เปิดกรุผลสอบสตง.(13) ตรวจศูนย์อาชีพผู้สูงอายุ ไม่เป็นตามวัตถุประสงค์-จัดซื้อไม่คุ้มค่า
“...จากการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานเปรียบเทียบกับวัตถุประสงค์ของ ศพอส. ตั้งแต่ ปีงบประมาณ 2557-2560 พบว่า มี ศพอส. จำนวน 57 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 87.69 ยังไม่ดำเนินงาน/ จัดกิจกรรมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยส่วนใหญ่ดำเนินการไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ 3 ข้อ จำนวน 22 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 33.85 รองลงมาดำเนินการไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ 1 ข้อ จำนวน 17 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 26.15 และดำเนินการไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ 2 ข้อ จำนวน 15 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 23.08 ตามลำดับ หากพิจารณาจำแนกรายวัตถุประสงค์ พบว่า การดำเนินงานของ ศพอส. ส่วนใหญ่ยังไม่ เป็นไปตามวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์ส่งเสริมอาชีพ การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์และการถ่ายทอดภูมิปัญญาของผู้สูงอายุในชุมชน (ข้อ 4) จำนวน 53 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 81.54 รองลงมาเพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลผู้สูงอายุในพื้นที่ (ข้อ 6) จำนวน 36 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 55.38 และเพื่อเป็นศูนย์ส่งเสริมและ สนับสนุนอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ (ข้อ 5) จำนวน 28 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 43.08...”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานตรวจสอบสำคัญของไทย มีหน้าที่ในการป้องกันดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ที่ถูกใช้จ่ายไปอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ที่ผ่านมา สตง.ได้มีการเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบเรื่องการใช้จ่ายเงินที่สำคัญไว้หลายเรื่อง สำนักข่าวอิศรา จึงขอเปิดพื้นที่ตรงนี้ ทุกวันเสาร์ รวบรวมข้อมูลผลการตรวจสอบที่สำคัญมานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบ
ในสัปดาห์ที่ 13 จะเป็นการนำเสนอผลรายงานการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
@ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.)
ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนและสัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจากข้อมูลของ United Nations World Population Ageing คาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี พ.ศ. 2564 เพื่อรองรับกับสถานการณ์ดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2556 รัฐบาลจึงมีข้อสั่งการ เรื่องการพัฒนารูปแบบการดูแลผู้สูงอายุที่ครบวงจร ตามนโยบายด้านสังคมและคุณภาพชีวิต โดยมอบหมาย ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) และสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ ร่วมกันกำหนดรูปแบบการดำเนินงานจัดตั้ง ศูนย์บริการผู้สูงอายุแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งภายหลังการหารือร่วมกัน ได้มีการกำหนดรูปแบบการดำเนินงาน โดยการจัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) และมอบหมายให้ พม. เป็นผู้รับผิดชอบเสนอของบประมาณและดำเนินการ ซึ่งในปี พ.ศ. 2557 มีการจัดตั้ง ศพอส. จำนวน 879 แห่ง ทั่วประเทศ ภายใต้งบประมาณที่ได้รับจัดสรร จำนวน 649.04 ล้านบาท
จากการตรวจสอบการดำเนินงานของ ศพอส. ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557-2560 มีประเด็นข้อตรวจพบและข้อสังเกตที่สำคัญ ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 การดำเนินงานของ ศพอส. ส่วนใหญ่ยังไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด
จากการสุ่มตรวจสอบ ศพอส. จำนวน 65 แห่ง ในพื้นที่ 11 จังหวัด พบว่าการดเนินงาน ส่วนใหญ่ยังไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด และมีความถี่ในการจัดกิจกรรมต่ำกว่ามาตรฐาน การดำเนินงานศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุรายละเอียดมีดังนี้
จากการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานเปรียบเทียบกับวัตถุประสงค์ของ ศพอส. ตั้งแต่ ปีงบประมาณ 2557-2560 พบว่า มี ศพอส. จำนวน 57 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 87.69 ยังไม่ดำเนินงาน/ จัดกิจกรรมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยส่วนใหญ่ดำเนินการไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ 3 ข้อ จำนวน 22 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 33.85 รองลงมาดำเนินการไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ 1 ข้อ จำนวน 17 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 26.15 และดำเนินการไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ 2 ข้อ จำนวน 15 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 23.08 ตามลำดับ
หากพิจารณาจำแนกรายวัตถุประสงค์ พบว่า การดำเนินงานของ ศพอส. ส่วนใหญ่ยังไม่ เป็นไปตามวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์ส่งเสริมอาชีพ การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์และการถ่ายทอดภูมิปัญญาของผู้สูงอายุในชุมชน (ข้อ 4) จำนวน 53 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 81.54 รองลงมาเพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลผู้สูงอายุในพื้นที่ (ข้อ 6) จำนวน 36 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 55.38 และเพื่อเป็นศูนย์ส่งเสริมและ สนับสนุนอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ (ข้อ 5) จำนวน 28 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 43.08
นอกจากนี้ ในมาตรฐานด้านกลไกและการบริหารจัดการ ได้กำหนดมาตรฐาน/ตัวชี้วัดด้านกิจกรรมและบริการทั้งภายในและภายนอก ศพอส. ไว้อย่างน้อย สัปดาห์ละ 3 ครั้งตลอดทั้งปี หมายความว่าควรมีการจัดกิจกรรมอย่างน้อย 156 ครั้งต่อปี พบว่า ส่วนใหญ่มีความถี่ในการจัดกิจกรรมต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด
ข้อเสนอแนะ ให้ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1.จัดให้มีการประเมินผลการดำเนินงานของ ศพอส. โดยเร็ว เพื่อใช้กำหนดแนวทางและแก้ไข ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน
2.จัดให้มีการติดตามผลการดำเนินงานของคณะกรรมการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
3.สั่งการให้ พมจ. ดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดในคู่มือการดำเนินงาน ศพอส. ตลอดจน ติดตามและรายงานผลการดำเนินงานของ ศพอส. ในพื้นที่รับผิดชอบอย่างเคร่งครัด รวมทั้งสั่งการให้กรมกิจการผู้สูงอายุติดตามและเร่งรัดการรายงานดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ
4.จัดให้มีการอบรมให้ความรู้แก่คณะกรรมการ ศพอส. อย่างต่อเนื่อง
5.เร่งรัดการถ่ายโอน ศพอส. ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความพร้อมเพื่อแก้ไขปัญหา เรื่องการบริหารจัดการ
6.ในโอกาสต่อไปหากมีการดำเนินงานโครงการในลักษณะเดียวกันนี้ ควรกำชับหน่วยงานและ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์การคัดเลือก อปท. เพื่อจัดตั้ง ศพอส. อย่างเคร่งครัด
ข้อตรวจพบที่ 2 ครุภัณฑ์ที่จัดซื้อไม่มีการใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์
จากการสุ่มตรวจสอบ ศพอส. จำนวน 65แห่ง ในพื้นที่ 11 จังหวัด พบว่า มี ศพอส. ที่จัดซื้อครุภัณฑ์สำหรับดำเนินงาน จำนวน 59 แห่ง โดยมีจำนวน 35 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 59.32 ที่ครุภัณฑ์บางส่วนไม่มีการใช้ประโยชน์ และมีจำนวน 1 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 1.69 ที่ครุภัณฑ์ทั้งหมดไม่มีการใช้ประโยชน์ ได้แก่ ศพอส. เขาเขน จังหวัดกระบี่
หากพิจารณาจำแนกครุภัณฑ์ตามจำนวนหน่วยที่จัดซื้อ พบว่า ศพอส. จำนวน 59 แห่ง มีการจัดซื้อ ครุภัณฑ์จำนวน 3,534 หน่วย วงเงินที่จัดซื้อ7,530,528.35 บาท มีครุภัณฑ์ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ จำนวน 728 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 20.60 ของครุภัณฑ์ที่จัดซื้อทั้งหมด มูลค่ารวมเป็นเงิน 1,384,083 บาท คิดเป็นร้อยละ 18.38 ของวงเงินที่จัดซื้อทั้งหมดเมื่อพิจารณาครุภัณฑ์ที่ใช้ประโยชน์ จำนวน 2,806 หน่วย พบว่า มีการใช้ประโยชน์ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ จำนวน 190 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 6.77 ของจำนวนครุภัณฑ์ที่ใช้ประโยชน์ทั้งหมด มูลค่ารวมเป็นเงิน 672,845.05 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10.95 ของวงเงินที่จัดซื้อและมีการใช้ประโยชน์ทั้งหมด ทั้งนี้ การใช้ประโยชน์ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์เช่น การนำคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์ และครุภัณฑ์สำนักงานไปใช้ในงานประจำของ อปท.
การที่ครุภัณฑ์ที่จัดซื้อไม่มีการใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ทำให้สูญเสียงบประมาณจากการที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ครุภัณฑ์ จำนวน 728 หน่วย คิดเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 1,384,083 บาท รวมทั้งกรณีที่ใช้ประโยชน์ครุภัณฑ์ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ ศพอส. และเกิดความไม่คุ้มค่า
ข้อเสนอแนะ ให้ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1.สั่งการให้ พมจ. สำรวจครุภัณฑ์ของ ศพอส. ในพื้นที่ หากพบว่า มีจำนวนมากเกินความจำเป็น ให้พิจารณาแจกจ่ายให้กับ ศพอส. อื่นที่มีความต้องการและยังขาดแคลน สำหรับครุภัณฑ์ที่มีความชำรุด เสียหายและอยู่ในระยะเวลารับประกันให้ส่งซ่อมโดยเร็ว
2.เร่งรัดการแก้ไขปัญหาเรื่องความไม่ชัดเจนในกรรมสิทธิ์ของอาคารและครุภัณฑ์ ศพอส. ซึ่งส่งผล ต่อการควบคุมการจัดทำทะเบียนคุม การดูแลซ่อมแซม และบำรุงรักษาครุภัณฑ์ ซึ่งยังไม่มีความชัดเจน ว่าใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์
3.ในโอกาสต่อไปหากมีการจัดทำโครงการในลักษณะเดียวกันควรกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำรวจความต้องการและพิจารณาการจัดซื้อครุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับความต้องการและความจำเป็นในการ ดำเนินกิจกรรมของ ศพอส. ในแต่ละพื้นที่
ข้อสังเกต ไม่มีการกำหนดตัวชี้วัดผลการดำเนินงานในระดับผลลัพธ์
เอกสารข้อเสนอโครงการ ศพอส. มีการกำหนดผลผลิตของโครงการ คือ จำนวนศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ และกำหนดผลลัพธ์ของโครงการคือ (1) ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตดี ทั้งทางกาย และทางจิตใจ (2) ผู้สูงอายุมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ได้เรียนรู้ในเรื่องที่ตอบสนอง ความต้องการของตนเองหรือมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิต (3) ผู้สูงอายุได้รวมกลุ่มทำกิจกรรมของ ชมรมผู้สูงอายุที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ชุมชน สังคม และ (4) ผู้สูงอายุได้รับการฝึกอาชีพและสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประกอบอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว ลดภาระการพึ่งพิง ครอบครัว ชุมชน และภาครัฐ สามารถพึ่งตนเองและใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี
จากการศึกษาเอกสารดังกล่าว พบว่า มีการกำหนดตัวชี้วัดในระดับผลผลิตของโครงการ โดยกำหนดค่าเป้าหมายคือการจัดตั้ง ศพอส. จนวน 879 แห่ง แต่ไม่มีการกำหนดตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน ในระดับผลลัพธ์ซึ่งจะส่งผลต่อการวัดระดับความสเร็จในการดำเนินงานโครงการ
ข้อเสนอแนะ
ให้ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์พิจารณาดำเนินการ โดยในโอกาสต่อไปหากมีการจัดทำโครงการในลักษณะเดียวกันควรกำหนดตัวชี้วัดโครงการให้มีความครบถ้วน ครอบคลุมทั้งในระดับผลผลิตและผลลัพธ์ เพื่อใช้วัดระดับความสำเร็จ ในการดำเนินงานโครงการ
----
ในสัปดาห์หน้า สำนักข่าวอิศราจะนำเสนอผลการตรวจสอบที่สำคัญของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเรื่องใด โปรดติดตาม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
เปิดกรุผลสอบสตง.(1) ชำแหละงบพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกาญฯ ไม่คุ้มค่า ห้องอาบน้ำแร่ถูกทิ้งร้าง
เปิดกรุผลสอบสตง.(2) ตรวจงบยกระดับหมู่บ้านโคราช ใช้ภาพเดียวเบิกเงิน 6 โครงการรวด
เปิดกรุผลสอบสตง.(3) ตรวจการผลิต-ใช้พลังงานทดแทน ‘กรมการพลังงานทหาร’ ล้มเหลวไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(4) ตรวจนโยบายร.ร.ดีใกล้บ้าน ยกระดับการศึกษาล้ม-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(5) ตรวจโครงการพัฒนาลำเชียงไกรโคราช ไม่เสร็จตามแผน-ซื้อของเกินจำเป็น
เปิดกรุผลสอบสตง.(6) ตรวจโครงการพัฒนาพืช-พลังงาน จ.ขอนแก่น 113ล. ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(7) ตรวจโครงการพลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้า-ประปาจ.กาญจนฯ ล้มเหลว-เบิกจ่ายเท็จ
เปิดกรุผลสอบสตง.(8) ตรวจโครงการควมคุมอาคารเขตเทศบาลนคร/เมือง ไม่ปลอดภัย-ผิดกม.อื้อ
เปิดกรุผลสอบสตง.(9) ตรวจการควบคุมเคมีทางเกษตร พบสารต้องห้าม-ร้านขายไม่ปลอดภัย-ผิดกม.
เปิดกรุผลสอบสตง.(10) ตรวจโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติด อปท.ลำปาง ไม่คุ้มงบ-ผิดวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(11) ตรวจโครงการสินค้าเกษตร 4.0 สุพรรณฯ ไม่พร้อมดำเนินการ-ไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(12) ตรวจโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว ขาดความต่อเนื่อง-ไม่ยั่งยืน