เปิดกรุผลสอบสตง.(17) ตรวจโครงการนาขั้นบันไดจ.น่าน ไม่ตรงเป้าหมาย-เบิกจ่ายเท็จ/ผิดระเบียบ
“...การดำเนินงานด้านพัสดุ และการเบิกจ่ายไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง 1. เบิกจ่ายเงินงบประมาณไม่เป็นไปตามรายการประกอบการจัดสรรงบประมาณรายจ่าย โดยลดจำนวนเนื้อที่นาขั้นบันไดบนพื้นที่สูง ตามที่สำนักงบประมาณอนุมัติ จำนวน 1,500 ไร่ เป็นจำนวน 800 ไร่ เป็นการดำเนินการโดยไม่ได้ขอโอนเปลี่ยนแปลงและได้รับความเห็นชอบจาก คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ) และขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ เป็นการเบิกจ่ายงบประมาณไม่ถูกต้องตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2548 หมวด 5 การบริหารงบประมาณรายจ่ายของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ข้อ 28/1 และตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการบริหารงบประมาณจังหวัดและงบประมาณกลุ่มจังหวัด ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2554 2. เบิกจ่ายงบประมาณไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง จากการตรวจสอบเอกสาร หลักฐานการ เบิกจ่าย และสังเกตการณ์พื้นที่ดำเนินการของเกษตรกร จำนวน 53 แปลง จำนวนเงินเบิกจ่าย 3,462,550.62 บาท...”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานตรวจสอบสำคัญของไทย มีหน้าที่ในการป้องกันดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ที่ถูกใช้จ่ายไปอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ที่ผ่านมา สตง.ได้มีการเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบเรื่องการใช้จ่ายเงินที่สำคัญไว้หลายเรื่อง สำนักข่าวอิศรา จึงขอเปิดพื้นที่ตรงนี้ ทุกวันเสาร์ รวบรวมข้อมูลผลการตรวจสอบที่สำคัญมานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบ
ในสัปดาห์ที่ 17 จะเป็นการนำเสนอรายงานการตรวจสอบการดำเนินงาน โครงการส่งเสริมการทำนาขั้นบันไดบนพื้นที่สูง สำนักงานจังหวัดน่าน กระทรวงมหาดไทย
@ การดำเนินงาน โครงการส่งเสริมการทำนาขั้นบันไดบนพื้นที่สูง สำนักงานจังหวัดน่าน กระทรวงมหาดไทย
โครงการส่งเสริมการทำนาขั้นบันไดบนพื้นที่สูง งบประมาณ 15,816,000 บาท เป็นโครงการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ 2559 ของจังหวัดน่าน โดยมีสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดน่าน เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการ
ความเป็นมาของโครงการ สืบเนื่องจากความต้องการพื้นที่ทำกินซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด โดยเฉพาะพื้นที่สำหรับปลูกข้าว เพื่อบริโภคในครัวเรือน ส่งผลให้มีการบุกรุก ยึดถือ ครอบครองพื้นที่บนพื้นที่สูง ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการขยายพื้นที่เพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อเนื่อง มาสู่การชะล้างพังทลายของหน้าดิน เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาน้ำท่วม การตกตะกอนในแหล่งน้ำธรรมชาติ ปัญหาเรื่องสารเคมี สมดุลของระบบนิเวศแหล่งน้ำ และปัญหาอื่นๆ อีกมากมายตามมา เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาจากรูปแบบเดิมของราษฎรในพื้นที่สูงของจังหวัดน่าน จากการทำนาในรูปแบบข้าวไร่หมุนเวียน มาเป็นการทำนาแบบหยอดหรือนาดำขั้นบันได ซึ่งผลผลิตข้าวเปลือกจะเพิ่มมากขึ้นประมาณ 1 เท่าตัว และส่งเสริมสนับสนุน เพิ่มศักยภาพในการทำนาขั้นบันไดและส่งเสริมการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งน้ำให้มีปริมาณที่เพียงพอต่อการอุปโภค บริโภคในพื้นที่จังหวัดน่าน สำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่านจึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมการทำนาขั้นบันไดบนพื้นที่สูง และได้รับอนุมัติโครงการ/กิจกรรม ตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดน่าน ต่อเนื่องหลายปีตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 จนถึ
งปีงบประมาณ 2560 รวมเป็นงบประมาณ 51,326,400 บาท พื้นที่ดำเนินการกว่า 2,239 ไร่
เพื่อให้ทราบว่าผลการดำเนินโครงการในกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการทำนาขั้นบันไดบนพื้นที่สูง ซึ่งดำเนินการโดยจัดทำสัญญาจ้างทั่วไป จำนวน 64 สัญญา เป็นเงินเบิกจ่ายทั้งสิ้น 12,562,000 บาท เป็นไปตามวัตถุประสงค์ได้ผลตามเป้าหมายและมีผลคุ้มค่าหรือไม่ รวมทั้ง เพื่อให้ทราบถึงปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะในการปรับปรุงพัฒนาการดำเนินงานโครงการต่อไป จากการตรวจสอบพบประเด็นข้อตรวจพบ 2 ประเด็น สรุปได้ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 การจัดทำนาขั้นบันไดไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
จากการตรวจสอบพื้นที่ของเกษตรกร จำนวน 53 แปลง จำนวนเงินเบิกจ่ายรวม 3,462,550.62 บาท พบว่า การจัดทำนาขั้นบันไดไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
กล่าวคือ สัญญาจ้างทั่วไปจ้างเหมาดำเนินการสำรวจ รังวัด และกำหนดแนวขุด ปักหลักแนวดิ่งและแนวระดับ จำนวนเนื้อที่ 219 ไร่ 1 งาน 58 ตารางวา แต่ดำเนินการจริงเพียง จำนวน 62 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวา ต่ำกว่าเป้าหมายตามสัญญาจ้างทั่วไป เป็นจำนวน 156 ไร่ 2 งาน 94 ตารางวา สัญญาจ้างทั่วไปจ้าง เหมาดำเนินการขุดปรับแต่งพื้นที่ จำนวนเนื้อที่ 220 ไร่ 1 งาน 58 ตารางวา แต่ดำเนินการจริงเพียง จำนวน 62 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวา ต่ำกว่าเป้าหมายตามสัญญาจ้างทั่วไป เป็นจำนวน 157 ไร่ 2 งาน 94 ตารางวา และสัญญาจ้างทั่วไปจ้างเหมาดำเนินการติดตั้งระบบน้ำเข้าสู่พื้นที่นา จำนวนเนื้อที่ 221 ไร่ 1 งาน 58 ตารางวา แต่ดำเนินการจริงเพียง จำนวน 5 ไร่ 1 งาน 6 ตารางวา ต่ำกว่าเป้าหมาย ตามสัญญาจ้างทั่วไป เป็นจำนวน 216 ไร่ 52 ตารางวา
และจากการตรวจสอบสังเกตการณ์การใช้ประโยชน์จากนาขั้นบันไดของเกษตรกรทั้ง 53 แปลง ดังกล่าว พบว่า ไม่มีการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไร่หมุนเวียนมาเป็นการทำนาแบบหยอด หรือนาดำขั้นบันได และเกษตรกรส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์จากนาขั้นบันไดผิดวัตถุประสงค์ จำนวน 50 แปลง คิดเป็นร้อยละ 94.34 ของจำนวนพื้นที่ที่สังเกตการณ์โดยพื้นที่ของเกษตรกร จำนวน 26 แปลง จำนวนเงินเบิกจ่ายรวม 1,835,544.35 บาท ไม่มีการขุดปรับแต่งพื้นที่ให้เป็นนาขั้นบันได และพื้นที่ ของเกษตรกร จำนวน 24 แปลง จำนวนเงินเบิกจ่าย 1,297,646.26 บาท มีการขุดปรับแต่งพื้นที่ให้ เป็นนาขั้นบันได แต่พบว่าเกษตรกรไม่มีการปลูกข้าวแบบนาดำขั้นบันได ยังคงปลูกข้าวไร่หมุนเวียน ไร่ข้าวโพด และพืชผัก เกษตรกรบางรายไม่ทำการเพาะปลูก ปล่อยพื้นที่รกร้าง
ข้อตรวจพบที่ 2 การดำเนินงานด้านพัสดุ และการเบิกจ่ายไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และ หนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง
1. เบิกจ่ายเงินงบประมาณไม่เป็นไปตามรายการประกอบการจัดสรรงบประมาณรายจ่าย โดยลดจำนวนเนื้อที่นาขั้นบันไดบนพื้นที่สูง ตามที่สำนักงบประมาณอนุมัติ จำนวน 1,500 ไร่ เป็นจำนวน 800 ไร่ เป็นการดำเนินการโดยไม่ได้ขอโอนเปลี่ยนแปลงและได้รับความเห็นชอบจาก คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ) และขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ เป็นการเบิกจ่ายงบประมาณไม่ถูกต้องตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2548 หมวด 5 การบริหารงบประมาณรายจ่ายของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ข้อ 28/1 และตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการบริหารงบประมาณจังหวัดและงบประมาณกลุ่มจังหวัด ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2554
2. เบิกจ่ายงบประมาณไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง จากการตรวจสอบเอกสาร หลักฐานการ เบิกจ่าย และสังเกตการณ์พื้นที่ดำเนินการของเกษตรกร จำนวน 53 แปลง จำนวนเงินเบิกจ่าย 3,462,550.62 บาท พบว่า
2.1 เบิกจ่ายเงินในพื้นที่ที่ไม่มีการดำเนินการ จนวน 26 แปลง เบิกจ่ายเงินจำนวน 1,835,544.35 บาท เป็นค่าดำเนินการสำรวจรังวัด ขุดปรับแต่งพื้นที่ และติดตั้งระบบน้ำ เป็นเนื้อที่ จำนวน 116 ไร่ 3 งาน 58 ตารางวา แต่ไม่มีการดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น
2.2 สำหรับพื้นที่ที่มีการขุดปรับแต่งพื้นที่เป็นนาขั้นบันได พบว่า เบิกจ่ายเงินงบประมาณ สูงกว่าความเป็นจริง จำนวน 26 แปลง เป็นจำนวนเงิน 842,458.88 บาท ดังนี้
(1) สัญญาจ้างทั่วไปจ้างเหมาดำเนินการสำรวจรังวัดและกำหนดแนวขุด ปักหลัก แนวดิ่งและแนวระดับ จำนวน 92 ไร่ 2 งาน แต่ดำเนินการเพียง 49 ไร่ 92 ตารางวา เบิกจ่ายสูงกว่าความเป็นจริงจำนวน 31,552.63 บาท
(2) สัญญาจ้างทั่วไปจ้างเหมาดำเนินการขุดปรับแต่งพื้นที่ จำนวน 93 ไร่ 2 งาน แต่ดำเนินการเพียง 49 ไร่ 92 ตารางวา เบิกจ่ายสูงกว่าความเป็นจริงจำนวน 562,156.25 บาท
(3) สัญญาจ้างทั่วไปจ้างเหมาดำเนินการติดตั้งระบบน้ำเข้าสู่พื้นที่นา จำนวน 99 ไร่ 2 งาน แต่จากการสังเกตการณ์พบว่า ไม่มีการติดตั้งระบบน้ำเข้าสู่พื้นที่นาแต่อย่างใด จึงเบิกจ่าย สูงกว่าความเป็นจริงจำนวน 248,750 บาท
ตามข้อตรวจพบที่ 1- 2 ได้ขยายผลในเชิงการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างในพื้นที่ดำเนิน โครงการทั้ง 19 พื้นที่ โดยในพื้นที่โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน อันเนื่องมาจาก พระราชดำริ พื้นที่ที่ 1 สำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดน่านได้ดำเนินการตรวจสอบและแจ้งผลให้ทราบ ตามหนังสือ ลับ ที่ ตผ 0055 ลป /042 ลงวันที่ 29 กันยายน 2560 แล้ว สำหรับพื้นที่อีก 18 พื้นที่ สำนักตรวจสอบพิเศษภาค 9 จะแจ้งให้ทราบต่อไป
ข้อสังเกตอื่น
1. จัดทำสัญญาจ้างในลักษณะเป็นการแบ่งจ้าง จากการตรวจสอบ พบว่า สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน จัดทำสัญญาจ้างเหมาดำเนินการด้วยวิธีตกลงราคา รวมจำนวนทั้งสิ้น 64 สัญญา มูลค่าตามสัญญารวม 12,562,000 บาท โดยจัดทำสัญญาจ้างตามพื้นที่ของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 19 แห่ง จำนวนเนื้อที่ดำเนินการรวม 800 ไร่ พบว่า การจัดทำสัญญาจ้างเหมาดำเนินการขุดปรับแต่งพื้นที่ในพื้นที่ดำเนินการโครงการ จำนวน 7 แห่ง จัดทำสัญญาจำนวน 14 สัญญา จำนวนเงินรวม 4,287,500 บาท มีการลดวงเงินเพื่อให้สามารถจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีตกลงราคา ซึ่งหากรวมมูลค่าสัญญาจ้างแล้ว วงเงินจะเกินกว่าวิธีการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีตกลงราคา หรือมีมูลค่ามากกว่า500,000 บาท การปฏิบัติดังกล่าวไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 22 กำหนดให้การแบ่งซื้อหรือแบ่งจ้างโดยลดวงเงินที่จะซื้อหรือจ้างในครั้งเดียวกันเพื่อให้วงเงินต่ำกว่าที่กำหนดโดยวิธีหนึ่งวิธีใด หรือเพื่อให้อำนาจสั่งซื้อสั่งจ้างเปลี่ยนไปจะกระทำมิได้
2. จัดทำสัญญาจ้างไม่รัดกุมเพียงพอ อาจทำให้ราชการเสียเปรียบ จากการตรวจสอบรายละเอียดสัญญาจ้างเหมาดำเนินการทั้ง 64 สัญญา พบว่า เอกสารแนบท้ายสัญญาจ้างอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ซึ่งกำหนดขอบเขตการทำงานด้วยข้อความเช่นเดียวกันทุกสัญญา แตกต่างกันเพียงสถานที่และจำนวนเนื้อที่ดำเนินการ โดยไม่มีแบบรูปรายการงานก่อสร้าง ไม่มีผังบริเวณการก่อสร้างหรือจุดแสดงตำแหน่งการก่อสร้างนาขั้นบันไดในพื้นที่ของเกษตรกรเป้าหมายที่มีการคัดเลือกไว้ ไม่มีการระบุรายละเอียดรายชื่อของเกษตรกรผู้ได้รับสิทธิ์ การเข้าร่วมโครงการ รวมถึงกำหนดระยะเวลาการรับประกันความชำรุดบกพร่องของงานจ้างภายใน กำหนด 7 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ไม่สัมพันธ์กับระยะการตรวจสอบความชำรุดบกพร่องของงานจ้าง ที่อยู่ในระหว่างการรับประกันก่อนคืนหลักประกันสัญญา ตามหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ นร (กวพ) 1002/ว 42 ลงวันที่ 15 กันยายน 2532 เรื่อง วิธีปฏิบัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตรวจสอบความชำรุดบกพร่องก่อนการคืนหลักประกันสัญญา
3. เบิกจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อใช้ติดต่อราชการในพื้นที่อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับโครงการ จากการตรวจสอบเอกสารเบิกจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อใช้กับรถยนต์ส่วนกลาง สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 ถึงเดือนกรกฎาคม 2559 พบว่า มีการใช้รถยนต์เพื่อติดต่อราชการในจังหวัดและพื้นที่อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับสถานที่ดำเนินการของโครงการ จำนวนเงินเบิกจ่ายทั้งสิ้น 32,927.95 บาท
ผลกระทบ
1. ทำให้ราชการเสียหายเป็นจำนวนเงินเบิกจ่ายทั้งสิ้น 2,678,003.23 บาท จากการเบิกจ่ายเงินในพื้นที่ที่ไม่มีการดำเนินการ จำนวน 1,835,544.35 บาท และเบิกจ่ายเงินงบประมาณสูงกว่าความเป็นจริง จำนวน 842,458.88 บาท
2. กรณีที่มีการปรับพื้นที่เป็นนาขั้นบันได แต่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ ไม่มีการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไร่หมุนเวียนมาเป็นการทำนาแบบหยอดหรือนาดำขั้นบันได เป็นผล ให้เกิดการสูญเปล่าของงบประมาณแผ่นดิน เป็นจำนวนเงินเบิกจ่ายทั้งสิ้น 3,133,190.61 บาท และอาจทำให้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้เพื่อทำการเกษตรไม่ได้รับการแก้ไขตามวัตถุประสงค์โครงการ เกิดปัญหาบุกรุกพื้นที่ป่ารุนแรงขึ้น นอกจากนี้ยังไม่เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่ อีกทั้งไม่เกิดการปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้
3. กรณีจัดทำสัญญาจ้างมีลักษณะเป็นการแบ่งจ้าง ทำสัญญาจ้างไม่รัดกุม กำหนดระยะเวลา รับประกันความชำรุดบกพร่องน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เป็นเหตุให้ทางราชการเสียเปรียบและมีความ เสี่ยงที่จะเกิดการทุจริตต่องบประมาณแผ่นดิน
ข้อเสนอแนะ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการจังหวัดน่าน และผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน พิจารณาดำเนินการ ดังต่อไปนี้
1. กรณีดำเนินโครงการไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้งบประมาณสูญเปล่าเป็นจำนวนเงินเบิกจ่าย 3,133,190.61 บาท จากเกษตรกรได้รับนาขั้นบันไดแต่ใช้ประโยชน์จากนาขั้นบันไดผิดวัตถุประสงค์ ไม่มีการใช้ประโยชน์ ไม่พบการติดตั้งระบบน้ำเข้าสู่พื้นที่นา จำนวนเงินเบิกจ่าย 1,297,646.26 บาท ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาผู้รับผิดชดใช้ทางละเมิดและพิจารณาโทษตามควรแก่กรณี
สำหรับกรณีเกษตรกรไม่ได้รับนาขั้นบันไดแต่มีการเบิกจ่ายงบประมาณ จำนวนเงินเบิกจ่าย 1,835,544.35 บาท ได้ขยายผลในเชิงการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างโดยสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 9 จะแจ้งให้ทราบต่อไป
2. กรณีจัดทำสัญญาจ้างในลักษณะของการแบ่งจ้าง และการจัดทำสัญญาจ้างไม่รัดกุม ไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้พิจารณา โทษตามควรแก่กรณี หากพบว่าทำให้ราชการได้รับความเสียหายหรือเกิดการทุจริตต่องบประมาณแผ่นดิน ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาผู้รับผิดชดใช้ทางละเมิดต่อไป
3. สั่งกำชับคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการจังหวัดน่าน (ก.บ.จ.น่าน) และ คณะอนุกรรมการกลุ่มภารกิจ (Cluster) กรณีปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณากลั่นกรองโครงการ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด แผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัด ในโอกาสต่อไป
4. สำหรับการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณของจังหวัดน่านในโอกาสต่อไป ให้สั่งกำชับให้หัวหน้าส่วนราชการที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการ และที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน ควบคุมกำกับดูแลให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบและผู้ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่ด้วย ความระมัดระวังรอบคอบ เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ และหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง และใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการโดยเคร่งครัด ดังนี้
----
ในสัปดาห์หน้า สำนักข่าวอิศราจะนำเสนอผลการตรวจสอบที่สำคัญของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเรื่องใด โปรดติดตาม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
เปิดกรุผลสอบสตง.(1) ชำแหละงบพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกาญฯ ไม่คุ้มค่า ห้องอาบน้ำแร่ถูกทิ้งร้าง
เปิดกรุผลสอบสตง.(2) ตรวจงบยกระดับหมู่บ้านโคราช ใช้ภาพเดียวเบิกเงิน 6 โครงการรวด
เปิดกรุผลสอบสตง.(3) ตรวจการผลิต-ใช้พลังงานทดแทน ‘กรมการพลังงานทหาร’ ล้มเหลวไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(4) ตรวจนโยบายร.ร.ดีใกล้บ้าน ยกระดับการศึกษาล้ม-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(5) ตรวจโครงการพัฒนาลำเชียงไกรโคราช ไม่เสร็จตามแผน-ซื้อของเกินจำเป็น
เปิดกรุผลสอบสตง.(6) ตรวจโครงการพัฒนาพืช-พลังงาน จ.ขอนแก่น 113ล. ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(7) ตรวจโครงการพลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้า-ประปาจ.กาญจนฯ ล้มเหลว-เบิกจ่ายเท็จ
เปิดกรุผลสอบสตง.(8) ตรวจโครงการควมคุมอาคารเขตเทศบาลนคร/เมือง ไม่ปลอดภัย-ผิดกม.อื้อ
เปิดกรุผลสอบสตง.(9) ตรวจการควบคุมเคมีทางเกษตร พบสารต้องห้าม-ร้านขายไม่ปลอดภัย-ผิดกม.
เปิดกรุผลสอบสตง.(10) ตรวจโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติด อปท.ลำปาง ไม่คุ้มงบ-ผิดวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(11) ตรวจโครงการสินค้าเกษตร 4.0 สุพรรณฯ ไม่พร้อมดำเนินการ-ไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(12) ตรวจโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว ขาดความต่อเนื่อง-ไม่ยั่งยืน
เปิดกรุผลสอบสตง.(13) ตรวจศูนย์อาชีพผู้สูงอายุ ไม่เป็นตามวัตถุประสงค์-จัดซื้อไม่คุ้มค่า
เปิดกรุผลสอบสตง.(14) ตรวจโครงการแพทย์ฉุกเฉิน อบจ.มหาสารคาม มอบรถพยาบาลช้า-ใช้ผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(15) ตรวจสหกรณ์จ.สุราษฎร์ฯ-ชุมพร ตั้งโรงงานยางพารา แต่ไม่เดินสายพานผลิต
เปิดกรุผลสอบสตง.(16) ตรวจการเก็บค่าภาคหลวงแร่ กรมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ฯ ไม่เป็นตามกฎหมาย