เปิดกรุผลสอบสตง.(21) ตรวจโครงการความปลอดภัยทางทะเลพัทยา ระบบ/อุปกรณ์ไม่ตรงตาม TOR
“...ระบบระบุตำแหน่งเรือโดยใช้สัญญาณ GPS ผ่านดาวเทียม และระบบสื่อสารจากศูนย์กลางโดยเทคโนโลยีสื่อสารแบบ บรอดแบนด์ไร้สาย มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามที่กำหนดใน TOR ได้แก่ การระบุตำแหน่งเรือโดยสารระบบฯ ไม่สามารถแสดงตำแหน่งเรือโดยสารได้อย่างแม่นยำและเป็น เวลาจริง (Real time) ทั้งระบบแสดงผลในห้องศูนย์ฯ และบนอุปกรณ์แท็บเล็ตที่ติดตั้งบนเรือโดยสาร และระบบการแสดงข้อมูลและการแจ้งเตือนกรณีต่างๆ มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามที่กำหนด ได้แก่ ระบบแจ้งขอความช่วยเหลือด้วยสัญญาณ SOS ไม่สามารถแสดงตำแหน่งของเรือโดยสารที่ขอความ ช่วยเหลือบนแผนที่ทางทะเลได้ ไม่มีการแจ้งเตือนกรณีเรือโดยสารออกนอกเส้นทางการเดินเรือที่กำหนดในแผนที่ทางทะเลแบบดิจิทัล ไม่แสดงข้อมูลความเร็วและทิศทางของเรือโดยสารขณะกำลังวิ่ง อยู่จากหน้าจอแสดงตำแหน่งในแผนที่ทางทะเลแบบดิจิทัล ตลอดจนไม่มีระบบแจ้งเตือนกรณีเรือ โดยสารหยุดนิ่งหรือไม่เคลื่อนที่ขณะกำลังเดินทาง หรือทำกิจกรรมต่างๆ...”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานตรวจสอบสำคัญของไทย มีหน้าที่ในการป้องกันดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ที่ถูกใช้จ่ายไปอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ที่ผ่านมา สตง.ได้มีการเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบเรื่องการใช้จ่ายเงินที่สำคัญไว้หลายเรื่อง สำนักข่าวอิศรา จึงขอเปิดพื้นที่ตรงนี้ ทุกวันเสาร์ รวบรวมข้อมูลผลการตรวจสอบที่สำคัญมานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบ
ในสัปดาห์ที่ 21 จะเป็นการนำเสนอรายงานการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการพัฒนาศูนย์ควบคุมความปลอดภัยทางทะเล เพื่อควบคุมกำกับดูแลการคมนาคมทางทะเล และป้องกันภัยนักท่องเที่ยว สำนักปลัดเมืองพัทยา
@ โครงการพัฒนาศูนย์ควบคุมความปลอดภัยทางทะเล เพื่อควบคุมกำกับดูแลการคมนาคมทางทะเล และป้องกันภัยนักท่องเที่ยว สำนักปลัดเมืองพัทยา
จากการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การสัญจรในบริเวณ ท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย–เกาะล้าน คับคั่งและหนาแน่น และเกิดอุบัติภัยทางทะเลทั้งจากเรือเล็ก ความเร็วสูง เรือข้ามฟาก และอุบัติภัยจากกีฬาทางน้ำ สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและนักท่องเที่ยว ตลอดจนเกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีด้านการท่องเที่ยวแก่เมืองพัทยา
เมืองพัทยา โดยศูนย์ควบคุมความปลอดภัยทางทะเล ส่วนป้องกันภัยพิบัติ สำนักปลัด จึงได้ดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับ การควบคุมและกำกับการคมนาคมทางทะเล เพื่อเร่งสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของ ประชาชน นักท่องเที่ยว และเรียกความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวกลับคืนมา ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558-2559 จำนวน 3 โครงการ ได้แก่
1) โครงการพัฒนาประสิทธิภาพศูนย์ควบคุมความปลอดภัยทางทะเลเพื่อควบคุมและกำกับการคมนาคมทางทะเล เพื่อป้องกันอุบัติเหตุให้กับผู้ใช้บริการเรือโดยสารแบบตอบสนองในทันที ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 วงเงินงบประมาณ 70 ล้านบาท จัดทำเส้นทางสัญจรทางทะเลในเขตพื้นที่เมืองพัทยา การบูรณาการแผนปฏิบัติการและแนวทางการดำเนินโครงการให้มีความต่อเนื่อง ข้อเสนอแนะบทลงโทษ โดยจัดให้มีส่วนร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง จัดทำทะเบียนเรือและเจ้าหน้าที่ประจำเรือโดยสารต่างๆ พร้อมบัตรประจำตัว จัดทำมีระบบบริหารจัดการและควบคุมการคมนาคมทางทะเล AIS (Auto Identification System) จัดให้ระบบตรวจจับเรือจากศูนย์กลาง โดยติดตั้งระบบกล้อง Thermal ควบคุมเส้นทางจราจรระหว่างแหลมบาลีฮายและเกาะล้าน เพื่อสังเกตการณ์ทั้งกลางวัน (เป็นภาพสี) และกลางคืน (เป็นภาพ Thermal) และจัดให้มีอุปกรณ์กล้องใช้สำหรับตรวจจับผู้ที่ไม่ใส่เสื้อชูชีพก่อนการลงเรือ
2) โครงการพัฒนาประสิทธิภาพการติดตามเรือโดยสารและเรือขนาดเล็กที่ใช้ความเร็วสูง ระหว่างเดินทางเป็นเวลาจริง ปีงบประมาณ พ.ศ.2558 วงเงินงบประมาณ 60 ล้านบาท จัดทำระบบตรวจติดตามเรือเล็กความเร็วสูง ระบบตรวจติดตามเรือเช่าเหมาลำ งานเชื่อมต่อสัญญาณเข้ากับศูนย์ ควบคุมความปลอดภัยทางทะเล
3) โครงการติดตั้งระบบป้องกันภัยนักท่องเที่ยวชายหาด (พัทยา-เกาะล้าน) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 วงเงินงบประมาณ 120 ล้านบาท เพิ่มจำนวนกล้องตรวจตราระยะไกลระบบ Thermal เพื่อการเฝ้าระวังและตรวจตรา เรือชนิดต่างๆ ทั้งเรือเล็กความเร็วสูง และเรือโดยสารประจำทาง ให้ครอบคลุมในเขตท้องทะเลหน้าอ่าวพัทยาทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อเพิ่มจำนวนกล้องโทรทัศน์วงจรปิด รวมถึงระบบประกาศเตือนจากศูนย์ควบคุมฯ ที่บริเวณท่าเรือที่แหลมบาลีฮาย รวมถึงท่าเรือต่างๆ บนเกาะล้าน
จากการตรวจสอบมีประเด็นข้อตรวจพบ ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 ระบบและอุปกรณ์ต่างๆ ของศูนย์ควบคุมความปลอดภัยทางทะเลบางรายการยังมีคุณภาพไม่เพียงพอต่อการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์
จากการตรวจสอบพบว่า อุปกรณ์และระบบต่างๆ ของศูนย์ฯ หลายรายการมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามข้อกำหนดใน TOR ขาดความเหมาะสมและความสะดวกในการใช้งานตามวัตถุประสงค์ ตลอดจนไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน ดังนี้
1. ระบบแผนที่ทางทะเลแบบดิจิทัล มีรายละเอียดไม่ครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ใน TOR ขาด รายละเอียดจุดสำคัญทางทะเลที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการระบบควบคุมการจราจรและดูแลความปลอดภัยทางทะเล ได้แก่ พื้นที่สำหรับเล่นน้ำทะเล พื้นที่สำหรับเล่นกีฬาทางน้ำ และพื้นที่สำหรับจอดเรือ และการจัดทำเส้นทางแนะนำในการเดินเรือบางเส้นทางกำหนดเข้าไปบริเวณกองหินโสโครก ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อการเดินเรือ
ทั้งนี้ TOR กำหนดให้เส้นทางแนะนำในการเดินเรือจะต้องเป็นเส้นทางที่ปลอดภัยสำหรับการเดินเรือ นอกจากนั้น ระบบแผนที่ฯ ไม่มีการเชื่อมโยงกับระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ระบบติดตามเรือด้วยกล้อง Thermal และระบบควบคุมวิทยุสื่อสารตามที่กำหนดไว้ ใน TOR
2. ระบบฐานข้อมูลเรือโดยสารที่เข้าร่วมโครงการ ไม่มีการจัดทำทะเบียนเรือและบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ประจำเรือและไม่ปรากฏข้อมูลพื้นฐานของเรือและลูกเรือในโปรแกรมฐานข้อมูล มีเพียงโครงสร้างฐานข้อมูลเปล่า และยังพบว่าเป็นโครงสร้างฐานข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ไม่สามารถจัดเก็บทะเบียนเรือ บัตรประจำตัวผู้ขับเรือ บัตรประจำตัวลูกเรือ และรูปแบบการแต่งกายของลูกเรือได้อีก ทั้งยังไม่มีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลเรือกับโปรแกรมบริหารจัดการตรวจสอบพฤติกรรมและตรวจตราผู้ที่ถอดหรือไม่ใส่เสื้อชูชีพขณะโดยสารเรือ ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถใช้เป็นข้อมูลสำหรับการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. ระบบระบุตำแหน่งเรือโดยใช้สัญญาณ GPS ผ่านดาวเทียม และระบบสื่อสารจากศูนย์กลางโดยเทคโนโลยีสื่อสารแบบ บรอดแบนด์ไร้สาย มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามที่กำหนดใน TOR ได้แก่ การระบุตำแหน่งเรือโดยสารระบบฯ ไม่สามารถแสดงตำแหน่งเรือโดยสารได้อย่างแม่นยำและเป็น เวลาจริง (Real time) ทั้งระบบแสดงผลในห้องศูนย์ฯ และบนอุปกรณ์แท็บเล็ตที่ติดตั้งบนเรือโดยสาร และระบบการแสดงข้อมูลและการแจ้งเตือนกรณีต่างๆ มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามที่กำหนด ได้แก่ ระบบแจ้งขอความช่วยเหลือด้วยสัญญาณ SOS ไม่สามารถแสดงตำแหน่งของเรือโดยสารที่ขอความ ช่วยเหลือบนแผนที่ทางทะเลได้ ไม่มีการแจ้งเตือนกรณีเรือโดยสารออกนอกเส้นทางการเดินเรือที่กำหนดในแผนที่ทางทะเลแบบดิจิทัล ไม่แสดงข้อมูลความเร็วและทิศทางของเรือโดยสารขณะกำลังวิ่ง อยู่จากหน้าจอแสดงตำแหน่งในแผนที่ทางทะเลแบบดิจิทัล ตลอดจนไม่มีระบบแจ้งเตือนกรณีเรือ โดยสารหยุดนิ่งหรือไม่เคลื่อนที่ขณะกำลังเดินทาง หรือทำกิจกรรมต่างๆ
4. ระบบบริหารจัดการตรวจสอบพฤติกรรมและตรวจตราผู้ที่ถอดหรือไม่ใส่เสื้อชูชีพขณะโดยสารเรือ การติดตั้งอุปกรณ์ระบบบริหารจัดการตรวจสอบพฤติกรรมและตรวจตราผู้ที่ถอดหรือไม่ใส่เสื้อชูชีพขณะโดยสารเรือ ยังไม่ครบถ้วน และมีคุณสมบัติไม่เป็นตามที่กำหนด กล่าวคือ มีการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดและอุปกรณ์ต่างๆ บนเรือโดยสารไม่ครบถ้วนตามที่กำหนด โดยมีการติดตั้งอุปกรณ์จำนวน 45 ลำ แต่มีการรายงานสถานะการทำงานของอุปกรณ์ประจำเรือโดยสารครบจำนวน 50 ลำ ตามที่กำหนดในโครงการ
ทั้งนี้กล้องที่ติดตั้งบนเรือโดยสารบางตัวอยู่ในตำแหน่งหรือมีมุมภาพที่ไม่สามารถตรวจตราและบันทึกภาพเหตุการณ์ต่างๆ บนเรือได้อย่างทั่วถึง เช่น มีสิ่งกีดขวางไม่สามารถมองเห็นผู้โดยสารบนเรือได้อย่างชัดเจน มุมกล้องไม่ได้หันไปยังตำแหน่งที่นั่งหรือมีผู้โดยสารอยู่บนเรือ เป็นต้น ขณะเดียวกันโปรแกรมบริหารจัดการไม่มีการแจ้งเตือนกรณีมีผู้โดยสารไม่ใส่เสื้อชูชีพบนเรือโดยสารไม่สามารถตั้งเวลาการตรวจจับภาพเหตุการณ์ และไม่มีการเก็บภาพกรณีตรวจจับผู้ไม่ใส่เสื้อชูชีพไว้ได้แยกไว้เป็นการเฉพาะสำหรับอุปกรณ์แท็บเล็ตที่ติดตั้งบนเรือโดยสารก็มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามที่กำหนดหลายประการ
5. ระบบกล้อง Thermal มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามที่กำหนดใน TOR กล่าวคือ กล้องระยะไกล Thermal ตามโครงการ Cyber sea ปี 2550 จำนวน 3 ตัว ไม่ได้ถูกเชื่อมสัญญาณภาพเข้ากับระบบควบคุมและแสดงผลเดียวกับระบบกล้องที่จัดหาใหม่ และระบบกล้อง Thermal ยังขาดความพร้อมในการใช้งานและมีขีดความสามารถที่ไม่เพียงพอต่อการใช้งานตามวัตถุประสงค์ของการ จัดหาระบบฯ ได้แก่ ไม่สามารถใช้งานหรือแสดงผลภาพได้ครบทุกกล้องในเวลาเดียวกัน ซึ่งมักประสบปัญหาเกี่ยวกับสายส่งสัญญาณทำให้ไม่สามารถส่งภาพมาที่ศูนย์ฯ ไม่สามารถสังเกตการณ์เรือโดยสารที่เดินทางระหว่างแหลมบาลีฮายและเกาะล้านได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุมเส้นทางการเดินเรือ โดยสามารถตรวจจับภาพเรือโดยสารได้สูงสุดเพียงร้อยละ 28.57 ของการเดินทาง ระบบฯ ไม่สามารถเปลี่ยนโหมดการทำงานของเซ็นเซอร์ระหว่างภาพสีและภาพ Thermal ได้โดยอัตโนมัติ และไม่สามารถควบคุมทิศทางหรือตำแหน่งของมุมกล้องโดยการป้อนค่าพิกัด GPS ทำให้ไม่สะดวกต่อการใช้งาน กรณีที่ทราบพิกัด GPS ที่แน่นอน
6. ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดตรวจตราความเรียบร้อยก่อนการลงเรือในจุดรับ-ส่ง ผู้โดยสาร ยังมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ใน TOR และไม่เหมาะสมต่อการใช้งานตามวัตถุประสงค์ กล่าวคือ
1) ไม่สามารถแสดงการแจ้งเตือนหรือตั้งค่าการแจ้งเตือนเหตุการณ์ต่างๆ จาก กล้องบริเวณจุดขึ้นลงเรือได้ตามที่กำหนดไว้ใน TOR ซึ่งกำหนดให้มีการออกแบบพัฒนาและเชื่อมต่อสัญญาณแจ้งเหตุกล้อง
2) ไม่สามารถแสดงภาพได้ครบถ้วนตลอดเวลาซึ่งมักเกิดปัญหาเกี่ยวกับสายนำส่งสัญญาณและระบบไฟฟ้าไม่เสถียรทำให้ไม่สามารถส่งภาพมาที่ศูนย์ฯ ได้
3) หน้าจอแสดงผลไม่ สามารถแสดงภาพได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีอาการกระตุกของภาพตลอดเวลาและภาพที่แสดงช้ากว่าความเป็นจริง
4) มีการติดตั้งในตำแหน่งที่มีมุมภาพทับซ้อนกันโดยไม่จำเป็น เช่น บริเวณหาดตา แหวนเกาะล้าน เป็นต้น
การที่ระบบและอุปกรณ์ต่างๆ ของศูนย์ฯ ไม่สามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ของการจัดหา ไม่มีประสิทธิภาพ มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามที่ออกแบบไว้ ส่งผลให้ไม่สามารถนำไปใช้งานสนับสนุนภารกิจของศูนย์ฯ ได้อย่างเหมาะสม มีความเสี่ยงที่จะทำให้โครงการไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ไม่เกิดความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณในการจัดหาอุปกรณ์และระบบต่างๆ เป็นเงินกว่า 184 ล้านบาท
มีข้อเสนอแนะเพื่อให้เมืองพัทยาพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. ข้อเสนอแนะสำหรับการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อตรวจสอบความครบถ้วน ความถูกต้อง คุณสมบัติ และการทำงานของระบบและอุปกรณ์ต่างๆ และให้ดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามที่กำหนด และมีคุณภาพเพียงพอต่อการใช้งานตามวัตถุประสงค์การจัดหา หากไม่สามารถดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามที่กำหนดและให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์อันก่อให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการ ให้ตรวจสอบความเสียหายและหาผู้รับผิดชอบความเสียหายดังกล่าว และดำเนินการตามระเบียบแบบแผนของเมืองพัทยาต่อไป
2. ข้อเสนอแนะสำหรับการดำเนินโครงการที่มีลักษณะเดียวกันในโอกาสต่อไป
2.1 ให้ความสำคัญกับการจัดทำผังงานระบบ (System Flowchart) และผังงานโปรแกรม (Program Flowchart) ทั้งนี้ควรกำหนดให้จัดทำขึ้นในขั้นตอนการศึกษาความต้องการระบบของ หน่วยงานก่อนดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปกำหนดรายละเอียดคุณสมบัติของระบบและอุปกรณ์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมตรงตามวัตถุประสงค์การใช้งานตลอดจนนำมาใช้ประโยชน์ในการกำหนดคู่มือหรือแนวทางการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.2 การกำหนดคุณสมบัติของอุปกรณ์กล้อง Thermal สำหรับกรณีที่มีการดำเนินโครงการต่อเนื่องหรือดำเนินการเพิ่มเติมในอนาคต หรือการดำเนินโครงการอื่นที่มีการใช้อุปกรณ์ประเภทหรือลักษณะเดียวกันควรมีการกำหนดจุดติดตั้งและศึกษาลักษณะทางกายภาพหรือสภาพแวดล้อมของจุดติดตั้ง ก่อนกำหนดไว้ในรายละเอียดปริมาณงาน โดยนำข้อมูลที่ได้มาพิจารณากำหนดคุณสมบัติให้เหมาะสมต่อการใช้งาน ทั้งนี้อาจพิจารณากำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติที่มีความยืดหยุ่นโดยกำหนดเงื่อนไขราคาต่อหน่วย ให้สามารถปรับได้ตามคุณสมบัติหรือปริมาณงานที่เปลี่ยนแปลง
ข้อตรวจพบที่ 2 ขาดระบบการบริหารจัดการที่ดีและยังไม่มีการใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์และระบบต่างๆ อย่างเต็มศักยภาพ
1. ขาดระบบการจัดการความปลอดภัยที่ดี
หลังจากโครงการพัฒนาประสิทธิภาพศูนย์ควบคุมความปลอดภัยทางทะเลเพื่อควบคุมกำกับดูแลการคมนาคมทางทะเลและป้องกันภัยนักท่องเที่ยวเมืองพัทยาแล้วเสร็จ เมืองพัทยาได้จ้างเหมาเอกชนปฏิบัติงานและให้คำปรึกษา (Outsource Service & Consultancy Service) ตามโครงการดำเนินงานควบคุมและกำกับดูแลการคมนาคมทางทะเลและการขึ้นลงเรือโดยสารบริเวณท่าเรือ แหลม บาลีฮาย-เกาะล้าน มีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการตามภารกิจของศูนย์ฯ ในการตรวจสอบความปลอดภัยของผู้โดยสารก่อนการเดินเรือ ณ บริเวณท่าเรือแหลมบาลีฮาย ท่าหน้าบ้าน ท่าหาดตาแหวน บริเวณจุดขึ้น-ลงเรือที่ชายหาดพัทยาและท่าเรืออื่นๆ จากการตรวจสอบพบว่า การบริหารงานโดยผู้รับจ้างยังขาดระบบการบริหารจัดการที่ดี ดังนี้
1.1 ไม่มีการกำหนดมาตรการต่างๆ ตามที่ได้เสนอไว้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น มาตรการข้อมูลจำเพาะเรือและตำแหน่งเรือระยะไกลเพื่อความปลอดภัยและสามารถให้ความช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ มาตรการกำจัดเรือคุณภาพต่ำออกจากตลาด มาตรการสืบสวนอุบัติเหตุ เป็นต้น
1.2 การบริหารจัดการยังไม่สอดคล้องตามแนวทางการบริหารจัดการท่าเรือที่ดีตามที่ได้ เสนอไว้ โดยเฉพาะระบบการจัดการความปลอดภัย (Safety Management System : SMS) จำแนกเป็นรายองค์ประกอบดังนี้
1.2.1องค์ประกอบด้านวัตถุประสงค์และนโยบายด้านความปลอดภัย (Safety Objective Policy)ศูนย์ฯ ยังขาดนโยบายด้านการบริหารจัดการความปลอดภัยทางทะเลของผู้บริหารเพื่อเป็นการแสดงถึงจุดเน้นและความรับผิดชอบในเชิงบริหารของหน่วยงาน และใช้สำหรับเป็นกรอบแนวทางการ บริหารจัดการด้านความปลอดภัยทางทะเลตามภารกิจของศูนย์ฯ นอกจากนี้ระบบเอกสารด้านความปลอดภัยยังไม่สามารถนำมาใช้ในการจัดการความปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1.2.2 องค์ประกอบด้านการจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัย (Safety Risk Management) ศูนย์ฯ ยังไม่มีการระบุความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางทะเล การประเมินความเสี่ยงตลอดจนการกำหนดมาตรการในการปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม โดยจากการพิจารณาแผนปฏิบัติงานของศูนย์ฯ พ.ศ. 2560 ไม่มีการประเมินและวิเคราะห์ความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นที่มาของการจัดหาอุปกรณ์และระบบต่างๆ เช่น เหตุการณ์เรือโดยสารล่ม เรือโดยสารชนกัน เรือโดยสารออกนอกเส้นทาง หรือเข้าเขตอันตราย เรือเร็วชนนักท่องเที่ยว ฯลฯ เป็นต้น รวมถึงไม่มีมาตรการป้องกันหรือลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
1.2.3 องค์ประกอบด้านการประกันความปลอดภัย ผู้รับจ้างได้ว่าจ้างทีมผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำหน้าที่ในการเสนอวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ และวางแผนให้คำปรึกษาและเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งทีมผู้เชี่ยวชาญได้ทำการสำรวจประเมินสภาพปัญหาการดำเนินงานและให้ข้อเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงการดำเนินงานที่ยังไม่ครอบคลุมภารกิจในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย โดยเฉพาะการปฏิบัติงานในการเฝ้าระวังและดูแลความปลอดภัยทางทะเลของเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ รวมถึงการใช้งานอุปกรณ์และระบบต่างๆ ของศูนย์ฯ
1.2.4 องค์ประกอบด้านการส่งเสริมความปลอดภัย (Safety Promotion) การดำเนินการของศูนย์ฯ ไม่มีการมุ่งเน้นในเรื่องการส่งเสริมความปลอดภัยเท่าที่ควร ที่ผ่านมามีการฝึกอบรมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ฯ และผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ แต่ไม่สม่ำเสมอและต่อเนื่อง ขาดการรณรงค์หรือประชาสัมพันธ์ข้อปฏิบัติตัวของนักท่องเที่ยวในการโดยสารเรือ เพื่อป้องกันความปลอดภัยให้กับตนเองและผู้อื่น ทั้งในบริเวณท่าเรือและในเรือโดยสารซึ่งเป็นจุดที่สามารถมองเห็นได้ง่าย เช่น ไม่มีป้ายประชาสัมพันธ์ข้อปฏิบัติในการโดยสารเรือทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ไม่มีการประกาศข้อควรระวังในการโดยสารเรือบริเวณท่าเรือ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังขาดการสื่อสารกับผู้ประกอบการเรือและผู้ควบคุมเรือในการให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือ เช่น ข้อมูลน้ำขึ้น-น้ำลง สภาพภูมิอากาศความเร็วลมและขนาดความสูงของคลื่นกับประชาชนและชาวเรือประเภทต่างๆ
2. ยังไม่มีการใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์และระบบต่างๆ อย่างเต็มศักยภาพ จากการตรวจสอบพบว่า อุปกรณ์และระบบของศูนย์ฯ บางรายการไม่มีการใช้ประโยชน์ หรือยังใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มศักยภาพ ดังนี้
2.1 ระบบกล้อง Thermal ไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการควบคุมเส้นทางการจราจร และติดตามเรือโดยสารหรือเรือเล็กที่ใช้ความเร็วสูงตามวัตถุประสงค์ กล้องแต่ละตัวถูกติดตั้งหรือกำหนดให้จับภาพอยู่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง แต่ไม่สามารถทราบตำแหน่งหรือพื้นที่ตรวจจับของกล้องแต่ละตัวได้บนแผนที่ทางทะเลแบบดิจิทัล ตลอดจนยังไม่มีการกำหนดค่าการตรวจจับและการแจ้งเตือนกรณีต่างๆ ตามศักยภาพที่ระบบสามารถดำเนินการได้
2.2 อุปกรณ์วิทยุแบบพกพา (Multimedia Trunking Handset) สำหรับเจ้าหน้าที่และลูกเรือ มีการจัดสรรอุปกรณ์วิทยุพกพาให้แก่เจ้าหน้าที่และลูกเรือไม่ครบถ้วนตามจำนวนที่กำหนด กล่าวคือ มีการจัดหาจำนวน 20 เครื่อง แต่มีการจัดสรรให้เจ้าหน้าที่เพียง 10 เครื่อง และอุปกรณ์วิทยุ แบบพกพาสำหรับลูกเรือ ยี่ห้อ Huawei รุ่น EP680 จำนวน 25 เครื่อง และรุ่น EP640 จำนวน 25 เครื่อง ไม่มีการจัดสรรให้กับลูกเรือได้ใช้งานตามวัตถุประสงค์
2.3 ระบบบริหารจัดการตรวจสอบพฤติกรรมและตรวจตราผู้ที่ถอดหรือไม่ใส่เสื้อชูชีพ ขณะโดยสารเรือ เรือโดยสารที่ติดตั้งระบบตรวจสอบผู้ไม่ใส่เสื้อชูชีพและเหตุการณ์อื่นๆ บางส่วนยัง ไม่มีการเปิดใช้งานหรือเปิดใช้งานไม่สม่ำเสมอ จากข้อมูลในเดือน มีนาคม-มิถุนายน 2560 พบว่า เรือโดยสารมีอัตราการเปิดระบบฯ เฉลี่ยรวมเพียง 7.04 หรือ 7 วันต่อลำต่อเดือน ในขณะที่ตามข้อมูลการเข้า-ออกท่าเรือของเรือโดยสารประจำทาง (เดือนมิถุนายน 2560) พบว่าเรือโดยสารมีการให้บริการ โดยสารข้ามฟาก เฉลี่ยลำละ 16.73 หรือ 17 วัน
2.4 ระบบแสดงตำแหน่งของเรือโดยสาร เรือโดยสารที่ติดตั้งอุปกรณ์และระบบฯ ไม่มีการเปิดระบบตลอดเวลา ซึ่งจะเปิดระบบเมื่อมีการให้บริการผู้โดยสารหรือเมื่อได้รับการกำชับจากเจ้าหน้าที่ จากข้อมูลการเปิดระบบฯ ในเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2560 พบว่าในแต่ละวันจะมีเรือ โดยสารที่เปิดระบบแสดงตำแหน่งโดยเฉลี่ยเพียง 10 ลำ จากเรือโดยสารที่ติดตั้งระบบฯ ทั้งสิ้น 45 ลำ หรือเพียงร้อยละ 22.22 ของเรือโดยสารที่มีการติดตั้งระบบ
2.5 อุปกรณ์สำหรับประกาศเตือนจากศูนย์ควบคุมความปลอดภัยทางทะเลไปยังท่าเรือ ซึ่งมีการติดตั้งลำโพงไว้ทุกจุดที่มีการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดบริเวณจุดขึ้น-ลงเรือ รวมทั้งสิ้น จำนวน 32 ตัว ไม่เคยมีการใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์สำหรับประกาศเตือนจากศูนย์ฯ ไปยังท่าเรือ เพื่อประกาศแจ้งเตือนหรือให้ข้อมูลต่างๆ แก่นักท่องเที่ยวและผู้โดยสาร
2.6 เรือป้องกันภัยนักท่องเที่ยว ตั้งแต่มีการจัดหายังไม่เคยมีการใช้ประโยชน์จากเรือป้องกันภัยนักท่องเที่ยวดังกล่าว
การที่ศูนย์ฯ ไม่ใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์และระบบต่างๆ หรือใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้การดำเนินภารกิจของศูนย์ฯ ในการควบคุมดูแลความปลอดภัยให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการฯ เพื่อยกระดับการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและนักท่องเที่ยวในการสัญจรทางทะเล รวมถึงการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและเรียกความเชื่อมั่นจากนักท่องเที่ยวกลับคืนมา อีกทั้งเป็นการใช้จ่ายงบประมาณสำหรับจัดหาอุปกรณ์และระบบต่างๆ ที่ไม่คุ้มค่าคิดเป็นเงินงบประมาณกว่า 138.60 ล้านบาท
เพื่อให้การบริหารจัดการศูนย์ควบคุมความปลอดภัยทางทะเลมีระบบการบริหารจัดการที่ดี ภายใต้หลักการของระบบจัดการความปลอดภัย ตามองค์ประกอบทั้ง 4 ด้าน และเพื่อให้มีการใช้งานอุปกรณ์และ ระบบต่างๆ ของศูนย์ได้อย่างเต็มศักยภาพ
มีข้อเสนอแนะให้เมืองพัทยาพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. จัดให้มีระเบียบหรือข้อบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการศูนย์ควบคุมความปลอดภัยทางทะเล โดยมีรายละเอียดที่ครอบคลุมองค์ประกอบต่างๆ ของระบบการบริหารจัดการความปลอดภัย (Safety Management System) เพื่อเป็นกรอบในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการพัฒนาศูนย์ควบคุมความปลอดภัยทางทะเล ในการยกระดับการรักษาความปลอดภัยทางทะเล และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีด้านความปลอดภัยในการท่องเที่ยวของเมืองพัทยา
2. จัดให้มีแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทางทะเล ตามแนวทางแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นการประมวลแนวคิดและทิศทางการจัดการสาธารณภัย และการบริหารจัดการความปลอดภัยที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ซึ่งจะช่วยให้สามารถพัฒนาขีดความสามารถในการจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัย ซึ่งประกอบด้วยการระบุและประเมินความเสี่ยง การกำหนดมาตรการในการเฝ้าระวัง เตรียมความพร้อม การจัดการในภาวะฉุกเฉิน ตลอดจนการบรรเทาและเยียวยาเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งเมืองพัทยาจะต้องจัดให้มีแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550
3. ในการกำหนดขอบเขตการดำเนินโครงการเพื่อจ้างเหมาบริหารจัดการความปลอดภัยทางทะเล และการช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจของศูนย์ฯ ในโอกาสต่อไป ให้พิจารณานำข้อบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการศูนย์ควบคุมความปลอดภัยทางทะเล หรือแผนปฏิบัติการป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยที่จัดทำขึ้นตามข้อเสนอแนะ 1 และ 2 มาเป็นกรอบในการกำหนดปริมาณงาน และแนวทางการบริหารจัดการของผู้รับจ้างด้วย
4. กำชับให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างตามโครงการดำเนินงาน ควบคุมและกำกับดูแลการคมนาคมทางทะเลและการขึ้นลงเรือโดยสารบริเวณท่าเรือแหลมบาลีฮายเกาะล้าน ให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างและบังคับให้เป็นไปตามที่กำหนดในขอบเขตการดำเนินโครงการและตามที่ผู้รับจ้างเสนอโดยเคร่งครัดต่อไป
5. ให้พิจารณาทบทวนภารกิจที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อค่างานปฏิบัติการเฝ้าระวัง ณ ศูนย์ควบคุมความปลอดภัยทางทะเลระบบสารสนเทศเมืองพัทยา ที่จ้างเหมาเอกชนเข้ามาบริหารจัดการ ด้วยงบประมาณกว่า 24.32 ล้านบาท เนื่องจากการปฏิบัติงานตามภารกิจดังกล่าวไม่สามารถดำเนินงานให้เกิดผลสำเร็จได้ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนด
6. ในโอกาสต่อไปหากเมืองพัทยาต้องจัดทำแผนงานหรือโครงการเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณ จะต้องมีการศึกษาความเป็นได้ของโครงการ รวมถึงอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย หรือระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องว่าสามารถกระทำได้ตามหลักการและเหตุผลหรือวัตถุประสงค์ของ โครงการหรือไม่
7. ให้พิจารณากำหนดแนวทางการดำเนินงานการใช้งานอุปกรณ์และระบบต่างๆ ให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด โดยควรเป็นแนวทางที่สอดคล้องหรือเป็นการบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เช่น สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค เป็นต้น เพื่อให้สามารถใช้งานตามวัตถุประสงค์ได้อย่างเต็มศักยภาพของอุปกรณ์และระบบ
ข้อตรวจพบที่ 3 การบำรุงรักษาและการควบคุมดูแลอุปกรณ์และระบบต่างๆ ยังไม่ถูกต้องเหมาะสม
จากการตรวจสอบพบว่าการบำรุงรักษาและการควบคุมดูแลอุปกรณ์และระบบต่างๆ ยังไม่ ถูกต้องเหมาะสม ดังนี้
1. การบำรุงรักษาในระยะเวลารับประกันความชำรุดบกพร่องไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในสัญญา
ตามเงื่อนไขสัญญาจ้างกำหนดให้ผู้รับจ้างต้องให้บริการบำรุงรักษาระบบและอุปกรณ์ในเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance :PM) ณ สถานที่ติดตั้ง เพื่อทำการตรวจเช็คอุปกรณ์และระบบที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นการตรวจเช็คตามระยะเวลา หากพบปัญหาที่เกิดขึ้นแก่อุปกรณ์ ผู้รับจ้างต้องทำการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขการให้บริการแบบการบริการแก้ไข ซึ่งการให้บริการบำรุงรักษานี้ ครอบคลุมถึงการตรวจสอบฮาร์ดแวร์ ซอฟท์แวร์ และการตรวจสอบสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง แต่จากการตรวจสอบพบว่าภายหลังส่งมอบงานแต่ละโครงการแล้วเสร็จผู้รับจ้างไม่ได้เข้ามาบำรุงรักษาแบบ PM ตามที่กำหนดในสัญญา คิดเป็นระยะเวลาที่ไม่มีการบำรุงรักษาแบบ PM สำหรับโครงการต่างๆ เป็นระยะเวลา 18 17 และ 7 เดือน ตามลำดับ
นอกจากนั้นพบว่า ในบางกรณีที่ระบบต่างๆ ขัดข้องไม่สามารถใช้งานได้หรือจำเป็นต้องมีการอัพเดทโปรแกรมต่างๆ เมื่อผู้รับจ้างได้รับแจ้งจากศูนย์ฯ แล้วไม่ได้เข้ามาให้บริการ ณ สถานที่ติดตั้งหรือไม่ได้ให้บริการแก้ไขปัญหาผ่านทางโทรศัพท์ ตามที่กำหนด แต่จะใช้วิธีการแก้ไขปัญหาผ่านช่องทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจากระยะไกล แม้ว่าการให้บริการลักษณะดังกล่าวเป็นวิธีการที่สะดวกรวดเร็วสำหรับผู้รับจ้าง แต่วิธีการดังกล่าวผู้รับจ้างไม่ได้แจ้งรายละเอียดให้เมืองพัทยาทราบเกี่ยวกับเทคนิค วิธีการ ตลอดจนข้อมูลด้านความปลอดภัยของระบบและ ข้อมูลต่างๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการยื่นข้อเสนอทางเทคนิค จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในสัญญา
2. การควบคุมดูแลอุปกรณ์และระบบต่างๆ ยังไม่ถูกต้องและเหมาะสม
ในการควบคุมดูแลอุปกรณ์และระบบต่างๆ ยังมีการดำเนินการไม่ถูกต้องตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และยังไม่มีความรัดกุมเพียงพอที่จะทำให้อุปกรณ์และระบบต่างๆ ได้รับการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา ตลอดจนมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน และเกิดความคุ้มค่า ดังนี้
2.1 การให้ยืมอุปกรณ์ไม่ถูกต้องตามข้อบัญญัติเมืองพัทยาและไม่รัดกุม โดยมีการจัดทำเอกสารการยืมไม่ครบถ้วนทุกรายการ บางรายไม่ได้รับการอนุมัติจากผู้มีอำนาจ มีการระบุข้อมูลไม่ครบถ้วนตามแบบฟอร์มการยืม และการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการบำรุงรักษาและการส่งคืนไม่เป็นไปตามข้อบัญญัติเมืองพัทยา
2.2 ไม่เขียนรหัสครุภัณฑ์ที่ตัวทรัพย์สิน โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่ติดตั้งบนเรือโดยสาร และเมื่อมีการซ่อมแซมทรัพย์สินใดๆ ไม่ได้บันทึกประวัติการซ่อมด้านหลังทะเบียนคุมทรัพย์สิน
2.3 การตรวจเช็คระบบการรายงานสถานะและสภาพการใช้งานของอุปกรณ์และระบบไม่ถูกต้องครบถ้วนตามข้อเท็จจริง โดยมีการรายงานสถานะอุปกรณ์ต่างๆ ว่าเป็นปกติ แต่จากการตรวจสอบพบว่า มีอุปกรณ์ที่ติดตั้งในเรือโดยสารอุปกรณ์กล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่ติดตั้งบริเวณท่าเรือ และกล้อง Thermal จำนวนมากมีสภาพการใช้งานที่ไม่ปกติ หรือไม่อยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.4 ไม่จัดทำหลักฐานการแจ้งซ่อมกรณีมีการบำรุงรักษาแบบแก้ไข (Corrective Maintenance) โดยเมื่อเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ แจ้งผู้รับจ้างทางโทรศัพท์ให้เข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาการใช้งานไม่มีการบันทึกข้อมูลปัญหาและรายละเอียดการแจ้งไว้เป็นลายลักษณ์อักษร หรือไม่ได้จัดทำเป็นหนังสือแจ้งผู้รับจ้างอีกทางหนึ่งเพื่อเป็นหลักฐานการแจ้ง เพื่อเป็นหลักฐานกรณีผู้รับจ้างไม่เข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาหรือดำเนินการแก้ไขไม่แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดเมืองพัทยาจะต้องดำเนินการปรับให้เป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญา
มีข้อเสนอแนะให้เมืองพัทยาพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. กำชับให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการติดตามและควบคุมให้มีการบำรุงรักษาแบบเชิงป้องกันตามระยะเวลา และมีการบันทึกหลักฐานการแจ้งซ่อมให้รัดกุมเพื่อให้เป็นหลักฐานในการควบคุมการดำเนินงานซ่อมแซมแก้ไขให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและจริงจัง และรายงานผลดังกล่าว ให้ทราบด้วย
2. ให้มีการตรวจสอบการเข้าถึงระบบต่างๆ ของศูนย์ฯ จากระยะไกลผ่านทางอินเทอร์เน็ต ของผู้รับจ้างที่ดูแลระบบ เพื่อประเมินความเสี่ยงและกำหมดมาตรการที่จำเป็นในการรักษาความปลอดภัยของระบบและข้อมูลต่างๆ ให้เหมาะสมและรัดกุมยิ่งขึ้น
3. ให้พิจารณาทบทวนการดำเนินการเกี่ยวกับการควบคุมพัสดุกรณีติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ บนเรือโดยสาร โดยมิให้ขัดต่อระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ รูปแบบการดำเนินการและการควบคุม อาจดำเนินการในลักษณะอื่นที่มิใช่การยืมพัสดุ แต่อย่างไรก็ตาม ควรกำหนดเงื่อนไขข้อตกลงกับเจ้าของเรือโดยสารที่เข้าร่วมโครงการที่เป็นประโยชน์สำหรับการบำรุงรักษาและการควบคุมด้วย เพื่อให้อุปกรณ์ต่างๆ สามารถใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ได้เป็นระยะเวลาอันสมควรและเกิดความคุ้มค่าต่อไป
4. ให้มีการสำรวจตรวจสอบและให้หมายเลขครุภัณฑ์ที่ตัวทรัพย์สินให้ครบถ้วน ทั้งนี้ครุภัณฑ์รายการใดที่บันทึกรหัสครุภัณฑ์ในทะเบียนคุมทรัพย์สินไม่ถูกต้อง ให้ดำเนินการแก้ไขให้ตรงกับความเป็นจริง และกำชับให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องถือปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดในโอกาสต่อไป
5. ควบคุมและตรวจสอบการทำงานของศูนย์ควบคุมความปลอดภัยทางทะเล และกำชับให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประจำศูนย์ฯ จัดทำรายงานให้ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง และให้มีข้อมูลการรายงานที่จำเป็นสำหรับการบำรุงรักษาให้ครบถ้วน เช่น สถานะกล้องรายตัว ความชัดเจนของภาพจากกล้องแต่ละตัว
นอกจากประเด็นข้อตรวจพบข้างต้น ยังปรากฏข้อสังเกตเกี่ยวกับการดำเนินงานที่ส่งผลต่อ ประสิทธิภาพและประสิทธิผลการดำเนินโครงการ อีกจำนวน 4 เรื่อง ดังนี้
ข้อสังเกตที่ 1 ผลการดำเนินงานยังไม่ครอบคลุมสภาพปัญหาและเป้าหมายที่กำหนดไว้ในโครงการ
ตามหลักการและเหตุผลในการขอรับงบประมาณเงินอุดหนุนเพื่อดำเนินโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาศูนย์ควบคุมความปลอดภัยทางทะเลเมืองพัทยา เป็นการเร่งรัดการแก้ไขปัญหาความปลอดภัยทางทะเล ซึ่งการเกิดอุบัติเหตุทางทะเลส่วนใหญ่เกิดจากเรือเล็กที่ใช้ความเร็วสูงระหว่างการเดินทาง เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน นักท่องเที่ยว และเรียกความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวกลับคืนมา โดยมีการกำหนดเป้าหมายในการดำเนินงานโครงการให้มีระบบตรวจติดตามเรือเล็กความเร็วสูง จำนวน 500 ลำ
แต่ผลจากการดำเนินโครงการพัฒนาศูนย์ควบคุมความปลอดภัยทางทะเลจำนวน 3 โครงการข้างต้น สามารถจัดทำระบบตรวจติดตามเรือ ได้เฉพาะเรือโดยสารประจำทางและเรือโดยสารเช่าเหมาลำ โดยติดตั้งอุปกรณ์แสดงตำแหน่ง GPS และเชื่อมต่อสัญญาณเข้ากับศูนย์ควบคุมความปลอดภัยทางทะเล จำนวน 50 ลำ ดำเนินการติดตั้งได้จริง จำนวน 45 ลำ ซึ่งไม่ครอบคลุมเรือเล็กความเร็วสูงที่กำหนดเป้าหมายไว้จำนวน 500 ลำ แม้ว่าเมืองพัทยาจะมีการจัดหาอุปกรณ์และระบบอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ระบบติดตามเรือด้วยกล้อง Thermal ที่อาจนำมาใช้ในการสังเกตการณ์และติดตามเรือขนาดเล็กได้เช่นเดียวกับเรือโดยสาร แต่ศูนย์ฯ ก็ยังไม่มีแผนการบริหาร จัดการและแนวทางการใช้งานระบบและอุปกรณ์สำหรับการตรวจติดตามเรือเล็กความเร็วสูงอย่างชัดเจน การดำเนินงานโครงการดังกล่าวจึงยังไม่ครอบคลุมสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นและไม่ครอบคลุม เป้าหมายการดำเนินงานตามที่ขอรับเงินอุดหนุน
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้เมืองพัทยาพิจารณาดำเนินการ จัดทำแผนบริหารจัดการและการใช้งานจากระบบและอุปกรณ์ต่างๆ ให้ครอบคลุมภารกิจหรือกิจกรรมการตรวจติดตามเรือเล็กที่ใช้ความเร็วสูงให้เป็นรูปธรรม เพื่อเกิดความคุ้มค่าในการดำเนินงานและสามารถตอบสนองต่อวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้เพิ่มขึ้น
ข้อสังเกตที่ 2 มีการกำหนดคุณสมบัติอุปกรณ์และระบบเกินความจำเป็น
ในการจัดหาอุปกรณ์และระบบกล้อง Thermal และระบบกล้องตรวจตราความเรียบร้อยก่อน การลงเรือในจุดรับ-ส่งผู้โดยสาร เป็นการดำเนินการจัดให้มีระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเพื่อใช้ในการสังเกตการณ์โดยภาพเป็นสำคัญ โดยระบบกล้อง Thermal เป็นการสังเกตการณ์เรือด้วยภาพจากระยะไกล และระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดบริเวณจุดขึ้นลงเรือ เป็นการสังเกตการณ์ภาพมุมกว้างทั่ว บริเวณจุดขึ้น-ลงเรือ เพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยเกี่ยวกับการขึ้นลงเรือ ดังนั้น การกำหนดให้มีการเชื่อมต่อและบันทึกสัญญาณเสียงบริเวณจุดติดตั้งกล้องจึงไม่มีความจำเป็นและไม่ควรกำหนดเป็นปริมาณงาน แต่การดำเนินงานมีการกำหนดปริมาณงานการเชื่อมต่อสัญญาณเสียงระบบกล้อง Thermal และระบบกล้องตรวจตราความเรียบร้อยก่อนการลงเรือในจุดรับ-ส่งผู้โดยสารไว้ในการกำหนดปริมาณงานจ้างและผลการดำเนินการจัดหาทั้ง 2 ระบบดังกล่าวก็ไม่มีระบบการบันทึกสัญญาณเสียงแต่อย่างใด จึงเป็นการประมาณราคาเกินกว่าความจำเป็น ทำให้ทางราชการได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเงินกว่า 1,273,300 บาท
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้เมืองพัทยาพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้ทราบมูลค่าความเสียหายและหาผู้รับผิดทางละเมิดเพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่ทางราชการ และดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้องตามควรแก่กรณี
ข้อสังเกตที่ 3 การติดตั้งอุปกรณ์บนเรือโดยสารที่เข้าร่วมโครงการไม่เป็นไปตามที่กำหนดในสัญญา
การติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ของระบบบริหารจัดการตรวจสอบพฤติกรรมและตรวจตราผู้ที่ถอด หรือไม่ใส่เสื้อชูชีพขณะโดยสารเรือบนเรือโดยสารที่เข้าร่วมโครงการ พบว่า ดำเนินการไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วนตามที่กำหนด ดังนี้
1. ไม่มีการติดตั้งอุปกรณ์ DC-DC Converter (อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงแรงดันไฟฟ้า Output กระแสตรง (Direct Current: DC) จากแหล่งจ่ายไฟที่มีค่าคงที่ให้ได้แรงดัน Output DC ที่ สามารถปรับค่าได้ตามที่ต้องการ) ที่กำหนดให้มีการติดตั้ง จำนวน 2 ชุดต่อ 1 ระบบ (ต่อเรือ 1 ลำ) แต่มีการติดตั้งอุปกรณ์ DC-AC Inverter (อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่แปลงไฟฟ้ากระแสตรงให้เป็นไฟฟ้ากระแสสลับ (Alternative Current: AC) จำนวน 1 ชุด ต่อ 1 ระบบ
2. มีการติดตั้งอุปกรณ์บันทึกภาพ (Network Video Recorder: NVR) ไม่ตรงกับรุ่นที่ผู้รับจ้างเสนอราคา ซึ่งได้รับการชี้แจงจากคณะกรรมการตรวจการจ้างว่า เนื่องจากอุปกรณ์ NVR ที่กำหนดรุ่นไว้ตามข้อเสนอทางเทคนิคมีการยกเลิกสายการผลิตตามเอกสารที่ผู้ผลิตแจ้งแก่ผู้รับจ้าง และคณะกรรมการตรวจการจ้างได้พิจารณาและเปรียบเทียบคุณสมบัติแล้วเห็นถึงความจำเป็นจึงให้ความเห็นชอบดำเนินการได้ แต่ไม่มีการบันทึกแก้ไขสัญญาจ้าง
3. ไม่มีการติดตั้งอุปกรณ์สลับสัญญาณเครือข่ายความเร็วสูง (Network Switch) เข้ากับ อุปกรณ์อื่นในระบบตามที่กำหนด อย่างไรก็ตามพบว่า ระบบฯ สามารถทำงานได้เนื่องจากในระบบ ประกอบด้วยอุปกรณ์บันทึกภาพ NVR ที่ผู้รับจ้างจัดหาและติดตั้งเป็นอุปกรณ์มีคุณสมบัติที่รวมอุปกรณ์สลับสัญญาณเครือข่ายในตัว จึงไม่จำเป็นต้องติดตั้งอุปกรณ์สลับสัญญาณความเร็วสูงเพิ่มอีก ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้รับจ้างเสนออุปกรณ์ที่มีความซ้ำซ้อนหรือเกินความจำเป็นแต่ไม่แจ้งให้เมืองพัทยาทราบ ตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ใน TOR ส่งผลให้เมืองพัทยาต้องเสียงบประมาณจัดซื้ออุปกรณ์สลับสัญญาณเครือข่ายความเร็วสูงโดยไม่ได้รับประโยชน์ ชุดละ 64,200 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) 50 ชุด รวมเป็นจำนวนเงินกว่า 3.2 ล้านบาท
มีข้อเสนอแนะให้เมืองพัทยาพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อตรวจสอบความเสียหายและหาผู้รับผิด ชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น และดำเนินการตามสมควรแก่กรณีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง จากกรณีไม่ติดตั้งอุปกรณ์สลับสัญญาณเครือข่ายความเร็วสูงเข้าระบบบริหารจัดการตรวจสอบพฤติกรรมและตรวจตราผู้ที่ถอดหรือไม่ใส่เสื้อชูชีพขณะโดยสารเรือบนเรือที่เข้าร่วมโครงการ และมีลักษณะการกำหนดอุปกรณ์ที่ต้องการจัดหาซ้ำซ้อน ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย
2. ตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาโทษตามควรแก่กรณีกับคณะกรรมการตรวจการจ้าง และผู้ควบคุมงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งมอบอุปกรณ์บันทึกภาพซึ่งติดตั้งไม่ตรงกับรุ่นที่ผู้รับจ้างยื่น ข้อเสนอทางเทคนิคไว้ เนื่องจากเข้าข่ายการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับจ้างโดยไม่มีบันทึกการ แก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็นลายลักษณ์อักษรให้ถูกต้อง
ข้อสังเกตที่ 4 ระบบแสดงตัวอัตโนมัติของเรือโดยสารตามโครงการมีการใช้เทคโนโลยีแตกต่างจากมาตรฐานสากลด้านการเดินเรือ
การดำเนินโครงการพัฒนาศูนย์ควบคุมความปลอดภัยทางทะเลฯ เมืองพัทยา มีหลักการออกแบบระบบแสดงตัวอัตโนมัติของเรือโดยสารที่เข้าร่วมโครงการ คือการสร้างโครงข่ายการสื่อสารแบบบรอดแบนด์ไร้สายขึ้นระหว่างฝั่งเมืองพัทยาและเกาะล้าน เพื่อให้เรือโดยสารกับศูนย์ควบคุมความปลอดภัยทางทะเลสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ด้วยภาพ เสียง และข้อมูล โดยใช้อุปกรณ์ส่งสัญญาณ GPS ที่อยู่ในอุปกรณ์ตรวจสอบผู้ไม่ใส่เสื้อชูชีพและเหตุการณ์อื่นๆ ในเรือโดยสาร ซึ่งแตกต่างจากระบบแสดงตนอัตโนมัติ (Automatic Identification System : AIS) ที่ใช้ในกิจการเดินเรือภายในประเทศหรือระหว่างประเทศ ภายใต้ข้อกำหนดของหน่วยงานทางทะเลระหว่างประเทศ หรือ IMO ที่ส่งสัญญาณ GPS ผ่านคลื่นวิทยุข่าย VHF Maritime Band ไปยังสถานีชายฝั่ง ทั้งนี้การที่ เมืองพัทยาเลือกใช้เทคโนโลยีดังกล่าว มีข้อจำกัดจากการใช้ประโยชน์ที่สำคัญ คือ
1. ไม่สามารถเชื่อมโยงกับสถานีฝั่งอื่นๆ ที่ใช้ระบบภาย AIS ภายใต้ข้อกำหนดของหน่วยงานทางทะเลระหว่างประเทศได้ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับสถานีฝั่งของกรมเจ้าท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันหรือที่จะจัดให้มีขึ้นในอนาคตเพื่อใช้ควบคุมความปลอดภัยและบริหารจัดการการจราจรในทะเล ซึ่งระบบบรอดแบนด์ตามโครงการฯ มีพื้นที่การสื่อสารที่แคบเฉพาะพื้นที่ทะเลระหว่างเมืองพัทยาและเกาะล้าน ซึ่งกรณีเกิดเหตุการณ์เรือโดยสารออกนอกเขตพื้นที่การสื่อสารตามโครงการฯ จะทำให้ศูนย์ฯ ไม่สามารถติดตามหรือเฝ้าระวังความปลอดภัยได้ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องก็ไม่สามารถตรวจจับและให้การช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที
2. ไม่สอดคล้องตามแนวทางการพัฒนาระบบการบริหารจัดการการจราจรทางทะเลของ กรมเจ้าท่า ที่ผลักดันให้เรือที่บรรทุกคนโดยสารตั้งแต่ 25 คนขึ้นไป ต้องมีการติดตั้งระบบสำแดงข้อมูลเรืออัตโนมัติ (ระบบ AIS) Class B หรือสูงกว่า
ทั้งนี้ กรมเจ้าท่าได้ออกข้อบังคับกรมเจ้าท่าว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการติดตั้งระบบสำแดงข้อมูลเรืออัตโนมัติในการออกใบสำคัญรับรองการตรวจเรือเพื่อออกใบอนุญาตใช้เรือ พ.ศ. 2560 ประกาศ ณ วันที่ 11 กรกฎาคม 2560 กำหนดให้เรือบรรทุกคนโดยสารตั้งแต่ 25 คนขึ้นไป ซึ่งเป็นเรือเดินทะเลเฉพาะเขต ต้องติดตั้งระบบสำแดงข้อมูลเรืออัตโนมัติ (ระบบ AIS) Class B หรือสูงกว่า ซึ่งข้อบังคับกรมเจ้าท่าดังกล่าว จะมีผลทำให้เรือบรรทุก คนโดยสารตั้งแต่ 25 คนขึ้นไป ภายในประเทศทุกลำต้องติดตั้งระบบสำแดงข้อมูลเรืออัตโนมัติ (ระบบ AIS) ตามคุณสมบัติที่กรมเจ้าท่ากำหนด
ดังนั้น ระบบบริหารจัดการและควบคุมการคมนาคมทางทะเล ของศูนย์ควบคุมความปลอดภัยทางทะเลเมืองพัทยาจะไม่สามารถเชื่อมโยงกับเรือโดยสารที่จะติดตั้ง ระบบ AIS ตามที่กรมเจ้าท่ากำหนดเพื่อบริหารจัดการด้านความปลอดภัยตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ หรือตามภารกิจของศูนย์ฯ ได้ในทันที
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้เมืองพัทยาพิจารณาทบทวนหรือยุติโครงการที่จะดำเนินการต่อเนื่องหรือขยายผลหรือเพื่อปรับปรุงการดำเนินโครงการเดิม โดยให้มีการศึกษาความเป็นไปได้และความคุ้มค่าอย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันความเสียหายที่ไม่สามารถใช้งานจากระบบได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย หรือเทคโนโลยีที่ไม่สอดคล้องกับหน่วยงานอื่นในพื้นที่ และควรหามาตรการรองรับสำหรับผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบจากข้อบังคับกรมเจ้าท่าว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการติดตั้งระบบสำแดงข้อมูลเรืออัตโนมัติในการออกใบสำคัญรับรองการตรวจเรือเพื่อออกใบอนุญาตใช้เรือ พ.ศ. 2560 ดังกล่าวด้วย
----
ในสัปดาห์หน้า สำนักข่าวอิศราจะนำเสนอผลการตรวจสอบที่สำคัญของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเรื่องใด โปรดติดตาม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
เปิดกรุผลสอบสตง.(1) ชำแหละงบพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกาญฯ ไม่คุ้มค่า ห้องอาบน้ำแร่ถูกทิ้งร้าง
เปิดกรุผลสอบสตง.(2) ตรวจงบยกระดับหมู่บ้านโคราช ใช้ภาพเดียวเบิกเงิน 6 โครงการรวด
เปิดกรุผลสอบสตง.(3) ตรวจการผลิต-ใช้พลังงานทดแทน ‘กรมการพลังงานทหาร’ ล้มเหลวไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(4) ตรวจนโยบายร.ร.ดีใกล้บ้าน ยกระดับการศึกษาล้ม-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(5) ตรวจโครงการพัฒนาลำเชียงไกรโคราช ไม่เสร็จตามแผน-ซื้อของเกินจำเป็น
เปิดกรุผลสอบสตง.(6) ตรวจโครงการพัฒนาพืช-พลังงาน จ.ขอนแก่น 113ล. ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(7) ตรวจโครงการพลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้า-ประปาจ.กาญจนฯ ล้มเหลว-เบิกจ่ายเท็จ
เปิดกรุผลสอบสตง.(8) ตรวจโครงการควมคุมอาคารเขตเทศบาลนคร/เมือง ไม่ปลอดภัย-ผิดกม.อื้อ
เปิดกรุผลสอบสตง.(9) ตรวจการควบคุมเคมีทางเกษตร พบสารต้องห้าม-ร้านขายไม่ปลอดภัย-ผิดกม.
เปิดกรุผลสอบสตง.(10) ตรวจโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติด อปท.ลำปาง ไม่คุ้มงบ-ผิดวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(11) ตรวจโครงการสินค้าเกษตร 4.0 สุพรรณฯ ไม่พร้อมดำเนินการ-ไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(12) ตรวจโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว ขาดความต่อเนื่อง-ไม่ยั่งยืน
เปิดกรุผลสอบสตง.(13) ตรวจศูนย์อาชีพผู้สูงอายุ ไม่เป็นตามวัตถุประสงค์-จัดซื้อไม่คุ้มค่า
เปิดกรุผลสอบสตง.(14) ตรวจโครงการแพทย์ฉุกเฉิน อบจ.มหาสารคาม มอบรถพยาบาลช้า-ใช้ผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(15) ตรวจสหกรณ์จ.สุราษฎร์ฯ-ชุมพร ตั้งโรงงานยางพารา แต่ไม่เดินสายพานผลิต
เปิดกรุผลสอบสตง.(16) ตรวจการเก็บค่าภาคหลวงแร่ กรมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ฯ ไม่เป็นตามกฎหมาย
เปิดกรุผลสอบสตง.(17) ตรวจโครงการนาขั้นบันไดจ.น่าน ไม่ตรงเป้าหมาย-เบิกจ่ายเท็จ/ผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(18) ตรวจศูนย์เด็กเล็ก อปท.นครศรีธรรมราช ไร้ประสิทธิภาพ-ไม่ปลอดภัย
เปิดกรุผลสอบสตง.(19) ตรวจสำนักงาน กศน. อุดรธานี ไร้ประสิทธิภาพ-จบช้า/น้อย-พบนศ.ผี
เปิดกรุผลสอบสตง.(20) ตรวจโครงการเกษตรอินทรีย์กาญจนฯ ไม่บรรลุประสงค์-จัดซื้อผิดระเบียบ