เปิดกรุผลสอบสตง.(8) ตรวจโครงการควมคุมอาคารเขตเทศบาลนคร/เมือง ไม่ปลอดภัย-ผิดกม.อื้อ
“...เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ดำเนินการออกคำสั่งตามแบบของคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2528) และอยู่ในระหว่างบังคับการให้เจ้าของอาคารปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยเป็นการกระทำผิดกรณี ก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตมากที่สุด จำนวน 537 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 522 ราย และดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 15 ราย นอกจากนี้ จากการสังเกตการณ์อาคารในเขตเทศบาลนคร และเทศบาลเมืองที่สุ่มตรวจสอบ พบว่า ยังมีเจ้าของอาคารที่กระทำผิดกฎหมายควบคุมอาคาร กล่าวคือ มีการก่อสร้าง ดัดแปลงอาคาร โดยไม่ขออนุญาต หรือก่อสร้างผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522...”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานตรวจสอบสำคัญของไทย มีหน้าที่ในการป้องกันดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ที่ถูกใช้จ่ายไปอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ที่ผ่านมา สตง.ได้มีการเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบเรื่องการใช้จ่ายเงินที่สำคัญไว้หลายเรื่อง สำนักข่าวอิศรา จึงขอเปิดพื้นที่ตรงนี้ ทุกวันเสาร์ รวบรวมข้อมูลผลการตรวจสอบที่สำคัญมานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบ
ในสัปดาห์ที่ 8 จะเป็นการนำเสนอผลการตรวจสอบเกี่ยวกับรายงานการตรวจสอบการดำเนินงาน การบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคาร ในเขตเทศบาลนครและเทศบาลเมือง
@ รายงานการตรวจสอบการดำเนินงาน การบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคาร ในเขตเทศบาลนครและเทศบาลเมือง
เนื่องจากเขตเทศบาลนครและเทศบาลเมืองในจังหวัดต่างๆ มีการขยายตัวด้านการก่อสร้างอาคาร และการผังเมือง กระทรวงมหาดไทย จึงกำหนดเขตควบคุมอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการควบคุมเกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัย การป้องกันอัคคีภัย การสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง การสถาปัตยกรรม และการอำนวยความสะดวกแก่การจราจร รวมทั้งการรองรับการขยายตัวของชุมชนในด้านการก่อสร้างอาคาร ซึ่งท้องที่ที่ประกาศพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 นั้น จะต้องเป็นไปตาม หลักเกณฑ์การพิจารณาประกาศพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บังคับพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 หรือกระทรวงมหาดไทยมีนโยบายที่จะประกาศให้ใช้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในท้องที่ดังกล่าว
สตง. ตระหนักถึงความสำคัญของการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคาร ในเขตเทศบาลนครและเทศบาลเมือง จึงได้เลือกตรวจสอบการดำเนินงานดังกล่าว โดยสุ่มตรวจสอบเทศบาลนครและเทศบาลเมือง จำนวน 8 แห่ง เพื่อให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อเทศบาลนครและเทศบาลเมือง ในการปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
ข้อตรวจพบที่ 1 การก่อสร้าง ดัดแปลงอาคาร หรือป้ายไม่เป็นไปตามกฎหมาย
1.1 เจ้าของอาคารไม่ปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมอาคาร
1.1.1 การก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต
จากการตรวจสอบเอกสารการดำเนินการกับเจ้าของอาคารที่กระทำผิดกฎหมาย ควบคุมอาคาร ปี พ.ศ. 2550–2559 ของฝ่ายควบคุมอาคารและผังเมือง สำนักการช่าง เทศบาลนคร และเทศบาลเมืองที่สุ่มตรวจสอบ พบว่า อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 683 ราย และดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 58 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 92.17 และ 7.83 ของจำนวนการดำเนินการกับเจ้าของอาคารที่กระทำผิดกฎหมายควบคุมอาคารทั้งหมด ตามลำดับ กล่าวคือ เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ดำเนินการออกคำสั่งตามแบบของคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2528) และอยู่ในระหว่างบังคับการให้เจ้าของอาคารปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยเป็นการกระทำผิดกรณี ก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตมากที่สุด จำนวน 537 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 522 ราย และดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 15 ราย นอกจากนี้ จากการสังเกตการณ์อาคารในเขตเทศบาลนคร และเทศบาลเมืองที่สุ่มตรวจสอบ พบว่า ยังมีเจ้าของอาคารที่กระทำผิดกฎหมายควบคุมอาคาร กล่าวคือ มีการก่อสร้าง ดัดแปลงอาคาร โดยไม่ขออนุญาต หรือก่อสร้างผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
1.1.2 การเปลี่ยนการใช้อาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต
ข้อมูลจำนวนอาคารประเภทควบคุมการใช้ ที่ขออนุญาตฯ (อ.1) หรือขอเปลี่ยนการใช้ฯ (อ.6) มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ ระหว่างปี พ.ศ.2550–2559 เทศบาลนครที่สุ่มตรวจสอบทั้ง 4 แห่ง มีอาคารประเภทควบคุมการใช้ที่ขออนุญาตฯ (อ.1) หรือขอเปลี่ยนการใช้ฯ (อ.6) กับฝ่ายควบคุมอาคารและผังเมือง สำนักการช่าง เพียง 2,368 แห่ง แต่ข้อมูลทะเบียนทรัพย์สิน (ผท.4) ของฝ่ายแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สิน สำนักการคลัง มีอาคารประเภทควบคุมการใช้ จำนวน 13,375 แห่ง ซึ่งมีความแตกต่างกันถึง 11,007 แห่ง แสดงว่า อาคารส่วนใหญ่อาจมีการเปลี่ยนการใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
1.1.3 อาคารไม่มีความปลอดภัยจากอัคคีภัยตามกฎกระทรวงที่กำหนด
จากการสังเกตการณ์อาคารในเขตเทศบาลนครและเทศบาลเมืองที่สุ่มตรวจสอบรวม จำนวน 107 แห่ง ประกอบด้วย โรงแรม หอพัก ห้องเช่า โรงมหรสพ และสถานบริการ จำนวน 29 21 37 10 และ 10 แห่ง ตามลำดับ พบว่า อาคารส่วนใหญ่ไม่มีความปลอดภัยจากอัคคีภัยตามกฎกระทรวง ที่กำหนด โดยมีสภาพปัญหาความไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัยสูงสุด 3 ลำดับแรก คือ (1) ไม่มีป้ายผังบริเวณ จำนวน 84 แห่ง (2) ไม่มีระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ จำนวน 62 แห่ง และ (3) ป้ายทางหนีไฟ จำนวน 58 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 78.50 57.94 และ 53.27 ของอาคารที่สุ่มตรวจสอบทั้งหมด
นอกจากนี้ อาคารที่มีความสูงตั้งแต่สี่ชั้นขึ้นไป จำนวน 49 แห่ง โรงมหรสพ จำนวน 10 แห่ง และสถานบริการ จำนวน 10 แห่ง รวมทั้งสิ้น 69 แห่ง ซึ่งกฎกระทรวงฯ ได้กำหนดมาตรการระบบความปลอดภัย เกี่ยวกับประตูหนีไฟ และบันไดหนีไฟ แต่จากการสังเกตการณ์ ปรากฏว่า อาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 4 ชั้นขึ้นไป ไม่มีประตูหนีไฟหรือมีแต่ไม่เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง จำนวน 36 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 73.47 เช่นเดียวกับโรงมหรสพ และสถานบริการ ไม่มีประตูหนีไฟหรือมีแต่ไม่เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง จำนวน 6 และ 8 แห่ง ตามลำดับ หรือคิดเป็น ร้อยละ 60 และร้อยละ 80
1.2 เจ้าของหรือผู้ครอบครองป้ายไม่ปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมอาคาร
จากการตรวจสอบเอกสารการดำเนินการกับเจ้าของหรือผู้ครอบครองป้ายที่กระทำผิดกฎหมาย ควบคุมอาคาร ปี พ.ศ. 2550–2559 ของฝ่ายควบคุมอาคารและผังเมือง สำนักการช่าง เทศบาลนคร และเทศบาลเมืองที่สุ่มตรวจสอบ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ เทศบาลนครขอนแก่น และเทศบาลเมืองชุมแพ จังหวัดขอนแก่น และเทศบาลนครเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พบว่า อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 44 ราย และดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 1 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 97.78 และ 2.22
ขณะที่เทศบาลนครและเทศบาลเมืองที่เหลือ 5 แห่ง ที่สุ่มตรวจสอบ ได้แก่ เทศบาลเมืองแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ เทศบาลนครระยอง และเทศบาลเมืองบ้านฉาง จังหวัดระยอง และเทศบาลนครภูเก็ต และเทศบาลเมืองป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ยังไม่มีการสำรวจจำนวนป้ายทั้งหมดในพื้นที่รับผิดชอบจึงไม่ทราบ จำนวนป้ายที่ผิดกฎหมายควบคุมอาคารว่ามีจำนวนเท่าใด อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบเอกสาร การออกใบอนุญาตก่อสร้างฯ (อ.1) ของฝ่ายควบคุมอาคารและผังเมือง สำนักการช่าง เปรียบเทียบกับ ข้อมูลทะเบียนทรัพย์สิน (ผท.4) ซึ่งเป็นข้อมูลสะสมของฝ่ายแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สิน สำนักการคลัง ของเทศบาลนครและเทศบาลเมืองที่สุ่มตรวจสอบทั้ง 5แห่ง พบว่า จำนวนป้ายที่ขออนุญาตฯ (อ.1) มีน้อยกว่า จำนวนป้ายในทะเบียนทรัพย์สิน (ผท.4) แสดงว่า ส่วนใหญ่อาจมีการติด/ตั้งป้ายโดยไม่ได้รับอนุญาต และอาจมีความเสี่ยงในด้านความมั่นคงแข็งแรงปลอดภัย
สาเหตุ
1. ไม่มีการตรวจสอบเจ้าของอาคารและป้ายอย่างครบถ้วนให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
2. ไม่มีการสอบยันข้อมูลการใช้อาคารและการติดตั้งป้ายของ สำนักการช่าง กับการจัดเก็บ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีป้าย ของ สำนักการคลัง
3. ไม่มีการสอบยันข้อมูลสถานภาพการดำเนินการกับผู้กระทำผิดกฎหมายควบคุมอาคารกับ ฝ่ายนิติการ กองวิชาการและแผนสำนักปลัดเทศบาล
ข้อเสนอแนะ
1. กำหนดให้มีแผนการตรวจสอบในแต่ละปีและดำเนินการตรวจสอบตามแผน หากพบการฝ่าฝืน/ ไม่ปฏิบัติให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
2. กำหนดให้มีการสอบยันข้อมูลการใช้อาคารและการติดตั้งป้าย ของสำนักการช่างกับการจัดเก็บ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีป้าย ของสำนักการคลัง หากพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงการใช้อาคาร หรือการติดตั้งป้ายโดยไม่ขออนุญาต ให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และ กฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
3. กำหนดให้มีการสอบยันสถานภาพการดำเนินการกับผู้กระทำผิดกฎหมายควบคุมอาคาร กับฝ่ายนิติการ เพื่อให้ข้อมูลถูกต้องตรงกัน และเป็นปัจจุบัน
ข้อตรวจพบที่ 2 ไม่มีกำรดำเนินการหรือดำเนินการแต่ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ตามหนังสือสั่งการกระทรวงมหาดไทย
จากการตรวจสอบ พบว่า เทศบาลนครและเทศบาลเมืองที่สุ่มตรวจสอบไม่ได้ดำเนินการหรือ ดำเนินการแต่ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ตามหนังสือสั่งการกระทรวงมหาดไทย จำนวน 6 แห่ง และ มีเพียง 2 แห่ง ที่ได้ดำเนินการ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่สอบถามกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) ถึงผลการการดำเนินการตามหนังสือสั่งการกระทรวงมหาดไทย ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 7,853 แห่ง ใน 77 จังหวัด ซึ่ง สถ. ได้มีหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ มท 0804.5/4933 ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2560 แจ้งว่า ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560 มีจังหวัดรายงานข้อมูลมายัง สถ. แล้ว จำนวน 33 จังหวัด ซึ่งเมื่อตรวจสอบข้อมูลการรายงานฯ พบว่า มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพียงบางส่วนเท่านั้นที่ได้ดำเนินการตามหนังสือสั่งการกระทรวงมหาดไทย สำหรับจังหวัดที่เหลือ 44 จังหวัด มิได้มีการรายงานให้ สถ. ทราบ และอาจมิได้มีการดำเนินการตามหนังสือสั่งการกระทรวงมหาดไทย
จากการตรวจสอบเอกสารแบบรายงานฯ ตามหนังสือสั่งการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้ดำเนินการ ตามหนังสือสั่งการกระทรวงมหาดไทย ปรากฏว่า
เทศบาลเมืองชุมแพ ได้ดำเนินการสำรวจและรายงานตามแบบรายงานฯ ให้จังหวัดขอนแก่นทราบ เพื่อรายงานกระทรวงมหาดไทย ตามหนังสือสำนักงานเทศบาลเมืองชุมแพ ที่ ขก 52304/2720 ลงวันที่ 22กันยายน 2559 ซึ่งเทศบาลเมืองชุมแพได้สำรวจอาคาร จำนวน 45แห่ง โดยมีอาคารที่พบสภาพปัญหา ความไม่ปลอดภัยด้านอัคคีภัย จำนวน 3 แห่ง และเทศบาลเมืองชุมแพได้แจ้งให้เจ้าของอาคารทั้ง 3 แห่ง ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขแล้ว
แต่จากการสังเกตการณ์อาคารที่เทศบาลเมืองชุมแพได้แจ้งให้แก้ไข จำนวน 2 แห่ง จากทั้งหมด 3 แห่ง เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2560 พบว่า เจ้าของอาคารทั้ง 2 แห่งดังกล่าว ยังมิได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามที่เทศบาลเมืองชุมแพได้แจ้งไว้
เทศบาลนครเชียงใหม่ ได้รายงานการตรวจสอบอาคารให้จังหวัดทราบตามหนังสือสำนักงาน เทศบาลนครเชียงใหม่ ที่ ชม 52004/14573 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2559 เรื่อง ข้อสั่งการเพิ่มเติมของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หนังสือสำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่ ชม 52004/17352 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2559 เรื่อง การบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหนังสือสำนักงาน เทศบาลนครเชียงใหม่ ที่ ชม 52004/1193 ลงวันที่ 26 มกราคม 2560 เรื่อง รายงานการตรวจสอบอาคาร
อย่างไรก็ตาม เมื่อจังหวัดเชียงใหม่ได้ตรวจสอบรายงานตามหนังสือสำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ปรากฏว่า เทศบาลนครเชียงใหม่รายงานไม่ตรงตามแบบรายงานที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด จังหวัดเชียงใหม่จึงได้มีหนังสือจังหวัดเชียงใหม่ ด่วนที่สุด ที่ ชม 0023.4/16861 ลงวันที่ 28 เมษายน 2560 สั่งการให้เทศบาลนครเชียงใหม่กำชับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบอาคารฯ พร้อมทั้งรายงาน ตามแบบรายงานที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด โดยให้รายงานตามแบบรายงานผลการตรวจสอบอาคาร ด้านความมั่นคงแข็งแรงและด้านความปลอดภัยจากอัคคีภัยในพื้นที่ และแบบรายงานการตรวจสอบอาคาร กรณีอาคารที่มีสภาพการใช้ที่อาจเป็นอันตรายหรืออาจไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัย ตามมาตรา 46 ให้จังหวัดเชียงใหม่ ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 นอกจากนี้ จากการตรวจสอบเอกสาร พบว่า เทศบาลนครเชียงใหม่ อยู่ในระหว่างเตรียมเสนอหนังสือส านักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่ ชม 52004/………… ลงวันที่……… มิถุนายน 2560 เรื่อง ส่งแบบรายงานการตรวจสอบอาคาร (ฉบับแก้ไข) โดยอ้างถึงหนังสือจังหวัดเชียงใหม่ ด่วนที่สุด ที่ ชม 0023.4/16861 ลงวันที่ 28 เมษายน 2560 และหนังสือสำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่ ชม 52004/8075 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2560 เพื่อส่งรายงานที่ตรวจสอบและแก้ไขถูกต้องสมบูรณ์แล้ว ตามแบบรายงานฯ จำนวน 12 ชุด แต่จากการตรวจสอบแบบรายงานฯ จำนวน 12 ชุดดังกล่าว ปรากฏว่า มีเพียงการรายงานตามแบบรายงานผลการตรวจสอบอาคารด้านความมั่นคงแข็งแรงและด้านความปลอดภัย จากอัคคีภัยในพื้นที่ และด าเนินการสำรวจอาคารด้านความมั่นคงแข็งแรงและด้านความปลอดภัยจากอัคคีภัย ในพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่เฉพาะอาคาร 9 ประเภท
เทศบาลเมืองแม่โจ้ ได้ดำเนินการสำรวจและรายงานตามแบบรายงานฯ ให้จังหวัดเชียงใหม่ทราบ เพื่อรายงานกระทรวงมหาดไทย ตามหนังสือสำนักงานเทศบาลเมืองแม่โจ้ ที่ 63404/456 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2560 มีอาคารที่เทศบาลเมืองแม่โจ้ได้รายงานตามหนังสือฉบับดังกล่าว จนวน 52 แห่ง ซึ่งจากการสังเกตการณ์ อาคารที่พบปัญหาความไม่ปลอดภัยด้านอัคคีภัยและเทศบาลเมืองแม่โจ้ได้แจ้งให้เจ้าของอาคารดำเนินการ ปรับปรุงแก้ไขแล้ว จำนวน 3แห่ง เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน และ 3 กรกฎาคม 2560 ปรากฏว่า เทศบาลเมืองแม่โจ้ ได้ออกคำสั่งตามแบบคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น คือ คำสั่งให้ดำเนินการแก้ไขอาคารตามมาตรา 46 วรรคหนึ่ง (ค.23) ลงวันที่ 26 มกราคม 2560 แต่มีเพียง 1แห่ง ที่อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงแก้ไข ขณะที่ เจ้าของอาคารอีก 2 แห่ง ยังไม่มีการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ดังกล่าว
สาเหตุ ไม่มีการติดตามผลการดำเนินการตามหนังสือสั่งการกระทรวงมหาดไทย
ข้อเสนอแนะ ให้นายกเทศมนตรี พิจารณาดำเนินการ
1. กำชับผู้รับผิดชอบสั่งการให้ปฏิบัติตามหนังสือสั่งการกระทรวงมหาดไทยอย่างเคร่งครัด และดำเนินการให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่สั่งการ หากยังไม่มีการรายงานผลให้กระทรวงมหาดไทยทราบ ให้เร่งรัดการดำเนินการโดยเร็ว
2. ในอนาคต หากมีการสั่งการของกระทรวงมหาดไทยหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ กำหนดให้มี การติดตามผลการดำเนินการตามที่สั่งการ
3. ติดตามผลการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขอาคารให้เป็นไปตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น หากยังไม่ดำเนินการให้ดำเนินการลงโทษตามที่กฎหมายกำหนด
ข้อตรวจพบที่ 3 การส่งรายงานตรวจสอบสภาพของอาคาร 9 ประเภท ไม่เป็นไปตามกฎหมาย
จากการตรวจสอบเอกสารสมุดคุมใบอนุญาตก่อสร้างฯ อาคาร 9 ประเภทที่เข้าข่ายต้องตรวจสอบ สภาพอาคารตามมาตรา 32 ทวิ ปี พ.ศ. 2550–2559 ของเทศบาลนครและเทศบาลเมืองที่สุ่มตรวจสอบ จำนวน 8 แห่ง มีจำนวนอาคาร รวมทั้งสิ้น 978 แห่ง พบว่า การส่งรายงานตรวจสอบสภาพอาคารของ อาคาร 9 ประเภทที่เข้าข่ายต้องตรวจสอบอาคารฯ ส่วนใหญ่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย กล่าวคือ มีอาคาร จำนวน 846แห่ง ไม่ส่งรายงานการตรวจสอบสภาพอาคารให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือคิดเป็นร้อยละ 86.50 ของอาคาร 9 ประเภท ที่เข้าข่ายต้องตรวจสอบฯ ทั้งหมด
สาเหตุ ไม่มีมาตรการดำเนินการกับเจ้าของอาคารที่มีการเพิกเฉยไม่ส่งรายงานการตรวจสอบสภาพอาคาร
ข้อเสนอแนะ ให้นายกเทศมนตรีพิจารณากำหนดมาตรการดำเนินการ ให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดกับเจ้าของอาคารที่เพิกเฉยไม่ส่งรายงานการตรวจสอบสภาพอาคาร หากยังเพิกเฉยให้ดำเนินการลงโทษตามที่กฎหมายกำหนด
----
ในสัปดาห์หน้า สำนักข่าวอิศราจะนำเสนอผลการตรวจสอบที่สำคัญของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเรื่องใด โปรดติดตาม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
เปิดกรุผลสอบสตง.(1) ชำแหละงบพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกาญฯ ไม่คุ้มค่า ห้องอาบน้ำแร่ถูกทิ้งร้าง
เปิดกรุผลสอบสตง.(2) ตรวจงบยกระดับหมู่บ้านโคราช ใช้ภาพเดียวเบิกเงิน 6 โครงการรวด
เปิดกรุผลสอบสตง.(3) ตรวจการผลิต-ใช้พลังงานทดแทน ‘กรมการพลังงานทหาร’ ล้มเหลวไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(4) ตรวจนโยบายร.ร.ดีใกล้บ้าน ยกระดับการศึกษาล้ม-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(5) ตรวจโครงการพัฒนาลำเชียงไกรโคราช ไม่เสร็จตามแผน-ซื้อของเกินจำเป็น
เปิดกรุผลสอบสตง.(6) ตรวจโครงการพัฒนาพืช-พลังงาน จ.ขอนแก่น 113ล. ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(7) ตรวจโครงการพลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้า-ประปาจ.กาญจนฯ ล้มเหลว-เบิกจ่ายเท็จ