เปิดกรุผลสอบสตง.(24) ตรวจโครงการช่วยเกษตรกร/คนจน กำแพงเพชร ผิดระเบียบ-ไม่บรรลุเป้าหมาย
“...การบริหารจัดการทรัพย์สินที่เกิดจากโครงการ กยจ. ไม่เป็นไปตามแนวทางที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด จากการตรวจสอบพบว่า ยังไม่มีการจัดทำทะเบียนคุมทรัพย์สินที่เกิดจากโครงการ กยจ. โดยยังไม่มีการกำหนดรหัสครุภัณฑ์และการเขียนรหัสครุภัณฑ์กำกับที่ตัวทรัพย์สิน เพื่อให้สามารถควบคุมและตรวจสอบได้ รวมถึงไม่มีการตรวจสอบพัสดุประจำปี 2559...”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานตรวจสอบสำคัญของไทย มีหน้าที่ในการป้องกันดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ที่ถูกใช้จ่ายไปอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ที่ผ่านมา สตง.ได้มีการเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบเรื่องการใช้จ่ายเงินที่สำคัญไว้หลายเรื่อง สำนักข่าวอิศรา จึงขอเปิดพื้นที่ตรงนี้ ทุกวันเสาร์ รวบรวมข้อมูลผลการตรวจสอบที่สำคัญมานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบ
ในสัปดาห์ที่ 24 จะเป็นการนำเสนอรายงานการตรวจสอบโครงการตามมาตรการสำคัญเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน (กยจ.) สำนักงานจังหวัดกำแพงเพชร
@ โครงการตามมาตรการสำคัญเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน (กยจ.) สำนักงานจังหวัดกำแพงเพชร
โครงการตามมาตรการสำคัญเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจนในการเสริมสร้าง ความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน (กยจ.) มุ่งช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรหรือองค์กรของเกษตรกรระดับตำบลขึ้นไป เพื่อพัฒนาความเข้มแข็งและให้สมาชิกกลุ่มมีรายได้เพิ่มขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2558 อนุมัติในหลักการในการจัดทำงบประมาณสนับสนุนเพื่อดำเนินแผนงาน/โครงการ กยจ.รวมทั้งหมด 4,966 โครงการ จำนวน 6,740 กิจกรรม งบประมาณทั้งสิ้น 6,529,090,030 บาท ในแผนงาน/ โครงการ 9 ด้าน ได้แก่
1) ด้านการพัฒนาอาชีพ/OTOP 2) ด้านการผลิตพืช 3) ด้านปศุสัตว์4) ด้าน ประมง 5) ด้านเศรษฐกิจพอเพียง6) ด้านปัจจัยการผลิตทางการเกษตร 7) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม 8) ด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรและ 9) ด้านสาธารณูปโภค
โดยกลุ่มเกษตรกรที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการจำนวน 12,515 กลุ่ม รวมจำนวนประชาชนที่คาดว่าได้รับประโยชน์ทั้งหมด 2,187,511 ครัวเรือน โดยใช้งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558
ทั้งนี้กระทรวงมหาดไทยจะต้องตรวจสอบกลั่นกรองแผนงาน/โครงการตามแนวทางและหลักเกณฑ์แนวทางที่กำหนดกล่าวคือจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมของส่วนราชการ/ หน่วยงาน/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดำเนินการในพื้นที่ เป็นโครงการที่ชุมชนสามารถดูแลรักษาและสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่อง มีความพร้อมที่จะดำเนินการได้ทันทีที ่ได้รับอนุมัติโครงการ เป็นโครงการที่จะช่วยบรรเทาหรือแก้ไขปัญหาที่เกษตรกรและชุมชนกำลังประสบปัญหาในสภาวการณ์ปัจจุบัน สถานที่ดำเนินการต้องเป็นสถานที่สาธารณะที่มีหนังสืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์จากหน่วยงานที่ดูแลหรือหากเป็นสถานที่ส่วนบุคคลต้องมีเอกสารยืนยันให้ใช้สถานที่โดยระบุเป็นลายลักษณ์อักษร มีระยะเวลาที่สอดคล้องกับการใช้อาคารสถานที่นั้นๆ
จังหวัดกำแพงเพชรได้รับการจัดสรรงบประมาณสำหรับดำเนินโครงการ กยจ. ทั้งหมด126 โครงการ ในประเภทกิจกรรมหลัก 6 ด้าน ได้แก่ ด้านการพัฒนาอาชีพ/OTOP ด้านการผลิตพืช ด้านปศุสัตว์ ด้านประมง ด้านปัจจัยการผลิตทางการเกษตร และด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร รวมงบประมาณทั้งสิ้น 164,522,300 บาท มีประชาชนที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ จำนวน 27,597 ราย สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้สุ่มตรวจสอบแผนโครงการ กยจ. ของจังหวัดกำแพงเพชรภายใต้กิจกรรมหลัก 6 ด้าน จำนวน 86 โครงการ รวมงบประมาณทั้งสิ้น 127,447,628.85 บาท มีประชาชนที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ทั้งหมด 24,376 ราย ผลการตรวจสอบพบว่า การดำเนินงานตามโครงการ กยจ. ส่วนใหญ่จำนวน 80 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 93.03 ของโครงการที่สุ่มตรวจสอบทั้งหมดรวมงบประมาณที่เบิกจ่ายทั้งหมด 123,959,628.85 บาท มีผู้รับประโยชน์ทั้งหมด 23,678 ราย มีผลการดำเนินโครงการไม่บรรลุวัตถุประสงค์โดยไม่สามารถทำให้ สมาชิกของกลุ่มเกษตรกรมีรายได้เพิ่มใน 3-4 เดือนข้างหน้าหรือตลอดฤดูกาลผลิต ปี 2558 รวมถึง ไม่สามารถพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกรและคนยากจนในระดับตำบลให้มีความยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ โดยมีประเด็นข้อตรวจพบจำนวน 3 ประเด็น และข้อสังเกตจำนวน 1 ประเด็น สรุปได้ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 โครงการ กยจ. ที่ดำเนินการแล้วเสร็จส่วนใหญ่ไม่สามารถพัฒนาและเสริมสร้าง ความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรโดยการเพิ่มรายได้ให้แก่กลุ่มเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน
การดำเนินโครงการ กยจ.จำนวน 56 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 65.12 ของจำนวนที่สุ่มตรวจสอบ ทั้งหมด เมื่อดำเนินโครงการแล้วเสร็จไม่สามารถพัฒนาและเสริมความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรโดยการเพิ่มรายได้ให้แก่กลุ่มเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน ดังนี้
1.1 การดำเนินโครงการ กยจ. ด้านพัฒนาอาชีพ/OTOP ทั้งหมด 14 โครงการ งบประมาณรวมทั้งสิ้น 1,992,950 บาท พบว่าผลการดำเนินโครงการมีผลทำให้สมาชิกของกลุ่มเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการนำวัสดุที่โครงการจัดซื้อให้ไปผลิตสินค้าในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น และไม่ช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือลักษณะหีบห่อของกลุ่มให้ดีขึ้นจากเดิม นอกจากนี้วัสดุ/ครุภัณฑ์/สิ่งปลูกสร้าง บางส่วนไม่มีการใช้ประโยชน์เลยนับตั้งแต่โครงการแล้วเสร็จ เช่น อุปกรณ์การแปรรูปมะนาว ทั้งที่ขณะตรวจสอบผลผลิตมะนาวออกมาล้นตลาดทำให้ราคาตกต่ำมาก แต่สมาชิกของกลุ่มยังไม่สามารถที่จะใช้อุปกรณ์มาแปรรูปเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าของมะนาวได้
1.2 การดำเนินโครงการ กยจ. บางส่วนล้มเหลวไม่สามารถช่วยให้เกษตรกรและคนยากจนที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณมีรายได้หรือลดรายจ่ายในครัวเรือนได้ มีจำนวน 8 โครงการ งบประมาณรวมทั้งสิ้น 4,372,000 บาท ได้แก่ โครงการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวสำหรับปลูกทดแทนการทำนาปรังในพื้นที่อำเภอไทรงามจำนวน 7 ตำบล งบประมาณรวม 3,922,500 บาท และโครงการส่งเสริมกลุ่มเกษตรเลี้ยงปลาในพื้นที่อำเภอขาณุวรลักษบุรี งบประมาณจำนวน 449,500 บาท โดยเมล็ดพันธุ์ ถั่วเขียวที่เกษตรกรนำไปเพาะปลูกไม่งอกและแห้งตาย รวมถึงพันธุ์ปลาที่นำมาเลี้ยงในบ่อดินได้ตายทั้งหมด ทั้งนี้มาจากการจัดทำกิจกรรมดังกล่าวไม่เหมาะสมกับฤดูกาล คือช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายนสภาพอากาศร้อนจัด ทำให้น้ำในบ่อแห้งขอด
1.3 การจัดซื้อวัสดุการเกษตรตามโครงการ กยจ. จำนวน 19 โครงการ งบประมาณรวมทั้งสิ้น 34,048,591.55 บาท ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการที่ต้องการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรและคนยากจนให้ได้ภายใน 3-4 เดือน ได้แก่ โครงการที่แจกเมล็ดพันธุ์ข้าวในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายให้ลดการทำนาปรัง การแจกกิ่งพันธุ์มะนาว กิ่งพันธุ์มะม่วง และกิ่งไผ่กิมซุง
1.4 การดำเนินโครงการ กยจ. จำนวน 9 โครงการ งบประมาณรวมทั้งสิ้น 17,166,878.80 บาท เน้นการแจกจ่ายวัสดุการเกษตรเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ โดยไม่มีการต่อยอดและผลประโยชน์ของโครงการไม่คุ้มค่าหรือได้รับน้อยกว่างบประมาณที่ใช้จ่ายไป ได้แก่ โครงการส่งเสริมการเลี้ยงไก่สามสายพันธุ์และไก่พันธุ์ การเลี้ยงปลาดุกในวงบ่อ การแจกก้อนเห็ด การเลี้ยงกระต่าย และการแจกปุ๋ยอินทรีย์เคมี เป็นต้น ซึ่งเกษตรกรได้ขายผลผลิตที่ได้รับจากโครงการไปหมดแล้วไม่ได้จัดซื้อพันธุ์สัตว์มาเลี้ยงอีก
1.5 วัสดุและอุปกรณ์ทางการเกษตรบางส่วนของโครงการ กยจ. จำนวน 6 โครงการ งบประมาณรวมทั้งสิ้น 1,127,780 บาท ไม่มีการใช้ประโยชน์หรือมีการใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่าหรือใช้ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ รวมถึงวัสดุครุภัณฑ์บางโครงการที่ไม่มีการบำรุงดูแลรักษาปล่อยให้เกิดสภาพของความเสื่อมโทรม ซึ่งส่งผลทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณไปอย่างไม่คุ้มค่า
ข้อตรวจพบที่ 2 การดำเนินโครงการ กยจ. บางส่วนมีลักษณะเป็นการแจกจ่ายปัจจัยการผลิตเพื่อ ประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยไม่มีการจัดทำแผนพัฒนาต่อยอดการผลิตหรือขยายผลไปสู่ชุมชุนอื่นเพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืนในระดับตำบล
พบว่า โครงการจำนวน 17 โครงการ งบประมาณรวมทั้งสิ้น 51,378,400 บาท ที่มีการใช้จ่ายงบประมาณในการจัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์ทางการเกษตรที่ราคาสูง เพื่อประโยชน์เฉพาะแก่เกษตรกรรายใดรายหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น โดยไม่มีการจัดทำแผนพัฒนาต่อยอดการผลิตหรือขยายผลไปสู่ชุมชุนอื่นเพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืนในระดับตำบล ดังนี้
2.1 โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ จำนวน 2 โครงการ งบประมาณรวม 4,104,200 บาท โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดกำแพงเพชรและที่ทำการปกครอง อำเภอทรายทองวัฒนา ได้จัดซื้อโคแม่พันธุ์ จำนวน 154 ตัว เพื่อมอบให้กลุ่มเกษตรกรจำนวน 3 กลุ่ม รวมจำนวนสมาชิก 56 ราย พบว่า มีการพิจารณาโครงการให้กับกลุ่มเกษตรกรที่มีฐานะค่อนข้างดีและมีอาชีพเลี้ยงโคเนื้ออยู่แล้ว การได้รับจัดสรรโคเนื้อจากโครงการ กยจ. เป็นการเพิ่มจำนวนโคเนื้อที่มีอยู่ให้มีมากขึ้น การจัดสรรโคแม่พันธุ์ให้กับกลุ่มเกษตรกรที่เป็นเครือญาติกัน การทำสัญญายืมไม่มีการระบุผลประโยชน์ตอบแทนที่กลุ่มจะคืนให้แก่ชุมชน หรือเพื่อขยายผลไปสู่เกษตรกรรายอื่น ลักษณะการเลี้ยงโคเนื้อไม่ได้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มโคเนื้อ โดยเฉพาะข้อกำหนดหลักด้านสภาพของโรงเรือนเลี้ยงที่แออัด มีมูลสัตว์ที่เปียกแฉะอยู่เต็มบริเวณพื้นโรงเรือนและไม่มีรางน้ำและซองบังคับสัตว์ภายในโรงเรือน โคแม่พันธุ์มากกว่าครึ่งที่เบอร์หูได้หลุดหรือหล่นหายไปแล้วและยังไม่ได้มีการขอเบอร์หูใหม่แต่อย่างใด รวมถึงสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดกำแพงเพชรไม่ได้ขึ้นทะเบียนและทำเครื่องหมายประจำตัวลูกโคที่เกิดจากโคแม่พันธุ์ของโครงการ รวม
ถึงไม่มีการบันทึกหรือดำเนินการใดๆ กรณีโคแม่พันธุ์ของกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงโคบ้านทุ่งมหาศาลตายไป 2 ตัว
2.2 โครงการส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังโดยวิธีการระเบิดดินดานกลุ่มผู้ปลูกมันสำปะหลัง โดยการจัดซื้อรถแทรกเตอร์ขนาด 105 แรงม้า และ 135 แรงม้า พร้อมอุปกรณ์จำนวน 5 โครงการ งบประมาณรวมทั้งสิ้น 12,350,000.00 บาท ให้กับกลุ่มเกษตรกรจำนวน 5 กลุ่ม ในพื้นที่อำเภอเมืองกำแพงเพชร จำนวน 2 กลุ่ม และอำเภอปางศิลาทอง จำนวน 3 กลุ่ม จากการตรวจสอบพบว่ากลุ่มเกษตรกร บางกลุ่มไม่มีการปฏิบัติตาม MOU หรือมีการปฏิบัติแต่ไม่ครบถ้วนตามที่ได้กำหนดไว้เช่น กลุ่มเกษตรกรนิคมสหกรณ์นครชุมไม่มีการเปิดบัญชีธนาคารเพื่อนำเงินสดฝากเข้าเป็นเงินสมทบร้อยละ 10 ไม่มีการจัดทำทะเบียนคุมทรัพย์สินและไม่เขียนหมายเลขรหัสครุภัณฑ์ที่ตัวรถแทรกเตอร์พร้อมอุปกรณ์ อุปกรณ์การไถดินดานบางกลุ่มจะทิ้งไว้กลางแจ้งไม่มีการดูแลรักษาเท่าที่ควร ทุกกลุ่มไม่มีการจัดทำแผนการบริหารการใช้งานและแผนการดูแลบำรุงรักษาเครื่องจักรกลและแนวทางการปฏิบัติอื่นทำให้กลุ่มเกษตรกรมีการใช้ประโยชน์ในการนำรถแทรกเตอร์พร้อมอุปกรณ์บริการไถระเบิดดินดานให้แก่สมาชิกน้อยกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้มาก
2.3 โครงการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังโดยการใช้ระบบน้ำหยดและโครงการส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตอ้อยโรงงานโดยการใช้ระบบน้ำหยด จำนวน 10 โครงการ งบประมาณรวม 34,924,200 บาท จากการตรวจสอบพบว่า เป็นการดำเนินโครงการในลักษณะการแจกจ่ายวัสดุไปให้กับเกษตรกรกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะทั้งที่เกษตรกรกลุ่มดังกล่าวจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาส่งเสริมหรือสนับสนุน ช่วยเหลือ อยู่แล้ว เช่น เกษตรกรที่ปลูกอ้อยโรงงาน การจัดสรรงบประมาณตามโครงการ กยจ. ของ อำเภอเมืองกำแพงเพชรมีความซ้ำซ้อนโดยเกษตรกรกลุ่มเดียวกันได้รับการจัดสรรงบประมาณมากกว่า หนึ่งโครงการบางกลุ่มเมื่อรวมทุกโครงการแล้วจะได้รับจัดสรรมากถึง 8,631,600 บาท การใช้วัสดุอุปกรณ์ของระบบน้ำหยดไม่คุ้มค่าและบางรายการไม่ได้ใช้ประโยชน์ ส่งผลให้การใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินไม่คุ้มค่าและเกิดการสูญเปล่าเป็นจำนวนเงิน 21,826,900 บาท
ข้อตรวจพบที่ 3 การดำเนินโครงการ กยจ. ภายใต้กิจกรรมหลักโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร โดยการขุดเจาะบ่อบาดาลส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
ที่ทำการปกครองอำเภอขาณุวรลักษบุรีได้ดำเนินโครงการทำไร่มันสำปะหลังน้ำหยดเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร โดยการขุดเจาะบ่อบาดาลจำนวน 7 โครงการ รวมขุดเจาะบ่อบาลทั้งหมด 50 บ่อ ใช้จ่ายเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 12,752,958.50 บาท ในพื้นที่ตำบลวังหามแห จากการสุ่มตรวจสอบ บ่อบาดาลจำนวน 21 บ่อ พบว่า มีบ่อบาดาลที่ขุดเจาะแล้วเสร็จแต่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ จำนวน 8 บ่อ คิดเป็นร้อยละ 38.10 เนื่องจากบริเวณที่ขุดเจาะบ่อบาดาลยังไม่มีระบบสายส่งไฟฟ้าและมีบ่อบาดาลที่มีการใช้ประโยชน์ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการจำนวน 13 บ่อคิดเป็นร้อยละ 61.90 เช่น นำไปใช้ร่วมกับระบบประปาหมู่บ้าน มีการใช้ประโยชน์สำหรับพืชผักสวนครัวของเกษตรกรเจ้าของพื้นที่ขุดเจาะเท่านั้น รวมถึงลักษณะพื้นที่ขุดเจาะบ่อบาดาลอยู่ในพื้นที่ของเกษตรกรคนใดคนหนึ่งซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จทำให้เกษตรกรรายอื่นไม่กล้ามาขอใช้น้ำจากบ่อบาดาล ประกอบกับไม่มีถังเก็บน้ำหรือสระน้ำสาธารณะและท่อประปาเชื่อมต่อจากบ่อบาดาลไปยังถังเก็บน้ำหรือสระน้ำเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ร่วมกัน
นอกจากนี้เกษตรกรที่ร่วมสังเกตการณ์ยังให้ข้อมูลว่ายังมีบ่อบาดาลอีกจำนวน 7 บ่อ ใน 6 หมู่บ้านที่ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ภายหลังการขุดเจาะแล้วเสร็จ เนื่องจากไปขุดเจาะในพื้นที่ที่ไม่มีระบบไฟฟ้า อีกทั้งยังอยู่ห่างไกลจากถนนที่มีเสาไฟฟ้าทำให้ไม่สามารถเชื่อมต่อกระแสไฟฟ้าไปใช้ในการสูบน้ำมาใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของโครงการได้ ปัจจุบันเกษตรกรทั้ง 6 หมู่บ้าน ได้มีหนังสือขอรับการสนับสนุนงบประมาณสำหรับติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ขุดเจาะบ่อบาดาลจากองค์การบริหารส่วนตำบลวังหามแห ซึ่ง อบต.วังหามแห ได้นำปัญหาดังกล่าวเข้าที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลวังหามแหสมัยสามัญที่ 3 ประจำปี 2560 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 เพื่อพิจารณาเป็นโครงการ ที่ของบประมาณเพิ่มเติมต่อไป
ข้อสังเกต การดำเนินโครงการ กยจ. ของจังหวัดกำแพงเพชร มีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง หลักเกณฑ์และแนวทางที่กำหนด
1. การพิจารณาตรวจสอบกลั่นกรองโครงการฯ ไม่เป็นไปตามแนวทางและคู่มือในการดำเนินงานตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2558 พบว่า มีการจัดสรรงบประมาณให้กับกลุ่มเกษตรกร และหรือผู้ยากจนและหรือผู้ใช้แรงงานที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการ การพิจารณาโครงการให้กับกลุ่มเกษตรกรที่มีการรวมกลุ่มกันในระดับหมู่บ้าน การพิจารณาโครงการให้กับกลุ่มเกษตรกรกลุ่มเดียวกันหลายโครงการ การพิจารณาอนุมัติเปลี่ยนแปลงโครงการโดยให้จัดซื้อปัจจัยการผลิตทางการเกษตรไม่สอดคล้องกับฤดูกาลผลิต ไม่ตรงกับความต้องการที่กลุ่มเกษตรกรได้เสนอมาครั้งแรก รวมถึงการพิจารณาโครงการที่ไม่ช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตและการลดต้นทุนได้อย่างยั่งยืน เช่น การจัดซื้อ ปุ๋ยอินทรีย์เคมีแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรแทนการซื้อวัสดุเพื่อสอนวิธีการทำปุ๋ยไว้ใช้เอง ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการส่งเสริมการเกษตรตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
2. การบริหารจัดการทรัพย์สินที่เกิดจากโครงการ กยจ. ไม่เป็นไปตามแนวทางที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด จากการตรวจสอบพบว่า ยังไม่มีการจัดทำทะเบียนคุมทรัพย์สินที่เกิดจากโครงการ กยจ. โดยยังไม่มีการกำหนดรหัสครุภัณฑ์และการเขียนรหัสครุภัณฑ์กำกับที่ตัวทรัพย์สิน เพื่อให้สามารถควบคุมและตรวจสอบได้รวมถึงไม่มีการตรวจสอบพัสดุประจำปี 2559
จากการดำเนินโครงการ กยจ. ของจังหวัดกำแพงเพชร ส่วนใหญ่มีผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการที่ต้องการให้สมาชิกของกลุ่มเกษตรกรมีรายได้เพิ่มใน 3-4 เดือน ข้างหน้าหรือตลอดฤดูกาลผลิตและสามารถเสริมความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรรวมถึงสหกรณ์การเกษตรที่มีความต้องการพัฒนาตนเองได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้กรณีการใช้ประโยชน์จากวัสดุอุปกรณ์ของโครงการน้อยหรือไม่ได้ใช้เลย ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณเกิดการสูญเปล่า ไม่คุ้มค่า และเสียโอกาสที่จะนำงบประมาณหรือทรัพย์สินจำนวนดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาหรือเพิ่มศักยภาพให้กับกลุ่มเกษตรกรอื่นที่มีความพร้อมในการบริหารจัดการทรัพย์สินที่เกิดจากงบประมาณแผ่นดิน
ข้อเสนอแนะ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. ในโอกาสต่อไปหากมีการดำเนินโครงการลักษณะเช่นนี้อีกให้ทำการประชุมชี้แจงและหรือ ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของโครงการ หลักเกณฑ์เงื่อนไขต่างๆ วิธีการดำเนินงานโครงการ รวมทั้งข้อห้ามหรือข้อจำกัดการจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้อง และควรมีการจัดการให้กลุ่มเกษตรกรมีความรู้ ความเข้าใจในการคัดเลือกโครงการที่เหมาะสมกับศักยภาพของเกษตรกรเพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการได้ตามที่รัฐบาลคาดหวังไว้รวมทั้งเพื่อเป็นการใช้จ่ายงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด
2. กำชับนายอำเภอทุกแห่งหากมีการดำเนินโครงการในลักษณะเช่นนี้อีก ให้ทำการคัดเลือก โครงการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่โครงการกำหนด โดยในการพิจารณากลั่นกรองและอนุมัติโครงการ ให้พิจารณาเอกสารหลักฐานให้ครบถ้วน รวมทั้งวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และข้อห้ามของโครงการประกอบการพิจารณาอนุมัติโครงการโดยรอบคอบระมัดระวัง เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อกลุ่มเป้าหมายของโครงการมากที่สุด และให้มีการติดตามประเมินผลการดำเนินงานโครงการให้เป็นรูปธรรมตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเพื่อทราบปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไข เพื่อให้การดำเนินงานโครงการเป็นไปตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของโครงการนั้นๆ และสามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในระยะต่อไป
3. กรณีโครงการเพิ่มผลผลิตการเกษตรผู้ปลูกมันสำปะหลังให้กำหนดแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารจัดการสถาบันเกษตรกรในการจัดการและอำนวยความสะดวกเครื่องจักรกลทางการเกษตร แก่เกษตรกรสมาชิก ดังนี้
3.1 จัดทำข้อมูลการผลิตของสมาชิกสหกรณ์กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ
3.2 ถ่ายทอดความรู้บุคลากรของสหกรณ์กลุ่มเกษตรกรให้เป็นนักวางแผนการ ให้บริการเครื่องจักรกล วางแผนการผลิตสามารถให้บริการเกษตรกรสมาชิก เชื่อมโยงกับตลาดได้
3.3 ให้สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชรและกลุ่มเกษตรกรกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติ การให้บริการและอำนวยความสะดวกเครื่องจักรกลทางการเกษตร วิธีการให้บริการ อัตราค่าบริการ และ การบำรุงรักษาเครื่องจักร เน้นการให้บริการเกษตรกรสมาชิกเป็นรายกลุ่มสมาชิก กลุ่มเกษตรกรและ กลุ่มพื้นที่แปลงใหญ่ ซึ่งจะทำให้เกิดประสิทธิภาพการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรสูงสุด เกิดหลักการ ประหยัดต่อขนาด : Economy of scale ส่งผลให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลง และผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มขึ้น โดยอาจใช้วิธีการหมุนเวียนระหว่างกลุ่มได้
4. ในโอกาสต่อไปให้กำชับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานโครงการทุกระดับให้ระมัดระวัง รอบคอบเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการโดยให้ถือปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมาย หนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง และคู่มือการดำเนินงานโครงการโดยเคร่งครัด เพื่อป้องกันการดำเนินงานโครงการที่ซ้ำซ้อนกับแผนงานของส่วนราชการอื่นและไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์โครงการ รวมทั้งความเสียหายที อาจจะเกิดแก่ทางราชการต่อไป
5. กรณีที่ผลการดำเนินโครงการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการและเกิดการสูญเปล่าของงบประมาณตามตารางที่ 27 ให้ดำเนินการหาผู้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวและดำเนินการตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ
ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการดังนี้
สำนักงานจังหวัดกำแพงเพชร
1. กรณีการบริหารจัดการทรัพย์สินที่เกิดจากโครงการ กยจ.
กระทรวงมหาดไทยสั่งการเรื่องแนวทางการขึ้นทะเบียนทรัพย์สินชัดเจนแล้วให้จังหวัดประชุมซักซ้อมกับนายอำเภอและหน่วยงานอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลครุภัณฑ์ รวมทั้งให้อำเภอต่างๆ ประชุมกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับทรัพย์สินเพื่อทราบแนวทางการดำเนินการและปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน เพื่อจะได้ดูแลรักษาทรัพย์สินของทางราชการเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าในระยะยาวต่อไป
2. กรณีการตรวจสอบความชำรุดบกพร่องของครุภัณฑ์ก่อนคืนหลักประกันสัญญา
2.1 ให้ผู้รับผิดชอบโครงการดำเนินการแจ้งผู้รับจ้างมาดำเนินการแก้ไขกรณีครุภัณฑ์ชำรุดและยังอยู่ในระยะเวลาค้ำประกัน หากไม่ดำเนินการแล้วมีผลทำให้ทางราชการได้รับความเสียหายให้ดำเนินการตามระเบียบแบบแผนของทางราชการกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบและผู้เกี่ยวข้อง
2.2 กำชับให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบตรวจสอบครุภัณฑ์ก่อนครบกำหนดระยะเวลาค้ำประกันและให้ตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่ามีครุภัณฑ์ชำรุดบกพร่องให้แจ้งผู้รับจ้างมาซ่อมแซมตามสัญญา
สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดกำแพงเพชรและที่ทำการปกครองอำเภอทรายทองวัฒนา
1. ให้ดำเนินการจัดทำเครื่องหมายประจำตัวโคเนื้อที่จัดซื้อตามโครงการ กยจ. ทั้งนี้เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การจัดระบบการทำเครื่องหมายและขึ้นทะเบียนสัตว์แห่งชาติ หรือ NID เพื่อเป็นหลักฐานรับรองประวัติสัตว์ ตรวจสอบประวัติสัตว์ย้อนหลังได้ตลอดเวลาทำให้ป้องกันหรือควบคุมการเกิดโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคทั้งในประเทศ และต่างประเทศที่มีต่อสินค้าปศุสัตว์ของไทย
2. กรณีไม่มีการระบุผลประโยชน์ตอบแทนต่อชุมชนให้มีการทบทวนสัญญาการยืมโคเนื้อและให้ติดตามประเมินผลตลอดระยะเวลาการยืมโคเนื้อ
3. ในโอกาสต่อไปต้องกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการที่เหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อให้ได้ผู้ที่สนใจมีความต้องการที่จะปรับเปลี่ยนอาชีพอย่างแท้จริง และเพื่อไม่ให้เกิดการร้องเรียนจากกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด
ที่ทำการปกครองอำเภอขาณุวรลักษบุรี
กรณีโครงการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรโดยการขุดเจาะบ่อบาดาล
1. ให้หน่วยงานรับผิดชอบพิจารณามอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพื้นที่ ที่ตั้งของบ่อบาดาลที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์เป็นผู้รับผิดชอบดูแลบำรุงรักษาพร้อมตั้งงบประมาณเพื่อขยายเขตไฟฟ้า
2. กรณีบ่อบาดาลชำรุดเสียหายและยังอยู่ในระยะเวลาค้ำประกันให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ แจ้งผู้รับจ้างดำเนินการแก้ไขให้สามารถใช้งานได้สำหรับบ่อบาดาลที่มีการใช้ประโยชน์ควรพิจารณาให้มีการจัดทำหลักเกณฑ์การใช้น้ำบาดาลเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม
3. ควรจัดให้มีการติดตามผลการใช้ประโยชน์จากบ่อบาดาลอย่างต่อเนื่อง เพื่อประเมินระดับความสำเร็จในภาพรวม
4. ให้ปฏิบัติตามระเบียบกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ว่าด้วยการกำหนดรหัสหมายเลขบ่อน้ำบาดาล รหัสหมายเลขใบอนุญาตและการกำหนดอายุใบอนุญาตประกอบกิจการน้ำบาดาล พ.ศ. 2557 และในโอกาสต่อไป หากมีการดำเนินการในลักษณะเดียวกันอีกให้จังหวัดกำแพงเพชรประสานงานกับสำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาลในเขตพื้นที่เพื่อตรวจสอบศักยภาพของน้ำต้นทุนในพื้นที่ที่จะขุดเจาะเพื่อให้การขุดเจาะได้ทั้งปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการใช้ประโยชน์ของประชาชนกลุ่มเป้าหมาย
----
ในสัปดาห์หน้า สำนักข่าวอิศราจะนำเสนอผลการตรวจสอบที่สำคัญของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเรื่องใด โปรดติดตาม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
เปิดกรุผลสอบสตง.(1) ชำแหละงบพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกาญฯ ไม่คุ้มค่า ห้องอาบน้ำแร่ถูกทิ้งร้าง
เปิดกรุผลสอบสตง.(2) ตรวจงบยกระดับหมู่บ้านโคราช ใช้ภาพเดียวเบิกเงิน 6 โครงการรวด
เปิดกรุผลสอบสตง.(3) ตรวจการผลิต-ใช้พลังงานทดแทน ‘กรมการพลังงานทหาร’ ล้มเหลวไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(4) ตรวจนโยบายร.ร.ดีใกล้บ้าน ยกระดับการศึกษาล้ม-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(5) ตรวจโครงการพัฒนาลำเชียงไกรโคราช ไม่เสร็จตามแผน-ซื้อของเกินจำเป็น
เปิดกรุผลสอบสตง.(6) ตรวจโครงการพัฒนาพืช-พลังงาน จ.ขอนแก่น 113ล. ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(7) ตรวจโครงการพลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้า-ประปาจ.กาญจนฯ ล้มเหลว-เบิกจ่ายเท็จ
เปิดกรุผลสอบสตง.(8) ตรวจโครงการควมคุมอาคารเขตเทศบาลนคร/เมือง ไม่ปลอดภัย-ผิดกม.อื้อ
เปิดกรุผลสอบสตง.(9) ตรวจการควบคุมเคมีทางเกษตร พบสารต้องห้าม-ร้านขายไม่ปลอดภัย-ผิดกม.
เปิดกรุผลสอบสตง.(10) ตรวจโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติด อปท.ลำปาง ไม่คุ้มงบ-ผิดวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(11) ตรวจโครงการสินค้าเกษตร 4.0 สุพรรณฯ ไม่พร้อมดำเนินการ-ไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(12) ตรวจโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว ขาดความต่อเนื่อง-ไม่ยั่งยืน
เปิดกรุผลสอบสตง.(13) ตรวจศูนย์อาชีพผู้สูงอายุ ไม่เป็นตามวัตถุประสงค์-จัดซื้อไม่คุ้มค่า
เปิดกรุผลสอบสตง.(14) ตรวจโครงการแพทย์ฉุกเฉิน อบจ.มหาสารคาม มอบรถพยาบาลช้า-ใช้ผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(15) ตรวจสหกรณ์จ.สุราษฎร์ฯ-ชุมพร ตั้งโรงงานยางพารา แต่ไม่เดินสายพานผลิต
เปิดกรุผลสอบสตง.(16) ตรวจการเก็บค่าภาคหลวงแร่ กรมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ฯ ไม่เป็นตามกฎหมาย
เปิดกรุผลสอบสตง.(17) ตรวจโครงการนาขั้นบันไดจ.น่าน ไม่ตรงเป้าหมาย-เบิกจ่ายเท็จ/ผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(18) ตรวจศูนย์เด็กเล็ก อปท.นครศรีธรรมราช ไร้ประสิทธิภาพ-ไม่ปลอดภัย
เปิดกรุผลสอบสตง.(19) ตรวจสำนักงาน กศน. อุดรธานี ไร้ประสิทธิภาพ-จบช้า/น้อย-พบนศ.ผี
เปิดกรุผลสอบสตง.(20) ตรวจโครงการเกษตรอินทรีย์กาญจนฯ ไม่บรรลุประสงค์-จัดซื้อผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(21) ตรวจโครงการความปลอดภัยทางทะเลพัทยา ระบบ/อุปกรณ์ไม่ตรงตาม TOR
เปิดกรุผลสอบสตง.(22) ตรวจการกำจัดขยะ อปท. นครสวรรค์/พิจิตร ไม่ได้มาตรฐาน-ไม่ตามโรดแม็พ
เปิดกรุผลสอบสตง.(23) ตรวจการพัฒนาชลประทานฉะเชิงเทรา ผิดระเบียบ-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์