เปิดกรุผลสอบสตง.(2) ตรวจงบยกระดับหมู่บ้านโคราช ใช้ภาพเดียวเบิกเงิน 6 โครงการรวด
“...เอกสารประกอบการเบิกจ่ายเงินโครงการของที่ทำการ ปกครองอำเภอบัวใหญ่ จำนวน 6 โครงการ ใช้ภาพถ่ายเดียวกันประกอบการเบิกจ่ายเงินของโครงการ โดยมีคณะกรรมการตรวจรับงานแต่ละหมู่บ้านลงชื่อรับรองภาพถ่ายก่อนทำ ระหว่างทำ และงานแล้วเสร็จ ซึ่งไม่สามารถทราบได้ว่าภาพถ่ายที่นำมาประกอบการเบิกจ่ายเงินนั้นเป็นภาพถ่ายการดำเนินการจริงของหมู่บ้านใด ซึ่งภาพถ่ายถือเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงเห็นว่ามีการดำเนินการแล้วเสร็จจริง ก่อนที่จะอนุมัติเบิกจ่ายเงินต่อไป จำนวน 6 โครงการ เป็นเงินรวม 1,500,000 บาท…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานตรวจสอบสำคัญของไทย มีหน้าที่ในการป้องกันดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ที่ถูกใช้จ่ายไปอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ที่ผ่านมา สตง.ได้มีการเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบเรื่องการใช้จ่ายเงินที่สำคัญไว้หลายเรื่อง สำนักข่าวอิศรา จึงขอเปิดพื้นที่ตรงนี้ ทุกวันเสาร์ รวบรวมข้อมูลผลการตรวจสอบที่สำคัญมานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบ
ในสัปดาห์ที่ 2 จะเป็นการนำเสนอผลการตรวจสอบเกี่ยวกับโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านตามแนวทางประชารัฐ ปี 2560 จังหวัดนครราชสีมา
@ โครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้าน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ตามแนวทางประชารัฐ ประจำปีงบประมาณ 2560 ที่ทำการปกครองจังหวัดนครราชสีมา กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
จังหวัดนครราชสีมา ได้ดำเนินโครงการช่วยเหลือประชาชนตามโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ ประจำปีงบประมาณ 2560 โดยให้หมู่บ้านเป็นผู้ดำเนินการเอง ด้วยการคิดค้นปัญหาผ่านกระบวนการประชาคมแล้วเสนอแผนงาน/โครงการ ให้คณะกรรมการบริหารงานอำเภอ (กบอ.) พิจารณาอนุมัติแล้วจัดส่งแบบจัดทำแผนการปฏิบัติงานและการใช้จ่ายงบประมาณโครงการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และกองจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่ 9 สำนักงบประมาณให้ความเห็นชอบ ซึ่งจังหวัดนครราชสีมาได้จัดทำแผนการปฏิบัติงานและการใช้จ่ายงบประมาณโครงการ เสนอสำนักงบประมาณเห็นชอบทั้งหมด จำนวน 32 อำเภอ 287 ตำบล 3,739 หมู่บ้าน รวมทั้งสิ้น 4,026 โครงการ เป็นเงินงบประมาณ 934.60 ล้านบาท
จากผลการตรวจสอบ มีประเด็นข้อตรวจพบ จำนวน 2 ประเด็น และข้อสังเกตจากการตรวจสอบ จำนวน 2ข้อ ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 การดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
1. คณะกรรมการบริหารงานอำเภอ (กบอ.) และหน่วยงานทหารในพื้นที่ไม่ได้กลั่นกรอง อนุมัติโครงการ และค่าใช้จ่ายให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และอัตราค่าใช้จ่ายของทางราชการ ซึ่งโครงการที่หมู่บ้านเสนออนุมัติ ไม่มีการจัดทำแบบฟอร์มการคำนวณราคางานก่อสร้าง (แบบ ปร.4 ปร.5) จำนวน 30 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 15.63 ของโครงการที่สุ่มตรวจสอบ
2. หน่วยงานสนับสนุนในพื้นที่ เช่น เทศบาลตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล ไม่ได้จัดทำแบบแปลนของโครงการให้กับหมู่บ้านประกอบการพิจารณาขอรับจัดสรรงบประมาณ จำนวน 99 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 51.56 ของโครงการที่สุ่มตรวจสอบ
3. ขั้นตอนและกระบวนการดำเนินงาน พบว่า การนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายเพื่อนำส่ง ให้สำนักงานสรรพากรพื้นที่ ของโครงการทั้งหมด 229 โครงการ ไม่มีหลักฐานการนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย จำนวน 94 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 41.05 ของโครงการทั้งหมด
4. หลักเกณฑ์และแนวทางการจัดทำโครงการ พบว่า
4.1 จากการตรวจสอบเอกสารโครงการ จำนวน 192 โครงการ และสุ่มตรวจสอบการขออนุญาตเจาะน้ำบาดาลและใช้น้ำบาดาลของอำเภอปากช่อง และอำเภอวังน้ำเขียว จำนวน 23 โครงการ รวมตรวจสอบทั้งสิ้น จำนวน 215 โครงการ พบว่า ไม่มีการขออนุญาตใช้พื้นที่ และไม่มีการขออนุญาตเจาะน้ำบาดาลหรือใช้น้ำบาดาล จำนวน 163 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 75.81 ของโครงการที่ตรวจสอบ
4.2 โครงการส่วนใหญ่ดำเนินการจ้างเหมา จำนวน 157 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 81.77 ของโครงการที่สุ่มตรวจสอบ มีโครงการที่ใช้แรงงานภายในหมู่บ้านเพียง ร้อยละ 18.23 ของโครงการที่สุ่มตรวจสอบ
4.3 หมู่บ้านเสนอโครงการฝึกอบรมส่งเสริมอาชีพ ซึ่งไม่มีโครงการใดเป็นโครงการที่ต่อยอดตามมาตรการที่ 4 จำนวน 6 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 3.13 ของโครงการที่สุ่มตรวจสอบ
4.4 โครงการ/กิจกรรมที่ห้ามดำเนินการ
4.4.1 เป็นโครงการส่งเสริมอาชีพ จำนวน 6 โครงการ งบประมาณ 1,100,000 บาท จำแนกเป็นโครงการจัดซื้อวัสดุแจกจ่าย ตามคู่มือดำเนินงาน ข้อ 3.8 (3) จำนวน 2 โครงการ งบประมาณจำนวน 100,000 บาท และโครงการอบรมฝึกอาชีพและศึกษาดูงานนอกสถานที่ ตามคู่มือดำเนินงาน ข้อ 3.8 (5) จำนวน 4 โครงการ งบประมาณจำนวน 1,000,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 2.08 ของโครงการที่สุ่มตรวจสอบ
4.4.2 โครงการดำเนินการในพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าเป็นพื้นที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานใดระหว่างที่ดินในเขตการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกับเขตอุทยานแห่งชาติ ในเขตอำเภอวังน้ำเขียว
4.4.3 โครงการที่หมู่บ้านเสนอและได้รับอนุมัติไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมหรือต่อเติมจากสิ่งก่อสร้างเดิมซึ่งมีอยู่แล้ว แต่เป็นการก่อสร้างใหม่ จึงเป็นการใช้ชื่อโครงการเพื่อหลีกเลี่ยงหลักเกณฑ์โครงการที่ห้ามดำเนินการ ดังนั้น กิจกรรมของโครงการจึงไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและไม่เป็นไปตามความหมายตามมติคณะรัฐมนตรี ได้แก่ชื่อโครงการระบุเป็นการปรับปรุง ซ่อมแซมอาคารอเนกประสงค์ แต่ข้อเท็จจริงเป็นการก่อสร้างโครงหลังคาเหล็กบนถนนคอนกรีตภายในหมู่บ้าน จำนวน 15 โครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 3,623,000 บาท
4.4.4 โครงการที่หมู่บ้านดำเนินการมีการจัดซื้อครุภัณฑ์ประกอบโครงการ แต่ไม่มีการจัดทำแผนการใช้งาน หรือการบำรุงรักษา หรือจัดทำทะเบียนครุภัณฑ์ตามแบบ คปช. 24 จำนวน 17 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 8.85 ของโครงการที่สุ่มตรวจสอบ
4.5 หลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติในการเบิกจ่ายเงิน พบว่า
4.5.1 นำเงินค่าปรับและดอกเบี้ยรับส่งคืนจังหวัดไม่ครบถ้วน ได้แก่ อำเภอบัวใหญ่และอำเภอคง จำนวนเงิน 6,249.41 บาท เนื่องจากเกิดความผิดพลาดในการรับและส่งเงินระหว่างจังหวัดและอำเภอ หมู่บ้านไม่ได้มีการปิดบัญชีเงินฝากธนาคารตามคู่มือการดำเนินงาน ซึ่งได้มีการนำส่งคืนจังหวัดภายหลังจากที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจพบแล้ว
4.5.2 ที่ทำการปกครองอำเภอแต่ละอำเภอ นำเงินเหลือจ่ายส่งคืนจังหวัด มีการปฏิบัติที่แตกต่างกัน เนื่องจากคู่มือการดำเนินงานโครงการกับหนังสือสั่งการกระทรวงการคลัง ที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการเบิกจ่ายเงินสำหรับโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ ประจำปีงบประมาณ 2560 ไม่เป็นไปในทิศทาง เดียวกัน ทำให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบปฏิบัติไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี
4.5.3 ที่ทำการปกครองอำเภอ จำนวน 8 อำเภอ จัดเก็บสำเนาเอกสารโครงการ ของแต่ละหมู่บ้านไว้เพื่อตรวจสอบไม่ครบถ้วน เช่น ไม่มีใบสำคัญรับเงิน/ใบเสร็จรับเงิน ไม่มีภาพถ่าย ประกอบการเบิกจ่าย มีเอกสารตามแบบ คปช. ต่างๆ ไม่ครบถ้วน ไม่มีเอกสารการชำระภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย
นอกจากนี้ ยังพบว่า เอกสารประกอบการเบิกจ่ายเงินโครงการของที่ทำการ ปกครองอำเภอบัวใหญ่ จำนวน 6 โครงการ ใช้ภาพถ่ายเดียวกันประกอบการเบิกจ่ายเงินของโครงการ โดยมีคณะกรรมการตรวจรับงานแต่ละหมู่บ้านลงชื่อรับรองภาพถ่ายก่อนทำ ระหว่างทำ และงานแล้วเสร็จ ซึ่งไม่สามารถทราบได้ว่าภาพถ่ายที่นำมาประกอบการเบิกจ่ายเงินนั้นเป็นภาพถ่ายการดำเนินการจริงของหมู่บ้านใด ซึ่งภาพถ่ายถือเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงเห็นว่ามีการดำเนินการแล้วเสร็จจริง ก่อนที่จะอนุมัติเบิกจ่ายเงินต่อไป จำนวน 6 โครงการ เป็นเงินรวม 1,500,000 บาท
4.6 การติดตามประเมินผล ข้อ 6 จากรายงานผลการนำเงินเหลือจ่ายส่งคืนของ กลุ่มงานปกครอง มียอดเงินเหลือจ่ายส่งคืน จำนวน 986,753.00 บาท แต่รายงานผลการนำเงินเหลือ จ่ายส่งคืนโดยกลุ่มงานการเงินและบัญชี มีจ านวน 979,250.20 บาท แตกต่างกัน จำนวน 7,502.80 บาท (986,753-979,250.20) เนื่องจากขาดการประสานงานและตรวจสอบข้อมูล ระหว่างกลุ่มงานการเงินและบัญชีกับกลุ่มงานปกครอง จึงทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงกลุ่มงานการเงินและบัญชี ได้ทำการตรวจสอบ พบว่า ยอดที่แตกต่าง จำนวน 7,502.80 บาท (986,753- 979,250.20) ที่ทำการปกครองอำเภอนำส่งเงินเหลือจ่ายไม่ถูกต้องตรงกับรายงานผลการเบิกจ่ายใน ระบบ มีทั้งการนำเงินส่งคืนเกินและการนำเงินส่งคืนไม่ครบถ้วน
ข้อตรวจพบที่ 2 การดำเนินโครงการไม่บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์
ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ พบว่า หมู่บ้านยังไม่สามารถดำเนินงานโครงการให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการได้ ดังนี้
1. การขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม จากการตรวจสอบ พบว่า โครงการที่ได้รับอนุมัติส่วนใหญ่จะเป็น โครงการลักษณะงานก่อสร้าง งานซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้าง มีจำนวน 113 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 58.85 ของโครงการที่สุ่มตรวจสอบ โดยโครงการดังกล่าวไม่ได้มาจากการขยายผลโครงการอันเนื่องมาจาก พระราชด าริตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม
2. การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและสร้างงานสร้างรายได้ เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ประชาชนส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานราก จากการสุ่มตรวจสอบ โครงการ จ านวน 192 โครงการ งบประมาณที่ได้รับ จำนวน 44,750,000.00 บาท พบว่า การดำเนินโครงการเป็นประเภทงานจ้างเหมา งบประมาณที่ได้รับ จำนวน 36,750,000 บาท 157 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 82.12 ของงบประมาณโครงการที่สุ่มตรวจสอบ และเป็นประเภทงานดำเนินการเอง งบประมาณที่ได้รับจำนวน 8,000,000 บาท 35 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 17.88 ของงบประมาณโครงการที่สุ่มตรวจสอบ ซึ่งหากจำแนกเป็นโครงการประเภทจ้างแรงงาน จำนวน 621 โครงการ ใช้งบประมาณเพียง 37.16 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.98 ของงบประมาณที่ได้รับ จะเห็นได้ว่า โครงการประเภทจ้างแรงงานมีเพียงร้อยละ 3.98 ของงบประมาณที่ได้รับ ดังนั้นการดำเนิน โครงการดังกล่าว จึงไม่สามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในชุมชน หรือทำให้เกิดการ กระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานรากได้
3. จากการตรวจสอบสังเกตการณ์ จำนวน 35 โครงการ หมู่บ้านไม่มีการจัดทำทะเบียนคุมทรัพย์สินของหมู่บ้านว่าประกอบด้วยโครงการใดบ้าง จำนวน 13 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 37.14 ของโครงการที่สุ่มตรวจสอบ
ข้อสังเกตที่ 1 การก่อสร้างไม่เป็นไปตามแบบรูปรายการ
จากการสุ่มตรวจสอบสังเกตการณ์โครงการ จำนวน 35 โครงการ ไม่เป็นไปตามแบบรูปรายการ จำนวน 3 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 8.57 ของโครงการที่สุ่มตรวจสอบมูลค่าความเสียหาย จำนวน 27,997.65 บาท สรุปผลได้ดังนี้
1. โครงการต่อเติมอาคารอเนกประสงค์บ้านงิ้วใหม่ หมู่ 1 ตำบลกุดจอก อำเภอบัวใหญ่ จังหวัด นครราชสีมา ไม่มีการติดตั้งหน้าต่างอลูมิเนียมชนิดบานเลื่อนซ้ายขวา คิดมูลค่าความเสียหายเป็นเงิน 7,600 บาท
2. โครงการปรับปรุงศาลาประชาคมหมู่บ้านบ้านอัมพวันพัฒนา หมู่ 9 ตำบลสีสุก อำเภอ แก้งสนามนาง จังหวัดนครราชสีมา ไม่ติดตั้งเหล็กตะแกรงตาข่าย 1 ช่องและติดตั้งตะแกรงตาข่าย ไม่เป็นตามแบบทุกช่อง คิดมูลค่าความเสียหาย เป็นเงิน 12,907.92 บาท
3. โครงการปรับปรุงศาลาประชาคมหมู่บ้านบ้านโสกสนวน หมู่ 7ตำบลสีสุก อำเภอแก้งสนามนาง จังหวัดนครราชสีมา ไม่ติดตั้งเหล็กค้ำยันแนวตั้งของเหล็กตะแกรงตาข่ายทุกช่อง คิดมูลค่าความเสียหาย เป็นเงิน 7,489.73 บาท
ข้อสังเกตที่ 2 การจดภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ครบถ้วน
จากผลการดำเนินงานโครงการ ส่วนใหญ่เป็นการจ้างเหมา แสดงให้เห็นว่า การดำเนินโครงการไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของโครงการตามนโยบายของรัฐที่จะเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ผ่านกลไกลหมู่บ้าน เพื่อส่งเสริมการกระจายรายได้ให้ทั่วถึง โดยเน้นการพัฒนาด้านสังคม และคุณภาพชีวิตควบคู่กับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ แต่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งในบางพื้นที่ผู้ประกอบการรายเดียวกันเป็นคู่สัญญากับหมู่บ้านในหลายพื้นที่
เนื่องจากคู่มือการดำเนินงานไม่ได้กำหนดในเรื่องคุณสมบัติของผู้มีอาชีพรับจ้าง เป็นการเปิดกว้างให้ บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลทุกสาขาอาชีพเข้ามาเสนองานได้ จึงทำให้มีผู้รับจ้างรายใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก บางรายรับงานของหมู่บ้านหลายแห่ง เมื่อรวมเงินได้ในรอบปีภาษีแล้วเกินกว่า 1.8 ล้านบาท ซึ่งจะต้องจดทะเบียนเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องเสียภาษีเงินได้ และจะต้องนำส่งภาษี ณ ที่จ่าย ให้กับกรมสรรพากรตามประมวลรัษฎากร จำนวน 17 อำเภอ รวมผู้มีเงินได้ที่จะต้องจดทะเบียน ภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 36 ราย
ข้อเสนอแนะ
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 4 พิจารณาแล้วเห็นว่า ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นครราชสีมา ดำเนินการดังนี้
1. ในโอกาสต่อไป หากต้องดำเนินโครงการในลักษณะเดียวกัน ให้ดำเนินการ ดังนี้
1.1 ให้พิจารณาทบทวนการอนุมัติโครงการลักษณะดังกล่าวข้างต้นด้วยความระมัดระวังในความครบถ้วนของเอกสารการขอรับจัดสรรงบประมาณ การใช้จ่ายเงินต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถตรวจสอบได้ มีความ โปร่งใส และมีความคุ้มค่า
1.2 ควรให้ที่ทำการปกครองอำเภอ ได้มีการควบคุมและตรวจสอบหลักฐานการหัก ภาษี ณ ที่จ่ายของโครงการกับสรรพากรพื้นที่สาขา และให้ความรู้กับคณะกรรมการหมู่บ้านถึงภาระหน้าที่การหักภาษี ณ ที่จ่าย และบทกำหนดโทษตามประมวลรัษฎากร
1.3 ควรให้คณะกรรมการหมู่บ้านตระหนักถึงภาระหน้าที่ในการเป็นตัวแทนของ ส่วนราชการในการทำหน้าที่รับและจ่ายเงินงบประมาณ ให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความในการใช้จ่ายเงิน และการนำเงินเหลือจ่ายส่งคืน
1.4ควรให้ที่ทำการปกครองจังหวัด (กลุ่มงานปกครอง) ประสานงานกับที่ทำการ ปกครองจังหวัด (กลุ่มงานการเงินและบัญชี) เพื่อให้ทราบจำนวนเงินเหลือจ่าย ค่าปรับ ดอกเบี้ยรับ ของแต่ละอำเภอ
1.5 ควรกำชับเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับการแต่งตั้งให้รับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินโครงการ ศึกษากฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง และคู่มือการดำเนินงาน
2. สั่งการให้หมู่บ้านตรวจสอบทรัพย์สินของหมู่บ้าน เพื่อจัดทำทะเบียนทรัพย์สินของหมู่บ้านทุกประเภทไว้ให้ครบถ้วน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการขอรับจัดสรรงบประมาณ
3. สั่งการให้สำนักงานสรรพากรพื้นที่นครราชสีมา ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการหักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ของหมู่บ้านในเขตอำเภอแก้งสนามนาง เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงใน การดำเนินงานโครงการด้วยความสุจริต เป็นไปตามคู่มือการดำเนินงาน หากทางราชการได้รับความเสียหายให้พิจารณาดำเนินการทางละเมิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องกรณีไม่ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ พระราชบัญญัติกฎหมาย และระเบียบที่กำหนด และสั่งการให้ตรวจสอบติดตามผู้ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการที่มีมูลค่ารายได้เกินฐานภาษีต้องเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งการติดอากรแสตมป์ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ แห่งประมวลรัษฎากรโดยเคร่งครัด
4. แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ในเรื่องดังต่อไปนี้
4.1 กรณีคณะกรรมการบริหารงานระดับอำเภอ (กบอ.) และหน่วยงานทหารในพื้นที่ พิจารณาอนุมัติโครงการที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดทำโครงการตามคู่มือการ ดำเนินงานโครงการ (โครงการส่งเสริมอาชีพ) จำนวน 6 โครงการ รวมงบประมาณ จำนวน 1,100,000 บาท
4.2 กรณีหมู่บ้านใช้หลักฐานภาพถ่ายเดียวกันมาเป็นหลักฐานการเบิกจ่ายเงินของ โครงการ รวมงบประมาณ 1,500,000 บาท
4.3 กรณีคณะกรรมการหมู่บ้านของโครงการ ดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามแบบรูป รายการ ทำให้ราชการได้รับความเสียหาย
5. ติดตามประเมินผลการปฏิบัติงาน โดยให้ผู้รับผิดชอบโครงการจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงาน เพื่อให้ทราบถึงสภาพปัญหาอุปสรรคในการดำเนินโครงการ และให้คำแนะนำหรือช่วยเหลือแก้ไขปัญหาอุปสรรคได้ทันกาล เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับทางราชการ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
----
ในสัปดาห์หน้า สำนักข่าวอิศราจะนำเสนอผลการตรวจสอบที่สำคัญของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเรื่องใด โปรดติดตาม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
เปิดกรุผลสอบสตง.(1) ชำแหละงบพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกาญฯ ไม่คุ้มค่า ห้องอาบน้ำแร่ถูกทิ้งร้าง