เปิดกรุผลสอบสตง.(14) ตรวจโครงการแพทย์ฉุกเฉิน อบจ.มหาสารคาม มอบรถพยาบาลช้า-ใช้ผิดระเบียบ
“...มีการเบิกจ่ายเงินค่าเช่างวดแรกประจำเดือนกันยายน 2558 ให้ผู้ให้เช่าไปแล้วจำนวนเงิน 970,800 บาท แต่ อบจ.มหาสารคาม ไม่ได้ส่งมอบรถพยาบาลฉุกเฉินให้แก่ อปท. ที่จัดบริการสาธารณะร่วมกันตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกันจัดทำบริการสาธารณะของ อปท. ในเขตจังหวัดมหาสารคาม โดยได้ส่งมอบในช่วงเดือนตุลาคม 2558 ถึง พฤษภาคม 2559 รถพยาบาลฉุกเฉินในช่วงที่ยังไม่ได้ส่งมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามระยะเวลาการเช่า เป็นความสูญเปล่าของการใช้จ่ายเงินของโครงการ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 2,089,988.92 บาท อีกทั้งมีการกำหนดอัตราค่าเช่าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ปรับปรุงตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 24 เมษายน 2555 และไม่ได้กำหนดอุปกรณ์การแพทย์พื้นฐานประกอบรถพยาบาลฉุกเฉิน ตามรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะ แนบท้ายบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์ ของสำนักงบประมาณ พ.ศ. 2558 ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบสืบสวนของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน...”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานตรวจสอบสำคัญของไทย มีหน้าที่ในการป้องกันดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ที่ถูกใช้จ่ายไปอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ที่ผ่านมา สตง.ได้มีการเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบเรื่องการใช้จ่ายเงินที่สำคัญไว้หลายเรื่อง สำนักข่าวอิศรา จึงขอเปิดพื้นที่ตรงนี้ ทุกวันเสาร์ รวบรวมข้อมูลผลการตรวจสอบที่สำคัญมานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบ
ในสัปดาห์ที่ 14 จะเป็นการนำเสนอผลรายงานการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการบริหารจัดการ ส่งเสริมสนับสนุนระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน จังหวัดมหาสารคาม ของ องค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม
@ โครงการบริหารจัดการส่งเสริมสนับสนุนระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน จังหวัดมหาสารคาม ของ องค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม
ด้วยพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 มีเจตนารมณ์ในการทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉิน ได้รับการคุ้มครองสิทธิ ในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึง เท่าเทียม มีคุณภาพมาตรฐาน โดยได้รับการช่วยเหลือและรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพและทันต่อเหตุการณ์องค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม (อบจ.มหาสารคาม) ดำเนินโครงการบริหารจัดการ ส่งเสริมสนับสนุนระบบบริการ การแพทย์ฉุกเฉิน จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน แห่งชาติ (สพฉ.) กับ จังหวัดมหาสารคาม อบจ.มหาสารคาม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม (สสจ.มหาสารคาม) สถานีตำรวจภูธรจังหวัดมหาสารคาม นายกเทศมนตรี และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นในจังหวัดมหาสารคาม เพื่อให้การพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ต่อเนื่อง และยั่งยืน ผลการตรวจสอบมีข้อตรวจพบ ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 การดำเนินกิจกรรมเช่ารถพยาบาลฉุกเฉินตามโครงการไม่บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด
1. อบจ.มหาสารคาม ได้จัดทำโครงการฯ ระยะเวลาดำเนินการ มีนาคม – กันยายน 2558 งบประมาณโครงการวงเงิน 22,138,388 บาท ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 อบจ.มหาสารคาม ได้จัดสรรงบประมาณ ตามข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ในหมวดค่าใช้สอย ประเภทรายจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งบริการ จำนวน 25,987,000 บาท เพื่อจ่ายเป็นค่าเช่ารถพยาบาลฉุกเฉิน จำนวน 90 คัน คันละ 24,430 บาทต่อเดือน ระยะเวลาเช่า 10 เดือน จำนวนเงิน 21,987,000 บาท และเพื่อจ่ายเป็น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ จำนวนเงิน 4,000,000 บาท และโอนเพิ่ม/ลดงบประมาณรายจ่ายเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งศูนย์สั่งการการแพทย์ฉุกเฉิน จำนวนเงิน 12,503,000 บาท
2. การเช่ารถพยาบาลฉุกเฉิน โดยวิธีการประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e–auction) เช่ารถพยาบาลฉุกเฉิน จำนวน 40 คัน ระยะเวลาเช่า 5 ปี กำหนดราคากลาง 58,560,000 บาท ผู้เสนอราคาต่ำสุด คือ บริษัท แครี่บอยลิสซิ่ง จำกัด จำนวนเงิน 58,248,000 บาท และทำสัญญาเช่ารถพยาบาลฉุกเฉิน ตามสัญญาเลขที่ 03/2558 ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2558 ตกลงเช่ารถพยาบาลฉุกเฉิน จำนวน 40 คัน ระยะเวลา 5 ปี อัตราค่าเช่าเดือนละ 970,800 บาท รวมเป็น เงินทั้งสิ้น 58,248,000.00 บาท เพียงวันที่ 15 สิงหาคม 2559 เบิกจ่ายเงินค่าเช่ารถเดือนกันยายน 2558 – มิถุนายน 2559 จำนวนเงิน 9,708,000 บาท
การดำเนินการตามภารกิจในการเช่ารถยนต์ดัดแปลงเป็นรถพยาบาลฉุกเฉิน พร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิต จำนวน 40 คัน อบจ.มหาสารคาม ได้ส่งมอบรถพยาบาลฉุกเฉินให้องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 39 คัน และนำมาบริหารจัดการเอง จำนวน 1 คัน จากการสุ่มตรวจสอบการใช้รถพยาบาลฉุกเฉิน จำนวน 24 แห่ง พบว่า
1. อปท. จำนวน 2 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 8.33 ไม่มีการนำรถพยาบาลฉุกเฉินมาให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน
2. อปท. จำนวน 22 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 91.67 มีการนำรถพยาบาลฉุกเฉินไปใช้ในกิจกรรมที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการแพทย์ฉุกเฉิน
นอกจากนี้ จากการสุ่มสอบถามประชาชนที่เคยใช้บริการรถพยาบาลฉุกเฉินในพื้นที่ อปท. ในจังหวัดมหาสารคาม จำนวน 18 แห่ง ที่ได้รับสนับสนุนรถพยาบาลฉุกเฉิน พบว่า ประชาชนบางรายใช้บริการรถพยาบาลฉุกเฉินโดยไม่ได้มีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุ เช่น การไปพบแพทย์ที่ โรงพยาบาลตามนัดทั้งโรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลประจจังหวัด และโรงพยาบาลนอกเขตจังหวัด การโทรศัพท์เรียกรถพยาบาล (เบอร์โทรศัพท์ของเจ้าหน้าที่/นายกฯ) เพื่อรับกลับบ้าน เป็นต้น และ ประชาชน 1 ราย มีอาการท้องเสีย ได้ร้องขอให้รถพยาบาลฉุกเฉินของ อปท. พามารักษาที่ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งอยู่นอกเขตความรับผิดชอบของชุดปฏิบัติการฉุกเฉิน
ผลกระทบ
การดำเนินการไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด อาจทำให้ประชาชนเสียโอกาส ที่จะได้รับบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน หากเกิดอุบัติเหตุระหว่างทาง ทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ ในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างมีคุณภาพมาตรฐาน และ อปท. อาจมีภาระค่าใช้จ่ายค่าน้ำมันที่เพิ่มขึ้น จากการให้บริการนอกเขตพื้นที่ความรับผิดชอบ
สาเหตุ
อปท. นำรถพยาบาลฉุกเฉินไปใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการแพทย์ฉุกเฉิน และนำรถไปใช้นอกเขตความรับผิดชอบของชุดปฏิบัติการฉุกเฉิน เนื่องมาจาก อบจ.มหาสารคาม ไม่มีการติดตามตรวจสอบและควบคุมให้ อปท. ที่ได้รับรถพยาบาลฉุกเฉินปฏิบัติตามประกาศสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2553 เรื่อง หลักเกณฑ์การสนับสนุนการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินท้องถิ่น พ.ศ. 2553 รวมถึง ประกาศคณะกรรมการ การแพทย์ฉุกเฉิน ลงวันที่ 15 กันยายน 2554 เรื่อง การให้ประกาศนียบัตรและการปฏิบัติการฉุกเฉิน ของผู้ปฏิบัติการ พ.ศ. 2554 และไม่เป็นไปตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับระบบการแพทย์ฉุกเฉิน
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการของ อปท. ได้รับการประสานหรือสั่งการโดยตรงจาก ผู้บังคับบัญชาให้นำรถไปใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการแพทย์ฉุกเฉิน หรือนำรถไปใช้นอกเขตความรับผิดชอบของชุดปฏิบัติการฉุกเฉิน
ข้อเสนอแนะ ให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม ดำเนินการดังนี้
1. กำชับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการสนับสนุนรถพยาบาลฉุกเฉินให้นำรถไปใช้ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน หากพบว่ามีการนำรถพยาบาลฉุกเฉินไปใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ให้ติดตามตรวจสอบ และหามาตรการควบคุมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังกล่าวปฏิบัติตาม
2. สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องติดตามตรวจสอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการ สนับสนุนรถพยาบาลฉุกเฉิน ปฏิบัติตามประกาศสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2553 เรื่องหลักเกณฑ์การสนับสนุนการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ท้องถิ่น พ.ศ. 2553 และตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน ลงวันที่ 15 กันยายน 2554 เรื่อง การให้ประกาศนียบัตรและการปฏิบัติการฉุกเฉินของผู้ปฏิบัติการ พ.ศ. 2554 และปฏิบัติตาม มาตรฐานและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับระบบการแพทย์ฉุกเฉิน
ข้อตรวจพบที่ 2 องค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม ไม่มีการสำรวจความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการสนับสนุนรถพยาบาลฉุกเฉิน
1. อบจ.มหาสารคาม ดำเนินการเช่ารถพยาบาลฉุกเฉิน จำนวน 40 คัน อัตราค่าเช่าคันละ 24,430 บาท ระยะเวลาเช่า 5 ปี (ตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 – เดือนสิงหาคม 2563) วงเงินค่าเช่า 58,248,000 บาท ตั้งงบประมาณในหมวดค่าใช้สอย ประเภทรายจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งบริการ (ค่าเช่ารถพยาบาลฉุกเฉิน) โดยไม่ได้ขอยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยวิธีการงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 4. และ ข้อ 38 และได้ตรวจรับรถพยาบาลฉุกเฉินจาก บริษัท แครี่บอยลิสซิ่ง จำกัด ในวันที่ 27 และ 28 สิงหาคม 2558 โดยมีการเบิกจ่ายเงินค่าเช่างวดแรกประจำเดือนกันยายน 2558 ให้ผู้ให้เช่าไปแล้วจำนวนเงิน 970,800 บาท แต่ อบจ.มหาสารคาม ไม่ได้ส่งมอบรถพยาบาลฉุกเฉินให้แก่ อปท. ที่จัดบริการสาธารณะร่วมกันตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกันจัดทำบริการสาธารณะของ อปท. ในเขตจังหวัดมหาสารคาม โดยได้ส่งมอบในช่วงเดือนตุลาคม 2558 ถึง พฤษภาคม 2559 รถพยาบาลฉุกเฉินในช่วงที่ยังไม่ได้ส่งมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามระยะเวลาการเช่า เป็นความสูญเปล่าของการใช้จ่ายเงินของโครงการ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 2,089,988.92 บาท อีกทั้งมีการกำหนดอัตราค่าเช่าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ปรับปรุงตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 24 เมษายน 2555
และไม่ได้กำหนดอุปกรณ์การแพทย์พื้นฐานประกอบรถพยาบาลฉุกเฉิน ตามรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะ แนบท้ายบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์ ของสำนักงบประมาณ พ.ศ. 2558 ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบ สืบสวนของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน แจ้งตามหนังสือสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดมหาสารคาม ลับ ที่ ตผ 0049.4 มค/0409 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2559 เรื่อง การตรวจสอบการเช่ารถพยาบาลฉุกเฉินขององค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม
2. การดำเนินการเช่ารถยนต์ดัดแปลงเป็นรถพยาบาลฉุกเฉิน พร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิต จำนวน 40 คัน ของ อบจ.มหาสารคาม ได้มีการส่งมอบรถพยาบาลฉุกเฉินให้ อปท. ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 39 คัน และนำมาบริหารจัดการเอง จ านวน 1 คัน จากการสุ่มตรวจสอบ อปท. ที่ได้รับรถพยาบาลฉุกเฉิน จำนวน 23 แห่ง และที่ อบจ.มหาสารคาม รวมเป็น 24 แห่ง พบว่า
2.1 อปท. จำนวน 2 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 8.33 ของ สามารถให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินได้ทันทีภายหลังจากการส่งมอบรถ เนื่องจากมีการจัดตั้งชุดปฏิบัติการอยู่ก่อนที่จะได้รับสนับสนุนรถพยาบาลฉุกเฉิน
2.2 อปท. จำนวน 2 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 8.33 ไม่มีการนำรถพยาบาลฉุกเฉินที่ได้รับการสนับสนุนจาก อบจ.มหาสารคาม มาให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน
2.3 อปท. และ อบจ.มหาสารคาม รวม 20 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 83.34 ดำเนินงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินภายหลังจากวันที่รับรถพยาบาลฉุกเฉินจาก อบจ.มหาสารคาม โดยมีระยะเวลาจากวันที่รับรถถึงเดือนที่เริ่มดำเนินงานตาม ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ตั้งแต่ 1–9 เดือน
3. จากการสุ่มสอบถามเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการ ณ วันที่ 25 สิงหาคม 2559 ของ อปท. จำนวน 22 แห่ง (เฉพาะที่มีการดำเนินการ) ที่ได้รับสนับสนุนรถพยาบาลฉุกเฉินจาก อบจ.มหาสารคาม พบว่า อปท. จำนวน 2 แห่ง มีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการออกปฏิบัติงาน โดยยังไม่ขึ้นทะเบียนกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการ จำนวน 2 ราย เป็นผู้ไม่มีรายชื่อสำเร็จการศึกษา หรือผ่านการอบรมตามวิธีการและหลักเกณฑ์และการสอบตามที่อนุกรรมการรับรอง องค์กรและหลักสูตรการศึกษาและฝึกอบรมผู้ปฏิบัติการ (อศป.) กำหนด
ผลกระทบ
1. เกิดความสูญเปล่าของการใช้จ่ายเงินของโครงการในช่วงที่ไม่ได้ส่งมอบรถพยาบาลฉุกเฉิน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ใช้ประโยชน์ตามระยะเวลาการเช่า ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม เป็นจำนวนเงิน 2,089,988.92 บาท
2. องค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการเช่ารถพยาบาลฉุกเฉิน โดยไม่มีการใช้รถพยาบาลฉุกเฉินตามระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ในระหว่างที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนชุดปฏิบัติการ หรือขึ้นทะเบียนแล้วแต่ไม่มีการดำเนินการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน
3. ทำให้ประชาชนเสียโอกาสที่จะได้รับบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทันท่วงที หากเกิด เหตุฉุกเฉินหรือมีผู้ป่วยฉุกเฉินในช่วงที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับรถพยาบาลฉุกเฉินจากองค์การ บริหารส่วนจังหวัดไปแล้ว แต่ไม่สามารถให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินได้ตามระบบ
4. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ให้บริการโดยไม่ผ่านระบบของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน หรือมีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานไม่ผ่านการฝึกอบรมหรือขึ้นทะเบียน อาจทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงที่จะได้รับบริการไม่เป็นไปตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกำหนด
สาเหตุ
1. การดำเนินงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินขาดการบริหารจัดการโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ
2. องค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม ไม่มีการสำรวจความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
3. ไม่มีการติดตามตรวจสอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการสนับสนุนรถพยาบาลฉุกเฉิน ปฏิบัติตามประกาศสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การสนับสนุนการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินท้องถิ่น พ.ศ. 2553
ข้อเสนอแนะ ให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม ดำเนินการดังนี้
1. เร่งรัดดำเนินการตามหนังสือสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดมหาสารคาม ลับ ที่ ตผ 0049.4 มค/0409 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2559 เรื่อง การตรวจสอบการเช่ารถพยาบาล ฉุกเฉินขององค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม
2. ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคามต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการเช่ารถพยาบาลฉุกเฉิน โดยไม่มีการใช้รถพยาบาลฉุกเฉินตามระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ในระหว่างที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่มีการขึ้นทะเบียนชุดปฏิบัติการ หรือขึ้นทะเบียนแล้วแต่ไม่มีการดำเนินการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน หากเกิดจากเจ้าหน้าที่กระทำหรือละเว้นกระทำในลักษณะการฝ่าฝืน หรือหลีกเลี่ยงหรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทำให้ราชการเสียหาย ขอให้หาผู้รับผิดชอบและชดใช้ทางละเมิด และพิจารณาโทษทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องตามควรแก่กรณี
3. สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องติดตามตรวจสอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการ สนับสนุนรถพยาบาลฉุกเฉิน ปฏิบัติตามประกาศสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2553 เรื่อง หลักเกณฑ์การสนับสนุนการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินท้องถิ่น พ.ศ. 2553 รวมทั้งพัฒนากลไกเพื่อผลักดันให้มีการดำเนินการตามประกาศและหรือข้อบังคับที่กำหนด
4. สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสำรวจผลการดำเนินการด้านการแพทย์ฉุกเฉินขององค์กรปกครองครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการสนับสนุนรถพยาบาลฉุกเฉิน เพื่อให้ทราบข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและปัญหาอุปสรรค และหาแนวทางการดำเนินงานต่อไป หรือยุติการดเนินงาน หากมีการดำเนินโครงการในอนาคต ควรมีการสำรวจความพร้อม กำหนดกรอบระยะเวลาในการปฏิบัติงานในแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจน มีระบบการติดตาม ควบคุม การรายงานผลการดำเนินงานปัญหาอุปสรรคและแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง
----
ในสัปดาห์หน้า สำนักข่าวอิศราจะนำเสนอผลการตรวจสอบที่สำคัญของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเรื่องใด โปรดติดตาม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
เปิดกรุผลสอบสตง.(1) ชำแหละงบพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกาญฯ ไม่คุ้มค่า ห้องอาบน้ำแร่ถูกทิ้งร้าง
เปิดกรุผลสอบสตง.(2) ตรวจงบยกระดับหมู่บ้านโคราช ใช้ภาพเดียวเบิกเงิน 6 โครงการรวด
เปิดกรุผลสอบสตง.(3) ตรวจการผลิต-ใช้พลังงานทดแทน ‘กรมการพลังงานทหาร’ ล้มเหลวไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(4) ตรวจนโยบายร.ร.ดีใกล้บ้าน ยกระดับการศึกษาล้ม-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(5) ตรวจโครงการพัฒนาลำเชียงไกรโคราช ไม่เสร็จตามแผน-ซื้อของเกินจำเป็น
เปิดกรุผลสอบสตง.(6) ตรวจโครงการพัฒนาพืช-พลังงาน จ.ขอนแก่น 113ล. ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(7) ตรวจโครงการพลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้า-ประปาจ.กาญจนฯ ล้มเหลว-เบิกจ่ายเท็จ
เปิดกรุผลสอบสตง.(8) ตรวจโครงการควมคุมอาคารเขตเทศบาลนคร/เมือง ไม่ปลอดภัย-ผิดกม.อื้อ
เปิดกรุผลสอบสตง.(9) ตรวจการควบคุมเคมีทางเกษตร พบสารต้องห้าม-ร้านขายไม่ปลอดภัย-ผิดกม.
เปิดกรุผลสอบสตง.(10) ตรวจโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติด อปท.ลำปาง ไม่คุ้มงบ-ผิดวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(11) ตรวจโครงการสินค้าเกษตร 4.0 สุพรรณฯ ไม่พร้อมดำเนินการ-ไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(12) ตรวจโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว ขาดความต่อเนื่อง-ไม่ยั่งยืน
เปิดกรุผลสอบสตง.(13) ตรวจศูนย์อาชีพผู้สูงอายุ ไม่เป็นตามวัตถุประสงค์-จัดซื้อไม่คุ้มค่า