เปิดกรุผลสอบสตง.(12) ตรวจโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว ขาดความต่อเนื่อง-ไม่ยั่งยืน
“...สถานประกอบการ ที่ผ่านเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียว จำนวน 13,064 ราย มีสถานประกอบการที่ต่ออายุการรับรองหรือยกระดับการรับรองจำนวน 277 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.12 และสถานประกอบการที่ไม่ต่ออายุการรับรองหรือไม่ยกระดับ การรับรอง จำนวน 12,787 ราย คิดเป็นร้อยละ 97.88 จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการไม่รักษาความต่อเนื่องในการดำเนินกิจการที่เป็นมิตรต่อ สิ่งแวดล้อม และการปฏิบัติตามเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียวของสถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียว จึงทำให้ไม่สามารถรักษามาตรฐานเดิมด้านการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เมื่อหมดอายุการรับรองจึงต้องออกจากโครงการ รวมถึงการไม่พยายามพัฒนาปรับปรุงแก้ไขปัญหาเพื่อนำไปสู่การยกระดับการรับรองจาก มาตรฐานเดิมด้านการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เหล่านี้ส่งผลให้มีโอกาสที่อุตสาหกรรมสีเขียวจะขาดการพัฒนา อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน จนไม่บรรลุผลสำเร็จของโครงการ...”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานตรวจสอบสำคัญของไทย มีหน้าที่ในการป้องกันดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ที่ถูกใช้จ่ายไปอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ที่ผ่านมา สตง.ได้มีการเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบเรื่องการใช้จ่ายเงินที่สำคัญไว้หลายเรื่อง สำนักข่าวอิศรา จึงขอเปิดพื้นที่ตรงนี้ ทุกวันเสาร์ รวบรวมข้อมูลผลการตรวจสอบที่สำคัญมานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบ
ในสัปดาห์ที่ 11 จะเป็นการนำเสนอผลรายงานการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว
@ โครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว
ประเทศไทยมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ตามที่ได้ให้สัตยาบันรับรอง ปฏิญญาโจฮันเนสเบิร์กว่าด้วยการพัฒนาอันยั่งยืน (Johannesburg Declaration on Sustainable Development-JDSD) เมื่อปี พ.ศ. 2545 และปฏิญญามะนิลาว่าด้วยอุตสาหกรรมสีเขียว (Manila Declaration) เมื่อปี พ.ศ. 2552 รวมทั้งการประชุม Green Industry ขององค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nation Industrial Development Organization-UNIDO) เมื่อปี พ.ศ. 2553
กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยได้กำหนด ประเด็นยุทธศาสตร์การส่งเสริมสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียวไว้ในแผนยุทธศาสตร์กระทรวงอุตสาหกรรม ปี พ.ศ. 2555-2558 (ฉบับปรับปรุง) เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมมีการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน มีความรับผิดชอบต่อสังคมและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยใช้กลยุทธ์ส่งเสริมสถานประกอบการให้มีการพัฒนากระบวนการผลิตและยกระดับของการได้รับการรับรองเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว พัฒนาปัจจัยแวดล้อมเพื่อผลักดันและจูงใจให้สถานประกอบการมีการปรับปรุงระบบไปสู่มาตรฐานสีเขียว และพัฒนาเครือข่ายเฝ้าระวังและจัดการผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นและชุมชน สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหนึ่งในหลายหน่วยงานของกระทรวงอุตสาหกรรมที่รับผิดชอบดำเนินการ ภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว โดยมีการดำเนินงานโครงการที่สำคัญ 3 โครงการ ได้แก่ โครงการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว โครงการบริหารจัดการลุ่มน้ำและวางระบบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม และโครงการสร้างและพัฒนาเครือข่ายอุตสาหกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นจำนวนเงินงบประมาณที่ได้รับทั้งสิ้น 196,050,000 บาท ทั้งนี้การเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียวแสดงได้จากจำนวนสถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งควรเป็นไปตามแผนการดำเนินงานที่กำหนดไว้ อีกทั้งภาครัฐต้องติดตามดูแลให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากบางขั้นตอนจำเป็นต้องอาศัยบุคลากรภาครัฐที่มีความรู้ทางเทคนิคเฉพาะทาง
แต่จากการศึกษาข้อมูลเบื้องต้น พบว่า สถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียวยังไม่เป็นไปตามแผน และบุคลากรภาครัฐที่มีความรู้ทางเทคนิคเฉพาะทางยังมีจำนวนน้อย อีกทั้งส่วนใหญ่มีภาระหน้าที่ในงานประจำ ทำให้ขาดการติดตามผลการดำเนินงานโครงการ ฉะนั้นจากปัจจัยต่างๆ ข้างต้น จึงมีโอกาสที่การดำเนินการอุตสาหกรรมสีเขียวจะไม่ประสบผลสำเร็จ
ข้อตรวจพบ การดำเนินงานโครงการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ไม่บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์
จากการตรวจสอบแผนและผลการดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่ อุตสาหกรรมสีเขียว ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2555-2558 และการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการ ของสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจำนวน 8 จังหวัด และเจ้าหน้าที่ของสถานประกอบการ จำนวน 54 ราย พบข้อเท็จจริงดังนี้
1. การดำเนินงานโครงการฯ ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดแผนปฏิบัติงานประจปีงบประมาณ พ.ศ. 2555-2558โดยมีเป้าหมายจำนวนสถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียวรวมทั้งสิ้น 21,500 ราย แต่จากการตรวจสอบ พบว่า ผลการดำเนินงานโครงการมีสถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียวที่ยังคงรักษากิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2555-2558 เพียงจำนวน 13,064 ราย คิดเป็นร้อยละ 60.76 และพบว่าข้อมูลจำนวน สถานประกอบการในรายงานผลการดำเนินโครงการเกี่ยวกับจำนวนสถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียว ของสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม มิได้ทำการคัดกรองสถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียวที่ซ้ำซ้อนออก จึงทำให้สถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียวมีจำนวนใกล้เคียงกับแผนปฏิบัติงานประจำปีงบประมาณ แต่ไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง ซึ่งการรายงานผลการดำเนินโครงการของสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 20,742 ราย จึงสูงกว่าข้อเท็จจริง จำนวน 7,678 ราย คิดเป็นร้อยละ 58.77 ของสถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียว
2. สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ มีโอกาสขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
สถานประกอบการ ที่ผ่านเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียว จำนวน 13,064 ราย มีสถานประกอบการที่ต่ออายุการรับรองหรือยกระดับการรับรองจำนวน 277 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.12 และสถานประกอบการที่ไม่ต่ออายุการรับรองหรือไม่ยกระดับ การรับรอง จำนวน 12,787 ราย คิดเป็นร้อยละ 97.88
จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการไม่รักษาความต่อเนื่องในการดำเนินกิจการที่เป็นมิตรต่อ สิ่งแวดล้อม และการปฏิบัติตามเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียวของสถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียว จึงทำให้ไม่สามารถรักษามาตรฐานเดิมด้านการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เมื่อหมดอายุการรับรองจึงต้องออกจากโครงการ รวมถึงการไม่พยายามพัฒนาปรับปรุงแก้ไขปัญหาเพื่อนำไปสู่การยกระดับการรับรองจาก มาตรฐานเดิมด้านการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เหล่านี้ส่งผลให้มีโอกาสที่อุตสาหกรรมสีเขียวจะขาดการพัฒนา อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน จนไม่บรรลุผลสำเร็จของโครงการ
สาเหตุ ที่ทำให้การดำเนินงานโครงการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรม สีเขียวไม่บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ มีดังนี้
1. สิทธิประโยชน์ตามโครงการฯ ไม่จูงใจให้สถานประกอบการเข้าร่วมโครงการ
จากการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ตามโครงการในคู่มืออุตสาหกรรมสีเขียว สำหรับผู้ประกอบการ พบว่า สิทธิประโยชน์ตามโครงการล้วนเป็นสิทธิประโยชน์ที่สถานประกอบการส่วนใหญ่ แม้ไม่ได้ผ่านเกณฑ์การรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวแต่มีการดำเนินการตามเงื่อนไขของกฎหมาย ระเบียบ หรือประกาศ ที่กำหนดไว้ก็สามารถขอรับสิทธิประโยชน์ได้เช่นกัน
2. เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการฯ ไม่ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานโครงการ
2.1 ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในส่วนกลาง จากการสัมภาษณ์ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานโครงการฯ ให้ข้อมูลว่า โครงการไม่มีการกำหนดแผนปฏิบัติงานทั้งด้านการต่ออายุการรับรองและการยกระดับการรับรอง ทั้งที่การต่ออายุการรับรองและการยกระดับการรับรองมีความสำคัญต่อการบรรลุผลสำเร็จของโครงการ
2.2 เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการระดับจังหวัด จากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดในจังหวัดที่สุ่มตรวจสอบ จำนวน 8 จังหวัด ให้ข้อมูลว่า วิธีการที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์เผยแพร่โครงการเพื่อเชิญชวนสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการ รวมถึงการจัดสัมมนาชี้แจงให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสีเขียวแก่ผู้เข้าร่วมโครงการมีหลากหลายวิธีแตกต่างกันไปในแต่ละจังหวัด ส่วนใหญ่ใช้วิธีการจัดอบรมสอดแทรกผ่านการดำเนินกิจกรรมในโครงการอื่น ส่วนการเชิญชวนผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ ทุกจังหวัดดำเนินการเมื่อผู้ประกอบการยื่นขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือยื่นชระค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการรายปี ณ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด หรือเจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลงพื้นที่ตรวจสถานประกอบการ หรือประชาสัมพันธ์ร่วมในกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ของสถานประกอบการ จำนวน 54 ราย ทั้งหมดให้ข้อมูลว่า ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการที่ชัดเจน เนื่องจากโครงการของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดที่เข้าอบรมมีหลายโครงการทำให้สับสนและเข้าใจคลาดเคลื่อน และส่วนใหญ่ทราบข้อมูล ข่าวสารเกี่ยวกับโครงการจากแหล่งอื่น ได้แก่ สื่อทางอินเทอร์เน็ต และจากสถานประกอบการด้วยกันมากกว่า จากเจ้าหน้าที่ของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ซึ่งจากรูปแบบวิธีการดังกล่าวอาจยังไม่เพียงพอแก่การสร้าง ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการ และการสร้างจิตสำนึกให้เกิดความตระหนักถึงความสคัญในการประกอบ กิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้สถานประกอบการ
3. เจ้าหน้าที่ผู้บันทึกข้อมูลการออกใบรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวในฐานข้อมูลโครงการฯ ของสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมขาดความรัดกุมในการบันทึกข้อมูล และไม่มีการสอบทานฐานข้อมูลให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบันตรงตาม
4. สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมขาดการกำหนดแผนปฏิบัติงานด้านการติดตามประเมินผลโครงการอย่างเป็นรูปธรรมให้กับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการ ทำให้ไม่ทราบถึงสภาพปัญหา อุปสรรคและปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ
ข้อเสนอแนะ ให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาดำเนินการดังนี้
1. สั่งการให้คณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียวทบทวนสิทธิประโยชน์สำหรับสถาน ประกอบการที่ได้รับการรับรองในแต่ละระดับ โดยเฉพาะระดับที่ 5 ซึ่งเป็นระดับการรับรองสูงสุดที่ทำให้ ขยายขอบเขตของการเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวจนตลอดโซ่อุปทาน นไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์สูงสุดของโครงการ โดยพิจารณาถึงสิทธิประโยชน์ที่ช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่ อุตสาหกรรมสีเขียวให้เหมาะสมกับแต่ละระดับการรับรอง
2. กำหนดแผนปฏิบัติงานและเป้าหมาย ด้านการต่ออายุการรับรองและการยกระดับการรับรองของโครงการฯ ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานอย่างเป็น รูปธรรม รวมถึงกำหนดแนวทางที่ชัดเจนให้กับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการในระดับจังหวัด ในด้านการดำเนินการประชาสัมพันธ์เผยแพร่โครงการเพื่อเชิญชวนสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการ และการจัดสัมมนาชี้แจงให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสีเขียวแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ
3. ให้มีการจัดการข้อมูลด้านจำนวนสถานประกอบการที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวตามโครงการฯ อย่างเป็นระบบ
4. ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคกหนดแผนปฏิบัติงานด้าน การติดตามประเมินผลโครงการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียวอย่างจริงจัง เป็นรูปธรรม
5. ให้หน่วยงานในสังกัดที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การ ส่งเสริมสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว เน้นการดำเนินงานในเชิงรุก
ข้อสังเกต
โครงการบริหารจัดการลุ่มน้ำและวางระบบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม และ โครงการสร้างและพัฒนาเครือข่ายอุตสาหกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อม ขาดการติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
1. โครงการบริหารจัดการลุ่มน้ำและวางระบบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม
โครงการฯ กำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความมั่นใจว่าโรงงานทั้งที่อยู่ริมแม่น้ำสายหลัก และในพื้นที่อื่นทั่วไป จะไม่สร้างมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ความยั่งยืนตามโครงการจำเป็นที่ผู้ประกอบการควรยึดหลักปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวต้องอาศัยภาครัฐเป็นผู้ส่งเสริม กำกับดูแล และติดตามผลเพื่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและนำไปสู่ความยั่งยืนตามเจตนารมณ์ของโครงการ
จากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดในจังหวัดที่สุ่มตรวจสอบ จำนวน 7จังหวัด ให้ข้อมูลว่า สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดบางจังหวัดไม่ได้มีการติดตามประเมินผลสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง มีเพียงการสอบถามตามโอกาสที่เหมาะสม
2. โครงการสร้างและพัฒนาเครือข่ายอุตสาหกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อม
โครงการฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์และสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนในชุมชนช่วยกันกำกับดูแลและเฝ้าระวังการเกิดผลกระทบด้านมลพิษสิ่งแวดล้อมจากการ ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรม ในรูปแบบเครือข่ายให้มีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังการเกิดผลกระทบด้านมลพิษ สิ่งแวดล้อมของสถานประกอบการอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้เครือข่ายอุตสาหกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อมมีการบริหาร จัดการเครือข่ายอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน รวมทั้งมีทัศนคติเชิงบวกต่อภาคอุตสาหกรรม
จากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดในจังหวัดที่สุ่มตรวจสอบ จำนวน 6จังหวัด ให้ข้อมูลว่า สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดบางจังหวัดขาดการติดตามประเมินผลเครือข่ายอุตสาหกรรมรักษสิ่งแวดล้อม โดยเห็นว่า การพบปะกันของเครือข่ายเป็นการจัดกิจกรรมร่วมกันแต่ไม่ต่อเนื่องและมีจำนวนน้อยครั้งต่อปี และสมาชิกเครือข่ายบางส่วนไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ในเครือข่ายอย่างชัดเจน
ตามข้อมูลดังกล่าวข้างต้น การที่สมาชิกเครือข่ายยังไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ตนเองหรือเข้าใจแต่ไม่ชัดเจน การพบปะกันของเครือข่ายเป็นการจัดกิจกรรมร่วมกันแต่ไม่ต่อเนื่องและจำนวนน้อยครั้งต่อปี และการขาด การติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่องจากเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินโครงการ จึงเพิ่มโอกาสให้เครือข่ายขาดความ เข้มแข็งและยั่งยืน และนำมาซึ่งการล้มเลิกเครือข่ายไปในที่สุด
ผลกระทบ
โครงการบริหารจัดการลุ่มน้ำและวางระบบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม และโครงการสร้างและพัฒนา เครือข่ายอุตสาหกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อม มีโอกาสขาดความต่อเนื่องและยั่งยืนในการเฝ้าระวังการเกิดผลกระทบ ด้านมลพิษของสถานประกอบการที่มีต่อชุมชน นำมาซึ่งการขาดความเข้าใจกัน เกิดความไม่ไว้วางใจระหว่าง ชุมชน สถานประกอบการ และภาครัฐ ส่งผลให้โครงการไม่บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์
ข้อเสนอแนะ
ให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาดำเนินการสั่งการให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดมีการจัดทำแผนปฏิบัติงานในการติดตามประเมินผลทั้งโครงการบริหารจัดการ ลุ่มน้ำและวางระบบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องเป็นระยะทุกราย และโครงการสร้างและพัฒนาเครือข่าย อุตสาหกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินการโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผลตาม หลักเกณฑ์ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมที่ดี 7 ประการ ได้แก่ ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ประชาชนมีส่วน ร่วมในการแก้ไขปัญหา ความโปร่งใส ความรับผิดชอบต่อสังคม นิติธรรม ความยุติธรรม และความยั่งยืน อีกทั้ง การเพิ่มความเข้มแข็งให้กับเครือข่าย เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้จ่ายเงินงบประมาณ
----
ในสัปดาห์หน้า สำนักข่าวอิศราจะนำเสนอผลการตรวจสอบที่สำคัญของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเรื่องใด โปรดติดตาม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
เปิดกรุผลสอบสตง.(1) ชำแหละงบพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกาญฯ ไม่คุ้มค่า ห้องอาบน้ำแร่ถูกทิ้งร้าง
เปิดกรุผลสอบสตง.(2) ตรวจงบยกระดับหมู่บ้านโคราช ใช้ภาพเดียวเบิกเงิน 6 โครงการรวด
เปิดกรุผลสอบสตง.(3) ตรวจการผลิต-ใช้พลังงานทดแทน ‘กรมการพลังงานทหาร’ ล้มเหลวไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(4) ตรวจนโยบายร.ร.ดีใกล้บ้าน ยกระดับการศึกษาล้ม-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(5) ตรวจโครงการพัฒนาลำเชียงไกรโคราช ไม่เสร็จตามแผน-ซื้อของเกินจำเป็น
เปิดกรุผลสอบสตง.(6) ตรวจโครงการพัฒนาพืช-พลังงาน จ.ขอนแก่น 113ล. ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(7) ตรวจโครงการพลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้า-ประปาจ.กาญจนฯ ล้มเหลว-เบิกจ่ายเท็จ
เปิดกรุผลสอบสตง.(8) ตรวจโครงการควมคุมอาคารเขตเทศบาลนคร/เมือง ไม่ปลอดภัย-ผิดกม.อื้อ
เปิดกรุผลสอบสตง.(9) ตรวจการควบคุมเคมีทางเกษตร พบสารต้องห้าม-ร้านขายไม่ปลอดภัย-ผิดกม.
เปิดกรุผลสอบสตง.(10) ตรวจโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติด อปท.ลำปาง ไม่คุ้มงบ-ผิดวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(11) ตรวจโครงการสินค้าเกษตร 4.0 สุพรรณฯ ไม่พร้อมดำเนินการ-ไม่คุ้มงบ