เปิดกรุผลสอบสตง.(6) ตรวจโครงการพัฒนาพืช-พลังงาน จ.ขอนแก่น 113ล. ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
"...ก่อนจัดทำโครงการไม่มีการประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย ไม่ทำการประชาสัมพันธ์และซักซ้อมแนวทางปฏิบัติให้ทราบถึงวัตถุประสงค์ กลุ่มเป้าหมาย และทิศทางการดำเนินการของโครงการ ไม่มีการควบคุมปัจจัยการผลิตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ไม่มีการตรวจสอบคุณภาพข้าวและคุณภาพดิน ไม่มีคำสั่งแต่งตั้งให้เจ้าหน้าที่เพื่อใหคำแนะนำในด้านบริหารจัดการศูนย์ข้าวชุมชนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ไม่มีการติดตามความก้าวหน้า และประเมินผลสำเร็จของโครงการในภาพรวม ทำให้ไม่มีข้อมูลเพื่อนำไปสู่การวางแผนและปรับปรุงแก้ไขการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนไม่ได้มุ่งเน้นการวัดผลสำเร็จที่แท้จริงของโครงการ..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานตรวจสอบสำคัญของไทย มีหน้าที่ในการป้องกันดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ที่ถูกใช้จ่ายไปอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ที่ผ่านมา สตง.ได้มีการเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบเรื่องการใช้จ่ายเงินที่สำคัญไว้หลายเรื่อง สำนักข่าวอิศรา จึงขอเปิดพื้นที่ตรงนี้ ทุกวันเสาร์ รวบรวมข้อมูลผลการตรวจสอบที่สำคัญมานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบ
ในสัปดาห์ที่ 6 จะเป็นการนำเสนอผลการตรวจสอบเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมพืชอาหาร และพลังงานทดแทน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ของ จังหวัดขอนแก่น
@ โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมพืชอาหาร และพลังงานทดแทน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ของ จังหวัดขอนแก่น
ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดขอนแก่น ในปีการผลิต 2557/2558 จังหวัดขอนแก่นมีพื้นที่ปลูกข้าว จำนวน 2.7 ล้านไร่ โดยมีการปลูกข้าวมากเป็นอันดับหนึ่งเมื่อเทียบกับการปลูกพืชชนิดอื่น พื้นที่ปลูกข้าวส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ดอนและเป็นเขตอาศัยน้ำฝน และในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จังหวัดขอนแก่นปัญหาภัยพิบัติ เช่น ฝนแล้ง แมลงศัตรูพืชระบาด เป็นต้น ทำให้เกษตรกรประสบภาวะขาดทุน ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ทำการจัด Zoning เพื่อปรับเปลี่ยนพื้นที่การปลูกพืชที่ไม่เหมาะสมให้ สอดคล้องกับความต้องการของตลาด จึงกำหนดให้ลดพื้นที่การปลูกข้าวลงเหลือ 2.2 ล้านไร่ ดังนั้น เพื่อช่วยเหลือให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิต พร้อมทั้งลดต้นทุนการผลิต และสนับสนุนให้ได้ ใบรับรองมาตรฐานการผลิตข้าว GAP เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการตลาดและเพิ่มโอกาสทางการแข่งขัน จังหวัดขอนแก่นจึงจัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมพืชอาหารและพลังงาน ทดแทน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 วงเงินงบประมาณ 113,881,500 บาท จากงบพัฒนาจังหวัดขอนแก่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 โดยมอบหมายให้ 27 หน่วยงาน ทำการบูรณาการร่วมกัน ประกอบด้วย
1. สำนักงานเกษตรจังหวัดขอนแก่น ดำเนินโครงการส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์ข้าวชุมชน จำนวน 200 ศูนย์ วงเงินงบประมาณ 26,914,700 บาท และทำหน้าที่ประสานข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2. สถานีพัฒนาที่ดินขอนแก่น ดำเนินโครงการจัดหาแหล่งน้ำขนาดเล็กในไร่นานอกเขตชลประทาน และจัดทำระบบป้องกันการพังทลายของบ่อ (ปลูกหญ้าแฝก) จำนวน 500 บ่อ วงเงินงบประมาณ 10,600,000 บาท
3. สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดขอนแก่น ดำเนินโครงการขุดเจาะบ่อบาดาลขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 นิ้ว พร้อมระบบสูบน้ำ จำนวน 100 แห่ง วงเงินงบประมาณ 28,489,200 บาท
4. สำนักงานพลังงานจังหวัดขอนแก่น ดำเนินโครงการจัดทำระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 100 แห่ง วงเงินงบประมาณ 12,000,000 บาท
5. ที่ทำการปกครองอำเภอ 23 แห่ง ดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและประกอบอาชีพ จำนวน 23 แห่ง วงเงินงบประมาณ 35,877,600 บาท
สตง. ได้ตรวจสอบการดำเนินงานโครงการพัฒนาศักยภาพ อุตสาหกรรมพืชอาหารและพลังงานทดแทน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ผลการตรวจสอบมีข้อตรวจพบ ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 การดำเนินโครงการไม่บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการหลัก
จังหวัดขอนแก่นจัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมพืชอาหารและพลังงานทดแทน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกข้าวให้มีความรู้ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ปรับปรุงบำรุงดิน สนับสนุนพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดี กำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการไว้ ดังนี้
1. เพื่อลดต้นทุนการผลิตต่อไร่ของข้าว
2. เพื่อดำเนินการช่วยให้เกษตรกรได้รับการตรวจรับรองมาตรฐานผลการผลิตข้าวตามความ ต้องการของตลาด
3. เพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกร
4. เพื่อกระจายพันธุ์ข้าวคุณภาพดี
5. เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลในการกำหนด Zoning พืชจังหวัดขอนแก่น
จากการตรวจสอบ พบว่า
1. ก่อนจัดทำโครงการฯ สำนักงานเกษตรจังหวัดขอนแก่น ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลัก ไม่ได้ทำการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่ได้รับ มอบหมายให้ดำเนินกิจกรรมร่วมกัน เพื่อให้ทราบถึงรายละเอียดโครงการ เช่น วัตถุประสงค์ กลุ่มเป้าหมาย (เกษตรกรที่เป็นสมาชิกศูนย์ข้าวชุมชน จำนวน 4,000 ราย) ตลอดจนการกำหนด ตัวชี้วัด ให้มีความสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สามารถวัดผลสำเร็จของโครงการได้อย่าง เป็นรูปธรรม
2. จากการสัมภาษณ์เกษตรกรผู้ได้รับประโยชน์จากกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมพืชอาหารและพลังงานทดแทน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 พบว่า เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นสมาชิกศูนย์ข้าวชุมชน แต่เป็นเกษตรกรที่เคยยื่นความจำนงขอรับการสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ กับหน่วยงานไว้ก่อนแล้ว ดังนั้น เกษตรกรที่ได้รับการคัดเลือกของแต่ละกิจกรรม จึงไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายเดียวกัน และไม่ทราบว่ากิจกรรมที่ตนได้รับนั้นเป็นกิจกรรมหนึ่งที่อยู่ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมพืชอาหารและพลังงานทดแทน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมเกษตรกรที่ปลูกข้าวให้ได้ข้าวพันธุ์ดี เพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน การผลิตต่อไร่ของข้าว สามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรที่ปลูกข้าว กระจายพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ช่วยให้เกษตรกรได้รับการตรวจรับรองมาตรฐานผลการผลิตข้าวตามความต้องการของตลาดและ สามารถสนองนโยบายรัฐบาลในการกำหนด Zoning พืชจังหวัดขอนแก่น การใช้ประโยชน์จากน้ำ เป็นการใช้ในการปลูกข้าวไว้สำหรับบริโภค ปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง และปลูกพืชทั่วไปสำหรับบริโภคในครัวเรือน ไม่มุ่งเน้นเพื่อการจำหน่าย อีกทั้งโครงการดังกล่าวมีหลายกิจกรรมจากหลาย หน่วยงานที่ทำการบูรณาการร่วมกัน แต่เกษตรกรไม่ทราบทำให้เสียโอกาสในการได้รับการสนับสนุน ปัจจัยการผลิตจากหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งที่เกษตรกรยังขาดแคลนปัจจัยการผลิต
ผลกระทบ
จากการดำเนินโครงการที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด ทำให้สมาชิกศูนย์ข้าวชุมชน จำนวน 4,000 ราย ขาดโอกาสในการได้รับปัจจัยส่งเสริมการปลูกข้าวจากหน่วยงานที่ร่วมบูรณาการ ไม่สามารถกระจายพันธุ์ข้าวคุณภาพดีให้กับเกษตรกรและไม่ได้รับการตรวจรับรองมาตรฐานผลการ ผลิตข้าว (GAP) ได้เนื่องจากไม่มีงบประมาณสำหรับดำเนินการเพื่อทำการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานการผลิตข้าว กลุ่มเป้าหมายไม่ได้กำหนดให้เป็นกลุ่มเดียวกันจึงไม่สามารถวัด ผลผลิต ต้นทุน การผลิตและรายได้ของเกษตรกรหลังเข้าร่วมโครงการได้ การบริหารจัดการศูนย์ข้าวชุมชนไม่เป็นไปตามหลักการบริหารจัดการที่ดีอาจทำให้ศูนย์ฯ ขาดความมั่นคง ไม่สามารถลดพื้นที่การทำนาที่ ไม่เหมาะสมลงได้ เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกข้าวไว้สำหรับบริโภค การดำเนินโครงการที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดอาจทำให้ไม่เกิดประโยชน์สูงสุดกับงบประมาณที่ใช้ไป และไม่สามารถประเมินผลสำเร็จของตัวชี้วัดและเป้าหมายของโครงการได้
สาเหตุ
เกิดจากก่อนจัดทำโครงการไม่มีการประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย ไม่ทำการประชาสัมพันธ์และซักซ้อมแนวทางปฏิบัติให้ทราบถึงวัตถุประสงค์ กลุ่มเป้าหมาย และทิศทางการดำเนินการของโครงการ ไม่มีการควบคุมปัจจัยการผลิตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ไม่มีการตรวจสอบคุณภาพข้าวและคุณภาพดิน ไม่มีคำสั่งแต่งตั้งให้เจ้าหน้าที่เพื่อใหคำแนะนำในด้านบริหารจัดการศูนย์ข้าวชุมชนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ไม่มีการติดตามความก้าวหน้า และประเมินผลสำเร็จของโครงการในภาพรวม ทำให้ไม่มีข้อมูลเพื่อนำไปสู่การวางแผนและปรับปรุงแก้ไขการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนไม่ได้มุ่งเน้นการวัดผลสำเร็จที่แท้จริงของโครงการ และในกรณีรัฐบาลส่งเสริมให้ทำการเปลี่ยนแปลงการปลูกพืชให้มีความเหมาะสมกับพื้นที่และตามความต้องการของตลาด (Zoning) แต่ไม่มีนโยบายรองรับเกษตรกรที่เปลี่ยนแปลงชนิดพืชที่ปลูก จึงทำให้เกษตรกรขาดความมั่นใจและไม่ให้ความสนใจกับโครงการดังกล่าว
ข้อเสนอแนะ
ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. ในโอกาสต่อไปการจัดทำโครงการที่มีลักษณะบูรณาการร่วมกันหลายหน่วยงาน ทุกหน่วยงานควรประสานแผนการดำเนินการและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และสั่งกำชับเจ้าหน้าที่ ที่รับผิดชอบให้จัดทำข้อเสนอโครงการให้เป็นไปตามหลักการจัดทโครงการที่ดี โดยต้องกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการย่อยให้มีความสอดคล้องกันและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน กำหนดตัวชี้วัดผลการดำเนินงานให้ชัดเจน สามารถวัดผลการดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม การกำหนดกิจกรรม รายละเอียดของกิจกรรม กำหนดแผนดำเนินการแต่ละโครงการให้มีความสอดคล้องกัน เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติงานโครงการ การควบคุมกำกับดูแล การติดตาม ความคืบหน้าของโครงการ เพื่อทราบปัญหา อุปสรรค ในระหว่างการดำเนินโครงการ เพื่อให้สามารถ ปรับปรุงแก้ไขได้อย่างทันท่วงที
2. สั่งกำชับหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักในกรณีมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำหน้าที่ประสานข้อมูลโครงการให้ชัดเจน และรายงานผลการดำเนินงานของแต่ละกิจกรรมของโครงการ เพื่อให้ทราบถึงปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไขได้อย่างเหมาะสม
3. สั่งกำชับหน่วยงานที่รับผิดชอบแต่ละโครงการ/กิจกรรม ต้องศึกษาความเป็นไปได้ในทุกๆ ด้านโดยเฉพาะปัญหาความต้องการของเกษตรกร และผลกระทบด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของประชาชนในแต่ละพื้นที่ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของเกษตรกร
4. ในโอกาสต่อไปการจัดทำโครงการควรกำหนดให้มีหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องให้ครบทุกกิจกรรมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าเมื่อดำเนินการแล้วจะเป็นไปตามมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในวง
ข้อตรวจพบที่ 2 โครงการย่อยที่ดำเนินการแล้วเสร็จไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์โครงการหลัก
1. โครงการจัดหาแหล่งน้ำขนาดเล็กในไร่นานอกเขตชลประทาน (ขุดสระน้ำ) จำนวน 500 บ่อ จากการสุ่มตรวจสอบการขุดสระน้ำขนาดเล็กฯ จำนวน 168 บ่อ พบว่า เกษตรกรมีสระน้ำ และแหล่งน้ำอื่นสำหรับใช้ประโยชน์เพียงพออยู่แล้ว จำนวน 40 ราย สระน้ำไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ จำนวน 6 ราย สระน้ำมีขนาดและรูปแบบไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ จำนวน 13 ราย ปัจจุบันเกษตรกรยังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอยู่ จำนวน 134 ราย คิดเป็นร้อยละ 79.76 การใช้ ประโยชน์จากสระน้ำส่วนใหญ่ใช้ในการปลูกพืชแบบผสมผสานไม่มีหน่วยงานของทางราชการมาส่งเสริมให้ทำการปลูกพืชชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นกรณีพิเศษ
2. โครงการขุดเจาะบ่อบาดาลขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 นิ้ว พร้อมระบบสูบน้ำด้วย พลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 100 แห่ง
จากการสุ่มตรวจสอบการขุดเจาะบ่อบาดาล จำนวน 38 บ่อ พบว่า ไม่ได้ใช้ประโยชน์ จำนวน 8 บ่อ เนื่องจาก ระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ชำรุด สวิทซ์และตู้ควบคุมไม่ทำงาน จำนวน 5 บ่อ เครื่องแปลงไฟเสีย จำนวน 2 บ่อ และไม่สามารถเปิด-ปิด ระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ได้ เนื่องจากยังไม่เข้าใจการทำงานของระบบและยังไม่ต่อระบบสูบน้ำด้วยท่อ พี.วี.ซี.เข้าพื้นที่ ทำการเกษตร จำนวน 1 บ่อ มีการใช้ประโยชน์ จำนวน 30 บ่อ ส่วนใหญ่ใช้ในการทำไร่นาสวนผสม
3. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและประกอบอาชีพ จำนวน 23 แห่ง
จากการสุ่มตรวจสอบ จำนวน 12 แห่ง พบว่า
3.1 ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำได้ จำนวน 2 แห่ง คือ โครงการขุดลอกหนองกุง บ้านหนองคู ตำบลพระยืน อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น เนื่องจากทำการขุดลอกสระน้ำ โดยไม่ทำทางน้ำไหลเข้าสระทำให้สระไม่มีน้ำ และโครงการขุดลอกฝาย บ้านวังหว้า หมู่ที่ 8 และ หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านแฮด อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น เนื่องจากทำการขุดลอกคลองแต่คันคลองมีสภาพเป็นดินทรายทำให้พังทลายลงอุดตันคลองน้ำ ทำให้มีสภาพตื้นเขิน
3.2 การใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำไม่ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรที่ยังขาดแคลนน้ำ คือ โครงการขุดลอกและก่อสร้างฝาย ล าห้วยเพิ่ม บ้านสระบัว หมู่ที่ 6 ตำบลโนนแดง อำเภอโนนศิลา จังหวัดขอนแก่น เนื่องจากมีผู้ใช้ประโยชน์จากลำห้วยเพียง 2 ราย ซึ่งเกษตรกรทั้ง 2 ราย มีบ่อบาดาล ในพื้นที่ของตนเองที่มีปริมาณน้ำเพียงพออยู่แล้ว
ผลกระทบ
การที่โครงการดำเนินการแล้วเสร็จแต่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์ของ โครงการ ส่งผลให้ไม่สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการและเกษตรกร รายอื่นๆ ได้หรือเกษตรกรบางรายเสียโอกาสในการเข้าร่วมโครงการ และทำให้ไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จตามแนวทางการนำพลังงานทดแทนมาใช้ในการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนและ เพิ่มรายได้จากการทำการเกษตรได้
สาเหตุ
1. การคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการไม่ได้คัดเลือกจากสมาชิกศูนย์ข้าวชุมชน
2. ก่อนทำการขุดสระน้ำไม่ได้สำรวจพื้นที่ว่าเกษตรกรที่ขอรับการขุดสระน้ำนั้นมีสระน้ำเดิม ที่มีปริมาณน้ำใช้ในการทำการเกษตรเพียงพออยู่หรือไม่ และไม่ทำการสำรวจ สภาพดินว่าสามารถ เก็บกักน้ำหรือไม่หากทำการขุดสระในพื้นที่ดังกล่าว
3. การกำหนดแบบรูปรายการของบ่อบาดาลพร้อมระบบสูบน้ำและอุปกรณ์เชื่อมต่อไม่สัมพันธ์กับพื้นที่การใช้ประโยชน์ทำให้ปริมาณน้ำน้อยไม่เพียงพอกับการทำนา และความต้องการของเกษตรกร
4. ไม่แต่งตั้งเจ้าหน้าที่เพื่อให้คำแนะน าในการใช้ระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์หากเกิดปัญหา เนื่องจากระบบดังกล่าวเป็นระบบใหม่การใช้งานยังไม่แพร่หลาย เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับระบบ การทำงานแล้วไม่มีบุคคลหรือเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาจึงทำให้เกษตรกรไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้
5. ก่อนทำการพัฒนาแหล่งน้ำ ที่ทำการปกครองอำเภอไม่ได้ทำการสำรวจความต้องการของ เกษตรกรว่าขาดแคลนน้ำหรือไม่ มีความต้องการใช้น้เพื่อเพาะปลูกพืชชนิดใด และจำนวนกี่ราย
ข้อเสนอแนะ
ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พิจารณาดำเนินการดังนี้
1. ในโอกาสต่อไป การจัดทำโครงการที่มีลักษณะบูรณาการร่วมกันหลายหน่วยงาน ให้สั่งกำชับหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการต่างๆ พิจารณาคัดเลือกเกษตรกรจากกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน และต้องพิจารณาจากความต้องการที่แท้จริงของเกษตรกร
2. สั่งการสถานีพัฒนาที่ดินขอนแก่น ตรวจสอบงานขุดสระน้ำทั้งจำนวน 500 บ่อ หากพบว่ามีความชำรุดบกพร่องให้ทำการซ่อมแซมแก้ไขให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ได้ต่อไป
3. สั่งการให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดขอนแก่นและสำนักงานพลังงานจังหวัดขอนแก่น ตรวจสอบบ่อบาดาลพร้อมระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ให้ดำเนินการซ่อมแซมแก้ไขให้สามารถใช้งานได้ และกำหนดแนวทางการดำเนินการ เพื่อให้เกษตรกรใช้ประโยชน์ได้สูงสุด หากบ่อบาดาลพร้อมระบบฯ มีปัญหา ให้สามารถปรึกษาถึงปัญหาอุปสรรคเพื่อให้ได้รับการแก้ไขโดยเร็ว
4. สั่งการให้อำเภอทุกอำเภอในจังหวัดขอนแก่นที่เข้าร่วมโครงการ ตรวจสอบงานจ้างตาม โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและประกอบอาชีพ ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมพืชอาหารและพลังงานทดแทน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 หากพบว่า มีความชำรุด บกพร่องให้ทำการซ่อมแซมแก้ไขให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์โดยเร็ว
5. สั่งกำชับหน่วยงานที่รับผิดชอบแต่ละโครงการ/กิจกรรมตรวจสอบโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จแต่ยังไม่ใช้ประโยชน์ หรือเกิดความชำรุดบกพร่องให้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงให้ สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามที่กำหนดต่อไป
----
ในสัปดาห์หน้า สำนักข่าวอิศราจะนำเสนอผลการตรวจสอบที่สำคัญของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเรื่องใด โปรดติดตาม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
เปิดกรุผลสอบสตง.(1) ชำแหละงบพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกาญฯ ไม่คุ้มค่า ห้องอาบน้ำแร่ถูกทิ้งร้าง
เปิดกรุผลสอบสตง.(2) ตรวจงบยกระดับหมู่บ้านโคราช ใช้ภาพเดียวเบิกเงิน 6 โครงการรวด
เปิดกรุผลสอบสตง.(3) ตรวจการผลิต-ใช้พลังงานทดแทน ‘กรมการพลังงานทหาร’ ล้มเหลวไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(4) ตรวจนโยบายร.ร.ดีใกล้บ้าน ยกระดับการศึกษาล้ม-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(5) ตรวจโครงการพัฒนาลำเชียงไกรโคราช ไม่เสร็จตามแผน-ซื้อของเกินจำเป็น