เปิดกรุผลสอบสตง.(31) ปศุสัตว์ปลอดภัย จ.พะเยา ผิดระเบียบ-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
“...สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพะเยามีหนังสือแจ้งการส่งมอบอาคารโรงฆ่าสัตว์ และชำแหละสุกรพร้อมครุภัณฑ์ให้เทศบาลตำบลเชียงม่วน อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ตามหนังสือที่ พย 0008/3670 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2560 และมีหนังสือแจ้งการส่งมอบอาคารโรงฆ่าสัตว์และชำแหละสุกรพร้อมครุภัณฑ์ให้เทศบาลตำบลปง อำเภอปง จังหวัดพะเยา ตามหนังสือที่ พย 0008/3669 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2560 ทั้งนี้จังหวัดพะเยาโดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพะเยา ได้ดำเนินการแจ้งให้สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ พะเยา เพื่อขอขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุตามแบบที่กรมธนารักษ์กำหนดภายหลังสามสิบวันนับแต่วันที่ปลูกสร้าง แล้วเสร็จ ไม่เป็นไปตามกฎกระทรวงดังกล่าวข้างต้น และปัจจุบันสำนักงานธนารักษ์พื้นที่พะเยายังมิได้ดำเนินการรับขึ้นอาคารดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุแต่อย่างใด...”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานตรวจสอบสำคัญของไทย มีหน้าที่ในการป้องกันดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ที่ถูกใช้จ่ายไปอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ที่ผ่านมา สตง.ได้มีการเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบเรื่องการใช้จ่ายเงินที่สำคัญไว้หลายเรื่อง สำนักข่าวอิศรา จึงขอเปิดพื้นที่ตรงนี้ ทุกวันเสาร์ รวบรวมข้อมูลผลการตรวจสอบที่สำคัญมานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบ
ในสัปดาห์ที่ 31 จะเป็นการนำเสนอผลการตรวจสอบการดำเนินงาน โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูป สินค้าปศุสัตว์ปลอดภัย สำนักงานจังหวัดพะเยา กระทรวงมหาดไทย
@ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูป สินค้าปศุสัตว์ปลอดภัย สำนักงานจังหวัดพะเยา กระทรวงมหาดไทย
จังหวัดพะเยาได้รับการจัดสรรงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2559 แผนงานส่งเสริมการพัฒนาจังหวัด และกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปสินค้าปศุสัตว์ปลอดภัย เป็นเงิน 14,958,000 บาท โดยมอบหมายให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพะเยา เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการตามโครงการดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการ ดังนี้
1. ควบคุมป้องกันโรคอุบัติใหม่จากโรคระบาดสัตว์สุกร และโรคอุบัติใหม่ติดต่อจากสัตว์สู่คน เช่น โรคอีโบล่า เป็นต้น
2. เพื่อผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยด้านปศุสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อสุกรชำแหละ มิให้ปนเปื้อนสารตกค้างและติดต่อเชื้อโรคมาจากการชำแหละ ประเภท Streptococussuis (โรคหูดับ) และอื่นๆ
3. เพื่อป้องกันโรคติดต่อระบบทางเดินอาหารของผู้บริโภคเนื้อสุกร จากการฆ่าสัตว์ประเภท สุกรไม่ถูกวิธี เช่น โรคพยาธิ โรคติดเชื้อกลุ่ม Clostridium
4. เพื่อให้ประชากรที่อยู่ใกล้ตามแนวชายแดนหรือถิ่นทุรกันดารไม่มีโรงฆ่าสัตว์มาตรฐานของ จังหวัดพะเยา ปราศจากโรคระบาดสัตว์จากการฆ่าหรือชำแหละสุกร
5. เป็นการเพิ่มศักยภาพและควบคุมโรงฆ่าสัตว์ให้มีมาตรฐานในจังหวัดพะเยาตามนโยบาย ของรัฐบาลและได้รับมาตรฐาน (ฆ.จ.ส.2) ตามหลักเกณฑ์กรมปศุสัตว์ต่อไป
ข้อตรวจพบที่ 1 ผลการดำเนินการตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปสินค้าปศุสัตว์ ปลอดภัยไม่บรรลุวัตถุประสงค์โครงการ
1. เทศบาลตำบลเชียงม่วน
เทศบาลตำบลเชียงม่วนไม่มีโรงฆ่าสัตว์และชำแหละสุกรที่ได้มาตรฐานในพื้นที่ ปัจจุบันดำเนินการฆ่าสุกรนอกโรงฆ่าสัตว์ และเป็นอำเภอที่อยู่ใกล้ตามแนวชายแดน สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพะเยา จึงได้ก่อสร้างโรงฆ่าสัตว์และชำแหละสุกร ในพื้นที่ของเทศบาลตำบลเชียงม่วน อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา จากการตรวจสอบทะเบียนคุมผู้ประกอบการที่จำหน่ายเนื้อสุกรในเขตเทศบาลตำบลเชียงม่วน พบว่า มีผู้ประกอบการที่จำหน่ายเนื้อสุกร จำนวน 8 ราย จากการตรวจสอบการดำเนินการตามโครงการ พบว่า
1.1 ด้านการก่อสร้างโรงฆ่าสัตว์และชำแหละสุกร
จากการตรวจสอบสัญญาจ้างทั่วไป สัญญาเลขที่ ปศ 1/2559 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2559 จังหวัดพะเยาโดย นายพงศ์พัฒน์ ขัตพันธ์ ตำแหน่ง ปศุสัตว์จังหวัดพะเยา ได้ตกลงจ้าง บริษัท แปดริ้ว เครื่องเย็นเชียงใหม่ (1994) จำกัด ก่อสร้างโรงฆ่าสุกรพร้อมติดตั้งครุภัณฑ์ (81.10.15.13) ณ หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านมาง อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา จำนวนเงิน 7,055,000.00 บาท (เจ็ดล้านห้าหมื่นห้าพันบาทถ้วน) กำหนด ระยะเวลาทำงานให้แล้วเสร็จบริบูรณ์ภายในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2559 ผู้รับจ้างได้ส่งมอบงานงวดสุดท้าย เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 คณะกรรมการตรวจรับงานก่อสร้างโรงฆ่าสัตว์ได้ตรวจรับงาน เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2559 และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพะเยา ได้แจ้งการส่งมอบอาคารโรงฆ่าสัตว์และชำแหละ สุกรพร้อมครุภัณฑ์ให้ เทศบาลตำบลเชียงม่วน อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ตามหนังสือ ที่ พย 0008/3670 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2560 ซึ่งส่งมอบอาคารล่าช้านับถัดจากวันตรวจรับงานจำนวน 206 วัน
จากการตรวจสอบสังเกตการณ์สิ่งก่อสร้างเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2560 พบว่า
(1) อาคารโรงฆ่าสัตว์และชำแหละสุกรพร้อมครุภัณฑ์ตามโครงการยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ แต่อย่างใด เนื่องจากขาดระบบสาธารณูปโภค
(2) ถนนทางเข้าโรงฆ่าสัตว์และชำแหละสุกรยังเป็นถนนลูกรัง ไม่มีรั้วรอบอาคาร ไม่มีคำสั่งเวรยามรักษาการณ์สถานที่ราชการเทศบาลตำบลเชียงม่วน
1.2 ด้านการงบประมาณ
เทศบาลตำบลเชียงม่วน ได้ตราเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 เป็นหมวดค่าสาธารณูปโภค โดยแบ่งเป็น 2 รายการ คือ
(1) ค่าไฟฟ้าระบบกล้องวงจรปิด ศูนย์สุขภาพชุมชน เทศบาล โรงฆ่าสัตว์เทศบาลตำบลเชียงม่วน ฯลฯ จำนวน 50,000 บาท
(2) เงินอุดหนุนให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอจุน ในการดำเนินการขยายเขตไฟฟ้าสู่พื้นที่โรงฆ่าสัตว์เทศบาลตำบลเชียงม่วน จำนวน 200,000 บาท
โดยเทศบาลตำบลเชียงม่วนได้จ่ายเงินอุดหนุนให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอจุน เพื่อดำเนินการขยายเขตไฟฟ้า สู่พื้นที่โรงฆ่าสัตว์และชำแหละสุกร จำนวน 121,201.81 บาท เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2560
ขณะตรวจสอบ พบว่า เทศบาลตำบลเชียงม่วน อยู่ระหว่างการจัดทำร่างเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 โดย
(1) จัดทำร่างงบประมาณงบดำเนินงาน หมวดค่าใช้สอยเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างเหมาบริการพนักงานประจำโรงฆ่าสัตว์ ในอัตราเดือนละ 7,000 บาท จำนวน 336,000 บาท
(2) จัดทำร่างงบประมาณค่าวัสดุงานบ้านงานครัว เพื่อจ่ายเป็นค่าวัสดุงานบ้านงานครัว โรงฆ่าสัตว์ของเทศบาล จำนวน 30,000 บาท
(3) จัดทำร่างงบประมาณค่าสาธารณูปโภค ประเภทค่าไฟฟ้า จำนวน 60,000 บาท
(4) จัดทำร่างงบประมาณค่าครุภัณฑ์ โดยแบ่งเป็น 2 รายการ คือ
(4.1) จัดซื้อครุภัณฑ์สำนักงานเพื่อจัดซื้อถังบรรจุน้ำ ขนาด 2,000 ลิตร จำนวน 6 ถัง จำนวน 90,000 บาท
(4.2) จัดซื้อปั๊มน้ำอัตโนมัติพร้อมอุปกรณ์ติดตั้ง ขนาดไม่น้อยกว่า 400 วัตต์ พร้อมอุปกรณ์ติดตั้งระบบท่อส่งน้ำเข้าสู่โรงฆ่าสัตว์จำนวน 2 เครื่อง จำนวน 60,000 บาท
1.3 เทศบัญญัติเพื่อควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์
จากการตรวจสอบ พบว่า เทศบาลตำบลเชียงม่วน อยู่ระหว่างการจัดทำร่างเทศบัญญัติ เรื่อง การควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์
2. เทศบาลตำบลปง
เทศบาลตำบลปง อำเภอปง จังหวัดพะเยา เดิมมีโรงฆ่าสัตว์ตั้งอยู่บริเวณหลังที่ว่าการอำเภอปง จังหวัดพะเยา เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2517 ปัจจุบันโรงฆ่าสัตว์มีสภาพชำรุดทรุดโทรม ตลอดจนตั้งอยู่ใกล้กับสถานที่ราชการ คือ ที่ว่าการอำเภอปง และที่พักอาศัย ขณะที่ทำการฆ่าและชำแหละสุกร ก่อให้เกิดมลภาวะทางเสียงและกลิ่นรบกวนผู้อยู่อาศัย และยังอยู่ติดกับแม่น้ำยม สำนักงานปศุสัตว์ จังหวัดพะเยา จึงได้ก่อสร้างโรงฆ่าสัตว์และชำแหละสุกรแห่งใหม่ ในพื้นที่ของเทศบาลตบลปง
จากการตรวจสอบทะเบียนคุมผู้ประกอบการที่จำหน่ายเนื้อสุกรในเขตเทศบาลตำบลปง พบว่า มีผู้ประกอบการที่จำหน่ายเนื้อสุกร จำนวน 11 ราย โดยฆ่าที่โรงฆ่าสัตว์ของเทศบาลตำบลปง จำนวน 3 ราย ฆ่าที่บ้าน จำนวน 5 ราย และซื้อเนื้อสุกรของ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) มาจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค จำนวน 3 ราย จากการตรวจสอบการดำเนินการตามโครงการ พบว่า
2.1 ด้านการก่อสร้างโรงฆ่าสัตว์และชำแหละสุกร
จากการตรวจสอบสัญญาจ้างทั่วไป สัญญาเลขที่ ปศ 2/2559 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2559 จังหวัดพะเยาโดย นายพงศ์พัฒน์ ขัตพันธ์ ตำแหน่งปศุสัตว์จังหวัดพะเยา ได้ตกลงจ้าง บริษัท แปดริ้ว เครื่องเย็นเชียงใหม่ (1994) จำกัด ก่อสร้างโรงฆ่าสุกรพร้อมติดตั้งครุภัณฑ์ (81.10.15.13) ณ หมู่ที่ 3 ตำบลปง อำเภอปง จังหวัดพะเยา จำนวนเงิน 7,055,000 บาท (เจ็ดล้านห้าหมื่นห้าพันบาทถ้วน) กำหนดระยะเวลาทำงานให้แล้วเสร็จบริบูรณ์ภายในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2559 ผู้รับจ้างได้ส่งมอบงานงวดสุดท้าย เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 คณะกรรมการตรวจรับงานก่อสร้างโรงฆ่าสัตว์ได้ตรวจรับงาน เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพะเยา ได้แจ้งการส่งมอบอาคารโรงฆ่าสัตว์และชำแหละสุกรพร้อมครุภัณฑ์ให้ เทศบาลตำบลปง ตามหนังสือที่ พย 0008/3669 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2560 ซึ่งส่งมอบอาคารล่าช้านับถัดจากวันตรวจรับงานจำนวน 204 วัน
จากการตรวจสอบสังเกตการณ์สิ่งก่อสร้างเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2560 พบว่า
(1) อาคารโรงฆ่าสัตว์และชำแหละสุกรพร้อมครุภัณฑ์ตามโครงการยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ แต่อย่างใด เนื่องจากขาดระบบสาธารณูปโภค
(2) ถนนทางเข้าโรงฆ่าสัตว์และชำแหละสุกร ยังเป็นถนนลูกรัง ไม่มีรั้วรอบอาคารไม่มีคำสั่งเวรยามรักษาการณ์สถานที่ราชการเทศบาลตำบลปง
2.2 ด้านการงบประมาณ
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 เทศบาลตำบลปง ได้ตราเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ดังนี้
(1) หมวดค่าตอบแทนใช้สอยและวัสดุ เพื่อเป็นค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติงานราชการอันเป็นประโยชน์แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 30,000 บาท
(2) หมวดค่าตอบแทนใช้สอยและวัสดุ เพื่อเป็นค่าจ้างเหมาบริการเพื่อให้ผู้รับจ้างทำการอย่างหนึ่งอย่างใด จำนวน 914,000 บาท
(3) หมวดค่าตอบแทนใช้สอยและวัสดุ เพื่อเป็นรายจ่ายค่าวัสดุ เช่น วัสดุสำนักงาน วัสดุงานบ้านงานครัว เป็นต้น จำนวน 715,000 บาท
(4) หมวดค่าสาธารณูปโภค ประเภทค่าไฟฟ้าและค่าน้ำสำหรับศูนย์บริการ สาธารณสุขและโรงฆ่าสัตว์หรือที่เกี่ยวข้อง จำนวน 80,000 บาท
(5) หมวดค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง เพื่อเป็นค่าติดตั้งระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์ ติดตั้ง ครั้งแรกในอาคารหรือสถานที่ราชการพร้อมการก่อสร้าง หรือภายหลังการก่อสร้างเพื่อก่อสร้างขยาย เขตระบบไฟฟ้าแรงต่ำโรงฆ่าสัตว์ โดยจะดำเนินการต่อเมื่อได้รับการโอนโรงฆ่าสัตว์ ตั้งจ่ายจากเงิน อุดหนุนทั่วไป จำนวน 200,000 บาท
(6) หมวดค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง เพื่อเป็นค่าติดตั้งระบบประปาและอุปกรณ์ ซึ่งติดตั้งครั้งแรกในอาคารหรือสถานที่ราชการพร้อมการก่อสร้าง หรือภายหลังการก่อสร้าง โดยจะดำเนินการต่อเมื่อได้รับการโอนโรงฆ่าสัตว์ จำนวน 100,000 บาท
2.3 เทศบัญญัติเพื่อควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์
ขณะตรวจสอบ พบว่า เทศบาลตำบลปง ยังไม่ได้ตราหรือจัดทำร่างเทศบัญญัติ เรื่อง การควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์
ข้อเสนอแนะ ให้ปศุสัตว์จังหวัดพะเยา พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. ในโอกาสต่อไปหากมีโครงการลักษณะเช่นนี้ ควรจัดทำโครงการโดยประมาณการระบบสาธารณูปโภคให้ครบถ้วนด้วย เพื่อให้การดำเนินการตามโครงการมีความสมบูรณ์พร้อมที่จะดำเนินการได้ทันทีภายหลังก่อสร้างแล้วเสร็จ
2. กำชับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบศึกษากฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานที่รับมอบพัสดุมาใช้งานเพื่อให้หน่วยงานนั้นๆ สามารถใช้ประโยชน์ในพัสดุได้ทันทีที่รับมอบ และเพื่อป้องกันความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในเรื่องการจัดทำงบประมาณรายจ่ายและการเบิกจ่ายเงิน
ข้อตรวจพบที่ 2 การดำเนินการตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปสินค้าปศุสัตว์ปลอดภัย ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง
2.1 กฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการปกครอง ดูแล บำรุงรักษาใช้และจัดหาประโยชน์ เกี่ยวกับที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2545 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2549 ข้อ 6 กำหนดดังนี้ “ในกรณีที่ผู้ใช้ที่ราชพัสดุใดปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นที่ราชพัสดุไม่ว่าจะปลูกสร้างในที่ดินซึ่งเป็นที่ราชพัสดุหรือในที่ดินอื่น ให้แจ้งกรมธนารักษ์หรือสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนที่ราชพัสดุนั้น ตามแบบที่ กรมธนารักษ์กำหนดภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ปลูกสร้างเสร็จ เพื่อดำเนินการขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุ
ให้นำความในวรรคหนึ่ง มาใช้บังคับแก่การดัดแปลงหรือต่อเติมอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็น ที่ราชพัสดุ และมีมูลค่าของการดัดแปลงหรือต่อเติมอาคารไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านบาทด้วยโดยอนุโลม”
จากการตรวจสอบ พบว่า สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพะเยามีหนังสือแจ้งการส่งมอบอาคารโรงฆ่าสัตว์ และชำแหละสุกรพร้อมครุภัณฑ์ให้เทศบาลตำบลเชียงม่วน อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ตามหนังสือที่ พย 0008/3670 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2560 และมีหนังสือแจ้งการส่งมอบอาคารโรงฆ่าสัตว์และชำแหละสุกรพร้อมครุภัณฑ์ให้เทศบาลตำบลปง อำเภอปง จังหวัดพะเยา ตามหนังสือที่ พย 0008/3669 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2560
ทั้งนี้จังหวัดพะเยาโดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพะเยา ได้ดำเนินการแจ้งให้สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ พะเยา เพื่อขอขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุตามแบบที่กรมธนารักษ์กำหนดภายหลังสามสิบวันนับแต่วันที่ปลูกสร้าง แล้วเสร็จ ไม่เป็นไปตามกฎกระทรวงดังกล่าวข้างต้น และปัจจุบันสำนักงานธนารักษ์พื้นที่พะเยายังมิได้ดำเนินการรับขึ้นอาคารดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุแต่อย่างใด
2.2 ระเบียบพัสดุสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 152 กำหนดว่า เมื่อเจ้าหนา้ที่พัสดุได้รับมอบแล้ว ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ลงบัญชีหรือทะเบียนเพื่อควบคุมพัสดุ แล้วแต่กรณี แยกเป็นชนิด และแสดงรายการ ตามตัวอย่างที่ กวพ. กำหนด โดยให้มีหลักฐานการรับเข้าบัญชีหรือทะเบียนไว้ประกอบรายการด้วยสำหรับพัสดุประเภทอาหารสด จะลงรายการอาหารสดทุกชนิดในบัญชีเดียวกันก็ได้
(2) เก็บรักษาพัสดุให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ปลอดภัยและให้ครบถ้วนถูกต้องตรงตามบัญชีหรือตามทะเบียน
2.3 ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 203 ก าหนดว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับมอบพัสดุแล้ว ให้ดำเนินการลงบัญชีหรือทะเบียนเพื่อควบคุมพัสดุ แล้วแต่กรณี แยกเป็นชนิด และแสดงรายการตามตัวอย่างที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด โดยให้มีหลักฐานการรับเงินเข้าบัญชีหรือทะเบียนไว้ประกอบรายการด้วย
จากการตรวจสอบ พบว่า สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพะเยามิได้กำหนดวิธีการควบคุมพัสดุ ครุภัณฑ์ในขณะรอรหัสครุภัณฑ์จากสำนักงานจังหวัดพะเยา และจากการตรวจสอบสังเกตการณ์ ครุภัณฑ์ที่จัดซื้อได้เก็บรักษาไว้ในอาคารโรงฆ่าสัตว์และชำแหละสุกรฯ ทั้งสองแห่งยังไม่ได้บันทึกบัญชี หรือทะเบียนเพื่อควบคุมพัสดุ และมิได้ให้เลขรหัสครุภัณฑ์แต่อย่างใด
ข้อเสนอแนะ
1. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1.1 ติดตามให้สำนักงานธนารักษ์พื้นที่พะเยาดำเนินการขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุตาม กฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้ และจัดหาประโยชน์เกี่ยวกับที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2545 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2549 ข้อ 6
1.2 กำชับให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบดำเนินการตามกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้ และจัดหาประโยชน์เกี่ยวกับที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2545 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2549 ข้อ 6 อย่างเคร่งครัด
1.3 กำชับให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการ จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 203
2. ให้ปศุสัตว์จังหวัดพะเยา พิจารณาหาแนวทางควบคุมครุภัณฑ์ที่จัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้ ในระหว่างที่รอรหัสครุภัณฑ์จากสำนักงานจังหวัดพะเยา
ข้อสังเกตอื่น ขาดการติดตามและประเมินผลโครงการอย่างต่อเนื่อง
จากการตรวจสอบเอกสารโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปสินค้าปศุสัตว์ปลอดภัยของ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพะเยา ดังนี้
1. ตามคำสั่งจังหวัดพะเยา ที่ 1254/2558 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ จังหวัดพะเยา (ก.บ.จ.) ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2558 ตามข้อ 2 อำนาจหน้าที่ กำหนดให้คณะกรรมการฯ กำกับ ให้คำแนะนำ ติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานตามแผนพัฒนาจังหวัด และแผนการปฏิบัติราชการ ประจำปีของจังหวัด และรายงาน ก.น.จ. แต่จากการตรวจสอบพบว่า คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบ บูรณาการจังหวัดพะเยา (ก.บ.จ.) ไม่ได้ติดตามและประเมินผลโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปสินค้า ปศุสัตว์ปลอดภัย ของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพะเยา
2. เอกสารโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปสินค้าปศุสัตว์ปลอดภัย ซึ่งเป็นโครงการ ตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ข้อที่ 10 วิธีการบริหารจัดการหรือการดูแล รักษาเมื่อโครงการแล้วเสร็จเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของโครงการ ได้กำหนดว่า ให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ ระดับอ าเภอช่วยปฏิบัติงานจริง เพื่อให้สามารถดำเนินการต่อเนื่อง หลังเสร็จสิ้นโครงการ และเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัด เข้าร่วมตรวจติดตามทุก 3 เดือน
เอกสารโครงการฯ เป็นเพียงแนวทางการดำเนินงานให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ระดับอำเภอ ให้สามารถดำเนินการได้หลังจากเสร็จสิ้นโครงการ คือวันที่ 30 กันยายน 2559 โดยให้เจ้าหน้าที่ระดับจังหวัด เข้าร่วมตรวจติดตาม ทุก 3 เดือน เท่านั้น แต่ไม่ได้กำหนดเรื่องการติดตามและ ประเมินผลโครงการแต่อย่างใด
3. ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา แจ้งปศุสัตว์จังหวัดพะเยา ตามหนังสือจังหวัดพะเยา ด่วนที่สุด ที่ พย 0017.2/2115 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 เรื่อง การอนุมัติโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปสินค้าปศุสัตว์ปลอดภัย ซึ่งมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการติดตามผล ดังนี้
1. ให้จัดทำรายงานสรุปการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายของจังหวัด ตามแบบ 6 (รายงานสรุปการใช้จ่ายเงินฯ) พร้อมเงินเหลือจ่าย (ถ้ามี) ส่งให้สำนักงานจังหวัด ภายในระยะเวลา 15 วัน นับแต่วันเสร็จสิ้นโครงการเพื่อเป็นหลักฐานในการส่งใช้คืนเงินยืม
2. ให้ดำเนินโครงการให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติงาน และแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามที่สำนักงบประมาณเห็นชอบ และถือปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 เห็นชอบมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559
3. การใช้จ่ายงบประมาณ ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ โดยเคร่งครัด และดำเนินการให้เป็นไปด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม โดยให้รายงานผลการดำเนินการพร้อมภาพถ่ายกิจกรรม ตั้งแต่เริ่มดำเนินการจนถึงสิ้นสุดโครงการให้จังหวัดทราบภายใน 15 วัน นับแต่วันสิ้นสุดโครงการ
ตามหนังสือดังกล่าวข้างต้น เป็นการติดตามการใช้จ่ายเงินงบประมาณของจังหวัดตาม โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปสินค้าปศุสัตว์ปลอดภัย เพื่อให้การใช้จ่ายเงินเป็นไปตามแผนปฏิบัติงานเป็นไปตามระเบียบกฎหมาย และเป็นไปด้วยความโปร่งใส และเป็นธรรม แต่มิได้เป็นแนวทางในการติดตามประเมินผลโครงการแต่อย่างใด
4. ปศุสัตว์จังหวัดพะเยา มีคำสั่งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพะเยา ที่ 25/2560 เรื่อง แต่งตั้ง คณะกรรมการติดตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปสินค้าปศุสัตว์ปลอดภัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2560 ให้คณะกรรมการมีหน้าที่ ดังนี้
1. ติดตามการใช้ประโยชน์โรงฆ่าสัตว์และชำแหละสุกร
2. ควบคุมการฆ่าสัตว์ให้เป็นไปตามหลักวิชาการ
3. รายงานผลการดำเนินงาน/ปัญหาอุปสรรค ให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพะเยาทราบ ทุกสามเดือน
4. งานอื่นๆ ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพะเยามอบหมาย
จากการตรวจสอบ พบว่า คณะกรรมการติดตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปสินค้า ปศุสัตว์ปลอดภัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ที่ได้รับการแต่งตั้งยังไม่ได้ดำเนินการติดตามประเมินผลโครงการ
ข้อเสนอแนะ
1. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาสั่งกำชับให้ คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ จังหวัดพะเยา (ก.บ.จ.) ตามคสั่งจังหวัดพะเยา ที่ 1254/2558 ติดตามและประเมินผลโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปสินค้าปศุสัตว์ปลอดภัย เพื่อติดตามประเมินผลปัญหาและอุปสรรคของโครงการฯ จนกระทั่งโครงการฯ บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ
2. ให้ปศุสัตว์จังหวัดพะเยา พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
2.1 หากมีโครงการพัฒนาจังหวัดในลักษณะเช่นเดียวกันนี้ ให้กำชับผู้จัดทำโครงการหรือผู้รับผิดชอบโครงการ กำหนดกิจกรรมการติดตาม และประเมินผลโครงการ ไว้ในเอกสารโครงการให้ชัดเจน
2.2 กำชับคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งตามคำสั่งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพะเยา ที่ 25/2560 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปสินค้าปศุสัตว์ปลอดภัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2560 ดำเนินการจัดทำแผนการติดตามและประเมินผลความสำเร็จของโครงการฯ ตามตัวชี้วัดที่ได้กำหนดขึ้น
2.3 ในการมอบหมายหน้าที่ในการดูแล ควบคุม ติดตาม ประเมินผลนั้น ควรประชุมเจ้าหน้าที่ ผู้รับผิดชอบพื้นที่และผู้ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ติดตามประเมินผลเพื่อชี้แนะให้เข้าใจวัตถุประสงค์โครงการ ตัวชี้วัดหรือคำจำกัดความเฉพาะให้ชัดเจนเข้าใจตรงกัน เพื่อลดปัญหาการคลาดเคลื่อนของโครงการในการปฏิบัติงาน
2.4 ให้ติดตาม เร่งรัด การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการที่ได้แต่งตั้งให้ปฏิบัติตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายโดยเร็ว เพื่อรวบรวมปัญหาอุปสรรครายงานต่อคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการจังหวัดพะเยา (ก.บ.จ.) เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
----
ในสัปดาห์หน้า สำนักข่าวอิศราจะนำเสนอผลการตรวจสอบที่สำคัญของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเรื่องใด โปรดติดตาม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
เปิดกรุผลสอบสตง.(1) ชำแหละงบพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกาญฯ ไม่คุ้มค่า ห้องอาบน้ำแร่ถูกทิ้งร้าง
เปิดกรุผลสอบสตง.(2) ตรวจงบยกระดับหมู่บ้านโคราช ใช้ภาพเดียวเบิกเงิน 6 โครงการรวด
เปิดกรุผลสอบสตง.(3) ตรวจการผลิต-ใช้พลังงานทดแทน ‘กรมการพลังงานทหาร’ ล้มเหลวไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(4) ตรวจนโยบายร.ร.ดีใกล้บ้าน ยกระดับการศึกษาล้ม-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(5) ตรวจโครงการพัฒนาลำเชียงไกรโคราช ไม่เสร็จตามแผน-ซื้อของเกินจำเป็น
เปิดกรุผลสอบสตง.(6) ตรวจโครงการพัฒนาพืช-พลังงาน จ.ขอนแก่น 113ล. ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(7) ตรวจโครงการพลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้า-ประปาจ.กาญจนฯ ล้มเหลว-เบิกจ่ายเท็จ
เปิดกรุผลสอบสตง.(8) ตรวจโครงการควมคุมอาคารเขตเทศบาลนคร/เมือง ไม่ปลอดภัย-ผิดกม.อื้อ
เปิดกรุผลสอบสตง.(9) ตรวจการควบคุมเคมีทางเกษตร พบสารต้องห้าม-ร้านขายไม่ปลอดภัย-ผิดกม.
เปิดกรุผลสอบสตง.(10) ตรวจโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติด อปท.ลำปาง ไม่คุ้มงบ-ผิดวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(11) ตรวจโครงการสินค้าเกษตร 4.0 สุพรรณฯ ไม่พร้อมดำเนินการ-ไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(12) ตรวจโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว ขาดความต่อเนื่อง-ไม่ยั่งยืน
เปิดกรุผลสอบสตง.(13) ตรวจศูนย์อาชีพผู้สูงอายุ ไม่เป็นตามวัตถุประสงค์-จัดซื้อไม่คุ้มค่า
เปิดกรุผลสอบสตง.(14) ตรวจโครงการแพทย์ฉุกเฉิน อบจ.มหาสารคาม มอบรถพยาบาลช้า-ใช้ผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(15) ตรวจสหกรณ์จ.สุราษฎร์ฯ-ชุมพร ตั้งโรงงานยางพารา แต่ไม่เดินสายพานผลิต
เปิดกรุผลสอบสตง.(16) ตรวจการเก็บค่าภาคหลวงแร่ กรมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ฯ ไม่เป็นตามกฎหาย
เปิดกรุผลสอบสตง.(17) ตรวจโครงการนาขั้นบันไดจ.น่าน ไม่ตรงเป้าหมาย-เบิกจ่ายเท็จ/ผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(18) ตรวจศูนย์เด็กเล็ก อปท.นครศรีธรรมราช ไร้ประสิทธิภาพ-ไม่ปลอดภัย
เปิดกรุผลสอบสตง.(19) ตรวจสำนักงาน กศน. อุดรธานี ไร้ประสิทธิภาพ-จบช้า/น้อย-พบนศ.ผี
เปิดกรุผลสอบสตง.(20) ตรวจโครงการเกษตรอินทรีย์กาญจนฯ ไม่บรรลุประสงค์-จัดซื้อผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(21) ตรวจโครงการความปลอดภัยทางทะเลพัทยา ระบบ/อุปกรณ์ไม่ตรงตาม TOR
เปิดกรุผลสอบสตง.(22) ตรวจการกำจัดขยะ อปท. นครสวรรค์/พิจิตร ไม่ได้มาตรฐาน-ไม่ตามโรดแม็พ
เปิดกรุผลสอบสตง.(23) ตรวจการพัฒนาชลประทานฉะเชิงเทรา ผิดระเบียบ-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(24) ตรวจโครงการช่วยเกษตรกร/คนจน กำแพงเพชร ผิดระเบียบ-ไม่บรรลุเป้าหมาย
เปิดกรุผลสอบสตง.(25) ตรวจโครงการควมคุมอาคารเขตเทศบาลตำบล/อบต. ไม่ปลอดภัย-ผิดกม.อื้อ
เปิดกรุผลสอบสตง.(26) ตรวจโครงการเกษตรผสมผสานอีสานล่าง 2 ผิดวัตถุประสงค์-ไม่มีประสิทธิภาพ
เปิดกรุผลสอบสตง.(27) ตรวจสอบการประปาเทศบาลนครศรีธรรมราช ขาดประสิทธิภาพ-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(28) ตรวจสอบกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สทบ. เสี่ยงล้มเหลว-ขาดศักยภาพ
เปิดกรุผลสอบสตง.(29) ตรวจสอบระบบจัดการขยะ จ.เชียงราย ไม่เป็นระบบ-ขาดประสิทธิภาพ
เปิดกรุผลสอบสตง.(30) โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ จ.แพร่ แจกปัจจัยเกินจำเป็น-ไม่สอดคล้องหลักการ