เปิดกรุผลสอบสตง.(10) ตรวจโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติด อปท.ลำปาง ไม่คุ้มงบ-ผิดวัตถุประสงค์
“…CCTV ไม่ได้ใช้เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด พบว่า จุดติดตั้ง CCTV ส่วนใหญ่ ติดตั้งบริเวณริมถนนและจุดตัดทางแยกถนน จำนวน 68 ตัว คิดเป็นร้อยละ 70.83 ติดตั้งริมถนนหน้าสถานที่สำคัญ คือ วัด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สำนักงาน อปท. จำนวน 18 ตัว คิดเป็นร้อยละ 18.75 ติดตั้งบริเวณริมถนนในแหล่งชุมชน เช่น ด้านหน้า-ด้านหลังตลาดชุมชน ร้านค้า จำนวน 5 ตัว คิดเป็น ร้อยละ 5.21 และติดตั้งภายในสถานที่สำนักงาน อบต. หัวเมือง จำนวน 5 ตัว คิดเป็นร้อยละ 5.21 จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการ ของ อปท. ทั้ง 9 แห่ง สรุปได้ว่าการติดตั้ง CCTV มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในงานป้องกันอุบัติเหตุจราจรรักษาความปลอดภัย และต้องการใช้ภาพเป็นหลักฐานประกอบคดีเกี่ยวกับความผิดทางจราจร หรือคดีลักทรัพย์ ไม่ได้ใช้เพื่อยับยั้งเหตุโดยทันที หรือนำข้อมูลมาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานตรวจสอบสำคัญของไทย มีหน้าที่ในการป้องกันดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ที่ถูกใช้จ่ายไปอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ที่ผ่านมา สตง.ได้มีการเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบเรื่องการใช้จ่ายเงินที่สำคัญไว้หลายเรื่อง สำนักข่าวอิศรา จึงขอเปิดพื้นที่ตรงนี้ ทุกวันเสาร์ รวบรวมข้อมูลผลการตรวจสอบที่สำคัญมานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบ
ในสัปดาห์ที่ 10 จะเป็นการนำเสนอผลรายงานการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดลำปาง กระทรวงมหาดไทย
@ รายงานการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดลำปาง กระทรวงมหาดไทย
โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2555 เพื่อตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาล ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 154/2554 เรื่อง ยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด ลงวันที่ 9 กันยายน 2554 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อยุติ สถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงและความสงบสุขของประชาชนและสังคมให้ได้อย่างรวดเร็ว ต่อเนื่อง และยั่งยืน
ในปีงบประมาณ 2559 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ภายในจังหวัดลำปางได้รับจัดสรร งบประมาณจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด กิจกรรม ติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) จำนวน อปท. 9 แห่ง จำนวน CCTV ทั้งสิ้น 96 ตัว จำนวนเงินเบิกจ่าย 7,792,147 บาท และกิจกรรมก่อสร้างลานกีฬา/สนามกีฬา จำนวน อปท. 6 แห่ง จำนวนเงินเบิกจ่าย 12,492,501.79 บาท รวมจำนวนเงินเบิกจ่ายทั้งสิ้น 20,284,648.79 บาท
จากการตรวจสอบการดำเนินงานของ อปท. ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณดังกล่าวข้างต้น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โดยสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 9 (จังหวัดลำปาง) พบประเด็นข้อตรวจพบ 3 ประเด็น และข้อสังเกต 2 ประเด็น สรุปได้ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 กิจกรรมติดตั้ง CCTV ไม่มีแผนการสำรวจตรวจสอบสภาพการใช้งาน พบว่า
1. อทป. ไม่มีการจัดทำแผนการสำรวจตรวจสอบสภาพการใช้งานหรือรายงานเหตุการณ์ประจำวันแจ้งสภาพการใช้งาน CCTV จำนวน 7 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 77.78 สำหรับ อปท. ที่มีการจัดทำแผนการสำรวจตรวจสอบสภาพการใช้งานหรือรายงานเหตุการณ์ประจำวันแจ้งสภาพการใช้งาน CCTV มีจำนวน 2 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 22.22 ณ วันตรวจสอบ พบว่า อปท. จำนวน 6 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 66.67 ของจำนวน อปท. ที่ตรวจสอบทั้งหมด มี CCTV บางตัวชำรุด ไม่สามารถ ใช้งานได้ เป็นจ านวนรวมทั้งสิ้น 17 ตัว คิดเป็นร้อยละ 17.71 ของจำนวนกล้องทั้งหมด
2. CCTV ไม่ได้ใช้เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด พบว่า อปท. จำนวน 6 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 66.67 ติดตั้ง CCTV ในหมู่บ้าน/ชุมชน ที่ไม่มีปัญหายาเสพติด โดย อปท. อีก 3 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 33.33 ติดตั้งในหมู่บ้าน/ชุมชนทั้งที่มีและไม่มีปัญหายาเสพติด สำหรับจุดติดตั้ง CCTV ส่วนใหญ่ ติดตั้งบริเวณริมถนนและจุดตัดทางแยกถนน จำนวน 68 ตัว คิดเป็นร้อยละ 70.83 ติดตั้งริมถนนหน้าสถานที่สำคัญ คือ วัด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สำนักงาน อปท. จำนวน 18 ตัว คิดเป็นร้อยละ 18.75 ติดตั้งบริเวณริมถนนในแหล่งชุมชน เช่น ด้านหน้า-ด้านหลังตลาดชุมชน ร้านค้า จำนวน 5 ตัว คิดเป็น ร้อยละ 5.21 และติดตั้งภายในสถานที่สำนักงาน อบต. หัวเมือง จำนวน 5 ตัว คิดเป็นร้อยละ 5.21 จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการ ของ อปท. ทั้ง 9 แห่ง สรุปได้ว่าการติดตั้ง CCTV มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในงานป้องกันอุบัติเหตุจราจรรักษาความปลอดภัย และต้องการใช้ภาพเป็นหลักฐานประกอบคดีเกี่ยวกับความผิดทางจราจร หรือคดีลักทรัพย์ ไม่ได้ใช้เพื่อยับยั้งเหตุโดยทันที หรือนำข้อมูลมาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด
3. อปท. ติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมและจอแสดงภาพจาก CCTV ไว้ในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานควบคุมดูแล
ผลกระทบ
1. ประชาชนสูญเสียโอกาสจากการใช้ CCTV ที่ชำรุดแล้วไม่มีการแก้ไข หรือแก้ไขล่าช้า ประมาณการค่าเสียโอกาสเป็นจำนวนเงินประมาณ 1,442,959.99 บาท
2. เป็นการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการใช้งาน CCTV ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่อย่างคุ้มค่า หากช่วงเวลาที่กล้องชำรุดเกิดเหตุการณ์สำคัญ และอาจส่งผลต่อการเชื่อมโยงการใช้ประโยชน์จาก CCTV ในระดับจังหวัดและระดับประเทศในอนาคต
3. การติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมและจอแสดงภาพจาก CCTV ไว้นอกพื้นที่สำนักงาน อปท. โดยไม่มีผู้ควบคุมดูแล นอกจากจะไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของโครงการแล้ว ยังอาจทำให้จอแสดงภาพ และอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงข้อมูลภาพเหตุการณ์สำคัญจากเครื่องบันทึกภาพได้รับความเสียหาย หรือสูญหายได้
ข้อเสนอแนะ ให้ท้องถิ่นจังหวัดลำปาง พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. สั่งการให้ อปท. ที่มี CCTV อยู่ในความครอบครอง ดำเนินการ ดังนี้
1.1 แต่งตั้งเจ้าหน้าที่หรือกลุ่มงานผู้รับผิดชอบในการควบคุม ดูแล บำรุงรักษาให้ระบบ CCTV รวมถึงอุปกรณ์ประกอบต่างๆ อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา และหากพบว่าชำรุดเสียหาย ให้เร่งดำเนินการซ่อมแซมแก้ไขโดยทันที
1.2 จัดทำแผนการสำรวจตรวจสอบสภาพการใช้งานของ CCTV โดยกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการควบคุม ดูแลบำรุงรักษา รวมถึงแนวทางการปฏิบัติหากพบว่า CCTV หรืออุปกรณ์ประกอบ ชำรุดเสียหาย และกำหนดระยะเวลาให้มีการดำเนินการเป็นประจำต่อเนื่อง ทั้งนี้แนวทางการปฏิบัติงานต้อง กำหนดให้ชัดเจนและสามารถปฏิบัติได้จริง
1.3 กรณีที่ อปท. ติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมและจอแสดงภาพจาก CCTV ไว้นอกพื้นที่สำนักงาน หรือที่ติดตั้งในห้องทำงาน หรือห้องว่าง ซึ่งไม่มีผู้รับผิดชอบควบคุมดูแล ให้พิจารณาย้ายจุดติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมและจอแสดงภาพจาก CCTV ให้อยู่ในพื้นที่สำนักงาน อบต. หรือเทศบาล
2. กรณี อปท. ติดตั้ง CCTV ในพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน ที่ไม่มีปัญหายาเสพติด จุดติดตั้งกล้องเพื่อการป้องกันอุบัติเหตุจราจร การป้องกันและรักษาความปลอดภัย มิได้นำมาใช้เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยตรง เป็นการใช้งบประมาณผิดวัตถุประสงค์ ให้ประสานกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อหาแนวทางแก้ไขให้เกิดการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์โครงการ
3.กรณี อบต.หัวเมือง ติดตั้ง CCTV จำนวน 5 ตัว จำนวนเงินเบิกจ่าย 40,400 บาท ภายในอาคารสำนักงาน ซึ่งเป็นส่วนราชการเป็นการใช้งบประมาณผิดวัตถุประสงค์ รวมถึงโครงการดังกล่าวมิใช่โครงการขนาดใหญ่ที่เกินศักยภาพของ อบต.หัวเมือง และมิใช่กิจกรรม ภาพรวมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง หาผู้รับผิดทางละเมิด ชดใช้เงินจำนวน 40,400 บาท ส่งคืนเงินเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป
4. สั่งกำชับให้ อปท.ทุกแห่ง ให้ความสำคัญต่อการใช้ประโยชน์จาก CCTV โดยให้ถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 หมวด 13 อย่างเคร่งครัด
5. สั่งกำชับให้ อปท. ทุกแห่ง ให้พิจารณาถึงความสำคัญต่อจุดติดตั้ง CCTV โดยนำข้อมูลพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน ที่มีปัญหายาเสพติด จากแหล่งข้อมูลต่างๆ มาร่วมพิจารณาดำเนินการและใช้ประโยชน์จาก CCTV ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์โครงการ
ข้อตรวจพบที่ 2 กิจกรรมก่อสร้างลานกีฬา/สนามกีฬาใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า
จากการตรวจสอบ สังเกตการณ์ และสัมภาษณ์ประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ ลานกีฬา/สนามกีฬา และอุปกรณ์กีฬาของ อปท. จำนวน 6 แห่ง จำนวนเงินเบิกจ่ายรวม 12,492,501.79 บาท แบ่งเป็นสนามฟุตซอล 4 แห่ง สนามฟุตบอลแบบปูหญ้า 1 แห่ง และลานกีฬาอเนกประสงค์พื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก 1 แห่ง
ผลการตรวจสอบพบว่า การใช้ประโยชน์จาก ลานกีฬา/สนามกีฬาและอุปกรณ์กีฬาไม่คุ้มค่า จำนวน 5 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 83.33 และสามารถ ใช้ประโยชน์ได้คุ้มค่า จำนวน 1 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 16.67 คือ สนามฟุตซอลของ ทต.วังเหนือ เนื่องจากก่อสร้างสนามฟุตซอลให้โรงเรียนวังเหนือวิทยาใช้เพื่อการเรียนการสอนและจัดการแข่งขันกีฬาฟุตซอลของนักเรียนเป็นหลัก
ผลกระทบ
1. งบประมาณในการก่อสร้างลานกีฬา/สนามกีฬา ทั้ง 6 แห่ง ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดได้อย่างคุ้มค่า กล่าวคือ ลานกีฬา/สนามกีฬา ส่วนใหญ่ จำนวน 5 แห่ง ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างสม่ำเสมอและบางแห่งก่อสร้างเพื่อรองรับภารกิจด้านการส่งเสริมกีฬาของ อปท. ซึ่งอาจซ้ำซ้อนกับงบประมาณของ อปท.
2. โครงการไม่บรรลุวัตถุประสงค์เนื่องจากประชาชนไม่เกิดการเล่นกีฬา/ออกกำลังกาย อย่าง สม่ำเสมอเพื่อเสริมสุขภาพและพลานามัยที่ดี และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์เพื่อหลีกเลี่ยง การหมกมุ่นมั่วสุมกับอบายมุขและยาเสพติด
ข้อเสนอแนะ ให้ท้องถิ่นจังหวัดลำปาง พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. สั่งกำชับให้ อปท.ทุกแห่ง ดำเนินการดังนี้
1.1 ให้ความสำคัญต่อการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความตระหนัก ในความสำคัญของการเล่นกีฬา ออกกำลังกาย อย่างเป็นประจำและต่อเนื่อง
1.2 ให้อปท. นำข้อมูลลานกีฬา/สนามกีฬาที่มีอยู่ในพื้นที่ มาร่วมพิจารณาดำเนินการให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่าง
2. กรณี อบต.ร่องเคาะ ที่มีการจัดซื้ออุปกรณ์กีฬาต่างๆ ให้จัดทำทะเบียนคุมบริหารจัดการ และประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนสามารถยืมไปใช้เล่นกีฬาได้อย่างสะดวก เพื่อให้อุปกรณ์กีฬาต่างๆ ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า
ข้อตรวจพบที่ 3 อปท. กำหนดวัตถุประสงค์โครงการไม่สอดคล้องกับการป้องกันและแก้ไขปัญหา ยาเสพติด และไม่กำหนดตัวชี้วัดผลสำเร็จของโครงการ
องค์ประกอบสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จของโครงการ คือ การกำหนดวัตถุประสงค์ที่สอดคล้องกับปัญหาที่ต้องการแก้ไขตามที่มาของโครงการ และการกำหนดตัวชี้วัดผลสำเร็จของโครงการ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ควบคุมการดำเนินงานและติดตามประเมินผลเพื่อให้ทราบว่า กิจกรรมนั้นบรรลุวัตถุประสงค์ตามแผนและเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ อย่างไร
จากการตรวจสอบ พบว่า อปท. ทั้ง 14 แห่ง จัดทำรายละเอียดโครงการโดยกำหนดวัตถุประสงค์ไม่สอดคล้องกับการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด และไม่มีการกำหนดตัวชี้วัดผลสำเร็จของโครงการ รวมถึงไม่มีการติดตามประเมินผลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกิจกรรมติดตั้ง CCTV อปท. ทั้ง 9 แห่ง จัดทำโครงการตามแบบคำเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณ งบเงินอุดหนุนเฉพาะกิจโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด ที่ มท 0810.3/ว 2123 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 เรื่อง การขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อ ดำเนินโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด กิจกรรมติดตั้ง CCTV ประจำปีงบประมาณ 2559 โดย อปท. ส่วนใหญ่กำหนดวัตถุประสงค์เพื่อการรักษาความปลอดภัยและเพื่องานจราจรเป็นหลัก และไม่มีการกำหนดตัวชี้วัดผลสำเร็จของโครงการ
สำหรับกิจกรรมก่อสร้างลานกีฬา/สนามกีฬา อปท. ทั้ง 6 แห่ง จัดทำโครงการตามแบบคำเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณ งบเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหา ยาเสพติด ตามหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด ที่ มท 0810.3/ว 2149 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2557 เรื่อง การขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด กิจกรรมก่อสร้างลานกีฬา/สนามกีฬา ประจำปีงบประมาณ 2559 โดย อปท. ส่วนใหญ่กำหนดวัตถุประสงค์ไว้สูงเกินกว่าจะทำให้สำเร็จได้ด้วยกิจกรรมก่อสร้างลานกีฬา/สนามกีฬา เนื่องจากต้องมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมด้านอื่นร่วมด้วย และไม่มีการกำหนดตัวชี้วัดผลสำเร็จของโครงการ
ผลกระทบ
1. โครงการไม่ประสบผลสำเร็จตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาลงบประมาณแผ่นดินถูกใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพตามรายงานข้อตรวจพบดังกล่าวข้างต้น กล่าวคือ ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จาก CCTV ผิดวัตถุประสงค์ ไม่เป็นไปเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด แต่เป็นไปเพื่อใช้ประโยชน์ทางด้านงานป้องกันอุบัติเหตุจราจร งานรักษาความปลอดภัย ลานกีฬา/ สนามกีฬา ใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า เยาวชนและประชาชนในพื้นที่ไม่เกิดการเล่นกีฬา/ออกกำลังกาย
2. การไม่กำหนดตัวชี้วัดผลสำเร็จของโครงการ ทำให้ขาดการติดตามประเมินผลโครงการหรือทำให้การประเมินผลโครงการไม่สามารถทำได้เนื่องจากขาดหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบผลสำเร็จของโครงการ
ข้อเสนอแนะ ให้ท้องถิ่นจังหวัดลำปาง พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. สั่งกำชับให้ อปท.ทุกแห่ง ก่อนเสนอขอรับโครงการให้จัดทำรายละเอียดโครงการตามหลักเกณฑ์ที่ดี
2. สั่งกำชับให้เจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตรวจสอบและกลั่นกรองโครงการโดยใช้ความระมัดระวัง รอบคอบ พิจารณาการกำหนดวัตถุประสงค์โครงการต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์รัฐบาล หรือตรงตามวัตถุประสงค์ของงบอุดหนุนเฉพาะ
3. ติดตามประเมินผลโครงการ เพื่อให้ทราบว่าโครงการประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ และมีปัญหาอุปสรรค เพื่อนมาปรับปรุง แก้ไข ได้ทันเวลา
ข้อสังเกตที่ 1 กิจกรรมติดตั้ง CCTV ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างไม่รัดกุม และไม่เป็นไปอย่างประหยัด
1. ทต.เกาะคา และ ทต.บ่อแฮ้ว กำหนดราคากลางสูงกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนด ส่งผลให้ราชการเสียหายจากการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างมีมูลค่าสูงกว่าราคากลางที่ควรจะเป็น เป็นจำนวนเงิน 44,377 บาท
2. ทต.เกาะคา จัดซื้อ Soflware Management โปรแกรมควบคุมและจัดการระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด เกินความจำเป็น ซึ่ง ทต.เกาะคา ได้นำเงินส่งคืนเป็นรายได้แผ่นดินแล้ว จำนวนเงิน 39,000 บาท พร้อมภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 2,730 บาท รวมเป็นจำนวนเงิน 41,730 บาท ตามใบเสร็จรับเงินเทศบาลตำบลเกาะคา เล่มที่ 502 เลขที่ 33 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2560 นอกจากนี้ ยังพบว่าผลรวมจำนวนเงินค่าวัสดุ ครุภัณฑ์ตามใบเสนอราคาของผู้รับจ้างไม่ถูกต้องส่งผลให้ ทต.เกาะคา จัดทำสัญญาจ้างและเบิกจ่ายสูงกว่าที่ควรจะเป็น เป็นจำนวนเงิน 26,750 บาท ทั้งนี้ ทต.เกาะคา ได้นำเงินส่งคืนเป็นรายได้แผ่นดินแล้ว จำนวนเงิน 26,750 บาท ตามใบเสร็จ เล่มที่ 534 เลขที่ 013 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2560
3. ทต.บ่อแฮ้ว จัดซื้อรายการแผงจ่ายไฟฟ้าแบบป้องกันการลัดวงจรในราคาสูง ไม่เหมาะสมกับรายการที่ได้รับจากผู้ขาย โดยผู้ขายเสนอราคาและส่งมอบรายการแผงจ่ายไฟฟ้า แบบป้องกันการลัดวงจร ตามเอกสารแนบท้ายสัญญา เป็นปลั๊กไฟฟ้า ยี่ห้อ SYNDOME รุ่น PS-30 จำนวน 3 ชุดๆ ละ 3,800 บาท รวมจำนวนเงิน 11,400 บาท จากการสืบราคาทางอินเตอร์เน็ต และร้านค้า พบว่า ทต.บ่อแฮ้ว จัดซื้อสูงกว่าราคาที่ควรจะเป็น
4. อบต.บ้านโป่ง จัดซื้อ CCTV จำนวนทั้งสิ้น 8 ตัว โดยทำการติดตั้ง กล้องจำนวน 4 จุด จุดละ 2 ตัวบนเสาไฟฟ้าต้นเดียวกัน และติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ตู้เก็บอุปกรณ์ ภายนอก เครื่องสำรองไฟ อุปกรณ์กระจายสัญญาณ เป็นต้น แยกออกจากกัน ซึ่งข้อเท็จจริงควรใช้ร่วมกันเป็นการจัดซื้อโดยไม่ประหยัด
กรณีตามข้อ 1-4 ดังกล่าวข้างต้นเกิดจากเจ้าหน้าที่พัสดุและหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุปฏิบัติหน้าที่ในการจัดหาพัสดุโดยขาดความรอบคอบ เป็นเหตุทำให้ราชการเสียหาย
ข้อเสนอแนะ ให้ท้องถิ่นจังหวัดลำปาง พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. กรณีข้อ 1 ทต.เกาะคา และทต.บ่อแฮ้ว กำหนดราคากลางสูงกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดส่งผลให้ราชการเสียหายจากการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างมีมูลค่าสูงกว่าราคากลางที่ควรจะเป็น เป็นจำนวนเงิน 44,377 บาท ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาผู้รับผิดชดใช้ทางละเมิด และนำส่งคืนเงินเป็นรายได้แผ่นดิน จำนวน 44,377 บาท และพิจารณาโทษตามควรแก่กรณีกับเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
2. กรณีข้อ 3 และข้อ 4 ทต.บ่อแฮ้ว จัดซื้อรายการแผงจ่ายไฟฟ้าแบบป้องกันการลัดวงจร ในราคาสูง ไม่เหมาะสมกับรายการที่ได้รับจากผู้ขาย เป็นจำนวนเงิน 11,400 บาท และ อบต.บ้านโป่ง ติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ตู้เก็บอุปกรณ์ภายนอก เครื่องสำรองไฟ อุปกรณ์กระจายสัญญาณ เป็นต้น ซึ่งข้อเท็จจริงควรใช้ร่วมกันเพียงชุดเดียว ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง หากพบว่าทำให้ราชการเสียหายให้หาผู้รับผิดทางละเมิดชดใช้ค่าเสียหาย และพิจารณาโทษตามควรแก่กรณีกับเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
3. สั่งกำชับหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ เจ้าหน้าที่พัสดุ และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังรอบคอบ เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ หนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง อย่างเคร่งครัด มิให้เกิดข้อบกพร่องเช่นเดียวกันนี้อีก
ข้อสังเกตที่ 2 กิจกรรมก่อสร้างลานกีฬา/สนามกีฬา ไม่ขออนุญาตใช้พื้นที่ตามกฎหมาย
อปท. ดำเนินการก่อสร้างลานกีฬา/สนามกีฬา โดยไม่ขออนุญาตใช้พื้นที่ตามกฎหมาย จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ทต.ต้นธงชัย ก่อสร้างสนามกีฬาฟุตซอล มูลค่าตามสัญญา 2,448,000 บาท ในพื้นที่ว่างข้างวัดจำบอน หมู่ที่ 10 ต.ต้นธงชัย อ.เมือง จ.ลำปาง โดยไม่มีเอกสารหลักฐานแสดงสิทธิในพื้นที่ ให้ตรวจสอบ และ ทต.พระบาทวังตวง ก่อสร้างสนามฟุตบอลแบบปูหญ้า รวมมูลค่าตามสัญญา 2,301,076.11 บาท ในพื้นที่ว่างบริเวณศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านแม่ตั๋ง หมู่ที่ 3 ต.พระบาทวังตวง อ.แม่พริก จ.ลำปาง โดยไม่มีเอกสารหลักฐานแสดงสิทธิในพื้นที่ให้ตรวจสอบ ทั้งนี้ ทต.พระบาทวังตวง ได้จัดทำหนังสือถึงสำนักงานที่ดินจังหวัดลำปาง สาขาแม่พริก เพื่อขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) ตามหนังสือสำนักงานเทศบาลตำบลพระบาทวังตวง ที่ ลป 55303/630 ลงวันที่ 8 กันยายน 2559 และสำนักงานที่ดินจังหวัดลำปาง สาขาแม่พริก มีหนังสือ ที่ ลป 0020.04/2687 ลงวันที่ 23 กันยายน 2559 แจ้งผลการตรวจสอบตำแหน่งที่ดิน ซึ่งปรากฏว่าอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่วะ ต่อมาเทศบาลฯ จัดทำหนังสือ ที่ ลป 55301/669 ลงวันที่ 21 กันยายน 2559 ถึงสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปาง เพื่อรายงานโครงการที่ได้เข้
าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาต เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในการพิจารณาผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2523 ซึ่งเพียงวันที่ 18 ธันวาคม 2560 ยังไม่ได้รับการแจ้งผลจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปาง
การดำเนินการของ ทต.ต้นธงชัย และ ทต.พระบาทวังตวง ดังกล่าวข้างต้น เป็นการดำเนินการก่อสร้างโดยไม่มีการตรวจสอบความพร้อมด้านสถานที่ก่อนดำเนินโครงการอาจส่งผลให้ทางราชการเสียหาย หากก่อสร้างในพื้นที่ที่ขัดต่อกฎหมายที่ดิน หรือป่าไม้ แล้วสิ่งก่อสร้างตาม โครงการต้องถูกรื้อถอน
ข้อเสนอแนะ ให้ท้องถิ่นจังหวัดลำปาง พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. เร่งรัดติดตามให้ ทต.ต้นธงชัย และ ทต.พระบาทวังตวง ตรวจสอบพื้นที่ดำเนินการว่า อยู่ในคว ามรับผิดชอบของหน่วยงานใดและขออนุญ าตใช้พื้นที่ให้เป็นไปตามกฎหม าย ที่กำหนด ทั้งนี้หากพบว่าไม่สามารถดำเนินการขออนุญาตใช้พื้นที่ได้เนื่องจากกฎหมายมิได้กำหนดไว้ ส่งผลให้มีการรื้อถอนลานกีฬา/สนามกีฬาที่ได้ก่อสร้างไปแล้ว และทำให้ทางราชการเสียหาย ให้พิจารณาลงโทษตามควรแก่กรณีกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกระดับชั้น และหาผู้รับผิดชดใช้ทางละเมิด
2. สั่งกำชับ อปท. ทุกแห่ง ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังรอบครอบ เป็นไปตามกฎหมายระเบียบ และหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ดังนี้
2.1 การใช้จ่ายเงินอุดหนุนเฉพาะกิจต้องดำเนินการตามรายการที่ระบุไว้เป็นการเฉพาะ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการตามแหล่งที่มาของเงินอุดหนุนเฉพาะกิจนั้นๆ
2.2 ก่อนการเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณโครงการ เงินอุดหนุนเฉพาะกิจ (งบลงทุน) ที่มีลักษณะเป็นสิ่งก่อสร้าง ต้องดำเนินการด้านสถานที่ก่อสร้างให้มีความพร้อม และถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ต้องมีเอกสารหลักฐานแสดงสิทธิในที่ดิน หรือ หนังสืออนุญาตให้ใช้ที่ดิน ประกอบการขอรับการสนับสนุนงบประมาณทุกครั้ง
----
ในสัปดาห์หน้า สำนักข่าวอิศราจะนำเสนอผลการตรวจสอบที่สำคัญของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเรื่องใด โปรดติดตาม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
เปิดกรุผลสอบสตง.(1) ชำแหละงบพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกาญฯ ไม่คุ้มค่า ห้องอาบน้ำแร่ถูกทิ้งร้าง
เปิดกรุผลสอบสตง.(2) ตรวจงบยกระดับหมู่บ้านโคราช ใช้ภาพเดียวเบิกเงิน 6 โครงการรวด
เปิดกรุผลสอบสตง.(3) ตรวจการผลิต-ใช้พลังงานทดแทน ‘กรมการพลังงานทหาร’ ล้มเหลวไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(4) ตรวจนโยบายร.ร.ดีใกล้บ้าน ยกระดับการศึกษาล้ม-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(5) ตรวจโครงการพัฒนาลำเชียงไกรโคราช ไม่เสร็จตามแผน-ซื้อของเกินจำเป็น
เปิดกรุผลสอบสตง.(6) ตรวจโครงการพัฒนาพืช-พลังงาน จ.ขอนแก่น 113ล. ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(7) ตรวจโครงการพลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้า-ประปาจ.กาญจนฯ ล้มเหลว-เบิกจ่ายเท็จ
เปิดกรุผลสอบสตง.(8) ตรวจโครงการควมคุมอาคารเขตเทศบาลนคร/เมือง ไม่ปลอดภัย-ผิดกม.อื้อ
เปิดกรุผลสอบสตง.(9) ตรวจการควบคุมเคมีทางเกษตร พบสารต้องห้าม-ร้านขายไม่ปลอดภัย-ผิดกม.