เปิดกรุผลสอบสตง.(4) ตรวจนโยบายร.ร.ดีใกล้บ้าน ยกระดับการศึกษาล้ม-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
“...การที่นโยบายโรงเรียนดีใกล้บ้านยังไม่สามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาของนักเรียนได้ตามวัตถุประสงค์ ย่อมส่งผลให้นักเรียนขาดโอกาสที่จะได้เรียนจากโรงเรียนที่มีคุณภาพทางวิชาการ ไม่สามารถดึงดูดโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ใกล้เคียงให้มาเรียนรวมเพิ่มเติม และขาดโอกาสในการใช้งบประมาณจากการจัดซื้อครุภัณฑ์การศึกษาแต่ไม่ใช้ประโยชน์ อย่างน้อยจำนวน 14.01 ล้านบาท โดยมีสาเหตุมาจาก ไม่มีการกำหนดตัวชี้วัดในการยกระดับคุณภาพของผู้เรียนให้ครอบคลุมทุกด้านอย่างชัดเจน ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียนดีใกล้บ้านยังไม่มีการดำเนินการตาม แนวทางการดำเนินงานที่กำหนดอย่างจริงจัง...”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานตรวจสอบสำคัญของไทย มีหน้าที่ในการป้องกันดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ที่ถูกใช้จ่ายไปอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ที่ผ่านมา สตง.ได้มีการเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบเรื่องการใช้จ่ายเงินที่สำคัญไว้หลายเรื่อง สำนักข่าวอิศรา จึงขอเปิดพื้นที่ตรงนี้ ทุกวันเสาร์ รวบรวมข้อมูลผลการตรวจสอบที่สำคัญมานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบ
ในสัปดาห์ที่ 4 จะเป็นการนำเสนอผลการตรวจสอบเกี่ยวกับนโยบายโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก)
@ นโยบายโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก)
ตามที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดำเนินงานตามนโยบายโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) โดยให้พิจารณาคัดเลือกโรงเรียนดีใกล้บ้าน จากโรงเรียนในสังกัดที่มีศักยภาพและสามารถดึงดูดโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ใกล้มารวมได้ เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาลดความเหลื่อมล้ำและให้ประชากรในวัยเรียนทุกคนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง บรรลุตามเป้าหมายของกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตระหนักถึงความสำคัญ จึงได้เลือกตรวจสอบการดำเนินงานตามนโยบายโรงเรียนดีใกล้บ้าน เพื่อให้ทราบถึงผลการดำเนินงาน และปัญหาอุปสรรคข้อขัดข้องที่เกิดจากการดำเนินงาน เพื่อเสนอแนะแนวทางแก้ไขต่อไป
จากการตรวจสอบมีประเด็นข้อตรวจพบและข้อสังเกตที่สำคัญ ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 การดำเนินงานตามนโยบายโรงเรียนดีใกล้บ้านต่ำกว่าเป้าหมาย
จากการสุ่มตรวจสอบโรงเรียนดีใกล้บ้าน จำนวน 55 แห่ง และโรงเรียนเครือข่าย จำนวน 88 แห่ง ใน 13 จังหวัด พบว่า มีโรงเรียนเครือข่ายที่ต้องดำเนินการควบรวมหรือยุบเลิก ตามนโยบาย จำนวน 77 แห่ง โดยมาเรียนรวมกับโรงเรียนดีใกล้บ้าน จำนวน 51 แห่ง ซึ่งมีโรงเรียนเครือข่ายที่ไม่สามารถควบรวมหรือยุบเลิกได้ตามเป้าหมาย จำนวน 28 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 36.36 ของโรงเรียนเครือข่ายที่ตรวจสอบ และปัจจุบันยังไม่มีแนวโน้มที่จะควบรวมหรือยุบเลิกมาเรียนรวมกับโรงเรียนดีใกล้บ้าน ประกอบกับโรงเรียนดีใกล้บ้าน ยังไม่มีการจัดทำแผน หรือกำหนดแนวทางเพื่อให้เกิดการควบรวมหรือยุบเลิกโรงเรียนเครือข่ายในอนาคตและมีโรงเรียนดีใกล้บ้าน ที่ไม่สามารถดำเนินการดึงดูดโรงเรียนเครือข่ายมาเรียนรวมได้ตามเป้าหมายที่กำหนด จำนวน 21 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 41.18 ในจำนวนนี้มีโรงเรียนดีใกล้บ้าน ที่ไม่สามารถดำเนินการดึงดูดโรงเรียนเครือข่ายมาเรียนรวมได้ตามเป้าหมายทั้งหมด จำนวน 10 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 47.62 ของโรงเรียนดีใกล้บ้าน ที่ไม่สามารถดำเนินการได้
ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ของนโยบาย จำนวน 64.35 ล้านบาท นอกจากนี้ รัฐยังไม่สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้ จำนวน 782,500 บาท โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้นโยบายโรงเรียนดีใกล้บ้าน ยังไม่สามารถควบรวมหรือยุบเลิกโรงเรียนขนาดเล็กได้ตามเป้าหมายที่กำหนดเกิดจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และโรงเรียนดีใกล้บ้านไม่ปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนด
ข้อเสนอแนะ
ให้เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พิจารณาดำเนินการสั่งการให้ผู้บังคับบัญชากำกับดูแลหน่วยงานที่รับผิดชอบทุกระดับให้ความสำคัญ และปฏิบัติตามแนวทางที่กหนดในคู่มือการดำเนินงานโรงเรียนดีใกล้บ้าน อย่างเคร่งครัดและหากยังพบว่ามีการไม่ปฏิบัติ ควรกำหนดมาตรการดำเนินการตามควรแก่กรณี รวมถึงการดำเนินงาน กรณีอื่นๆ ตามภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ข้อตรวจพบที่ 2 การคัดเลือกโรงเรียนที่เข้าร่วมตามนโยบายไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด
จากการตรวจสอบการควบรวมหรือยุบเลิกโรงเรียนเครือข่าย ตามเป้าหมายที่กำหนด จำนวน 88 แห่ง พบว่า โรงเรียนเครือข่ายเป้าหมายที่กำหนดเป็นโรงเรียนที่มีการควบรวมหรือยุบเลิกมาก่อนมีการดำเนินการตามนโยบายโรงเรียนดีใกล้บ้าน จำนวน 11 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 12.5 ของโรงเรียนเครือข่ายเป้าหมายที่สุ่มตรวจสอบ และมีโรงเรียนดีใกล้บ้าน จำนวน 4 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 7.27 ของโรงเรียนดีใกล้บ้าน ที่สุ่มตรวจสอบ จำนวน 55 แห่ง ที่กำหนดโรงเรียนเครือข่ายเป้าหมายเป็นโรงเรียนที่มีการควบรวมหรือยุบเลิกมาก่อนมีนโยบายทั้งหมด
ทั้งนี้ โรงเรียนดีใกล้บ้าน ทั้ง 4 แห่ง ได้รับจัดสรรงบประมาณเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 23.65 ล้านบาท เพื่อนำไปดำเนินการ ตามนโยบายเช่นเดียวกับโรงเรียนดีใกล้บ้านอื่นๆ ที่สามารถดึงดูดโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ใกล้มาเรียนรวมได้
การที่โรงเรียนดีใกล้บ้าน มีการกำหนดเป้าหมายเป็นโรงเรียนเครือข่ายที่มีการควบรวมหรือยุบเลิกมาก่อนมีนโยบายทั้งหมด ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด จำนวน 23.65 ล้านบาท โดยมีสาเหตุมาจากขั้นตอนการพิจารณาคัดเลือกโรงเรียนตามเป้าหมาย ของนโยบายที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาคัดเลือกและเสนอรายชื่อโรงเรียนที่มีความพร้อมและมีศักยภาพ ที่จะเป็นโรงเรียนดีใกล้บ้าน และโรงเรียนเครือข่ายเข้ามาที่ส่วนกลางเพื่อพิจารณา แต่สำนักนโยบาย และแผนการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่มีการตรวจสอบข้อมูลสถานะปัจจุบันของโรงเรียนเครือข่ายที่ได้รับคัดเลือก ทำให้โรงเรียนเครือข่ายเป้าหมายของนโยบายบางส่วนเป็นโรงเรียนที่มีการควบรวมหรือยุบเลิกมาก่อนมีนโยบาย
ข้อเสนอแนะ
ให้เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พิจารณาดำเนินการกำชับและ/หรือสั่งการให้สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำรวจโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ใกล้เคียงกับโรงเรียนดีใกล้บ้าน ที่มีการกำหนดเป้าหมาย เป็นโรงเรียนเครือข่ายที่มีการควบรวมหรือยุบเลิกมาก่อนมีนโยบายทั้งหมด ให้ดำเนินการควบรวมหรือยุบเลิกโรงเรียนขนาดเล็กดังกล่าวมาเรียนรวม รวมทั้งตรวจสอบโรงเรียนดีใกล้บ้าน ที่ สตง. ไม่ได้สุ่มตรวจสอบ หากเข้าข่ายกรณีข้างต้น ให้ดำเนินการเช่นเดียวกัน
ข้อตรวจพบที่ 3 การดำเนินงานตามนโยบายโรงเรียนดีใกล้บ้านยังไม่สามารถยกระดับ คุณภาพการศึกษาของนักเรียนได้ตามวัตถุประสงค์
1.โรงเรียนดีใกล้บ้านส่วนใหญ่ยังไม่สามารถยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ให้สูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับคะแนนระดับประเทศดังนี้
1.1โรงเรียนดีใกล้บ้านส่วนใหญ่ยังไม่สามารถยกระดับผลการทดสอบ ทางการศึกษาระดับชาติ (คะแนน O-NET) ให้สูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับคะแนนระดับประเทศจากการตรวจสอบ โรงเรียนดีใกล้บ้าน จำนวน 55 แห่ง พบว่า มีโรงเรียนดีใกล้บ้านที่มีผลคะแนน O-NET ในปีการศึกษา 2560 ต่ำกว่าระดับประเทศเมื่อจำแนกตามแต่ละกลุ่มสาระวิชา ได้แก่ วิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษ จำนวน 38 45 41 และ 49 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 69.09 81.82 74.55 และ 89.09 ของจำนวนโรงเรียนดีใกล้บ้าน ที่สุ่มตรวจสอบ ตามลำดับ และในจำนวนโรงเรียนของกลุ่มนี้ มีโรงเรียนที่มีผลคะแนนต่ำกว่าระดับประเทศทั้ง 2 ปีการศึกษา (ปีการศึกษา 2559 และ 2560) จำนวน 30 35 35 และ 46 แห่ง ตามลำดับ และยังพบว่า ในปีการศึกษา 2558 มีโรงเรียนบางส่วนที่มีคะแนนสูงกว่าระดับประเทศ แต่เมื่อเข้าร่วมตามนโยบายแล้วได้คะแนนต่ำกว่าระดับประเทศ นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนดีใกล้บ้านที่มีคะแนนสอบ O-NET เปรียบเทียบต่ำกว่าระดับประเทศทุกกลุ่มสาระวิชา ทั้ง 2 ปีการศึกษา (ปีการศึกษา 2559 และ 2560) จำนวน 24 แห่ง จากจำนวนโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) ที่สุ่มตรวจสอบ คิดเป็นร้อยละ 43.64
1.2โรงเรียนดีใกล้บ้านส่วนใหญ่ยังไม่สามารถยกระดับผลการทดสอบ ความสามารถพื้นฐานของผู้เรียนระดับชาติ (คะแนน NT) เมื่อเปรียบเทียบกับคะแนนระดับประเทศ จากการตรวจสอบโรงเรียนดีใกล้บ้าน จำนวน 55 แห่ง พบว่า มีโรงเรียนดีใกล้บ้านที่มีผลคะแนน NT ในปีการศึกษา 2560 ต่ำกว่าระดับประเทศเมื่อจำแนกตามด้านที่มีการทดสอบ ได้แก่ ด้านภาษา ด้านคำนวณ และด้านเหตุผล จำนวน 30 35 และ 31 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 54.55 63.64 และ 56.36 ของจำนวนโรงเรียนดีใกล้บ้านที่สุ่มตรวจสอบ ตามลำดับ และในจำนวนโรงเรียนของกลุ่มนี้ มีโรงเรียนที่มีผลคะแนนต่ำกว่าระดับประเทศทั้ง 2 ปีการศึกษา (ปีการศึกษา 2559 และ 2560) จำนวน 19 24 และ 20 แห่ง ตามลำดับ และยังพบว่า ในปีการศึกษา 2558 มีโรงเรียนบางส่วนที่มีคะแนนสูงกว่าระดับประเทศ แต่เมื่อเข้าร่วมตามนโยบายแล้วได้คะแนนต่ำกว่าระดับประเทศ นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนดีใกล้บ้านที่มีคะแนนสอบ NT เปรียบเทียบต่ำกว่าระดับประเทศทุกด้านที่ทดสอบ ทั้ง 2 ปีการศึกษา (ปีการศึกษา 2559 และ 2560) จำนวน 12 แห่ง จากจำนวนโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) ที่สุ่มตรวจสอบ คิดเป็นร้อยละ 21.82
1.3โรงเรียนดีใกล้บ้านยังไม่สามารถยกระดับผลการทดสอบความสามารถ ด้านการอ่านออกเขียนได้ (คะแนน RT) เมื่อเปรียบเทียบกับคะแนนระดับประเทศ จากการตรวจสอบโรงเรียนดีใกล้บ้าน จำนวน 54 แห่ง (ไม่พบข้อมูลการสอบ 1 แห่ง) พบว่า เมื่อจำแนกตามด้าน ที่ทดสอบ ได้แก่ ด้านการอ่านรู้เรื่องและการอ่านออกเสียง มีโรงเรียนดีใกล้บ้านที่มีผลคะแนน ในปีการศึกษา 2560 ต่ำกว่าระดับประเทศ จำนวน 22 และ 19 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 40.74 และ 39.15 ของ จำนวนโรงเรียนดีใกล้บ้านที่สุ่มตรวจสอบ และในจำนวนนี้มีโรงเรียนที่มีผลคะแนนต่ำกว่า ระดับประเทศทั้ง 2 ปีการศึกษา (ปีการศึกษา 2559 -2560) จำนวน 13 และ 10 แห่ง ตามลำดับ
2.โรงเรียนดีใกล้บ้านส่วนใหญ่ไม่มีการใช้ประโยชน์วัสดุ ครุภัณฑ์ตามนโยบาย กล่าวคือ ในการดำเนินการตามนโยบายโรงเรียนดีใกล้บ้าน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้จัดสรรงบเงินอุดหนุนให้กับโรงเรียนดีใกล้บ้าน แห่งละ 3.35 ล้านบาท รวม 55 แห่ง เป็นเงิน 184.25 ล้านบาท โดยมีการใช้จ่ายงบเงินอุดหนุนในการจัดซื้อวัสดุ ครุภัณฑ์ทางการศึกษา จำนวน 105.41 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 57.21ของงบเงินอุดหนุน ซึ่งจากการสังเกตการณ์การใช้ประโยชน์ วัสดุ ครุภัณฑ์ที่มีการจัดซื้อจากงบเงินอุดหนุนของโรงเรียนดีใกล้บ้าน จำนวน 55 แห่ง พบว่า โรงเรียนดีใกล้บ้านไม่มีการใช้ประโยชน์วัสดุ ครุภัณฑ์ เป็นจำนวนมาก เช่น โปรแกรม ห้องสมุดโปรแกรมบริหารและงานสนับสนุน โปรแกรมสื่อ E-Book เป็นต้น จึงอาจส่งผลให้ไม่เกิดการพัฒนา คุณภาพของผู้เรียนตามวัตถุประสงค์ของนโยบาย
การที่นโยบายโรงเรียนดีใกล้บ้านยังไม่สามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาของนักเรียนได้ตามวัตถุประสงค์ ย่อมส่งผลให้นักเรียนขาดโอกาสที่จะได้เรียนจากโรงเรียนที่มีคุณภาพทางวิชาการ ไม่สามารถดึงดูดโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ใกล้เคียงให้มาเรียนรวมเพิ่มเติม และขาดโอกาสในการใช้งบประมาณจากการจัดซื้อครุภัณฑ์การศึกษาแต่ไม่ใช้ประโยชน์ อย่างน้อยจำนวน 14.01 ล้านบาท โดยมีสาเหตุมาจาก ไม่มีการกำหนดตัวชี้วัดในการยกระดับคุณภาพของผู้เรียนให้ครอบคลุมทุกด้านอย่างชัดเจน ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียนดีใกล้บ้านยังไม่มีการดำเนินการตาม แนวทางการดำเนินงานที่กำหนดอย่างจริงจัง
ข้อเสนอแนะ
1.พิจารณาทบทวนการกำหนดตัวชี้วัดคุณภาพผู้เรียนทั้งมิติด้านวิชาการควบคู่ไปกับ มิติด้านอื่นๆ ที่เหมาะสมต่อบริบทและศักยภาพของโรงเรียนดีใกล้บ้านอย่างชัดเจน และกำหนดให้มีการติดตามผลตามตัวชี้วัดดังกล่าว
2.สั่งการผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียนดีใกล้บ้านให้มีการดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ที่กำหนดไว้ตามแนวทางอย่างเคร่งครัด
3.สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจการใช้/ไม่ใช้ประโยชน์จากวัสดุ ครุภัณฑ์ ทางการศึกษาของโรงเรียนดีใกล้บ้านทุกแห่งทั่วประเทศ ที่จัดซื้อด้วยงบประมาณตามนโยบาย เพื่อหาแนวทางในการใช้ประโยชน์ รวมทั้งกำหนดให้มีการติดตามผลการใช้ประโยชน์ดังกล่าว
4.จัดให้มีการวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน เพื่อจัดทำแผนและจัดลำดับ ความสำคัญของกลุ่มสาระวิชาที่จำเป็นต้องยกระดับผลสัมฤทธิ์โดยนำวัสดุ ครุภัณฑ์ทางการศึกษา โดยเฉพาะสื่อ โปรแกรมที่จัดซื้อมาใช้ให้เกิดประโยชน์ให้สอดคล้องกับความจำเป็นในการยกระดับผลสัมฤทธิ์
ข้อตรวจพบที่ 4 การบริหารจัดการทรัพย์สินของโรงเรียนเครือข่ายภายหลังการยุบเลิกไม่เป็นไปตาม แนวทางที่กำหนด
จากการสุ่มตรวจสอบโรงเรียนเครือข่ายที่สามารถยุบเลิกได้จำนวน 42 แห่ง พบว่า การบริหารจัดการทรัพย์สินของโรงเรียนเครือข่ายภายหลังการยุบเลิกบางแห่งไม่เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด มีรายละเอียด ดังนี้
1.วัสดุ ครุภัณฑ์พบว่า มีโรงเรียนเครือข่ายที่ยุบเลิก ไม่ได้โอนวัสดุ ครุภัณฑ์ให้โรงเรียนดีใกล้บ้าน แต่ได้โอนให้โรงเรียนอื่นดูแลแทน รวมทั้งไม่ได้จัดทำและส่งมอบบัญชีทรัพย์สินให้กับโรงเรียนดีใกล้บ้าน จำนวน 3แห่ง คิดเป็นร้อยละ 7.14 ของโรงเรียนเครือข่ายที่ยุบเลิกได้ นอกจากนี้ โรงเรียนเครือข่ายที่ยุบเลิกได้ทั้ง 42แห่ง ไม่มีการดำเนินการจำหน่ายทรัพย์สินที่ชำรุด เสื่อมสภาพ และไม่สามารถใช้งานได้ให้เสร็จสิ้นก่อนส่งมอบทรัพย์สินให้แก่โรงเรียนดีใกล้บ้านและยังไม่มีแผนในการดำเนินการจำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าว นอกจากนี้ ในจำนวนโรงเรียนดีใกล้บ้าน ที่มีโรงเรียนเครือข่ายมาเรียนรวม 34 แห่ง พบว่า มีโรงเรียนดีใกล้บ้านที่ไม่ได้รับโอน ทรัพย์สินมาจากโรงเรียนเครือข่ายที่ยุบเลิก เนื่องจากมีการโอนให้โรงเรียนอื่นดูแลแทน จำนวน 2 แห่ง และ โรงเรียนดีใกล้บ้านที่ได้รับโอนทรัพย์สินมาจากโรงเรียนเครือข่ายที่ยุบเลิก จำนวน 32 แห่ง มีโรงเรียนดีใกล้บ้านเพียง 1 แห่ง ที่ดำเนินการรับโอนทรัพย์สิน ตรวจนับ จัดทำทะเบียนพัสดุเพื่อจัดหมวดหมู่ พร้อมทั้งออกหมายเลขครุภัณฑ์ครบถ้วนตามแนวทางที่กำหนดในคู่มือการดำเนินงาน ส่วนอีก 31 แห่ง แบ่งเป็น โรงเรียนดีใกล้บ้านที่ยังไม่
ได้จัดทำทะเบียนพัสดุของโรงเรียนเครือข่าย เพื่อจัดหมวดหมู่และออกหมายเลขครุภัณฑ์ จำนวน 27 แห่ง และโรงเรียนดีใกล้บ้านที่จัดทำทะเบียนพัสดุของโรงเรียนเครือข่ายเพื่อจัดหมวดหมู่แล้ว แต่ไม่มีการออกหมายเลขครุภัณฑ์ จำนวน 4 แห่ง
2.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พบว่า มีโรงเรียนเครือข่ายโอนส่งมอบที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ โรงเรียนอื่นเป็นผู้บริหารจัดการซึ่งไม่เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด จำนวน 3 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 7.14 ของโรงเรียนเครือข่ายที่ยุบเลิกได้ และมีโรงเรียนเครือข่ายที่มีการโอนส่งมอบที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้กับโรงเรียนดีใกล้บ้านเป็นผู้บริหารจัดการตามแนวทางที่กำหนด จำนวน 39 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 92.86 ของโรงเรียนเครือข่ายที่ยุบเลิกได้ ในจำนวนนี้ ยังไม่ได้ส่งคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้หน่วยงาน เจ้าของที่ดิน จำนวน 34 แห่ง โดยเป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีการขอใช้ประโยชน์ จำนวน 20 แห่ง และที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างที่ยังไม่มีการใช้ประโยชน์ จำนวน 14แห่ง โดยส่วนใหญ่ถูกทิ้งร้าง เสื่อมโทรม ไม่มีการ ซ่อมแซมบำรุงรักษา
การบริหารจัดการทรัพย์สินของโรงเรียนเครือข่ายภายหลังการยุบเลิกไม่เป็นไปตามแนวทาง ที่กำหนด ส่งผลให้รัฐเสียโอกาสจากรายได้ที่จะได้รับจากการจำหน่ายทรัพย์สินที่ชำรุดและอาจเกิดความเสี่ยงที่พัสดุจะสูญหายได้โดยมีสาเหตุมาจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และโรงเรียนเครือข่าย ไม่ปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดในคู่มือการดำเนินงานโรงเรียนดีใกล้บ้าน
ข้อเสนอแนะ
สตง. มีข้อเสนอแนะให้เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พิจารณาดำเนินการสั่งการให้ผู้บังคับบัญชากำกับดูแลหน่วยงานที่รับผิดชอบทุกระดับปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดในคู่มือการดำเนินงานโรงเรียนดีใกล้บ้านอย่างเคร่งครัด และหากยังพบว่า มีการไม่ปฏิบัติ ควรกำหนดมาตรการดำเนินการตามควรแก่กรณี รวมถึงการดำเนินงานกรณีอื่นๆ ตามภารกิจ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ข้อสังเกต
การจัดสรรงบลงทุนรายการบ้านพักครูไม่สนับสนุนการบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดตามนโยบาย
จากการสุ่มตรวจสอบโรงเรียนดีใกล้บ้าน จำนวน 55 แห่ง พบว่า มีโรงเรียนดีใกล้บ้านที่ได้รับจัดสรรงบลงทุนรายการบ้านพักครู จำนวน 29 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 52.73 ของโรงเรียนดีใกล้บ้าน ที่ตรวจสอบ โดยได้รับจัดสรรบ้านพักครู จำนวน 31 หลัง รวมเป็นเงิน 23.73 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม จากการสัมภาษณ์ผู้อำนวยการของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้อำนวยการโรงเรียนดีใกล้บ้านที่ตรวจสอบและได้รับจัดสรรบ้านพักครู พบว่า บ้านพักครูไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญในการควบรวม หรือยุบเลิกโรงเรียนเครือข่าย และครูโรงเรียนเครือข่ายส่วนใหญ่ไม่ประสงค์จะอยู่อาศัยในบ้านพักครู โดยในจำนวนโรงเรียนดีใกล้บ้านที่มีการใช้ประโยชน์ จำนวน 25 แห่ง มีครูของโรงเรียน เครือข่ายอยู่อาศัย จำนวน 2 แห่ง จะเห็นว่าส่วนใหญ่ผู้อยู่อาศัยเป็นครูของโรงเรียนดีใกล้บ้านไม่ใช่ครูของโรงเรียนเครือข่าย ส่งผลให้การจัดสรรงบลงทุนรายการบ้านพักครูไม่สนับสนุนการบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดตามนโยบาย
นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนดีใกล้บ้านที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ บ้านพักครูจำนวน 4 แห่ง โดยได้รับจัดสรรบ้านพักครู จำนวน 5 หลัง รวมเป็นเงิน 3.87 ล้านบาท
ข้อเสนอแนะ
ให้เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พิจารณาสั่งการให้สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐานดำเนินการเกี่ยวกับการพิจารณาจัดสรร งบประมาณ ซึ่งหากจะต้องมีการกำหนดรายการจัดซื้อจัดจ้างตามนโยบาย/โครงการในโอกาสต่อไป ควรกำหนดรายการดังกล่าว โดยคำนึงถึงการสนับสนุนการบรรลุวัตถุประสงค์ของนโยบาย/โครงการ เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายเงินงบประมาณอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
----
ในสัปดาห์หน้า สำนักข่าวอิศราจะนำเสนอผลการตรวจสอบที่สำคัญของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเรื่องใด โปรดติดตาม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
เปิดกรุผลสอบสตง.(1) ชำแหละงบพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกาญฯ ไม่คุ้มค่า ห้องอาบน้ำแร่ถูกทิ้งร้าง
เปิดกรุผลสอบสตง.(2) ตรวจงบยกระดับหมู่บ้านโคราช ใช้ภาพเดียวเบิกเงิน 6 โครงการรวด
เปิดกรุผลสอบสตง.(3) ตรวจการผลิต-ใช้พลังงานทดแทน ‘กรมการพลังงานทหาร’ ล้มเหลวไม่คุ้มงบ