เปิดกรุผลสอบสตง.(35) อบจ.ชลบุรี ติดกล้องวงจรปิดปี52-59 ใช้งานไม่ได้ตามวัตถุประสงค์
“...กล้องวงจรปิดตามโครงการฯ จำนวนมากไม่สามารถใช้งานได้ จากการตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 1 – 26 กุมภาพันธ์ 2559 พื้นที่ติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ตามโครงการ ที่สถานีตำรวจภูธร 13 แห่ง พบว่า กล้องโทรทัศน์วงจรปิดตามโครงการไม่สามารถใช้งานได้ หรือไม่สามารถแสดงภาพได้ที่ห้องควบคุม จำนวน 309 กล้อง จากกล้องทั้งหมดจำนวน 723 กล้อง หรือคิดเป็นร้อยละ 42.73 ของจำนวนกล้องทั้งหมด โดยเฉพาะ สภ.เมืองชลบุรี สภ.บางละมุง และสภ.บ่อวิน ไม่สามารถใช้งานได้ทั้งระบบ...”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานตรวจสอบสำคัญของไทย มีหน้าที่ในการป้องกันดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ที่ถูกใช้จ่ายไปอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ที่ผ่านมา สตง.ได้มีการเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบเรื่องการใช้จ่ายเงินที่สำคัญไว้หลายเรื่อง สำนักข่าวอิศรา จึงขอเปิดพื้นที่ตรงนี้ ทุกวันเสาร์ รวบรวมข้อมูลผลการตรวจสอบที่สำคัญมานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบ
ในสัปดาห์ที่ 35 จะเป็นการนำเสนอผลการตรวจสอบการดำเนินงาน โครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดขององค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี
@ โครงการติดตั้งกล้องวงจรปิด องค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี
องค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี (อบจ.ชลบุรี) เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่จัดทำระบบบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น ได้กำหนดนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งรวมถึงนโยบายทางด้านการพัฒนาปรับปรุงแก้ไขปัญหาการจราจร และการสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน จึงได้ดำเนินโครงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) มาใช้เป็นเครื่องมือในการป้องปราม เฝ้าระวังตรวจสอบช่วยเหลือประชาชนและนักท่องเที่ยว
ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 – 2559 อบจ.ชลบุรี ได้จัดทำโครงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด โดยติดตั้งในพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดชลบุรี รวมทั้งสิ้นจำนวน 18 โครงการ งบประมาณ 682,593,300.00 บาท และตั้งงบประมาณงานซ่อมแซมและย้ายกล้องโทรทัศน์วงจรปิด จำนวน 7 โครงการ งบประมาณ 63,670,000.00 บาท รวมงบประมาณทั้งสิ้น 746,263,300.00 บาท
โดยโครงการพัฒนาศักยภาพด้านความปลอดภัยบริเวณพื้นที่สาธารณะเสี่ยงภัยและเส้นทางคมนาคมชุมชน เป็นโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดโครงการหลักของ อบจ.ชลบุรี ซึ่งมีการดำเนินงานมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 - 2559 รวมทั้งสิ้น 5 ระยะ ดำเนินโครงการแล้วเสร็จ 4 ระยะ สำหรับระยะที่ 5 อยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง งบประมาณในการดำเนินโครงการตั้งแต่ระยะที่ 1-4 งบประมาณ รวม 498,609,000.00 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 66.81 ของงบประมาณโครงการจำนวน 746,263,300.00 บาท ที่เกี่ยวกับกล้องโทรทัศน์วงจรปิดทั้งหมดของ อบจ.ชลบุรี
การดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพด้านความปลอดภัยบริเวณพื้นที่สาธารณะเสี่ยงภัยและเส้นทางคมนาคมชุมชน กำหนดวัตถุประสงค์โครงการ ดังนี้
1.เพื่อสร้างความมั่นคงด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและนักท่องเที่ยวและ/หรือที่พักอาศัยในเขตพื้นที่ชุมชนในเขตรับผิดชอบของสถานีตำรวจภูธรต่างๆ
2.เพื่อให้ชุมชนในเขตรับผิดชอบของสถานีตำรวจภูธรต่างๆ มีเครื่องมือช่วยอำนวยความสะดวกและเสริมสร้างศักยภาพในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการรักษาความปลอดภัย การปราบปรามและป้องกันการก่ออาชญากรรม และการจราจรตลอด 24 ชั่วโมง
3.เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการของชุมชนในเขตรับผิดชอบของสถานีตำรวจภูธรต่างๆ โดยใช้ภาพบันทึกไว้เป็นข้อมูลประกอบกรณีศึกษาในโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรับผิดชอบของสถานีตำรวจภูธรต่างๆ ต่อไป
4.เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยแบบยั่งยืน จากนโยบายดังกล่าวสถานีตำรวจภูธรจึงได้ขอรับการสนับสนุนให้ อบจ.ชลบุรี ติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดในพื้นที่ โดยสถานีตำรวจภูธรได้มีการแจ้งความประสงค์ประเภทกล้องวงจรปิด จำนวนกล้องวงจรปิด และพื้นที่ติดตั้งกล้องวงจรปิดที่ต้องการติดตั้งมายัง อบจ.ชลบุรี และ อบจ.ชลบุรี นำข้อมูลดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณในการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดให้กับ สถานีตำรวจภูธรต่างๆ
ซึ่งหากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่ติดตั้งตามโครงการฯ ของ อบจ.ชลบุรี สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จะเป็นประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง ในด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน แต่ที่ผ่านมาทั้งจากการตรวจสอบและติดตามของหน่วยงานต่างๆ ข่าวหนังสือพิมพ์และแหล่งข้อมูลอื่นๆ พบปัญหาหลายประการของการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด เช่น กล้องไม่สามารถใช้งานได้เป็นจำนวนมาก กล้องเสียบ่อย การจัดซื้อในราคาแพง กล้องคุณภาพต่ำ ปัญหาในการควบคุมดูแลบำรุงรักษาภายหลังหมดระยะประกัน และการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่ติดตั้งกล้องวงจรปิด เป็นต้น
จากการตรวจสอบพบประเด็นข้อตรวจพบและข้อสังเกต ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 กล้องโทรทัศน์วงจรปิดส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์ โครงการ โดยพบว่า
1. กล้องวงจรปิดตามโครงการฯ จำนวนมากไม่สามารถใช้งานได้ จากการตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 1 – 26 กุมภาพันธ์ 2559 พื้นที่ติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ตามโครงการ ที่สถานีตำรวจภูธร 13 แห่ง พบว่า กล้องโทรทัศน์วงจรปิดตามโครงการไม่สามารถใช้งานได้ หรือไม่สามารถแสดงภาพได้ที่ห้องควบคุม จำนวน 309 กล้อง จากกล้องทั้งหมดจำนวน 723 กล้อง หรือคิดเป็นร้อยละ 42.73 ของจำนวนกล้องทั้งหมด โดยเฉพาะ สภ.เมืองชลบุรี สภ.บางละมุง และสภ.บ่อวิน ไม่สามารถใช้งานได้ทั้งระบบ
2.ภาพที่ได้จากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดตามโครงการบางภาพไม่ชัด จากการตรวจสอบ พบว่า ภาพที่ได้จากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดบางภาพไม่ชัดเจน ภาพมัว แสงมากเกินไป ภาพมีแถบดำบัง ทำให้ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานในกรณีเกิดเหตุต่างๆ ได้
3.การดูแลและบำรุงรักษากล้องวงจรปิดและอุปกรณ์เป็นไปอย่างล่าช้า
3.1 การดูแลและบำรุงรักษาระบบอุปกรณ์แบบเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) ตามกำหนดทุก 3 เดือน ผู้รับจ้างเข้าบำรุงรักษาล่าช้า ไม่ตรงตามแผนงานที่กำหนดไว้ และรายงานการบำรุงรักษาของผู้รับจ้างไม่ครบถ้วนและไม่ชัดเจน
3.2 การดูแลบำรุงรักษากล้องโทรทัศน์วงจรปิดและอุปกรณ์เมื่อเกิดความเสียหายในช่วงระยะประกัน ผู้รับจ้างเข้ามาดำเนินการซ่อมแซมล่าช้า และไม่มีกำหนดเงื่อนเวลาที่ชัดเจนในการเข้าแก้ไขซ่อมแซม
3.3 การบำรุงรักษาซ่อมแซมกล้องโทรทัศน์วงจรปิดและอุปกรณ์ในช่วงหมดระยะประกันมีความล่าช้า ขาดการตรวจสอบบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง
การดำเนินโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดของ อบจ.ชลบุรี ส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์ โดยกล้องวงจรปิดตามโครงการฯ จำนวนมาก ไม่สามารถใช้งานได้ ภาพที่ได้จากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดบางภาพไม่ชัด และการดูแลบำรุงรักษากล้องวงจรปิดและอุปกรณ์เป็นไปอย่าง ล่าช้าส่งผลกระทบดังนี้
1. ทำให้เกิดความสูญเปล่าหรือความไม่คุ้มค่าของงบประมาณที่ใช้ในการจัดทำโครงการในส่วนที่ไม่สามารถใช้งานได้
2. ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการใช้งานกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ขาดเครื่องมือช่วยอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการป้องกันการแก้ไขปัญหา เช่น อาชญากรรม อุบัติเหตุในพื้นที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทันกาลตามวัตถุประสงค์โครงการ
3. ทำให้ต้องมีการใช้งบประมาณในการซ่อมบำรุงกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่ไม่สามารถใช้งานได้สูงกว่าที่ควร ซึ่งหากมีการดูแลบำรุงรักษากล้องโทรทัศน์วงจรปิดอย่างถูกต้องตามวิธีการและระยะเวลาที่เหมาะสม กล้องโทรทัศน์วงจรปิดและอุปกรณ์จะยังสามารถใช้งานได้ เป็นต้น
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้ อบจ.ชลบุรี พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. ควรมีการจัดทำข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรกับสถานีตำรวจภูธรต่างๆ ที่ติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดตามโครงการถึงแนวทางการบริหารจัดการความรับผิดชอบในเรื่องค่าไฟฟ้าที่ห้องควบคุมกล้องโทรทัศน์วงจรปิด การควบคุมกำกับดูแลทรัพย์สินตามโครงการของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ของสถานีตำรวจภูธร เช่น ให้มีการจัดทำคำสั่งมอบหน้าที่รับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เพื่อควบคุม กำกับ ดูแลการใช้งานกล้องโทรทัศน์วงจรปิดตามโครงการ ให้มีการรายงานผลการใช้งานกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ปัญหาอุปสรรค แก่ผู้บังคับบัญชา และ อบจ.ชลบุรี เป็นระยะๆ
2. จัดให้มีการอบรมให้ความรู้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งในส่วนของผู้ควบคุมบริหารจัดการดูแลรักษาระบบ เจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคและผู้ใช้งาน เพื่อการใช้งานและการดูแลบำรุงรักษาระบบเป็นไปอย่างถูกต้อง ซึ่งได้ถูกกำหนดไว้ในขอบเขตการดำเนินโครงการในระยะที่ 1-4 แล้ว แต่ควรเพิ่มเติม กรณีมีการเปลี่ยนแปลงเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการควบคุมหรือผู้ใช้งานระบบ จะต้องมีความชัดเจนในเรื่องการจัดอบรม ถ่ายทอดความรู้แก่เจ้าหน้าที่คนใหม่ ต้องมีวิธีการอย่างไร เช่น ถ้ายังอยู่ในระยะประกัน ให้ผู้รับจ้างมาอบรมให้เพิ่มเติม หรือหากพ้นระยะประกัน ให้เจ้าหน้าที่ของ อบจ.ชลบุรี หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจรายเดิมถ่ายทอดความรู้ให้ เป็นต้น
3. การซ่อมแซมกล้องโทรทัศน์วงจรปิดตามโครงการที่อยู่ระยะประกันและพ้นระยะประกัน
3.1 การซ่อมแซมในระยะประกัน อบจ.ชลบุรี ควรมีการตรวจสอบการซ่อมบำรุงของ ผู้รับจ้างในระยะประกันอย่างเคร่งครัด ให้เป็นไปตามแผนการซ่อมบำรุงเพื่อให้กล้องโทรทัศน์วงจรปิด ตามโครงการสามารถใช้งานได้ มีระบบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งความเสียหาย และ อบจ.ชลบุรี สามารถแจ้งให้ผู้รับจ้างลงไปสำรวจความเสียหายและดำเนินการซ่อมแซมได้ในทันทีหรือภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยต้องมีระบบการบันทึกการแจ้งความเสียหายเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้สามารถตรวจสอบได้
3.2 การซ่อมแซมเมื่อพ้นระยะประกัน ให้ อบจ.ชลบุรี พิจารณาหาแนวทาง/วิธีการที่เหมาะสมในการซ่อมแซมกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่พ้นระยะประกันแล้ว เพื่อให้สามารถใช้งานกล้องโทรทัศน์วงจรปิดได้อย่างต่อเนื่อง
4. กรณีกล้องโทรทัศน์วงจรปิดและอุปกรณ์เสื่อมสภาพจนไม่สามารถใช้งานได้แล้ว ต้องดำเนินการตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2553 หมวด 3 การควบคุมและการจำหน่ายพัสดุ ในการจัดซื้อครุภัณฑ์ตัวใหม่เพื่อทดแทนตัวเก่าที่เสียหาย
5. ในการดำเนินโครงการระยะต่อไป ให้มีการกำหนดขอบเขตการดำเนินโครงการ (TOR) ให้รัดกุมในเรื่องการบำรุงรักษา การอบรมให้ความรู้เจ้าหน้าที่ตำรวจ
6. ให้ประสานผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี ในฐานะผู้กำกับดูแลสถานีตำรวจภูธร ถึงการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการกล้องโทรทัศน์วงจรปิดของสถานีตำรวจภูธร จำนวน 13 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ที่ได้รับการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดตามโครงการของ อบจ.ชลบุรี ให้สามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์โครงการ เช่น ให้มีการจัดทำคำสั่งมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการ กำหนดแนวทางการใช้งานการดูแลบำรุงรักษา เป็นต้น
ข้อตรวจพบ 2 การดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพด้านความปลอดภัยบริเวณพื้นที่สาธารณะเสี่ยงภัยและเส้นทางคมนาคม บางส่วนเป็นไปโดยไม่ประหยัด
จากการตรวจสอบการดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพด้านความปลอดภัยบริเวณพื้นที่สาธารณะเสี่ยงภัยและเส้นทางคมนาคม (ระยะที่ 1 – 4) ของ อบจ.ชลบุรี พบว่า อุปกรณ์หลายรายการไม่มีการใช้ประโยชน์หรือมีมากเกินความจำเป็น และมีการดำเนินการอย่างไม่ประหยัด ดังนี้
1) คีย์บอร์ดควบคุมการท างาน 2) เครื่องฟอกอากาศ 3) เครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับดูภาพ และควบคุมกล้อง 4) ตู้คอนเทนเนอร์ และ 5) ซอฟแวร์สำหรับระบบบันทึกภาพแบบดิจิตอล
การดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพด้านความปลอดภัยบริเวณพื้นที่สาธารณะเสี่ยงภัยและเส้นทางคมนาคมบางส่วนเป็นไปโดยไม่ประหยัดส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินที่ดำเนินการไปอย่างไม่คุ้มค่า โดยมีสาเหตุจากการไม่มีการสำรวจความพร้อม ความต้องการและความจำเป็นของสถานีตำรวจก่อนการจัดทำโครงการ
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้ อบจ.ชลบุรี พิจารณาดำเนินการดังนี้
1. ในการกำหนดรายการครุภัณฑ์ตามโครงการในระยะต่อๆ ไป ควรคำนึงถึงความคุ้มค่าของการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน โดยต้องมีการสำรวจความพร้อม ความต้องการ และความจำเป็นในการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกล้องโทรทัศน์วงจรปิด เพื่อนำมาประกอบในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์ตามโครงการต่อไป
2. จัดให้มีการติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการที่ได้ดำเนินไปแล้ว เพื่อตรวจสอบการใช้งานจริง การใช้ประโยชน์ของครุภัณฑ์หรืออุปกรณ์ต่างๆ ตามโครงการในระยะที่ผ่านมาเพื่อที่จะได้ทราบว่า ยังคงมีอุปกรณ์ในรายการที่มีความสำคัญควรกำหนดให้มีต่อไป หรือมีรายการใดที่ไม่มีความจำเป็น ไม่มีการใช้งาน หรือมีการใช้งานไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ใช้ไป ควรตัดรายการดังกล่าวออกไปในการจัดทำโครงการระยะต่อไป
3. สำหรับครุภัณฑ์หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ ให้หาแนวทางเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ต่อไป
ข้อสังเกต การบริหารจัดการทรัพย์สินตามโครงการ
การดำเนินโครงการมีการจัดซื้อทรัพย์สินจำนวนมากให้สถานีตำรวจภูธรต่างๆ รวม 13 แห่ง ซึ่ง อบจ.ชลบุรี ไม่ได้มีการถ่ายโอนไปให้กับสถานีตำรวจในพื้นที่ติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดตามโครงการ ดังนั้น เพื่อให้ทรัพย์สินดังกล่าวสามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพไม่สูญหายหรือชำรุดก่อนเวลาอันควร อบจ.ชลบุรี จะต้องควบคุมและดูแลรักษาครุภัณฑ์ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงมหาดไทย จากการตรวจสอบพบว่า การบริหารจัดการทรัพย์สินตามโครงการ ยังไม่เป็นไปตามระเบียบดังนี้
1. การควบคุมทรัพย์สินตามโครงการฯ ของ อบจ.ชลบุรี ไม่ครบถ้วนถูกต้อง โดยพบว่า อบจ.ชลบุรี มีการควบคุมทรัพย์สินตามโครงการฯ ไม่รัดกุม โดยมีครุภัณฑ์ที่ไม่ได้บันทึกในทะเบียนคุมทรัพย์สิน มีครุภัณฑ์ที่บันทึกในทะเบียนคุมทรัพย์สินและกำหนดเลขครุภัณฑ์แล้ว แต่ไม่ได้ให้รหัสครุภัณฑ์ที่ตัวทรัพย์สิน มีครุภัณฑ์ที่บันทึกรหัสครุภัณฑ์ในทะเบียนคุมทรัพย์สินไม่ตรงกับรหัสที่ตัวทรัพย์สิน และมีการสลับครุภัณฑ์ในช่วงที่ผู้รับจ้างนำไปซ่อมแซม ในโครงการระยะที่ 1 ระหว่าง สภ. แสนสุข และสภ.เมืองชลบุรี
2. มีการซื้อครุภัณฑ์ทดแทนรายการเดิมหลายรายการ โดยไม่มีการจำหน่ายทรัพย์สินออก จากบัญชีหรือทะเบียน และจัดทำโครงการเพื่อจัดซื้อทดแทน แต่กลับใช้งบประมาณในโครงการซ่อมแซมกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่ตั้งไว้ตามข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2555 และ 2558 งบประมาณโครงการบำรุงรักษาระบบโทรทัศน์วงจรปิด ในเขตรับผิดชอบของ อบจ.ชลบุรี งบประมาณ 10 ล้านบาท มาดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์ตัวใหม่ทดแทนตัวเก่า
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้ อบจ.ชลบุรี พิจารณาดำเนินการดังนี้
1. สั่งการให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ดำเนินการในส่วนของการควบคุมครุภัณฑ์โครงการ โดยหากครุภัณฑ์รายการใดยังไม่มีการบันทึกในทะเบียนคุมทรัพย์สิน และ/หรือยังไม่ได้มีการให้รหัสครุภัณฑ์ที่ตัวทรัพย์สิน ต้องดำเนินการให้ครบถ้วนเรียบร้อย และครุภัณฑ์รายการใดที่บันทึกรหัสครุภัณฑ์ในทะเบียนคุมทรัพย์สินไม่ตรงกับรหัสที่ตัวทรัพย์สิน ต้องดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง
2. ในกรณีที่มีครุภัณฑ์ในโครงการชำรุด เสื่อมคุณภาพจนไม่สามารถใช้งานได้ หรือสูญหายไป ต้องดำเนินการตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 หมวด 3 การควบคุมและการจำหน่ายพัสดุ เพื่อจำหน่ายครุภัณฑ์นั้นออกจากบัญชีหรือทะเบียน และจัดทำโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์ตัวใหม่เพื่อทดแทนตัวเก่าที่เสียหายให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
3. กำชับผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านพัสดุ รวมทั้งกำกับ ดูแล ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตามระเบียบฯ ที่กำหนดอย่างเคร่งครัด หากเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว ควรมีมาตรการลงโทษตามควรแก่กรณี
----
ในสัปดาห์หน้า สำนักข่าวอิศราจะนำเสนอผลการตรวจสอบที่สำคัญของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเรื่องใด โปรดติดตาม
อ่านประกอบ :
เปิดกรุผลสอบสตง.(1) ชำแหละงบพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกาญฯ ไม่คุ้มค่า ห้องอาบน้ำแร่ถูกทิ้งร้าง
เปิดกรุผลสอบสตง.(2) ตรวจงบยกระดับหมู่บ้านโคราช ใช้ภาพเดียวเบิกเงิน 6 โครงการรวด
เปิดกรุผลสอบสตง.(3) ตรวจการผลิต-ใช้พลังงานทดแทน ‘กรมการพลังงานทหาร’ ล้มเหลวไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(4) ตรวจนโยบายร.ร.ดีใกล้บ้าน ยกระดับการศึกษาล้ม-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(5) ตรวจโครงการพัฒนาลำเชียงไกรโคราช ไม่เสร็จตามแผน-ซื้อของเกินจำเป็น
เปิดกรุผลสอบสตง.(6) ตรวจโครงการพัฒนาพืช-พลังงาน จ.ขอนแก่น 113ล. ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(7) ตรวจโครงการพลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้า-ประปาจ.กาญจนฯ ล้มเหลว-เบิกจ่ายเท็จ
เปิดกรุผลสอบสตง.(8) ตรวจโครงการควมคุมอาคารเขตเทศบาลนคร/เมือง ไม่ปลอดภัย-ผิดกม.อื้อ
เปิดกรุผลสอบสตง.(9) ตรวจการควบคุมเคมีทางเกษตร พบสารต้องห้าม-ร้านขายไม่ปลอดภัย-ผิดกม.
เปิดกรุผลสอบสตง.(10) ตรวจโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติด อปท.ลำปาง ไม่คุ้มงบ-ผิดวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(11) ตรวจโครงการสินค้าเกษตร 4.0 สุพรรณฯ ไม่พร้อมดำเนินการ-ไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(12) ตรวจโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว ขาดความต่อเนื่อง-ไม่ยั่งยืน
เปิดกรุผลสอบสตง.(13) ตรวจศูนย์อาชีพผู้สูงอายุ ไม่เป็นตามวัตถุประสงค์-จัดซื้อไม่คุ้มค่า
เปิดกรุผลสอบสตง.(14) ตรวจโครงการแพทย์ฉุกเฉิน อบจ.มหาสารคาม มอบรถพยาบาลช้า-ใช้ผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(15) ตรวจสหกรณ์จ.สุราษฎร์ฯ-ชุมพร ตั้งโรงงานยางพารา แต่ไม่เดินสายพานผลิต
เปิดกรุผลสอบสตง.(16) ตรวจการเก็บค่าภาคหลวงแร่ กรมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ฯ ไม่เป็นตามกฎหาย
เปิดกรุผลสอบสตง.(17) ตรวจโครงการนาขั้นบันไดจ.น่าน ไม่ตรงเป้าหมาย-เบิกจ่ายเท็จ/ผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(18) ตรวจศูนย์เด็กเล็ก อปท.นครศรีธรรมราช ไร้ประสิทธิภาพ-ไม่ปลอดภัย
เปิดกรุผลสอบสตง.(19) ตรวจสำนักงาน กศน. อุดรธานี ไร้ประสิทธิภาพ-จบช้า/น้อย-พบนศ.ผี
เปิดกรุผลสอบสตง.(20) ตรวจโครงการเกษตรอินทรีย์กาญจนฯ ไม่บรรลุประสงค์-จัดซื้อผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(21) ตรวจโครงการความปลอดภัยทางทะเลพัทยา ระบบ/อุปกรณ์ไม่ตรงตาม TOR
เปิดกรุผลสอบสตง.(22) ตรวจการกำจัดขยะ อปท. นครสวรรค์/พิจิตร ไม่ได้มาตรฐาน-ไม่ตามโรดแม็พ
เปิดกรุผลสอบสตง.(23) ตรวจการพัฒนาชลประทานฉะเชิงเทรา ผิดระเบียบ-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(24) ตรวจโครงการช่วยเกษตรกร/คนจน กำแพงเพชร ผิดระเบียบ-ไม่บรรลุเป้าหมาย
เปิดกรุผลสอบสตง.(25) ตรวจโครงการควมคุมอาคารเขตเทศบาลตำบล/อบต. ไม่ปลอดภัย-ผิดกม.อื้อ
เปิดกรุผลสอบสตง.(26) ตรวจโครงการเกษตรผสมผสานอีสานล่าง 2 ผิดวัตถุประสงค์-ไม่มีประสิทธิภาพ
เปิดกรุผลสอบสตง.(27) ตรวจสอบการประปาเทศบาลนครศรีธรรมราช ขาดประสิทธิภาพ-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(28) ตรวจสอบกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สทบ. เสี่ยงล้มเหลว-ขาดศักยภาพ
เปิดกรุผลสอบสตง.(29) ตรวจสอบระบบจัดการขยะ จ.เชียงราย ไม่เป็นระบบ-ขาดประสิทธิภาพ
เปิดกรุผลสอบสตง.(30) โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ จ.แพร่ แจกปัจจัยเกินจำเป็น-ไม่สอดคล้องหลักการ
เปิดกรุผลสอบสตง.(31) ปศุสัตว์ปลอดภัย จ.พะเยา ผิดระเบียบ-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(32) การแพทย์ฉุกเฉิน อบจ.ร้อยเอ็ด ขาดประสิทธิภาพ-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(33) แผนพัฒนาเกษตรบรรเทาแล้งศรีสะเกษ เสียหาย-บริหารต่อไม่ได้
เปิดกรุผลสอบสตง.(34) อบจ.อุดรฯ ซื้อผ้าห่มแจกต้านภัยหนาวปี57 แพงกว่าราคาตลาด
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/