เปิดกรุผลสอบสตง.(9) ตรวจการควบคุมเคมีทางเกษตร พบสารต้องห้าม-ร้านขายไม่ปลอดภัย-ผิดกม.
“...พบสภาพปัญหาการวางจำหน่ายวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ชื่อสามัญ ไดโครโทฟอส ในร้านค้า ซึ่งตามกฎหมายห้ามมิให้มีการผลิต นำเข้า ส่งออก และมีไว้ในครอบครอง แสดงให้เห็นว่ายังมีการลักลอบจำหน่ายวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งได้มีการประกาศห้ามใช้แล้ว นอกจากนี้ จากข้อมูลผลการเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ประจำปี 2558-2559 ของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai - PAN : Thailand Pesticide Alert Network) ได้รายงานสถานการณ์ สารเคมีตกค้างในผักผลไม้ โดยตรวจพบวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่มีอันตรายร้ายแรง ได้แก่ สารคาร์โบ ฟูราน และสารเมโทมิล ซึ่งหลายภาคส่วนเสนอให้มีการยกเลิกการใช้ในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้รับ อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ทั้งนี้ ไม่มีการนำเข้าสารเคมีชนิดนี้มาตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2554 เนื่องจากทะเบียนเดิมหมดอายุ แต่ยังคงมีการตรวจพบสารเคมีดังกล่าวตกค้างในตัวอย่างผัก ผลไม้ที่สุ่มตรวจสอบ แสดงให้เห็นว่ายังคงมีการลักลอบจำหน่ายสารเคมีโดยผิดกฎหมาย และนำมาใช้ในการเพาะปลูก...”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานตรวจสอบสำคัญของไทย มีหน้าที่ในการป้องกันดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ที่ถูกใช้จ่ายไปอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ที่ผ่านมา สตง.ได้มีการเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบเรื่องการใช้จ่ายเงินที่สำคัญไว้หลายเรื่อง สำนักข่าวอิศรา จึงขอเปิดพื้นที่ตรงนี้ ทุกวันเสาร์ รวบรวมข้อมูลผลการตรวจสอบที่สำคัญมานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบ
ในสัปดาห์ที่ 9 จะเป็นการนำเสนอผลรายงานการตรวจสอบการดำเนินงาน การควบคุมวัตถุอันตรายทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
@ รายงานการตรวจสอบการดำเนินงาน การควบคุมวัตถุอันตรายทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรมมีการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรในปริมาณที่สูง จากสถิติของสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ได้รายงานปริมาณและมูลค่าการนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตร ประเภทสารเคมีทางการเกษตร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555-2558 มีปริมาณการนำเข้าจำนวน 134,377.18 ตัน 172,673.94 ตัน 147,269.93 ตัน และ 149,458.69 ตัน คิดเป็นมูลค่าการนำเข้า จำนวนเงิน 19,357.44 ล้านบาท 24,369.05 ล้านบาท 22,789.23 ล้านบาท และ 19,301.91 ล้านบาท ตามลำดับ
จากการตรวจสอบ พบว่า ร้านจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรยังมีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยข้อตรวจพบและข้อสังเกต ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 ร้านจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรบางส่วนยังมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนด
จากการสุ่มตรวจสอบร้านจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรร่วมกับเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตร ในพื้นที่ 17 จังหวัด จำนวน 123 ร้าน ระหว่างเดือนพฤษภาคม- กันยายน 2558 พบว่า
1.1 ร้านจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรโดยไม่ขออนุญาต และไม่ขอต่ออายุใบอนุญาต มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย (เพื่อขาย)
จากการตรวจสอบร้านจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตร จำนวน 123 ร้าน โดยคัดเลือก พบว่า ณ วันที่เข้าตรวจสอบ มีร้านที่เปิดจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตร จำนวน 84 ร้าน และร้านที่เลิกจำหน่าย จำนวน 39 ร้าน สำหรับร้านที่เปิดจำหน่าย จำนวน 84 ร้าน แบ่งเป็นร้านที่มีใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย จำนวน 67 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 79.76 และร้านที่ไม่มีใบอนุญาต จำนวน 17 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 20.24 ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยร้านที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบด้วยร้านที่ไม่ขออนุญาตมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย จนวน 6 ร้าน จากจำนวนร้านที่เปิดจำหน่ายทั้งหมด 84 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 7.14 ส่วนใหญ่เป็นร้านจำหน่ายขนาดเล็ก หรือร้านจำหน่ายในหมู่บ้าน และมีบางร้านที่จำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรตามฤดูกาลผลิตสินค้าเกษตรเท่านั้น ส่วนร้านที่ไม่ต่ออายุใบอนุญาต มีจำนวน 11 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 13.10
จากการที่ยังมีร้านจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรโดยไม่ขออนุญาตและไม่ขอต่ออายุใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายส่งผลกระทบทำให้เกิดความเสี่ยงที่ร้านค้าอาจจำหน่ายวัตถุอันตรายปลอม ไม่ได้มาตรฐาน หรือด้อยคุณภาพ ทำให้เกษตรกรได้ปัจจัยการผลิตที่ไม่มีคุณภาพ และการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการอนุญาตมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายต่ำกว่าที่ควรจะเป็น จากการรวบรวมข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2558 พบว่า ร้านจ าหน่ายที่ไม่ขออนุญาตและไม่ขอต่ออายุ ใบอนุญาตมีจำนวนรวม 867 ร้าน ค่าธรรมเนียมต่อใบอนุญาตฉบับละ 500 บาท หากร้านค้าดังกล่าว เป็นร้านที่ยังเปิดจำหน่ายอยู่จะคำนวณค่าธรรมเนียมที่ไม่ได้จัดเก็บทั้งสิ้น 433,500 บาท นอกจากนี้ กรณีร้านค้าที่เลิกจำหน่ายหรือเลิกกิจการแล้ว โดยไม่แจ้งยกเลิกใบอนุญาต และหน่วยงานที่รับผิดชอบ ไม่ได้ติดตามให้ดำเนินการแจ้งยกเลิกใบอนุญาต ทำให้ระบบฐานข้อมูลร้านจำหน่ายไม่เป็นปัจจุบัน ส่งผลให้การรายงานข้อมูลร้านจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรมีความคลาดเคลื่อนเป็นอุปสรรคต่อการวางแผนตรวจสอบร้านจำหน่าย
1.2 การจำหน่ายวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 วัตถุอันตรายปลอม วัตถุอันตรายที่ต้องขึ้นทะเบียน แต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ และจำหน่ายวัตถุอันตรายโดยไม่มีฉลากหรือมีฉลากแต่ฉลากหรือการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง
จากการตรวจสอบ จำนวน 84 ร้าน โดยเป็นร้านที่มีวัตถุอันตรายทางการเกษตรวางจำหน่ายในร้าน จำนวน 80 ร้าน ส่วนอีก 4 ร้าน ให้ลูกค้าสั่งซื้อสินค้าตามความต้องการโดยไม่มีวางจำหน่ายในร้าน พบสภาพปัญหาการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 23 ร้าน จากทั้งหมด 80 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 28.75 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
(1) ร้านจ าหน่ายวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งตามมาตรา 43 ห้ามมิให้มีการผลิต นำเข้า หรือมีไว้ในครอบครอง จำนวน 1 ร้าน จากจำนวนร้านที่ตรวจสอบทั้งหมด 80 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 1.25
(2) ร้านจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรปลอม ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายที่แสดงว่าเป็น วัตถุอันตรายที่ขึ้นทะเบียนไว้ซึ่งไม่ใช่ความจริง เป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรา 45 (1) จำนวน 3 ร้าน จากจำนวนร้านที่ตรวจสอบทั้งหมด 80 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 3.75
(3) ร้านจำหน่ายวัตถุอันตรายที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียนไว้ (ไม่มีเลขทะเบียน วัตถุอันตราย) ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรา 45
(4) จำนวน 2 ร้าน จากจำนวนร้านที่ตรวจสอบ ทั้งหมด 80 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 2.50 (4) ร้านจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรโดยไม่มีฉลากหรือมีฉลากแต่ฉลากหรือ การแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ซึ่งไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง ฉลากและระดับความเป็นพิษของวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ พ.ศ. 2538 ข้อ 6 จำนวน 10 ร้าน จากร้านที่ตรวจสอบทั้งหมด 80 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 12.50
(5) ร้านจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรโดยมีการแบ่งจำหน่าย ทำให้มีการขาย วัตถุอันตรายโดยไม่มีฉลาก ซึ่งไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง ฉลากและระดับความเป็นพิษของวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ พ.ศ. 2538 ข้อ 6 จำนวน 3 ร้าน จากจำนวนร้านที่ตรวจสอบทั้งหมด 80 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 3.75
(6) ร้านจำหน่ายวัตถุอันตรายที่อาจจะมีความผิดได้ ต้องเก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ ในห้องปฏิบัติการ จำนวน 4 ร้าน จากจำนวนร้านที่ตรวจสอบทั้งหมด 80 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 5 โดยจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ยังไม่สามารถระบุได้ว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม กฎหมายหรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างวัตถุอันตรายทางการเกษตรดังกล่าวเพื่อตรวจสอบคุณภาพ เมื่อทราบผลการตรวจสอบคุณภาพแล้ว จึงจะทราบว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่
1.3 ร้านจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรโดยไม่แสดงใบอนุญาตมีไว้ในครอบครอง ซึ่งวัตถุอันตรายไว้ในที่เปิดเผยและมองเห็นได้ง่าย
จากการตรวจสอบร้านจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่เปิดจำหน่าย จำนวน 84 ร้าน โดยเป็นร้านที่มีใบอนุญาต จำนวน 67 ร้าน และไม่มีใบอนุญาต จำนวน 17 ร้าน พบว่า ร้านจำหน่าย ที่มีใบอนุญาตแต่ไม่แสดงใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผยและมองเห็นได้ง่ายมีจ านวน 21 ร้าน จากจำนวนร้านที่มี ใบอนุญาตทั้งหมด 67 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 31.34 ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถตรวจสอบร้านจำหน่ายวัตถุอันตราย ทางการเกษตรว่ามีการดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
จากการตรวจสอบพบสภาพปัญหาการวางจำหน่ายวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ชื่อสามัญ ไดโครโทฟอส ในร้านค้า ซึ่งตามกฎหมายห้ามมิให้มีการผลิต นำเข้า ส่งออก และมีไว้ในครอบครอง แสดงให้เห็นว่ายังมีการลักลอบจำหน่ายวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งได้มีการประกาศห้ามใช้แล้ว นอกจากนี้ จากข้อมูลผลการเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ประจำปี 2558-2559 ของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai - PAN : Thailand Pesticide Alert Network) ได้รายงานสถานการณ์ สารเคมีตกค้างในผักผลไม้ โดยตรวจพบวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่มีอันตรายร้ายแรง ได้แก่ สารคาร์โบ ฟูราน และสารเมโทมิล ซึ่งหลายภาคส่วนเสนอให้มีการยกเลิกการใช้ในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้รับ อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ทั้งนี้ ไม่มีการนำเข้าสารเคมีชนิดนี้มาตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2554 เนื่องจากทะเบียนเดิมหมดอายุ แต่ยังคงมีการตรวจพบสารเคมีดังกล่าวตกค้างในตัวอย่างผัก ผลไม้ที่สุ่มตรวจสอบ แสดงให้เห็นว่ายังคงมีการลักลอบจำหน่ายสารเคมีโดยผิดกฎหมาย และนำมาใช้ในการเพาะปลูก นอกจากนี้ วัตถุอันตรายทางการเกษตรปลอมหรือไม่ได้มาตรฐานสร้างความเสียหายให้แก่ เกษตรกร และการจำหน่ายวัตถุอันต
รายโดยไม่มีฉลากหรือมีฉลากแต่ฉลากหรือการแสดงฉลาก ไม่ถูกต้อง ทำให้เกษตรกรผู้ใช้ไม่ได้รับทราบข้อมูลสาระสำคัญที่จำเป็น เพื่อให้การใช้วัตถุอันตรายเป็นไป อย่างถูกต้อง และไม่เกิดอันตรายต่อผู้ใช้
สาเหตุที่ทำให้ร้านจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรบางส่วนยังมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ ตามกฎหมาย เนื่องจากกรมวิชาการเกษตรยังไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการติดตามการต่ออายุ ใบอนุญาตและการแจ้งยกเลิกใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย เพื่อให้มีการปฏิบัติเป็นไป ในแนวทางเดียวกัน
ข้อเสนอแนะ ให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. กำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นมาตรฐานเดียวกัน กรณีร้าน จำหน่ายที่เลิกจำหน่ายหรือเลิกกิจการแล้วโดยไม่แจ้งยกเลิกใบอนุญาต ให้ดำเนินการแจ้งยกเลิกใบอนุญาตได้ และกรณีผู้จำหน่ายเพิกเฉย ละเลยในการขออนุญาตและขอ ต่ออายุใบอนุญาต
2. ประกาศแจ้งเวียนและซ้อมความเข้าใจแนวทางปฏิบัติ และขั้นตอนการดำเนินการทางกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบและถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด นอกจากนี้ ควรกำหนดบทลงโทษตามควรแก่กรณี หากเจ้าหน้าที่ละเลยหรือไม่ดำเนินการตามแนวปฏิบัติที่กำหนด
3. พิจารณาเสนอขอแก้ไขพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้มี การกำหนดโทษปรับกรณีมีการจำหน่ายวัตถุอันตรายภายหลังที่ใบอนุญาตสิ้นอายุแล้ว
4. กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขสภาพปัญหาการจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตร เช่น
4.1 นำข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มาใช้ประกอบการกำหนดนโยบายในการวางแผนตรวจสอบร้านจำหน่ายและการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เพื่อตรวจวิเคราะห์คุณภาพ เช่น เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai - PAN) และสำนักโรค จากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปถึงต้นทางผู้ผลิต และผู้จำหน่ายได้อีกทางหนึ่ง
4.2 กำหนดให้หน่วยงานที่รับผิดชอบมีการประเมินความเสี่ยงร้านจำหน่ายวัตถุอันตราย ทางการเกษตรในระดับพื้นที่ เพื่อประกอบการจัดทำแผนการตรวจสอบร้านจำหน่ายให้ครอบคลุมตาม ความเสี่ยงและความจำเป็นเร่งด่วน โดยรวมถึงร้านจำหน่ายขนาดเล็กหรือร้านจำหน่ายในหมู่บ้าน
4.3 เร่งตรวจสอบร้านจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรให้ครอบคลุมพื้นที่ความรับผิดชอบ
4.4 กำหนดให้มีหน่วยหรือทีมตรวจสอบเฉพาะกิจในพื้นที่
4.5 ควบคุมตรวจสอบร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ (Q - Shop) ให้มีการจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐานและถูกต้องตามกฎหมาย
5. กำชับให้เจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรให้ความสำคัญกับการตรวจสอบวัตถุอันตรายทางการเกษตร ที่ร้านค้านำมาวางจำหน่ายอย่างเข้มงวด
6. สั่งการให้มีการประสานงานหรือบูรณาการงานระหว่างเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
7. พัฒนาระบบงานที่ช่วยในการควบคุมตรวจสอบร้านจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตร โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อลดภาระงานของเจ้าหน้าที่และสามารถใช้เป็นฐานข้อมูลในการตรวจสอบร้านจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น การพัฒนาเว็บไซต์ หรือแอพพลิเคชั่น
8. ให้มีการติดตามและรายงานผลการดำเนินการเกี่ยวกับผลการดเนินคดี และผลการกระทำ ความผิด การฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
9. ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ด้านวิชาการและด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการจำหน่าย และการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรอย่างปลอดภัย
ข้อตรวจพบที่ 2 ร้านจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรบางส่วนไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
จากการสังเกตการณ์ จำนวน 84 ร้าน โดยเป็นร้านที่มีวัตถุอันตรายวางจ าหน่ายในร้าน จำนวน 80 ร้าน ส่วนอีก 4 ร้าน ให้ลูกค้าสั่งซื้อสินค้าตามความต้องการโดยไม่มีวางจ าหน่ายในร้าน พบว่า มีร้านจำหน่ายที่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิต การนำเข้า การส่งออก และการมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ พ.ศ. 2547 ข้อ 11 ดังนี้
1. จัดวางวัตถุอันตรายโดยไม่ได้แยกจากสินค้าประเภทอื่น เช่น น้ำมันพืช อาหารกระป๋อง ซอสปรุงรส จำนวน 21 ร้าน จากจำนวนร้านที่ตรวจสอบทั้งหมด 80 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 26.25
2. ไม่ได้จัดแยกวัตถุอันตรายที่จำหน่ายตามประเภท เช่น สารกำจัดวัชพืชสารกำจัดแมลง สารป้องกันกำจัดโรคพืช จำนวน 40 ร้าน จากจำนวนร้านที่ตรวจสอบทั้งหมด 80 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 50 และร้านจำหน่ายที่ไม่ได้จัดวัตถุอันตรายบนชั้นวางให้พ้นมือเด็ก จำนวน 71 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 88.75
3. จำหน่ายวัตถุอันตรายที่ไม่ได้อยู่ในภาชนะเดิมของผู้ผลิต โดยมีการแบ่งจำหน่ายตามน้ำหนักที่เกษตรกรต้องการ หรือแบ่งจำหน่ายเป็นซองซึ่งอยู่ในภาชนะบรรจุเดิมของผู้ผลิต แต่ไม่มีฉลากกำกับไว้ จำนวน 6 ร้าน จากจำนวนร้านที่ตรวจสอบทั้งหมด 80 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 7.5
4. ไม่ได้จัดให้มีวัสดุที่มีคุณสมบัติดูดซับของเหลวได้ เช่น ขี้เลื่อย ดิน ทราย สำหรับ ใช้ดูดซับวัตถุอันตรายที่อาจแตก หล่น เรี่ยราด จำนวน 68 ร้าน จากจำนวนร้านที่ตรวจสอบทั้งหมด 80 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 85
5. ไม่มีการจัดเตรียมสบู่และน้ำไว้ให้ผู้สัมผัสวัตถุอันตรายใช้ชำระล้าง จำนวน 68ร้าน จากทั้งหมด 80 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 85 โดยส่วนใหญ่เป็นร้านจำหน่าย ที่มีเพียงก๊อกน้ำ หรือถังน้ำ แต่ไม่มีสบู่ จำนวน 54 ร้าน และเป็นร้านที่ไม่มีการจัดเตรียมทั้งสบู่ และน้ำ จำนวน 14 ร้าน
6. ไม่มีการจัดให้มีระบบป้องกันกำจัดกลิ่น ละออง ไอระเหยของวัตถุอันตราย หรือจัดสถานที่จำหน่ายให้มีอากาศถ่ายเทสะดวก จำนวน 21 ร้าน จากทั้งหมด 80 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 26.25
นอกจากนี้ ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดังกล่าว กำหนดให้ผู้มีวัตถุอันตราย ชนิดที่ 2 หรือ 3 ไว้ในครอบครองเพื่อขายต้องจัดให้มีผู้ควบคุมการขายซึ่งผ่านการอบรมความรู้ด้านวัตถุอันตรายตามหลักสูตรที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด จากการตรวจสอบร้านจำหน่าย จำนวน 84 ร้าน พบว่า เป็นร้านจำหน่ายที่มีใบประกาศผ่านการอบรมผู้ควบคุมการขาย จำนวน 75 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 89.29 และเป็นร้านจำหน่ายที่ไม่มีใบประกาศผ่านการอบรมผู้ควบคุมการขาย จำนวน 9 ร้าน คิดเป็น ร้อยละ 10.71 ซึ่งร้านที่มีใบประกาศผ่านการอบรมผู้ควบคุมการขาย มีผู้ควบคุมการขายอยู่ประจำร้าน จำนวน 73 ร้าน และไม่มีผู้ควบคุมการขายอยู่ประจำร้าน จำนวน 2 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 97.33 และ ร้อยละ 2.67 ตามลำดับ
จากการที่ร้านจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ส่งผลกระทบทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพอนามัย และคุณภาพชีวิตของผู้ประกอบการ ผู้ที่อาศัย อยู่ข้างเคียง และผู้บริโภค นอกจากนี้ ผู้จำหน่ายที่ไม่ผ่านการอบรมผู้ควบคุมการขายจะไม่ทราบหลักเกณฑ์ ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำให้ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และไม่มีความรู้ด้านวัตถุอันตรายทางการเกษตรอย่างเพียงพอ และไม่ทราบวิธีปฏิบัติต่อวัตถุอันตรายทางการเกษตรได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย รวมทั้งไม่ได้รับการปลุกจิตสำนึกในการปฏิบัติตามกฎหมายโดยขายวัตถุอันตราย อย่างผู้มีความรู้ มีจรรยาบรรณ
สาเหตุที่ทำให้ร้านจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรบางส่วนไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้เกิดจากเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรบางส่วนไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบร้านจำหน่ายให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดอย่างเข้มงวด ผู้จำหน่ายที่เคยเข้ารับการอบรมความรู้สำหรับผู้ควบคุมการขาย บางรายยังขาดความรู้ ความเข้าใจ หรือบางรายละเลยไม่ได้ดำเนินการจัดร้านค้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
ข้อเสนอแนะ
1. กำชับให้เจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรให้ความสำคัญกับการตรวจสอบร้านจำหน่ายให้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดอย่างเข้มงวด ทั้งกรณีผู้ควบคุมการขายที่ต้องผ่านการอบรมและการจัดร้านค้าที่ถูกต้อง
2. การอบรมผู้ควบคุมการขายวัตถุอันตรายทางการเกษตรจะต้องเน้นย้ำวิธีการจัดร้านจำหน่ายที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์
3. ศึกษาความเหมาะสมในการก าหนดมาตรการให้ผู้ควบคุมการขายอยู่ประจำร้าน เพื่อให้ การจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรดำเนินการโดยผู้ควบคุมการขายที่มีความรู้
ข้อสังเกต การจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่เป็นเลขทะเบียนเก่า (เดิม)
โดยที่พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ได้บังคับใช้มาเป็นเวลานานแล้ว บทบัญญัติ บางประการไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งมีสภาพปัญหาเกี่ยวกับวัตถุอันตรายที่ทวีความรุนแรงขึ้น มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย ความปลอดภัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 ขึ้น ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 25กุมภาพันธ์ 2551 และใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2551 ซึ่งมีผลให้ทะเบียนวัตถุอันตรายเก่า (เดิม) คงใช้ได้ ต่อไปอีกสามปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ดังนั้น ทะเบียนวัตถุอันตรายเก่า (เดิม) ทั้งหมดจะถูกยกเลิกตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2554 ส่วนร้านจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ยังมีผลิตภัณฑ์ วัตถุอันตรายทะเบียนเก่าวางจำหน่ายในร้านยังไม่มีมาตรการให้เก็บสินค้าหรือห้ามจ าหน่าย อย่างไรก็ตามจากคู่มือความรู้สหรับผู้ควบคุมการขายวัตถุอันตรายทางการเกษตร ระบุว่า ผลิตภัณฑ์วัตถุอันตราย ทางการเกษตรจะมีอายุการเก็บรักษาโดยเฉลี่ยประมาณ 2 ปี ถึงแม้ว่าจะบรรจุอยู่ในภาชนะที่ปิดผนึกแน่นหนาอย่างดี เนื่องจากการเกิดปฏิกิริยาทางเคมีภายในตัวผลิตภัณฑ์
จากการสังเกตการณ์ร้านจำหน่ายที่มีวัตถุอันตรายทางการเกษตรวางจำหน่าย จนวน 80 ร้าน พบว่า ร้านค้าที่วางจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่เป็นเลขทะเบียนเก่ามีจำนวน 71 ร้าน คิดเป็น ร้อยละ 88.75 ซึ่งผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายทางการเกษตรที่เป็นเลขทะเบียนเก่ามีทั้งภาชนะบรรจุที่มี สภาพเก่า และภาชนะบรรจุที่มีสภาพใหม่ โดยฉลากที่ปิดภาชนะบรรจุรวมถึงวัน/เดือน/ปีที่ผลิต มีลักษณะเป็นของใหม่ แต่ระบุวัน/เดือน/ปีที่ผลิตก่อนวันที่ 22 สิงหาคม 2554
ทั้งนี้ เมื่อเกษตรกรซื้อวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่เป็นเลขทะเบียนเก่าไปใช้ อาจท าให้เกิด ความเสียหายต่อเกษตรกรได้ กล่าวคือ วัตถุอันตรายทางการเกษตรเลขทะเบียนเก่าจะผลิตมาแล้วมากกว่า 4 ปี (นับแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2554) จึงมีความเสี่ยงที่จะเสื่อมคุณภาพ และใช้ไม่ได้ผลตามที่ฉลากระบุไว้ ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังส่งผลให้แมลงหรือศัตรูพืชเกิดการดื้อยา
ข้อเสนอแนะ ให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. กรณีตรวจสอบพบร้านจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรมีการวางจำหน่ายวัตถุอันตราย ทางการเกษตรที่เป็นเลขทะเบียนเก่า ให้ผู้ประกอบการแจ้งข้อมูลแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นข้อมูล ให้เจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรดำเนินการตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งผลิต และประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระท าความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ในการเข้าตรวจค้นและจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
2. พิจารณาออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อกำหนดมาตรการในการควบคุมกำกับดูแลวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่เป็นเลขทะเบียนเก่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนและมีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดต่อไป
3. ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารให้ร้านจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรทราบถึงการยกเลิก ทะเบียนวัตถุอันตรายเก่าที่ถูกยกเลิกตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2554 โดยเฉพาะร้านค้าขนาดเล็ก เพื่อมิให้มี การนำวัตถุอันตรายเลขทะเบียนเก่าเข้ามาวางจำหน่ายในร้านค้าอีก
----
ในสัปดาห์หน้า สำนักข่าวอิศราจะนำเสนอผลการตรวจสอบที่สำคัญของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเรื่องใด โปรดติดตาม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
เปิดกรุผลสอบสตง.(1) ชำแหละงบพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกาญฯ ไม่คุ้มค่า ห้องอาบน้ำแร่ถูกทิ้งร้าง
เปิดกรุผลสอบสตง.(2) ตรวจงบยกระดับหมู่บ้านโคราช ใช้ภาพเดียวเบิกเงิน 6 โครงการรวด
เปิดกรุผลสอบสตง.(3) ตรวจการผลิต-ใช้พลังงานทดแทน ‘กรมการพลังงานทหาร’ ล้มเหลวไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(4) ตรวจนโยบายร.ร.ดีใกล้บ้าน ยกระดับการศึกษาล้ม-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(5) ตรวจโครงการพัฒนาลำเชียงไกรโคราช ไม่เสร็จตามแผน-ซื้อของเกินจำเป็น
เปิดกรุผลสอบสตง.(6) ตรวจโครงการพัฒนาพืช-พลังงาน จ.ขอนแก่น 113ล. ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(7) ตรวจโครงการพลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้า-ประปาจ.กาญจนฯ ล้มเหลว-เบิกจ่ายเท็จ
เปิดกรุผลสอบสตง.(8) ตรวจโครงการควมคุมอาคารเขตเทศบาลนคร/เมือง ไม่ปลอดภัย-ผิดกม.อื้อ