เปิดกรุผลสอบสตง.(26) ตรวจโครงการเกษตรผสมผสานอีสานล่าง 2 ผิดวัตถุประสงค์-ไม่มีประสิทธิภาพ
"...เกษตรกรเข้าร่วมโครงการต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนด จากการตรวจสอบพบว่า มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 6,843 ราย ต่ำกว่าเป้าหมาย 1,157 ราย และจากการสุ่มตรวจสอบ เกษตรกร จำนวน 320 ราย พบว่า มีเกษตรกรขาดคุณสมบัติที่สำคัญซึ่งส่งผลต่อความสำเร็จของโครงการ ได้แก่ เกษตรกรมีพื้นที่เข้าร่วมโครงการน้อยกว่า 5 ไร่ จำนวน 8 ราย เกษตรกรมีแรงงานในครัวเรือนน้อยกว่า 2 คน จำนวน 59 ราย และเกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำการเกษตรแล้ว จำนวน 45 ราย..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานตรวจสอบสำคัญของไทย มีหน้าที่ในการป้องกันดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ที่ถูกใช้จ่ายไปอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ที่ผ่านมา สตง.ได้มีการเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบเรื่องการใช้จ่ายเงินที่สำคัญไว้หลายเรื่อง สำนักข่าวอิศรา จึงขอเปิดพื้นที่ตรงนี้ ทุกวันเสาร์ รวบรวมข้อมูลผลการตรวจสอบที่สำคัญมานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบ
ในสัปดาห์ที่ 26 จะเป็นการนำเสนอผลการตรวจสอบเกี่ยวกับโครงการบริหารจัดการเกษตรแบบผสมผสาน กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 กระทรวงมหาดไทย
@ โครงการบริหารจัดการเกษตรแบบผสมผสาน กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 กระทรวงมหาดไทย
โครงการบริหารจัดการเกษตรแบบผสมผสาน มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เกษตรกรจากเกษตรเชิงเดี่ยวมาเป็นเกษตรผสมผสาน ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้สร้างความยั่งยืนให้กับครัวเรือน ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 จำนวน 271.8 ล้านบาท กำหนดเป้าหมายเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 8,000 ราย กิจกรรมโครงการประกอบด้วย 7 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมประชาสัมพันธ์ คัดเลือกเกษตรกรที่ความต้องการเข้าร่วมโครงการ ฝึกอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ ศึกษาดูงาน การปรับปรุงพื้นที่และสร้างแหล่งน้ำของเกษตรกร (ขุดสระน้ำ) สนับสนุนปัจจัยการผลิต (พืช สัตว์ ประมง) และบริหารจัดการและประเมินผลโครงการ ด้วยกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการมีจำนวนมาก การดำเนินงานมีกิจกรรมหลากหลายและส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในพื้นที่จำนวนมาก สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจึงได้เลือกตรวจสอบโครงการบริหารจัดการเกษตรแบบผสมผสานเพื่อทราบผลการดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์มากน้อยเพียงใด รวมถึงเพื่อทราบปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัด ผลกระทบของการดำเนินงาน สาเหตุและแนวทางการปรับปรุงแก้ไขปัญหา อย่างยั่งยืนต่อไป
จากการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการ พบว่า มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 6,843 ราย การใช้จ่ายงบประมาณไปทั้งสิ้น 182.08 ล้านบาท มีประเด็นข้อตรวจพบ 1 ประเด็น โดยมี รายละเอียด ดังนี้
ข้อตรวจพบ การดำเนินงานโครงการบริหารจัดการเกษตรแบบผสมผสานไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และไม่มีประสิทธิภาพ
การดำเนินงานโครงการไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และไม่มีประสิทธิภาพ ดังนี้
1. เกษตรกรเข้าร่วมโครงการต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนด จากการตรวจสอบพบว่า มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 6,843 ราย ต่ำกว่าเป้าหมาย 1,157 ราย และจากการสุ่มตรวจสอบ เกษตรกร จำนวน 320 ราย พบว่า มีเกษตรกรขาดคุณสมบัติที่สำคัญซึ่งส่งผลต่อความสำเร็จของโครงการ ได้แก่ เกษตรกรมีพื้นที่เข้าร่วมโครงการน้อยกว่า 5 ไร่ จำนวน 8 ราย เกษตรกรมีแรงงานในครัวเรือนน้อยกว่า 2 คน จำนวน 59 ราย และเกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำการเกษตรแล้ว จำนวน 45 ราย
2. การดำเนินงานแต่ละกิจกรรมล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ทุกกิจกรรม โดยเฉพาะการดำเนินงานกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ กิจกรรมการขุดสระน้ำให้กับเกษตรกร และสนับสนุนปัจจัยการผลิต (พืช สัตว์ ประมง) ดำเนินการล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้สูงสุดมากกว่า 243 วัน
3. เกษตรกรไม่นำปัจจัยการผลิตไปดำเนินการตามแนวทางเกษตรผสมผสาน จากการ ตรวจสอบเกษตรกร จำนวน 275 ราย พบว่า
3.1 เกษตรกรไม่ทำแผนการผลิตและบันทึกบัญชีฟาร์มตามแนวทางที่ได้รับจากการ ฝึกอบรม จำนวน 275 ราย คิดเป็นร้อยละ 100 ของเกษตรกรที่ทำเกษตรเชิงเดี่ยว
3.2 เกษตรกรไม่ทำการปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้ครอบคลุมพื้นที่ จำนวน 5 ไร่ เพื่อทำการเกษตรแบบผสมผสานตามแนวทางโครงการกำหนด จำนวน 250 ราย คิดเป็นร้อยละ 90.91 ของเกษตรกรที่ทำเกษตรเชิงเดี่ยว
3.3 เกษตรกรไม่ทำการปลูกพืชตามหลักวิชาการกำหนด จำนวน 275 ราย คิดเป็นร้อย ละ 100 ของเกษตรกรที่ทำเกษตรเชิงเดี่ยว โดยเกษตรกรส่วนใหญ่จะนำพืชหลักไปปลูกบริเวณดินทิ้งรอบขอบสระน้ำซึ่งมีระยะห่างระหว่างต้นตั้งแต่ 1 เมตรขึ้นไป และยังพบว่ามีเกษตรกรยังไม่นำพืชไปปลูกหรือปลูกบางส่วน จำนวน 265 ราย คิดเป็นร้อยละ 96.36 ของเกษตรกรที่ทำเกษตรเชิงเดี่ยวและมีต้นไม้ตาย จำนวน 22,779 ต้น คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 955,872.25 บาท
3.4 เกษตรกรนำปัจจัยการผลิตด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง ไปดำเนินการนอกพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการหรือแบ่งปันให้กับบุคคลอื่น โดยเฉพาะปัจจัยด้านพืชเกษตรกรนำไปดำเนินการ นอกพื้นที่ จำนวน 130 ราย คิดเป็นร้อยละ 47.27 ของเกษตรกรที่ทำเกษตรเชิงเดี่ยว และปัจจัยด้านปศุสัตว์ มีการนำไปเลี้ยงนอกพื้นที่ จำนวน 169 ราย คิดเป็น 61.45 ของเกษตรกรที่ทำเกษตรเชิงเดี่ยว
4. เกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่มีรายได้จากการทำเกษตรแบบผสมผสาน โดยเกษตรกรยังไม่มีรายได้จากปัจจัยด้านพืช จำนวน 222 ราย ปัจจัยด้านปศุสัตว์ จำนวน 192 ราย และปัจจัยด้านประมง จำนวน 269 ราย คิดเป็นร้อยละ 80.73 69.82 และ 97.82 ของเกษตรกรที่ทำเกษตรเชิงเดี่ยวตามลำดับ
ข้อเสนอแนะ ให้หัวหน้ากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง 2 ดำเนินการ ดังนี้
1. สั่งการให้หน่วยดำเนินการโครงการ ติดตามการบริหารจัดการปัจจัยด้านพืชของเกษตรกรทุกราย หากพบว่าเกษตรกรรายใดมีปัจจัยด้านพืช (ไม่รวมเมล็ดพันธุ์ผัก) คงเหลือมากกว่าร้อยละ 50 ของปัจจัยการผลิตที่รับทั้งหมด ให้จัดทำแนวทางการส่งเสริมเพื่อให้เกษตรกรสามารถดำเนินการปลูกพืชได้ตามแนวทางเกษตรกรผสมผสานที่โครงการกำหนดไว้ต่อไป
2. ให้พิจารณาทบทวนและยุติการดำเนินโครงการบริหารจัดการเกษตรแบบผสมผสานรูปแบบเดิม ที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 ดำเนินการ โดยอาจพิจารณาใช้มาตรการหรือแนว ทางการช่วยเหลือเกษตรกรในลักษณะอื่นแทน เนื่องจากไม่สามารถทำให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ทำการปรับเปลี่ยนการทำการเกษตรจากเกษตรเชิงเดี่ยวเป็นเกษตรผสมผสานตามที่วัตถุประสงค์ โครงการกำหนดได้ และหากต้องมีการดำเนินการโครงการลักษณะเช่นนี้อีก ให้พิจารณาหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ประกอบการดำเนินการ
2.1 กำหนดกลุ่มเป้าหมายเชิงคุณภาพให้สอดคล้องกับอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ที่จะดำเนินการกำกับ ดูแลติดตามให้คำแนะนำได้
2.2 ให้กำหนดเงื่อนไขและคุณสมบัติของเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการให้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงื่อนไขที่อาจส่งผลกระทบกับความสำเร็จของโครงการ เช่น จำนวนแรงงานด้าน การเกษตร อายุของเกษตรกร แหล่งน้ำต้นทุน ระบบไฟฟ้า พื้นที่การเกษตรที่จะเข้าร่วมโครงการไม่ ควรห่างจากที่อยู่อาศัยของเกษตรกร และความพร้อมด้านเงินทุนในการประกอบอาชีพ เป็นต้น
2.3 จัดท าแผนงานในการดำเนินงานโครงการที่ชัดเจนในการกำหนดบทบาทและแนวทางหรือวิธีการปฏิบัติงาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์โครงการ เช่น แนวทางการประชาสัมพันธ์โครงการ วิธีการหรือช่องทางการรับสมัครเกษตรกรและการ คัดเลือกเกษตรกร แนวทางหรือวิธีการถ่ายทอดความรู้ และแนวทางการหรือวิธีการติดตามและการรายงานผลการดำเนินงาน เป็นต้น
2.4 ทำการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจเงื่อนไขและคุณสมบัติของเกษตรกรให้ชัดเจน เพื่อเป็นการป้องกันเกษตรกรที่ไม่ได้มีความตั้งใจจะดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์แต่สมัครเข้าร่วมโครงการเพียงเพื่อต้องการได้รับสนับสนุนจากรัฐโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
2.5 กิจกรรมส่งเสริมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกรซึ่งต้องอาศัยการทำซ้ำ เพื่อให้เกิดทักษะการประกอบอาชีพ ประกอบกับสินค้าเกษตรต้องอาศัยระยะเวลาการผลิต ให้พิจารณากำหนดระยะการดำเนินการที่มากกว่าระยะเวลา 1 ปี และกำหนดรูปแบบการส่งเสริมให้เกิดกระบวนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้อย่างแท้จริง เช่น ช่วงเริ่มต้นในการดำเนินการอาจมีการอบรมให้ความรู้เกษตรกรพร้อมทั้งมีการปฏิบัติในแปลงทดลอง หรือสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้ไปทดลองดำเนินการและมีการติดตามประเมินผลเกษตรกรว่ามีความสามารถที่จะดำเนินการต่อไปหรือไม่ และเหมาะสมที่จะจัดสรรการสนับสนุนให้เกษตรกรในขั้นต่อไปหรือไม่ เป็นต้น หากไม่สามารถผูกพันโครงการได้มากกว่า 1 ปี ให้พิจารณาทบทวนใช้มาตรการหรือแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรในลักษณะอื่นแทน
2.6 ให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจัดทำแผนการผลิต แผนการตลาด รวมทั้งประมาณการผลผลิตและรายได้จากการดำเนินการเกษตรผสมผสาน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการของเกษตรกร และให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรช่วยพิจารณาความเหมาะสมของปัจจัยแต่ละประเภท ก่อนการดำเนินการ
2.7 เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เกษตรกรไม่ดำเนินการตามเงื่อนไขของโครงการ ควรมีการกำหนดมาตรการควบคุมการดำเนินการของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการให้เป็นไปตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัด เช่น พิจารณานำแนวทางการดำเนินโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งหลังนำที่ให้เกษตรกรดำเนินการผลิตตามแผนการผลิตก่อน แล้วมารับเงินสนับสนุนจากราชการภายหลัง และแต่งตั้งกรรมการของส่วนราชการเป็นผู้ตรวจสอบการดำเนินงานของเกษตรกรก่อนการเบิกจ่ายเงิน เป็นต้น และให้กำหนดเงื่อนไขการรับผิดชอบต่อความเสียหายในกรณีที่เกษตรกรไม่ได้ดำเนินการตามเงื่อนไขที่โครงการกำหนด โดยมิใช่เหตุสุดวิสัยจากภัยธรรมชาติต่างๆ เช่น ตัดสิทธิการเข้าร่วมโครงการที่ได้รับการสนับสนุนในครั้งต่อๆ ไป เป็นต้น
2.8 ให้มีระบบการติดตามการดำเนินงานของเกษตรกรเป็นระยะจนสิ้นสุดการดำเนินโครงการ เพื่อทราบผลการดำเนินงานของเกษตรกร รวมทั้งเจ้าหน้าที่จะสามารถให้คำแนะนำและแก้ไขปัญหา ให้กับเกษตรกรได้ทันเวลา
2.9 หากหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการจัดหาปัจจัยการผลิตให้หาแนวทางแก้ไขการแจกปัจจัยการผลิตให้ตรง/สอดคล้องกับฤดูกาล เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปดำเนินการได้เหมาะสมกับฤดูกาลผลิต อันส่งผลต่อประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรซึ่งขึ้นอยู่กับฤดูกาลเป็นสำคัญ และหากเห็นว่าการดำเนินการจะไม่ทันฤดูกาลผลิตให้พิจารณาทบทวนและหรือยุติการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว เพื่อไม่เป็นการใช้จ่ายงบประมาณที่สูญเปล่าหรือไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรอย่างแท้จริง
2.10 การแต่งตั้งช่างควบคุมงานหรือกรรมการตรวจรับงานขุดสระน้ำของเกษตรกร ควรพิจารณาแต่งตั้งผู้ที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้าน หากหน่วยงานไม่มีบุคลากรดังกล่าวให้ขอร่วมมือจากหน่วยอื่นที่มีบุคลากรที่ความรู้ความชำนาญ หรือพิจารณาทบทวนขอความร่วมมือหน่วยงานที่มีหน้าที่ดำเนินการเรื่องการขุดสระน้ำดำเนินการแทนเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดกับรัฐต่อไป
3. สั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลความต้องการของเกษตรกร ในการประกอบอาชีพ เช่น เกษตรกรที่ต้องทำเกษตรผสมผสาน เป็นต้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดทำโครงการและกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสมต่อไป
----
ในสัปดาห์หน้า สำนักข่าวอิศราจะนำเสนอผลการตรวจสอบที่สำคัญของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเรื่องใด โปรดติดตาม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
เปิดกรุผลสอบสตง.(1) ชำแหละงบพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกาญฯ ไม่คุ้มค่า ห้องอาบน้ำแร่ถูกทิ้งร้าง
เปิดกรุผลสอบสตง.(2) ตรวจงบยกระดับหมู่บ้านโคราช ใช้ภาพเดียวเบิกเงิน 6 โครงการรวด
เปิดกรุผลสอบสตง.(3) ตรวจการผลิต-ใช้พลังงานทดแทน ‘กรมการพลังงานทหาร’ ล้มเหลวไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(4) ตรวจนโยบายร.ร.ดีใกล้บ้าน ยกระดับการศึกษาล้ม-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(5) ตรวจโครงการพัฒนาลำเชียงไกรโคราช ไม่เสร็จตามแผน-ซื้อของเกินจำเป็น
เปิดกรุผลสอบสตง.(6) ตรวจโครงการพัฒนาพืช-พลังงาน จ.ขอนแก่น 113ล. ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(7) ตรวจโครงการพลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้า-ประปาจ.กาญจนฯ ล้มเหลว-เบิกจ่ายเท็จ
เปิดกรุผลสอบสตง.(8) ตรวจโครงการควมคุมอาคารเขตเทศบาลนคร/เมือง ไม่ปลอดภัย-ผิดกม.อื้อ
เปิดกรุผลสอบสตง.(9) ตรวจการควบคุมเคมีทางเกษตร พบสารต้องห้าม-ร้านขายไม่ปลอดภัย-ผิดกม.
เปิดกรุผลสอบสตง.(10) ตรวจโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติด อปท.ลำปาง ไม่คุ้มงบ-ผิดวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(11) ตรวจโครงการสินค้าเกษตร 4.0 สุพรรณฯ ไม่พร้อมดำเนินการ-ไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(12) ตรวจโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว ขาดความต่อเนื่อง-ไม่ยั่งยืน
เปิดกรุผลสอบสตง.(13) ตรวจศูนย์อาชีพผู้สูงอายุ ไม่เป็นตามวัตถุประสงค์-จัดซื้อไม่คุ้มค่า
เปิดกรุผลสอบสตง.(14) ตรวจโครงการแพทย์ฉุกเฉิน อบจ.มหาสารคาม มอบรถพยาบาลช้า-ใช้ผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(15) ตรวจสหกรณ์จ.สุราษฎร์ฯ-ชุมพร ตั้งโรงงานยางพารา แต่ไม่เดินสายพานผลิต
เปิดกรุผลสอบสตง.(16) ตรวจการเก็บค่าภาคหลวงแร่ กรมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ฯ ไม่เป็นตามกฎหมาย
เปิดกรุผลสอบสตง.(17) ตรวจโครงการนาขั้นบันไดจ.น่าน ไม่ตรงเป้าหมาย-เบิกจ่ายเท็จ/ผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(18) ตรวจศูนย์เด็กเล็ก อปท.นครศรีธรรมราช ไร้ประสิทธิภาพ-ไม่ปลอดภัย
เปิดกรุผลสอบสตง.(19) ตรวจสำนักงาน กศน. อุดรธานี ไร้ประสิทธิภาพ-จบช้า/น้อย-พบนศ.ผี
เปิดกรุผลสอบสตง.(20) ตรวจโครงการเกษตรอินทรีย์กาญจนฯ ไม่บรรลุประสงค์-จัดซื้อผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(21) ตรวจโครงการความปลอดภัยทางทะเลพัทยา ระบบ/อุปกรณ์ไม่ตรงตาม TOR
เปิดกรุผลสอบสตง.(22) ตรวจการกำจัดขยะ อปท. นครสวรรค์/พิจิตร ไม่ได้มาตรฐาน-ไม่ตามโรดแม็พ
เปิดกรุผลสอบสตง.(23) ตรวจการพัฒนาชลประทานฉะเชิงเทรา ผิดระเบียบ-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(24) ตรวจโครงการช่วยเกษตรกร/คนจน กำแพงเพชร ผิดระเบียบ-ไม่บรรลุเป้าหมาย
เปิดกรุผลสอบสตง.(25) ตรวจโครงการควมคุมอาคารเขตเทศบาลตำบล/อบต. ไม่ปลอดภัย-ผิดกม.อื้อ