เปิดกรุผลสอบสตง.(19) ตรวจสำนักงาน กศน. อุดรธานี ไร้ประสิทธิภาพ-จบช้า/น้อย-พบนศ.ผี
“...นักศึกษาจบน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนนักศึกษาที่ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา การจัดการศึกษาระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่ละระดับใช้เวลาเรียน 4 ภาคเรียน โดยการเปรียบเทียบนักศึกษาที่ขึ้นทะเบียนเรียนเป็นนักศึกษากับจำนวนนักศึกษาที่เรียนจบ ของ กศน. อำเภอ 20 อำเภอ ภาคเรียนที่ 2/2554 ถึง ภาคเรียนที่ 1/2559 พบว่า นักศึกษาที่ขึ้นทะเบียนเรียนใหม่ทั้ง 3 ระดับ จำนวนทั้งสิ้น 108,849 ราย เรียนจบตามเกณฑ์ใน 4 ภาคเรียน จำนวน 21,734 ราย คิดเป็นร้อยละ 19.97 จบล่าช้าระหว่าง 5-10 ภาคเรียน จำนวน 9,499 ราย คิดเป็นร้อยละ 8.72 และนอกจากนี้ยังพบว่า นักศึกษา กศน. ที่มีรายชื่อในทะเบียนนักศึกษาแต่ไม่ได้เป็นนักศึกษา จากการสุ่มตรวจสอบนักศึกษา จำนวน 160 ราย พบว่า มีนักศึกษา กศน. จำนวน 50 ราย ไม่ได้เป็นนักศึกษา กศน.…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานตรวจสอบสำคัญของไทย มีหน้าที่ในการป้องกันดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ที่ถูกใช้จ่ายไปอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ที่ผ่านมา สตง.ได้มีการเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบเรื่องการใช้จ่ายเงินที่สำคัญไว้หลายเรื่อง สำนักข่าวอิศรา จึงขอเปิดพื้นที่ตรงนี้ ทุกวันเสาร์ รวบรวมข้อมูลผลการตรวจสอบที่สำคัญมานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบ
ในสัปดาห์ที่ 19 จะเป็นการนำเสนอรายงานการตรวจสอบการบริหารจัดการการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จังหวัดอุดรธานี (สำนักงาน กศน. จังหวัดอุดรธานี) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ
@ การบริหารจัดการการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จังหวัดอุดรธานี (สำนักงาน กศน. จังหวัดอุดรธานี) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ
สำนักงาน กศน. จังหวัดอุดรธานี ได้รับจัดสรรงบประมาณเพื่อบริหารจัดการการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้บริการกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2555-2559 ได้รับงบประมาณรวมเป็นเงิน 1,116.43 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการ บริหารจัดการการจัดการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การดำเนินการจัดการศึกษาต่อเนื่อง การจัดการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นต้น
จากการตรวจสอบการบริหารจัดการการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการจัดการศึกษาต่อเนื่อง ของสำนักงาน กศน. จังหวัดอุดรธานี และหน่วยงานในสังกัด คือ กศน.อำเภอ จำนวน 8 แห่ง กศน. ตำบล จำนวน 16 แห่ง
ข้อตรวจพบ การบริหารจัดการการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ไม่มีประสิทธิภาพ
1.1 การจัดการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ พบว่า
- นักศึกษาจบน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนนักศึกษาที่ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา การจัดการศึกษาระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่ละระดับใช้เวลาเรียน 4 ภาคเรียน โดยการเปรียบเทียบนักศึกษาที่ขึ้นทะเบียนเรียนเป็นนักศึกษากับจำนวนนักศึกษาที่เรียนจบ ของ กศน. อำเภอ 20 อำเภอ ภาคเรียนที่ 2/2554 ถึง ภาคเรียนที่ 1/2559 พบว่า นักศึกษาที่ขึ้นทะเบียนเรียนใหม่ทั้ง 3 ระดับ จำนวนทั้งสิ้น 108,849 ราย เรียนจบตามเกณฑ์ใน 4 ภาคเรียน จำนวน 21,734 ราย คิดเป็นร้อยละ 19.97 จบล่าช้าระหว่าง 5-10 ภาคเรียน จำนวน 9,499 ราย คิดเป็นร้อยละ 8.72
และนอกจากนี้ยังพบว่า นักศึกษา กศน. ที่มีรายชื่อในทะเบียนนักศึกษาแต่ไม่ได้เป็นนักศึกษา จากการสุ่มตรวจสอบนักศึกษา จำนวน 160 ราย พบว่า มีนักศึกษา กศน. จำนวน 50 ราย ไม่ได้เป็นนักศึกษา กศน.
จากการสุ่มตรวจสอบค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลต้องจ่ายให้กับนักศึกษาที่เรียนจบล่าช้าและไม่ จบการศึกษา ของ กศน. อำเภอ 4 อำเภอ มีนักศึกษาลงทะเบียนเรียนใหม่ในภาคเรียนที่ 2/2554 จำนวนทั้งสิ้น 4,907 ราย ได้รับจัดสรรงบประมาณให้นักศึกษา เป็นเงินทั้งสิ้น 39.06 ล้านบาท จบล่าช้า ระหว่าง 5-10 ภาคเรียน และเรียนไม่จบภายใน 10 ภาคเรียน จำนวน 600 ราย และ 2,928 ราย เป็นเงิน 23.38 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 59.85
- การจัดการเรียนการสอน ไม่สามารถพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาได้ สำนักงาน กศน.จังหวัดอุดรธานี กำหนดวิธีการเรียนการสอนแบบพบกลุ่มรูปแบบเดียวสัปดาห์ละ 6 ชั่วโมง จากการตรวจสอบ พบว่า นักศึกษาเข้าเรียนแบบพบกลุ่มน้อยมาก แต่การลงทะเบียนเรียนในระบบ IT/ ใบแสดงผลการเรียน จำนวน 76 ราย พบว่า นักศึกษา จำนวน 8 ราย ไม่เคยเข้าพบกลุ่มหรือทำงานส่ง ไม่เคยไปสอบปลายภาค แต่ใบแสดงผลการเรียนมีคะแนนระหว่างภาคและปลายภาค นักศึกษา จำนวน 40 ราย ไม่เคยเข้าเรียนแต่เข้าสอบปลายภาค แต่ใบแสดงผลการเรียนมีคะแนนระหว่างภาค นักศึกษา จำนวน 6 ราย ไม่เข้าเรียน แต่เข้าร่วมกิจกรรมและสอบปลายภาค นักศึกษา จำนวน 13 ราย เข้าเรียนบางครั้งและเข้าสอบปลายภาค และนักศึกษา จำนวน 9 ราย เรียนทุกครั้งและสอบปลายภาค และยังพบว่านักศึกษา จำนวน 2 ราย ของ กศน. อำเภอ 2 แห่ง ให้บุตรมาสอบปลายภาคแทน
- การจัดหาหนังสือเรียน ไม่มีคุณภาพ ไม่คุ้มค่า และไม่ทั่วถึง เพียงพอ จากการตรวจสอบเอกสารการจัดหาหนังสือเรียนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 (ภาคเรียนที่ 2/2558 และ ภาคเรียนที่ 1/2559) ของสำนักงาน กศน. จังหวัดอุดรธานี กศน. อำเภอ จำนวน 8 แห่ง และสุ่มสังเกตการณ์หนังสือเรียนระดับ ปวช. ที่ กศน.อำเภอ จำนวน 7 แห่ง ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่ กศน. ตำบล 14 แห่ง (ยกเว้น กศน. อำเภอนายูง) โดยที่สำนักงาน กศน. จังหวัดอุดรธานี และ กศน. อำเภอ จำนวน 8 แห่ง ดำเนินการจัดหาหนังสือทั้ง 2 ภาคเรียน เป็นเงิน 10,314,273 บาท จำนวน 757 รายการ 93,441 เล่ม จากการตรวจสอบและ สังเกตการณ์ พบว่า จัดหาหนังสือเรียนบางรายวิชามีสภาพเก่า ไม่มีคุณภาพ ส่วนมากกระดาษที่ใช้พิมพ์หนังสือเรียนเนื้อในเล่มมีสภาพเก่า สีเหลือง เนื้อหยาบ ผิวกระดาษลอก บางเล่มเนื้อในกระดาษมีหลายสีสลับกันในเล่มเดียวกันทั้งเล่ม บางเล่มเข้าเล่มโดยเย็บลวดซึ่งไม่มีความคงทนแน่นหนา ไม่ระบุปีที่ พิมพ์หรือผู้จ้างพิมพ์และบางรายวิชาไม่มีใบอนุญาตพิมพ์ไว้ปกหลังในเล่ม
กศน. อำเภอ จำนวน 8 แห่ง จัดหาหนังสือไม่เพียงพอบางรายวิชาจัดหาไม่เพียงพอ กับจำนวนนักศึกษาลงทะเบียนเรียน หรือไม่มีการจัดหาให้ ซึ่ง กศน.อำเภอ ที่จัดหาไม่เพียงพอกับจำนวนนักศึกษาลงทะเบียนเรียนมากที่สุด มี กศน. อำเภอ 1 แห่ง โดยจัดหาในภาคเรียนที่ 2/2558 จำนวน 6,518 เล่ม และภาคเรียนที่ 1/2559 จำนวน 10,341 เล่ม และ กศน. อำเภอ 7 แห่ง จัดหาหนังสือเรียนในปริมาณสูงกว่านักศึกษาลงทะเบียน รวมทั้งสิ้น 11,893 เล่ม โดยบางรายวิชาไม่มีนักศึกษาลงทะเบียนเรียนและมีปริมาณสูงกว่าจำนวนนักศึกษาลงทะเบียนเรียน
นอกจากนี้จากการสุ่มตรวจสอบยังพบว่า จัดหาหนังสือเรียนให้นักศึกษาคนเดียวกันหลายครั้ง บางรายวิชามีอยู่เดิมแต่มีการจัดหาใหม่ทำให้มีจำนวนหนังสือเพิ่มมากขึ้น
- กศน. ตำบลบางแห่ง อาคาร สถานที่ และวัสดุอุปกรณ์ ไม่เอื้ออำนวยในการใช้จัดการเรียนการสอนและกิจกรรมหลัก พบว่า กศน.ตำบล จำนวน 6 แห่ง อาคาร สถานที่ วัสดุอุปกรณ์ ไม่เอื้ออำนวยที่จะใช้เป็นศูนย์กลางการจัดกิจกรรม หรือการพบกลุ่ม หรือเป็นแหล่งเรียนรู้ตามอัธยาศัย เช่น สถานที่คับแคบมาก ใช้สถานที่ร่วมกับหน่วยงานอื่น เครื่องคอมพิวเตอร์ชำรุดใช้งานไม่ได้เป็นต้น
กรณีดังกล่าวข้างต้น ทำให้การใช้งบประมาณไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์เกิดความไม่คุ้มค่างบประมาณสูญเปล่า ในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้กับนักศึกษาที่จบล่าช้าและไม่จบการศึกษา ไม่มี สภาพเป็นนักศึกษา จัดหาหนังสือเกินความจำเป็น ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาหรือยกระดับการศึกษาที่สูงอย่างมีคุณภาพตามบริบทของการศึกษานอกระบบ
ข้อเสนอแนะ ให้ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน. จังหวัดอุดรธานี พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. ให้กำหนดเป้าหมายการจบของนักศึกษาให้เหมาะสม เช่น ตั้งเป้าหมายการจบของนักศึกษา ร้อยละ 60 ของจำนวนนักศึกษาที่ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา เป็นต้น โดยควรพิจารณา แบ่งกลุ่มนักศึกษาออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 นักศึกษาที่พลาดโอกาสในการเข้าเรียนโรงเรียนภาคปกติ ซึ่งมีความต้องการที่จะเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น กลุ่มดังกล่าวจึงต้องมีความเข้มข้นในเนื้อหา การกำหนดเวลาเรียน/พบกลุ่ม หรือวิธีการเรียนให้ได้มาตรฐานมีคุณภาพตามกฎหมายกำหนดและมีการประเมินตามมาตรฐานเพื่อให้สามารถแข่งขันกับนักศึกษาที่เรียนในภาคเรียนปกติได้
กลุ่มที่ 2 นักศึกษาที่ต้องการเรียนเพื่อใช้วุฒิหรือใบประกาศนียบัตรไปประกอบอาชีพ เช่น ทำงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นต้น ซึ่งกลุ่มดังกล่าวควรลดความเข้มข้นของเนื้อหาลงจากกลุ่มที่ 1 แต่จะมุ่งเน้นเพื่อการประกอบอาชีพ
กลุ่มที่ 3 นักศึกษา/ประชาชนที่มีความต้องการเรียนหนังสือเพื่อเพิ่มพูนความรู้ หรือเป็น การรวมกลุ่มจิตอาสา หรือพบกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เช่น ปราชญ์ชาวบ้าน เป็นต้น
2. ให้พิจารณาทบทวนวิธีการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสถานะภาพของนักศึกษา โดยอาจกำหนดตามการแบ่งกลุ่มนักศึกษาตามข้อ 1 เพื่อให้การตั้งเป้าหมายการจบของนักศึกษา วิธีการเรียนการสอนหรือการพบกลุ่มมีความชัดเจนสอดคล้องกับสถานะภาพของนักศึกษา
3. ให้กำหนดเป้าหมายจำนวนนักศึกษาที่ ครู กศน. ตำบล หรือครู ศรช.ต้องรับผิดชอบ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ไม่ควรให้มีการโอนนักศึกษาติดตามตัวกรณีที่มีการโยกย้าย และให้มีการรายงานการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานเกี่ยวกับนักศึกษาที่อยู่ในความรับผิดชอบ การจัดการเรียน การสอน การจบของนักศึกษา และหนังสือเรียน เพื่อให้สามารถป้องกันหรือแก้ไขปัญหาได้ทันกาล
4. ให้พิจารณากำหนดแนวทางปฏิบัติ/เครื่องมือ และทบทวนการประเมินผลการปฏิบัติงาน ครู กศน. ตำบล หรือ ครู ศรช. ให้สอดคล้องกับการกำหนดเป้าหมายการจบของนักศึกษา เพื่อให้การใช้งบประมาณมีประสิทธิภาพสามารถจัดการเรียนการสอนให้นักศึกษาได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพที่สูงขึ้น และเป็นการป้องกันมิให้เกิดการใช้งบประมาณที่สูญเปล่า เกิดความไม่คุ้มค่าที่ต้องใช้งบประมาณให้กับผู้ที่ไม่ได้เป็นนักศึกษา นักศึกษาที่จบล่าช้า หรือไม่จบการศึกษา และจัดหาหนังสือในปริมาณที่สูงกว่าจำนวนนักศึกษาลงทะเบียน
5. ให้กำชับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการจัดหาหนังสือเรียนหรือนำหนังสือเรียนไปใช้ใน สถานศึกษา กศน. ให้ปฏิบัติตามหนังสือสั่งการของสำนักงาน กศน. และสำนักงาน กศน.จังหวัดอย่างเคร่งครัด และให้ตรวจรับหรือตรวจสอบหนังสือที่นำมาใช้ในสถานศึกษา กศน. เกี่ยวกับความถูกต้องของอักษร หนังสือ คุณภาพหนังสือ ใบอนุญาตให้ใช้หนังสือเรียนในสถานศึกษา และปีที่พิมพ์หนังสือ เพื่อให้ได้ หนังสือเรียนใหม่และมีความถูกต้องของอักษรหนังสือ รวมทั้งให้สำรวจตรวจสอบหนังสือเรียนที่มีอยู่เดิม มาประกอบการจัดหาหนังสือเรียนเพิ่มเติม
กรณีที่พบว่า หนังสือเรียนที่เป็นต้นฉบับมาจากสำนักงาน กศน. มีความผิดพลาด ไม่ถูกต้อง ควรรายงานสำนักงาน กศน. จังหวัดอุดรธานี เพื่อดำเนินการต่อไป
6. ให้ฝึกอบรมหรือส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาศักยภาพ ครู กศน. ตำบล หรือครู ศรช. ที่ต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมในรายวิชาที่ไม่มีความถนัดหรือความชำนาญ เพื่อเป็นการพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพในการจัดการเรียนการสอนให้กับนักศึกษา กรณีที่รายวิชาต้องใช้บุคลากรที่มีความชำนาญเฉพาะทาง ควรขอความอนุเคราะห์ขอสนับสนุนอาจารย์โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยช่วยในการสอน และในโอกาสต่อไป การจัดหาครู กศน. ตำบล หรือครู ศรช. ควรพิจารณาจากรายวิชาที่ขาดแคลนผู้สอน
7. ให้ชี้แจงทำความเข้าใจเครือข่ายในชุมชนให้เห็นความสำคัญในการจัดตั้ง กศน. ตำบล และร่วมกันจัดกิจกรรมเรียนรู้ โดยส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนในชุมชน/สังคม เข้ามามีส่วนร่วมเป็นภาคีเครือข่ายในการดำเนินการจัดกิจกรรม โดยใช้ต้นทุนของชุมชน เช่น อาคาร สถานที่ แหล่ง วิทยากร ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น
กรณีอาคาร สถานที่ ครุภัณฑ์ที่เป็นทรัพย์สินของสำนักงาน กศน. ตำบล /อำเภอ ควรกำหนดแผนการใช้จ่ายเงินเพื่อซ่อมแซมบำรุงรักษาให้สามารถใช้งานได้
8. ให้ตรวจสอบ ติดตาม นิเทศ และประเมินผลการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์เป้าหมายของการจัดการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการจัดหาหนังสือเรียนที่มีคุณภาพเพียงพอกับจำนวนนักศึกษา และให้กำชับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบหรือผู้ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และหนังสือสั่งการอย่างเคร่งครัด
1.2 การจัดการศึกษาต่อเนื่อง ไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์และไม่เป็นไปตามคู่มือการดำเนินการจัดการศึกษาต่อเนื่อง
จากการตรวจสอบโครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ของ กศน. อำเภอ 8 แห่ง 16 ตำบล จำนวน 48 กลุ่ม เป็นเงิน 703,375 บาท พบว่า
- ไม่มีการเปิดสอนตามหลักสูตรที่ได้รับอนุญาตและได้รับอนุมัติงบประมาณ กศน. ตำบล 3 แห่ง 2 อำเภอ รวมจำนวน 7 หลักสูตร/กลุ่ม ไม่ได้เปิดสอนตามหลักสูตรที่ได้รับอนุญาตและได้รับอนุมัติงบประมาณ เป็นเงิน 90,900 บาท และได้ตรวจสอบเพิ่มอีก จำนวน 3 กลุ่ม เป็นเงิน 40,000 บาท ไม่มีการดำเนินการเช่นเดียวกัน รวมหลักสูตรที่ไม่ได้ดำเนินการเปิดสอนทั้งสิ้น จำนวน 10 กลุ่ม เป็นเงิน 130,900 บาท
นอกจากนี้ยังพบว่า โครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน ของ กศน. อำเภอ 1 แห่ง ทุกหลักสูตร/กลุ่ม ไม่ได้ขอความเห็นชอบแผนการใช้งบประมาณ จากสำนักงาน กศน. จังหวัดอุดรธานี
- ผู้เรียนเมื่อจบหลักสูตร ไม่ได้นำความรู้ไปประกอบอาชีพหรือต่อยอดอาชีพเดิม จากการตรวจสอบ พบว่า วิทยากรไม่ได้ประเมินผลตามหลักเกณฑ์กำหนด ครู กศน. ตำบล เป็นผู้จัดทำเอกสาร และ กศน. อำเภอ ไม่ได้มีการติดตามผู้เรียนในการนำไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์
และยังพบว่า 1) กลุ่มสนใจ จำนวน 6 กลุ่ม ผู้เรียนส่วนมากเมื่อจบหลักสูตรไม่ได้นำไปใช้ใน ชีวิตประจำวัน จัดทำหลักสูตรไม่ตรงตามความต้องการหรือปัญหา จัดทำหลักสูตรไม่เหมาะสมกับผู้เรียน 2) ชั้นเรียนวิชาชีพ จำนวน 26 กลุ่ม ไม่ได้นำความรู้ไปใช้ประโยชน์ หรือต่อยอดอาชีพเดิม เพื่อสร้างรายได้ โดยหลักสูตรที่เป็นการต่อยอดอาชีพเดิม ซึ่งผู้เรียนส่วนมากไม่ได้ลงมือปฏิบัติเรียนไม่ครบชั่วโมงตามหลักสูตรส่วนหลักสูตรช่างพื้นฐาน จำนวน 25 กลุ่ม ส่วนมากผู้เรียนไม่ได้ลงมือฝึกปฏิบัติ ผู้ที่มีความรู้หรือวิทยากรจะเป็นผู้ลงมือปฏิบัติ และเข้าเรียนไม่ครบชั่วโมงตามหลักสูตรเนื่องจากมีงานประจำ
- จัดทำหลักสูตรโดยมุ่งเน้นให้มีการพัฒนาอาคาร สถานที่ กศน. จากการตรวจสอบสังเกตการณ์สถานที่ใช้ฝึกปฏิบัติการดำเนินโครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน ที่หลักสูตรเกี่ยวกับช่างพื้นฐาน ได้แก่ ช่างปูน ช่างปูกระเบื้อง ช่างเชื่อม ช่างทาสี จำนวน 22 หลักสูตร พบว่า มุ่งเน้นที่จะให้ผลผลิตจากการฝึกปฏิบัติเป็นการพัฒนาอาคาร สถานที่ ของ กศน. ตำบล หรือสถานที่สาธารณะในชุมชน ในการคำนวณปริมาณวัสดุใช้ฝึกปฏิบัติจึงคำนวณจากพื้นที่หรือสิ่งก่อสร้าง หากงบประมาณไม่เพียงพอก็จะเปิดสอนเป็นรุ่น หรือเพิ่มกลุ่ม เพื่อให้ได้วัสดุเพียงพอที่จะดำเนินการ และผู้ที่ลงมือฝึกปฏิบัติจะเป็นผู้ที่มีความรู้มาก่อนหรือวิทยากรเพื่อไม่ให้วัสดุเสียหาย
- จัดซื้อวัสดุใช้ฝึกปฏิบัติบางรายการ ไม่เกี่ยวข้องกับการสอนตามหลักสูตร และมีปริมาณสูงเกินความจำเป็น จากการตรวจสอบการจัดซื้อวัสดุใช้ฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับช่างพื้นฐาน ของ กศน. อำเภอ 8 แห่ง จำนวน 22 กลุ่ม พบว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการสอนตามหลักสูตร กศน. อำเภอ จำนวน 4 แห่ง 11 กลุ่ม จัดซื้อวัสดุใช้ฝึกปฏิบัติไม่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรที่เปิดสอน จำนวน 10 รายการ เป็นเงิน 13,650 บาท และ กศน. อำเภอ 2 แห่ง มีการจัดซื้อวัสดุในปริมาณสูงเกินความจำเป็นหรือแบ่งไปพัฒนา กศน. อื่น จำนวน 9 หลักสูตร/กลุ่ม 20 รายการ เป็นเงิน 124,890.00 บาท
- ใช้งบประมาณโครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนไปดำเนินกิจกรรมอื่น พบว่า กศน. อำเภอ 2 แห่ง 2 หลักสูตร/กลุ่ม เป็นเงิน 42,975 บาท ใช้งบประมาณไปดำเนินกิจกรรมอื่นที่ไม่เกี่ยวกับประชาชน ได้แก่ หลักสูตรการเลี้ยงไก่ไข่ (ต่อเนื่อง) ไม่ได้ฝึกอบรมให้ประชาชนทั่วไป แต่ไปก่อสร้างโรงเลี้ยงไก่ไข่และหลักสูตรการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาต่อเนื่อง โครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน เป็นเงิน 10,000 บาท เป็นการอบรมพัฒนาบุคลากรภายใน กศน. อำเภอ
การจัดการศึกษาต่อเนื่อง ไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์และไม่เป็นไปตามคู่มือการดำเนินการจัดการศึกษาต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายไม่ได้รับการพัฒนาด้านอาชีพอย่างจริงจัง และไม่ก่อให้เกิดการต่อยอดอาชีพ มิได้สร้างรายได้แก่ประชาชน หรือนักศึกษา กศน. ได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืนได้
ข้อเสนอแนะ ให้ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน. จังหวัดอุดรธานี พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. ให้ กศน. ตำบล สำรวจรวบรวมความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นที่มีการรวมกลุ่ม กันเพื่อต้องการพัฒนาความรู้ ทักษะ หรือการพัฒนาอาชีพเดิม และจัดทำเป็นแผนการจัดการศึกษาต่อเนื่อง โครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนประจำปี และให้ตรวจสอบถึงความสอดคล้องตามนโยบายรัฐบาล การพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนาท้องถิ่น
ควรแยกกลุ่มเป้าหมายผู้เรียนหลักสูตรให้ชัดเจน เช่น กลุ่มที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิต กลุ่มที่ต้องการสร้างอาชีพ กลุ่มที่ต้องการพัฒนาต่อยอดอาชีพเดิม หรือกลุ่มที่ต้องการเพิ่มมูลค่าสินค้า หรือบรรจุภัณฑ์หรือกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องการเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพหรือต้องการเพิ่มทักษะ เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นต้น
ทั้งนี้หลักสูตร เนื้อหา และวิธีการ ควรกำหนดตามศักยภาพของผู้เรียนที่ไม่มีความรู้ ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีความรู้เดิม เพื่อให้การจัดทำหลักสูตรบรรลุตามวัตถุประสงค์ เป้าหมาย
2. ให้กำหนดหลักสูตร/เนื้อหา วิธีการสอน และการฝึกปฏิบัติให้สอดคล้องกับสภาพผู้เรียน กรณีกลุ่มที่ต้องการพัฒนาอาชีพหรือสร้างอาชีพควรอ้างอิงหลักวิชาการหรือมาตรฐาน เช่น แนวทาง ปฏิบัติของกรมฝีมือแรงงาน เป็นต้น และให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพแรงงานนอกระบบภาค การเกษตรเพื่อสร้างรายได้ เช่น พัฒนาทักษะทางด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ผสมผสานกับ ภูมิปัญญาท้องถิ่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าการให้บริการและการหาตลาด เป็นต้น
3. ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบนิเทศงานของสำนักงาน กศน. จังหวัด และ กศน. อำเภอ นิเทศงาน ติดตามประเมินผลการดำเนินการจัดการศึกษาต่อเนื่องให้ทราบถึงผลการดำเนินการ ปัญหาอุปสรรคหรือข้อจำกัดที่ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามแผนหรือให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ เป้าหมาย นโยบายที่สำนักงาน กศน. จังหวัดอุดรธานี กำหนด และให้ กศน. จังหวัดอุดรธานี รวบรวม ผลการดำเนินงาน พร้อมปัญหาอุปสรรคหรือข้อจำกัดในภาพรวมของ กศน. จังหวัดอุดรธานี เพื่อดำเนินการต่อไป
4. ให้กำชับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบของ กศน. อำเภอ และ กศน. จังหวัดอุดรธานี ให้มีการตรวจสอบเอกสารหลักฐานการเบิกจ่ายเงินให้ทั่วถึง ถูกต้อง เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ หนังสือ สั่งการกำหนด และหากพบว่า ยังมีการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ หรือหนังสือสั่งการกำหนด หรือมีการจัดทำเอกสารไม่ตรงตามข้อเท็จจริง ไม่ปฏิบัติตามแผนการใช้งบประมาณ หรือมีการใช้งบประมาณไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ควรมีการกำหนดบทลงโทษตามควรแก่กรณี
5. ให้ตรวจสอบ กศน. อำเภออื่นๆ ที่ไม่ได้รับการตรวจสอบ หากพบว่าเกิดกรณีเช่นเดียวกับ กศน. อำเภอ 8 แห่ง ให้ดำเนินการเช่นเดียวกันกับ กศน. อำเภอ ทั้ง 8 แห่ง
----
ในสัปดาห์หน้า สำนักข่าวอิศราจะนำเสนอผลการตรวจสอบที่สำคัญของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเรื่องใด โปรดติดตาม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
เปิดกรุผลสอบสตง.(1) ชำแหละงบพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกาญฯ ไม่คุ้มค่า ห้องอาบน้ำแร่ถูกทิ้งร้าง
เปิดกรุผลสอบสตง.(2) ตรวจงบยกระดับหมู่บ้านโคราช ใช้ภาพเดียวเบิกเงิน 6 โครงการรวด
เปิดกรุผลสอบสตง.(3) ตรวจการผลิต-ใช้พลังงานทดแทน ‘กรมการพลังงานทหาร’ ล้มเหลวไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(4) ตรวจนโยบายร.ร.ดีใกล้บ้าน ยกระดับการศึกษาล้ม-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(5) ตรวจโครงการพัฒนาลำเชียงไกรโคราช ไม่เสร็จตามแผน-ซื้อของเกินจำเป็น
เปิดกรุผลสอบสตง.(6) ตรวจโครงการพัฒนาพืช-พลังงาน จ.ขอนแก่น 113ล. ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(7) ตรวจโครงการพลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้า-ประปาจ.กาญจนฯ ล้มเหลว-เบิกจ่ายเท็จ
เปิดกรุผลสอบสตง.(8) ตรวจโครงการควมคุมอาคารเขตเทศบาลนคร/เมือง ไม่ปลอดภัย-ผิดกม.อื้อ
เปิดกรุผลสอบสตง.(9) ตรวจการควบคุมเคมีทางเกษตร พบสารต้องห้าม-ร้านขายไม่ปลอดภัย-ผิดกม.
เปิดกรุผลสอบสตง.(10) ตรวจโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติด อปท.ลำปาง ไม่คุ้มงบ-ผิดวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(11) ตรวจโครงการสินค้าเกษตร 4.0 สุพรรณฯ ไม่พร้อมดำเนินการ-ไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(12) ตรวจโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว ขาดความต่อเนื่อง-ไม่ยั่งยืน
เปิดกรุผลสอบสตง.(13) ตรวจศูนย์อาชีพผู้สูงอายุ ไม่เป็นตามวัตถุประสงค์-จัดซื้อไม่คุ้มค่า
เปิดกรุผลสอบสตง.(14) ตรวจโครงการแพทย์ฉุกเฉิน อบจ.มหาสารคาม มอบรถพยาบาลช้า-ใช้ผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(15) ตรวจสหกรณ์จ.สุราษฎร์ฯ-ชุมพร ตั้งโรงงานยางพารา แต่ไม่เดินสายพานผลิต
เปิดกรุผลสอบสตง.(16) ตรวจการเก็บค่าภาคหลวงแร่ กรมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ฯ ไม่เป็นตามกฎหมาย
เปิดกรุผลสอบสตง.(17) ตรวจโครงการนาขั้นบันไดจ.น่าน ไม่ตรงเป้าหมาย-เบิกจ่ายเท็จ/ผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(18) ตรวจศูนย์เด็กเล็ก อปท.นครศรีธรรมราช ไร้ประสิทธิภาพ-ไม่ปลอดภัย