เปิดกรุผลสอบสตง.(11) ตรวจโครงการสินค้าเกษตร 4.0 สุพรรณฯ ไม่พร้อมดำเนินการ-ไม่คุ้มงบ
“...จากการประเมินความสำเร็จของโครงการในแต่ละกิจกรรมจะเห็นได้ว่า ยังไม่สามารถพัฒนาด้านการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย ให้เติบโตก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตอาหารที่มั่นคงและปลอดภัยของประเทศ และเป็นเมืองนวัตกรรมอาหารปลอดภัย (Food Innopolis) เนื่องจาก หน่วยงานที่รับผิดชอบกิจกรรมของโครงการไม่สามารถดำเนินการในกิจกรรมที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณตามความจำเป็นเร่งด่วนของสภาพปัญหา โดยแต่ละหน่วยงานผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบดำเนินโครงการให้เหตุผลว่า โครงการบางส่วนกิจกรรมยังไม่พร้อมดำเนินการในรูปแบบกลุ่มระบบการจัดการวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องจักร ดำเนินการยุ่งยาก ไม่สะดวก สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหาย และบางกิจกรรมได้ประโยชน์เพียงเกษตรกรกลุ่มเล็กๆ ไม่คุ้มค่าเท่าที่ควร ประกอบกับไม่มีความพร้อม ทั้งด้านเกษตรกร เจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญ...”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานตรวจสอบสำคัญของไทย มีหน้าที่ในการป้องกันดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ที่ถูกใช้จ่ายไปอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ที่ผ่านมา สตง.ได้มีการเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบเรื่องการใช้จ่ายเงินที่สำคัญไว้หลายเรื่อง สำนักข่าวอิศรา จึงขอเปิดพื้นที่ตรงนี้ ทุกวันเสาร์ รวบรวมข้อมูลผลการตรวจสอบที่สำคัญมานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบ
ในสัปดาห์ที่ 11 จะเป็นการนำเสนอผลรายงานการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการเพิ่มศักยภาพสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัย 4.0 ของจังหวัดสุพรรณบุรี
@ โครงการเพิ่มศักยภาพสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัย 4.0 ของจังหวัดสุพรรณบุรี
จากยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ภายใต้กรอบการพัฒนาระยะยาว เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (2560 – 2564) ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาภาคการเกษตรให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน สร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตร เสริมสร้างขีดความสามารถการผลิตในห่วงโซ่อุตสาหกรรม ส่งเสริมและเร่งขยายผลแนวคิดการทำการเกษตร และพัฒนาปัจจัยสนับสนุนในการบริหารจัดการภาคการเกษตรและสนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่
จังหวัดสุพรรณบุรี จึงได้จัดทำโครงการเพิ่มศักยภาพสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัย 4.0 เพื่อพัฒนา ด้านการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย ให้เติบโตก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตอาหารที่มั่นคงและปลอดภัยของประเทศ และเป็นเมืองนวัตกรรมอาหารปลอดภัย (Food Innopolis) โดยได้รับ การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 จำนวน 98.96 ล้านบาท และมีการใช้จ่ายงบประมาณ จำนวน 20.30 ล้านบาท
จากการตรวจสอบพบว่าการดำเนินโครงการเพิ่มศักยภาพสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัย 4.0 ของจังหวัดสุพรรณบุรี ไม่บรรลุวัตถุประสงค์และยังไม่มีการใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า โดยมี รายละเอียดประเด็นข้อตรวจพบ ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 การดำเนินโครงการเพิ่มศักยภาพสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัย 4.0 ของจังหวัดสุพรรณบุรี ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
จังหวัดสุพรรณบุรีได้จัดทำโครงการฯ เพื่อดำเนินการตามแผนงาน/โครงการ ในกิจกรรมหลัก จำนวน 5 รายการ โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการ 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสุพรรณบุรี และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสุพรรณบุรี จากการตรวจสอบผลการดำเนินโครงการ พบว่า มีการใช้จ่ายงบประมาณ 20.30 ล้านบาท คิดเป็นเพียงร้อยละ 20.51 ของงบประมาณ ที่ได้รับจัดสรรจำนวน 98.96 ล้านบาท เป็นการใช้จ่ายงบประมาณไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการฯ สามารถพิจารณาผลดำเนินการแยกตามรายกิจกรรมได้ดังนี้
1. กิจกรรมส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรด้านพืช ได้รับการจัดสรร งบประมาณ 41.99 ล้านบาท โดยมีสำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ได้จัดทำโครงการย่อยเป็นกิจกรรมรอง จำนวน 3 รายการ พบว่ามีการดำเนินการในกิจกรรมย่อย เพียง 1 รายการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมรอง คือ รายการยกระดับการแปรรูปข้าวปลอดภัยเพื่อการบริโภค โดยใช้จ่ายงบประมาณในงบลงทุน จ านวน 4.04 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 9.62 ของงบประมาณที่ได้รับจัดสรรของกิจกรรม พบว่า ยังไม่มีการใช้ประโยชน์ เนื่องจากประสบปัญหาในการจัดเตรียมความพร้อมทั้งเรื่องสถานที่ กระแสไฟฟ้า และการบริหารจัดการที่เป็นระบบในรูปกลุ่มของวิสาหกิจที่ได้รับการสนับสนุน ประกอบกับกิจกรรมต้นแบบการใช้เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสร้างมูลค่าจากใบอ้อยหลังจากเก็บเกี่ยว และกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพจุดรวบรวมไม้ผล ไม่มีการดำเนินการใดๆ กิจกรรมส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรด้านพืชจึงไม่บรรลุวัตถุประสงค์ อีกทั้งไม่สามารถสร้างมูลค่าและเพิ่มราย
2. กิจกรรมจัดตั้งและพัฒนาศูนย์ส่งเสริมและผลิตสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัย สำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ พบว่า ไม่มีการดำเนินการใดๆ ในทุกกิจกรรม เนื่องจากลักษณะการดำเนินการเป็นการก่อสร้างตลาดกลางสินค้าปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะ มีการขอรับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 20.21 ล้านบาท แต่ได้รับการจัดสรร งบประมาณ จำนวน 9.22 ล้านบาท โดยไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเป็นค่าก่อสร้างอาคารตลาดกลางสินค้าเกษตรและอื่นๆ สำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี จึงไม่ได้ยืนยันเพื่อขออนุมัติโครงการ เนื่องจากตามกิจกรรมฯ ต้องมีการก่อสร้างอาคารตลาดกลางสินค้าฯ จึงจะสามารถดำเนิน กิจกรรมต่าง ๆ ได้ จึงไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่จะเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้า
3. กิจกรรมการศึกษาแนวทางการจัดการห่วงโช่อุปทานและโลจิสติกส์ ได้รับการจัดสรร งบประมาณ จำนวน 3 ล้านบาท สำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ดำเนินการศึกษารูปแบบ วิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรค และจัดทำข้อเสนอแนะการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์สินค้าข้าว พบว่า ไม่มีการดำเนินการใดๆ ในทุกกิจกรรม และได้ส่งคืนเงินงบประมาณ ทั้งที่ในขั้นตอนการจัดทำโครงการเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณ ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า มีความพร้อมดำเนินการในทุกๆ ด้าน จึงไม่บรรลุวัตถุประสงค์
4. กิจกรรมพัฒนาปัจจัยการผลิตสินค้าเกษตร ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 20.04 ล้านบาท สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสุพรรณบุรี รับผิดชอบกิจกรรมส่งเสริมให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรผสมปุ๋ยใช้เอง และสำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี รับผิดชอบกิจกรรมการออกแบบและพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อช่วยในการวางแผนการเพาะปลูกข้าว พบว่า มีการดำเนินกิจกรรมเพียงกิจกรรมส่งเสริมให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรผสมปุ๋ยใช้เอง เป็นเงิน 16.26 ล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 81.14 ของงบประมาณที่ได้รับจัดสรรของกิจกรรม เป็นการจัดซื้อเครื่องผสมปุ๋ยเคมี จำนวน 8 เครื่อง มีการใช้ประโยชน์ยังไม่คุ้มค่าและบางส่วนไม่มีการใช้ประโยชน์ตั้งแต่ติดตั้งแล้วเสร็จ ซึ่งต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงจุดติดตั้ง สำหรับกิจกรรมการออกแบบและพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อช่วยในการวางแผนการเพาะปลูกข้าว ไม่มีการดำเนินการใดๆ โดยลักษณะการดำเนินการเป็นค่าจ้างเหมาออกแบบระบบและพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อช่วยในการวางแผนการเพาะปลูกข้าว กิจกรรมพัฒนาปัจจัยการผลิตสินค้าเกษตรจึง ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรนำระบบสารสนเทศมาใช้ในการวางแผนการผลิตสินค้าเกษตร
5. กิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปศุสัตว์ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 7.27 ล้านบาท ลักษณะการดำเนินโครงการเป็นการดำเนินการร่วมกันของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นจังหวัดร่วมดำเนินการ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นหน่วยรับผิดชอบ ดำเนินการในส่วนของจังหวัดสุพรรณบุรี พบว่า ไม่มีการดำเนินการใดๆ ในทุกกิจกรรม เนื่องจากเมื่อได้รับจัดสรรงบประมาณแล้ว สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสุพรรณบุรี ได้มีหนังสือแจ้งส่งคืนเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรและยกเลิกการดำเนินกิจกรรมทั้งหมด เพราะไม่สามารถปฏิบัติงานให้เกิดความคุ้มค่าตามวัตถุประสงค์ได้ เนื่องจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสุพรรณบุรี ไม่ได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลพื้นฐานโครงการเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณ ทำให้ข้อมูลพื้นฐานที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณไม่ตรงตามปัจจัยพื้นฐานด้านปศุสัตว์ของจังหวัดสุพรรณบุรี จึงไม่บรรลุ วัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมและพัฒนาการผลิตปศุสัตว์ชนิดโค สุกร แพะ และสัตว์ปีก ในระบบแปลงใหญ่ และไม่สามารถพัฒนามาตรฐานการผลิตปศุสัตว์และผลผลิตต่อเนื่องให้ได้รับการยอมรับมาตรฐานและอาหารปลอดภัย
จากการประเมินความสำเร็จของโครงการในแต่ละกิจกรรมจะเห็นได้ว่า ยังไม่สามารถพัฒนาด้านการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย ให้เติบโตก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตอาหารที่มั่นคงและปลอดภัยของประเทศ และเป็นเมืองนวัตกรรมอาหารปลอดภัย (Food Innopolis) เนื่องจาก หน่วยงานที่รับผิดชอบกิจกรรมของโครงการไม่สามารถดำเนินการในกิจกรรมที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณตามความจำเป็นเร่งด่วนของสภาพปัญหา โดยแต่ละหน่วยงานผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบดำเนินโครงการให้เหตุผลว่า โครงการบางส่วนกิจกรรมยังไม่พร้อมดำเนินการในรูปแบบกลุ่มระบบการจัดการวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องจักร ดำเนินการยุ่งยาก ไม่สะดวก สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหาย และบางกิจกรรมได้ประโยชน์เพียงเกษตรกรกลุ่มเล็กๆ ไม่คุ้มค่าเท่าที่ควร ประกอบกับไม่มีความพร้อม ทั้งด้านเกษตรกร เจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญ และงบประมาณต่อเนื่องซึ่งเมื่อพิจารณาจากกิจกรรมบางส่วน ที่ดำเนินการแล้วเสร็จ พบว่า ยังประสบปัญหาการไม่ได้ใช้ประโยชน์ การใช้ประโยชน์ที่ยังไม่คุ้มค่า และปัญหาในการบริหารจัดการที่สอดคล้องกันอีกด้วย
สาเหตุ
1. ขาดการเตรียมความพร้อมในการดำเนินโครงการฯ ที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการไม่ได้เป็นโครงการที่อยู่ในแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 ที่จัดทำตามนโยบาย หลักเกณฑ์ และ วิธีการจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด และแผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 แต่เป็นโครงการที่หน่วยงานต่างๆ ที่จะขอรับการจัดสรรงบประมาณ ได้จัดทำตามแนวทางและขั้นตอนการจัดทำโครงการของกลุ่มจังหวัด งบประมาณรายจ่าย เพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ซึ่งตามแนวทางและขั้นตอนการจัดทำโครงการของกลุ่มจังหวัดฯ กำหนดระยะเวลาของการดำเนินการตั้งแต่การจัดทำโครงการเบื้องต้น จนถึงวันเสนอแผนเพื่ออนุมัติ เพียง 15 วัน โดยไม่สามารถนำแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัดที่มีอยู่เดิมมาประยุกต์ใช้ได้ เนื่องจากวงเงินงบประมาณที่จะต้องเสนอโครงการสูงเกินกว่าแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด ที่มีอยู่ เป็นจำนวนมาก
ดังนั้น หน่วยงานที่จะขอรับการจัดสรรงบประมาณจึงได้คิดโครงการขึ้นมาใหม่อย่าง เร่งด่วน เพื่อให้ทันเสนอโครงการภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด จึงขาดการศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน
2. ขาดการประสานงานในการดำเนินการกิจกรรมที่ดำเนินการบางกิจกรรม เป็นกาiดำเนินการร่วมกันของจังหวัดในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 คือ กิจกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปศุสัตว์ ซึ่งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นหน่วยร่วมดำเนินการ โดยมีจังหวัดกาญจนบุรีเป็นหน่วยงานหลักในการเสนอโครงการ ซึ่งเป็นไปตามปัจจัยพื้นฐานด้านปศุสัตว์ของจังหวัดกาญจนบุรี ที่มีความแตกต่างจากจังหวัดสุพรรณบุรี แต่ไม่ได้มีการประสานงานระหว่างกัน ทำให้เมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้วไม่สามารถดำเนินการได้
นอกจากนั้นในปีงบประมาณ 2560 พื้นที่ดำเนินการในจังหวัดสุพรรณบุรี เคยได้รับงบประมาณจากกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 เพื่อดำเนินโครงการในลักษณะเดียวกันแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามที่ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่าย เพิ่มเติม ปีงบประมาณ 2560 อีก
3. ได้รับการจัดสรรงบประมาณไม่ตรงตามที่ขอรับการจัดสรร จากการตรวจสอบ พบว่า มีทั้งได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงและต่ำกว่าที่ขอรับการจัดสรร ได้แก่ ได้รับงบดำเนินงานสูงกว่าที่ขอรับ การจัดสรรงบประมาณ เป็นเงิน 17.44 ล้านบาท และได้รับงบประมาณต่ำกว่าที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณ เป็นเงิน 8.60 ล้านบาท เกิดจากการบันทึกรายการในระบบเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณไม่ถูกต้องตามที่หน่วยงานต่างๆ ขอรับการจัดสรรงบประมาณ โดยมีการบันทึกรายการงบดำเนินงานสูงกว่าที่หน่วยงานต่างๆ ขอรับการจัดสรรงบประมาณ และไม่ได้บันทึกรายการค่าก่อสร้างอาคารศูนย์ส่งเสริมและผลิตสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัยตามที่หน่วยงานขอรับการจัดสรรงบประมาณ ทำให้เมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้วไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากไม่มีกิจกรรมให้ดำเนินการ และบางกิจกรรมตามโครงการต้องมีการก่อสร้างอาคารตลาดกลางสินค้าเกษตร จึงจะสามารถดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการได้
ข้อเสนอแนะ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี พิจารณาดำเนินการดังนี้
1. สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบในการดำเนินโครงการ จัดทำฐานข้อมูล ประวัติเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย พร้อมทั้งปรับฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จะต้องมีการ เตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้าน เช่น ด้านพื้นที่ดำเนินการ กลุ่มเป้าหมายหรือเกษตรกรผู้ร่วมโครงการ บุคลากรผู้รับผิดชอบโครงการ และวิธีการบริหารจัดการหรือการบำรุงรักษาเมื่อโครงการแล้วเสร็จ เป็นต้น โดยควรด าเนินการให้แล้วเสร็จก่อนที่จะขอรับการจัดสรรงบประมาณ และหากไม่มีความพร้อมในการดำเนินโครงการไม่ควรจะขอรับการจัดสรรงบประมาณ
2. กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำโครงการร่วมระหว่างจังหวัดในกลุ่มจังหวัด ได้มีการประสานงานกันก่อนที่จะเสนอของบประมาณ เพื่อป้องกันการใช้จ่ายงบประมาณซ้ำซ้อน และความสามารถในการดำเนินโครงการให้บรรลุวัตถุประสงค์ อีกทั้งควรตั้งงบประมาณในกิจกรรมและโครงการที่สามารถดำเนินการได้จริงภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด
3. กำชับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการบันทึกข้อมูลเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณ ให้มีความ ระมัดระวังรอบคอบในการบันทึกข้อมูลในระบบการขอรับการจัดสรรงบประมาณ ก่อนส่งให้สำนักงบประมาณ พิจารณาอนุมัติ
ข้อตรวจพบที่ 2 โครงการเพิ่มศักยภาพสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัย 4.0 ของจังหวัด สุพรรณบุรี ยังไม่มีการใช้ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า
1. กิจกรรมที่ดำเนินการแล้วยังไม่มีการใช้ประโยชน์
สำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี ได้จัดทำกิจกรรมยกระดับการผลิตข้าวปลอดภัยเพื่อการบริโภค เป็นเงิน 4.04 ล้านบาท และเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จการบริหารจัดการจะอยู่ในความรับผิดชอบของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชีวภาพตำบลหนองสะเดา อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ในนามโรงสีข้าวปลอดภัยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชีวภาพตำบลหนองสะเดา พบว่า การดำเนินกิจกรรมยกระดับการผลิตข้าวปลอดภัยเพื่อการบริโภค ยังไม่มีการใช้ประโยชน์ เนื่องจาก ไม่มีการเตรียมความพร้อมด้านปัจจัยการผลิตในด้านต่างๆ ไม่มีแนวทางการบริหารจัดการที่เป็นรูปธรรม และมีการปฏิบัติ ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรี ดังนี้
1.1 ลักษณะอาคารไม่เหมาะสมกับการดำเนินกิจกรรม
1.2 ไม่มีการเตรียมระบบไฟฟ้า
1.3 ไม่มีความพร้อมในด้านวัตถุดิบที่จะนำมาผลิตข้าวปลอดภัยเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์
1.4 ไม่มีแนวทางการบริหารจัดการภายหลังจากการดำเนินกิจกรรมเสร็จสิ้นแล้ว
นอกจากนั้น ยังพบว่าสำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรีได้จัดทหนังสือแสดงเจตนาการอุทิศที่ดินของเอกชนให้ทางราชการใช้ประโยชน์ แต่ไม่ได้ให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลรักษาที่สาธารณะตามกฎหมาย และสำนักงานที่ดินท้องที่เก็บไว้ และไม่ได้ตรวจสอบหลักฐานทะเบียนที่ดินที่เจ้าของผู้อุทิศให้ทางราชการเข้าไปใช้ประโยชน์กับสำนักงานที่ดินสาขาสามชุก ทำให้ไม่ทราบว่า สำนักงานบังคับคดีจังหวัดสุพรรณบุรีได้มีหนังสือแจ้งการยึดที่ดินดังกล่าว และครุภัณฑ์ อาคารและสิ่งปลูกสร้าง ที่ได้มาจากกิจกรรมยกระดับการแปรรูปข้าวปลอดภัยเพื่อการบริโภค ยังไม่มีการบันทึกเป็นทรัพย์สินของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1
2. กิจกรรมที่มีการดำเนินการแล้วแต่มีการใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า
สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสุพรรณบุรี ได้จัดทำกิจกรรมส่งเสริมให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรผสมปุ๋ยใช้เอง เป็นเงิน 16.26 ล้านบาท เป็นค่าจัดซื้อเครื่องผสมปุ๋ยเคมีด้วยระบบคอมพิวเตอร์พร้อมติดตั้ง และอุปกรณ์ เพื่ออุดหนุนให้แก่สหกรณ์การเกษตรอำเภอ จำนวน 7 แห่ง และกลุ่มเกษตรกร จำนวน 1 แห่ง พบว่า มีการใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า เนื่องจาก ยังไม่สามารถดำเนินการผลิตปุ๋ยและจำหน่ายให้กับเกษตรกรได้ตามเป้าหมายและตามอัตราการผลิตที่กำหนดไว้ สถานที่ติดตั้งบางแห่งไม่เหมาะสม กระแสไฟฟ้าสำหรับเครื่องผสมปุ๋ยเคมีฯ บางแห่งไม่เหมาะสมกับการผลิตปุ๋ยเคมีและยังมีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง รายละเอียดดังนี้
2.1 สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเป้าหมายขาดความสนใจในการผสมปุ๋ยเคมีใช้เอง
2.2 ไม่สามารถลดต้นทุนการผลิตปุ๋ยเคมีให้แก่สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรได้
2.3 การใช้เครื่องผสมปุ๋ยเคมีฯ ยังไม่เหมาะสมคุ้มค่ากับการลงทุน
2.4 แนวทางการบริหารจัดการการผลิต จำหน่าย และการดูแลบำรุงรักษา ยังไม่ชัดเจน
2.5 กระบวนการประกอบกิจการโรงงานปุ๋ยเคมี ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมายที่กำหนด
โครงการฯ ยังไม่มีการใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่าส่งผลกระทบให้ทรัพย์สินที่เกิดจากการใช้ สาเหตุสำคัญเกิดจาก
1. หน่วยงานที่รับผิดชอบมีข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการดำเนินโครงการยังไม่ครบถ้วนเพียงพอสำหรับโครงการที่ดำเนินการและข้อมูลที่มีอยู่ไม่ได้ถูกนำมาวิเคราะห์ให้เห็นถึงสภาพปัญหา ความต้องการ ความเร่งด่วน ความเป็นไปได้ และจำนวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เหมาะสม
2. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขาดระบบการวางแผน และติดตามการใช้ประโยชน์จากวัสดุ อุปกรณ์ ที่สนับสนุนให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์การเกษตร/กลุ่มเกษตรกร
3. หน่วยงานที่รับผิดชอบขาดการกำกับติดตาม สหกรณ์การเกษตรที่เข้าร่วมโครงการด้านการผลิตปุ๋ยเคมี ให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
4. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขาดการประสานงานกันในการบริหารจัดการทรัพย์สิน ทำให้ทรัพย์สินที่ได้มาไม่มีการลงทะเบียนบันทึกรายการเป็นทรัพย์สินให้ถูกต้องตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ข้อแนะนำ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีในฐานะผู้ขับเคลื่อนนโยบายการบริหารงบประมาณสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการดังนี้
กรณีที่การดำเนินการแล้วเสร็จ
1. ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบส่งเสริมให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์การเกษตรที่เข้าร่วม โครงการเสริมสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมภายในกลุ่ม โดยการเพิ่มการประชาสัมพันธ์และเพิ่มมาตรการจูงใจให้สมาชิกรับทราบนโยบาย และวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อให้สามารถลดต้นทุนการผลิต และส่งเสริมให้ใช้ประโยชน์จากวัสดุ อุปกรณ์ และครุภัณฑ์ที่ได้รับมอบหรือที่ขอยืมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะโรงสีข้าวปลอดภัยที่ปัจจุบันยังไม่มีแนวทางดำเนินกิจกรรมที่ชัดเจน ควรจัดทำข้อตกลงกับกลุ่มเพื่อวางแนวทางให้กลุ่มสามารถใช้ประโยชน์จาก วัสดุ อุปกรณ์ได้อย่างต่อเนื่อง มีการบำรุงรักษาอุปกรณ์เพื่อให้กลุ่มสามารถดำเนินกิจกรรมได้อย่างยั่งยืน
2. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำชับเจ้าหน้าที่และสร้างความเข้าใจให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์การเกษตรที่เข้าร่วมโครงการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการโรงสีข้าว ปลอดภัย และขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและจำหน่ายปุ๋ยเคมี เพื่อให้กระบวนการผลิต และขั้นตอนการผลิตถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดและทำให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบการผลิตและคุณภาพของสินค้า
3. ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดทำทะเบียนคุมการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการควบคุมและดูแลพัสดุที่อยู่ในความครอบครองเกิดประโยชน์สูงสุด
กรณีที่จะดำเนินกิจกรรมหรือโครงการต่อไป
1. กำชับให้ผู้รับผิดชอบโครงการและผู้เกี่ยวข้องให้ความสำคัญในการจัดทำข้อเสนอโครงการ โดยคำนึงถึงความพร้อม ความเป็นไปได้ ความยั่งยืนของโครงการ รวมทั้งการกำหนดกิจกรรม กลุ่มเป้าหมายต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่ม การมีส่วนร่วมในกลุ่มของเกษตรกรที่จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐอย่างแท้จริง
2. ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดทำฐานข้อมูลกลางที่จำเป็นในการจัดทำโครงการ โดยสั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการสำรวจความต้องการกลุ่มเกษตรกร/เกษตรกร เพื่อปรับปรุงฐานข้อมูลให้ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน
3. หากจะสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ ควรพิจารณากลุ่มเกษตรกรที่มีความเข้มแข็งในกระบวนการบริหารจัดการกลุ่ม มีรูปแบบการดำเนินการของกลุ่มที่ดี ชัดเจน มีหลักฐานสามารถตรวจสอบได้ เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ได้เต็มประสิทธิภาพ เกษตรกรได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง ควรสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมในการ สมทบเงินหรือลงทุนในส่วนประกอบอื่นๆ ของกิจกรรม เพื่อจะได้มีส่วนร่วมรับผิดชอบในกิจกรรมที่สนับสนุน
----
ในสัปดาห์หน้า สำนักข่าวอิศราจะนำเสนอผลการตรวจสอบที่สำคัญของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเรื่องใด โปรดติดตาม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
เปิดกรุผลสอบสตง.(1) ชำแหละงบพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกาญฯ ไม่คุ้มค่า ห้องอาบน้ำแร่ถูกทิ้งร้าง
เปิดกรุผลสอบสตง.(2) ตรวจงบยกระดับหมู่บ้านโคราช ใช้ภาพเดียวเบิกเงิน 6 โครงการรวด
เปิดกรุผลสอบสตง.(3) ตรวจการผลิต-ใช้พลังงานทดแทน ‘กรมการพลังงานทหาร’ ล้มเหลวไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(4) ตรวจนโยบายร.ร.ดีใกล้บ้าน ยกระดับการศึกษาล้ม-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(5) ตรวจโครงการพัฒนาลำเชียงไกรโคราช ไม่เสร็จตามแผน-ซื้อของเกินจำเป็น
เปิดกรุผลสอบสตง.(6) ตรวจโครงการพัฒนาพืช-พลังงาน จ.ขอนแก่น 113ล. ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(7) ตรวจโครงการพลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้า-ประปาจ.กาญจนฯ ล้มเหลว-เบิกจ่ายเท็จ
เปิดกรุผลสอบสตง.(8) ตรวจโครงการควมคุมอาคารเขตเทศบาลนคร/เมือง ไม่ปลอดภัย-ผิดกม.อื้อ
เปิดกรุผลสอบสตง.(9) ตรวจการควบคุมเคมีทางเกษตร พบสารต้องห้าม-ร้านขายไม่ปลอดภัย-ผิดกม.
เปิดกรุผลสอบสตง.(10) ตรวจโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติด อปท.ลำปาง ไม่คุ้มงบ-ผิดวัตถุประสงค์