เปิดกรุผลสอบสตง.(16) ตรวจการเก็บค่าภาคหลวงแร่ กรมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ฯ ไม่เป็นตามกฎหมาย
“...การควบคุมตรวจสอบกิจการเหมืองแร่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบที่กำหนด ส่งผลให้ผู้ถือ ประทานบัตรอาจมีการทำเหมืองไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการอนุญาตแนบท้ายประทานบัตร หรือมีการดำเนินการอื่นใดที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการประกอบการเหมืองแร่ รวมทั้งรัฐอาจได้รับชำระค่าภาคหลวงแร่ไม่ครบถ้วนและสูญเสียรายได้จากเงินผลประโยชน์พิเศษ เพื่อประโยชน์แก่รัฐเพื่อตอบแทนการออกประทานบัตร โดยมีสาเหตุสำคัญเกิดจากกระทรวงอุตสาหกรรมขาดการทบทวนปรับปรุงระเบียบและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับแร่ที่ได้รับการยกเว้น ตามมาตรา 103 ทวิ พ.ศ. 2531 ให้สอดคล้องกับภารกิจและบุคลากรของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในปัจจุบัน รวมทั้งขาดความชัดเจนในหน้าที่ความรับผิดชอบระหว่างหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สอจ. และ สรข. ทั้งเรื่องการตรวจสอบการทำเหมือง และการตรวจสอบรายงานการทำเหมือง (พร.224)...”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานตรวจสอบสำคัญของไทย มีหน้าที่ในการป้องกันดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ที่ถูกใช้จ่ายไปอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ที่ผ่านมา สตง.ได้มีการเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบเรื่องการใช้จ่ายเงินที่สำคัญไว้หลายเรื่อง สำนักข่าวอิศรา จึงขอเปิดพื้นที่ตรงนี้ ทุกวันเสาร์ รวบรวมข้อมูลผลการตรวจสอบที่สำคัญมานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบ
ในสัปดาห์ที่ 16 จะเป็นการนำเสนอรายงานการตรวจสอบการดำเนินงานการจัดเก็บรายได้ค่าภาคหลวงแร่ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
@ การดำเนินงานการจัดเก็บรายได้ค่าภาคหลวงแร่ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
ทรัพยากรแร่เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของประเทศและมีอยู่อย่างจำกัด จึงควรนำมาใช้ ประโยชน์อย่างคุ้มค่า พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 กำหนดให้มีการจัดเก็บรายได้จากการประกอบ กิจการเหมืองแร่ ประกอบด้วย ค่าภาคหลวงแร่ ค่าธรรมเนียมเพื่อใช้เนื้อที่ในการทำเหมือง เงินผลประโยชน์พิเศษเพื่อประโยชน์แก่รัฐเพื่อตอบแทนการออกประทานบัตร และเงินบำรุงพิเศษ โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมที่มีหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยแร่ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 หน่วยงาน คือ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556-2558 กพร. จัดเก็บ รายได้ภาครัฐได้ทั้งสิ้น 9,334.45 ล้านบาท เป็นรายได้ค่าภาคหลวงแร่ จำนวน 9,057.54 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 97.03 ของรายได้ภาครัฐที่จัดเก็บได้ทั้งหมด
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงได้เลือกตรวจสอบการดำเนินงานการจัดเก็บรายได้ค่าภาคหลวงแร่ เพื่อให้ทราบถึงปัญหา อุปสรรค ในการจัดเก็บรายได้ค่าภาคหลวงแร่ตามกฎหมายและระเบียบที่ เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่เป็นประโยชน์ต่อไป
จากการตรวจสอบการดำเนินงานการจัดเก็บรายได้ค่าภาคหลวงแร่ ของกรมอุตสาหกรรม พื้นฐานและการเหมืองแร่ และสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม โดยตรวจสอบการปฏิบัติงานของ สอจ. จำนวน 7 แห่ง และ สรข. จำนวน 5 แห่ง ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2556-2558 และสุ่มตรวจสอบหมายเลขประทานบัตร จำนวน 83 แปลง ของแร่ที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 103 ทวิ จำนวน 8 ประเภท พบว่า มีข้อตรวจพบที่สำคัญ 2 ประเด็น สรุปได้ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 การควบคุมตรวจสอบการประกอบกิจการเหมืองแร่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบที่กำหนด
จากการตรวจสอบ พบว่า สอจ. และ สรข. ขาดการควบคุมตรวจสอบการประกอบกิจการ เหมืองแร่ให้เป็นไปตามระเบียบกรมทรัพยากรธรณีว่าด้วยการปฏิบัติเกี่ยวกับแร่ที่ได้รับการยกเว้น ตามมาตรา 103 ทวิ พ.ศ. 2531 และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการตรวจสอบกำกับดูแลการชำระค่าภาคหลวงแร่โดยการรังวัดที่กำหนดไว้ ดังนี้
1. กิจการเหมืองแร่ไม่ได้รับการตรวจสอบการทำเหมืองอย่างสม่ำเสมอและครอบคลุม ทุกด้าน ดังนี้
1.1 สอจ. ที่ตรวจสอบ จำนวน 7 แห่ง ไม่ได้ออกตรวจสอบการทำเหมืองเป็นประจำทุกเดือนตามที่ระเบียบกำหนด แต่จะมีเพียงการตรวจสอบเหมืองร่วมกับหน่วยงานอื่นเมื่อมีข้อร้องเรียนหรือเหตุอื่นเป็นกรณีไป
1.2 สรข. ที่ตรวจสอบจำนวน 5 แห่ง ตรวจสอบการทำเหมืองไม่ครบทุกประทานบัตรและไม่ครอบคลุมทุกด้าน โดยพบประทานบัตรที่ไม่ได้รับการตรวจสอบการทำเหมือง จำนวน 24 แปลง คิดเป็นร้อยละ 28.92 ของประทานบัตรที่สุ่มตรวจสอบทั้งหมด (83 แปลง) และประทานบัตรที่ได้รับ การตรวจสอบการทำเหมือง จำนวน 59 แปลง มีการให้คำแนะนำเฉพาะด้านวิศวกรรมและความปลอดภัย และด้านการปฏิบัติตามกฎหมาย
2. สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดไม่มีการจัดทำสถิติแร่ผลิตได้ตามที่ระเบียบกำหนด โดย สอจ. ที่ตรวจสอบ จำนวน 7 แห่ง ไม่ได้จัดทำสถิติแร่ผลิตได้ในแต่ละเดือนไว้เป็นหลักฐานสำหรับ การตรวจสอบปริมาณการผลิตของเหมืองกับการชำระค่าภาคหลวงแร่ตามที่ระเบียบกำหนดไว้ แต่จะพิจารณาการชำระค่าภาคหลวงแร่และรวบรวมปริมาณการผลิตแร่จากรายงานการทำเหมือง (พร.224) ซึ่งผู้ถือประทานบัตรเป็นผู้จัดทำและรายงานให้ สอจ. เป็นประจำทุกเดือนแทน
3. สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดไม่ได้ตรวจสอบปริมาณแร่โดยการรังวัดตามแนวทาง ที่กำหนด สอจ. ที่ตรวจสอบ จำนวน 6 แห่ง ไม่ได้ตรวจสอบปริมาณแร่โดยการรังวัดเป็นประจำทุกรอบระยะเวลาหกเดือนตามแนวทางที่กำหนดไว้ ส่วน สอจ. อีกหนึ่งแห่งมีการตรวจสอบปริมาณแร่ โดยการรังวัดในช่วงปี 2556-2558 เพียง 2 ครั้ง และสามารถเรียกเก็บค่าภาคหลวงแร่ได้เพิ่มเติม เป็นเงิน 4.83 ล้านบาท
4. การบันทึกรายการในรายงานการทำเหมือง (พร.224) ไม่ครบถ้วน ถูกต้อง ดังนี้
4.1 บันทึกรายการในรายงานการทำเหมือง (พร.224) ไม่ครบถ้วน จำนวน 11 แปลง คิดเป็นร้อยละ 13.25 ของประทานบัตรที่สุ่มตรวจสอบ เช่น ไม่ได้บันทึกข้อมูลปริมาณการจำหน่ายบันทึกข้อมูลปริมาณการผลิตไม่ครบถ้วน
4.2 บันทึกข้อมูลในรายงานการทำเหมือง (พร.224) ไม่ถูกต้อง จำนวน 43 แปลง คิดเป็นร้อยละ 51.81 ของประทานบัตรที่สุ่มตรวจสอบ เช่น บันทึกปริมาณแร่คงเหลือ ณ วันสิ้นเดือน ไม่ถูกต้อง ทำให้ยอดยกมาไม่ถูกต้อง บันทึกปริมาณแร่ขนเข้าโรงแต่งไม่ตรงกับปริมาณที่จ่ายชำระค่าภาคหลวงแร่
4.3 บันทึกปริมาณการผลิตของเหมืองไม่สอดคล้องกับการชำระค่าภาคหลวงแร่ จำนวน 11 แปลงคิดเป็นร้อยละ 13.25 ของประทานบัตรที่สุ่มตรวจสอบ เช่น บันทึกปริมาณที่จำหน่ายมากกว่าปริมาณที่มีอยู่
4.4 ไม่มีการลงลายมือชื่อเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจรายงานเพื่อแสดงหลักฐานการตรวจสอบรายงานการทำเหมือง (พร.224) จำนวน 2 แห่ง และมีการลงลายมือชื่อเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจรายงานเป็นบางเดือน จำนวน 5 แห่ง
การควบคุมตรวจสอบกิจการเหมืองแร่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบที่กำหนด ส่งผลให้ผู้ถือ ประทานบัตรอาจมีการทำเหมืองไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการอนุญาตแนบท้ายประทานบัตร หรือมีการดำเนินการอื่นใดที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการประกอบการเหมืองแร่ รวมทั้งรัฐอาจได้รับชำระค่าภาคหลวงแร่ไม่ครบถ้วนและสูญเสียรายได้จากเงินผลประโยชน์พิเศษ เพื่อประโยชน์แก่รัฐเพื่อตอบแทนการออกประทานบัตร โดยมีสาเหตุสำคัญเกิดจากกระทรวงอุตสาหกรรมขาดการทบทวนปรับปรุงระเบียบและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับแร่ที่ได้รับการยกเว้น ตามมาตรา 103 ทวิ พ.ศ. 2531 ให้สอดคล้องกับภารกิจและบุคลากรของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในปัจจุบัน รวมทั้งขาดความชัดเจนในหน้าที่ความรับผิดชอบระหว่างหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สอจ. และ สรข. ทั้งเรื่องการตรวจสอบการทำเหมือง และการตรวจสอบรายงานการทำเหมือง (พร.224)
ข้อเสนอแนะ ให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาดำเนินการดังนี้
1. สั่งการให้อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ พิจารณาทบทวนระเบียบกรมทรัพยากรธรณี ว่าด้วยการปฏิบัติเกี่ยวกับแร่ที่ได้รับการยกเว้นตามมาตรา 103 ทวิ พ.ศ. 2531 และ แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการตรวจสอบ กำกับดูแลการชำระค่าภาคหลวงแร่โดยการรังวัด หากเห็นว่า ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้การควบคุมตรวจสอบการชำระค่าภาคหลวงแร่เป็นไปอย่างรัดกุมและเหมาะสม ทั้งนี้ การดำเนินการในระยะแรกให้กำหนดรายละเอียด เกี่ยวกับแนวทางและขอบเขตหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการทำเหมืองในความรับผิดชอบ ของแต่ละหน่วยงานให้มีความชัดเจนและครอบคลุมการตรวจสอบในทุกด้าน เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปในแนวทางเดียวกัน
2. กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการทำเหมือง ปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดในข้อ 1 อย่างเคร่งครัด
3. กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบรายงานการทำเหมือง (พร.224) ปฏิบัติตามแนวทางการดำเนินงานในการตรวจสอบรายงานประจำเดือน ตามหนังสือที่ อก 0511/2647 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2559 อย่างเคร่งครัด
ข้อตรวจพบที่ 2 การจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่หินอุตสาหกรรมเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบที่กำหนด
จากการตรวจสอบ พบว่า สอจ. จัดเก็บค่าภาคหลวงแร่หินอุตสาหกรรมเพื่ออุตสาหกรรม ก่อสร้างไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 และระเบียบกรมทรัพยากรธรณี ว่าด้วยการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่หินอุตสาหกรรมเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง พ.ศ. 2545 ที่กำหนดไว้ ดังนี้
1. สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่หินอุตสาหกรรมเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างหลังจากที่มีการขนแร่ออกจากเขตเหมืองแร่ สอจ. ที่ตรวจสอบจำนวน 7 แห่ง จัดเก็บค่าภาคหลวงแร่ภายหลังจากที่ผู้ถือประทานบัตรมีการขนแร่ออกจากเขตเหมืองแร่ ซึ่งไม่เป็นไปตาม พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 104 (1) จำนวน 32 แปลง คิดเป็นร้อยละ 38.55 ของประทานบัตรที่สุ่มตรวจสอบ โดยทั้งหมดเป็นการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่หินอุตสาหกรรมเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง
2. สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่หินอุตสาหกรรมเพื่ออุตสาหกรรม ก่อสร้างไม่เป็นไปตามระเบียบกรมทรัพยากรธรณีว่าด้วยการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่ หินอุตสาหกรรมเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง พ.ศ. 2545 ดังนี้
2.1 สอจ. ที่ตรวจสอบ จำนวน 7 แห่ง จัดเก็บค่าภาคหลวงแร่หินอุตสาหกรรม เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างที่ผ่านโรงโม่หินไม่เป็นไปตามวิธีที่กำหนดไว้ในระเบียบ ข้อ 5 แต่ได้นำวิธีตรวจสอบความถูกต้องของปริมาณหินที่ชำระค่าภาคหลวงที่ระเบียบกำหนดไว้มาใช้เป็นวิธีการจัดเก็บแทน โดยให้ผู้ถือประทานบัตรขอชำระค่าภาคหลวงแร่ตามปริมาณหินที่คำนวณจากค่าพลังงานไฟฟ้า ที่ใช้ตามหนังสือแจ้งค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
2.2 สอจ. ที่ตรวจสอบ จำนวน 3 แห่ง จัดเก็บค่าภาคหลวงแร่หินที่นำไปใช้ในกิจการอื่น ที่ยังไม่ผ่านโรงโม่หิน (หินใหญ่) ไม่เป็นไปตามระเบียบ ข้อ 19 โดยไม่ได้ไปตรวจสอบปริมาณหินตามที่ ผู้ถือประทานบัตรขอขนก่อนรับชำระค่าภาคหลวงแร่ และไม่มีเอกสารผลการประเมินกำลังการผลิตต่อเดือนของเหมืองที่จัดทำโดย สรข. มาประกอบการตรวจสอบการรับชำระในแต่ละครั้ง
3. สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่หินอุตสาหกรรมเพื่ออุตสาหกรรม ก่อสร้างไม่ถูกต้อง ดังนี้
3.1 สอจ. ที่ตรวจสอบ จำนวน 2 แห่ง จัดเก็บค่าภาคหลวงแร่หินอุตสาหกรรม เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างไม่ถูกต้องตามระเบียบข้อ 8 โดยจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่จากผู้ถือประทานบัตร โดยไม่ได้ตรวจสอบปริมาณแร่ที่มีการขอชำระค่าภาคหลวงกับปริมาณแร่ที่คำนวณได้จากค่าพลังงาน ไฟฟ้าของโรงโม่หินตามใบเสร็จรับเงินของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในรอบเดือนที่ผ่านมาทำให้จัดเก็บค่าภาคหลวงแร่ได้ไม่ครบถ้วน จำนวน 184,462.56 บาท
3.2 สอจ. ที่ตรวจสอบ จำนวน 1 แห่ง จัดเก็บค่าภาคหลวงแร่หินอุตสาหกรรม เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างไม่ถูกต้องตามระเบียบ ข้อ 10 และข้อ 11 โดยจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่จาก ผู้ถือประทานบัตร โดยไม่ได้ตรวจสอบปริมาณแร่ที่มีการขอชำระค่าภาคหลวง ซึ่งผู้ถือประทานบัตร ได้นำค่าพลังงานไฟฟ้าของสำนักงาน บ้านพักอาศัย โรงซ่อมบำรุงอุปกรณ์ เครื่องจักร และโรงงานแอสฟัลท์ติกคอนกรีต ที่คำนวณจากมิเตอร์ที่ติดตั้งเองมาปรับลดค่าพลังงานไฟฟ้าของโรงโม่หิน ตามใบเสร็จรับเงินของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคก่อนแล้วจึงนำค่าพลังงานไฟฟ้าส่วนที่เหลือมาคำนวณ เพื่อขอชำระค่าภาคหลวงแร่ ซึ่งไม่ถูกต้องตามระเบียบ ทำให้จัดเก็บค่าภาคหลวงแร่ของผู้ถือประทานบัตร ได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น จำนวน 3.39 ล้านบาท
การจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่หินอุตสาหกรรมเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบที่กำหนด ส่งผลทำให้ผู้ถือประทานบัตรขาดวินัยในการมาชำระค่าภาคหลวงแร่ และรัฐได้รับค่าภาคหลวงแร่เพื่อนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินล่าช้า รวมทั้งส่งผลให้ขาดกระบวนการในการควบคุม ตรวจสอบปริมาณแร่ที่ผู้ถือประทานบัตรขอชำระค่าภาคหลวง และผู้ถือประทานบัตรอาจลักลอบขนแร่ออกจากเขตเหมืองแร่ ตลอดจนส่งผลให้เกิดการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่ไม่ถูกต้อง ซึ่งทำให้รัฐจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่ได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น จำนวน 3.58 ล้านบาท โดยมีสาเหตุสำคัญเกิดจาก กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ไม่มีแนวทางการติดตาม ตรวจสอบกระบวนการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่หินอุตสาหกรรมเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ขาดการเชื่อมโยงข้อมูลสำคัญเพื่อใช้เป็นแนวทางในการตรวจสอบความถูกต้อง ครบถ้วน ของการจัดเก็บรายได้ค่าภาคหลวงแร่ รวมทั้งไม่มีการจัดทำฐานข้อมูลผู้ถือประทานบัตรที่มีการนำหิน ไปใช้ในกิจการอื่นที่ไม่ผ่านโรงโม่หิน (หินใหญ่) ซึ่งเป็นข้อมูลสำหรับการตรวจสอบเพื่อประเมินกำลังการผลิตแร่ของเหมือง
ข้อเสนอแนะ ให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาดำเนินการดังนี้
1. สั่งการให้อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ พิจารณาดำเนินการในเรื่อง ดังต่อไปนี้
1) กำหนดและมอบหมายให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการควบคุม ตรวจสอบกระบวนการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่หินอุตสาหกรรมเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่กำหนด รวมทั้งรวบรวมปัญหา อุปสรรค หรือข้อจำกัดในการปฏิบัติงาน เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาทบทวนการจัดเก็บ ค่าภาคหลวงแร่ให้มีระบบการควบคุมที่ดี และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
2) กำหนดและมอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในการกำกับตรวจสอบการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่ นำข้อมูลจากรายงานต่างๆ มาวิเคราะห์ เชื่อมโยงความสอดคล้องของปริมาณการผลิต ปริมาณการจำหน่าย และการรับชำระค่าภาคหลวงแร่ เพื่อให้เกิดการควบคุม ตรวจสอบการจัดเก็บรายได้ค่าภาคหลวงแร่ทุกกระบวนการ
2. สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุม ตรวจสอบการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่ หินที่นำไปใช้ในกิจการอื่นที่ไม่ผ่านโรงโม่หิน (หินใหญ่) ได้แก่ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ดำเนินการเรื่องดังต่อไปนี้
1) บูรณาการเรื่องการจัดทำฐานข้อมูลผู้ถือประทานบัตรที่มีการนำหินไปใช้ในกิจการอื่นที่ไม่ผ่านโรงโม่หิน (หินใหญ่)
2) กำชับให้สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขตใช้ฐานข้อมูลผู้ถือประทานบัตร ที่มีการนำหินไปใช้ในกิจการอื่นที่ไม่ผ่านโรงโม่หิน (หินใหญ่) เป็นข้อมูลในการควบคุม ตรวจสอบการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่ให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อ 19 และแนวทางการประเมินปริมาณแร่ เพื่อกำกับการดูแลการชำระค่าภาคหลวงแร่หินอุตสาหกรรมอย่างเคร่งครัด
3) กำชับให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดรับชำระค่าภาคหลวงแร่หินใหญ่ให้เป็นไป ตามระเบียบ ข้อ 19 อย่างเคร่งครัด
----
ในสัปดาห์หน้า สำนักข่าวอิศราจะนำเสนอผลการตรวจสอบที่สำคัญของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเรื่องใด โปรดติดตาม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
เปิดกรุผลสอบสตง.(1) ชำแหละงบพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกาญฯ ไม่คุ้มค่า ห้องอาบน้ำแร่ถูกทิ้งร้าง
เปิดกรุผลสอบสตง.(2) ตรวจงบยกระดับหมู่บ้านโคราช ใช้ภาพเดียวเบิกเงิน 6 โครงการรวด
เปิดกรุผลสอบสตง.(3) ตรวจการผลิต-ใช้พลังงานทดแทน ‘กรมการพลังงานทหาร’ ล้มเหลวไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(4) ตรวจนโยบายร.ร.ดีใกล้บ้าน ยกระดับการศึกษาล้ม-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(5) ตรวจโครงการพัฒนาลำเชียงไกรโคราช ไม่เสร็จตามแผน-ซื้อของเกินจำเป็น
เปิดกรุผลสอบสตง.(6) ตรวจโครงการพัฒนาพืช-พลังงาน จ.ขอนแก่น 113ล. ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(7) ตรวจโครงการพลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้า-ประปาจ.กาญจนฯ ล้มเหลว-เบิกจ่ายเท็จ
เปิดกรุผลสอบสตง.(8) ตรวจโครงการควมคุมอาคารเขตเทศบาลนคร/เมือง ไม่ปลอดภัย-ผิดกม.อื้อ
เปิดกรุผลสอบสตง.(9) ตรวจการควบคุมเคมีทางเกษตร พบสารต้องห้าม-ร้านขายไม่ปลอดภัย-ผิดกม.
เปิดกรุผลสอบสตง.(10) ตรวจโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติด อปท.ลำปาง ไม่คุ้มงบ-ผิดวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(11) ตรวจโครงการสินค้าเกษตร 4.0 สุพรรณฯ ไม่พร้อมดำเนินการ-ไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(12) ตรวจโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว ขาดความต่อเนื่อง-ไม่ยั่งยืน
เปิดกรุผลสอบสตง.(13) ตรวจศูนย์อาชีพผู้สูงอายุ ไม่เป็นตามวัตถุประสงค์-จัดซื้อไม่คุ้มค่า
เปิดกรุผลสอบสตง.(14) ตรวจโครงการแพทย์ฉุกเฉิน อบจ.มหาสารคาม มอบรถพยาบาลช้า-ใช้ผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(15) ตรวจสหกรณ์จ.สุราษฎร์ฯ-ชุมพร ตั้งโรงงานยางพารา แต่ไม่เดินสายพานผลิต