เปิดกรุผลสอบสตง.(1) ชำแหละงบพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกาญฯ ไม่คุ้มค่า ห้องอาบน้ำแร่ถูกทิ้งร้าง
“...สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาญจนบุรี ได้ทำการก่อสร้างห้องอาบ น้ำแร่พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณน้ำพุร้อนจุดที่สองบริเวณข้างลำห้วยน้ำพุร้อน ตามสัญญาเลขที่ 235/2558 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2557 วงเงินตามสัญญา 2,043,000 บาท คณะกรรมการตรวจรับงานจ้าง ได้ตรวจรับงาน เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558 จากการตรวจสอบสังเกตการณ์ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 พบว่า ห้องอาบน้ำแร่มีสภาพถูกปล่อยทิ้งร้างและไม่ปรากฏว่ามีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวบริเวณแหล่งน้ำพุร้อน จากการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่อุทยานแจ้งว่า เป็นไปในลักษณะให้บริการนักท่องเที่ยวแวะเข้าชมฟรีโดยไม่มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการเข้าเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวน้ำพุร้อนแต่อย่างใด ส่วนการบริหารจัดการและการบำรุง ดูแลรักษา อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ไม่ได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลบำรุงรักษา ประจำสถานที่ดังกล่าว รวมทั้งไม่มีการจัดทำทะเบียนคุมสถิติจำนวนนักท่องเที่ยว…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานตรวจสอบสำคัญของไทย มีหน้าที่ในการป้องกันดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ที่ถูกใช้จ่ายไปอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ที่ผ่านมา สตง.ได้มีการเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบเรื่องการใช้จ่ายเงินที่สำคัญไว้หลายเรื่อง สำนักข่าวอิศรา จึงขอเปิดพื้นที่ตรงนี้ ทุกวันเสาร์ รวบรวมข้อมูลผลการตรวจสอบที่สำคัญมานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบ
โดยในสัปดาห์แรกนี้ จะขอเริ่มต้นโดยการนำเสนอผลการตรวจสอบเกี่ยวกับโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่จังหวัดกาญจนบุรี เป็นที่แรก
@ โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ในอุทยานแห่งชาติจังหวัดกาญจนบุรี ปีงบประมาณ 2558 สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดกาญจนบุรี
สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาญจนบุรี ได้จัดทำโครงการพัฒนา แหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติจังหวัดกาญจนบุรีในปีงบประมาณ 2558 ภายใต้แผนพัฒนาจังหวัดกาญจนบุรี ประจำปีงบประมาณ 2558-2561 จำนวน 12 กิจกรรม วงเงินงบประมาณ 20,000,000 บาท จากการตรวจสอบการดำเนินโครงการดังกล่าวในอุทยานแห่งชาติ จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 3 แห่ง 4 กิจกรรม พบว่า การดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใน อุทยานแห่งชาติจังหวัดกาญจนบุรีไม่บรรลุวัตถุประสงค์สรุปได้ดังนี้
อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์
1.โครงการก่อสร้างห้องอาบนำแร่พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ วงเงินงบประมาณ 2,050,000 บาท
สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาญจนบุรี ได้ทำการก่อสร้างห้องอาบ น้ำแร่พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณน้ำพุร้อนจุดที่สองบริเวณข้างลำห้วยน้ำพุร้อน ตามสัญญาเลขที่ 235/2558 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2557 วงเงินตามสัญญา 2,043,000 บาท คณะกรรมการตรวจรับงานจ้าง ได้ตรวจรับงาน เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558
จากการตรวจสอบสังเกตการณ์ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 พบว่า ห้องอาบน้ำแร่มีสภาพถูกปล่อยทิ้งร้างและไม่ปรากฏว่ามีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวบริเวณแหล่งน้ำพุร้อน จากการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่อุทยานแจ้งว่า เป็นไปในลักษณะให้บริการนักท่องเที่ยวแวะเข้าชมฟรีโดยไม่มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการเข้าเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวน้ำพุร้อนแต่อย่างใด ส่วนการบริหารจัดการและการบำรุง ดูแลรักษา อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ไม่ได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลบำรุงรักษา ประจำสถานที่ดังกล่าว รวมทั้งไม่มีการจัดทำทะเบียนคุมสถิติจำนวนนักท่องเที่ยว
ผลกระทบ
การใช้จ่ายเงินงบประมาณในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวด้วยการก่อสร้างห้องอาบน้ำแร่พร้อม ปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณน้ำพุร้อน ไม่มีความคุ้มค่าและไม่ก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจ รวมทั้งเสียโอกาสในการนำงบประมาณ จำนวนเงิน 2,043,000 บาท ไปพัฒนาด้านอื่นๆ ที่มีความจำเป็นและเหมาะสมมากกว่า
สาเหตุ
1.บริเวณน้ำพุร้อนไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสาธารณูปโภค
2.ขาดการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในบริเวณแหล่งน้ำพุร้อน
ข้อเสนอแนะ
ดำเนินการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ ไฟฟ้า และน้ำ และดำเนินการประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยว ผ่านช่องทางเว็บไซต์ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และ พันธุ์พืช หรือเว็บไซต์ของจังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้น
2.โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว วงเงินงบประมาณ 1,000,000 บาท
สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาญจนบุรี ได้ทำการก่อสร้างท่าเทียบ เรือเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวตามสัญญาเลขที่ 195/2558 ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2557 วงเงินตามสัญญา 995,000 บาท คณะกรรมการตรวจรับงานจ้างได้ตรวจรับงาน เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2558
จากการตรวจสอบแบบรูปรายการและข้อกำหนดในสัญญาเป็นการก่อสร้างท่าเทียบเรือแบบ ทุ่นลอยน้ำพร้อมสะพานทางเชื่อม โดยมีท่อเหล็กชุปกัลวาไนซ์และอุปกรณ์ประคองเสาสำหรับยึดทุ่น แต่จากการตรวจสอบสังเกตการณ์เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 พบว่า มีการก่อสร้างท่าเทียบเรือ แบบทุ่นลอยน้ำพร้อมสะพานทางเชื่อมโดยไม่มีท่อเหล็กชุปกัลวาไนซ์และอุปกรณ์ประคองเสาสำหรับ ยึดทุ่น โดยท่าเทียบเรือแบบทุ่นลอยน้ำได้นำมาเชื่อมต่อกับท่าเทียบเรือเดิมแบบไม้กระดาน
ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่อุทยาน พบว่า ท่าเทียบเรือแบบทุ่นลอยน้ำไม่มีการใช้ประโยชน์โดยได้ให้ ข้อมูลว่า การใช้งานของท่าเทียบเรือแบบทุ่นลอยน้ำจะเป็นไปในลักษณะแนวราบ เมื่อปริมาณน้ำสูงขึ้น ต้องลากท่าเทียบเรือแบบทุ่นลอยน้ำเข้ามายังฝั่ง และถ้าปริมาณน้ำลดต้องเลื่อนออกไปจากริมฝั่ง เพื่อให้เรือสามารถจอดเทียบท่าได้ ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีการติดตั้งท่อเหล็กและอุปกรณ์การยึดทุ่น และการที่เรือของผู้ประกอบการนำนักท่องเที่ยวมาเทียบที่ท่าเทียบเรือแบบทุ่นลอยนำ ทุ่นลอยนำจะกระเพื่อม หรือขยับขึ้นลงซึ่งไม่ปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว จึงได้มีการนำท่าเทียบเรือแบบทุ่นลอยน้ำไปผูกติด กับท่าเทียบเรือเดิมแบบไม้กระดาน และส่วนใหญ่ผู้ประกอบการจะนำเรือมาจอดเทียบที่ท่าเทียบเรือ แบบไม้กระดาน ซึ่งมีความปลอดภัยมากกว่าท่าเทียบเรือแบบทุ่นลอยน้ำ
ผลกระทบ
การใช้จ่ายเงินงบประมาณดังกล่าวไม่ได้ใช้ประโยชน์ ทำให้เสียโอกาสในการนำงบประมาณ จำนวนเงิน 995,000 บาท ไปพัฒนาด้านอื่นๆ ที่มีความจำเป็นและเหมาะสมมากกว่า
สาเหตุ
เนื่องจากไม่มีการศึกษารายละเอียดข้อมูลลักษณะการใช้งานของท่าเทียบเรือแบบทุ่นลอยน้ำ ให้เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่ รวมทั้งไม่มีการส ารวจทรัพยากรที่มีอยู่และใช้ให้เกิดประโยชน์
ข้อเสนอแนะ
1.ดำเนินการหาแนวทางการใช้ท่าเทียบเรือแบบทุ่นลอยน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือ พิจารณานำท่าเทียบเรือแบบทุ่นลอยน้ำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในสถานที่ที่เหมาะสมกับลักษณะการใช้
2.ดำเนินการซ่อมแซมท่าเทียบเรือแบบไม้กระดานที่ชำรุดในอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ให้พร้อมสามารถใช้งานได้ตลอดเวลา
3.การใช้เงินงบประมาณในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวโอกาสต่อไป ควรมีการสำรวจความ เหมาะสมของการใช้ประโยชน์ของท่าเทียบเรือแบบทุ่นลอยน้ำกับสภาพพื้นที่ของการใช้งาน และคำนึงถึงความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว
อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ
3. โครงการก่อสร้างบ้านพักนักท่องเที่ยวแบบบ้านทาร์ซาน วงเงินงบประมาณ 2,500,000 บาท
สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาญจนบุรี ได้ทำการก่อสร้างบ้านพัก รับรองนักท่องเที่ยวแบบบ้านทาร์ซาน (จำนวน 2 หลัง) ตามสัญญาเลขที่ 29/2558 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2557 วงเงินตามสัญญา 2,490,000 บาท คณะกรรมการตรวจรับงานจ้างได้ตรวจรับงาน เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558
จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐาน พบว่า การดำเนินการขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุประเภทสิ่งปลูกสร้างของรัฐที่ปลูกอยู่บนที่ดินที่มิใช่ที่ราชพัสดุล่าช้า โดยการก่อสร้างบ้านพักรับรองนักท่องเที่ยว แบบบ้านทาร์ซานแล้วเสร็จ และคณะกรรมการตรวจรับงานจ้างได้ตรวจรับงานเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558 แต่ทางอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิแจ้งขอขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2558 และสำนักงานธนารักษ์พื้นที่กาญจนบุรีได้ขึ้นทะเบียนสิ่งปลูกสร้างของรัฐที่ปลูกอยู่บนที่ดินที่มิใช่ที่ราชพัสดุ บ้านทาร์ซานในวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 รวมระยะเวลาที่เกิดจากความล่าช้าเป็นเวลา 2 ปี 4 เดือน นับจากวันที่คณะกรรมการตรวจรับงานแล้วเสร็จ
จากการตรวจสอบสังเกตการณ์เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 พบว่า อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ยังไม่เปิดให้บริการบ้านพักรับรองนักท่องเที่ยวแบบบ้านทาร์ซานแก่นักท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการ กรณีมีนักท่องเที่ยวมาขอใช้บริการบ้านพักรับรองแบบบ้านทาร์ซาน ทางอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิจะอนุญาตให้เข้าพักโดยให้นักท่องเที่ยวชำระค่าบริการบ้านพักทาร์ซานในรูปของเงินบริจาค และอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิได้นำเงินค่าบริการบ้านพักดังกล่าวส่งเป็นเงินรายได้แผ่นดินประเภทเงินที่มีผู้บริจาค เพื่อบำรุงอุทยานแห่งชาติประกอบกับช่วงระยะเวลาดังกล่าวกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์ พืช ยังไม่ได้กำหนดอัตราค่าตอบแทนที่พักอุทยาน ซึ่งในปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์ พืช ได้กำหนดอัตราค่าตอบแทนที่พักอุทยานแห่งชาติแล้ว เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2561 ในอัตรา 1,500 บาท/คืน
จากรายงานจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ของอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554-2559 พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี และในปีงบประมาณ 2554-2559 จำนวนรายได้มีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปียกเว้นปีงบประมาณ 2555 กล่าวคือ จำนวน นักท่องเที่ยวปีงบประมาณ 2554 จำนวน 11,247 คน ปีงบประมาณ 2555 จำนวน 11,680 คน ปีงบประมาณ 2556 จำนวน 14,085 คน ปีงบประมาณ 2557 จำนวน 18,996 คน ปีงบประม าณ 2558 จำนวน 23,895 คน และปีงบประมาณ 2559 จำนวน 40,632 คน
โดยนักท่องเที่ยวจาก ปีงบประมาณ 2554-2559 เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 29,385 คน คิดเป็นอัตราร้อยละ 261.27 สำหรับรายได้ในปีงบประมาณ 2554 จำนวน 848,250 บาท ปีงบประมาณ 2555 จำนวน 775,685 บาท ปีงบประมาณ 2556 จำนวน 1,094,020 บาท ปีงบประมาณ 2557 จำนวน 1,341,340 บาท ปีงบประมาณ 2558 จำนวน 1,628,420 บาท และปีงบประมาณ 2559 จำนวน 2,367,010 บาท หากพิจารณารายได้จากปีงบประมาณ 2556-2559 (ยกเว้นปี 2555 เพราะ รายได้มีจ านวนลดลงจากปี 2554) เพิ่มขึ้นจำนวน 1,518,760 บาท คิดเป็นอัตราร้อยละ 116.36
การที่จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นหลังจากการ ก่อสร้างบ้านพักรับรองนักท่องเที่ยวแบบบ้านทาร์ซานแล้วเสร็จ และคณะกรรมการตรวจรับงานจ้างได้ตรวจรับงาน เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558 ซึ่งหากอุทยานแห่งชาติมีการบริหารจัดการที่ดีโดยดำเนินการ ขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุประเภทสิ่งปลูกสร้างของรัฐที่ปลูกอยู่บนที่ดินที่มิใช่ที่ราชพัสดุทันทีหลังจากการก่อสร้างและตรวจรับแล้วเสร็จก็จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากบ้านพักรับรองนักท่องเที่ยวแบบบ้านทาร์ซานได้
ผลกระทบ
การดำเนินการขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุประเภทสิ่งปลูกสร้างของรัฐที่ปลูกอยู่บนที่ดินที่มิใช่ที่ราชพัสดุของอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิล่าช้า ทำให้สูญเสียรายได้จากการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว อีกทั้ง การที่อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิให้นักท่องเที่ยวเข้าใช้บริการบ้านพักและชำระค่าบริการบ้านพักทาร์ซานระหว่างการขอขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุฯ ในรูปของเงินบริจาคอาจเป็นความเสี่ยงในการหาประโยชน์จากทรัพย์สินของรัฐโดยมิชอบ หรืออาจมีการรั่วไหลของรายได้ค่าตอบแทนที่พักอุทยานแห่งชาติที่รัฐควรจะได้รับ
สาเหตุ
ขาดการประสานงานภายในเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการบ้านพักนักท่องเที่ยวแบบบ้านทาร์ซานระหว่างสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาญจนบุรี อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ รวมทั้งสำนักงานธนารักษ์พื้นที่กาญจนบุรี ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ
ข้อเสนอแนะ
การใช้เงินงบประมาณในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในโอกาสต่อไป ควรมีการประสานงานกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการทรัพย์สินของทางราชการให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยเร็ว หลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จและคณะกรรมการตรวจการจ้างตรวจรับงานเรียบร้อยแล้ว
อุทยานแห่งชาติลำคลองงู
4. โครงการก่อสร้างศูนย์บริการนักท่องเที่ยวพร้อมลานจอดรถ วงเงินงบประมาณ 1,950,000 บาท
สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาญจนบุรี ได้ทำการก่อสร้าง ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวพร้อมลานจอดรถ ตามสัญญาเลขที่ 301/2558 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2558 วงเงินตามสัญญา 1,947,000 บาท คณะกรรมการตรวจรับงานจ้างได้ตรวจรับเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2558
จากการตรวจสอบข้อมูลสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวของอุทยานแห่งชาติลำคลองงู ตั้งแต่ ปีงบประมาณ 2554-2559 พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละปีมีปริมาณน้อย โดยมีจำนวน นักท่องเที่ยวในปีงบประมาณ 2554 จำนวน 2,151 คน ปีงบประมาณ 2555 จำนวน 1,463 คน ปีงบประมาณ 2556 จำนวน 1,800 คน ปีงบประมาณ 2557 จำนวน 1,752 คน ปีงบประมาณ 2558 จำนวน 3,257 คน และปีงบประมาณ 2559 จำนวน 3,599 คน
จากการตรวจสอบสังเกตการณ์อาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 พบว่า อาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอยู่บนเนินสูงและลาดชัน ภายในตัวอาคารไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการสื่อสารโทรคมนาคมให้แก่นักท่องเที่ยว การให้บริการข้อมูลด้านการท่องเที่ยวไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์บริการฯ คอยให้บริการข้อมูลด้านการท่องเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยว มีเพียงป้ายประชาสัมพันธ์โฆษณาแหล่งท่องเที่ยวภายใน อุทยานแห่งชาติลำคลองงู
กรณีดังกล่าวข้างต้นไม่มีการใช้ประโยชน์ในการให้บริการข้อมูลด้านการ ท่องเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยวเป็นการใช้จ่ายเงินงบประมาณไม่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและไม่มีความคุ้มค่า
ผลกระทบ
ทำให้เสียโอกาสในการนำเงินงบประมาณ จำนวนเงิน 1,947,000.00 บาท ไปพัฒนาด้าน อื่น ๆ ที่มีความจำเป็นและเหมาะสมมากกว่า
สาเหตุ
เนื่องจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาญจนบุรี ดำเนินการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติลำคลองงูโดยไม่ได้ศึกษาสภาพข้อเท็จจริงและความจำเป็นในการก่อสร้างอาคารศูนย์บริการพร้อมลานจอดรถสำหรับให้บริการข้อมูลด้านการท่องเที่ยวแก่นักท่องเที่ยว รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละปีมีปริมาณน้อย อีกทั้ง การ ดำเนินการก่อสร้างอาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยวพร้อมลานจอดรถดังกล่าวขาดการสำรวจความ เหมาะสมของพื้นที่ในการก่อสร้างอาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยวพร้อมลานจอดรถ
ข้อเสนอแนะ
ดำเนินการหาแนวทางการใช้ประโยชน์จากอาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยวพร้อมลานจอดรถ ในอุทยานแห่งชาติลำคลองงูให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ หรือสามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นใดแก่ทางราชการ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าของการใช้เงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ และเพื่อให้มีการ บำรุงดูแลรักษาทรัพย์สินของทางราชการต่อไป
----
ในสัปดาห์หน้า สำนักข่าวอิศราจะนำเสนอผลการตรวจสอบที่สำคัญของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเรื่องใด โปรดติดตาม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/