เปิดกรุผลสอบสตง.(20) ตรวจโครงการเกษตรอินทรีย์กาญจนฯ ไม่บรรลุประสงค์-จัดซื้อผิดระเบียบ
“...สำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรีได้ตรวจรับพัสดุที่ส่งมอบรายการที่ 3 ตามสัญญาฯ ระบุให้ จัดส่งพลาสติกปูพื้นสีดำ ขนาด 20x40 เมตร จำนวน 100 ผืน ผืนละ 15,408 บาท มูลค่า 1,540,800 บาท แต่จากการตรวจสอบสังเกตการณ์พบว่าพลาสติกปูพื้นที่ส่งมอบให้เกษตรกรแต่ละรายเป็นพลาสติกปูพื้นสีดำ ขนาด 3.60x40 เมตร จำนวน 5 ม้วน และขนาด 3.0x40 เมตร จำนวน 1 ม้วน ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญา ซึ่งกรณีนี้ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 71 ซึ่งบังคับใช้ขณะดำเนินการจัดซื้อ ได้กำหนดในกรณีที่เห็นว่าพัสดุที่ส่งมอบมีรายละเอียดไม่เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญาหรือข้อตกลง ให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุรายงานหัวหน้าส่วนราชการผ่านหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ เพื่อทราบหรือสั่งการ การไม่รายงานดังกล่าวจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ...”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานตรวจสอบสำคัญของไทย มีหน้าที่ในการป้องกันดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ที่ถูกใช้จ่ายไปอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ที่ผ่านมา สตง.ได้มีการเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบเรื่องการใช้จ่ายเงินที่สำคัญไว้หลายเรื่อง สำนักข่าวอิศรา จึงขอเปิดพื้นที่ตรงนี้ ทุกวันเสาร์ รวบรวมข้อมูลผลการตรวจสอบที่สำคัญมานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบ
ในสัปดาห์ที่ 20 จะเป็นการนำเสนอรายงานการตรวจสอบการดำเนินงาน โครงการเพิ่มประสิทธิภาพเกษตรอินทรีย์ ตามแนวพระราชดำริจังหวัดกาญจนบุรี ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 สำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี
@ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพเกษตรอินทรีย์ ตามแนวพระราชดำริจังหวัดกาญจนบุรี ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 สำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี
สำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี ได้รับการจัดสรรงบประมาณยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 วงเงินงบประมาณ จำนวน 10,000,000 บาท ภายใต้โครงการส่งเสริมวิถีตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยจัดซื้อวัสดุสำหรับการก่อสร้าง โรงเรือนให้แก่เกษตรกรในเขตพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 10 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองกาญจนบุรี อำเภอด่านมะขามเตี้ย อำเภอท่าม่วง อำเภอท่ามะกา อำเภอพนมทวน อำเภอบ่อพลอย อำเภอเลา ขวัญ อำเภอหนองปรือ อำเภอไทรโยค และอำเภอทองผาภูมิ เพื่อให้เกษตรกรจัดทำแปลงผลิตสินค้า เกษตรอินทรีย์ จำนวน 100 ราย เป็นเงิน 9,212,700 บาท
จากการตรวจสอบผลการดำเนินโครงการ ของ สำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี มีประเด็น ข้อตรวจพบที่สำคัญ และข้อสังเกต ดังนี้
ข้อตรวจพบ การผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ
สำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี ได้จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพเกษตรอินทรีย์ตามแนวพระราชดำริจังหวัดกาญจนบุรี ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตจากการใช้สารเคมีในการกำจัดแมลงศัตรูพืช อันจะมีผลให้เกษตรกรและผู้บริโภคมีความปลอดภัยจากสารเคมี และเกษตรกรสามารถเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดสารพิษ มีความมั่งคั่งและยั่งยืน การจัดทำโครงการดังกล่าว สำนักงานเกษตรจังหวัดได้ดำเนินการจัดซื้อวัสดุสำหรับการก่อสร้างโรงเรือน ขนาด 20x40 เมตร และสนับสนุนให้แก่เกษตรกรเพื่อจัดทำแปลงต้นแบบการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ในโรงเรือน จำนวน 100 ราย (เกษตรกร 1 รายต่อ 1 แปลง)
จากการตรวจสอบสังเกตการณ์สภาพโรงเรือนและการจัดทำแปลงต้นแบบฯ ในโรงเรือน จำนวน 96 แปลง พบว่า
1. เกษตรกรมีการก่อสร้างโรงเรือน และจัดทำแปลงต้นแบบฯ ในโรงเรือน จำนวน 20 ราย คิดเป็นร้อยละ 20.83 ของจำนวนแปลงที่สุ่มตรวจสอบ การจัดทำแปลงต้นแบบฯ ดังกล่าว เกษตรกรมีการดำเนินการ ดังนี้
1.1 เกษตรกรเพาะปลูกพืชในแปลงต้นแบบฯ และมีการเก็บเกี่ยวผลผลิต จำนวน 14ราย
1.2 เกษตรกรเพาะปลูกพืชในแปลงต้นแบบฯ และอยู่ในระหว่างรอการเก็บเกี่ยวผลผลิต จำนวน 6ราย
2. เกษตรกรดำเนินการก่อสร้างโรงเรือน และจัดทำแปลงต้นแบบฯ แล้ว แต่ยังไม่ทำการเพาะปลูก จำนวน 10 ราย คิดเป็นร้อยละ 10.42 ของจำนวนแปลงที่สุ่มตรวจสอบ
3. เกษตรกรไม่มีการก่อสร้างโรงเรือน และยังไม่ได้จัดทำแปลงต้นแบบฯ จำนวน 66 ราย คิดเป็นร้อยละ 68.75 ของจำนวนแปลงที่สุ่มตรวจสอบ
ผลกระทบ
1. การที่เกษตรกรมีการก่อสร้างโรงเรือน และจัดทำแปลงต้นแบบฯ แล้ว แต่ยังไม่มีการเพาะปลูก ทำให้เกษตรกรไม่สามารถลดต้นทุนและเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
2. การที่เกษตรกรไม่มีการก่อสร้างโรงเรือน และยังไม่ได้จัดทำแปลงต้นแบบฯ ทำให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณไม่คุ้มค่าเป็นจำนวนเงิน 6,080,382 บาท บาท (92,127 บาท x 66 แปลง)
สาเหตุ
1. เกษตรกรมีการก่อสร้างโรงเรือน และจัดทำแปลงต้นแบบฯ แล้ว แต่ยังไม่มีการเพาะปลูก เนื่องจากเกษตรกรไม่มีความพร้อมด้านเงินทุน ซึ่งเกษตรกรต้องรอเงินรายได้จากการขายพืชผลการเกษตรก่อน จึงจะดำเนินการก่อสร้างโรงเรือนสำหรับจัดทำแปลงต้นแบบฯ
2. การที่เกษตรกรไม่มีการก่อสร้างโรงเรือน และยังไม่ได้จัดทำแปลงต้นแบบฯ เนื่องจากพื้นที่ ในการก่อสร้างโรงเรือน และจัดทำแปลงต้นแบบฯ ของเกษตรกรบางรายยังไม่ได้เก็บเกี่ยวผลผลิต ต้องรอเก็บเกี่ยวผลผลิตให้เสร็จสิ้นก่อน จึงจะสามารถก่อสร้างโรงเรือนและจัดทำแปลงต้นแบบฯ ได้ และเกษตรกรบางรายขาดเงินทุนในการก่อสร้างโรงเรือนและจัดทำแปลงต้นแบบฯ รวมทั้งไม่มีแหล่งน้ำสำหรับการเพาะปลูก จึงยังไม่ได้ก่อสร้างโรงเรือนและจัดทำแปลงต้นแบบฯ
3. สำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรีขาดการติดตามประเมินผลเพื่อทราบปัญหาอุปสรรค และหาแนวทางแก้ไขในการดำเนินโครงการ
ข้อเสนอแนะ ให้สำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี ดำเนินการ ดังนี้
1. การจัดทำโครงการในลักษณะเดียวกันในโอกาสต่อไป ให้พิจารณาความพร้อมของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในด้านเงินทุนและพื้นที่สำหรับการก่อสร้างโรงเรือนเพื่อจัดทำแปลงต้นแบบฯ ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินโครงการบรรลุตามวัตถุประสงค์ รวมทั้งการใช้จ่าย เงินงบประมาณ เป็นไปอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ
2. ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกรที่จัดทำแปลงต้นแบบฯ แล้ว แต่ยังไม่ได้ปลูกพืชเกษตรอินทรีย์เป็นจำนวน 10 แปลง และดำเนินการเร่งรัดให้เกษตรกรดำเนินการทำโรงเรือนพร้อมจัดทำแปลงต้นแบบฯ จำนวน 66 แปลง เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
ข้อสังเกต พลาสติกปูพื้นที่ส่งมอบให้เกษตรกรไม่เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญา
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 12 (จังหวัดเพชรบุรี) ได้ตรวจสอบการจัดซื้อวัสดุการเกษตรตามสัญญาซื้อขายเลขที่ 186/2560 ลงวันที่ 18 เมษายน 2560 มูลค่าตามสัญญา 9,212,700 บาท ของสำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี พบว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี ได้ดำเนินกระบวนการจัดซื้อ วัสดุการเกษตรไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้
สำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรีได้ตรวจรับพัสดุที่ส่งมอบรายการที่ 3 ตามสัญญาฯ ระบุให้ จัดส่งพลาสติกปูพื้นสีดำ ขนาด 20x40 เมตร จำนวน 100 ผืน ผืนละ 15,408 บาท มูลค่า 1,540,800 บาท แต่จากการตรวจสอบสังเกตการณ์พบว่าพลาสติกปูพื้นที่ส่งมอบให้เกษตรกรแต่ละรายเป็นพลาสติกปูพื้นสีดำ ขนาด 3.60x40 เมตร จำนวน 5 ม้วน และขนาด 3.0x40 เมตร จำนวน 1 ม้วน ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญา ซึ่งกรณีนี้ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 71 ซึ่งบังคับใช้ขณะดำเนินการจัดซื้อ ได้กำหนดในกรณีที่เห็นว่าพัสดุที่ส่งมอบมีรายละเอียดไม่เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญาหรือข้อตกลง ให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุรายงานหัวหน้าส่วนราชการผ่านหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ เพื่อทราบหรือสั่งการ การไม่รายงานดังกล่าวจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ แต่จากการสุ่มตรวจดูโรงเรือนของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ เมื่อพิจารณาลักษณะการใช้ประโยชน์จากแผ่นปูพื้นพลาสติกที่ ได้รับจากสำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี พบว่า พลาสติกปูพื้นที่เป็นผืนย่อยเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร เนื่องจากการทำให้เป็นผืนย่อยสามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก ใช้งานได้ตามต้องการและตรงตามวัตถุประสงค์ โดยแผ่นพลาสติกปูพื้นที่ส่งมอบมีขนาดพื้นที่รวม 840 ตารางเมตร (ขนาด 3.60x 40 เมตร จำนวน 5 ม้วน และ ขนาด 3.0x40 เมตร จำนวน 1 ม้วน) มีขนาดไม่น้อยกว่าแผ่นพลาสติกปูพื้นที่กำหนด คือ 800 ตารางเมตร (20x40 เมตร)
และจากการสืบค้นทางเว็บไซต์และโทรศัพท์เพื่อสืบราคาจาก บริษัท ไทยเจริญทอง การทอ จำกัด ปรากฏว่า พลาสติกปูพื้นสีดำ รุ่น F101 ขนาด 3.60x 40 เมตร มีราคาผืนละ 3,900 บาท และ ขนาด 3.0x40 เมตร มีราคาผืนละ 4,250 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เมื่อรวมราคาตามจำนวนที่ส่งมอบให้เกษตรกรแต่ละชุดแล้วคิดเป็นเงิน 23,750 บาท สูงกว่าราคาที่เสนอไว้ราคาชุดละ 15,408 บาท จึงไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการ
กรณีดังกล่าว สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 12 (จังหวัดเพชรบุรี) ได้รายงานผลการตรวจสอบและข้อเสนอแนะแล้ว ตามหนังสือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 12 (จังหวัดเพชรบุรี) ลับ ที่ ตผ 0058 พบ/232 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 เรื่อง การแจ้งผลการตรวจสอบจัดซื้อวัสดุการเกษตร 10 รายการ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพเกษตรอินทรีย์ตามแนวพระราชดำริ จังหวัดกาญจนบุรี ของ สำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี โดยเสนอแนะให้สำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรีกำชับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรีหรือแบบแผนการปฏิบัติราชการ มิให้เกิดข้อบกพร่องขึ้นอีก
----
ในสัปดาห์หน้า สำนักข่าวอิศราจะนำเสนอผลการตรวจสอบที่สำคัญของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเรื่องใด โปรดติดตาม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
เปิดกรุผลสอบสตง.(1) ชำแหละงบพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกาญฯ ไม่คุ้มค่า ห้องอาบน้ำแร่ถูกทิ้งร้าง
เปิดกรุผลสอบสตง.(2) ตรวจงบยกระดับหมู่บ้านโคราช ใช้ภาพเดียวเบิกเงิน 6 โครงการรวด
เปิดกรุผลสอบสตง.(3) ตรวจการผลิต-ใช้พลังงานทดแทน ‘กรมการพลังงานทหาร’ ล้มเหลวไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(4) ตรวจนโยบายร.ร.ดีใกล้บ้าน ยกระดับการศึกษาล้ม-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(5) ตรวจโครงการพัฒนาลำเชียงไกรโคราช ไม่เสร็จตามแผน-ซื้อของเกินจำเป็น
เปิดกรุผลสอบสตง.(6) ตรวจโครงการพัฒนาพืช-พลังงาน จ.ขอนแก่น 113ล. ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(7) ตรวจโครงการพลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้า-ประปาจ.กาญจนฯ ล้มเหลว-เบิกจ่ายเท็จ
เปิดกรุผลสอบสตง.(8) ตรวจโครงการควมคุมอาคารเขตเทศบาลนคร/เมือง ไม่ปลอดภัย-ผิดกม.อื้อ
เปิดกรุผลสอบสตง.(9) ตรวจการควบคุมเคมีทางเกษตร พบสารต้องห้าม-ร้านขายไม่ปลอดภัย-ผิดกม.
เปิดกรุผลสอบสตง.(10) ตรวจโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติด อปท.ลำปาง ไม่คุ้มงบ-ผิดวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(11) ตรวจโครงการสินค้าเกษตร 4.0 สุพรรณฯ ไม่พร้อมดำเนินการ-ไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(12) ตรวจโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว ขาดความต่อเนื่อง-ไม่ยั่งยืน
เปิดกรุผลสอบสตง.(13) ตรวจศูนย์อาชีพผู้สูงอายุ ไม่เป็นตามวัตถุประสงค์-จัดซื้อไม่คุ้มค่า
เปิดกรุผลสอบสตง.(14) ตรวจโครงการแพทย์ฉุกเฉิน อบจ.มหาสารคาม มอบรถพยาบาลช้า-ใช้ผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(15) ตรวจสหกรณ์จ.สุราษฎร์ฯ-ชุมพร ตั้งโรงงานยางพารา แต่ไม่เดินสายพานผลิต
เปิดกรุผลสอบสตง.(16) ตรวจการเก็บค่าภาคหลวงแร่ กรมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ฯ ไม่เป็นตามกฎหมาย
เปิดกรุผลสอบสตง.(17) ตรวจโครงการนาขั้นบันไดจ.น่าน ไม่ตรงเป้าหมาย-เบิกจ่ายเท็จ/ผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(18) ตรวจศูนย์เด็กเล็ก อปท.นครศรีธรรมราช ไร้ประสิทธิภาพ-ไม่ปลอดภัย
เปิดกรุผลสอบสตง.(19) ตรวจสำนักงาน กศน. อุดรธานี ไร้ประสิทธิภาพ-จบช้า/น้อย-พบนศ.ผี