เปิดกรุผลสอบสตง.(5) ตรวจโครงการพัฒนาลำเชียงไกรโคราช ไม่เสร็จตามแผน-ซื้อของเกินจำเป็น
“...จากการตรวจสอบเอกสารรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ปีงบประมาณ 2559 ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2560 และสังเกตการณ์ ณ วันที่ 7 กรกฏาคม 2560 ซึ่งครบกำหนดระยะเวลาการก่อสร้างทุกงานแล้ว พบว่า ยังไม่มีงานก่อสร้างใดแล้วเสร็จตามแผนที่กำหนดและบางจุด ก่อสร้างมีความล่าช้ากว่าแผนค่อนข้างมาก...”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานตรวจสอบสำคัญของไทย มีหน้าที่ในการป้องกันดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ที่ถูกใช้จ่ายไปอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ที่ผ่านมา สตง.ได้มีการเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบเรื่องการใช้จ่ายเงินที่สำคัญไว้หลายเรื่อง สำนักข่าวอิศรา จึงขอเปิดพื้นที่ตรงนี้ ทุกวันเสาร์ รวบรวมข้อมูลผลการตรวจสอบที่สำคัญมานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบ
ในสัปดาห์ที่ 5 จะเป็นการนำเสนอผลการตรวจสอบเกี่ยวกับโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) โครงการชลประทานนครราชสีมา กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
@ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) โครงการชลประทานนครราชสีมา กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ตามที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามการบริหารจัดการน้ำ และแก้ไขปัญหาภัยแล้งจังหวัดนครราชสีมา และได้อนุมัติงบประมาณโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) ปีงบประมาณ 2559-2561 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,669.9 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง และอุทกภัยอย่างยั่งยืนให้กับจังหวัดนครราชสีมา โดยการด้าเนินโครงการแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
1.เพิ่มประสิทธิภาพกักเก็บน้ำอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) จะยกระดับการเก็บกักน้ำขึ้น อีก 1เมตร สามารถเก็บน้ำเพิ่มอีก 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ก่อสร้างแก้มลิงบริเวณอ่างฯ เก็บน้ำได้ 4 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยน้ำอุปโภคบริโภค 14,500 ครัวเรือน พื้นที่รับประโยชน์ในฤดูฝน 100,000 ไร่ ฤดูแล้ง 25,000 ไร่
2.ปรับปรุงระบบระบายน้ำลำเชียงไกร ประกอบด้วยอาคารบังคับน้ำ และระบบระบายน้ำพร้อมอาคารประกอบ ระยะทางประมาณ 122 กิโลเมตร สามารถมีน้ำเก็บกักไว้ประมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร
3.เพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในลุ่มน้ำลำเชียงไกร ก่อสร้างแก้มลิงพร้อมอาคารประกอบ สามารถมีน้ำเก็บกักไว้ประมาณ 7 ล้านลูกบาศก์เมตร
จากการตรวจสอบ พบประเด็นปัญหา สรุปได้ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 การดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด
โครงการชลประทานนครราชสีมาได้รับงบประมาณประจำปี 2559 จำนวน 513.64 ล้านบาท สำหรับงานก่อสร้างจำนวน 20 งาน โดยได้แต่งตั้งผู้รับผิดชอบงานก่อสร้างตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 เพื่อทำหน้าที่ตรวจและควบคุมงาน ณ สถานที่ที่กำหนด รวมทั้งสั่งเปลี่ยนแปลง แก้ไข เพิ่มเติม หรือตามที่เห็นสมควรและตามหลักวิชาช่างที่ดี เพื่อให้เป็นไปตามสัญญา
จากการตรวจสอบ พบว่า เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมงานต้องรับผิดชอบควบคุมงานก่อสร้างมากกว่า 1 จุด บางรายต้องรับผิดชอบ ถึง 9 จุด ในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ยังต้องท้าหน้าที่เป็นกรรมการตรวจรับพัสดุ และกรรมการตรวจผลการปฏิบัติงานในโครงการ รวมถึงงานอื่นๆ ของโครงการชลประทานนครราชสีมา ตามที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้ควบคุมงานจะไม่สามารถควบคุมงานได้อย่างเต็มความสามารถ หากเกิดปัญหาระหว่างการก่อสร้างจะไม่สามารถแก้ไขได้ทันท่วงที
จากการตรวจสอบเอกสารรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ปีงบประมาณ 2559 ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2560 และสังเกตการณ์ ณ วันที่ 7 กรกฏาคม 2560 ซึ่งครบกำหนดระยะเวลาการก่อสร้างทุกงานแล้ว พบว่า ยังไม่มีงานก่อสร้างใดแล้วเสร็จตามแผนที่กำหนดและบางจุด ก่อสร้างมีความล่าช้ากว่าแผนค่อนข้างมาก
ข้อตรวจพบที่ 2 การจัดซื้อวัสดุเกินความจำเป็น
โครงการชลประทานนครราชสีมา ไม่ได้จัดทำแผนการจัดหาวัสดุแต่ได้ดำเนินการซื้อวัสดุบางรายการตามประมาณการก่อสร้าง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการใช้งานและมีการจัดเก็บที่ไม่เหมาะสม ดังนี้
2.1การจัดซื้อแผงเหล็กที่ใช้สำหรับปิดกั้นน้ำชั่วคราว (Bulkhead Gate)
ตามแผนปีงบประมาณ 2559 โครงการชลประทานนครราชสีมา ได้ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ จำนวน 17 แห่ง โดยได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนติดตั้งบานระบายน้ำ ที่สามารถเปิด-ปิดได้ เพื่อช่วยในการ เก็บกักน้ำในฤดูแล้ง และระบายน้ำส่วนเกินในช่วงฤดูฝน โดยด้าเนินการในลักษณะจัดซื้อพร้อมติดตั้ง ซึ่งมีระยะเวลารับประกันความช้ารุดบกพร่องเป็นเวลา 1 ปี ในช่วงนี้หากมีความช้ารุดบกพร่อง ผู้รับจ้างต้องด้าเนินการแก้ไขเพื่อให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ สำหรับบางจุดก่อสร้างนั้น นอกจากมีการจ้างติดตั้ง บานระบายน้ำทุกจุดก่อสร้างแล้ว ยังมีการจัดซื้อแผงเหล็กที่ใช้ส้าหรับปิดกั้นน้ำชั่วคราว (Bulkhead Gate) ซึ่งแต่ละอาคารบังคับน้ำจัดซื้อในจ้านวนที่ไม่เท่ากัน คือ อาคารบังคับน้ำแบบ 2 ช่องบานระบาย จัดซื้อ 12 ชุด และอาคารบังคับน้ำแบบ 3 ช่องบานระบาย จัดซื้อ 20 ชุด รวมทั้งหมด 7 อาคาร จัดซื้อ 100 ชุด คิดเป็น เงินทั้งสิ้น 2,146,083 บาท ซึ่ง Bulkhead Gate ดังกล่าวจะใช้งานก็ต่อเมื่อมีการซ่อมประตูบานระบายน้ำ ที่ได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนเป็นผู้ติดตั้ง หลังจากพ้นกำหนดระยะเวลาประกันไปแล้ว กรณีมีการจ้างซ่อมบ้ารุง โดยว่าจ้างบริษัทเอกชนนั้น การจัดหา Bulkhead Gate นั้นเป็นภาระของผู้รับจ้าง
หรือหากมีการซ่อม ประตูน้ำในช่วงฤดูแล้งซึ่งไม่มีน้ำ Bulkhead Gate อาจจะไม่ถูกน้ามาใช้งานเลย
โครงการชลประทานนครราชสีมา มีการจัดซื้อ Bulkhead Gate มากถึงจ้านวน 100 ชุด ทั้งที่ในปีแรก อาจไม่จำเป็นต้องใช้เนื่องจากยังอยู่ในระยะประกัน อีกทั้งการใช้งานนั้นยังสามารถยกมาใช้ร่วมกันได้ทุกจุด เนื่องจากขนาดของบานระบายน้ำแต่ละจุดมีขนาดเท่ากัน ซึ่งการจัดซื้อ Bulkhead Gate ในปีแรกจึงเกินความจำเป็น ส่วนปีถัดไปเมื่อหมดระยะประกันก็อาจไม่จำเป็นต้องจัดซื้อถึง 100 ชุด เนื่องจากแต่ละชุดสามารถเคลื่อนย้ายและใช้งานร่วมกันได้
จากการตรวจสังเกตการณ์ ครั้งที่ 1 วันที่ 5-12 กรกฎาคม 2560 พบว่า Bulkhead Gate ถูกวางทิ้ง ไว้กลางแจ้งบริเวณสถานที่ด้าเนินการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ ซึ่งเสี่ยงต่อการสูญหายและเกิดสนิม และครั้งที่ 2 วันที่ 7 กันยายน 2560 พบว่า Bulkhead Gate มีการย้ายสถานที่จัดเก็บ แต่ยังไม่มีอาคารสำหรับจัดเก็บ ถูกทิ้งไว้กลางแจ้ง ทำให้เกิดสนิมได้ง่าย ปัจจุบันยังไม่มีการใช้งานแต่อย่างใด
2.2การจัดซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซล ชนิด 2 สูบ 4 จังหวะ
โครงการชลประทานนครราชสีมาได้ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ จ้านวน 17 แห่ง และได้จัดซื้อ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลจ้านวน 17 เครื่อง มูลค่ารวม จำนวน 2,602,363.66 บาท เพื่อผลิตไฟฟ้าโดยเชื่อมต่อกับเครื่องกว้าน และ Gear Motor Flange Mounting เพื่อเปิด-ปิด ประตูบานระบายน้ำ ซึ่งการเปิด-ปิด ในแต่ละครั้งนั้น โครงการชลประทานนครราชสีมาจะนำเครื่องก้าเนิดไฟฟ้าดีเซลซึ่งมีขนาดเบา มีล้อเลื่อน สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย นำมาเชื่อมต่อกับเครื่องกว้าน และ Gear Motor Flange Mounting เพื่อ เปิดหรือปิด หรือเปลี่ยนระดับประตูน้ำ เมื่อเปิดหรือปิดเสร็จแล้ว ก็สามารถถอดเครื่องออกได้โดยไม่ จ้าเป็นต้องเชื่อมต่อไว้ตลอด เมื่อใช้งานเสร็จแล้วจะน้าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไปเก็บ ในที่ที่ปลอดภัย เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะสูญหายจากการถูกลักขโมย
และจากการสังเกตการณ์ ณ วันที่ 7 กันยายน 2560 พบว่า เครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลทั้งหมดถูกเก็บไว้ที่โครงการชลประทานนครราชสีมา (อำเภอเมืองนครราชสีมา) และได้สอบถามเจ้าหน้าที่ของโครงการชลประทานนครราชสีมา ทราบว่า เครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลทั้งหมด ยังไม่ได้มีการใช้งานแต่อย่างใด เนื่องจากงานก่อสร้างอาคารบังคับน้ำยังไม่แล้วเสร็จ มีเพียงการทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลเพื่อตรวจรับครุภัณฑ์เท่านั้น ซึ่งหากมีการใช้งานเครื่องดังกล่าวจริง ก็สามารถนำเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลเพียงเครื่องใดเครื่องหนึ่งไปใช้งานเท่านั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องจัดซื้อถึง 17 เครื่อง อีกทั้งอาคารบังคับน้ำในแต่ละจุดอยู่ไม่ไกลกัน (ห่างกันประมาณ 2-3 กิโลเมตรต่อ 1 อาคาร บังคับน้ำ) ซึ่งสามารถเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งได้โดยง่าย
นอกจากนี้การดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) โครงการชลประทานนครราชสีมา ได้จัดซื้อวัสดุบางอย่างที่มีสภาพคงทนถาวร มีการจัดซื้อที่มากเกินความจำเป็น โดยจากการสุ่มตรวจโครงการ ที่ได้รับงบประมาณตั้งแต่ปี 2558-2559 (ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องจนถึงปีงบประมาณ 2560) พบว่า มีการ จัดซื้อวัสดุเบ็ดเตล็ดทุกงานก่อสร้าง ซี่งวัสดุดังกล่าวค่อนข้างมีความคงทน เช่น ค้อน พลั่ว เทปวัดระยะ เสื่อปูนอนอย่างดี ร่มสนาม เป็นต้น โดยการจัดซื้อในแต่ละครั้งนั้นเป็นคนละห้วงเวลา หากใช้งานเสร็จ สามารถนำไปใช้งานต่อได้ แต่โครงการชลประทานนครราชสีมามีการจัดซื้อทุกครั้งที่ด้าเนินการก่อสร้าง หรืองานซ่อมแซมอื่นๆ และหากตรวจสอบย้อนหลังจะพบว่า โครงการชลประทานนครราชสีมา มีการจัดซื้อในลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ มีการจัดซื้อทุกครั้งที่มีงานก่อสร้างหรืองานซ่อมแซมอื่นๆ
ข้อสังเกตที่ 1 งานที่เพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จ มีสภาพชำรุด
โครงการชลประทานนครราชสีมา ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในลักษณะงานด้าเนินการเอง ซึ่งลักษณะของงานจะประกอบด้วยการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ และปรับแต่งคันดินบริเวณรอบอาคาร บังคับน้ำ จากการตรวจสังเกตการณ์ณ วันที่ 4 กรกฏาคม 2560 พบว่า คันดินบริเวณรอบอาคารบังคับน้ำ มีสภาพชำรุด และบางจุดยังมีการถูกน้ำกัดเซาะเนื่องจากการบดอัดดินไม่แน่น ซึ่งในระยะแรกของการ ดำเนินโครงการเริ่มมีสภาพชำรุด อาจมีผลในระยะยาวหากไม่มีการซ่อมแซมเพื่อให้มีสภาพปกติ
ข้อสังเกตที่ 2 งานระหว่างดำเนินการส่งผลกระทบต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชน
โครงการชลประทานนครราชสีมา ได้ทำคันดินเพื่อกักเก็บน้ำและยังใช้เป็นทางสัญจรสำหรับ ประชาชนในท้องถิ่น แต่ในการดำเนินการดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อประชาชนและท้องถิ่นในบริเวณ ใกล้เคียง ทำให้ได้รับความเดือดร้อนในหลายพื้นที่ ดังนี้
2.1ปัญหาการรุกล้ำที่ดินของประชาชน โครงการชลประทานได้มีการขุดลอกและถมดิน เพื่อทำสันเขื่อนรวมทั้งเพื่อใช้เป็นทางสัญจร แต่การทำสันเขื่อนเพื่อใช้เป็นทางสัญจรนั้นได้รุกล้ำที่ดิน ของประชาชนจำนวน 3 รายคือ รายที่ 1 นางสาวลัดดาวัลย์ จันรอด ซึ่งมีที่ดินอยู่ในเขต ต.สำโรง อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา รายที่ 2 นางส้มเกลี้ยง กลิ่นสันเทียะ มีที่ดินอยู่ในเขต ต.สำโรง อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา รายที่ 3 นางแต๋ว หร่ายกลาง มีที่ดินอยู่ในเขต ต.โนนสูง อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา
2.2ผลกระทบต่อประชาชนในท้องถิ่น เช่น การทำคันดินขวางร่องน้ำธรรมชาติ เดิมเมื่อเกิด ฝนตกน้ำจากทุ่งนาหรือพื้นที่เกษตรกรรมของประชาชนสามารถระบายลงลำเชียงไกรได้ แต่การที่ โครงการชลประทานนครราชสีมาได้ท้าคันดินยกสูงขึ้นและถมดินทับร่องน้ำธรรมชาติเดิม โดยไม่มีการวางท่อลอดส่งผลท้าให้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป เกิดปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ของประชาชนและพื้นที่ ของชุมชน อีกทั้งบางแห่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องด้าเนินการแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนแทน เช่น เทศบาลตำบลโคกสูง อำเภอเมืองนครราชสีมา ได้วางท่อลอดเพื่อระบายน้ำจากทุ่งนากรณีเกิดฝนตกหนัก เพื่อให้ไหลลงลำเชียงไกร และองค์การบริหารส่วนตำบลดอนชมพู อำเภอโนนสูง ได้ขออนุญาตโครงการ ชลประทานนครราชสีมาขุดดินเพื่อเปิดช่องทางระบายน้ำ สำหรับให้น้ำสามารถไหลลงลำเชียงไกรได้
ข้อสังเกตที่ 3 วิเคราะห์ค่าใช้จ่ายระหว่างงานดำเนินการเองเปรียบเทียบกับงานจ้างเหมา
โครงการชลประทานนครราชสีมาได้รับอนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำ ลำเชียงไกร (ตอนล่าง) จำนวน 513.64 ล้านบาท แบ่งออกเป็นงานดำเนินการเอง จำนวน 298.38 ล้านบาท และงานจ้างเหมา จำนวน 215.26 ล้านบาท
จากการวิเคราะห์การใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2559 ระหว่างงานดำเนินการเองทั้งหมดกับงานที่มี การจ้างเหมา ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จและเบิกจ่ายงบประมาณครบทุกงานก่อสร้างแล้ว พบว่า งานดำเนินการเอง ส่วนใหญ่มีการใช้จ่ายจริงงบประมาณที่ใกล้เคียงกับงบประมาณที่ได้รับ แต่ในส่วนของงานที่มีการจ้างเหมา รวมอยู่ด้วย มีการใช้จ่ายเงินต่ำกว่างบประมาณที่ได้รับจัดสรร เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการ ดำเนินการ จะพบว่า งานจ้างเหมาสามารถประหยัดงบประมาณได้มากกว่างานดำเนินการเอง
งานดำเนินการทำเองได้รับงบประมาณ จำนวน 298,382,950 บาท มีการใช้จ่ายจริง 262,036,236.03 บาท มีเงินคงเหลือ 36,346,713.97 คิดเป็นร้อยละ 87.82 สำหรับงานจ้างเหมานั้น ได้รับงบประมาณจำนวน 215,258,850 บาท มีการใช้จ่ายจริง 151,559,742.35 บาท มีเงินคงเหลือ 63,699,107.65 บาท คิดเป็นร้อยละ 70.41 ซึ่งถือเป็นอัตราส่วนการใช้จ่ายงบประมาณที่ต่ำกว่า งานดำเนินการเอง อีกทั้งหากงานจ้างเหมาหากชำรุดบกพร่องยังมีระยะเวลาประกัน 1-2 ปี แต่ถ้าหาก เป็นงานดำเนินการเองนั้น กรณีชำรุดบกพร่องต้องดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพเดิม ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหลังจากด้าเนินการก่อสร้างไปแล้ว เช่น ค่าน้ำมัน ค่าเช่าเครื่องจักร ค่าเบี้ยเลี้ยง เป็นต้น ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายที่ซ้ำซ้อน ส่งผลให้การใช้จ่ายเงินไม่มีประสิทธิภาพ และไม่เป็นไปโดยประหยัด
ข้อเสนอแนะ
เพื่อให้โครงการชลประทานนครราชสีมา สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมาย การใช้จ่ายเงิน งบประมาณ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล คุ้มค่า และประหยัด สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โดยสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 4 มีข้อเสนอแนะให้อธิบดีกรมชลประทานและผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา ดำเนินการดังนี้
อธิบดีกรมชลประทาน
ในฐานะที่กำกับดูแล ควรรับทราบข้อมูลดังกล่าวข้างต้นและสั่งการให้มีการควบคุม กำกับดูแล ปรับปรุงแก้ไขการด้าเนินโครงการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัด และเกิดความคุ้มค่าของการ ใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน
ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา
1.ให้พิจารณาทบทวนงบประมาณการก่อสร้าง ในลักษณะงานดำเนินการเอง โดยพิจารณาถึงความพร้อมในด้านต่างๆ เช่น บุคลากร เครื่องจักร คุณภาพงานก่อสร้าง โดยเฉพาะด้านเครื่องจักร ให้ปฏิบัติตามคู่มือการคำนวณค่าเช่าเครื่องจักรกล ฉบับปรับปรุง 2560 ระบุหากไม่มีความพร้อมให้ดำเนินการในลักษณะจ้างเหมา เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และเกิดความคุ้มค่าต่อการใช้จ่ายงบประมาณ
2.พิจารณาทบทวนถึงความจำเป็นในการจัดซื้อวัสดุให้มีความเหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาจัดซื้อเกินความจำเป็น และเกิดการเสื่อมสภาพ รวมทั้งต้องสูญเสียงบประมาณในการบำรุงรักษาวัสดุอุปกรณ์
3.ให้ปรับปรุงซ่อมแซมงานก่อสร้างที่มีสภาพชำรุดให้เป็นไปตามแบบรูปรายการ และให้มีความมั่นคงแข็งแรง
4.ให้ติดตามประเมินผลงานการก่อสร้าง หากพบสภาพชำรุดให้ดำเนินการแก้ไขโดยด่วน
5.ให้เจ้าหน้าที่โครงการชลประทานนครราชสีมา ลงพื้นที่สำรวจสภาพปัญหาความเดือดร้อน ของท้องถิ่นและประชาชน บริเวณสถานที่ดำเนินการก่อสร้าง เช่น กรณีการรุกล้ำที่ดินของประชาชน หรือการทำคันดินขวางทางน้ำส่งผลให้น้ำท่วมที่ดินของประชาชนและชุมชน และแก้ไขปัญหาให้กับ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการดำเนินโครงการ
----
ในสัปดาห์หน้า สำนักข่าวอิศราจะนำเสนอผลการตรวจสอบที่สำคัญของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเรื่องใด โปรดติดตาม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
เปิดกรุผลสอบสตง.(1) ชำแหละงบพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกาญฯ ไม่คุ้มค่า ห้องอาบน้ำแร่ถูกทิ้งร้าง
เปิดกรุผลสอบสตง.(2) ตรวจงบยกระดับหมู่บ้านโคราช ใช้ภาพเดียวเบิกเงิน 6 โครงการรวด
เปิดกรุผลสอบสตง.(3) ตรวจการผลิต-ใช้พลังงานทดแทน ‘กรมการพลังงานทหาร’ ล้มเหลวไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(4) ตรวจนโยบายร.ร.ดีใกล้บ้าน ยกระดับการศึกษาล้ม-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์