เปิดกรุผลสอบสตง.(23) ตรวจการพัฒนาชลประทานฉะเชิงเทรา ผิดระเบียบ-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
“...การเช่าเครื่องจักร เมื่อระบุในสัญญาว่าจะเช่าเครื่องจักรยี่ห้อ รุ่น หมายเลขทะเบียนใด ผู้เช่าต้องได้รับเครื่องจักรนั้นมาปฏิบัติงาน ผู้ให้เช่าต้องมีและส่งมอบเครื่องจักรนั้นแก่ผู้ให้เช่าจริง และต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขและข้อกำหนดในสัญญา แต่จากการตรวจสอบพบว่าผู้ให้เช่าไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญา และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบไม่ควบคุมตรวจสอบและปฏิบัติให้ถูกต้อง ตรงตามข้อเท็จจริง แต่ได้รับมอบและตรวจรับเครื่องจักรอื่นที่ไม่ใช่เลขทะเบียนตามที่ระบุในสัญญาไว้ โดยไม่มีการรายงานให้หัวหน้าส่วนราชการทราบถึงรายละเอียดที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญา ถือว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด มีความเสี่ยงที่ทำให้ทางราชการได้รับความเสียหาย รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 6,344,226.9 บาท...”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานตรวจสอบสำคัญของไทย มีหน้าที่ในการป้องกันดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ที่ถูกใช้จ่ายไปอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ที่ผ่านมา สตง.ได้มีการเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบเรื่องการใช้จ่ายเงินที่สำคัญไว้หลายเรื่อง สำนักข่าวอิศรา จึงขอเปิดพื้นที่ตรงนี้ ทุกวันเสาร์ รวบรวมข้อมูลผลการตรวจสอบที่สำคัญมานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบ
ในสัปดาห์ที่ 23 จะเป็นการนำเสนอรายงานการตรวจสอบการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำเพื่อเพิ่มศักยภาพการเกษตรแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย โครงการชลประทานฉะเชิงเทรา
@ การพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำเพื่อเพิ่มศักยภาพการเกษตรแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย โครงการชลประทานฉะเชิงเทรา
งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 แผนงานบูรณการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพเศรษฐกิจภายในประเทศให้มีความเข้มแข็ง โดยสนับสนุนการพัฒนาในระดับพื้นที่ในด้านอุตสาหกรรม การค้า และการลงทุน การเกษตร การท่องเที่ยว รวมทั้งการพัฒนาด้านสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนโครงการพัฒนาพิเศษขนาดใหญ่ ซึ่งกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนกลางได้รับจัดสรรงบประมาณมากที่สุด จำนวน 3,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 64.75 ของงบประมาณที่ได้รับ จัดสรรในพื้นที่ภาคกลางตอนกลางทั้งหมด
โดยกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนกลางได้กำหนดวิสัยทัศน์ มุ่งเน้นเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและมีมาตรฐาน แต่การส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและมีมาตรฐานได้ตามระเบียบหลักเกณฑ์และขั้นตอนการรับรองสินค้าเกษตรปลอดภัย มีความจำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตร ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญในการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย และถือว่าเป็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขปรับปรุงควบคู่ไปพร้อมกับการดำเนินการด้านต่างๆ ประกอบด้วยการพัฒนาแหล่งน้ำ การปรับปรุงคุณภาพดิน ซึ่งจะช่วยให้พื้นที่ของเกษตรกรมีความพร้อม เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ในการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย ช่วยลดปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูง ลดการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี ไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดินมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น จากสภาพปัญหาที่กล่าว กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนกลางจึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต และการแปรรูปสินค้าเกษตรปลอดภัยกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนกลาง กิจกรรมหลักพัฒนาแหล่งน้ำและระบบ กระจายน้ำเพื่อเพิ่มศักยภาพการเกษตรแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยขึ้น
ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 2 (จังหวัดชลบุรี) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ให้ความสำคัญต่อการดำเนินการแก้ไขปัญหาโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนกลาง ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญในการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย ที่จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงเลือกตรวจสอบการดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำเพื่อเพิ่มศักยภาพการเกษตรแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย เพื่อให้ทราบผลการดำเนินงาน ตลอดจนปัญหาอุปสรรค เพื่อนำไปสู่การเสนอแนะแนวทางที่มีประโยชน์ต่อการดำเนินงานในโครงการ จากการตรวจสอบพบประเด็นข้อตรวจพบดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 การดำเนินโครงการฯ บางส่วนไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ไม่เหมาะสมและมีการใช้ประโยชน์ไม่เต็มประสิทธิภาพ โดยพบว่า
1. การดำเนินงานบางส่วนไม่บรรลุวัตถุประสงค์ จากการตรวจสอบพบว่า โครงการชลประทานฉะเชิงเทราได้ขอยกเลิกการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า บ้านนาน้อย ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา วงเงินงบประมาณ 21,000,000 บาท
2. การดำเนินงานบางส่วนไม่เหมาะสม จากการสุ่มตรวจสอบสังเกตการณ์พื้นที่ดำเนินกิจกรรมย่อยขุดสระเก็บกักน้ำในเขตพื้นที่ 9 อำเภอ ของจังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 33 สระ พบว่า
2.1 พื้นที่ดำเนินการบางแห่งไม่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาตามแผนบูรณการฯ และยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัด
จากการตรวจสอบ พบว่า พื้นที่ดเนินการขุดสระเก็บกักน้ำบางแห่งไม่ได้ดำเนินการ เพื่อกิจกรรมทางการเกษตร ดังนี้
1) สระน้ำสาธารณะราชภัฏ ตำบลหัวไทร อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นการขุดลอกสระน้ำเดิมภายในมหาวิทยาลัยฯ จำนวน 2 สระ โดยไม่มีการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์เพื่อการเกษตร แต่ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคในช่วงหน้าแล้ง
2) สระน้ำสาธารณประโยชน์เดิม วัดพนมชัย หมู่ที่ 10 บ้านห้วยพลู ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นการขุดลอกสระน้ำเดิมภายในวัดพนมชัย เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ภายในวัดและปรับภูมิทัศน์บริเวณวัด อนาคตวางแผนจะใช้เป็นพื้นที่ให้คนมาปล่อยปลา
3) สระน้ำสาธารณประโยชน์เดิม ห้วยระกำ บ้านหนองบ่อ ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นการขุดลอกสระบ่อลูกรังเดิม โดยสระนี้ใช้ประโยชน์เพื่อผลิตน้ำประปาหมู่บ้านเป็นหลัก อาจจะมีพื้นที่ที่อยู่ติดกับสระสูบน้ำไปใช้ทางการเกษตรบ้างเล็กน้อย แต่พื้นที่ทางการเกษตรส่วนใหญ่ในพื้นที่นี้จะใช้น้ำจากเขตคลองชลประทานที่ส่งมาจากคลองสียัด
4) สระผลิตน้ำประปา อบต.แหลมประดู่ หมู่ 5 บ้านแหลมประดู่ ตำบลแหลมประดู่ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ใช้ประโยชน์เพื่อผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน
5) สระน้ำสาธารณประโยชน์เดิม หนองไผ่ตับจาก หมู่ 1 บ้านวัดดอนศาลเจ้า ตำบลแหลมประดู่ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ใช้ประโยชน์เพื่อผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน
2.2 ดำเนินการในพื้นที่ไม่เหมาะสม
จากการตรวจสอบพบว่า การขุดสระน้ำสาธารณประโยชน์เดิมบ้านเกาะกระทิง หมู่ 13 บ้านเกาะกระทิง ตำบลคลองตะเกรา อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา มีการคัดเลือกพื้นที่ดำเนินการอาจยังไม่เหมาะสม เนื่องจากตำแหน่งที่ขุดสระน้ำอยู่ในเขตอ่างเก็บน้ำสียัด ไม่มีสภาพของพื้นที่ที่ต้องการแก้ปัญหาภัยแล้งหรืออุทกภัย และบริเวณที่ติดกับด้านข้างของสระน้ำเป็นที่ตั้งของรีสอร์ทแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีสระน้ำที่ขุดไว้โดยองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่อีกหนึ่งแห่งที่อยู่ ใกล้กัน สถานที่ขุดสระน้ำดังกล่าวจึงไม่ได้เป็นพื้นที่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภคและหาน้ำเพื่อการเกษตร อีกทั้งสระดังกล่าวต้องใช้งบประมาณในการขุดสูง เพราะมีขนาดใหญ่ต้องขุดดินถึง 126,650 ลูกบาศก์เมตร ดินที่ขุดได้ต้องนำมาปรับถมอยู่ในเขตพื้นที่อ่างเก็บน้ำสียัดและอาจเป็นการถมดินในเขตน้ำท่วมถึงของอ่างเก็บน้ำ เรื่องนี้ได้แจ้งข้อสังเกตกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วตามหนังสือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 2 (จังหวัดชลบุรี) ที่ ตผ 0052 ชบ/389 ลงวันที่ 3 กันยายน 2561
3. พื้นที่ดำเนินการบางแห่งมีการใช้ประโยชน์ไม่เต็มประสิทธิภาพ
3.1 การเข้าถึงแหล่งน้ำเป็นไปได้ยาก
1) สระน้ำสาธารณประโยชน์ใหม่ บ้านหนองอ้อพรม หมู่ 6 บ้านหนองอ้อพรม ตำบล แปลงยาว อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นการขุดลอกและขยายความกว้างสระเดิม พื้นที่โดยรอบที่ติดกับสระที่ขุดเป็นพื้นที่รกร้าง ทางเข้ามีต้นไม้ขึ้นรก การเข้าถึงเป็นไปได้ยากมาก โดยทางเข้าออกในสระแห่งนี้จะเข้าออกโดยผ่านที่ดินแปลงของเอกชนซึ่งเป็นทางส่วนบุคคล และที่สาธารณะดังกล่าวทางด้านทิศเหนือและทิศใต้มีคูน้ำของราษฎรเชื่อมต่ออยู่ ราษฎรสามารถใช้ประโยชน์โดยใช้น้ำในที่สาธารณะได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าถึงแม้จะมีราษฎรบางส่วนสามารถใช้น้ำจากสระน้ำหนองอ้อพรมได้ แต่ก็เป็นเฉพาะรายที่มีที่ดินเชื่อมต่ออยู่เท่านั้น ไม่ใช่เป็นไปเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์จากสระน้ำดังกล่าวตามวัตถุประสงค์โครงการ
2) สระน้ำสาธารณประโยชน์เดิม บ้านไทรทอง 1,2 หมู่ 3 บ้านไทรทอง ตำบลหนองไม้แก่น อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา พบว่า การเข้าถึงแหล่งน้ำและนำน้ำไปใช้ประโยชน์เป็นไปได้ยาก เนื่องจากต้องผ่านที่ดินของผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 เข้าไป พื้นที่ด้านหน้าสระจะเป็นถนนทางหลวงชนบท และด้านข้างและหลังสระมีผู้ครอบครองอยู่ 2 ราย ใช้น้ำจากสระนี้ทำการเกษตร เมื่อมีการขุดขยายสระนี้ผู้รับจ้างได้นำดินที่ขุดมากองปิดด้านหน้าฝั่งที่ติดกับถนนทางหลวงชนบทและไม่ได้ทำทางเชื่อมไว้ให้ ซึ่งหากเกษตรกรรายอื่นๆ ต้องการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำนี้จะต้องนำรถวิ่งผ่านพื้นที่ของผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 เข้ามาสูบน้ำไปใช้ซึ่งไม่ใช่ทางสาธารณะ
3.2 ไม่มีป้ายแสดงว่าเป็นสระน้ำสาธารณประโยชน์
จากการตรวจสอบสังเกตการณ์พื้นที่ดำเนินการขุดสระทุกแห่ง ไม่มีการติดตั้งป้ายที่แสดงว่าเป็นสระน้ำสาธารณประโยชน์สำหรับประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ยกเว้นสระน้ำสาธารณประโยชน์เดิมที่มีป้ายเดิมอยู่แล้ว ซึ่งทำให้มีการใช้ประโยชน์ไม่เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากไม่มีผู้เข้ามาใช้ประโยชน์หรือมีเพียงเจ้าของที่ดินที่ติดกับสระได้ใช้ประโยชน์เท่านั้น โดยเฉพาะพื้นที่มีกรรมสิทธิ์แต่ยกให้เป็นที่สาธารณะประโยชน์ใช้ร่วมกัน
การดำเนินโครงการฯ บางส่วนไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ไม่เหมาะสมและมีการใช้ประโยชน์ไม่เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลกระทบ ดังนี้
1.สถานีสูบน้ำพร้อมท่อส่งน้ำเพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ตำบลเกาะขนุนไม่ได้ก่อสร้าง ทำให้ในฤดูแล้งไม่สามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ได้มากพอ ส่งผลให้ราษฎรไม่สามารถทำการเกษตรได้เพิ่มขึ้น
2.พื้นที่ที่ประสบปัญหาด้านแหล่งน้ำสำหรับทำการเกษตร หรือพื้นที่ที่ต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและมีมาตรฐานแต่ยังมีปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำ ทำให้ขาดโอกาสในการได้รับงบประมาณเพื่อดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ซึ่งมีความจำเป็นมากกว่าการไป ดำเนินการในพื้นที่อื่นที่ไม่ใช่เพื่อกิจกรรมทางการเกษตร ส่งผลให้ไม่สามารถเพิ่มศักยภาพทางการเกษตร เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรตามแนวทางการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนกลางด้านการเกษตรได้ 3. เกิดความไม่คุ้มค่าจากงบประมาณที่ใช้ในการขุดสระน้ำเพื่อใช้แก้ไขปัญหาโครงสร้างด้านการเกษตร เนื่องจากไม่มีการเข้าไปใช้ประโยชน์หรือมีการใช้ประโยชน์เฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนกลาง/ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. ในการจัดทำโครงการเพื่อเสนอขอรับการอนุมัติโครงการตามแผนปฏิบัติราชการกลุ่มจังหวัดไม่ว่าจะเป็นแผนฯ ปกติหรือแผนฯ เพิ่มเติมในโอกาสต่อไปทุกโครงการ/กิจกรรมจะต้องระบุพื้นที่ดำเนินการให้ชัดเจนว่าจะดำเนินการในพื้นที่ใด หมู่บ้าน ตำบลใด และหากมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ดำเนินการภายหลังได้รับการอนุมัติและจัดสรรงบประมาณแล้ว ให้หน่วยงานแจ้งเหตุผลความ จำเป็นเสนอขออนุมัติต่อคณะกรรมการบริหารงานกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการด้วย
2. ในการจัดทำโครงการหลัก และกิจกรรมย่อยภายใต้โครงการจะต้องมีความสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาและยุทธศาสตร์การพัฒนาของกลุ่มจังหวัด ทุกโครงการ/กิจกรรมจะต้องมีส่วนช่วยผลักดันให้บรรลุผลตามตัวชี้วัดของแนวทางฯ และยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ได้
ผู้อำนวยการโครงการชลประทานฉะเชิงเทรา พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1.ก่อนเสนอโครงการเพื่อขอรับงบประมาณให้มีการสำรวจสภาพพื้นที่จริง ความต้องการ ความพร้อมของพื้นที่ ตลอดจนปัญหาอุปสรรคที่ต้องเผชิญในช่วงระยะเวลาที่จะดำเนินการ เพื่อประเมินความสามารถที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดได้ และไม่เป็นการเสียโอกาสในการนำเงินงบประมาณแผ่นดินไปใช้อย่างคุ้มค่าต่อไป
2.ให้ควบคุมกำกับดูแลการปฏิบัติงานให้เป็นไปอย่างถูกต้องและรัดกุมในทุกขั้นตอนการปฏิบัติงาน ทั้งการจัดทำปริมาณงานราคากลาง ฯลฯ ควรให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ
3.การจัดทำรายละเอียดโครงการ/กิจกรรม ต้องมีความชัดเจนของพื้นที่ที่จะดำเนินการ เนื่องจากผ่านการสำรวจพื้นที่จริงมาแล้ว และต้องระบุรายละเอียดว่าจะดำเนินการอย่างไร ในพื้นที่ หมู่บ้าน ตำบลใด หากมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ดำเนินการภายหลังให้แจ้งเหตุผลความจำเป็นต่อคณะกรรมการบริหารงานกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการด้วย
4.การคัดเลือกพื้นที่ดำเนินการทุกแห่งต้องสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาและยุทธศาสตร์ การพัฒนาของกลุ่มจังหวัดในด้านนั้นๆ เพื่อให้บรรลุผลตามตัวชี้วัดของแนวทางฯ และยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ได้ นอกจากนี้ข้อมูลที่นำมาใช้ในการคัดเลือกพื้นที่ควรเป็นข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน มีการจัดลำดับความสำคัญของแต่ละพื้นที่จากระดับความรุนแรงแล้ว และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยส่วนใหญ่เพื่อให้เงินงบประมาณแผ่นดินถูกใช้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด
5.ให้มีการติดตั้งป้ายแสดงว่าเป็นสระน้ำสาธารณะประโยชน์เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์อย่างทั่วถึงต่อไป
ข้อตรวจพบที่ 2 การดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำฯ ไม่เป็นไปตามระเบียบฯ หลักเกณฑ์ และแนวทางที่กำหนด
จากการตรวจสอบการปฏิบัติตามขั้นตอนการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง การบริหารสัญญา และการควบคุมงานและตรวจรับงาน พบว่า ไม่เป็นไปตามระเบียบหลักเกณฑ์และแนวทางที่กำหนด สรุปได้ดังนี้
1. เครื่องจักรกลที่เช่ารถขุดไฮโดรลิคตีนตะขาบ ขนาด 0.9 ลบ.ม. พร้อมพนักงานขับรถ และอื่นๆ ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขสัญญากำหนด
จากการตรวจสอบเอกสารที่ผู้ให้เช่าเสนอ พบว่า ผู้ให้เช่าไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญา ดังนี้
1.1 ผู้ให้เช่าทั้ง 10 สัญญา ไม่ได้จัดให้มีประกันภัยเครื่องจักรกลที่ให้เช่าแบบประเภท ชั้นหนึ่งอย่างต่อเนื่องตลอดอายุสัญญาเช่า ตามที่ระบุในสัญญาข้อ 3 จากการตรวจสอบไม่พบเอกสารประกันภัยประเภทชั้นหนึ่ง พบเพียงเอกสาร (พ.ร.บ.) ที่ผู้ให้เช่าจัดทำประกันภัยเครื่องจักรกลตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เท่านั้น
1.2 ผู้ให้เช่าจำนวน 1 สัญญา ได้แก่ สัญญาเลขที่ จฉช.-ช.09/2560 ลงวันที่ 24 เมษายน 2560 จากการตรวจสอบไม่พบเอกสารสำเนาเล่มทะเบียนรถบรรทุกเทท้ายขนาด 6 ตัน (6 ล้อ) จำนวน 2 คัน และรถแทรกเตอร์ตีนตะขาบ จำนวน 1 คัน จึงทำให้ไม่ทราบว่าเครื่องจักรกลดังกล่าวที่นำมาให้เช่ามีอายุการใช้งานตามที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือไม่ พบเพียงเอกสารสำเนาป้ายภาษีเท่านั้น
1.3 ผู้ให้เช่าจำนวน 6 สัญญา เครื่องจักรกลบางรายการยังไม่ดำเนินการจดทะเบียนและเสียภาษีประจำปีเครื่องจักรกลตามกฎหมายให้แล้วเสร็จก่อนวันครบกำหนดส่งมอบเครื่องจักรกลที่เช่าตามสัญญาข้อที่ 4 จากการตรวจสอบไม่พบเอกสารหลักฐานว่าผู้ให้เช่าได้ดำเนินการจดทะเบียนและ เสียภาษีประจำปีเครื่องจักรกลตามรายการในตารางที่ 4 แล้วเสร็จก่อนวันครบกำหนดส่งมอบตามสัญญา
1.4 ผู้ให้เช่าจำนวน 8 สัญญา เครื่องจักรกลบางรายการที่นำมาให้เช่ามีอายุการใช้งานเกินกว่า 5 ปี จากการตรวจสอบเอกสารสำเนาเล่มทะเบียนเครื่องจักรกล พบว่า วันเดือนปีที่จดทะเบียนมากเกินกว่า 5 ปี บางคันอายุมากกว่า 20 ปี โดยเฉพาะรถบรรทุกเทท้ายฯ ซึ่งถือว่าผู้ให้เช่าไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามที่สัญญากำหนด และมีข้อสังเกตว่าสัญญาที่มีการขอเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรภายหลัง ยังพบเครื่องจักรกลที่อายุมากกว่า 5 ปี จำนวนมาก
2. เครื่องจักรที่เช่าซ้ำกัน
จากการตรวจสอบรายการเครื่องจักรที่ระบุไว้ในแต่ละสัญญา พบว่า เครื่องจักรที่นำมาให้เช่าซ้ำกับสัญญาอื่น (ทะเบียนเดียวกัน) และถึงแม้ว่าบางสัญญามีการขอเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรเข้าปฏิบัติงานแล้วก็ตาม แต่ยังพบว่าเครื่องจักรที่นำมาให้เช่ายังซ้ำกันอีก รายละเอียดดังนี้
2.1 เครื่องจักรที่เช่าซ้ำกันในสัญญาเดียวกัน
สัญญาเช่าเลขที่ จฉช.-ช.10/2560 ลงวันที่ 24 เมษายน 2560 ห้างหุ้นส่วนจำกัด ทองทิพย์ วิศวกรรม ให้เช่ารถขุดไฮดรอลิคตีนตะขาบขนาด 0.9 ลบ.ม. พร้อมพนักงานขับรถและอื่นๆ ดำเนินการขุดสระเก็บกักน้ำในเขตพื้นที่ อำเภอท่าตะเกียบ จากการตรวจสอบรายการเครื่องจักรที่ให้ เช่า (ยี่ห้อ รุ่น ทะเบียน) ที่ระบุในสัญญาและเอกสารสำเนาทะเบียนรถที่ผู้ให้เช่าเสนอ พบว่า รถบรรทุกเทท้าย ขนาด 6 ตัน (6 ล้อ) จากจำนวน 20 คัน ในสัญญาระบุยี่ห้อ รุ่นและทะเบียนเดียวกัน 1 คัน ได้แก่ ยี่ห้อ HINO รุ่น BX320 เลขทะเบียน 83-0570 จังหวัดบุรีรัมย์(คันลำดับที่ 3.6 และ 3.19 ในสัญญา) และเอกสารจดทะเบียนรถที่ผู้ให้เช่าเสนอยังได้แนบสำเนาทะเบียนรถคันเดียวกันดังกล่าว มา 2 สำเนา (แต่ลำดับต่างกัน) ประกอบกับจากการตรวจสอบรายงานควบคุมงานรายวันของผู้ควบคุมงานได้ระบุ การปฏิบัติงานรายวันและการขอเบิกน้ำมันเติมรถคันดังกล่าวซึ่งระบุยี่ห้อ รุ่น และทะเบียนซ้ำกัน (แต่ลำดับต่างกัน) ด้วย และจากการตรวจสอบไม่พบว่าสัญญานี้มีการขอเปลี่ยนแปลงเครื่องจักร เข้าปฏิบัติงานหรือมีการรายงานให้ทราบว่าได้นำเครื่องจักรอื่นเข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่ ฉะนั้น รถบรรทุกเทท้าย ขนาด 6 ตัน (6 ล้อ) ที่เช่าจึงต้องมีจำนวนเพียง 19 คันเท่านั้น ไม่ครบตามที่กำหนดใน สัญญา อีก 1คัน จึงไม่สามารถจ่ายค่าเช่าและเบิกน้ำมันเติมได้
2.2 เครื่องจักรที่เช่าซ้ำกันแต่ต่างสัญญาแต่มีการเบิกจ่ายทั้ง 2 สัญญา
จากการตรวจสอบรายการเครื่องจักรที่ให้เช่า (ยี่ห้อ รุ่น ทะเบียน) ที่ระบุในสัญญาและเอกสารขอเปลี่ยนเครื่องจักรเข้าปฏิบัติงานตามสัญญา และตรวจสอบเอกสารสำเนาทะเบียนรถที่ผู้ให้เช่าเสนอ พบว่า เครื่องจักรที่เช่าเป็นคันเดียวกันถึงแม้จะต่างสัญญาและดำเนินการต่างพื้นที่กัน รายละเอียดดังนี้
1) เครื่องจักรที่เช่าซ้ำกัน (ทะเบียนเดียวกัน) ทั้งที่ต่างสัญญา ต่างผู้ให้เช่าและต่างพื้นที่ดำเนินการ จำนวน 8 คัน
2) เครื่องจักรที่เช่าซ้ำกัน (ทะเบียนเดียวกัน) ต่างสัญญา ต่างพื้นที่ดำเนินการ แต่ผู้เช่ารายเดียวกัน จำนวน 11 คัน
3) การดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำฯ ไม่เป็นไปตามระเบียบฯ หลักเกณฑ์และแนวทางที่กำหนด
ผลกระทบ
1.เป็นการกีดกันผู้ให้เช่าหรือผู้เสนอราคารายอื่นที่ไม่สามารถจัดหาเครื่องจักรกลที่ใช้งานมาแล้วไม่เกิน 5 ปี ครบตามจำนวนที่กำหนดได้
2.การเช่าเครื่องจักร เมื่อระบุในสัญญาว่าจะเช่าเครื่องจักรยี่ห้อ รุ่น หมายเลขทะเบียนใด ผู้เช่าต้องได้รับเครื่องจักรนั้นมาปฏิบัติงาน ผู้ให้เช่าต้องมีและส่งมอบเครื่องจักรนั้นแก่ผู้ให้เช่าจริง และต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขและข้อกำหนดในสัญญา แต่จากการตรวจสอบพบว่าผู้ให้เช่าไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญา และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบไม่ควบคุมตรวจสอบและปฏิบัติให้ถูกต้อง ตรงตามข้อเท็จจริง แต่ได้รับมอบและตรวจรับเครื่องจักรอื่นที่ไม่ใช่เลขทะเบียนตามที่ระบุในสัญญาไว้ โดยไม่มีการรายงานให้หัวหน้าส่วนราชการทราบถึงรายละเอียดที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญา ถือว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด มีความเสี่ยงที่ทำให้ทางราชการได้รับความเสียหาย รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 6,344,226.9 บาท
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ดังนี้
1.1 กรณีการเช่าเครื่องจักรไม่เป็นตามเงื่อนไขสัญญา ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงหากพบว่ามีการดำเนินการเป็นไปในลักษณะกีดกันผู้ให้เช่าหรือผู้เสนอราคารายอื่น หรือเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนรายใดรายหนึ่ง หากปรากฏว่ามีความเสียหายเกิดขึ้น ให้พิจารณาโทษกับผู้ที่เกี่ยวข้องตามควรแก่กรณี
1.2 กรณีเครื่องจักรที่เช่าซ้ำกัน โดยผู้ให้เช่าคนละรายยื่นเอกสารทะเบียนรถที่นำมาให้เช่าฉบับเดียวกัน แสดงว่าเอกสารที่ผู้ให้เช่ายื่นต่อโครงการชลประทานฉะเชิงเทราเป็นเท็จและเครื่องจักรที่ผู้ให้เช่าส่งมอบและปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาและเอกสารขอเปลี่ยนแปลงเครื่องจักร แต่ผู้ที่มีหน้าที่ไม่มีการรายงานให้หัวหน้าส่วนราชการทราบถึงรายละเอียดที่ไม่เป็นไปตามสัญญา ดังนั้นจึงไม่สามารถเบิกจ่ายค่าเช่าเครื่องจักรและเบิกจ่ายน้ำมันเครื่องจักรคันที่ซ้ำกันได้เป็นจำนวนเงิน 6,344,226.9 บาท ให้ดำเนินการหาผู้รับผิดทางละเมิดชดใช้ค่าเสียหายแก่ทางราชการต่อไปและให้พิจารณาโทษกับผู้เกี่ยวข้องตามควรแก่กรณี
2. สั่งกำชับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องเป็นไปตามระเบียบแบบแผนที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด และต้องใช้ความรอบคอบอย่างระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ
ข้อสังเกต 1 การควบคุมน้ำมันเพื่อใช้ในการดำเนินโครงการไม่ถูกต้องรัดกุม
จากการตรวจสอบเอกสารพบการจัดทำเอกสารการควบคุมน้ำมัน ไม่ถูกต้องตรงกัน ได้แก่ การจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำวันไม่ตรงกับรายงานน้ำมันประจำวัน และหรือไม่ตรงกับแผน/ ผลการใช้จ่ายน้ำมัน จำนวน 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอท่าตะเกียบ อำเภอบางคล้า อำเภอราชสาส์น อำเภอแปลงยาว อำเภอพนมสารคาม และอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา โดยอำเภอที่มีการจัดทำเอกสารการควบคุมน้ำมันไม่ถูกต้องตรงกันมากที่สุด ได้แก่ อำเภอท่าตะเกียบโดยมีการจัดทำข้อมูลไม่ถูกต้อง ตรงกัน สูงถึง 130 วัน หรือคิดเป็นร้อยละ 99.24 ของจำนวนวันทำงานทั้งหมด รองลงมาได้แก่ อำเภอบางคล้า อำเภอราชสานต์ มีการจัดทำข้อมูลไม่ถูกต้องตรงกัน จำนวน 18 วัน และ 12 วัน หรือคิด เป็นร้อยละ 36 และ 15.79 ของจำนวนวันทำงานทั้งหมด ตามลำดับ
หากพิจารณาการขุดสระตามโครงการของอำเภอท่าตะเกียบ ซึ่งเป็นอำเภอที่มีการจัดทำข้อมูลไม่ถูกต้องตรงกันสูงสุด หรือเกือบทุกวันที่มีการทำงาน โดยมีเพียง 1 วันที่มีข้อมูลตรงกัน นอกจากนี้ยังพบในสมุดควบคุมการเบิกจ่ายน้ำมันของผู้ควบคุมงานบางแห่งไม่มีการลงลายมือชื่อร่วมกับตัวแทนผู้ให้เช่า ได้แก่ การขุดสระน้ำที่อำเภอพนมสารคามและสนามชัยเขต
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีปริมาณน้ำมันเพื่อใช้ในการขุดสระตามโครงการฯ จากเอกสารรายงานผลการปฏิบัติงานประจำวันต่ำกว่าที่เบิกจ่ายจริงจำนวน 66,380 ลิตร โดยใช้ราคาน้ำมัน ณ วันที่จัดซื้อมาคำนวณความเสียหาย หากพบความเสียหายให้ดำเนินการหาผู้รับผิดทางละเมิดชดใช้ค่าเสียหายแก่ทางราชการต่อไปและให้พิจารณาโทษกับผู้เกี่ยวข้องตามควรแก่กรณี
2. สั่งกำชับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องตามระเบียบแบบแผนที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด และต้องใช้ความรอบคอบอย่างระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อมิให้ เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ
ข้อสังเกต 2 การดำเนินโครงการไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการควบคุมมูลดินหรือกำหนดที่ทิ้งดินที่ขุดไว้ให้ชัดเจน
จากการตรวจสอบพบว่า โครงการชลประทานฉะเชิงเทรา มีการกำหนดแบบแปลนในการขุดสระ ขุดลอก แต่ไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการควบคุมมูลดินหรือกำหนดที่ทิ้งดินที่ขุดไว้ให้ชัดเจน หรือไม่มีแนวทางการบริหารจัดการวัสดุที่ได้จากการขุดสระ ขุดลอก ซึ่งทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการไม่กำหนดแนวทางดังกล่าวหรือมีการดำเนินการไม่รัดกุม เช่น มีการนำมูลดินที่ขุดได้ ไปถมเป็นคันบ่อเลี้ยงกุ้งของราษฎรบางรายที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ซึ่งเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวทำให้ราชการเสียหาย ดินที่ขุดได้นำมาปรับถมอยู่ในเขตพื้นที่อ่างเก็บน้ำสียัดและอาจเป็นการถมดินในเขตน้ำท่วมถึงของอ่างเก็บน้ำ อาจจะเป็นภาระด้านงบประมาณค่าใช้จ่ายที่จะต้องขุดลอกดินในอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นอีก เป็นต้น
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1.เพื่อประโยชน์ของทางราชการในการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับการขุดสระหรือขุดลอกในครั้งต่อไป ควรมีการกำหนดเกี่ยวกับการควบคุมมูลดินหรือกำหนดที่ทิ้งดินที่ขุดได้ หรือกำหนดแนวทางการบริหารจัดการวัสดุที่ได้จากการขุดดินหรือขุดลอก
2.กรณีการขอนำดินไปใช้ประโยชน์ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ เช่น ถมทีสาธารณประโยชน์ ถมที่สาธารณกุศล หรือมีการนำดินไปใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างของทางราชการ โดยมีการทำเป็นหนังสือขอความอนุเคราะห์นำดินไปใช้ประโยชน์เป็นลายลักษณ์อักษรจากนายอำเภอ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และโครงการชลประทานฉะเชิงเทราต้องมีการควบคุมดินให้เป็นไปตามจำนวนที่ร้องขอ
ข้อสังเกต 3 การขุดสระในเขตปฏิรูปที่ดินหรือที่ดินสาธารณะโดยไม่มีการขออนุญาตอย่างถูกต้องก่อนการดำเนินการ
จากการตรวจสอบ พบว่า การขุดสระของโครงการชลประทานฉะเชิงเทราในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งมีการขุดสระน้ำในพื้นที่ตำบลหนองไม้แก่น อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ 1) สระน้ำสาธารณประโยชน์เดิม บ้านไทรทอง 2) ฝายบ้านห้าแยก 3) สระน้ำประปาบ้านห้าแยก 4) สระน้ำสาธารณประโยชน์ใหม่ หนองน้ำขาว โดยโครงการชลประทานฉะเชิงเทราไม่มีการขออนุญาตการใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินก่อนการขุดสระ โดยได้ขุดสระในพื้นที่อำเภอแปลงยาว ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2560–31 กรกฎาคม 2560 แต่มีการขอความอนุเคราะห์จาก ส.ป.ก. ฉะเชิงเทรา รับรองว่าเป็นที่ในเขตของ ส.ป.ก.ฉะเชิงเทรา และสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2560 ซึ่ง ส.ป.ก. ฉะเชิงเทรา ได้แจ้งตามหนังสือที่ ฉช 0011/1138 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2560 ว่าพื้นที่ดำเนินโครงการอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน 4 แห่ง ซึ่งหากพื้นที่ดำเนินการอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน โครงการชลประทานฉะเชิงเทราต้องดำเนินการขออนุญาตใช้ที่ดินตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยการมอบหมายให้เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พิจารณาอนุญาตการใช้ที่ดินเพื่อกิจการสาธารณูปโภคและกิจการอื่นๆ ในเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2536 พร้อมจัดส่งเอกสารหลักฐานประกอบการขออนุญาตเพื่อ ส.ป.ก. ฉะเชิงเทรา จักได้พิจารณาดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ ห้ามดำเนินการขนย้ายที่ดินออกจากแปลงที่ดินจนกว่าจะได้รับอนุญาตจาก ส.ป.ก. ซึ่ง ปัจจุบัน (เดือนมิถุนายน 2561) อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการของ ส.ป.ก.
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. ในโอกาสต่อไปหากมีการขุดสระในเขตปฏิรูปที่ดิน ให้โครงการชลประทานฉะเชิงเทรา ดำเนินการขออนุญาตการใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยการมอบหมายให้เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พิจารณาอนุญาตการใช้ที่ดินเพื่อกิจการสาธารณูปโภคและกิจการอื่นๆ ในเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2536 ให้แล้วเสร็จก่อนการขุดสระ
2. ให้ดำเนินการว่ากล่าวตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ กรณีการขุดสระในเขตปฏิรูปที่ดินโดยไม่มีการขออนุญาตก่อนการดำเนินการ และกำชับให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
----
ในสัปดาห์หน้า สำนักข่าวอิศราจะนำเสนอผลการตรวจสอบที่สำคัญของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเรื่องใด โปรดติดตาม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
เปิดกรุผลสอบสตง.(1) ชำแหละงบพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกาญฯ ไม่คุ้มค่า ห้องอาบน้ำแร่ถูกทิ้งร้าง
เปิดกรุผลสอบสตง.(2) ตรวจงบยกระดับหมู่บ้านโคราช ใช้ภาพเดียวเบิกเงิน 6 โครงการรวด
เปิดกรุผลสอบสตง.(3) ตรวจการผลิต-ใช้พลังงานทดแทน ‘กรมการพลังงานทหาร’ ล้มเหลวไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(4) ตรวจนโยบายร.ร.ดีใกล้บ้าน ยกระดับการศึกษาล้ม-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(5) ตรวจโครงการพัฒนาลำเชียงไกรโคราช ไม่เสร็จตามแผน-ซื้อของเกินจำเป็น
เปิดกรุผลสอบสตง.(6) ตรวจโครงการพัฒนาพืช-พลังงาน จ.ขอนแก่น 113ล. ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(7) ตรวจโครงการพลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้า-ประปาจ.กาญจนฯ ล้มเหลว-เบิกจ่ายเท็จ
เปิดกรุผลสอบสตง.(8) ตรวจโครงการควมคุมอาคารเขตเทศบาลนคร/เมือง ไม่ปลอดภัย-ผิดกม.อื้อ
เปิดกรุผลสอบสตง.(9) ตรวจการควบคุมเคมีทางเกษตร พบสารต้องห้าม-ร้านขายไม่ปลอดภัย-ผิดกม.
เปิดกรุผลสอบสตง.(10) ตรวจโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติด อปท.ลำปาง ไม่คุ้มงบ-ผิดวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(11) ตรวจโครงการสินค้าเกษตร 4.0 สุพรรณฯ ไม่พร้อมดำเนินการ-ไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(12) ตรวจโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว ขาดความต่อเนื่อง-ไม่ยั่งยืน
เปิดกรุผลสอบสตง.(13) ตรวจศูนย์อาชีพผู้สูงอายุ ไม่เป็นตามวัตถุประสงค์-จัดซื้อไม่คุ้มค่า
เปิดกรุผลสอบสตง.(14) ตรวจโครงการแพทย์ฉุกเฉิน อบจ.มหาสารคาม มอบรถพยาบาลช้า-ใช้ผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(15) ตรวจสหกรณ์จ.สุราษฎร์ฯ-ชุมพร ตั้งโรงงานยางพารา แต่ไม่เดินสายพานผลิต
เปิดกรุผลสอบสตง.(16) ตรวจการเก็บค่าภาคหลวงแร่ กรมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ฯ ไม่เป็นตามกฎหมาย
เปิดกรุผลสอบสตง.(17) ตรวจโครงการนาขั้นบันไดจ.น่าน ไม่ตรงเป้าหมาย-เบิกจ่ายเท็จ/ผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(18) ตรวจศูนย์เด็กเล็ก อปท.นครศรีธรรมราช ไร้ประสิทธิภาพ-ไม่ปลอดภัย
เปิดกรุผลสอบสตง.(19) ตรวจสำนักงาน กศน. อุดรธานี ไร้ประสิทธิภาพ-จบช้า/น้อย-พบนศ.ผี
เปิดกรุผลสอบสตง.(20) ตรวจโครงการเกษตรอินทรีย์กาญจนฯ ไม่บรรลุประสงค์-จัดซื้อผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(21) ตรวจโครงการความปลอดภัยทางทะเลพัทยา ระบบ/อุปกรณ์ไม่ตรงตาม TOR
เปิดกรุผลสอบสตง.(22) ตรวจการกำจัดขยะ อปท. นครสวรรค์/พิจิตร ไม่ได้มาตรฐาน-ไม่ตามโรดแม็พ