เปิดกรุผลสอบสตง.(18) ตรวจศูนย์เด็กเล็ก อปท.นครศรีธรรมราช ไร้ประสิทธิภาพ-ไม่ปลอดภัย
“…การก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กไม่เป็นไปตามแบบมาตรฐานประเภทอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย จำนวน 29 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 90.63 มีการติดตั้งประตูห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ มีระดับความสูงจากพื้น ขนาดกว้าง ยาว ไม่ถูกต้องตามแบบรูปรายการ ไม่สามารถมองเห็นเด็กจากภายนอกได้ ติดตั้งโถสุขภัณฑ์เด็ก เป็นขนาดผู้ใหญ่ ซึ่งไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสมกับตัวเด็ก และไม่เป็นไปตามแบบรูปรายการ การก่อสร้างห้องน้ำผิดวัตถุประสงค์ การใช้งานมีการปรับเปลี่ยนแปลงห้องน้ำเด็กเป็นห้องน้ำครู โดยไม่รายงานเหตุผลความจำเป็น เพื่อขอทำความตกลงกับผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2558 ข้อ 129 (2) และการปรับเปลี่ยนห้องน้ำเด็ก เป็นห้องน้ำครู ทำให้ห้องน้ำเด็กมีไม่เพียงพอ และไม่เป็นไปตามสัดส่วนมาตรฐานของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่กำหนดให้โดย เฉลี่ย 1 ที่ ต่อเด็ก 10-20 คน...”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานตรวจสอบสำคัญของไทย มีหน้าที่ในการป้องกันดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ที่ถูกใช้จ่ายไปอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ที่ผ่านมา สตง.ได้มีการเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบเรื่องการใช้จ่ายเงินที่สำคัญไว้หลายเรื่อง สำนักข่าวอิศรา จึงขอเปิดพื้นที่ตรงนี้ ทุกวันเสาร์ รวบรวมข้อมูลผลการตรวจสอบที่สำคัญมานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบ
ในสัปดาห์ที่ 17 จะเป็นการนำเสนอรายงานการตรวจสอบเงินอุดหนุนเฉพาะกิจก่อสร้างอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดนครศรีธรรมราช ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดนครศรีธรรมราช กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
@ เงินอุดหนุนเฉพาะกิจก่อสร้างอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดนครศรีธรรมราช ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดนครศรีธรรมราช กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้จัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จำนวน 37 แห่ง เป็นเงินจำนวน 92,236,000.00 บาท และให้ดำเนินการตามแนวทางการปฏิบัติเพื่อเร่งรัดการจัดหาพัสดุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 โดยดำเนินการจัดจ้างก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามแบบมาตรฐานอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ขนาดไม่เกิน 50 คน ตามแบบที่ สถ.ศพด.1ขนาด 51-80 คน ตามแบบที่ สถ.ศพด.2 และขนาด 81-100 คน แบบที่ สถ.ศพด.3 จากการตรวจสอบการดำเนินงานเงินอุดหนุนเฉพาะกิจก่อสร้างอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดนครศรีธรรมราช ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จำนวน 32 แห่ง มีข้อตรวจพบที่สำคัญ 3 ประเด็น สรุปได้ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 การก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กไม่มีประสิทธิภาพ
1.1 การก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กไม่เป็นไปตามแบบมาตรฐานประเภทอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย จำนวน 29 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 90.63 มีการติดตั้งประตูห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ มีระดับความสูงจากพื้น ขนาดกว้าง ยาว ไม่ถูกต้องตามแบบรูปรายการ ไม่สามารถมองเห็นเด็กจากภายนอกได้ ติดตั้งโถสุขภัณฑ์เด็ก เป็นขนาดผู้ใหญ่ ซึ่งไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสมกับตัวเด็ก และไม่เป็นไปตามแบบรูปรายการ การก่อสร้างห้องน้ำผิดวัตถุประสงค์ การใช้งานมีการปรับเปลี่ยนแปลงห้องน้ำเด็กเป็นห้องน้ำครู โดยไม่รายงานเหตุผลความจำเป็น เพื่อขอทำความตกลงกับผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2558 ข้อ 129 (2) และการปรับเปลี่ยนห้องน้ำเด็ก เป็นห้องน้ำครู ทำให้ห้องน้ำเด็กมีไม่เพียงพอ และไม่เป็นไปตามสัดส่วนมาตรฐานของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่กำหนดให้โดย เฉลี่ย 1 ที่ ต่อเด็ก 10-20 คน
1.2 ไม่ติดตั้งครุภัณฑ์วัสดุอุปกรณ์ที่กำหนดตามแบบรูปรายการงานก่อสร้างและใบแจ้งปริมาณงานและราคา จากการตรวจสอบ พบว่า การก่อสร้างอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวน 5 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 15.63 ไม่มีการติดตั้งครุภัณฑ์วัสดุอุปกรณ์ที่กำหนดตามแบบรูปรายการงานก่อสร้าง และใบแจ้งปริมาณงานและราคา และคณะกรรมการตรวจการจ้าง ได้ตรวจรับการจ้างโดยถูกต้อง เรียบร้อยแล้ว รวมค่าความเสียหายของทางราชการ จำนวนเงิน 76,470.58 บาท ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลเขาพระทอง อำเภอชะอวด ศพด.1 ไม่ติดตั้งสายฉีดชำระ คิดเป็นเงิน 1,527.12 บาท และศพด.2 ไม่ติดตั้งราวระเบียงบันไดสแตนเลสและสายฉีดชำระ รวมเป็นเงิน 26,470.08 บาท เทศบาล ตำบลการะเกด อำเภอเชียรใหญ่ ไม่ติดตั้งโคมไฟฉุกเฉิน เป็นเงิน 9,547.88 บาท เทศบาลตำบลหัวไทร อำเภอหัวไทร ไม่ติดตั้งถังดับเพลิงและกระจกเงา และไม่มีงานติดตั้งบัวเชิงผนังไม้เนื้อแข็ง 3/4 นิ้ว x4 นิ้ว ปริมาณงาน 122 เมตร รวมเป็นเงิน 37,020.50 บาท องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยปริก อำเภอฉวาง ไม่ติดตั้งประตูห้องอาบน้ำ คิดเป็นเงิน 1,905.00 บาท ซึ่งได้แยกออกรายงาน แจ้งตามหนังสือ ที่ ตผ 0060 นศ/32 ลงวันที่ 29 มกราคม 2561 เรื่อง การก่อสร้างอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดนครศรีธรรมราช ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ไม่ติดตั้งครุภัณฑ์วัสดุ อุปกรณ์ให้ตรวจสอบ โดยมีข้อเสนอแนะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชสั่งการให้แต่งตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงหาผู้รับผิดชอบตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และดำเนินการกับผู้รับผิดชอบ ตามควรแก่กรณีต่อไป
1.3 งานก่อสร้างมีความชำรุดบกพร่อง จากการตรวจสอบ พบว่า งานก่อสร้างโดยทั่วไปวัสดุที่ใช้มีความคงทนแข็งแรงมีคุณภาพพร้อมใช้งาน จำนวน 16 แห่ง คิดเป็น ร้อยละ 50.00 และงาน ก่อสร้างมีความชำรุดบกพร่อง แตกร้าว ติดตั้งไม่สมบูรณ์เรียบร้อย จำนวน 16แห่ง คิดเป็นร้อยละ 50.00 เช่น ไม้ฝ้าระแนงใต้หลังคาชำรุด หลังคารั่วทำให้ฝ้าเพดานชำรุดเสียหาย ประตูห้องน้ำชำรุด ระบบไฟฟ้าห้องครัวไม่ทำงาน หลอดไฟฟ้าเสียใช้งานไม่ได้เป็นการใช้จ่ายเงินงบประมาณไม่เกิดความคุ้มค่า เนื่องจากการก่อสร้างแล้วเสร็จแต่มีสภาพชำรุด ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์
1.4 เอกสารอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างไม่เป็นไปตามระเบียบฯ ที่กำหนด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขนาด 51-80 จำนวน 9 แห่ง และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขนาด 81-100 คน จำนวน 12 แห่ง รวม 21 แห่ง ตามสัญญาจ้างข้อ 2 เอกสารอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา กำหนดให้ใบแจ้งปริมาณงานและราคา เป็นส่วนหนึ่งของสัญญา พบว่า จำนวนเงินรวม ตามใบแจ้ง ปริมาณงานและราคา ของผู้รับจ้างไม่ถูกต้องตรงกัน กับจำนวนเงินตามสัญญาจ้าง จำนวน 6 แห่ง และ ผู้รับจ้างไม่กรอกจำนวนเงินของแต่ละรายการ ในใบแจ้งปริมาณงานและราคาให้ถูกต้องตรงกันกับราคาที่เสนอไว้ จำนวน 7 แห่ง การไม่กรอกจำนวนเงินแต่ละรายการ ภายหลังการเสนอราคารายต่ำสุดที่เป็นคู่สัญญา หรือมีจำนวนเงินรวมไม่ตรงตามสัญญาจ้าง หากมีกรณีข้อโต้แย้งระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับผู้รับจ้าง อาจจะเกิดความเสียหายต่อทางราชการได้และเป็นการไม่ปฏิบัติตามหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด ที่ มท 0803/ว2401 ลงวันที่ 13 กันยายน 2555 และได้ส่งสำเนาหนังสือคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวพอ) 0421.3/ ว 347 ลงวันที่ 5 กันยายน 2555 เรื่อง การซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ไว้ในเอกสารประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
ข้อเสนอแนะ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1.ตามข้อ 1.1, 1.2 ขอให้สั่งการและกำชับให้ผู้ควบคุมงานก่อสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบรูปรายการและบัญชีรายการก่อสร้าง หรือใบแจ้งปริมาณงาน และราคา และระเบียบฯเพื่อให้งานก่อสร้างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และคุ้มค่าต่อการใช้ จ่ายเงินงบประมาณของแผ่นดิน
2. ตามข้อ 1.1, 1.2 สั่งการและกำชับให้คณะกรรมการตรวจการจ้าง ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังรอบคอบ ให้เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดความสูญเสียและทำให้เกิดความคุ้มค่าต่อการใช้จ่ายเงินงบประมาณ
3. ตามข้อ 1.3 สั่งการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเร่งรัดแจ้งให้ผู้รับจ้างคู่สัญญา ดำเนินการแก้ไขความชำรุดบกพร่องของงานก่อสร้างให้ถูกต้องเรียบร้อยภายในเวลาตามเงื่อนไข ตามนัยแห่งสัญญาจ้าง ข้อ 6ความรับผิดชอบในความชำรุดบกพร่องของงานจ้าง
4. ตามข้อ 1.4 สั่งการและกำชับให้คณะกรรมการประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่พัสดุปฏิบัติตามหนังสือคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวพอ) 0421.3/ว 347ลงวันที่ 5 กันยายน 2555 อย่างเคร่งครัดในโอกาสต่อไป
ข้อตรวจพบที่ 2 ก่อสร้างแล้วเสร็จแต่ยังไม่ใช้ประโยชน์เปิดให้บริการการเรียนการสอนตาม วัตถุประสงค์
จากการตรวจสอบ พบว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่เปิดให้บริการการเรียนการสอนแก่เด็กปฐมวัย จำนวน 11 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 34.38 และในจำนวนนี้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจำนวน 10 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 90.90 ที่ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วนานมากกว่า 5 เดือน ยังไม่สามารถเปิดให้บริการด้านการเรียนการสอนตามวัตถุประสงค์ได้ส่งผลให้เด็กปฐมวัยในพื้นที่องค์กรปกครองท้องถิ่น ไม่สามารถเข้ารับบริการจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้ เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขาดการเตรียมความพร้อมพื้นที่โดยรอบอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ต้องมีการปรับปรุงภูมิทัศน์การก่อสร้างรั้วรอบอาคาร การปรับปรุงกั้นห้องเพิ่มเติม และบางแห่งยังไม่มีการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อประโยชน์ในการใช้สอย การเดินทาง ความปลอดภัย และขาดการติดตามประเมินผลด้านการใช้ประโยชน์
ข้อเสนอแนะ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่ขาดการเตรียมความพร้อมพื้นที่โดยรอบอาคารเพื่อการปรับปรุงภูมิทัศน์ การก่อสร้างรั้วรอบอาคาร และศูนย์เด็กเล็กที่มีการกั้นห้องเพิ่มเติม ให้เร่งรัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการโดยเร็ว เพื่อให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสามารถเปิดให้บริการหรือมีการใช้ประโยชน์ต่อไป
2. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่ยังไม่มีการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเร่งประสานงานกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อดำเนินการขยายเขตไฟฟ้าไปยังที่ตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโดยเร็ว หรือดำเนินการทางงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเร่งรัดให้มีการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าต่อไป
3. ขอให้สั่งการและกำชับให้สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้ความสำคัญในการติดตามประเมินผลการใช้ประโยชน์ และมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบริหารงานให้ได้มาตรฐานและเป็นไปตามหลักเกณฑ์การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ตามมาตรา 52 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546
ข้อตรวจพบที่ 3 อาคารสถานที่ สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ไม่เป็นไป ตามมาตรฐานการดำเนินงานศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปี พ.ศ. 2559
จากการตรวจสอบ พบว่า การบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ด้านอาคารสถานที่ สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการดำเนินงานศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปี พ.ศ. 2559 ดังนี้
1. ด้านอาคารสถานที่
1.1 ที่ตั้ง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม จำนวน 8 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 25.00 โดยอยู่ใกล้กับฌาปนกิจสถาน จำนวน 2 แห่ง อยู่ใกล้ถนนมากเกินไป จำนวน 5 แห่ง และตั้งอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมถึง จำนวน 1แห่ง นอกจากนี้ พบว่า มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ไม่มีรั้วป้องกัน ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้จำนวน 15 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 46.88
1.2 ประตู – หน้าต่าง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เป็นไปตามมาตรฐานฯ จำนวน 30 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 93.75 และมีความชำรุดผุพัง จำนวน 2 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 6.25
1.3 พื้นที่ใช้สอยภายในห้องส้วมสำหรับเด็กมีไม่เพียงพอต่อจำนวนเด็ก ไม่เป็นไปตามสัดส่วนห้องส้วม 1 ห้อง ต่อเด็ก 10–12 คน จำนวน 24 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 75 ห้องส้วมไม่แยกสัดส่วน สำหรับเด็กชายและเด็กหญิง มีการใช้ห้องส้วมร่วมกัน และติดตั้งโถส้วมที่มีขนาดไม่เหมาะสมกับตัวเด็ก จำนวน 13 แห่งคิดเป็นร้อยละ 40.63
2. ด้านสิ่งแวดล้อม
2.1 ภายในอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ดำเนินการเป็นไปตามมาตรฐานฯ จำนวน 32 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 100
2.2 ภายนอกอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ไม่มีรั้วกั้นบริเวณให้เป็นสัดส่วนเพื่อความปลอดภัยของเด็ก จำนวน 15 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 46.88
3. ด้านความปลอดภัย มาตรฐานการป้องกันความปลอดภัยศูนย์พัฒนาเด็กเล็กไม่ติดตั้งถังดับเพลิง ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรฐานการป้องกันความปลอดภัย จำนวน 2 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 6.25 โดยติดตั้งถังดับเพลิงจากพื้นถึงหัวถัง สูงเกินกว่า 1.50 เมตร ที่กำหนด จำนวน 16 แห่ง คิดเป็น ร้อยละ 50 และติดตั้งปลั๊กไฟสูงจากพื้นต่ำกว่า 1.50 เมตร ที่กำหนด จำนวน 31 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 96.88 นอกจากนี้มีหลุมหรือบ่อน้ำที่อาจเป็นอันตรายต่อเด็กในบริเวณโดยรอบตัวอาคาร จำนวน 6แห่ง คิดเป็นร้อยละ 18.75
ข้อเสนอแนะ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. สั่งการและกำชับให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บริหารจัดการให้เป็นไปตามมาตรฐานการดำเนินงานศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์ปกครองท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559
2. กำชับให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำกับดูแลให้คำแนะนำและติดตามประเมินผลศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ให้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานด้านอาคารสถานที่ สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย เพื่อให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น ตามมาตรฐานด้านอาคาร สถานที่ สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย
----
ในสัปดาห์หน้า สำนักข่าวอิศราจะนำเสนอผลการตรวจสอบที่สำคัญของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเรื่องใด โปรดติดตาม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
เปิดกรุผลสอบสตง.(1) ชำแหละงบพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกาญฯ ไม่คุ้มค่า ห้องอาบน้ำแร่ถูกทิ้งร้าง
เปิดกรุผลสอบสตง.(2) ตรวจงบยกระดับหมู่บ้านโคราช ใช้ภาพเดียวเบิกเงิน 6 โครงการรวด
เปิดกรุผลสอบสตง.(3) ตรวจการผลิต-ใช้พลังงานทดแทน ‘กรมการพลังงานทหาร’ ล้มเหลวไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(4) ตรวจนโยบายร.ร.ดีใกล้บ้าน ยกระดับการศึกษาล้ม-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(5) ตรวจโครงการพัฒนาลำเชียงไกรโคราช ไม่เสร็จตามแผน-ซื้อของเกินจำเป็น
เปิดกรุผลสอบสตง.(6) ตรวจโครงการพัฒนาพืช-พลังงาน จ.ขอนแก่น 113ล. ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(7) ตรวจโครงการพลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้า-ประปาจ.กาญจนฯ ล้มเหลว-เบิกจ่ายเท็จ
เปิดกรุผลสอบสตง.(8) ตรวจโครงการควมคุมอาคารเขตเทศบาลนคร/เมือง ไม่ปลอดภัย-ผิดกม.อื้อ
เปิดกรุผลสอบสตง.(9) ตรวจการควบคุมเคมีทางเกษตร พบสารต้องห้าม-ร้านขายไม่ปลอดภัย-ผิดกม.
เปิดกรุผลสอบสตง.(10) ตรวจโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติด อปท.ลำปาง ไม่คุ้มงบ-ผิดวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(11) ตรวจโครงการสินค้าเกษตร 4.0 สุพรรณฯ ไม่พร้อมดำเนินการ-ไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(12) ตรวจโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว ขาดความต่อเนื่อง-ไม่ยั่งยืน
เปิดกรุผลสอบสตง.(13) ตรวจศูนย์อาชีพผู้สูงอายุ ไม่เป็นตามวัตถุประสงค์-จัดซื้อไม่คุ้มค่า
เปิดกรุผลสอบสตง.(14) ตรวจโครงการแพทย์ฉุกเฉิน อบจ.มหาสารคาม มอบรถพยาบาลช้า-ใช้ผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(15) ตรวจสหกรณ์จ.สุราษฎร์ฯ-ชุมพร ตั้งโรงงานยางพารา แต่ไม่เดินสายพานผลิต
เปิดกรุผลสอบสตง.(16) ตรวจการเก็บค่าภาคหลวงแร่ กรมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ฯ ไม่เป็นตามกฎหมาย
เปิดกรุผลสอบสตง.(17) ตรวจโครงการนาขั้นบันไดจ.น่าน ไม่ตรงเป้าหมาย-เบิกจ่ายเท็จ/ผิดระเบียบ