เปิดกรุผลสอบสตง.(15) ตรวจสหกรณ์จ.สุราษฎร์ฯ-ชุมพร ตั้งโรงงานยางพารา แต่ไม่เดินสายพานผลิต
“...ผลจากการที่โรงงานผลิตยางคอมปาวด์เพื่อป้อนสู่โรงงานผลิตสายพานลำเลียงไม่ได้เปิดดำเนินกิจการ ส่งผลให้ไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของสมาชิกสหกรณ์และสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันเกษตรกรยางพารา ให้มีความเข้มแข็งและเป็นที่พึ่งของเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราเกิดภาระหนี้สินและดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านทรายแก้ว จำกัด เนื่องจากสหกรณ์ กองทุนสวนยางบ้านทรายแก้ว จำกัด ได้ทำสัญญาเงินกู้ จำนวนเงิน 4,000,000 บาท กับธนาคารเพื่อการเกษตรกรและสหกรณ์ เพื่อต่อเติมอาคารโรงงานเพื่อรองรับการจัดตั้งโรงงานและจัดวางเครื่องจักรกลโรงงานที่ได้รับเพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตยางคอมปาวด์และทำให้ราชการสูญเสียงบประมาณ จนวนเงิน 30,184,000 บาท โดยเปล่าประโยชน์...”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานตรวจสอบสำคัญของไทย มีหน้าที่ในการป้องกันดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ที่ถูกใช้จ่ายไปอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ที่ผ่านมา สตง.ได้มีการเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบเรื่องการใช้จ่ายเงินที่สำคัญไว้หลายเรื่อง สำนักข่าวอิศรา จึงขอเปิดพื้นที่ตรงนี้ ทุกวันเสาร์ รวบรวมข้อมูลผลการตรวจสอบที่สำคัญมานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบ
ในสัปดาห์ที่ 15 จะเป็นการนำเสนอรายงานการตรวจสอบการดำเนินงาน โครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยางพาราของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดสุราษฎร์ธานี และสำนักงานสหกรณ์จังหวัดชุมพร ปีงบประมาณ 2558
@ โครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยางพาราของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดสุราษฎร์ธานี และสำนักงานสหกรณ์จังหวัดชุมพร ปีงบประมาณ 2558
ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย เกษตรกรชาวสวนยางพาราในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยยังคงบริหารจัดการผลผลิตในรูปแบบการขายผลผลิตเป็นวัตถุดิบขั้นต้น เช่น น้ำยางสด ยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควัน และเศษยาง ซึ่งไม่สามารถเพิ่มมูลค่า ยางพาราได้ ส่งผลให้เกิดการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและประสบปัญหาวิกฤติราคายางพาราตกต่ำ ซึ่งการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำในระยะยาว คือ การลดต้นทุนการผลิตและการเพิ่มมูลค่ายางพาราด้วย การแปรรูป กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยได้ให้ความสำคัญกับพืชเศรษฐกิจยางพารา
จึงได้กำหนดไว้ ในยุทธศาสตร์ที่ 1 : การบริหารจัดการเพื่อเพิ่มมูลค่าพืชเศรษฐกิจยางพาราและปาล์มน้ำมัน ในแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (พ.ศ.2557-2560 (ฉบับทบทวน)) และในปีงบประมาณ 2558 ได้จัดสรรงบประมาณภายใต้โครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยางพารา ในกิจกรรมที่ 2 การผลิต ยางคอมปาวด์เพื่อป้อนสู่โรงงานผลิตสายพานลำเลียง จำนวนเงิน 30,480,000 บาท โดยมี วัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตยางคอมปาวด์เพื่อป้อนสู่โรงงานผลิตสายพานลำเลียง พื้นที่ดำเนินการโครงการ คือ สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านวังใหญ่ จำกัด หมู่ 5 ตำบลทุ่งหลวง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านทรายแก้ว จำกัด หมู่ 9 ตำบลเขาไชยราช อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร
ในการตรวจสอบครั้งนี้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้รวบรวมจากข้อมูลเอกสารโครงการ สัมภาษณ์เชิงลึกผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบโครงการ สัมภาษณ์เชิงลึกประธานและผู้จัดการสหกรณ์กองทุนสวนยางพื้นที่ดำเนินการและลงพื้นที่สังเกตการณ์พื้นที่ดำเนินการ ซึ่งผลจากการตรวจสอบการดำเนินงาน โครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยางพาราในกิจกรรมที่ 2 การผลิตยางคอมปาวด์เพื่อป้อนสู่โรงงานผลิต สายพานลำเลียง มีประเด็นข้อตรวจพบและข้อสังเกตที่สำคัญ ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 โรงงานผลิตยางคอมปาวด์เพื่อป้อนสู่โรงงานผลิตสายพานลำเลียงไม่ได้เปิดดำเนินกิจการ
โครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยางพาราในกิจกรรมที่ 2 การผลิตยางคอมปาวด์เพื่อป้อนสู่ โรงงานผลิตสายพานลำเลียง ได้กำหนดวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตยางคอมปาวด์เพื่อป้อนสู่ โรงงานผลิตสายพานลำเลียง โดยกำหนดเป้าหมายตัวชี้วัดของการดำเนินการโครงการคือ สามารถเพิ่ม มูลค่ายางพาราเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 20 บาท/กิโลกรัม ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องราคาผลผลิตยางพารา ตกต่ำและสามารถช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ชุมชนเข้มแข็ง สถาบันเกษตรกรเข้มแข็งเป็นที่พึ่ง ของชุมชนได้ โดยมีแนวทางในการดำเนินงานโครงการเพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตยางคอมปาวด์คือ จัดซื้อเครื่องจักรกลโรงงานให้กับสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านวังใหญ่ จำกัด จำนวน 9 รายการ จำนวนเงิน 15,064,000 บาท และสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านทรายแก้ว จำกัด จำนวน 9 รายการ จำนวนเงิน 15,120,000 บาท
จากการตรวจสอบพบว่า สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านวังใหญ่ จำกัด ไม่ได้เปิดดำเนินกิจการ โรงงานผลิตยางคอมปาวด์ ซึ่ง สตง. โดยสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 13 (จังหวัดสุราษฎร์ธานี) ได้มีหนังสือแจ้งให้สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ ตผ 0055สฎ/287ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2558 ให้พิจารณาดำเนินการกรณีที่สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านวังใหญ่ จำกัด ที่ได้รับมอบเครื่องจักรกลโรงงานแล้วที่ไม่สามารถดำเนินกิจการได้ หรือไม่ได้ใช้ประโยชน์จากเครื่องจักรกลโรงงานอีกต่อไป ให้พิจารณาหาแนวทางนำเครื่องจักรกลโรงงานไปใช้ประโยชน์ในสหกรณ์กองทุนสวนยางอื่น ที่มีความพร้อมและมีความสามารถดเนินการได้ต่อ หรือพิจารณาหาแนวทางการใช้ประโยชน์ต่อไป
ซึ่งสำนักงานสหกรณ์จังหวัดสุราษฎร์ธานีได้มีหนังสือชี้แจง ที่ สฎ 0010/287 ลงวันที่ 4 มกราคม 2559 ความว่าให้ โยกย้ายไปยังสหกรณ์กองทุนสวนยางอื่นที่ต้องการและมีความพร้อมในการดำเนินการ ซึ่งสหกรณ์กองทุนสวนยางที่มีความต้องการและยินดีที่จะรับเครื่องจักรกลโรงงานผลิตยางคอมปาวด์ไปดำเนินการต่อคือ สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านพ่วงพรมคร จำกัด อเภอเคียนซา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยที่สหกรณ์ กองทุนสวนยางบ้านพ่วงพรมคร จำกัด จะเป็นผู้รับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้าย เครื่องจักรกลโรงงานดังกล่าว ในส่วนของสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านทรายแก้ว จำกัด จากการตรวจสอบพบว่า ไม่ได้เปิดดำเนินกิจการโรงงานผลิตยางคอมปาวด์เช่นเดียวกัน
ผลจากการที่โรงงานผลิตยางคอมปาวด์เพื่อป้อนสู่โรงงานผลิตสายพานลำเลียงไม่ได้เปิดดำเนินกิจการ ส่งผลให้ไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของสมาชิกสหกรณ์และสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันเกษตรกรยางพารา ให้มีความเข้มแข็งและเป็นที่พึ่งของเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราเกิดภาระหนี้สินและดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านทรายแก้ว จำกัด เนื่องจากสหกรณ์ กองทุนสวนยางบ้านทรายแก้ว จำกัด ได้ทำสัญญาเงินกู้ จำนวนเงิน 4,000,000 บาท กับธนาคารเพื่อการเกษตรกรและสหกรณ์ เพื่อต่อเติมอาคารโรงงานเพื่อรองรับการจัดตั้งโรงงานและจัดวางเครื่องจักรกลโรงงานที่ได้รับเพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตยางคอมปาวด์และทำให้ราชการสูญเสียงบประมาณ จนวนเงิน 30,184,000 บาท โดยเปล่าประโยชน์
นอกจากนี้ยังทำให้ราชการและประชาชนสูญเสียโอกาสในการนำงบประมาณดังกล่าวนำไปพัฒนาหรือดำเนินการโครงการอื่นที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและเดือดร้อนมากกว่า
สาเหตุ เกิดจากการดำเนินการโครงการดังกล่าวไม่ได้เกิดจากความต้องการของ สหกรณ์กองทุนสวนยางพื้นที่ดำเนินการอย่างแท้จริง ไม่ได้ศึกษาความเป็นไปได้ของการดำเนินงานโครงการ โดยจะต้องพิจารณาถึงความเป็นไปได้ทางด้านการเงิน ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านเทคนิค ด้านการตลาด ด้านการบริหารจัดการ รวมถึงศึกษาถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ประสบปัญหาด้าน การตลาด อีกทั้งยังเกิดปัญหาข้อจำกัดด้านผลิตภัณฑ์ยางคอมปาวด์ กล่าวคือ ผลิตภัณฑ์ยางคอมปาวด์ ของผู้ผลิตยางคอมปาวด์แต่ละรายต้องผลิตตามความต้องการของผู้ใช้หรือผู้นำเข้าหรือลูกค้าตามสเปก หรือสูตรการผสมของยางคอมปาวด์แต่ละชนิด ซึ่งตลาดค่อนข้างจำกัด นอกจากนี้พื้นที่ดำเนินการโครงการขาดการเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานโครงการ
ข้อเสนอแนะ ให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในฐานะหัวหน้ากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยและ ประธานคณะกรรมการบริหารงานกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.ก.) กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย พิจารณาดำเนินการ ดังต่อไปนี้
1.1 ให้สั่งการหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการเร่งสำรวจปัญหา ติดตามผลการดำเนินงาน โครงการเพื่อให้โครงการสามารถขับเคลื่อนได้ และให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการร่วมประสานงานและบูรณาการการทำงานร่วมกับภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษาที่มีความรู้ และความเชี่ยวชาญด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางคอมปาวด์
1.2 ให้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงสาเหตุของโรงงานผลิตยาง คอมปาวด์เพื่อป้อนสู่โรงงานผลิตสายพานลำเลียงไม่ได้เปิดดำเนินกิจการ
1.3 สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ ในการนำเสนอโครงการต้องสำรวจถึงความต้องการ ความจำเป็นเร่งด่วน ความพร้อมและศักยภาพของสหกรณ์กองทุนสวนยางพื้นที่ดำเนินการอย่างแท้จริง
1.4 สั่งการให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบในการจัดทำโครงการในลักษณะดังกล่าวอีกในอนาคต ให้พิจารณาถึงความความเหมาะสมและจำเป็น ตรงตามปัญหาเป็นไปตามความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง
2. สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสุราษฎร์ธานีและสำนักงานสหกรณ์จังหวัดชุมพร ในฐานะ ผู้รับผิดชอบโครงการให้พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
2.1 กรณีของสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านวังใหญ่ จำกัด ซึ่งสำนักงานสหกรณ์จังหวัด สุราษฎร์ธานีได้มีแผนในการเคลื่อนย้ายเครื่องจักรไปยังสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านพ่วงพรมคร จำกัด ให้ติดตามผลการดำเนินการดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องและพิจารณาถึงความพร้อมในการดำเนินการ ของสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านพ่วงพรมคร จำกัด และให้คะนึงถึงการใช้ประโยชน์จากเครื่องจักรยางคอมปาวด์ ให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด
2.2 ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีโรงงานผลิตยางคอมปาวด์ไม่ได้เปิดดำเนินกิจการ และการดำเนินโครงการไม่ได้เกิดจากความต้องการของสหกรณ์กองทุนสวนยาง รวมทั้งการขาดความพร้อมของสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านวังใหญ่ จำกัด และสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านทรายแก้ว จำกัด จนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โครงการประสบความล้มเหลว เครื่องจักรกลโรงงานที่สนับสนุนให้กับสหกรณ์กองทุนสวนยางไม่ได้ใช้ประโยชน์และนำไปสู่การสูญเสียงบประมาณแผ่นดินโดยสูญเปล่า
2.3 กำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาเพื่อให้การดำเนินงานโรงงานผลิตยางคอมปาวด์ สามารถเปิดดำเนินกิจการได้และบรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการ โดยหาแนวทางช่วยเหลือสนับสนุนและประสานความร่วมมือกับหน่วยราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง สถาบันการศึกษาหรือ หน่วยงานในพื้นที่ที่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องยางคอมปาวด์
2.4 ให้ศึกษาความเป็นไปได้ของการดำเนินโครงการ โดยต้องพิจารณาถึงความเป็นไป ทางด้านการเงิน ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านเทคนิคด้านการตลาด ด้านการบริหารจัดการ รวมถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการเสนอโครงการและเป็นข้อมูลในการตัดสินใจในการอนุมัติ สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานโครงการ
2.5 กำกับและติดตามผลการดำเนินงานโครงการอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ เพื่อให้ทราบถึงปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินงาน และเข้าทำการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงทีและนำผลของข้อมูลดังกล่าวไปประมวลผลเพื่อใช้ประกอบการวางแผนและเป็นฐานข้อมูลในการดำเนินการโครงการในลักษณะเดียวกันในอนาคต
2.6 กรณีปัญหาเรื่องระบบไฟฟ้าของสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านทรายแก้ว จกัด เนื่องจากระยะทางห่างไกลจากแหล่งจ่ายพลังงาน (Power Plant) และมีสายไฟขนาดเล็ก เป็นสาเหตุ ให้กระแสไฟตกเป็นระยะ ให้สำนักงานสหกรณ์จังหวัดชุมพรเร่งประสานและปรึกษากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
2.7 ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการโครงการและศักยภาพของพื้นที่ดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงในการดำเนินงานที่ไม่ประสบผลสำเร็จ และให้ศึกษาถึงความพร้อมของโครงการในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทุกมิติ
2.8 ในการดำเนินงานโครงการต้องลงพื้นที่สำรวจสภาพปัญหา ความจำเป็นเร่งด่วนและความพร้อมของสหกรณ์กองทุนสวนยางเป้าหมาย และร่วมประชุมระดมความคิดเห็นกับสมาชิกของสหกรณ์กองทุนสวนยางในพื้นที่ดำเนินการ เพื่อให้มีส่วนร่วมในการคิดแก้ปัญหาร่วมกัน และช่วยกัน ในการขับเคลื่อนโครงการที่สนับสนุนจากภาครัฐได้ประสบผลสำเร็จ
ข้อสังเกตที่ 1 การขออนุญาตขยายโรงงานเพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตยางคอมปาวด์
การประกอบกิจการโรงงานผลิตยางคอมปาวด์ตามมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 ได้จัดอยู่ในโรงงานจำพวกที่ 3 หมายถึง โรงงานประเภท ชนิด และขนาดที่การตั้งโรงงานจะต้องได้รับใบอนุญาตก่อนจึงจะดำเนินการได้และในมาตรา 12 ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 ต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตาม มาตรา 8 ประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามกฎกระทรวงดังกล่าวและประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตาม มาตรา 32 และในมาตรา 18 ห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตขยายโรงงาน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาต การขอขยายโรงงานและการให้ขยายโรงงานตลอดจนการอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ขยายโรงงาน ให้นำมาตรา 12 มาตรา 13 และมาตรา 16 มาใช้บังคับโดยอนุโลม การขยายโรงงานได้แก่
1. การเพิ่มจำนวน เปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรทำให้มีกำลังรวมเพิ่มขึ้นตั้งแต่ร้อยละ ห้าสิบขึ้นไป ในกรณีเครื่องจักรเดิมมีกำลังรวมไม่เกินหนึ่งร้อยแรงม้า หรือกำลังเทียบเท่าไม่เกินหนึ่งร้อยแรงม้า หรือเพิ่มขึ้นตั้งแต่ห้าสิบแรงม้าขึ้นไป ในกรณีเครื่องจักรเดิมมีกำลังรวมเกินกว่าหนึ่งร้อยแรงม้า หรือกำลังเทียบเท่าเกินกว่าหนึ่งร้อยแรงม้า
2. การเพิ่มหรือแก้ไขส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคารโรงงานทำให้ฐานรากเดิมของอาคารโรงงาน ฐานใดฐานหนึ่งต้องรับน้ำหนักเพิ่มขึ้นตั้งแต่ห้าร้อยกิโลกรัมขึ้นไป
จากการตรวจสอบพบว่า สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านวังใหญ่ จำกัด ยังไม่ได้ดำเนินการขออนุญาต ขยายโรงงานจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานีและในกรณีของสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้าน ทรายแก้ว จำกัด ได้ยื่นขออนุญาตขยายโรงงานและได้รับอนุญาตขยายกิจการโรงงานผลิตยางคอมปาวด์เมื่อ วันที่ 21 เมษายน 2558 ภายหลังจากที่ได้รับการส่งมอบเครื่องจักรกลโรงงานครบตามจำนวนที่ได้รับการ สนับสนุน เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2558
ผลกระทบจากการดำเนินการการขออนุญาตขยายโรงงานเพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตยางคอมปาวด์โดย ไม่ได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 คือ การจัดตั้งโรงงานผลิตยางคอมปาวด์โดยไม่ได้รับการอนุญาตขอขยายโรงงานจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานีและสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชุมพร ส่งผลให้ไม่สามารถเปิดดำเนินการกิจการโรงงานผลิตยางคอมปาวด์ได้ ทำให้รัฐสูญเสียเงินงบประมาณแผ่นดินในการสนับสนุนเครื่องจักรกลโรงงานผลิตยางคอมปาวด์โดยสูญเปล่า เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรยางพาราในพื้นที่สูญเสียโอกาสและสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา และหากพื้นที่ดำเนินการโครงการไม่สามารถเปิดดำเนินการได้เป็นผลให้เกิดกรณีโยกย้ายเครื่องจักร โรงงานผลิตยางคอมปาวด์ไปยังสหกรณ์กองทุนสวนยางอื่น ทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้าย และโรงงานผลิตยางคอมปาวด์ที่ไม่ได้รับการอนุญาต อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ชุมชน และผู้ปฏิบัติงานภายในโรงงานได้เนื่องจากไม่ได้ผ่านมาตรการในการกำกับและควบคุมดูแลของสำนักอุตสาหกรรม จังหวัดสุราษฎร์ธานีและสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชุมพร
นอกจากนี้สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านวังใหญ่ จำกัด และสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านทรายแก้ว จำกัด ไม่ได้ขออนุญาตขยายโรงงานก่อนจะเปิดดำเนินการ อาจต้องโทษทางกฎหมายได้ตามนัยมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535
ข้อเสนอแนะ ให้สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสุราษฎร์ธานี และ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดชุมพร ดำเนินการ ดังนี้
1. กรณีโยกย้ายเครื่องจักรของโรงงานผลิตยางคอมปาวด์ของสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านวังใหญ่ จำกัด ไปยังสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านพ่วงพรมคร จำกัด ให้แจ้งสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านพ่วง พรมคร จำกัด ซึ่งเป็นพื้นที่ดำเนินการดังกล่าวขออนุญาตขยายโรงงานเพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตยางคอมปาวด์ ให้ถูกต้องตามกฎหมายพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 ประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตาม กฎกระทรวงของกระทรวงอุตสาหกรรม กฎหมายอื่น ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรีหรือหนังสือ สั่งการที่เกี่ยวข้องต่อไป
2. หากมีการดำเนินการโครงการในลักษณะทำนองเช่นนี้อีกในอนาคต ให้พิจารณาและคำนึงถึงข้อกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี หรือหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง และความเป็นไป ได้ของโครงการ ความคุ้มค่าของงบประมาณแผ่นดิน เกิดประโยชน์และเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ ตลอดจนเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างแท้จริง ซึ่งในการดำเนินการโครงการหากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจสอบพบว่า ยังเกิดความบกพร่องของโครงการในลักษณะทำนองเดียวกันนี้อีกในอนาคตและก่อให้เกิดความเสียหายกับทางราชการแล้ว ถือเป็นความบกพร่องโดยเจตนา ผู้เกี่ยวข้องกับโครงการทั้งหมดจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายและอาจต้องถูกดำเนินการทั้งทางอาญา ทางวินัย ทางละเมิด และทางวินัยงบประมาณและการคลัง
ข้อสังเกตที่ 2 การดูแลและบำรุงรักษาเครื่องจักรกลโรงงาน
จากการตรวจสอบพบว่า สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านวังใหญ่ จำกัด ซึ่งหลังจากได้รับมอบ เครื่องจักรกลโรงงานแล้ว ไม่มีบุคลากรในการดูแลบำรุงรักษาเครื่องจักรกลโรงงาน และยังไม่มีการดูแลบำรุงรักษาเครื่องจักรกลโรงงานแต่อย่างใด ในกรณีของสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านทรายแก้ว จำกัด หลังจากได้รับมอบเครื่องจักรกลโรงงานแล้ว ไม่มีบุคลากรในการดูแลบำรุงรักษาเครื่องจักรกลโรงงาน และยังไม่มีการดูแลบำรุงรักษาเครื่องจักรกลโรงงานเช่นเดียวกัน นอกจากนี้สหกรณ์กองทุนสวนยาง บ้านทรายแก้ว จำกัด ประสบปัญหาพื้นที่จัดเก็บพาเลทไม่เพียงพอ บางส่วนถูกเก็บไว้ภายนอกอาคารทำให้เกิดสนิมชำรุดเสียหาย และอาจเกิดความเสี่ยงต่อการสูญหายได้
ผลกระทบจากการขาดการดูแลบำรุงรักษาเครื่องจักรกลโรงงานอย่างสม่ำเสมอ อาจส่งผลให้ เครื่องจักรกลโรงงานเกิดความชำรุดหรือเสียหายและเกิดความยุ่งยากในเรื่องการบริหารจัดการ ทั้งในด้านการผลิตการซ่อมบำรุงรักษา การจัดหาจัดซื้อวัสดุ อะไหล่ รวมทั้งงานการเงินและบัญชีตลอดจนการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าวัสดุอะไหล่ และค่าจ้างแรงงานแล้ว ยังส่งผลต่อความปลอดภัยและเกิดความเสี่ยงต่อผู้ปฏิบัติงานได้ นอกจากนี้อาจทำให้การส่งมอบผลิตภัณฑ์ยางคอมปาวด์ไม่ตรงตามระยะเวลาที่กำหนด ปริมาณและคุณภาพอาจจะไม่เป็นไปตามเงื่อนไขในการซื้อขายกับลูกค้าได้
ข้อเสนอแนะ ให้สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสุราษฎร์ธานีและสำนักงานสหกรณ์จังหวัดชุมพร พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. แจ้งให้สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านวังใหญ่ จำกัด และสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านทรายแก้ว จำกัด สำรวจตรวจสอบและทดสอบเดินเครื่องจักรกลโรงงานเพื่อตรวจสอบหาความชำรุดบกพร่อง ของเครื่องจักรกลโรงงาน และควรมีการติดตามผลและเก็บข้อมูลการเกิดเหตุขัดข้องของเครื่องจักรกล โรงงาน
2. กำชับให้สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านวังใหญ่ จำกัด และสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านทรายแก้ว จำกัดดูแลรักษาเครื่องจักรกลโรงงานและปฏิบัติตามคู่มือการใช้งานของเครื่องจักรแต่ละรายการ และควรจัดให้มีเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบโดยตรงในการบำรุงและดูแลรักษาเครื่องจักรกลโรงงานอย่างต่อเนื่อง
3. แจ้งให้สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านทรายแก้ว จำกัด จัดเตรียมพื้นที่ในการจัดเก็บพาเลทให้มีความเหมาะสมและปลอดภัยเพื่อป้องกันการสูญหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
4. กรณีที่โยกย้ายเครื่องจักรของโรงงานผลิตยางคอมปาวด์จากสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้าน วังใหญ่ จำกัด ไปยังสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านพ่วงพรมคร จำกัด เสร็จสิ้นแล้ว แจ้งให้สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านพ่วงพรมคร จำกัด ดำเนินการสำรวจตรวจสอบและทดสอบเดินเครื่องจักรกล โรงงานเพื่อตรวจสอบหาความชำรุดบกพร่อง จัดทำแผนการดูแลและบำรุงรักษาตามระยะเวลาที่กำหนดและตามแผนงานการซ่อมบำรุงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงให้ดูแลรักษาเครื่องจักรกลโรงงานและปฏิบัติตามคู่มือการใช้งานของเครื่องจักรแต่ละรายการ
----
ในสัปดาห์หน้า สำนักข่าวอิศราจะนำเสนอผลการตรวจสอบที่สำคัญของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเรื่องใด โปรดติดตาม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
เปิดกรุผลสอบสตง.(1) ชำแหละงบพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกาญฯ ไม่คุ้มค่า ห้องอาบน้ำแร่ถูกทิ้งร้าง
เปิดกรุผลสอบสตง.(2) ตรวจงบยกระดับหมู่บ้านโคราช ใช้ภาพเดียวเบิกเงิน 6 โครงการรวด
เปิดกรุผลสอบสตง.(3) ตรวจการผลิต-ใช้พลังงานทดแทน ‘กรมการพลังงานทหาร’ ล้มเหลวไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(4) ตรวจนโยบายร.ร.ดีใกล้บ้าน ยกระดับการศึกษาล้ม-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(5) ตรวจโครงการพัฒนาลำเชียงไกรโคราช ไม่เสร็จตามแผน-ซื้อของเกินจำเป็น
เปิดกรุผลสอบสตง.(6) ตรวจโครงการพัฒนาพืช-พลังงาน จ.ขอนแก่น 113ล. ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(7) ตรวจโครงการพลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้า-ประปาจ.กาญจนฯ ล้มเหลว-เบิกจ่ายเท็จ
เปิดกรุผลสอบสตง.(8) ตรวจโครงการควมคุมอาคารเขตเทศบาลนคร/เมือง ไม่ปลอดภัย-ผิดกม.อื้อ
เปิดกรุผลสอบสตง.(9) ตรวจการควบคุมเคมีทางเกษตร พบสารต้องห้าม-ร้านขายไม่ปลอดภัย-ผิดกม.
เปิดกรุผลสอบสตง.(10) ตรวจโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติด อปท.ลำปาง ไม่คุ้มงบ-ผิดวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(11) ตรวจโครงการสินค้าเกษตร 4.0 สุพรรณฯ ไม่พร้อมดำเนินการ-ไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(12) ตรวจโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว ขาดความต่อเนื่อง-ไม่ยั่งยืน
เปิดกรุผลสอบสตง.(13) ตรวจศูนย์อาชีพผู้สูงอายุ ไม่เป็นตามวัตถุประสงค์-จัดซื้อไม่คุ้มค่า
เปิดกรุผลสอบสตง.(14) ตรวจโครงการแพทย์ฉุกเฉิน อบจ.มหาสารคาม มอบรถพยาบาลช้า-ใช้ผิดระเบียบ