณากําหนดรูปแบบชนิดพลังงานทดแทนที่สนับสนุนเหมาะสมกับการปฏิบัติงานของหน่วยงาน ความสอดคล้องกับภารกิจหน้าที่ของหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน และพิจารณาถึงความเหมาะสมเกี่ยวกับลักษณะสภาพพื้นที่ดําเนินการ
2. สั่งการให้มีมาตรการ ควบคุม กํากับ ดูแล การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นไปตามกระบวนการ หลักเกณฑ์ วิธีการ หรือคู่มือการปฏิบัติงานที่กําหนด
3. จัดทําข้อกําหนดหรือข้อตกลงร่วมกับหน่วยงานและหน่วยบังคับบัญชาที่ให้การสนับสนุนการดําเนินการด้านพลังงานทดแทน เพื่อให้ข้อมูลและซักซ้อมความเข้าใจในแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องโดยเฉพาะการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ การดูแล ซ่อมแซม ปฏิบัติบํารุงรักษา และการบริหารจัดการ ตลอดจนแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนเกี่ยวกับการบริหารพัสดุภาครัฐตามระเบียบที่กําหนด
ข้อตรวจพบที่ 2 การติดตามและประเมินผลเพื่อกําหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคของการดําเนินโครงการขาดความชัดเจนและเป็นรูปธรรม
จากข้อมูลเอกสารหลักฐานและการสังเกตการณโครงการที่สุ่มตรวจ จํานวน 113 ระบบ พบว่า
กรมการพลังงานทหารขาดการติดตามและประเมินผลเพื่อกําหนดแนวทางแก้ไขสภาพปัญหาและอุปสรรคของการดําเนินโครงการในหน่วยงาน และข้อมูลปัญหาอุปสรรค หรือข้อจํากัดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ได้ถูกใช้เป็นข้อมูลเพื่อการพิจารณาอนุมัติโครงการหรือทบทวนและพัฒนาปรับปรุงการวางแนวนโยบายการส่งเสริมด้านพลังงานทดแทนที่เหมาะสมในระยะต่อไป ทําให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินหรือเงินอุดหนุนจากหน่วยงานภายนอกที่ส่งเสริมสนับสนุนด้านพลังงานทดแทนเป็นไปโดยไม่เกิดความคุ้มค่า ไม่มีประสิทธิผลของการดําเนินการ ดังนี้
1. หน่วยงานที่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนจํานวนมากประสบปัญหาอุปสรรคการใช้งาน การใช้ประโยชน์จากเครื่องมือ และพืชพลังงานทดแทน
2. กรมการพลังงานทหารไม่มีการประเมินผลถึงปัญหาอุปสรรคและข้อจํากัดการดําเนินโครงการในแต่ละประเภทการส่งเสริมที่ผ่านมา
ข้อเสนอแนะ สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้เจ้ากรมการพลังงานทหารพิจารณาดําเนินการ ดังนี้
1. ให้ทบทวนและปรับปรุงกระบวนการติดตามและประเมินผล โดยกําหนดหลักเกณฑ์แนวทาง วิธีการ หรือคู่มือการปฏิบัติงานที่ชัดเจน และสั่งการหน่วยงานที่รับผิดชอบให้มีการประเมินผลการสนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนในทุกโครงการอย่างน้อยปีละครั้ง และประสานงานกับหน่วยงานที่สนับสนุนการดําเนินการรวมทั้งหน่วยงานกํากับดูแลรับผิดชอบหน่วยงานดังกล่าว พร้อมทั้งให้มีการจัดทํารายงานการประเมินผลการสนับสนุนส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนประจําปีในภาพรวมระดับกรมเสนอต่อผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องในระดับนโยบาย
2. สั่งการให้มีการสํารวจ ติดตาม และประเมินผลการดําเนินงานด้านพลังงานทดแทนทุกชนิด ทุกประเภท ทุกโครงการ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาของหน่วยงานที่กรมการพลังงานทหารให้การสนับสนุนเพื่อทราบสภาพข้อเท็จจริง โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม การดูแลบํารุงรักษา และการดําเนินการอย่างเหมาะสมตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ตลอดจนปัญหาอุปสรรคของหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ เพื่อจัดเก็บรวบรวมเป็นข้อมูลทางสถิติเป็นฐานข้อมูล และใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการพิจารณากําหนดนโยบายส่งเสริมสนับสนุนให้กับหน่วยงานที่มีศักยภาพ ความพร้อม ความจําเป็น และตรงความต้องการใช้ประโยชน์ด้านพลังงานทดแทน และนําไปสู่การจัดทํารายงานการประเมินผลการดําเนินงานที่ถูกต้องครบถ้วนสอดคล้องตามสภาพข้อเท็จจริงต่อไป
พร้อมกันนี้ ให้ทบทวนปัญหาและปรับปรุงการดําเนินการของหน่วยงานที่มีปัญหาอุปสรรคในการดําเนินโครงการ และหาข้อสรุปการกําหนดแนวทางปรับปรุงแก้ไขปัญหาอุปสรรคและข้อจํากัดของการดําเนินงานในแต่ละชนิดของพลังงานทดแทนที่ให้การสนับสนุน ซึ่งหากโครงการใดที่พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์หรือไม่คุ้มค่าหรือไม่เหมาะสมกับการดําเนินการหรือภารกิจของหน่วยงานอาจรวบรวมข้อมูลหลักฐานที่เป็นเหตุเป็นผลอันเป็นข้อสรุป เพื่อยุติการดําเนินโครงการตามแต่กรณี
ขณะเดียวกันให้แจ้งกําชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดําเนินการให้ถูกต้องภายใต้ระเบียบข้อบังคับหรือกฎหมายที่กําหนดไว้ และจักต้องถือปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เกี่ยวกับการบริหารพัสดุภาครัฐโดยเคร่งครัด ไม่ให้มีการปล่อยปละละเลยหรือไม่ดําเนินการหรือไม่ซ่อมแซม ดูแลบํารุงรักษา โดยทําให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของทางราชการ
----
ในสัปดาห์หน้า สำนักข่าวอิศราจะนำเสนอผลการตรวจสอบที่สำคัญของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเรื่องใด โปรดติดตาม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
เปิดกรุผลสอบสตง.(1) ชำแหละงบพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกาญฯ ไม่คุ้มค่า ห้องอาบน้ำแร่ถูกทิ้งร้าง
เปิดกรุผลสอบสตง.(2) ตรวจงบยกระดับหมู่บ้านโคราช ใช้ภาพเดียวเบิกเงิน 6 โครงการรวด